Interview

‘Ui’ สารพันเรื่อง ยู ๆ ไอ ๆ ในอัลบั้มชุดที่ 3 ของ Summer Dress

Summer Dress เป็นอีกวงดนตรีที่ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ปีก็ยังนำเสนอผลงานได้สนุกและน่าตื่นเต้นเสมอ และในปีที่ 11 ของพวกเขาก็กำลังจะมีอัลบั้มเต็มชุดที่ 3 ออกมาให้เราได้ฟังกัน ซึ่งวันนี้ก็จะเป็นวันที่วงเปิด pre-order bundle พิเศษทางแฟนเพจในเวลาสองทุ่มตรง ลองไปติดตามกันดู

ระหว่างที่รอ เราก็ชวนมาอ่านบทสัมภาษณ์เจาะลึกอัลบั้ม Ui ที่เป็นเหมือน ‘วัยผู้ใหญ่’ ของวงดนตรีวงนี้ ที่หากเราติดตามพวกเขามาโดยตลอด ก็จะพบว่าเพลงชุดนี้ของ Summer Dress เติบโตขึ้นมากทีเดียว

เต๊นท์—ศิวนัส บุญศรีพรชัย (ร้องนำ, กีตาร์)
แนท—สรรพวิท สร้อยคำ (กีตาร์)
โป้—ภิญโญ ใหม่ละเอียด (เบส)
แปม—ธีรวุฒิ อิทธิวุฒิ (กลอง)

ลำบากไหมในการหาแนวทางดนตรีใหม่ให้ชุดนี้

เต๊นท์: ออกแนวหาไอเดียง่ายกว่าชุดสองอีก ประมาณว่าคิดน้อยลง เหมือนพอ overthinking กับงาน มันก็ออกมาเยอะไป แน่นไป เกิดความรู้สึกบั่นทอนตัวเอง เราเลยพยายามลดความรู้สึกตรงนั้นออกไป แล้วพยายามทำให้มันรวดเร็วที่สุด ได้ก็คือได้ ไม่ต้องเค้นว่า ‘มันจะได้หรือยังว้า’ ก็ค่อนข้างง่าย เนื้อเพลงเป็นภาษาไทยด้วย ก็เลยสบาย

แนท: ดนตรีเริ่มมาจากตอนที่เรากลับไปฟังเดโม่ตอนทำอัลบั้ม 2 มีที่อัดเก็บไว้ในเทป พอมาฟังก็รู้สึกว่า ‘เฮ้ย ทำไมมันเจ๋งจังวะ’ ก็เลยทำให้คิดว่าเราต้องเลิกคิดมาก เพราะตอนอัลบั้ม 2 เราแก้บ่อยมาก แต่ละเพลงมีการแก้จากเดโม่ประมาณ 3-4 รอบ re-arrange ใหม่ สร้างท่อนนู้นท่อนนี้ แล้วก็เกิดปัญหาในการเล่นสดหลายครั้ง เล่นแล้วไม่สนุก เล่นแล้วไม่ต่อเนื่อง ต้องมานั่งคิดโชว์ใหม่ พอมาทำอัลบั้ม 3 ก็คิดได้ แต่ละคนจะไม่ค่อยแย้งว่า ‘เฮ้ย เปลี่ยนท่อนนี้มั้ย’ ก็จะเป็นแบบสด ๆ ที่คิดไว้แต่แรกซะส่วนใหญ่

เต๊นท์: พวกเดโม่ที่เราแก้ ๆ ในอัลบั้ม 2 เนี่ย จริง ๆ อันแรกมันก็ได้แล้วนะ (หัวเราะ) พอเรากลับไปฟังเนี่ย

แนท: อัลบั้ม 1 เราคิดเร็วเหมือนกัน แต่อาศัยซ้อมเยอะ ได้เจอกันเยอะ มาอัลบั้ม 2 การเจอกันในห้องซ้อมมันน้อยกว่า เลยมีเวลากลับไปคิดเยอะ เลยฟุ้ง

โป้: อัลบั้ม 3 ติด covid-19 เลยได้เจอกันบ่อย (หัวเราะ)

เต๊นท์: ความที่ชุด 2 เราคิดเยอะ เพราะว่าตอนนั้นเราเรียน ป.โท มีความเห่อความรู้อะ เราเรียน compose เพลง ก็จะเรียนดนตรีคลาสสิกร่วมสมัย เรียนเรื่อง sound art อยากจะเอาไอเดียตรงนั้นมายัดไว้เยอะ ๆ บวกกับเรามีส่วนในการทำ post production เองค่อนข้างเยอะ พอไปอัดมา มานั่งฟัง เกิดอาการอยากใช้คอม edit ก็เลยคิดว่าได้หรือยัง ตัดตรงนี้นิดนึงดีกว่า เพลงมันเลยมีหลายท่อน มีความฉับพลันมาก ๆ ที่การเล่นจริง ๆ จะเล่นไม่ได้เพราะมันใช้เอฟเฟกต์

แปม: เหมือนทำเดโม่ในห้องซ้อมเป็นแบบนึง แต่พออัด มิกซ์ อีดิต มันก็ซ้อนเข้าไปอีก เราชอบคิดว่าจะทำอะไรกับมันได้อีก มันค่อนข้างที่จะทดลองมาก ๆ ในอัลบั้ม 2 เราสนุกกับการลองนั่นลองนี่ไปเรื่อย ๆ

แนท: แต่ไม่แน่ ถ้าอัลบั้ม 3 ไม่มีเวลาจำกัดว่าต้องเสร็จตอนนี้ ๆ อาจจะกลายเป็นแบบอัลบั้ม 2 ก็ได้ เหมือนถ้าพวกเราฟังเพลงนึงไปนาน ๆ จะเบื่อ พอเบื่อเราก็จะพยายามเข้าไปแก้ไขมัน เพื่อให้เรากลับมาสนุกกับเพลงเดิมอีกครั้ง

เต๊นท์: เขาบอกว่าพอมีคอมพิวเตอร์ทำเพลงได้ อัดแบบดิจิทัลได้ มันง่ายมากนะ เราสามารถทำอะไรเมื่อไหร่ก็ได้เลยในขณะนั้น ถ้ามีเวลามากหน่อยก็เริ่มได้ลองเยอะ หรือไปจนถึงอัดใหม่ ถ้าเป็นสมัยอัดเข้าเทป อัดรวมกัน คงไม่มีเวลาได้ทำขนาดนี้ คงจะแค่ไหนแค่นั้นเลย เทคโนโลยีก็มีส่วนทำให้วิธีการทำเพลงดีขึ้น แต่กลับกันถ้ามากไปก็มีโทษมันจะไปสร้างฟอร์มเพลงแบบอภิมหาซับซ้อนขึ้นมา มันข้ามเลยขีดจำกัดของการเล่นสดของตัวเองไป

งานชุด 3 จะเปลี่ยนไปยังไงบ้าง

แนท: เราลดบทบาทของซินธิไซเซอร์ให้น้อยลง เพราะเต๊นท์เล่นกีตาร์แล้วก็ต้องเล่นซินธ์ไปด้วย จะทำยังไงให้เล่นได้ทั้งสองอย่าง

เต๊นท์: เพราะสมาชิกเราออกด้วยคนนึง คือเราไปฟังอัลบั้มของ Brian EnoAnother Green World เขาจะใช้กีตาร์เสียงประหลาด ๆ เยอะ เอามาทำเป็นโดรน ทำเป็นไวโอลิน ก็ทึ่งเขาที่ทำโปรเจกต์หลาย ๆ อย่าง หรือโปรดิวซ์เนี่ย เขาเอาไอเดียมาจากไหน เพลงก็แปลกดีในแบบที่ถูกจริตเรา เป็นปรมาจารย์ เราก็พยายามแกะวิธีคิดเขา เลยได้ไอเดียว่าต้องใช้ ebow มาเล่นด้วยไหม

