News

เคล็ดลับความสำเร็จของ โหน่ง The Photo Sticker Machine

  • Writer: Montipa Virojpan
  • Photographer: Chavit Mayot

มีช่วงนึงที่บทความ ‘เคล็ดลับสู่ความสำเร็จ’ มีอยู่เต็มไปหมดในเพจสร้างแรงบันดาลใจ life coach ชื่อดังหลายท่านก็ออกมาพูดถึงเรื่องนี้ ซึ่งเราก็ได้แต่หัวเราะหึหึแล้วแอบคิดในใจว่ามันจะจริงหรอว้ากับสูตรสำเร็จที่ได้ยิน จนได้มาเจอคลิปวิดีโอตัวหนึ่งของแบรนด์เบียร์ที่คุ้นชื่อกันดีอย่าง Hoegaarden แล้วทันได้ฟังประโยคจบที่กระแทกใจพอดีว่า ‘There is no shortcut only just heart work’ แปลเร็ว ๆ ก็ได้ความว่าความสำเร็จนั้นได้มาจากการทำงานหนักหรอวะ? เข้าไปดูจนจบ ตัวคลิปได้ให้คำตอบกับเราว่าความสำเร็จที่ทุกคนต่างโหยหา มันไม่เคยมีทางลัด มีแต่การต้องทำงานนั้นด้วยหัวใจทุกวัน นั่นต่างหากคือ ‘เคล็ดลับ’ สู่ความสำเร็จที่เเท้จริง

เมื่อ Fungjaizine ได้ทราบเรื่องราวของศิลปินมากความสามารถที่สร้างสรรค์ผลงานออกมาอย่างต่อเนื่องอย่าง โหน่ง—วิชญ วัฒนศัพท์ แห่ง The Photo Sticker Machine ผู้ก่อตั้ง Hualampong Riddim ผ่านวิดิโอแคมเปญ The (Secret) Process ก็อยากที่จะทำความรู้จักกับเขามากขึ้น และอยากขอสำรวจเส้นทางที่นำไปสู่การเป็นสตูดิโอผลิตดนตรีประกอบภาพยนตร์ชั้นนำที่ทุกคนประทับใจกับผลงานของเขามาแล้วนับไม่ถ้วน มาดูขั้นตอนการทำงานและสิ่งที่ต้องผ่านเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจของผู้ชายคนนี้กัน

img_6826

จุดเริ่มต้นของ Hualampong Riddim

ก่อนหน้านั้นเราอยู่ ละอองฟอง พอออกอัลบั้มแรกแล้วก็ไม่ได้ทำต่อ จากนั้นก็มาอยู่ T-Bone เลยได้มาทำเพลงที่ Sony Music ด้วย ก็มีทำอัลบั้ม Metro Acoustic ด้วยกันกับพี่กอล์ฟ T-Bone แต่ตอนนั้น T-Bone ก็หมดสัญญาพอดี เลยถามพี่ ๆ ว่าทำไมไม่ทำค่ายเพลงกันเอง เพราะพี่เขาก็มี fanbase และทำโปรดักชันกันเองอยู่แล้ว มีคนลงทุนด้วย เขาก็โอเคกันเลยออกมาเป็น Hualampong Riddim ในช่วงก่อนปี 2000 อัลบั้มแรกที่ออกกับเราคือวง Skalaxy แล้วก็ทำ Day Tripper แล้วด้วยความที่เรามีโปรดักชัน มีห้องอัดเสียง ก็มีเพื่อน ๆ ในวงการของพี่ ๆ เขาที่ถ้าอยากทำเพลงโฆษณาแบบบอสซา หรือเร็กเก้จะนึกถึง T-Bone ก็เลือกมาทำที่นี่ เลยทำให้ค่ายเพลงเรามีอีกโหมดนึงคือรับทำเพลงโฆษณาด้วย

