Article Interview

Tomato Love Records ค่ายเพลงสดใหม่ พร้อมคัดสรรศิลปินรสชาติดีส่งตรงถึงหูคุณ

  • Writer: Montipa Virojpan
  • Photographer: Saind Pradhana

สองเดือนที่แล้ว เราได้เห็นความเคลื่อนไหวของกลุ่มศิลปินที่ชื่อ Tomato Love Records บนฟีดเฟซบุ๊ก โดยพวกเขามีภาพลักษณ์เป็นมิตรพ่วงด้วยไอเดียน่าสนใจ กับคอนเซ็ปต์ที่ต้องการนำเสนอความแปลกใหม่ทางดนตรีให้เราได้ลิ้มลองกัน ผ่านการตีความให้ศิลปินที่เขาคัดสรรมาแล้วเป็นเหมือน ‘มะเขือเทศ’ ที่แม้ว่ามันจะมีความสดใหม่ก็ใช่ว่าทุกคนจะชื่นชอบผลไม้ชนิดนี้

ก่อนที่เราจะ ร้องยี้ เบือนหน้าหนีเจ้าลูกกลม ๆ แดง ๆ ขอถามกันตรง ๆ ว่า คุณได้ลองชิมมันจริง ๆ หรือยัง

TOMATO PICKERS
เต๊นท์—ศิวนัส บุญศรีพรชัย
น็อต—ภาคภูมิ เจริญวิริยะ
พัด—บริพัตร แสงสิริ
เอ็กซ์—ธนวัฒน์ ดำรงศิริ

เราก็ไม่ได้อยากให้เท่แต่ก็กินไม่ได้ แล้วก็อยากให้เขาเป็นตัวของเขาเอง มีคนรักในแบบของเขาและสามารถจุนเจือเขาได้ในทางนึง — เต๊นท์

ทำไมถึงตัดสินใจทำค่ายเพลงเป็นของตัวเอง

เต๊นท์: ตอนแรกมันก็เป็นไอเดียของเราที่อยากจะรวมกลุ่มเพื่อน มาทำอะไรสักอย่างที่จะได้มาช่วยกันแชร์คอนเน็กชัน แชร์เรื่องโปรดักชันทำเพลง ก็คิดว่าช่วงแรกน่าจะทำเป็นกลุ่มก่อน ทีนี้คุยไปคุยมา แค่กลุ่มอย่างเดียวมันอาจจะไม่ชัดเจนขนาดนั้น เลยรวมรุ่นน้องรุ่นพี่ที่คณะ (ดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร) มาทำค่าย แล้วเราก็อยากรู้เรื่องการทำค่ายว่าต้องทำอะไรบ้าง เหมือนเป็นการลงเงินเพื่อซื้อคอร์สในการเรียนรู้การทำธุรกิจในอุตสาหกรรมดนตรีแบบที่ไม่เคยมีความรู้ในการบริหารจัดการต่าง ๆ มาก่อนเลย

อันที่จริงเต๊นท์กับพัดก็เป็นศิลปินที่อยู่ในค่าย ได้เรียนรู้อะไรจากตรงนั้นบ้างหรือเปล่า

เต๊นท์: จริง ค่ายที่เราอยู่กันนี่ก็ค่อนข้างปล่อยฟรี ไม่ค่อยได้เรียนรู้กระบวนการบริหารอะไรเท่าไหร่ แต่เราได้คอนเน็กชัน แล้วก็ได้รู้วิธีการขั้นตอนจากศิลปินที่ไม่เคยมีเพลงแล้วมาทำเพลง จะไปติดต่อโรงงานมาปั๊มแผ่นอะไรยังไง การจัดการหลังบ้านของศิลปิน ตอนอยู่ค่ายเราก็ทำกันเอง

พัด: ผมก็อยู่ค่ายแต่เพิ่งอยู่มาได้ปีเดียวเอง ก็คล้าย กันครับ ก็ได้รู้ว่าหลังบ้านจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ตัวเบสิกทั่วไป เรื่องการโปรโมต ขั้นตอนในการทำแผ่น ส่วนเรื่องโปรดักชันทำเพลงเราก็ทำกันเองอยู่แล้ว

แล้วพอได้มาทำค่ายเองจริง ๆ ช่วงแรกเจออุปสรรคหรือติดขัดอะไรตรงไหนบ้าง

น็อต: เพราะว่าเราไม่เคยมีประสบการณ์บริหารจัดการค่ายเพลงเลย มันก็จะมีรายละเอียดหลังบ้านที่เราต้องเจอ แล้วเหมือนกับว่าด้วยวิธีของเรา เราไม่ได้อยากทำแค่แปป เลิก ก็อาจจะแปป เลิกเพราะว่า… (เต๊นท์: ทุนหมด) (หัวเราะ) แต่ว่าใจจริงอยากทำให้ทุกอย่างเป็นระบบที่ยั่งยืนจริง เพราะเราหวังว่าจะซัพพอร์ตตัวเอง ซัพพอร์ตศิลปินได้ในระยะยาว ถ้ายืนระยะได้ด้วยตัวเองซักประมาณนึงก็โอเคแล้วแหละ เหมือนมันมีเรื่องพวกธุรกิจ การจัดการ ลิขสิทธิ์ ที่เป็นการขยายสเกลทุกอย่างจากการที่เราทำวงดนตรีของเราเองวงเดียว แต่นี่คือต้องมาดูแลคนอื่น ๆ ซึ่ง ณ ตอนนี้ก็เริ่มมาได้สองเดือน ยังอยู่ในขั้นตอนการ set up และเรียนรู้อยู่