แนท: จริง ๆ เครื่อง ebow นี้ใช้มาตั้งแต่อัลบั้มหนึ่งแล้ว แต่หาย แล้วซื้อใหม่ หาย ซื้อใหม่ มันเป็นเครื่องที่ค่อนข้างราคาแพง (แปม: ลองดู mv เล่นของสูง ที่พี่อ๊อฟ Big Ass เขาเล่นตอนโซโล่ มันจะดูดตรง pick up) หรืออย่างที่ Yo La Tengo ใช้

แปม: ก็ต้องปรับรูปแบบการเล่น ปรับรูปแบบการทำงาน ช่วงแรก ๆ ก็จะงง ๆ นิดนึง พอเหมือนจูนติดแล้ว มันก็ลงล็อกกับ 4 คนนี้ ก็คงจะประมาณนี้แหละที่เหมาะกับพวกเรา 4 คนที่สุดแล้ว

เต๊นท์: ซาวด์จะร็อก เป็น guitar band มากขึ้น คือวงเรามีความคิดสวนทางกับคนอื่นนิดนึง พอเราเจอเสียงอิเล็กทรอนิก เสียงสังเคราะห์เยอะ ๆ เราจะเบื่อ กลับมาทำ guitar band ดีกว่า

แนท: พาร์ตกีตาร์ ส่วนตัวเราเจอแต่เสียงคลีน ผสมคอรัส เจอมาจนแบบ ไม่ไหวละ ไม่ได้ว่าใครนะ แต่เวลานี้ต้องร็อกเนี่ยแหละ ง่ายสุดสำหรับเรา ช่วงหลัง ๆ เราก็ไม่ค่อยใช้รีเวิร์บ ดีเลย์แล้ว ตั้งแต่ปลาย ๆ ปี (เต๊นท์: ขายแดก) ก็เป็นแนวทางให้อัลบั้มนี้มันแห้ง ๆ ดิบ ๆ

เต๊นท์: ก็บอกแนทว่า ลองมาโฟกัสที่แค่ Phaser ไหม ดีเลย์เนี่ยตัดออกไปเลย รีเวิร์บที่มันชุ่ม ๆ ก็ลองให้มันแห้ง ๆ เอฟเฟกต์น้อย ๆ ลองกลับมาใช้เสียงแตกดู เพราะจริตเราก็ base on ดนตรีร็อก กีตาร์ก็เล่นร็อกไปเลย มีเสียงแตก ทำให้มันมีบทบาทมากขึ้น อย่างเบสกับกลอง ก็ให้แปมกับโป้คิดแพตเทิร์นน้อย ๆ ให้มันเล่นแล้วสนุก ให้เข้ากับบีตของมันมากที่สุด จะไปเน้นอะไรที่เด้ง ๆ ไม่ต้องมีท่อนเอ้อระเหยอะไรมาก

ได้อิทธิพลจากเพลงร็อก ไซเคเดลิก 70s มาด้วยหรือเปล่า

แปม: มีนะ อย่างเราก่อนจะไปซ้อมก็จะหาเพลงยุคนี้ พวกไซคีร็อก มาฟัง ให้หลอนประสาทตัวเองไปก่อนว่าจะทำออกมาทรงนี้ พอไปถึงห้องซ้อมมันจะได้เล่นอะไรที่มีความเป็นแบบนี้ออกมา

เต๊นท์: จริง ๆ เราก็ไม่ได้จะตั้งใจจะทำสายนี้ เพราะเราไม่ใช่คนสายหลอนอะไร แต่พอให้หลาย ๆ คนฟังเพลงแรก หลายคนจะบอกว่า ‘เฮ้ย แม่งหลอนว่ะ ลอย มึนว่ะ เสพยาได้เลยนะ’ แต่เราก็แบบ ‘เฮ้ย ขนาดนั้นเลยหรอวะ’ บางทีเราทำอะไรออกไปแล้วเราไม่รู้ตัวว่า มันทำนองนั้นหรอกหรอวะ (แปม: จริง ๆ เราเป็นเนิร์ดอะ) เออ ส่วนตัวเราชอบดนตรียุคเก่า ๆ ด้วยแหละ 60s 70s ก็มีความเป็นซาวด์เอฟเฟกต์แบบ horror film สมัยก่อนที่มันยังไม่ได้ sound design จ๋าแบบทุกวันนี้ เขาจะใช้ element ที่มีอยู่มากกว่า

แปม: ของเราน้อยด้วยแหละ (หัวเราะ) จริง ๆ สตูก็ที่บ้านแนท ของก็ใช้เท่าที่เรามี มีเท่านี้ก็จะทำเท่านี้ ไม่ฝืน

ระหว่างทางต่างคนต่างก็ไปทำงาน อย่างเต๊นท์ทำ Game of Sounds, Plot ทำ Tomato Love Records แปมไปทำ temp. แนททำ Flower Dog ได้เอาอะไรจากตรงนั้นมาใช้ในอัลบั้มใหม่บ้างไหม

แปม: มันก็ได้มุมมองที่เราไปทำงานกับที่อื่นมาแล้วเอามาใช้กับวง มันมีหลายอย่าง พวกความคิด การอะเรนจ์ วิธีที่จะทำให้เกิดงานออกมา ก็ค่อนข้างที่จะช่วย

เต๊นท์: เหมือนพอเขาทำ temp. ฝั่งพี่นอต หรือนิค เขาจะมีความเนี้ยบในการทำงาน strict มาก โปรดักชันเขาจะคลีน ๆ เนี้ยบ ๆ แปมก็จะมีวิธีคิดแบบนั้นมา รายละเอียดเรื่องซาวด์ก็จะเนี้ยบขึ้น

แนท: ของเราถ้าคิดเพลงอันไหนถ้าเพลงไม่เหมาะกับ Flower Dog ก็จะโอนมาเป็น Summer Dress (หัวเราะ) พวกอุปกรณ์ที่จะซื้อมาใช้กับ Flower Dog แต่ก็ไม่ได้ใช้เลยสักอย่าง เลยมาอยู่กับ Summer Dress หมดเลย แต่รูปแบบทางดนตรีไม่เหมือนกัน

เต๊นท์: อย่างเรากับแนท ถึงจะมีโปรเจกต์ส่วนตัว แต่มันใช้การประยุกต์คนละแบบเลย ของเราเป็นอิเล็กทรอนิกแทบจะ 100% ทำอยู่ที่บ้าน มันก็แยกจากกันเลย Summer Dress มันเป็นวงต้องออกจากบ้านไปห้องซ้อมเราเลยไม่ได้เอางานเดี่ยวมาใช้เลย ของแนทก็เหมือนกัน เป็น bedroom production ที่แต่งเป็นเพลงบรรเลง เน้นซาวด์อะคูสติก แต่เวลาแนททำงานอะคูสติก จะไปเจอวิธีวางไมค์ ก็จะได้เอาตรงนั้นมาใช้กับวง การจัดการกับกีตาร์โปร่ง หรือการอัดรวม จะรู้ว่าถ้ากั้นตรงนี้จะรั่วน้อย เป็นเรื่อง recording knowledge มากกว่า