ตอนเริ่มทำโปรดักชันก็เป็นช่วงที่ The Photo Sticker Machine ทำอัลบั้มแรก เป็นงานที่อยากจะทดลอง พองานออกไปก็มีคนที่ได้ฟังอัลบั้มนี้บ้าง ไม่ได้ต้องการจะบอกว่าเราเป็นใคร เราทดลองเอาแผ่นเสียง เอาเครื่องคอม sampler ที่มันใหม่สำหรับเรามาลองทำดู พอเพลงออกไปพวกกลุ่มคนทำงานกำกับก็เข้ามา อย่างเราก็ได้มารู้จักกับผู้กำกับอย่าง พี่อู๋ UMA เขาเป็นเพื่อนพี่แก๊ป T-Bone ซึ่งเราไม่ได้รู้เรื่องวงการหนังตอนนั้น แต่หนังเขาเป็นงานทดลองเหมือนกัน อินดี้สุด ๆ เราเลยได้ทำดนตรีประกอบภาพยนตร์เรื่อง คนจร เป็นเรื่องแรก เราเอาเสียงทุกอย่างมาผสมกันมั่วไปหมดเลย แล้วก็ทดลองเอากีตาร์มาเล่นในอีกแบบนึงให้เป็นซาวด์บางอย่าง งานชิ้นที่สองที่ได้ทำให้คือ กุมภาพันธ์ ของพี่ต้อม—ยุทธเลิศ สิปปภาค เป็นเพื่อนพี่กอล์ฟอีก ก็ชวนมาทำ หลังจากนั้นก็มีบุปผาราตรี 2 ภาค กระสือวาเลนไทน์ สายล่อฟ้า แล้วก็มีทำ Last Life in the Universe ของพี่ต้อม—เป็นเอก รัตนเรือง เหมือนอันนี้พี่เขารู้จักเราจากเพลงที่เราทำ ก็ได้ทำเรื่อง พลอย Invisible Wave ฝนตกขึ้นฟ้า ให้เขาด้วย เหมือนการออกอัลบั้มไปด้วยและทำเพลงประกอบคู่กันไปด้วยก็ทำให้มีคนได้ฟังงานที่เป็นเรา และมีงานอื่น ๆ เข้ามาให้เรารับทำเพื่อที่จะหล่อเลี้ยงบริษัทของเรา แต่สิ่งที่ดีที่สุดของการทำงานแบบที่เราทำคือ ถ้าเขาเลือกเราแสดงว่าเขารู้ว่าเราทำงานประมาณนี้ ไม่ได้รู้จักว่าเราเป็นใคร มันเลยดึงให้คนเข้ามาด้วยผลงานของเราจริง ๆ เลยจะไม่เคยเจอคนที่แบบ เชี่ย ไม่น่ามาเจอกันเลย เพราะการทำงานแบบนี้มันทำให้เจอคนที่คุยกันรู้เรื่อง ก็ได้ทำงานต่อเนื่องกันไปเรื่อย ๆ

img_6832-2

อะไรทำให้ผู้กำกับเหล่านี้ไว้ใจให้ทำงานด้วยตลอด

คือตั้งแต่ทำ Hualampong Riddim มา ตอนนี้ยังไม่ได้มีตัวตนว่าเป็นบริษัทเลยนะ แล้วเราก็ไม่ได้ไปเดินของาน เราทำงานเท่าที่คนรู้จักเขาอยากให้เราทำ จนบัดนี้ไม่เคยถามด้วยซ้ำว่าทำไมเขาถึงเลือกเรา จน GTH กลายเป็น GDH เราก็ยังทำอยู่เรื่อย ๆ ได้มีโอกาสได้ทำเราก็ทำให้มันดี ทำเท่าที่เราเข้าใจและคิดว่ามันควรจะเป็นยังไงให้ออกมาดีที่สุด เราจริงใจกับงาน เขาอาจจะรับรู้จากสิ่งนี้มั้ง ก็คาดเดาเอานะ ถ้าอยากจะรู้ว่าเขาเลือกเราทำไมก็ต้องไปถามเขา

ความท้าทายของการรับงานในโจทย์ที่ต่างกัน

พื้นฐานจริง ๆ ของเราคือเป็นคนที่ชอบทำเพลง มันก็เลยเกิดจากการทำเพลงอะไรก็ได้ แต่ channel ที่มันต่างกันก็คือ การทำอัลบั้มตัวเองมันชัดมากคือทำให้ตัวเองชอบ แต่การโปรดิวซ์งานให้หลาย ๆ วง เราต้องดูเทสต์ของเขาว่าอะไรจะเหมาะกับเขา ความที่มันจะทำออกไปแล้วมันเวิร์ก ก็เป็นอย่างนึง งานโฆษณา หรืองานผู้กำกับหนัง มันก็จะตอบโจทย์อีกอย่างนึง งานทั้งหมดมันมีโจทย์ของมัน ไม่ได้มีอะไรง่ายเลยนะ งานแมสมาก ๆ เราจะทำยังไงที่จะเข้าไปถึงคนมหาศาลในโลกนี้ แล้วยังต้องหาจุดร่วมตรงกลางเพื่อดึงความรู้สึกในความเป็นหมู่มวลก็ยากเหมือนกัน งานที่อินดี้มาก ๆ หรืออินกับผู้กำกับมาก ๆ การเข้าไปในความดีพของคนหนึ่งคนมันก็ยากเหมือนกัน คนที่เราต้องดู ต้องคุยมาก ๆ คือผู้กำกับ ไม่งั้นจะเข้าไปถึงใจเขาได้ยังไง

สมัยแรกเราก็เด็ก ๆ จะมีอีโก้ อย่างการทำเพลงโฆษณาบางทีเขาจะบอกว่า อยากได้เพลงแบบนี้ คือต้องทำให้เหมือน ๆ แต่อย่าให้โดนจับได้ ก็พูดเชิงศิลปะบลา ๆ ไปต่าง ๆ นานา แต่สุดท้ายก็อยากให้ก็อปมานั่นแหละ ก็รู้สึกไม่ค่อยอิน แต่ตอนหลังเราก็นับถือคนที่เป็นเทพแห่งการทำเพลงโฆษณาเหมือนกันนะ คือทำได้ยังไง เพราะ reference ที่คนตัดโฆษณาใช้ ปีนึงก็ใช้ซ้ำ ๆ กัน ทำยังไงให้มันชัดด้วย แต่ก็ไม่ใช่ด้วย แล้วก็จะไม่ชอบการโดนแก้งาน แทบจะด่าผู้กำกับเลย attitude สมัยก่อนอาจจะเป็นการ protect งานเราเองว่าเราคิดมาแทบตายนะ แบบนี้มันดีแล้ว มึงจะมารู้ดีกว่ากูได้ไง กูเป็นนักดนตรีนะเว่ย