เต๊นท์: ทำวงดนตรีมันก็แค่ทำโปรดักชัน คุณแต่งเพลง คุณ release ออกมาก็จบละ แต่นี่เหมือนมันมีชีวิตคนอื่นที่เราต้องรับผิดชอบ อย่างน็อตเขาจะเน้นมากว่ามันควรจะเป็นระบบที่ถูกเซ็ตอัพมาเพื่อให้ทั้งศิลปินเองทั้งค่ายมันยั่งยืน จะได้ไม่ต้องมาเกิดคำถามกันที่หลังว่าทำไมเราปล่อยตรงนี้ไป ทำไมตรงนี้มันเละจัง

อุปสรรคการทำค่ายเพลงอินดี้ก็น่าจะเป็นเรื่องทุนมากกว่า คือตอนนี้เราหุ้นตังค์กันสามคน (เต๊นท์ น็อต พัด) ด้วยเงินที่จำนวนน้อยมาก น้อยจนต้องร้องว้าวเลย (หัวเราะ) เหมือนรายการใช้ชีวิตยังไงให้อยู่ในงบจำกัด ‘เจ็ดวันพันเยน’ อะไรแบบนั้น (หัวเราะ) คือมันก็ดีนะ ดูเป็นโจทย์ให้เราสร้างระบบหรือสร้างวิธีการอะไรแบบนึงจากการ low budget ก็น่าจะโอเค (น็อต: เหมือนเราพยายามรักษาจิตวิญญาณของความ DIY เอาไว้ด้วย) ไม่ได้มองแต่ว่าเราจะทำอะไรสักอย่างแล้วเราต้องทุ่มเงินเพื่อให้ได้ quality ที่ใหญ่มาก แต่เราเชื่อว่าสิ่งนึงที่จะมาแก้ปัญหาตรงนี้ได้คือความคิดสร้างสรรค์ ถ้าเราคิดดีพอ ทุกอย่างมันก็จะสื่อออกมาได้อย่างมีคุณภาพภายในต้นทุนที่เรามี

แต่ในเมื่อช่วงนี้ทางค่ายก็ยังไม่สามารถซัพพอร์ตต้นทุนการทำเพลงหรือโปรโมตได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แล้วอะไรทำให้หลาย คนตัดสินใจมาอยู่ค่ายนี้

เต๊นท์: น่าจะเป็นความไว้เนื้อเชื่อใจกันมากกว่า เราเป็นรุ่นพี่รุ่นน้องที่มหาลัยเราก็เห็นผลงาน เห็นศักยภาพ เรื่องโปรดักชันก็ดี เรื่องนิสัยใจคอก็ดี แล้วศิลปินใน phase แรกของค่ายเขาก็ยังไม่ได้คิดถึงเรื่องว่าจะฝากอนาคตไว้กับค่ายนะ เขาก็อาจจะพยายามสร้างตัวไปพร้อมกับค่ายเหมือนกัน (พัด: ทุกคนยอมรับในจุดนี้ได้ว่าเราจะสร้างเนื้อสร้างตัวไปด้วยกัน) ก็คงยากในช่วง phase นี้ถ้าเกิดมีศิลปินที่เข้ามาแล้วแบบว่า ‘คุณจะการันตีเราได้ยังไง’ แต่ในอนาคตเราต้องซัพพอร์ตเขาให้ได้ เพราะว่าเราก็ไม่ได้อยากให้เท่แต่ก็กินไม่ได้ แล้วก็อยากให้เขาเป็นตัวของเขาเอง มีคนรักในแบบของเขาและสามารถจุนเจือเขาได้ในทางนึง

อันที่จริงศิลปินทุกวันนี้ก็สามารถสร้างผลงานเอง หรือแม้แต่โปรโมตเองโดยที่ไม่ต้องพึ่งค่ายเพลงก็ได้ แต่ทำไมเรายังเชื่อในการที่จะมีค่ายเพลงอยู่

น็อต: ใช่ จริง ตอนแรกเราก็คิดอย่างนั้น เราก็ส่งไป distribute เองได้ ทำคอนเทนต์เองได้ จะมีค่ายไปทำไม แต่ว่าเอาจริง แล้วเราพบว่าการที่เราไปร่วมมือกับคนอื่น มันเหมือนกับดึงคนมาเกี่ยวข้องให้เยอะมากขึ้น มันจะทำให้อะไรหลาย อย่างมันเผยแพร่ออกไปได้ง่ายขึ้น เพราะว่าแต่ละคนก็อยู่ในพื้นที่ที่มันค่อนข้างต่างกัน ถ้าเราเกิดมาจากที่เดียวกันหรือแผ่กระจายมาจากจุดเดียวมันก็จะมีจุดจำกัดอยู่แค่นั้น

