Behind the Covers of YKPB

Quick Read Snacks

Behind the Covers of YKPB

Behind the Covers of YKPB
YKPB

ตลอดเวลา 20 ปีที่ผ่านมา โยคีเพลย์บอยได้มอบผลงานมากมายให้พวกเราได้ฟังจนร้องกันได้แบบติดปาก แต่มีใครเคยนึกสงสัยบ้างไหมว่าปกอัลบั้มเท่ ๆ ของโยคีเพลย์บอยแต่ละชิ้นที่ผ่านตาเราอยู่ทุกวัน ได้ผ่านกระบวนการคิดของดีไซเนอร์ชื่อดังว่าอย่างไรบ้าง Fungjaizine ฉบับครบรอบ 20 ปี โยคีเพลย์บอย นี้ จะขอเล่าที่มาตั้งแต่ปกแรกจนงานชุดล่าสุดให้เราได้รู้กัน

Behind the Covers of YKPB กระบวนการคิดปกอัลบั้มทั้งหมดของ Yokee Playboys

 

Yokee Playboys (1996)

ปกอัลบั้มชุดแรกของวงโยคีเพลย์บอยที่ถูกสร้างสรรค์ผ่านไอเดียของ คุณทอม-วรุตม์ ปันญารชุน Art Director แห่ง Bakery Music ผู้ให้กำเนิดชื่อวง โยคีเพลย์บอย ด้วยความที่สมาชิกของวงมีชื่อออกไปในทางภารตะ จึงให้คำว่า โยคี บวกกับแต่ละคนมีบุคลิกขี้เล่น เลยสื่อด้วยคำว่าเพลย์บอย ทั้งสองคำนี้แท้จริงแล้วมีความหมายถึง ความสมถะ และ ความฟุ้งเฟ้อ (solitude and attitude) ซึ่งขณะเดียวกัน การยั่วล้อของความนิ่งสงบและความสนุกสนานนี้ก็ได้สื่อถึงความเป็นมนุษย์ ที่บางทีก็อยากปลีกวิเวก หรือบางทีก็อยากที่จะสนุกสุดเหวี่ยง ดังเช่นเรื่องราวที่ถูกเล่าขานในบทเพลงของโยคีเพลย์บอยที่เกี่ยวกับความเป็นมนุษย์แทบทั้งสิ้น และเพลงในชุดนี้ค่อนข้างเป็นเนื้อหาที่ลึกกว่าชุดอื่น ๆ

ความคิดแรกเริ่มถูกพัฒนามาจากสัญญะของความเป็นโยคีผู้ฝึกตนที่มักทรมานตนด้วยการนอนบนเตียงตะปู หรือมีพิธีกรรมที่ต้องการเข้าถึงการบรรลุด้วยการรับรู้ความเจ็บปวดทางกาย คุณทอมจึงนำตะปูมาใช้พัฒนางาน เริ่มจากลองให้ตะปูเหล่านั้นเรียงเป็นรูปผู้หญิงเปลือย หรือรูปกระต่ายเครื่องหมายการค้าของแบรนด์เพลย์บอย แต่ทั้งสองไอเดียนี้ต้องถูกลบไปเนื่องด้วยกระบวนการผลิตที่ยากลำบาก และติดเรื่องลิขสิทธิ์สำหรับโลโก้ชื่อดังดังกล่าว สุดท้ายจึงกลายมาเป็นภาพของหน้าอกผู้หญิงที่มีหนามโดยรอบ สื่อถึงสัญญะของทั้ง โยคี และ เพลย์บอย ได้อย่างชัดเจน ซึ่งในความเป็นจริงงานนี้ พอนำมาจัดองค์ประกอบแล้วก็ดูจะสตรองที่สุดในบรรดางานที่คิดมาก่อนหน้าด้วยนะ