img_6843

ตอนที่เราทำเรื่อง เพื่อนสนิท ตอนนั้นเรายังมีความเป็นตัวเองอยู่เยอะ ปกติถ้าเราทำเพลงก็จะคุยกับผู้กำกับคนนึง คนตัดต่อคนนึง แต่ GTH เขามีคนตรวจงานประมาณ 13 คน ต้องฟังตั้งแต่คนเขียนบทไปยันผู้กำกับ ตอนนั้นงง เบลอ ว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ก็มีบางครั้งที่คนที่เป็นโปรดิวเซอร์ก็งงว่าเราทำอะไร เช่นดู ๆ หนังอยู่แล้วเขาก็ข้ามซีนนี้ไป เราก็ เฮ้ย ขอแก้ว่ะ เราว่ามันไม่เวิร์ก เขาก็งงว่ามันทำจบไปแล้วนะเว่ย เราก็บอกขอไปแก้เพราะเรารู้สึกว่ามันไม่ดี แต่พอได้ทำไปเรื่อย ๆ เราก็เริ่มเข้าใจโลกมากขึ้น เขาเองก็เข้าใจเรามากขึ้น เราอาจจะไม่ได้รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องทรมานอีกต่อไปถ้าเราคิดว่างานมันจะยังดีอยู่หรือดีขึ้นกว่าเดิมได้ด้วยการคุย แชร์กันมากขึ้น ไม่ได้มองว่า นี่พื้นที่ฉัน นั่นพื้นที่เธอ อย่ามาแตะกันนะ ไอ้การที่ไม่ชอบให้โดนแก้มันเป็นลึก ๆ ในใจ เราอาจจะหงุดหงิดด้วยการแสดงออก แต่ก็ไม่ได้จะไม่แก้เลย ด้วย positioning ของเราก็ต้องมีการยอมกัน เราต้อง คุยกับทั้งลูกค้าเจ้าของโปรดัก เอเจนซี่ ผู้กำกับ แล้วเราเริ่มเก็ตว่า message ที่โฆษณานั้นพูดคงไม่มีใครเข้าใจมันดีเท่ากับคนคิดโฆษณาหรอก หนังก็เหมือนกัน ถ้าเพลงเรามันดีมากแต่ถ้ามันไม่ฟิตกันกับหนังก็จบ

เป็น perfectionist หรือเปล่า

มันเป็นเรื่องความรับผิดชอบพื้นฐานมากกว่า เวลาที่เรารู้สึกว่ามันยังไม่ดีพอ แล้วเราคิดว่าเรามีโอกาสที่จะทำให้มันดีในเวลาที่เหลือ แต่ถ้าเราไม่ทำมันจะถือว่าเราไม่มีความรับผิดชอบ แต่ว่าถ้าเป็น perfectionist แบบเห็นความเบี้ยวแล้วอยากให้มันตรงมาก ๆ เนี่ย อันนี้เราไม่เป็น เพราะเราเห็นความสวยงามของความไม่สมบูรณ์ในมนุษย์อยู่ ความไม่ได้ออกมาจากโรงงาน แบบเวลาร้องเพลงไม่ต้องตรงมาก ถ้ายังอยู่ใน pitch ที่ดี ก็โอเค มัน touch ความรู้สึกเราได้มันก็จบแล้ว

ตอนที่ผู้กำกับหรือลูกค้าบรีฟงาน เราต้องใช้ข้อมูลอะไรเพื่อทำบ้าง

มีทุกแบบ ในเรื่อง Invisible Wave หรือ พลอย ผู้กำกับก็จะให้อ่านบท แล้วจะเล่าว่าโทนมันหม่นประมาณนี้ มันกำลังเศร้าประมาณนี้ ฟังแล้วเรารู้สึกยังไงกับหนัง หนังยังไม่ได้ถ่ายก็ทำเพลงเป็น variation ออกมาให้ฟังว่าเขาชอบแบบไหน ตอน Last Life in the Universe คือมีฟุตเทจสั้น ๆ ที่ตัดมาแล้วให้เราทำเพลงใส่ หรือบางอันก็เป็นหนังตัดมาเปล่า ๆ แล้วให้เรา explore จากภาพ หรือหนังที่มีเพลงอื่นมาวางเป็น reference ให้เราทำตามนั้นให้ได้มู้ด ซึ่งแบบนี้มันจะมีความโดดไปโดดมาเหมือนเอาสกอร์ของเรื่องนั้นเรื่องนี้มาใส่ เราก็มีหน้าที่ทำให้มัน keep ความรู้สึกเดิมของเพลงที่ใส่มา โดยที่หนังทั้งหมดยังมีความเป็นเรื่องเดียวกัน

img_6825

ส่วนใหญ่การทำเพลงประกอบเป็นการ improvise หรือเปล่า

ไม่ได้เป็น มันทำหลายอย่าง เช่น ดูภาพแล้วเล่นไปด้วย คิดธีมขึ้นมาก่อน เลือกเครื่องดนตรีก่อน มันทำทุกแบบ ทำยังไงก็ได้ให้เรารู้สึกว่ามันใช่