ทำไมต้อง Ui

เต๊นท์: ตอนประชุมคิดชื่ออัลบั้ม คิดไม่ออกว่าจะชื่ออะไรดี ก็มีอยู่หลายชื่อ

แปม: นึกอะไรไม่ออกเลยมาดูชื่อเพลงในอัลบั้ม

แนท: ชอบฟอนต์ตัว U กับ i เล็ก มันอารมณ์พวกโรมัน ๆ แล้วน้องแบงค์ ออกแบบรูปมาก่อนแล้ว มันมีวงกลม ๆ คิดว่าถ้าเป็น Ui ไปอยู่ในรูปก็คงจะสวยดี

เต๊นท์: ต้องบอกตามตรงว่าเราเป็นคนไม่ได้คิดอะไรเยอะในการเลือก แต่คุยกับโป้กับแนทว่าไหน ๆ เราก็มีโปรดักต์มาแล้ว ลองทุ่มเรื่อง marketing, pr ให้มันได้อย่างที่ควรจะเป็นเลยดีไหม เพราะวงอย่างเรา ๆ บางทีเมื่อก่อนจะมีความคิดว่า marketing เป็นเรื่องที่แย่ แต่เอาจริงมันเป็นเรื่องมนุษย์มากเลยนะ เป็นพฤติกรรมระหว่างมนุษย์กับมนุษย์เลย ว่าจะทำยังไงให้เขารับเมสเสจจากเราได้รู้เรื่อง ก็พยายามเวิร์กกับมันมากขึ้น พอคิดเรื่อง marketing, pr ก็ต้องใช้ทฤษฎีจับยัด (หัวเราะ)

ชื่อ Ui มันก็ดีในตัวของมัน กราฟิกสวย Ui แล้วยังแปลได้ว่า ‘user interface’ การออกแบบหน้าตาให้เหมาะกับผู้ใช้ พวกมือถือจะเอาปุ่มไว้ตรงไหนของหน้าจอ แล้วอัลบั้มนี้ ทั้ง arranging ทั้งเนื้อเพลงมันก็เข้าถึงคนได้ง่ายขึ้น อาจจะแค่จังหวะสนุก ๆ แบบของเรา หรือเนื้อเพลงภาษาไทย ก็อยากให้คนบ้านเราเข้าใจว่าเราจะสื่อสารเรื่องอะไร

ตัวเราเองก็เวิร์กกับเนื้อเพลงเยอะขึ้น อัลบั้มสองนี่ไม่เอาเลย พอแต่ง อะเรนจ์ในห้องซ้อม อัดปุ๊บ คิดเนื้อไทยไม่ออก เราพยายามหนีเมโลดี้แบบไทย ไม่อยากใช้คำไทย เพราะว่าบั้มสองกูอยากอินเตอร์อะ แล้วเวลาเราร้องเราก็ร้องได้ไม่ดี ไม่อินความหมายในตัวภาษาอังกฤษอย่างแท้จริง ไม่ได้รู้ซึ้งคำศัพท์เท่าภาษาไทย ภาษาไทยดีกว่า

ได้อิทธิพลการเขียนเนื้อไทยแบบนี้มาจากไหน มีความเฉพาะตัวมาก

เต๊นท์: ยอมรับเลยว่าได้มาจากพี่ไผ่ Plot พี่ไผ่เขามีความเขียนเนื้อไทยแบบไทยจริง ๆ มันมีอัตลักษณ์ไทยแบบย้อนยุค ที่เรายังพูดคำว่า ‘กระผม’ ‘คุณ’ ‘เธอ’ ‘ข้าพเจ้า’ กับ ‘นาย’ อยู่ ในยุคนั้น ทีนี้ตัวเราเองก็ไปย้อนฟังเพลงลูกทุ่ง รู้สึกสนใจ ก็ไปถามอาจารย์ที่คณะว่าถ้าเราจะเวิร์กกับเพลงลูกทุ่ง ต้องเริ่มที่ใคร เขาก็แนะนำ อาจารย์ไพบูลย์ บุตรขัน ก็มีศิลปินที่เขาเขียนเพลงให้ มีระพิน ภูไท, ศรคีรี ศรีประจวบ รู้สึกว่าเพลงลูกทุ่งในยุคนั้นเขามีภาษาที่จริงใจ แล้วเล่าเรื่องที่บอกวิถีชีวิตของเขา แล้วเรารู้สึกอิน มีอัตลักษณ์ไทยตลก ๆ เราก็พยายามเขียนแบบนั้น

Track by track

Over Willing

แนท: เพลงนี้มาตั้งแต่ตอนปอนด์ยังอยู่ เคยเอาไปเล่นสดด้วย ก็ตอนนั้นนั่งกดเปียโน แล้วก็ได้เอาเครื่องที่จะใช้กับ Flower Dog เป็น sequencer มาลอง sequence อันไหนได้ก็เก็บไว้ แต่พอใช้แล้วไม่เวิร์ก เลยไปคิดถึงพาร์ตดนตรี เหมือนมันมีอะไรสักอย่างที่เป็นลูป พวกกลอง 5/4 6/4 (เต๊นท์: จังหวะที่แนทเริ่มมันจะประหลาด ๆ) แต่รู้ว่าแปมต้องไปแปลงมาแล้วตีได้ลงของมัน จะเป็นลูปที่ดี (เต๊นท์: มันจะเป็น sequence ติ๊ด ติ๊ดตุด ตุดติ๊ดตุดติ๊ด ติ๊ดตุด ติ๊ด ติ๊ดตุด แค่นั้นเลย) เครื่องมันขึ้น sq 1 อยู่ใน 4/4 ได้แล้ว แต่จะทำยังไงให้มันไปอยู่ใน 6/4 ได้วะความเห่ออุปกรณ์เลยไม่เน้นที่โน้ตไปเน้นจังหวะแทน

เต๊นท์: เพลงมันดูเหมือนเล่นง่ายนะ แต่จังหวะเนี่ย อย่างโป้อะ จะมาเน้นเบสตรงไหนในบาร์ให้มันรู้สึกว่าโน้ตสไลด์เดียวแล้วเปลี่ยนบาร์ มันยาก แปมก็คิดบีตกลองอยู่สักพัก จะลูกส่งตรงไหน กระเดื่องจะไปเข้ากับ sequence pattern ตรงนี้ยังไง ก็คิดยากอยู่เหมือนกัน

อัลบั้มนี้เราจะเขียนเรื่องเกี่ยวกับตัวเราเองเยอะ อารมณ์ ความรู้สึกของเราเป็นยังไง เข้าสู่วัยผู้ใหญ่มันเกิดความเครียด บางทีเราคิดว่าเราทำเต็มที่แล้ว อยากประสบความสำเร็จ อยากปัง แต่สุดท้ายมันไม่ได้ เราก็จะรู้สึกแย่มาก ๆ

เพลงนี้ก็เหมือนพูดว่าจะทำอะไรก็คาดหวังได้ แต่อย่าหวังเยอะ ปล่อยให้มันเป็นไปตามธรรมชาติ เราว่าบางทีความเป็นอยู่ในยุคนี้ มีสมาร์ทโฟน ทุกอย่างมันเร็ว เรารับสารตลอดเวลา เห็นคนนั้นมีงานเล่น คนนี้ประสบความสำเร็จ ออกมาซิงเกิ้ลเดียวแล้วเจ๋งเลย เราก็เกิดความเครียดโดยไม่รู้ตัว

จริง ๆ เราว่าชีวิตคนมันมีจังหวะของมัน ถ้าทำอย่างดีที่สุดแล้วก็ให้มันทำงานของมันเองโดยธรรมชาติ อาจจะใช้เวลานานหน่อย 2-3 ปีก็ไม่เป็นไร ระหว่างทางนั้นก็หาอะไรทำไปก่อนแล้วกัน เลยกลายเป็นเพลงนี้ขึ้นมา