เต๊นท์: คือศิลปินเดี๋ยวนี้ทำเอง ขายเอง ลงทุนเองได้หมดแล้วเพราะเขาก็มีสื่อในมือด้วยเหมือนกัน แต่ว่าอย่างที่บอกไปข้างต้นว่ามันเหมือนเป็นการแชร์ไอเดียและคอนเน็กชันมากกว่าสำหรับค่ายเพลงเรา แล้วเราก็พบว่าศิลปินบางคนก็ไม่สามารถจะจัดการอะไรด้วยตัวเองได้ คือเขาเป็นศิลปินก็ไม่อยากจะมายุ่งกับเรื่องการต้องมาโปรโมต หรือต้องมาสมัคร ID เป็น 10 users เพื่อเอาผลงานไปลงช่องทางต่าง เพราะว่าค่ายเพลงจะตัดปัญหาเรื่องพวกนั้นได้ เป็นการสร้างพื้นที่ เขาก็จะเต็มที่กับงาน ทำ ๆๆ ไปอย่างเดียว ค่ายก็ซัพพอร์ตเรื่องการจัดการเรื่องหลังบ้านให้ ซึ่งพบว่าจำเป็นมาก แล้วในอนาคตถ้ามันเวิร์กสำหรับค่ายเพลงค่ายเพลงนึง มันก็จะกลายเป็นแบรนด์สินค้านึงที่ตอนแรกอาจจะไม่รู้ว่าวงจะดีหรือไม่ดี แต่ถ้ามันมาจากค่ายเนี้ย มันก็ดีหมด (น็อต: คนก็จะสนใจ เหมือนมันแชร์ชื่อเสียงกันด้วย)

เดี๋ยวนี้บทบาทของค่ายจะเป็นเรื่องการโปรโมต หางานแสดง และจัดจำหน่ายเป็นหลัก แต่ยุคหนึ่งสมัยหนึ่งค่ายจะเป็นเหมือนป้ายบอกรสนิยม ด้วยการคัดเลือกศิลปินที่มีความใกล้เคียงกันในทางใดทางหนึ่งเพื่อบอกว่าสไตล์ดนตรีของค่ายนี้จะเป็นประมาณนี้ ค่ายของเราเป็นแบบนั้นหรือเปล่า

เต๊นท์: ก็คงจะเป็นแบบนั้น ไม่ใช่ว่าค่ายเพลงทุกค่ายจะมีสไตล์เพลงที่พอลูกทุ่งแล้วก็มาเป็นเดธเมทัล มันก็ไม่ได้เรนจ์กว้างขนาดนั้น เหมือนว่าอย่างค่าย Sub Pop ของอเมริกา เราก็จะรู้ว่าเขาจะเป็นร็อกแบบนึงไปเลย หรือ Captured Tracks ก็จะมีสไตล์เฉพาะ เราก็พยายามที่จะทำแบบนั้นให้ได้

แล้ววงจากค่าย Tomato Love Records ต่างจากค่ายอื่นยังไง

เต๊นท์: เบื้องต้น position ที่เราคุยกันว่าการเลือกศิลปินจะต้อง based on คำว่า ‘fresh’ คือฟังแล้วต้องรู้สึกสดใหม่ ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงว่าคุณต้องทำอะไรที่ล้ำ หรือดูเข้าถึงยาก มันคือการที่ศิลปินคนนั้นเขาชอบดนตรีที่หลากหลายมาก และสามารถเอาส่วนผสมเหล่านั้นมาผสานให้กลายเป็นสินค้าของตัวเองได้ แต่ว่ามันก็พูดยากในเรื่องซาวด์และสไตล์ดนตรี เราเลยคิดว่าค่ายเราตอนนี้จะเน้นเป็นดนตรีอิเล็กทรอนิก พวกซินธิไซเซอร์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิก หรือวิธีคิดแบบอิเล็กทรอนิก

ช่วยขยายความคำว่าวิธีคิดแบบอิเล็กทรอนิกหน่อย

น็อต: ก็คือ electronic music ไม่ได้หมายถึง EDM แต่มันคือกระบวนการทางดนตรีที่ทุกอย่างเกิดขึ้นจากการมีเครื่องมือมาช่วย

เต๊นท์: ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ เครื่องมือทางไฟฟ้าต่าง ซินธิไซเซอร์ ดรัมแมชชีน มันก็จะสร้างไอเดียของวิธีการแต่งเพลงออกมา อย่างแนท Flower Dog ทำเพลงอะคูสติก ใช้กีตาร์โปร่ง แต่ว่าไอเดียคุณเป็นเพลงอิเล็กทรอนิก หยิบริฟฟ์ของโน้ตมาชุดนึงแล้วก็อปแปะ คือเป็นลูปมาประกอบกัน หรืออย่างวง Supergoods ก็เป็นวงอะคูสติกทั่วไปแหละ แต่วิธีการแต่งเพลงของเขามาจากลูป การทำบีตแบบฮิปฮอป เราก็ถือว่าเป็นอิเล็กทรอนิกเหมือนกัน นั่นน่าจะเป็น position ของ Tomato Love Records

ตอนนี้ศิลปินในค่ายมีใครบ้าง

พัดล่าสุดที่เข้ามา Gorn Clw ก่อนก็ยังเป็นก่อนเหมือนเดิมครับ เนื้อหาก็จะมีการใส่คำศัพท์หรือวัฒนธรรมของคนดำเข้าไป เป็นสิ่งที่เขาชอบ จริง ๆ ก่อนมันเป็น gangster มาก่อน (หัวเราะ)