เคยทำงานชิ้นนึงออกมาแล้วสร้างความประหลาดใจให้ตัวเองไหม

โดยมากเวลาเรางานเสร็จแล้ว เราจะไม่ค่อยรู้สึกว่าเราเป็นคนทำ สมมติเรากลับไปฟังงานเก่า ๆ หรืองานที่เราเคยทำ เพลงที่เราเคยโปรดิวซ์ ไปนั่งฟังแล้วจะรู้สึกว่า เออ มันคิดได้ไงวะ เรารู้สึกว่ามันเป็นเรื่องของวัยที่ บางอย่างเรากลับไปมองก็ทำไม่ได้แบบนั้นแล้วนะ เหมือนตอนทำ TPSM ชุดแรก ให้กลับไปทำแบบนั้นก็ทำไม่ได้ ถ้าให้เอา layer เสียงมาซ้อน ๆ กันแบบนั้นก็ไม่รู้ว่าเอามาจากไหนแล้ว กับอีกทีมันจะมีโมเมนต์บางอย่างแบบ เฮ้ย มันดีว่ะ เรานั่งดูวนไปวนมากับซีนนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า แล้วคิดไม่ออก พอเปลี่ยนไปทำอย่างอื่นแล้วกลับมาทำใหม่ อยู่ ๆ ก็กดสักคอร์ดนึงแล้วเจอว่ามันใช่ มันโดนมาก คอร์ดนี้มันดีมาก

Signature ของ Hualampong Riddim คืออะไร

อันนี้ก็ตอบไม่ได้เหมือนกัน ก็มีคนเคยบอกว่าแบบเนี้ย คือเพลงแบบหัวลำโพง ฟังแล้วรู้เลยว่าใช่แน่ ๆ แต่มันคืออะไรวะ มันก็เป็นธรรมชาติของการทำงานผ่านคน โดยเฉพาะสิ่งที่เราทำอยู่มันทำโดยผ่านคนคนเดียว กลั่นกรองจากประสบการณ์ รสนิยม วิธีการเล่น หรืออะไรบางอย่างซึ่งสุดท้ายมันจะมีเหมือนรสมือซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าจะเรียกเป็น signture หรือเปล่า เพราะเราก็ทำตั้งแต่ electronic ทดลอง ยันออเคสตร้าเลยนะ เราก็ไม่รู้ว่าสิ่งนั้นมันคืออะไร หรือเวลามันใช่ มันคือเราชอบ พอเราชอบมันก็อาจจะเป็นบางอย่างมั้งที่คนรู้สึกว่าคล้ายกับงานอื่น ๆ ที่เราเคยทำ

เวลาทดลองหรือใช้เสียงต่าง ๆ ไปหา source หรือ reference จากไหน

ก็ทำขึ้นมาครับ เราเล่นเครื่องดนตรีทุกอย่างขึ้นจริงหมด ใช้อิเล็กทรอนิกกำหนดมันขึ้นมาก่อน หาเสียง ผ่านซินธ์ ซอฟท์ซินธ์ ผ่านการเลือกเสียง บางเรื่องรู้สึกว่าเสียงที่มันพอจะทำได้ เอากีตาร์เบสมาสี ทำ distortion ทำ delay แล้วก็ทดลองดูว่าอะไรใช่ไม่ใช่ เรื่อง Invisible Wave ก็เล่นเปียโนจริง ๆ แล้ว reverse มัน ด้วยความที่เราไม่ได้เป็นคนทำเพลงแล้วเล่นดนตรีเฉย ๆ เราเป็นคนผสมเสียง ออกแบบเสียงด้วย ก็เลยทำหลายอย่าง ทดลองไปหมด ขณะที่เราทำสกอร์ที่มีเมโลดี้กับคอร์ดอยู่แล้วเปลี่ยนให้มันเป็นเสียงไปเลย มันก็เลยค่อนข้างกว้างมาก

untitled-1

ข้อจำกัดในการทำดนตรีประกอบ

หน้าที่ของเราคือการหาความพอดี ลิมิตมันอยู่ตรงไหนที่มันไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไป คือสุดท้ายงานทั้งหมดที่ทำอยู่มันมีคนดูนะ สมมติผู้กำกับอยากได้เสียงดังมาก แหลมมาก เพื่อจะช็อกคน มันก็ไม่ได้ มันเป็นเรื่องที่มีขีดจำกัด หรือสมมติว่า ซีนนี้ขอเงียบ ๆ ไม่มีเสียงอะไรเลย… เคยดูหนังในโรง multiplex ไหม เราเคยทำ sequence ให้หนังผีแบบ เงียบ ไม่มีเสียงอะไรในหนัง แล้วเกิดอะไรขึ้นรู้ไหมตอนฉาย ข้างโรงแม่งฉายหนังอีกเรื่องนึง เสียงแม่งก็ ตึ่ง ๆๆ จากที่ตอนนั้นเรามั่นใจแน่ ๆ ว่าคนจะต้องนิ่ง เงียบฉี่ แม่งไม่จริงว่ะ ประสบการณ์ก็สอนเราว่าเสียงเงียบในโรงหนังไม่มีจริง ถ้าต้องการเสียงเงียบ เราจงทำเสียงให้รู้สึกว่ามันเงียบ แต่ถ้าเงียบจริง ๆ เลยทำไม่ได้ เคยเข้าห้องแล้วได้ยินเสียงวี้ดไหม เราจะรู้สึกว่ามันไม่ใช่ภาวะปกติ มันจะมีอีกหลายอย่างที่ทำให้รู้สึกอย่างนั้น อยู่ ๆ มีเสียงต่ำแบบ บุ่มมมมม หรือเสียงที่ได้ยินอยู่ทั้งหมดชัด ๆ อยู่ ๆ เสียงก็ทู่ลง เหมือนเราเอามืออุดหู เราก็ยังรู้สึกว่ามันยังมีเสียงบางอย่างอยู่ มันเป็นเรื่องเทคนิกหลายอย่าง แต่เราจะทำโดยไม่มีเสียงเลยไม่ได้