Marie Kondo

เต๊นท์: เราดูรายการMarie Kondo’ แล้วก็ชอบ เป็นเรื่องเกี่ยวกับเก็บบ้าน ทิ้งของที่ไม่ได้ใช้ แล้วส่วนตัวเราก็ชอบเก็บบ้านอยู่แล้ว เลยมีความรู้สึกว่าการจะเลือกสิ่งของบางอย่างทิ้งไปมันก็ยากจริง ๆ ก็เลยเกิดแรงบันดาลใจ เขียนเพลงนี้ขึ้นมาว่า ยุคนึงเราเคยมีรายการชื่อนี้นะ เป็นรายการที่อยู่ดี ๆ ผู้หญิงคนนี้เขาก็เข้าไปในบ้าน แล้วบอกให้มีความสุขกับของที่มึงเคยมี แล้วก็ทิ้งถังขยะ (หัวเราะ) เราว่ามันเป็นรายการที่ประหลาดดี

แปม: ความแจ๊สมันก็จับพลัดจับผลูนะ ตอนเริ่มเราแค่อยากให้มีกลิ่น swing jazz มันก็อะเรนจ์ไป ๆ มา ๆ เลยออกมาแบบนี้ (แนท: เป็นเพลงที่มีฟีลอะเรนจ์แบบอัลบั้ม 2 ที่สุด ถึงได้บอกว่าพอมีเวลา เราเลยฟุ้งกันแบบนี้)

เต๊นท์: ตอนแรกสุดจะทำเป็นเพลงเมทัล แต่หนักไปเลยไปลองรื้อ ๆ ฟัง จริง ๆ เพลงนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากวง Broadcast เขาทำเพลงประกอบให้หนังเรื่อง ‘Berberian Sound Studio’ เราฟังก็รู้สึกว่าเวิร์ก มันซิงก์กับไลน์เบสที่คิดมาพอดี ก็ลองเล่นดูเลยลงล็อกกันพอดี แต่ arrangement อันนี้ไม่ค่อยซัพพอร์ตกับตัวเนื้อเพลง มันมีความขัดแย้งกันอยู่

ส่วนแซ็กโซโฟนก็แวะมาอัดที่บ้านพอดี เพื่อนสมัยมัธยม ชื่อดอน เราอยากทำงานกับเขามานานแล้ว เลยอะ มึงช่วยกูอัดหน่อยเป็นมือแซ็กแจ๊ส เก่งมาก เลยล่อเยอะเลย เขาถามว่าเฮ้ย มึงมีอะไรให้กูอัดอีกป่าววะ

แนท: จริง ๆ เขาไม่ได้จะมาอัดอันนี้นะ เคยคุยกันตั้งแต่เพลงนี้เสร็จแล้วว่าอยากได้ทรัมเป็ต หรือแซ็ก จนลืมความคิดนั้นไปแล้ว แล้วพอพี่ดอนมา ก็ถามว่าพี่ครับ พอมีเวลาว่างไหมครับ ผมของลองเพลงนึงแล้วก็ยาวเลย (หัวเราะ)

Ui

เต๊นท์: Ui เราแปลงเรื่องราวจากเพลงของ ระพิน ภูไท ชื่อ คุณนาย ป.4 เรียนจบ ป.4 แต่ไปอยู่เมืองนอก แล้วกลับมาพูดไทยคำอังกฤษคำที่บ้านนอก คนเขาก็ฟังไม่รู้เรื่อง คนก็ด่าว่าจบแค่ ป.4 ไปอยู่เมืองนอกแล้วมาทำอวดเก่งเราก็คิดว่าในชีวิตจริงเราก็เจออะไรแบบนี้ อย่างท่อนเวิร์สก็เอาบางประโยคของเขามาใช้เคยฟังระพิน ภูไท ยู ๆ ไอ ๆ อ้าย ๆ ยู ๆ’ ‘เขาบอกให้เธอไปใช้ ให้เธอไปพูดที่อู่ตะเภาคือมันเห็นภาพเลยว่าสนามบินสมัยก่อน พวก G.I. มากันเขาก็แต่งถึงคนที่ชอบอวดตัว หัวฝรั่ง พูดจากับคนท้องถิ่นอีกแบบ

ส่วนเสียงจี่ เสียงนอยซ์ ตอนพูดต้นเพลง มันเป็นภาพรวมของสุนทรียศาสตร์ของโปรดักชันของเรา ถ้ามันไม่แย่เกินไปเราจะเก็บพวกจี่ พวกนอยซ์อยู่แล้ว อย่างอัลบั้มนี้ guitar band แนทจะทำเสียงกีตาร์หอนเยอะ เราก็เก็บไว้ คือบางทีนอยซ์ของกีตาร์ feedback texture มันหนามาก แค่ได้ยินเสียงแอ๊ดดดด เราก็รู้สึก lift ขึ้นไปแล้ว แค่หอนเสียงเดียวก็เติมเต็มเพลงแล้ว

My Sin

แปม: เพลงนี้เราเจอแรงบันดาลใจบังเอิญมาก ตอนนั้นเราไปซ้อมกันที่บ้านแนทเป็นปกติ แล้วก็จะมาพักกินข้าว กินส้มตำกัน ตอนนั่งอยู่ก็มีคนสติไม่ดี homeless อะไรประมาณนั้น อยู่ดี ๆ ก็ตะโกนขึ้นมาว่าถ้ากูเหี้ย กูเหี้ยเอง ไม่โทษเทวดาแล้วตะโกนลูปแบบนี้ 2-3 รอบเรากินส้มตำอยู่ก็สะกิดบอกเต๊นท์ ‘เชี่ย คำนี้มึงเอาไปแต่งเพลง’

เต๊นท์: เลยเอาไปผูกเป็นเรื่องคู่รักว่า เฮ้ยเราไม่ได้เป็นคนดีหรอก อย่าไปโทษฟ้าดินเลย กูเนี่ยเหี้ยเอง อย่าไปโทษเขา เพลงตัดพ้ออะ ส่วนดนตรีเราพยายามไม่สร้างให้เถื่อน เพราะเรื่องมันเถื่อนนะ อยู่ดี ๆ มีคนเดินตะโกนว้ากขึ้นมา ถ้าเป็นเรื่องรักมันก็จะซอฟต์หน่อย ๆ ให้อะเรนจ์เดินไปข้างหน้าตลอด มันจะวนน้อยมาก จนจบเพลง

แนท: ก็ตั้งใจกวนด้วยแหละให้เนื้อหาเป็นแบบนั้น แล้วดนตรีเป็นอีกแบบ คือตอนแรกเราก็คุยกันว่าเพลงจะให้นุ่ม ๆ เอาให้เพราะไปเลย (หัวเราะ)

เต๊นท์: แอบคิดตอนขับรถมาว่า อัลบั้มนี้อาจจะเป็น song of ชานเมือง เนื้อเพลงอัลบั้มนี้หลาย ๆ เพลงมันเป็นเรื่องบนท้องถนนนะ แล้วมันจะเกิดขึ้นตามชานเมือง อย่างแนทบ้านอยู่สะพานใหม่ อย่างเราอยู่ตลิ่งชัน ก็ชานเมืองเหมือนกัน มันแอบมีบุคลิกของมันอยู่ อยู่ดี ๆ มอเตอร์ไซค์แว้นมา เจอคนอยู่ดี ๆ ตะโกน เราว่าในเมืองมันไม่ค่อยมีอะไรแบบนี้ ชานเมืองจะมีอีเวนต์เล็ก ๆ แปลก ๆ วันก่อนไปเที่ยวเนี่ย เจอเขาตะโกนห้าพันจะไปพอยัดหมาอะไรวะตะโกนทะเลาะกัน พูดใต้ด้วยอะ เป็น material ที่ดีมาก