เต๊นท์: ก็เป็นอิเล็กทรอนิกที่มีซินธิไซเซอร์มู้ดแหละ แต่ว่าเสียงที่เขาใช้มันค่อนข้าง nostalgia ทำให้นึกถึงยุค 80s ก็จะมีกลิ่น r&b ฮิปฮอป โซล อะไรที่เขาชอบ ผสมกันมาเป็นก่อน (FJZ: อะไรคือ G เห็นชอบพูดหรือเขียนในโพสต์ของวง) ก็แก๊งไง (หัวเราะอย่าง Waltz ก็เป็นป๊อปแบนด์เนี่ยแหละ แต่เป็นเพลงป๊อปที่เขาก็ใส่ความเป็นเพลงกีตาร์แบนด์หน่อย แล้วก็มีมู้ดของเครื่องดนตรีคีย์บอร์ด ซินธิไซเซอร์ คล้าย กับก่อน แต่โทนมันจะมาเป็นคนละแบบ อย่างก่อนถ้าพูดเรื่องมู้ดมันจะหม่น ดีพ แต่ของ Waltz จะใสกว่า เพราะเขาอะเรนจ์ด้วยเสียงกีตาร์หรือริฟฟ์อะไรให้ดูสว่าง

น็อต: เราว่า Waltz ซาวด์ดูใสกว่าก่อน แต่ว่าเนื้อหาแม่งดีพ (พัด: เศร้า ดิ่งไปเลย) เหมือนคนตลกร้าย

เต๊นท์: Supergoods ก็ชัดเจนอยู่แล้ว เขาก็ได้รับ reference มาจากดนตรีของคนดำ โซล นีโอโซล r&b ฮิปฮอป ชัดเจนมาก ส่วน Game of Sounds ก็เป็นเพลงซินธ์ป๊อปแหละ ก็เอ๋อ หน่อย มีความเป็นซอฟต์ร็อก ซินธิไซเซอร์มู้ด เป็น down tempo คือเพลงไม่ค่อยเร็ว จังหวะกลาง ค่อนข้างช้า ลอย หน่อย Flower Dog ก็เป็นอะคูสติก instrumental เลย ครับผม

ศิลปินคนอื่น สามารถส่งผลงานมาที่ค่ายได้ไหม หรือว่าค่ายเป็นคนเลือกเอง

เต๊นท์: มันก็ต้องได้อยู่แล้วแหละ แต่ว่า phase แรกนี้เราก็ยังคัฟเวอร์ไม่ไหวในการเลือกวงเข้ามาเพิ่ม แต่ว่าส่งมาได้แน่นอน ถ้าเราเริ่มทำแล้วมันเริ่มเวิร์กนะ แต่ตอนนี้กลยุทธแรกของเราก็พยายามจะปั้นให้พวกที่อยู่ phase แรกกลายเป็นโปรดิวเซอร์ คือแต่ละคนมีแนวทางชัดเจน พอเขาเริ่มได้แฟนเพลงมาจำนวนหนึ่ง คนที่เริ่มทำเพลงใหม่ ก็จะรู้สึกว่า ‘ผมอยากทำเพลงแบบ Gorn Clw มากเลย’ เขาก็จะมาเข้าค่ายเรา

น็อต: สังเกตอย่างนึงว่ากระบวนการทำเพลงของวงในค่ายเราจะไม่ได้ทำงานเป็นวงแบบแจม กัน เพราะอย่างนั้นมันจะใช้เวลามาก เราให้ความสำคัญกับการเป็นโปรดิวเซอร์

เต๊นท์: ความเป็นโมเดิร์นโปรดิวเซอร์ ก็คือ คุณมีแล็ปท็อป มีโฮมสตูดิโอเล็ก คุณก็สามารถทำเพลงของคุณเองได้ด้วยตัวของคุณเอง ตอนนี้จะเน้นแบบนี้

ค่อนข้างให้ความสำคัญกับ art direction ด้วยหรือเปล่า

น็อต: พวกเราให้ความสำคัญกับศิลปะแขนงอื่น รู้สึกว่าบางทีเสียงอย่างเดียวอธิบายอะไรไม่พอ แล้วเราก็เป็นคนพูดไม่เก่ง เราพรีเซนต์ตัวเองจากสิ่งอื่น แล้วก็พยายามสร้างงานในรูปแบบอื่นที่คนน่าจะเห็นบ่อย แล้วเริ่มเข้าใจว่าไอ้พวกนี้เป็นแบบนี้หรอ

เต๊นท์: จริง ถ้าไปเจาะเรื่องวงตอนนี้เราก็ไม่ได้บังคับว่าอาร์ตเวิร์กมันจะเป็นแบบไหน แต่เราก็ขอร้องอย่างนึงว่าคุณทำอะไรสักอย่างนึงให้ on budget ได้ไหม คือพอบอกว่าเป็น low cost อาจจะเป็นการกำหนด art direction อย่างนึงได้รึเปล่า ถ้าคุณเริ่มคิดจะทำวิดิโอประกอบเพลงของคุณอันนึงด้วยโปรดักชันที่ใช้เงินมหาศาล ภาพก็จะเป็นอีกแบบนึง (พัด: ยกตัวอย่างอย่างของก่อนจะเป็นการเอาฟุตเทจวิดิโอเก่า มายำ) ก็กลายเป็นคอลลาจวิดิโอ หรือว่า Waltz ก็เป็นอาร์ตอีกอย่างนึง ถึงมันจะ low cost ก็ไม่ได้ชุ่ยนะ มันแค่ไม่มีตังค์

น็อต: เรามองว่าต้นทุน วิธีคิด มันเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดสไตล์ ซึ่งเราว่ามันก็มีสเน่ห์ คือต่อให้เรามีเงินมากกว่านี้เราก็คงใช้เงินที่มากกว่านี้ให้มันทำออกมาแล้วดูกาก