ใช้เวลาอยู่ในสตูดิโอนานที่สุดขนาดไหน

เร็วสุดน่าจะตอบง่ายกว่า (หัวเราะ) เคยทำหนังเร็วมาก ไม่กล้าบอกเลยว่ากี่วัน นอกจากงานที่เราแฮปปี้แล้ว สิ่งที่เราคิดเสมอคืองานต้องทันเวลา งานดีแล้วไม่ทันเวลาก็ไม่ใช่งานดี ทุกอย่างมันมีกรอบเวลาในการทำงาน สิ่งที่เราต้องรักษาไว้ ไม่ว่าเราจะเหน็ดเหนื่อยหนักหนา หรือว่าเราจะอู้ขนาดไหนก็ตาม งานต้องเสร็จและดี ปกติควรจะมีเวลาสักเดือนนึง แต่ถือว่าน้อยมากนะ ทิ้งไว้สักสองสามเดือนอย่างต่ำ หรือหกเดือนยิ่งดี ต่างประเทศเขาทำเป็นปี บางทีสิ่งที่ยากคือช่วงเวลาคิด โดยเฉพาะงานที่มีที่ว่างให้เราคิดนะ กว่าจะนึกออกว่าอันนี้ใช่ มันเป็นสีของหนังเรื่องนี้ก็ใช้เวลานาน

ถ้าคิดงานไม่ออก จะหาสิ่งที่ใช่เจอได้ยังไง

เรามีความเชื่อว่ามันจะคิดออก (หัวเราะ) มันจะต้องคิดออกในสักทาง ถ้ามันต้องเค้นก็ต้องลองเค้นดู เราไม่ค่อย mind เรื่องทำแล้วทิ้ง พูดแล้วฟังไม่ค่อยดี คือทำจนเสร็จแล้วล่ะ แล้วทิ้งมันไว้ ไปทำอันใหม่โดยที่ลืมอันเก่าไปเลย แล้วก็มาดูว่าจะเอาอันไหน เราไม่ได้ยึดมั่นถือมั่นว่า นี่ไม่ใช่ เราต้องทดลองเหมือนกัน เอาอันนี้กับอันนี้รวมกันก็บ้างก็ได้

มีช่วงเบื่อบ้างไหม

เหนื่อยมากกว่า พองานเริ่มเยอะเราก็เริ่มเหนื่อยต่อให้เป็นงานที่ชอบ ใช่ไหม ไม่ถึงขั้นเกลียดมันหรือไม่อยากไปเจอเรื่องอะไรแบบนี้ แต่ว่าสิ่งที่เราทำมันไม่ได้อยู่ที่เราเป็นคนเลือกไงว่า อยากได้งานว่ะ เดินมาสามคนดิ๊ หรือตราบใดที่มีคนอยากให้เราทำ แล้วเรารู้สึกว่างานมันน่าทำ เราก็ทำ แต่ถ้าวันนึงมันไม่มีให้เราทำ เราก็ไปทำอย่างอื่น เพราะสุดท้ายเราทำเพลงอะ ทำตอนไหนก็ได้ จริง ๆ นั่งเล่นดนตรีเราก็แฮปปี้แล้ว นั่งกดคอร์ดอยู่บ้าน พอคอร์ดนี้โดนก็ โห ดีจังเลย แล้วเล่นซ้ำ ๆ แค่นี้ก็ดีแล้วนะ คือถ้าเรากินอยู่โอเค ชีวิตไม่ได้ลำบาก ไม่ต้องมีงานก็โอเค คือดนตรีมันยังดีเสมอ ดีตลอด ไม่ว่าวงการจะตกต่ำขนาดไหนก็ตาม