แปม: เสียดายว่าทำเพลงเสร็จหมดแล้ว ไม่งั้นอาจจะเอาห้าพันจะไปพอยัดหมาอะไรวะมาอยู่ในเพลง

Ui

Fun D

เต๊นท์: มันแค่เป็นประโยคคล้องจองกัน มันไม่ได้เป็นเรื่องราวอะไรจริงจัง ไม่ได้เอามาจากอะไร แค่รู้สึกว่าคำว่าฝันดีฝันเด่นมันเจ๋ง คล้องจองกัน เลยเอามาผูกเป็นเรื่องของเราเอง แล้วทำให้มันเหมือนเสียงควบม้า ไม่ได้มีอะไรเลย ส่วนเสียงพูดคือพี่ธรรมรงค์ เขาทำ avant garde hiphop มีช่วงนึงทำงานกับเขา ทำบีต โปรดิวซ์ ก็เขียนคำพูด dialogue ให้หน่อยมันมีท่อนว่าง ๆ ตรงนี้เขาก็เขียน พูด แล้วอัดเสียงให้เรา ก็เหมาะดี เสียงเขาฟังดูเป็นคนตัดพ้ออยู่แล้ว นุ่ม ๆ มันก็เลยเหมาะกับเพลงที่พูดถึงความสัมพันธ์แบบนี้ ความเป็นไปไม่ได้ เป็นแค่ฝัน

Joviality of Shadow

แนท: ช่วงนึงทำงานกับวง Yaan เยอะ จะสนิทกับพี่โจ้ พี่ย้ง กินเหล้าอะไรด้วยกันบ่อย แล้วเราก็ได้อิทธิพลการฟังเพลงจากพวกเขาเยอะ จะฟังร็อกเก่า ๆ ส่วนกีตาร์โปร่งก็ซื้อที่จะเล่นกับ Flower Dog แต่มันไม่ได้ใช้ประโยชน์สักที (หัวเราะ) เคยคิดว่าอยากให้มีกีตาร์โปร่งเล่นในอัลบั้ม Summer Dress ก็พยายามจะยัดใส่ แต่ไม่เคยได้สักที พอมาถึงชุดนี้ ได้ใส่ลงไปในเพลงนี้ ลองเล่นดูเป็นริฟฟ์นึงเป็นอินโทรขึ้นมา มันก็เวิร์ก เนื้อร้องก็แทบจะร้องให้เป็นโน้ตเดียวเลยมั้ง แต่ใช้ประสานเพื่อเพิ่มเลเยอร์ให้กับเนื้อร้อง เพลงนี้จะเน้นอะไรที่เป็นโน้ตเดียวยาว ๆ

เนื้อเพลงก็เป็นอะไรที่เราเป็นภาวะแบบนี้บ่อยมาก การที่ตื่นมาแล้วจะแฮงก์ ร่างกายขาดน้ำ คิดอะไรแย่ ๆ กดดันตัวเอง มันจะเป็นความรู้สึกแรกที่ตื่นมาตลอด ก็พูดถึงเรื่องเงากับคนเมา แบบคนเมาก็ยืนหัวเราะกับเงาตัวเอง ยืนร้องไห้กับเงาตัวเอง เป็นเงาของตัวเองที่สะท้อนมา แต่เราเป็นคนเขียนภาษาไทยไม่ได้อยู่แล้ว แล้วจะเขียนภาษาอังกฤษก็ไปเสิร์ชดูว่าคำนี้มันแปลว่าอะไรวะ แต่สุดท้ายไม่อยากได้เมโลดี้ เลยให้มันเป็นโน้ตเดียวยาว ๆ อย่างที่บอก

เต๊นท์: มันเป็นเรื่องความรู้สึกตัวเองเยอะ ความรู้สึกของการผลัดรุ่นมันมีอยู่จริง ๆ ใครจะไปคิดว่าไปเที่ยวทะเล ต้องมาเลี้ยงหลาน เล่นกับหลาน บทสนทนามันเปลี่ยนไปหมด (แปม: ถ้าเป็นเมื่อก่อนก็เมาหัวทิ่ม) เดี๋ยวนี้ก็กินน้อยมาก

เพลงนี้จริง ๆ ก็มีความทดลองนะ ฟอร์มมันไม่ได้ตายตัว ในห้องอัดก็อัดเทคเดียวจบเลย อัดรวมหน้างาน ก็ไม่ได้มีการซ้อมมาก่อน แต่มีการนัดแนะว่าเดี๋ยวกูเล่นอันนี้มาก่อนซักกี่วิ แล้วเดี๋ยวยักษ์โป้เล่นเท่านี้ต่อ แล้วเดี๋ยวเป็นริฟฟ์กีตาร์แนท แล้วกลองแจมแบนด์ ตัดจบเลย ก็ค่อนข้างหยาบมาก อยากให้มันสดมาก ๆ

แนท: เราจำเพลงของ Dan DeaconThe Crystal Cat ได้ ในหนังเรื่อง ‘Song One’ มันมีฉากนึงที่พระเอกนางเอกอยู่ในคลับ แล้ว Dan Deacon ก็เล่นเสียงหลอน ๆ ดัง ๆ ซาวด์ industrial หนัก ๆ เราอยากเล่นอะไรแบบบ้า ๆ โกรธ ๆ เดินเข้าไปแล้วตะโกน ให้มันหลุดออกมา มันก็สอดคล้องกัน เพลงนี้มันเครียด ๆ มาทั้งเพลง มันจะมีเบสยักษ์โป้ดีดแค่โน้ตเดียว กำลังจะปลดปล่อยละ แล้วก็ระเบิดออกมาตอนช่วงหลัง

Suddenly

เต๊นท์: เป็นเรื่องความสัมพันธ์ที่เกิดจากการผลัดเปลี่ยนนี่แหละ เหมือนกับพูดว่า เฮ้ย ทำไมอยู่ดี ๆ คนที่เราคุ้นเคยเขาหายไปจากเราโดยที่เราไม่รู้ตัว เพลงนี้เราก็แต่งให้ปอนด์ เราออกกันด้วยดีนะ แต่คือเขาก็มีเหตุผลของเขา เรื่องความเครียด เรื่องสุขภาพ นู่นนี่นั่น โดยที่เราไม่เคยรู้เรื่องนี้มาก่อนเลย มันแค่กระพริบตาเดียวที่เราไม่เคยสนใจ ไม่เคยถามไถ่มัน แล้วเพิ่งมารู้ตัวตอนที่มันออกจากวงแล้ว แล้วเราค่อยจะมา keep มัน มาดูแลมัน ซึ่งมันไม่ทันแล้วไง

แล้วเราก็เอามาผูกกับเรื่องต้นไม้ในห้องเรา มันมีท่อนนึงดังต้นไม้ที่ห้องของเราเองมันเป็นต้นไม้ที่เราเอามาจากแฟน แล้วเรากลับบ้านต่างจังหวัด ไม่ได้รดน้ำมัน มันก็เฉาตายไปเลย แบบ เชี่ยอะไรวะ ก่อนหน้านี้มันก็ยังเขียว ๆ ดี ๆ อยู่ แล้วพอจะมาดูแลมันตอนนั้นมันก็ตายไปแล้ว มันคือความพริบตาเดียวจริง ๆ แบบ เมื่อก่อนกูไม่ได้แคร์มึงเลย มันคือความไม่ทันคิดว่ามันจะเกิดขึ้น แบบที่คนสมัยก่อนเขาชอบพูดว่าพ่อแม่ไม่ได้อยู่กับพวกเรานานเราก็เริ่มคิดแล้วว่าวันนี้พ่อแม่เราจะสุขภาพดีอยู่ไหม วันใดวันนึงเกิดเหตุการณ์อะไรแบบนี้ก็คงช็อกขึ้นมาเหมือนกัน