เต๊นท์: เรียกว่าอะไร lo-fi หรอ แต่ว่า art direction ที่เป็นกราฟฟิกจากค่าย เราก็มีดีไซเนอร์เป็น แจน (ณัฐนิช โรจนถาวร) ดูแลตรงนี้หมด งานเขาก็จะเป็นงานคราฟต์ที่ดูคลีน เป็น flat design ประมาณนั้น

เปิดตัวค่ายพร้อมปล่อยเพลงของศิลปินบางคนไปบ้างแล้ว feedback เป็นยังไงบ้าง

เต๊นท์: มันก็ไม่ได้ดูเป็นแบบ โอ๊ย มาปุ๊บแล้วดังเลย เหมือนเราก็เครียดนะ แบบ เฮ้ย กูก็ไม่ได้ทำเพลงแย่นี่หว่า ไม่ได้ไร้รสนิยมขนาดที่เพลงมันจะห่วย แต่ก็ยอมรับได้เพราะมันอาจจะยังไม่เตะหูใคร ในยุคนี้ ก็พยายามจะลดความเครียดตรงนั้นนิดนึง ก็ปล่อยให้มันเติบโตไปเรื่อย ด้วยยอดวิวที่เราดูกันเอง 2-3 วิวต่อวัน (หัวเราะ) (เอ็กซ์: แต่มาทุกเพลงนะพี่) เออ เราก็มาจากโนเนมจริง อะ มันไม่มีใครรู้เลยว่าเราเป็นใคร แล้วทุกคนมีความนิยมเท่าไหน เพราะเราก็ไม่ได้เช็กเท่าไหร่ ก็อยากให้ตัวงานมันเผยทุกอย่างเอง ไม่ใจร้อน แต่ก็ไม่ใช่ว่าไม่ทำอะไรเลย

จะมีคอนเสิร์ตเปิดค่ายไหม

เต๊นท์: คิดว่าช่วงปลายปีเนี่ยแหละ มีแน่นอน

คิดว่าการมีอยู่ของ Tomato Love Records จะทำให้วงการมีอะไรใหม่ อีกบ้างนอกจากศิลปินที่ทำเพลงแนวใหม่

เต๊นท์: จริง ความตั้งใจของเราก็ไม่ได้คิดว่าค่ายเราจะช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมดนตรีให้ไปอีกระดับนึง ไม่ได้อยากคิดภาพกว้างขนาดนั้น และเราเชื่อว่าค่ายเพลงที่เกิดขึ้นมาในสมัยนี้ก็เกิดกันง่าย แล้วเขาพยายามจะสร้างความแตกต่างหรือสไตล์ในแบบของเขาอยู่แล้ว มันเป็นวิธีคิดในแบบเดียวกัน แต่เรารู้สึกว่าเราไปเน้นที่ตัวงานดีกว่า พวกศิลปินคนทำเพลงที่อยู่ในค่ายเขามีคอนเทนต์ที่ชัดเจนอยู่แล้ว และเขาก็สามารถทำเพลงที่มันดูเป็นสไตล์ เป็นอัลเทอร์เนทิฟของเขาได้ เราว่าสิ่งนั้นมันน่าจะช่วยมอบประสบการณ์ให้กับคนฟังได้ในบ้านเรา

พัด: แล้วอีกอย่างนึงที่เคยคุยกันไว้ก็คืออยากให้มันเหมือนเป็นคอมมิวนิตี้ของ music geek ขึ้นระหว่างคนฟัง ไม่ใช่แค่เกิดอยู่ในคนทำเพลงหรือโปรดิวเซอร์

เต๊นท์: ไม่น่าจะเกิดในตอนนี้ ก็คงต้องเน้นทำเพลงกันแหละ แล้วก็ค่อย ซึมซับคนฟังไปเรื่อย

แต่การสร้าง music geek ขึ้นมาสักคนมันยากมาก

เต๊นท์: เราคุยกับ จ้า Hariguem Zaboy เขาบอกว่าคนเดี๋ยวนี้ได้รับข้อมูลมากขึ้นเยอะ ไม่ได้รับสื่อเดียวกันแบบแต่ก่อน ต่างคนต่างไปหา direction ของตัวเองทั้งหมดแล้ว เราก็เลยเชื่อว่าถ้าเขามีความรู้มากพอ หรือเขาอินกับมันมากยิ่งขึ้นเท่าไหร่ เราว่าเขาจะกลายเป็น geek ในที่สุด คือมันต้องจริงใจด้วย เราก็ต้องไม่ดูถูกคนฟัง เขาชอบอะไรเราต้องทำอย่างนั้น นั่นคือการดูถูกอย่างนึง แต่มันไม่ใช่เรื่องผิดอะไร เราแค่ให้ตัวเลือกเขา

น็อต: เหมือนวิธีคิดหรือการสร้างงานของเรา เราจะคิดอยู่ตรงที่ว่า เรายังต้องเป็นเราอยู่ แต่ขณะเดียวกันเราก็แคร์คนฟังเหมือนกันนะ แต่ไม่ได้แคร์ในวิธีที่แบบว่า อ๋อ อยากฟังแบบนี้หรอ ก็ทำให้ เรารู้สึกว่าเราอยากรักษาตัวตนของศิลปินของเราไว้ แต่ก็ไม่ได้ถึงขั้นกังวลว่าทำออกมาคนจะไม่รับปะวะ ก็พยายามจะเสิร์ฟคนฟังไปด้วย ค่อย ทีละนิด เหมือนเราค่อย ให้ความรู้คนไปด้วย อาจจะไม่ใช่ด้วยแค่ทำเพลงอย่างเดียว แต่เป็นการนำเสนอรูปแบบอื่น อีก