คนชอบบ่นว่าวงการดนตรีแย่ลง มันไม่เกี่ยวอะ คือบางคนเขาก็จะท้อถอย ทำเพลงแล้วไม่มีคนฟัง ไม่มีใครชอบสักที บางคนก็เกลียด ไม่อยากทำดนตรีอีกเลย หรือว่าเกลียดโลกนี้ที่ไม่มีใครเข้าใจ บางคนเคยทำเพลงสำเร็จแล้วพอทำอีกเพลงไม่สำเร็จก็เศร้าสร้อย เราว่ามันไม่ใช่ดนตรีแล้ว ดนตรีมันก็เป็นของมันอย่างนั้น ความเป็นดนตรีมันยังดีเสมอ ต่อให้วงการนี้จะทำเพลงออกไปแล้วได้ฟังฟรี แต่เรานั่งฟังดนตรีแล้วยิ้มออก แค่นี้ไม่ใช่หรอ เราไปทำให้ค่ามันมากขึ้นด้วยการเพิ่มราคาให้มันเอง คุณค่ามันเหมือนเดิม เหมือนศาสนา หรือธรรมะ ธรรมะก็ยังดี คนต่างหากที่ไม่ค่อยได้เรื่อง

การสร้าง originality ในทุกวันนี้เป็นเรื่องยาก

ใช่ เชื่อไหมว่าโลกนี้ไม่มี original จริง ๆ ตั้งแต่แรก การกำหนดว่าอะไร original แม่งไม่แฟร์ ใครเกิดก่อนเป็นคนทำก่อนแล้วถือว่าสิ่งนั้น original มันไม่ใช่เรื่อง เราเป็นคนเกิดยุคนี้โดยที่มี The Beatles หรือ The Carpenters แต่งเพลงกี่เพลงที่ดี ๆ แล้วโน้ตดี คอร์ดดี แล้วห้ามเราทำ มันไม่แฟร์ ใครเป็นคนกำหนดว่าห้ามทำ ขนาดข้าวมันไก่ยังไม่มีคนบอกเลยว่าห้ามทำซ้ำ คือมันอร่อย เรามีข้าว มีน้ำมัน มีไก่ เจ้านั้นเขาทำได้ แล้วทำไมเราทำข้าวมันไก่ไม่ได้ ข้าวมันไก่ไม่ได้มีเจ้าเดียวในโลก อันนี้เป็นเรื่องที่เราต้องยอมรับ (หัวเราะ)

แต่เจตนาที่จะเอางานของคนอื่นมาทำซ้ำแล้วรู้สึกภาคภูมิใจกับมัน รู้สึกว่าเป็นของตัวเอง หรือว่าอะไรก็ตามที่เหมือนว่าไปขโมยมาเพื่ออะไรสักอย่างแล้วไม่ยอมรับว่าเอามา อันนี้ไม่ค่อยดี แต่ว่าในโลกนี้ก็มีบางอย่างที่พาให้เราไปทำอย่างนั้นเหมือนกัน อย่างการทำโฆษณาที่เคยเล่า ถ้าเขาต้องการตาม reference ก็ต้องหลบให้ได้ไม่ให้โดนจับ เป็นเรื่องที่ต้องเข้าใจได้ในโลกนี้ อันนี้มันเป็นเรื่องที่พูดยากมากนะ มันหมิ่นเหม่ศีลธรรมตลอดเวลาอยู่แล้ว หรือสมมติว่าคอร์ดที่ 1 คือคอร์ดที่รู้สึกว่าอยู่ตรงนี้ คอร์ดที่ 4 จะพาไปอีกที่นึง คอร์ดที่ 5 จะกลับมาที่ 1 คอร์ดที่ 6 จะเป็นคอร์ด minor จะวนหมด แล้วคอร์ดที่ 3 จะนำพาไปที่ 2 หรือ 4 มันเป็นเหมือนโครงสร้าง เป็น perception ของคนในโลกนี้ที่รู้สึกไปด้วยกันไปแล้ว การที่เราจะฝืนทำ original เพื่อไม่ให้ไปถึงความรู้สึกนั้น ให้คอร์ดประหลาดกว่าที่เคยมีในโลกนี้แล้วไม่มีใครอินกับสิ่งนี้ เพื่ออะไร กับเราจะทำยังไงให้หนังสำเร็จ ถ้าเราไปฟังสกอร์หนังญี่ปุ่นที่เราโคตรอิน จริง ๆ มันก็เหมือนกันไปหมด เพราะงั้นเนี่ย เราก็ต้องซื่อสัตย์ในสิ่งที่เราทำว่าเรากำลังทำอะไร เรากำลังส่งความรู้สึกไปถึงหลาย ๆ คนอยู่ มันอาจจะดันไปเหมือนใครสักคน ให้ทำไง

แต่การมีจุดเด่นยังเป็นเรื่องสำคัญไหม

การที่คนหนึ่งคนพยายามที่จะสร้างให้ตัวเองมีจุดเด่นเป็นเรื่องที่ตลก การที่พยายามหาจุดเด่น หรือพยายามบอกว่า เฮ้ย ชั้นอยู่นี่ พี่น้อง หันมาทางนี้ มันไม่ใช่การสร้างสรรค์หรือการสร้างงาน มันเป็นการตะโกนบอกว่าฉันอยู่นี่ ฉันเป็นใคร เธอรู้จักฉันหรือยัง คนละเรื่องกัน แต่ถ้าคนหนึ่งคนที่เขาทำงานแล้วดันทำให้มันดันเด่นขึ้นมา เป็นเรื่องที่น่านับถือ ตราบใดที่งานเล่าถึงตัวตน หรือเล่าถึงงานของมันเอง ไม่ได้นึกถึงว่าใครทำด้วยซ้ำ แล้วมันดีพอที่คนจะรู้สึกกับมัน คุณค่ามันอยู่ตรงนั้นต่างหาก