งานของคุณทอมจะคำนึงถึงประวัติศาสตร์ศิลปะและการศึกษาเชิงวัฒนธรรมในงานศิลปะเพราะเขาชื่นชอบสิ่งเหล่านี้ งานที่ออกมาจึงมีความเกี่ยวเนื่องกับ 2 ศาสตร์นี้

 

Super Swinging (1998)

งานนี้ยังเป็นผลงานของคุณทอมอีกเช่นเคย แต่ถูกนำเสนอผ่านความคิดที่อีโรติกมากขึ้น  ด้วยความที่ชุดที่แล้วดูนิ่งและมีความเป็นโยคีสูง ชุดนี้เลยตั้งใจจะให้มีความเซ็กซี่แบบเพลย์บอยตามภาพที่ได้วาดไว้ในหัวเพราะเพลงมีกลิ่นดิสโก้ ผลจึงกลายมาเป็นปกที่มีพี่โป้นอนอยู่บนเตียงลายเสือดาว โดยความมุ่งหมายดั้งเดิมของทางต้นสังกัดต้องการเสนอภาพของศิลปินบนปก แต่คุณทอมกลับคิดว่ายังไง ๆ แฟนเพลงก็ต้องได้เห็นหน้าศิลปินตอนที่พวกเขาขึ้นโชว์อยู่แล้ว งานนี้เขาเลยจัดให้แบบครึ่ง ๆ เป็นพี่โป้เอามือปิดหน้าตัวเองซะเลย ก็ให้ความรู้สึกเท่และมีเสน่ห์ไปอีกแบบ

“ที่ไม่ชอบให้เห็นหน้าศิลปินเพราะคิดว่าปกซีดีมันไม่ใช่รูปติดบัตร เดี๋ยวก็ได้ไปเห็นกันในคอนเสิร์ต พอเป็นปกอัลบั้มก็อยากให้มันสื่อถึงงานของเขา เรื่องราวในแต่ละเพลง หรือความเป็นศิลปินชื่อนี้มากกว่า”

 

YKPB (2000)

อัลบั้มชุดต่อมาที่ต้องการเสนอคอนเซปต์ของความเป็นโยคีเพลย์บอยแบบต่อเนื่องจากสองชุดแรก ความที่เพลงมีความสนุกมากขึ้น จึงออกแบบให้เป็นภาพพี่โป้ในซุ้มประตูอินเดีย ที่เริ่มเห็นหน้ามากขึ้นกว่าชุดที่แล้วเพราะมีหลายคนเรียกร้อง และความที่เป็นคุณทอมก็อยากให้มีกิมมิกสนุก ๆ ในอัลบั้มด้วยเลยทำเป็น flipbook ให้ลองกรีดมุมกระดาษเร็ว ๆ จะเห็นเป็นตัวละครเต้นดุ๊กดิ๊ก ๆ อยู่ นอกจากนี้ยังมีปกของซิงเกิลชุดอื่น ๆ ที่แฝงความสนุกไว้อีก อย่างเช่น ซิการ์มีหนาม โลโก้เพลย์บอยมีหู แต่แน่นอนว่าถูกพับเก็บไปเพราะติดเรื่องลิขสิทธิ์เจ้านั้นนั่นเอง

 

Love Trend (2002)