วงดนตรีรุ่นพี่ชอบบอกว่าวงรุ่นใหม่ งานไม่ค่อยคราฟต์ ไม่ค่อยมีคุณภาพ จริงหรือเปล่า

เต๊นท์: เรื่องความคราฟต์มันก็อยู่ที่ประสบการณ์ด้วยแหละ เอาจริงนะ ทำเพลงแล้วปล่อยเลยก็ไม่ผิด เขาอาจจะรู้สึกว่าโปรดักชันแบบนี้เขาโอเคกับมันแล้ว เพอร์เฟกต์มากแล้วสำหรับเขา เรื่องเพลงมันปัจเจกไง แต่กับอีกคนฟังแล้วอาจจะรู้สึกว่ามึงทำอะไรมาวะ ซาวด์อุบาทว์มากเลย เพลงใช้ไม่ได้ เราว่ามันก็เป็นสิทธิของเขานะ อย่างเราเราก็ทำเพลงแล้วก็ปล่อยเลย ไม่ได้สน แต่เราเชื่อว่าอันนี้มันแตะมาตรฐานที่เราเคยทำแล้ว

เอ็กซ์: บางคนเขารีบรึเปล่าครับ มีไอเดีย มีเพลง ต้องการที่จะเผยแพร่แล้วอะ เขาก็แบบ ปล่อยไปเลย

เต๊นท์: เออ แต่คนเดี๋ยวนี้ใจร้อนไง อยากดังเร็ว อยากประสบความสำเร็จเร็ว บางทีมันก็มีข้อผิดพลาดในตัวเพลง ซึ่งคนทำเพลงก็อาจจะรู้ว่าตรงนี้แม่งพลาดว่ะ ไม่ดีเลย แต่ก็ไม่เอามาคราฟต์หรือแก้ให้มันดีขึ้น

น็อต: เราว่าจริง มันมองได้อีกแบบ ถ้าดูในมุมของธุรกิจหรือการตลาด เราทำเพลงออกมาเพลงนึง เราไม่รู้ว่า feedback เป็นยังไง การที่ปล่อยเพลงแรกออกไปเลยมันคือการซ้อม การได้ feedback จากคนอื่นมันทำให้เราสามารถพัฒนางานต่อไปด้วย เราเลยมองว่าอาจจะไม่ได้ชุ่ย แต่ ตอนนี้ประสบการณ์บอกว่าเท่านี้พอแล้ว หรือจริง งานมันชุ่ยแต่เขามีวัตถุประสงค์อื่นในการปล่อยไปแบบนั้นหรือเปล่า

เต๊นท์: เขาอาจจะรู้สึกว่าอยากให้โดนด่าจังเลย จะได้เอามาพัฒนาว่างานเรามันบกพร่องตรงไหนหรือเปล่าวะ เราไม่รู้ไง บางทีเราไม่รู้จักใครในอุตสาหกรรมดนตรีอินดี้เลย มันก็เลยต้องใช้วิธีนี้เพื่อประชาพิจารณ์ ถ้าเขาเข้มแข็งพอนะ

น็อต: แล้วเขาก็จะเข้าร่องเข้ารอย เป็นตัวเขาที่แข็งแกร่งขึ้นในสักวัน

วงการดนตรียังขาดการวิจารณ์อยู่รึเปล่า

เต๊นท์: ใช่ วิจารณ์ไม่ได้ คือมันมีเรื่องนี้ครับ ‘มึงไม่เห็นทำอะไรเลยแต่มึงมาวิจารณ์กูได้ไง’ เราว่ามันเป็นคนละส่วนกัน คือวิธีคิดแบบนี้มันทำให้สิ่งต่าง ไม่ได้ไปไหนเลย เราว่า ‘การวิจารณ์’ กับ ‘มึงทำอะไรบ้าง’ มันคนละเรื่องกัน

น็อต: เหมือนเราทำอาหารไม่เป็น แต่ไปกินข้าวร้านตามสั่งร้านนึง แล้วเราบอกว่าไม่อร่อยเลย เราพูดได้นี่เพราะเราเป็นคนกิน

เต๊นท์: แล้วทีนี้การวิจารณ์มันมีรายละเอียดยังไง ถ้าคุณสักแต่ด่าอย่างเดียวอันนี้ไม่เข้าท่าละ ‘ว้าย เพลงห่วยจัง’ แล้วคุณไม่ได้แจงรายละเอียดว่ามันห่วยยังไง มันก็ดูน่าเศร้า คือมันก็มีนักวิจารณ์กันอยู่แล้วแหละในบ้านเรา แต่เขาวิจารณ์กันไม่ถูก บางทีก็ไปว่าเขาแรง แล้วเราไม่ได้เข้าใจถึงจุดประสงค์ของเขาที่เขาจะสื่อสารออกมา มันก็มีวิธีพูดหลายแบบที่จะไปตำหนิติเตียนเขานะ