img_6822

ตอนนี้มีโปรเจกต์อะไรที่ทำอยู่บ้าง

ตอนนี้มีทำให้ Talent One ฉายวันที่ 14 กุมภา เรื่อง รักของเรา The Moment แล้วก็เอาเพลงพี่เล็ก Greasy Cafe มา re-arrange ด้วย บางทีเราก็ทำเพลงประกอบด้วย ไม่ใช่แค่ดนตรีประกอบอย่างเดียว อีกเรื่องที่ทำให้ T Moment ที่ออกมาจาก GTH กำลังเริ่ม แล้วก็ของ GDH ก็น่าจะมีอีกเรื่อง คงจะรู้แน่ ๆ ในวันที่เราจะต้องทำแหละ แต่สิ่งที่อยากทำให้ได้ในปีนี้คืออัลบั้มของ TPSM มันตั้งแต่ปี 2007 แล้วนะ คือพยายามหา passion ให้ตัวเองว่าจะทำอะไรดีวะ เรารู้สึกว่าเราอยากทำเพลงกับใครบางคน ใครสนใจเชิญนะครับ โดยที่เราจะตั้งชื่อว่า บ้าน ป่า เมือง เถื่อน แยกเป็นทีละคำ ทีแรกเราได้ยินคำนี้แล้วเรารู้สึกกับประเทศเรานิดนึง หรือโลกนี้ก็ได้ มันมีอะไรที่น่าสนใจ อาจจะไม่ได้ทำเพลงชื่อ บ้าน หรือ ป่า ตรง ๆ แต่จะมาคุยกันในบรรยากาศที่เกี่ยวข้องกับสิ่งนั้น คิดว่าก็น่าจะดี ไม่ได้ซับซ้อนมาก เราเคยให้สัมภาษณ์กับ Happening เมื่อสองปีที่แล้วว่าเราจะทำอัลบั้ม (หัวเราะ) สุดท้ายไม่ได้ทำ ตอนนี้ก็เลยคุยกับ ตั้ม—โตคิณ ฑีฆานันท์ ให้มาทำวิดิโอ หรือแสตมป์—อภิวัชร์ กับ Kidnappers เราก็ชวนแล้ว จะเป็นในรูปแบบ… สมมติเราชวนพี่ซัน—มาโนช พุฒตาล มาทำงานกัน ไปหาแก คุยกันเรื่องอื่นด้วย แล้วทำเพลงให้มันเสร็จในสามวัน ถ่ายวิดิโอไปด้วย เราว่ามันน่าตื่นเต้นดี ชีวิตวัยนี้จะได้ฟูขึ้นมาอีกหน่อย (หัวเราะ) อยากทำกับ Apartment Khunpa หรือ Desktop Error เหมือนโปรเจกต์ที่ TPSM กับแฟนเพลง (Strange Day with TPSM) ที่อยู่ ๆ ก็ผุดขึ้นมาแล้วทำเลย แล้วจะขายหรือไม่ขายก็อีกเรื่อง คือมันเลยวัยที่จะคิดเรื่องนั้นแล้ว แค่คิดว่าถ้าทำกับคนอื่น แลกเปลี่ยนกับคนอื่น มันน่าจะมีแรงบันดาลใจกลับมาที่เรา มันอยากเติมอะ อย่างตอนที่เราโปรดิวซ์งานให้พี่น้อย วง Pru น่าจะออกมาปีนี้นะ คืออัลบั้มนี้ทำมาตั้งแต่ปี 2009 แล้ว อัลบั้มเดียว (หัวเราะ) ที่จะเล่านี่คือพี่น้อยแกเล่นดนตรีไม่ได้ แต่ 10 เพลงทั้งหมดแกคิดเมโลดี้ขึ้นมา แล้วเราก็เล่นกีตาร์คอร์ดนี้ ถ้าคอร์ดใช่แกจะยกนิ้วโป้ง พยักหน้า ถ้าไม่ใช่แกก็จะส่ายหน้า อย่างนี้เลย แล้วการทำกับพี่น้อยนี่ถอดอีโก้เยอะเหมือนกัน ไม่มีตัวตนเราเลย เราก็ดูเรื่อง arrangement ให้ กลองประมาณนี้นะพี่ ไลน์นี้พี่ได้ยินอะไรมั่ง ถ้าเป็นสตริง ร้องออกมา แล้วเราก็กดตามนั้น แล้วก็ได้เรียนรู้อะไรบางอย่างว่า เฮ้ย แบบนี้ก็ได้เว้ย บางอย่างเราก็คิดยากไป โน้ตนี้ touch มาก เราได้เรียนรู้จากคนอีกคนที่ไม่ได้เล่นดนตรีด้วยซ้ำ