แนท: โปรดักชันเราก็เริ่มริฟฟ์ขึ้นมาก่อน แล้วก็มีเมโลดี้ที่เป็นคอร์ดมา ตอนแรกกะทำให้เป็นเพราะ ๆ สวย ๆ เลย แต่พอตีกลองแบบนี้มา เข้า เลยจัดเป็นแบบนั้น ส่วนพวกซาวด์ก็อยากให้ตอนอัดกัน อยากได้ความแตกของกลอง แล้วจังหวะมันย้ำ ๆ ไปเรื่อย ๆ เราใช้อัดเข้าไป reel to reel อัดกีตาร์เข้าไปแล้วให้มันแตกที่สุด แล้วก็ผสม plug in ของในคอม (เต๊นท์: ให้มันพุ่ง ๆ) ให้มันพังก์อะ (หัวเราะ)

3 Mins

เต๊นท์: เริ่มมาจากเมโลดี้ก่อนเลย ตื๊อตือตื่อ ตื่อตื๊อตือตื่อ โน้ตง่าย ๆ มาลงกับคำว่าสามนาที’ ‘น้องใจเย็นแล้วเราก็พยายามสะสมคำศัพท์ที่มันเกิดจาก 3-4 โน้ตนี้มาประกอบกัน ก็เป็นเรื่องที่ติ๊ต่างขึ้นมา ก็เป็นเรื่องสนุก ๆ ว่าคนนึงกำลังรีบจะเข้าไปทำอะไรสักอย่าง อีกคนก็กำลังเล่นยาอยู่ ก็ขอเวลา 3 นาที เพลงในชุดนี้จะมีกิมมิกเยอะที่เอามาจากอะไรไทย ๆ อย่างเพลงนี้ก็เอามาจากเพลง โดเรมี ของคุณเบนซ์ พรชิตา ท่อนที่เขาร้องว่าขอเวลา สัก 3 นาทีหรือคำว่าไอ้น้องใจเย็นที่คนชอบพูด ก็เป็นเพลงสนุก ๆ ขึ้นมา

จริง ๆ ก็อะเรนจ์คล้าย ๆ Joviality of Shadow คือเราเขียนโน้ตไว้ว่าจะเล่นท่อนไหนบ้าง แล้วก็เอามาแจมเลยในห้อง คร่าว ๆ จะพูดแค่การวน แต่ฟอร์มไม่ได้ซับซ้อนมาก ให้แปมตีเป็นลูป motoric เลย จะมีความเด้ง ๆ โทนใส ๆ แบบอัลบั้มแรก

Ui

Trip

เต๊นท์: เพลงบรรเลงสำหรับเราเป็นการแก้ปัญหามากกว่า คือมันแต่งเนื้อไม่ได้ ภาพในหัวเราไม่เกิดเนื้อเพลงอะไรขึ้นมา งั้นมาทางนี้เลย เป็นเพลงบรรเลงดีกว่า (หัวเรา) ไอ้เพลง บรรเลง ในชุดแรกก็กะว่าจะมีเนื้อ มีอะไร ไปทำการบ้านมา แต่สุดท้ายก็ใส่ไม่ได้ว่ะ

แนท: แต่จริง ๆ เพลงนี้ก็ไม่อยากให้แต่งเนื้ออยู่แล้วนะ ลุ้นมากว่าจะแต่งมั้ยว้า เหมือนเราฟัง Is This Music? ของ Teenage Fanclub เราจะชอบมากอยากมีเมโลดี้กีตาร์เท่ๆเล่นโซโล่วนลูปอยู่นั่นแหละอยากทำตัวเป็นร็อกแต่โซโล่ไม่เก่งแต่เล่นแค่ริฟฟ์นี้ได้อะไรแบบนี้

เต๊นท์: เหมือนจังหวะเบส มันเป็นเมโลดี้ของมัน อาจจะเป็นดนตรีเพียว ๆ ไปเลยดีกว่า แล้วมันก็เป็นเพลงหลัง ๆ แล้ว ก็โอเค ให้เป็นเพลงบรรเลงไป

No Land

เต๊นท์: จริงๆ  มันคือ part 1 part 2 คล้าย Fancy I, Fancy II นะ เพลง No Land กับ Trip อะ เราก็ได้ไอเดียจากที่มีเพลงนึงมาแล้ว ตอนนั้นยังไม่ได้ชื่อเพลง Trip ยังเป็นอะไรอยู่ก็ไม่รู้ แล้วเราอยากทำอีกเพลงนึงเป็นเพลงบรรเลงจริงจัง เอามาสวมต่อ ก็เลยเป็นสองเพลง พาร์ตต่อกัน

อย่าง Trip ก็ตามชื่อเพลงเลย เหมือนว่าโดนดูดไปสักที่นึง กำลังเริ่มต้นเหยียบคันเร่งกำลังจะไปที่นึง จนไปถึง No Land มันก็เป็นเพลงเชิงตัดพ้อนะ จริง ๆ วงเราเคยมานั่งคิดนะว่า เราอยู่ในพื้นที่ดนตรีแบบไหน หนึ่ง มันระบุแนวดนตรียาก วงร็อกก็ไม่ใช่ ฮิปฮอป r&b ก็ไม่ใช่ จะป๊อปเราก็ไม่เชิง เราไม่รู้ว่าเราไปอยู่ตรงไหนได้ ก็เลยเป็นเพลง No Land หรือว่าจริง ๆ เราไม่มีพื้นที่ของเราวะ เป็นความรู้สึกเล็ก ๆ ขึ้นมา เมโลดี้จะมีความโดด ๆ ไม่ย่ำอยู่กับที่ แล้วก็อยากทำให้มันเป็น space กว้าง ๆ ไกลสุดลูกหูลูกตา มองแบบไม่เห็นอะไร เป็นคอนเซ็ปต์ของเพลงนี้ขึ้นมา แล้วก็ได้เพื่อนเราชื่อดอม มาเป่าแซ็กให้อีก

On Concrete

เต๊นท์: ได้น้องเบล Game of Sounds มาร้อง ก็เป็นเพลงท้าย ๆ อัลบั้ม เนื้อเพลงก็เกิดจากชีวิตประจำวันเราเนี่ยแหละ เราชอบไปวิ่ง ไปเดินตอนเย็น ๆ พื้นเป็นคอนกรีต แล้วตอนเดินตอนวิ่งมันมีความรู้สึกกับตัวเองเยอะ มันก็จะมีความคิดนู่นนี่นั่นมาว่า เราจะทำยังไงกับชีวิตดีวะ เดี๋ยวเราจะทำอะไรต่อดีกับอัลบั้มนี้ แล้วมันก็เกิดความเครียด ความรู้สึกแย่โดยไม่รู้ตัว เราจะทำยังไงกับมันได้ แค่มองฟ้า มองพื้น ความรู้สึกแย่ ๆ พวกนั้นก็หายไปแล้ว ไม่ต้องไปคิด ไปกังวลอะไรหรอก เป็นเพลงที่ capture moment นึงของเราโทนมันจะออกฟีลสนุกๆให้กำลังใจ

การอะเรนจ์มีความฟังก์ ๆ ฮิปฮอป มีความ krautrock ที่เขาเล่นฟังกี้ ดนตรีอเมริกันแบบยุโรป คือกูเล่นเป็นเท่าเนี้ย ไม่ได้เล่นเก่ง ก็ให้เบสเล่นโน้ตซ้ำ ๆ ฟังกี้เป็นลูปไปเลย อะเรนจ์ให้มันโทนใส ๆ สนุก ๆ ให้ขัดกับความรู้สึกแย่ในเนื้อเพลง เป็นเพลงท้ายอัลบั้มที่ทำให้ฉับพลัน ไม่ได้คิดอะไรมาก กีตาร์ท่อนกลางแนทก็ทำลายความฟังง่ายไปหมด