น็อต: เราว่าสมัยนี้มันมีอินเทอร์เน็ต มีโซเชียลเน็ตเวิร์กที่ทำให้คนพูดอะไรโดยกรองน้อยลง พูดแรงมากขึ้น ใช้อารมณ์โดยตรงมากขึ้น เพราะไม่ได้มานั่งคุยกันจริง แล้วเขาก็ไม่มีอะไรจะเสีย แต่ว่านั่นแหละ เราว่ามันเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องค่อย ปรับนะ อย่างคนที่ออกมาแสดงความเห็น ที่เป็นคนทั่วไป เราก็ต้องเข้าใจว่าความเห็นของคุณออกมาสู่สาธารณะแล้ว คุณก็มีสิทธิที่จะถูกโต้ตอบกลับ หรือบางทีตัวศิลปินเองทำงานออกมาก็ต้องเข้าใจว่ามีคนที่จะมาคอมเมนต์เรา ซึ่งสำหรับเรา เราเป็นคนที่มักจะมองหาประโยชน์จากทุกสิ่งให้ได้ว่าเราจะดึงมันมาปรับใช้ยังไง ดึงมาต่อยอดต่อยังไงได้บ้าง เราว่ามันสำคัญที่คนทุกคนจะมีวิจารณญาณยังไง

เต๊นท์: และมีจุดประสงค์ว่าจะวิจารณ์อะไรกันแน่ คุณจะด่าทุกอย่างอย่างเดียวมันก็ไม่ใช่การวิจารณ์ มันคือการทำร้ายกันแล้วแหละ เหมือนอยู่ดี เราเดินไปต่อยหน้าไอ้นี่ทั้ง ที่ยังไม่รู้จักกัน หรือเดินออกมาจากบ้านแล้วเขาสะกิดว่า ‘เฮ้ยทำไมนายแต่งตัวแบบนี้ น่าจะลองทำแบบนี้ ดู’ ไม่ใช่อยู่ดี ไปต่อยเขา อยู่ที่วิธีการพูด แต่ว่าเราก็ไม่รู้ว่าในความเป็นจริงโดยทั่วไปในบ้านเราการวิจารณ์คืออะไรกันแน่ เราก็ไม่ได้รู้หลักของการณ์วิจารณ์ว่าจะหยิบอะไรมาพูด หรือควรจะพูดแบบไหนกับเขา

สุดท้ายนี้ Tomato Love Records อยากฝากอะไรถึงคนฟัง

พัด: อันนี้เป็นความคาดหวังส่วนตัว ผมอยากให้คนฟังมี attitude การฟังเพลงที่คล้ายกับพวกเรามากขึ้น เพราะการฟังเพลงในรูปแบบนี้แล้วมันให้อะไรกับพวกเรา เป็น perspective ของคนที่เป็นซาวด์เอนจิเนียร์แล้วผมรู้สึกว่ามันให้อะไรกับเราเยอะ จริง มันก็เหมือนเป็นการเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น

เต๊นท์: ถ้าสคริปต์หน่อยก็ฝากค่ายของเราด้วย ถ้าคุณใช้เวลาศึกษาเพลงในค่ายเราแล้วรู้สึกว่ามันถูกจริต มันก็เป็นเรื่องดี เพราะเราก็ต้องการคนฟัง ไม่ใช่ว่าแค่ทำเพลงแล้วอยู่กันเอง มันก็ดูไม่ค่อยครบวงจรของการทำเพลง หรือการเสพดนตรีแหละเนอะ ก็ฝากเรื่องนี้ไว้ละกันครับ

น็อต: เรารู้สึกว่าความสนใจของทุกคนตอนนี้มันหลากหลาย แล้วก็รู้สึกว่าดีเพราะมันไม่ได้เกาะกลุ่ม ไม่ได้นำด้วยสื่อหลักอีกต่อไปแล้ว ทุกคนมีความปัจเจกมากขึ้น อยากให้ลองเปิดใจเรื่องเพลงหรือสื่อศิลปะอื่น ลองดู ไม่เข้าใจ ไม่ชอบได้ แต่สัมผัสและตั้งคำถามกับมันดูก่อน ทำไมถึงทำอย่างนี้วะ (เต๊นท์: ไม่ใช่แค่สเต็ปเดียว เห็นปุ๊บแล้วไม่ชอบเลย) มันอาจจะเป็นเรื่องว่าทำไมต้องมาคิดวะ ไม่เห็นสำคัญกับชีวิตเลย แต่รู้สึกว่าศิลปะหรือดนตรีเอง มันจะกลายเป็นสิ่งที่อธิบายตัวตนของใครสักคนได้ด้วย มันไม่ได้เป็นแค่อะไรลอย แล้ว และเรื่องการเปิดรับ เราว่าทุกคนก็ยอมเปิดมากขึ้นแล้วแหละ เวลาไปเทศกาลดนตรีก็อยากให้ลองไปหาวงที่ตัวเองไม่รู้จัก ไม่เคยฟัง แล้วลองยืนฟังดูสักเพลงสองเพลง ถ้าไม่ชอบก็เดินออกมา ถ้าชอบก็ลองไปดูว่าเขาเป็นใคร เขาทำอะไร อยากให้คนเกิดพฤติกรรมแบบนี้มากขึ้น มันจะดีต่อสภาพแวดล้อมของวงการ

เต๊นท์: แล้วก็ขอฝากคอนเทนต์ใหม่ครับ เป็น podcast ชื่อทำอะไรกันมา? โส๊ด สดจริง มันคือการขายเพลงในค่ายเรา เหมือนคล้าย  ทอล์กโชว์รีวิวเพลง วิเคราะห์เพลงว่าเฮ้ย ทำอะไรกันมา ทำไมเนื้อเพลงเขียนอย่างนี้ มันไปเชื่อมโยงกับชีวิตเขายังไง หรือทำไมเขาต้องมิกซ์ซาวด์มาแบบนี้วะ