img_6831

จะทำ Strange Day with TPSM ต่อไหม

มันเหมือนเป็นวันแห่งชาติไปแล้ว อยู่ในปฏิทินของเรา จะทำไปถึงเมื่อไหร่ก็ยังนึกไม่ออก แต่รู้สึกว่าถ้าวันนึงเราเลิกทำไปแล้ว ถ้าตาย จะมีใครมาทำมั้ยวะ ตื่นเต้นทุกปีที่ได้ทำ แต่ปีแรกมันเป็นความมหัศจรรย์ที่มันเกิดจากว่า เบื่อเว้ย อยากทำเพลงใหม่ ทำไมไม่ทำซักที แล้วดันไปถามในเพจว่าทำเพลงแบบไหนดี ก็มีคนมาบอกว่าทำไมไม่ทำอย่างนั้นอย่างนี้ เราก็เลยมั่วเลย ชื่อเพลงอะไรดี มีใครอยากช่วยเราบ้าง แล้วอยู่ ๆ มันก็มั่ว ไม่ได้วางแผนเลย แล้วมันก็เกิดขึ้นทุกปี พอปีใหม่ปีนี้ก็มีคน inbox มาสวัสดีปีใหม่ ปีนี้เจอกันอีกนะครับ เดือนที่ 9 จริง ๆ มันไม่ได้ชื่อ Strange Day มาตั้งแต่เพลงแรกหรอก คือมีคนคิดมาให้ว่า เออ วันนี้มันแปลกดี งั้นเพลงนี้ชื่อวันแปลก ๆ ละกัน ความรู้สึกนี้มันก็ดี คล้าย ๆ จะได้ไปทำกับคนนั้นคนนี้ นี่คือการไม่มีตัวตน… ก็มีตัวเราแหละแต่ว่ามันได้แรงบันดาลใจจากคนอื่นจนกลายเป็นเพลง มันเป็นบางอย่างที่ข้ามผ่านหลายเส้น สมมติปกติเราทำเพลงที่เหมือนเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์แล้วแพร่ออกไป แต่นี่ไม่ใช่ มันคือได้ทั้งเราทั้งเขา แล้วก็ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง แล้วคิดดูถ้าเราเป็นคนทางบ้านแล้วได้ฟังเพลง ก็มานั่งดูว่าเสียงเราอยู่ตรงไหน พอเจอ ไอ้เหี้ยอยู่ตรงนี้เอง! คนอื่นก็ไม่รู้ เรารู้คนเดียวด้วยว่าเสียงเราอยู่ตรงไหน มันเป็น magic ทุกครั้งที่ทำก็มีความรู้สึกนี้ตลอด ถ้ามีแรงก็ทำ จริง ๆ ปีที่แล้วยุ่งมาก แบบ จะไหวมั้ยวะเนี่ย สุดท้ายก็ ไม่ได้ว่ะ ต้องทำออกมา มันดีกับเราโคตร ๆ เลย

ฝากอะไรถึงคนที่พยายามทำอะไรอยู่สักอย่างให้เขามีกำลังใจทำต่อไป

เรื่องแบบนี้ให้ใครบอกก็ไม่ได้ มันต้องสร้างขึ้นด้วยตัวเองถึงจะมีกำลังใจจริง ถ้ามีคนมาบอกว่า เฮ้ย สู้ ๆ นะเว่ย หรืออย่าเศร้าเลย เลิกร้องไห้เถอะ มันไม่มีทาง วันที่เรารู้สึกว่า ไม่เอาแล้วเว่ย ฉันจะไม่เป็นแบบนี้ กูจะไม่ร้องไห้ จะไม่เศร้ากับเรื่องนี้อีกต่อไป นี่ต่างหาก มันคือวินาทีที่กำลังใจเกิดขึ้นจริง ๆ ก็หวังว่าทุกคนจะได้เจอโมเมนต์นั้น อย่าปล่อยให้มันนาน ถ้ามองไปข้างหน้าแล้วรู้สึกว่า มันน่าจะดีนะถ้าเราจะเลิกรู้สึกอย่างนั้นซักที ก็ทำมันซะเลย เดี๋ยวเดินเปิดประตูออกไปรถชนตายแล้ว ยังไม่ทันหายเศร้าเลย มัวแต่คิดเยอะอะ ก็พลาด เป็นวิญญาณลอยอยู่แล้วมาเสียใจทีละ ไอ้เหี้ย กูไม่น่าเลย เพื่ออะไร เหมือนอัลบั้มเนี่ย นานแล้วไม่ทำสักที (หัวเราะ)

img_6817

จากที่ได้พูดคุยกับคุณโหน่งนานหลายชั่วโมงก็ทำให้ได้รู้เลยว่าทำไมแคมเปญ The (Secret) Process inspired by Hoegaarden จึงเลือกที่จะหยิบยกเรื่องราวของคุณโหน่งมานำเสนอ เพราะการทำงานของเขาไม่เคยมีทางลัดจริงๆ มีแต่ที่ต้องทำ ทำ ทำ ทำสิ่งนั้นที่เค้ารักด้วยหัวใจทุกวัน

There is No Shortcut Only Just Heart Work

Facebook Comments

Next:


Montipa Virojpan

อิ๊ก เนิร์ดดนตรีที่เพิ่งกล้าเรียกตัวเองว่าเป็นนักเขียนตอนอายุ 25 ชอบเดินเร็ว นอกจากขนมปังกับกาแฟดำแล้วก็สามารถกินไอศกรีมกับคราฟต์เบียร์แทนมื้อเช้าได้