คราวนี้งานออกแบบปกได้ถูกเปลี่ยนมือมาที่ คุณหมู-นนทวัฒน์ เจริญชาศรี เจ้าของ Ductstore บริษัทออกแบบชื่อดังนั่นเอง คุณหมูได้คอนเซปต์มาจากพี่โป้ว่าชอบหางม้า ด้วยความที่ปกอัลบั้มในสมัยนั้นเน้นดีไซน์หวือหวา เลยจับเอาม้ามาเปรียบเทียบกับผู้หญิง โดยภาพปกด้านนอกให้เป็นรูปก้นม้ากับหาง ด้านในพอเราเลื่อนซีดีขึ้นมาจะเห็นเป็นผู้หญิงหันหลังมัดผมหางม้า ซึ่งเป็นการตีความระหว่างกันว่า ม้าสามารถสื่อได้ถึงอิสระ ขณะเดียวกันก็เป็นสัญญะของเพศ หากผู้ชายจะถูกแทนด้วยความแข็งแรง กำยำ ขณะที่ผู้หญิงก็ชอบถูกเปรียบว่าเหมือนม้าพยศเวลาเกิดความไม่พอใจ ไปจนถึงเรื่องเซ็กซ์ ส่วนภาพของผู้หญิงที่ไม่เห็นหน้าก็เป็นซิมโบลิกแทนเรื่องความสัมพันธ์ หากลองฟังเพลงในอัลบั้มจะพบว่ามันมีความเข้ากันกับภาพปก ซึ่งปกนี้ก็ได้รางวัล Best Packaging ใน Fat Award ครั้งแรก เมื่อปี 2003 ซึ่งเมื่อก่อนนั้นเวลาทำปกอัลบั้มจะไม่เป็นที่สนใจในแง่สื่อ คนส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับค่ายเพลงมากกว่า ด้วยรางวัลนี้เองจึงทำให้วงการคนทำปกอัลบั้มตื่นตัว สร้างมูลค่าเพิ่มมากขึ้น ทุกคนหันมาจริงจังกับการออกแบบปกเป็นระยะเวลากว่า 5 ปี ไม่ว่าจะเป็นการคิดค้นบรรจุภัณฑ์ การเลือกใช้วัสดุต่าง ๆ เรียกว่าปล่อยพลังกันเต็มที่มากในวงการเพลงไทยยุคนั้น

 

Telepathy (2009)

ชุดนี้เป็นช่วงที่พี่โป้ย้ายค่าย แต่งานออกแบบก็ยังเป็นฝีมือของคุณหมูอยู่ จากชื่ออัลบั้มที่ต้องการสื่อถึง โทรจิต โดยจะสื่อถึงการทำพิธีกรรมอะไรบางอย่าง และพิธีกรรมที่ว่าก็จะไม่ใช่สไตล์พื้นบ้านแบบที่เราเห็นกันในหนัง แต่จะมีความเป็นโยคีเพลย์บอยจากเพลงในอัลบั้ม เพราะความที่ถูกตีความให้นิ่ง เท่ และโตขึ้น จึงได้ออกมาเป็นการเซ็ตถ่ายในสตูดิโอที่เป็น photo styling รูปสามเหลี่ยมที่ปรากฏอยู่ล้วนแต่เป็นเทรนด์ minimal ที่กำลังมาในช่วงนั้น แน่นอนว่างานจะออกมาในแนวแฟชั่น เพราะต้องการสื่อสารกับคนที่ฟังเพลง คนที่ชอบการแต่งตัว หรือเสพไลฟ์สไตล์ ซึ่งส่วนใหญ่ของงานเป็นผลจากการศึกษา trend prediction แล้วนำมาปรับ ผสมผสานให้ออกมาในแบบของคุณหมูเอง แต่ปกติแล้วหน้าปกอัลบั้มโยคีเพลย์บอยทุกทีจะมีพี่โป้อยู่คนเดียว คราวนี้พี่โป้อยากให้มีความเป็นวงเพราะหลาย ๆ คนก็ร่วมงานกันมานาน ชุดนี้จึงมีสมาชิกทุกคนบนปก

“ปกของโยคีเพลย์บอยจะมีลักษณะ 2 แบบ เป็นซิมโบลิกกับเป็นสไตล์ ตอนที่อยู่เบเกอรี่จะเปนแฟชั่น เปนสไตล์ซะเยอะ อย่างพวกที่มีโป้ขึ้นปก แต่ในนั้นก็จะมีคอนเซปต์ซ้อนอยู่อีกที ส่วนของที่ผมทำจะเป็นพวกซิมโบลิก ตีความจากเพลงในอัลบั้มของเขา”

 

Second Sun (2012)