แนท: ไม่ได้ตั้งใจหรอก เต๊นท์มันอัดก่อน ตอนนั้นก็เชียร์โปรดิวซ์ให้มันอัดยาก ๆ พอถึงตอนเราอยู่คนเดียวก็นึกไม่ออก คิดให้ดีไม่ได้ก็เล่นเหี้ย ๆ ไปเลย เป็นอารมณ์ต่อต้านแบบนั้น

เต๊นท์: เออ เป็นวิธีที่ชอบทำกัน พอรู้สึกว่ามันเริ่มเพราะหน่อยนึงแล้วก็จะพลิกมันเป็นอีกแบบเลย โรคจิต (หัวเราะ)

Now

เต๊นท์: เป็นเพลงที่แต่งขึ้นมาคนเดียว ในช่วงที่ปอนด์ยังอยู่ ก็กะว่าจะให้ปอนด์ร้องเพลงนี้ แต่ปอนด์อยู่ไม่ทัน เราเลยรื้อเพลงนี้มาทำในคอมพิวเตอร์เอง เพลงนี้จบที่เราคนเดียว (แปม: ตอนแรกจะทำเป็นแบนด์แต่รู้สึกว่าไม่เข้ากัน) เพลงพูดถึงการหยุดความคิดอะไรที่มันยังไม่เกิดขึ้น อยู่กับปัจจุบันขณะ พูดเรื่องความคิด การหยุดคิด หรือว่าลองอยู่กับตัวเองดูก่อน เรื่องอื่นอย่าเพิ่งไปสนใจมัน

มีช่วงนึงที่เราสนใจการเจริญสติ ก็คุยกับ ณป่าน Hariguem Zaboy บ่อย มันมีช่วงที่ณป่านไปบวช แล้วกลับมาพอดี ก็ถามมันว่าเขาให้มึงทำอะไรบ้าง สอนกูบ้างดิ ก็ลองมาทำนะ จริง ๆ คีย์ของศาสนาพุทธเนี่ย แก่นมันเจ๋งนะ มันคือเรื่องปัจจุบันขณะจริง ๆ การฝึกลมหายใจ มันเจ๋งอะ มันไม่ใช่แค่การเกิดสมาธิ แต่มันขยายต่อไปหลาย ๆ เรื่องได้ เราเลยเอาโมเมนต์ตรงนี้มาเขียนเพลง

แล้วก็ช่วงนี้ฟัง Another Green World ของ Brian Eno เนี่ยแหละ มันก็จะเป็นซาวด์แบบแอมเบียนต์เยอะ ๆ เป็นซาวด์สังเคราะห์ 80s ปลอม ๆ เหมือนเวลาเราฟังพระเทศน์ใน YouTube มันจะชอบมีดนตรีแบบนี้ Green Music อะ เราพยายาม present ตรงนั้นเข้ามาในเพลงตรงนี้ที่มันจะมีความเข้ากันอยู่ เนื้อหาก็พูดเรื่องสภาวะในทางตะวันออก ก็อยากให้ซาวด์มันดูโดรน ๆ แอมเบียนต์ ๆ ปิดท้ายให้สวยงาม โดยเป็นเรื่องที่พูดเกี่ยวกับตัวเอง แล้วก็ให้แนทช่วยทำเสียงกีตาร์

แนท: มันเหมือนคนนั้นมาเขย่าประตูกึก ๆๆๆๆ เป็น plug in ในนั้นที่เราชอบใช้มาก อยากใช้ให้เพลงมันสกปรกขึ้น

จากที่ฟังมาทั้งหมด คิดว่าความกวนโอ๊ย เป็นจุดเด่นของ Summer Dress มาตั้งแต่อัลบั้มแรกแล้ว

เต๊นท์: มันเป็นบุคลิกเราตั้งแต่แรกแล้ว คือ Summer Dress ถ้าให้อธิบายเป็นคน ๆ มันยากมากว่าคืออะไร ถ้าพูดเรื่องกิจกรรมที่เราทำ หรือวิธีพูดคุย อันนั้นอะมีความ Summer Dress เราโตมากับค่านิยม culture แบบนี้ การเล่นตลกกัน คุยเล่นกันแบบเปิดเผย มันจะมีตรงนี้ (แนท: พยายามจะเท่ก็เท่ไม่ออก) เออ จะเท่ก็ดูแหยง ชุดแรก เพลง กิจวัตร mv อยากได้เท่ ๆ มันก็เท่ไม่ได้ ไปทางนั้นไม่ไหวว่ะ (หัวเราะ) ในความเท่อาจจะไม่ได้มีเซนส์จากตัวเรา อาจจะไปเป็นอาร์ตเวิร์ก visual ให้ภาษาภาพมันมาส่งแทนเราดีกว่า แต่แน่นอนว่าความสนุก ความสบาย ๆ ในตัวเนื้อเพลงเรายังอยากให้มันมี แต่ดนตรีก็ให้มันซับซ้อนเลย

ใครเป็น Art Director ในชุดนี้

เต๊นท์: น้องแบงค์—สุเชษฐ์ อินอุทัย เขาไปทำงานอยู่นิวยอร์ก เป็นกราฟิกดีไซเนอร์ เป็นนักวาดภาพประกอบ เขาอยากทำให้เรา อยากมีพอร์ต แล้วเขาบอกจะทำให้ฟรีนะ เราก็เอาดิครับ! (หัวเราะ) (แปม: วงเราทุนต่ำอยู่แล้ว) เราดูงานเขา เป็นสไตล์จุด ๆๆๆ สเปรย์ไล่สี gradient แรง ๆ คือเรามีอยู่สามเพลง ส่งให้เขาฟัง เขาก็ร่าง ๆ มาให้ เราก็ถูกใจเลย คือมันมีความ surreal เขาตีความเพลงเราว่ามันออกหลอน ๆ ไม่มี space นี้อยู่จริงในโลกนี้ ก็เลยมาทางนี้ พัฒนาแบบกันไป ส่วนตัวเราก็ชอบเลยนะ มันแรงมาก สีมันจัด object มันอะไรวะ มาอยู่ที่เดียวกันได้ไง (แปม: มันดูเข้ากับเพลงเราอะ) ตอนแรกเขาทำแบบมาอันนึง แนทคอมเมนต์กลับไปให้ทำอาร์ตเวิร์กต่อกันแบบ Miles Davis อัลบั้ม Bitches Brew เป็นอัลบั้มทดลองของเขา แล้วอาร์ตเวิร์กมันแรง ๆ เหมือนกัน ก็เลยเป็นไอเดียที่เขาทำแนวนอนเป็นพาโนรามา

แนท: ตอนแรกก็ไม่คิดว่ามันจะเหมาะกับเพลงขนาดนี้ คือเห็นทีแรกงานเขาก็มาตรฐานดีแหละ แต่พอเห็นอันที่ปรับแล้ว โหเชี่ย เอาเงินเหอะ

เต๊นท์: แบงค์เป็นคนทำงานหนักมากนะ ทำมาเกินตลอด ขอไป 1 ทำมา 3 เงี้ย แล้วคือสวยทุกแบบ อย่างในเพจที่มีแคมเปญให้โหวต เพราะเราก็เลือกไม่ถูก อย่างโปสเตอร์เงี้ย ก็วาดใหม่ ไม่ได้เอา element จากอันเดิมมาใช้ ขยันมาก ๆ ประทับใจ เทปก็ไม่มีความเป็นซีดีเลย แต่มันเช่ือมด้วยสี กับเส้นมากกว่า มันทำให้ดูน่าสะสม คุณซื้องาน Summer Dress เหมือนคุณ collect งานเขาเลยนะครับ