น็อต: มันไปอ้างอิงกับอะไร เกี่ยวกับหนังเรื่องนี้ได้ยังไง เรามาคุยในฐานะคนที่ไม่รู้อะไรเลยแล้วมานั่งดูกันว่ามันเกิดอะไรขึ้นบ้าง

เต๊นท์: มาลองดูครับ พูดกันเองยังว่าสนุกเลย ไม่รู้ว่าคนอื่นจะสนุกด้วยหรือเปล่า (หัวเราะ) ตอนแรกพัดไม่อยู่ก็เลยมีเรา น็อต เอ็กซ์ สามคนมาพูดกัน คือตอนนึงมันจะประมาณ 30 นาที มันก็ยาวแหละแต่ลองอดทนฟังนิดนึง (หัวเราะ) แค่คิดในหัวก็ตลกละ ปล่อยตอนแรกไปแล้วครับ จะมีทุกวันศุกร์ คือตอนนี้เรามีแคมเปญ ‘Harvest Monday’ ปล่อยเพลงทุกวันจันทร์ ก็เร่งทำเพลงกันจะได้ปล่อยออกมา ส่วนวันศุกร์ก็เป็นการทบทวนเพลงของวันจันทร์ ว่าแบบเพลงที่ปล่อยเมื่อต้นสัปดาห์มันทำอะไรกันมาวะ หลุดมากเลย ลองวิเคราะห์ดูว่าทำไมถึงทำให้หลุดขนาดนั้น ประมาณนี้ครับ

คือจริง ๆ ค่ายก็มีความอยากให้ความรู้กับคนฟังด้วย

เต๊นท์: ด้วย แต่ไม่ได้อยากให้เป็นเหมือนโรงเรียนสอนพิเศษ คือจริง เรื่องการฟังเพลงมันไม่จำเป็นต้องสอนหรอก แต่เราเชื่อว่ามันมีอีกหลายคนที่ฟังแล้วไม่ชอบก็ปล่อยผ่านไปเลย เราเลยคิดว่ามันจำเป็นต้องทำแล้วแหละ

น็อต: อย่างที่บอกว่าเราเลิฟคนฟัง เพราะ Tomato Love (หัวเราะ) เราเลยอยากจะมอบความรู้สึกที่เรามีต่อแวดวงดนตรี ให้คนอื่นได้ลองมองในมุมนี้ มุมนั้นดู แล้วจะได้อะไรจากมันบ้าง ไม่อยากให้ดนตรีเป็นแค่เพลงที่ฟังเอาเนื้อ ดราม่า โดน ไม่ได้อยากให้เกิดแค่อย่างนั้น บางทีมันมีองค์ประกอบอย่างอื่นในดนตรีแต่ละวง เราว่าศิลปินไทยงานละเอียดมากขึ้น เขาตั้งใจทำของเขา บางอย่างศิลปินเขาไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าเขาใส่อะไรลงไปบ้างจากการที่เขาเสพสื่อต่าง มันทำให้มีองค์ประกอบเหล่านั้นเข้ามา เราอาจจะฟังแล้วลองหาดูว่า เฮ้ย มายังไง อันนี้มาจากอันนี้แน่เลย ไม่ใช่จับผิดนะ (เต๊นท์: ไม่เชิงวิจารณ์นะ แค่วิเคราะห์เฉย ) อารมณ์เหมือน mv This Is America ของ Childish Gambino ที่คนมาแกะความหมายของแต่ละฉากว่าพยายามจะลิงก์ถึงอะไร

เต๊นท์: อนาคตอาจจะไม่ใช่แค่เพลงจากค่ายเรา จะมีเพลงในบ้านเราที่เรารู้สึกว่า เฮ้ย แม่ง ของมันมาว่ะ ทำอะไรกันมาวะ ก็คงขยายไปในฟอร์แมตนั้นได้ คิดว่านะครับ

เอ็กซ์: เดี๋ยววง Waltz จะมีงานเล่น 21 กรกฎาคม ที่งาน ลงขัน มิวสิก เฟส 2

เต๊นท์: แล้วเราก็จะไปเปิดบูธ interactive ชื่องานลงขันมันค่อนข้างไทยมาก เราก็เลยคิดคอนเซ็ปต์เหมือนให้มาเสี่ยงเซียมซีแลกของรางวัล เป็นเทปคาสเซ็ตที่เป็น compilation มี 10 เพลงของศิลปิน phase แรกของเรา ณ ปัจจุบัน 5 วง 10 เพลง คนละ 2-3 เพลง ถ้าไม่อยากเล่นเซียมซีก็มีขายด้วย แล้วก็จะได้บูชาเทพเจ้ามะเขือเทศกัน ก็ฝากบูธของ Tomato Love ในงาน ลงขัน มิวสิก เฟส 2 ด้วยครับ

Tomato Love

ติดตามความเคลื่อนไหวของ Tomato Love Records ได้ที่ Facebook fanpage
รับฟังศิลปินจาก Tomato Love Records บนเว็บไซต์ฟังใจได้ ที่ลิงก์ด้านล่างนี้
Waltz
Game of Sounds
Flower Dog
Gorn Clw

Facebook Comments

Next:


Montipa Virojpan

อิ๊ก เนิร์ดดนตรีที่เพิ่งกล้าเรียกตัวเองว่าเป็นนักเขียนตอนอายุ 25 ชอบเดินเร็ว นอกจากขนมปังกับกาแฟดำแล้วก็สามารถกินไอศกรีมกับคราฟต์เบียร์แทนมื้อเช้าได้