หนนี้เป็นงานของคุณทอม เป็นช่วงที่พี่โป้แต่งงาน มีลูก เลยอยากให้ชื่ออัลบั้มมีความสดใส แบบ sunshine คุณทอมเลยคิดว่ามันเป็นคำที่ทำให้เกิดไอเดีย จึงมองหาอะไรที่แจ่มใส ก็มาตกที่พระอาทิตย์ ซึ่งส่วนใหญ่จะมีเรื่องราวของพระอาทิตย์ที่กำลังจะแตกดับ แต่พอค้นเพิ่มก็ไปเจอเรื่องพระอาทิตย์ดวงที่สอง จึงทำให้เกิดอีกวิธีคิดหนึ่ง หลายคนในขณะนั้นเชื่อว่าการมีดวงอาทิตย์ดวงที่สองเพราะโลกกำลังจะแตกดับ แต่คุณทอมมองว่านั่นคือการเกิดใหม่ ยุคสมัยใหม่ เขาจึงจินตนาการว่าพระอาทิตย์ดวงที่สองจะมีรูปร่างหรือสีสันแบบไหน เขาเลยใช้วิธีคิดแบบใหม่เช่นเดียวกันคือการตัดทอนเส้นให้เป็นโลโก้มินิมอลแบบที่เราเห็น แต่รู้หรือไม่ว่าสามเหลี่ยมพิธากอรัสที่ซ้อนกันบนปกสามารถอ่านได้ว่า YKPB และถ้าเราตะแคงปกเป็นแนวนอนจะเห็นเป็นรูปภูเขาที่มีพระอาทิตย์ขึ้นอยู่ ซึ่งเดิมทีคุณทอมอยากให้มีสติ๊กเกอร์รูปร่างต่าง ๆ สีสันน่ารักให้เจ้าของอัลบั้มได้ออกแบบกันเองเพื่อให้มีความรู้สึกเป็นเจ้าของมากขึ้น แต่สุดท้ายไม่ได้ทำเพราะราคาต้นทุนการผลิตค่อนข้างสูง (นี่เสียดายมาก อยากให้ทำออกมาจริง ๆ) ไม่งั้นก็จะเป็นอัลบั้มที่ตอบโจทย์ทั้งเทรนด์มินิมอล และกระแส D.I.Y ในช่วงเวลานั้นด้วย ซึ่งคุณทอมก็บอกอีกว่าอยากทำให้มันเป็นอัลบั้มมินิมอลที่ไม่ได้นิ่ง ๆ เท่ ๆ อย่างเดียว แต่อยากทำให้มันดูสนุกได้ด้วย

 

 

ได้รู้ที่มาที่ไปของปกอัลบั้มเท่ ๆ ทั้งหมดของโยคีเพลย์บอยกันไปแล้วก็อย่าเพิ่งหนีไปไหน ยังมีเรื่องราวเบื้องลึกอีกมากมายที่พร้อมเสิร์ฟให้กับแฟน ๆ โยคีเพลย์บอยได้อ่านกันอย่างจุใจใน Fungjaizine ตลอดทั้งเดือนนี้

 

ขอขอบคุณ คุณวรุตม์ ปันญารชุน และ คุณนนทวัฒน์ เจริญชาศรี สำหรับข้อมูลในบทความนี้

อ่านบทความอื่นของ Yokee Playboy

รวมเพลง B-Side ของ Yokee Playboy ที่เราอยากให้คุณฟัง

รู้หรือไม่ เพลงเท่ากับที่เดิมมีที่มาจากการออกกำลังกาย

HALL OF FAN สุข สนุก ใกล้ชิด อะตอม ชนกันต์ และ Yokee Playboy 

Facebook Comments

Next:


Montipa Virojpan

อิ๊ก เนิร์ดดนตรีที่เพิ่งกล้าเรียกตัวเองว่าเป็นนักเขียนตอนอายุ 25 ชอบเดินเร็ว นอกจากขนมปังกับกาแฟดำแล้วก็สามารถกินไอศกรีมกับคราฟต์เบียร์แทนมื้อเช้าได้