Ui

ทำงานเสร็จแล้วลองกลับมาฟัง รู้สึกยังไง

เต๊นท์: รู้สึกเบื่อมาก ไม่รู้สึกอะไรกับเพลงอัลบั้มนี้ละ (แปม: วนอยู่กับมันเยอะมากเกินไป) คือมันต้องใช้เวลาเว้นเยอะ เราเพิ่งมีไวนิลอัลบั้มแรก พอกลับไปฟังแล้วรู้สึกเจ๋ง เพราะมันมีความเป็นตัวแทนของคนฟังแล้ว แบบ ‘ตอนนั้นเราก็เก่งเหมือนกันนะเว้ย’ ที่เราทำมาไม่ได้แย่แบบที่รู้สึกกันนะ

แปม: ชอบนะ ถ้าลืมว่าเราเคยทำอะไรมาแล้วมานั่งฟัง มันก็เป็นอัลบั้มที่ฟังเพลิน ๆ ได้อันนึง แล้วมันค่อนข้างยาว ต้องให้เวลากับมันเพื่อฟังทั้งอัลบั้ม ไม่ใช่ฟังเป็นซิงเกิ้ล ๆ Summer Dress มันเป็น concept album ต้องฟังทั้งหมดเพื่อให้รู้เรื่องราวทั้งหมด ว่ามันเป็นอันเดียวกัน

โป้: เราชอบมากกว่าอัลบั้ม 2 นะ คืออันนั้นมันฟังแล้วเขิน คือเราชอบอะไรที่มันเท่ ๆ แล้วชุด 2 มันยังไม่เท่เท่าชุดนี้ ความเท่ของเรามันไม่เหมือนคนอื่นอะ (หัวเราะ) พอฟังแล้วรู้สึกว่าแปลกดี แล้วชุดนี้มัน mastering มาดีด้วย ภูมิใจ เพลงกูมันนวลหูแล้วว่ะ

เต๊นท์: ส่งไปมาร์เตอริงที่ Bristol กับคุณ Shawn Joseph เขาก็ทำมาสเตอริงให้วงโลคัลบ้านเขา คนที่ใช้บริการบ่อย ๆ คือ Geoff Barrow ที่เป็นดีเจให้ Portishead เขามีวงชื่อ Beak ก็ส่งให้ที่นี่เหมือนกัน แล้วก็มี PJ Harvey เราก็ชอบงานของเขา

แนท: แง่คนทำเราก็เบื่อเราต้องมิกซ์ เต๊นท์ก็มิกซ์ ตอนแรกคุยกันตอนเรียงลงซีดีคือไม่อยากฟังแล้ว แต่ตอนนี้ก็รู้สึกดีใจเพราะว่ามันมีหลายช่วงในอัลบั้มนี้ที่เราไม่อยากทำแล้ว ไม่อยากไปต่อ ทำแล้วไม่เห็นได้อย่างที่ใจชอบสักที ก็ภูมิใจที่ผ่านตรงนั้นมาได้ จนได้อย่างที่ชอบจริง ๆ

คิดว่า Ui (user interface) ของเรา ทำมาเหมาะกับผู้ใช้แล้วหรือยัง แล้ว UX (User Experience) ที่ผู้ฟังจะได้รับ คาดหวังจะให้เป็นยังไง

เต๊นท์: อย่างนึงคือสดแน่นอน สดขนาดที่ฟังทีเดียวแล้วอาจจะไม่ชอบเลยก็ได้ หรือถ้าอยากจะทำความเข้าใจหน่อยต้องฟังหลาย ๆ รอบ มันมีกิมมิกมีอะไรของมันเยอะ เราว่าอัลบั้มนี้มันจะให้ประสบการณ์แบบนั้นกับคนฟัง มันมีรายละเอียดแอมเบียนต์อะไรซ่อนอยู่ภาพลักษณ์ของตัวเพลงที่ออกมา มันอาจจะดูหยาบ มีนอยซ์ มีเหลื่อม นั่นนี่นิดนึง แต่เราตั้งใจทำแบบนี้ คิดมาอย่างพิถีพิถันแล้ว อยากให้มองว่ามันเป็นโปรดักชันทางเลือกอีกแบบนึงที่อยากนำเสนอให้บ้านเราฟัง ว่าแบบนี้ก็มีนะ ไม่จำเป็นต้องเป๊ะตลอด

แปม: อัลบั้มนี้เราโตขึ้นแล้วก็รับผิดชอบกันเอง ตั้งวงมา 11 ปีแล้ว

ฝากอะไรทิ้งท้าย

โป้: มาดูไลฟ์กันเยอะ ๆ สองทุ่ม

เต๊นท์: วันนี้ (พฤหัสบดีที่ 30 กรกฎาคม) จะมี live stream เปิด pre-order Blind Ears Bundle มีซีดี มีเทป โปสเตอร์ risograph คือการพิมพ์ด้วยเครื่องที่ชื่อ risograph เป็นการพิมพ์ทีละสี ทีละแผ่น มันก็จะได้ texture ไม่เหมือนกัน เป็นนอยซ์จุด ๆๆๆ มีความแรนดอม แต่ละแผ่นจะไม่เหมือนกันด้วยความที่มัน analog มาก ๆ สีก็จะเพี้ยนนิดนึง ทั้งชุดราคา 1,000 บาท จำกัดแค่ 100 ชุด แล้วถ้าใครโอนทันในช่วงไลฟ์ จะมีเสื้อ Stone Free ปีแรกแถมให้ด้วย จำกัด 25 ตัว อาจจะราขึ้นหน่อย ๆ เพราะเป็นของเก่าเก็บ (หัวเราะ) (แปม: ของขลัง ๆ) ถ้าคนร่วมสนุกเยอะอาจจะมีซีดีอัลบั้ม Serious Music แถมไปเลย เหลือเยอะ ไลฟ์นี้เราฮาร์ดเซลมาก ของรางวัลในไลฟ์จะคาดไม่ถึง

โป้: วันที่ 31 ก็จะเปิดให้สั่งจองตามปกติในเพจของเราเลย ส่วนเทป จะขายแยกราคา 600 บาท ซีดีขายราคา 450 บาท ถ้าซื้อ bundle ได้โปสเตอร์ด้วย ถ้าโอนทันก็ได้เสื้อด้วย คุ้มกว่า

เต๊นท์: แล้วก็จะมี Q&A มี preview ให้ฟังเพลงสั้น ๆ ด้วยกัน ก็ ฝากช่องทางเฟซบุ๊ก แล้วก็อินสตาแกรม @summerdress_bug ด้วยครับ ถ้าใครเล่น Spotify ก็กด follow วงเราไว้ด้วย มันจะมีผลประโยชน์เพิ่มมากขึ้นสำหรับเราในหลาย ๆ ทาง กด subscribe ใน YouTube ด้วยขอบคุณครับ

อ่านต่อ

Summer Dress : New Flavor

Facebook Comments

Next:


Montipa Virojpan

อิ๊ก เนิร์ดดนตรีที่เพิ่งกล้าเรียกตัวเองว่าเป็นนักเขียนตอนอายุ 25 ชอบเดินเร็ว นอกจากขนมปังกับกาแฟดำแล้วก็สามารถกินไอศกรีมกับคราฟต์เบียร์แทนมื้อเช้าได้