Quick Read Snacks

สงสัยไหม สไตล์การร้องเพลงแบบไหนที่ยากที่สุดในโลกกันนะ?

  • Writer: Peerapong Kaewthae

แต่ละประเทศล้วนมีวัฒนธรรมทางศิลปะและดนตรีที่ต่างกัน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะภูมิประเทศที่แตกต่างทำให้วิถีชีวิตของแต่ละชุมชนก็แตกต่างกันไปด้วย ทำให้แต่ละที่สร้างความบันเทิงในรูปแบบที่เฉพาะตัวและไม่คิดว่าจะเกิดขึ้นได้ การร้องเพลงในบางวัฒนธรรมก็เพื่อความบันเทิงเท่านั้น แต่ในอีกวัฒนธรรมก็ใช้การร้องเพลงเพื่อดำรงชีวิตในภูมิประเทศที่ยากลำบาก ทำให้เกิดสไตล์การร้องที่หลากหลาย สำนักข่าว BBC เลยพาผู้อ่านไปทดลองฝึกร้องเพลง 4 สไตล์ที่ขึ้นชื่อว่าน่าจะยากที่สุดในโลก ทั้ง 4 สไตล์มีอะไรบ้างลองไปทำความรู้จักกัน

Bel Canto

แปลจากภาษาอิตาเลี่ยนได้ตรงตัวเลยว่า ‘การร้องอันงดงาม’ (beautiful singing) ซึ่งเรามักเรียกติดปากกันว่าโอเปร่า มีต้นกำเนิดในช่วงศตวรรษที่ 16  ก่อนจะเริ่มเฟื่องฟูในศตวรรษที่ 18 คุณสมบัติที่สำคัญของการเป็นนักร้อง bel canto ที่ทุกคนจะยอมรับคือต้อง ‘มีเสียงที่สูงและก้องกังวานมากพอจนโดดเด่นเหนือเสียงจากวงออร์เคสตราโดยไม่ใช้ไมโครโฟน พร้อมลงเสียงต่ำได้ในทันที’ ศาสตร์ของการขับร้องแนวนี้ต้องควบคุมลมหายใจได้อย่างแม่นยำ ไหวพริบในการร้องหรือการเปล่งคำออกมาได้ชัดเจนและฮิตโน้ตสูงต่ำได้ไพเราะ

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ แต่ทุกคนสามารถฝึกร้องเพลงแนวนี้ได้! แค่ต้องฝึกฝนการกำหนดลมหายใจและวิธีโปรเจกต์เสียง ซึ่งปากของเราเหมือนเครื่องดนตรีชนิดหนึ่งที่เราต้องรู้วิธีเป่าลมออกมาเป็นตัวโน้ต ต้องฝึกอยู่หลายปีกับครูที่มีความเชี่ยวชาญจริง ๆ ถึงจะทำเสียงสูงและกังวานแบบคลิปข้างบนได้ แต่บอกเลยว่านี่ยังไม่ใช่สไตล์การร้องที่ยากที่สุดนะ

Yodeling

yodel ในภาษาออังกฤษกลายมาจากคำว่า jodeln ในภาษาเยอรมัน แปลว่า ‘การเปล่งเสียง jo ออกมา’ (ก็คือเสียง yo ในภาษาอังกฤษ) ซึ่งจุดเด่นของการร้อง yodeling คือการเปล่งเสียง high-pitch ที่สูงสลับกับเสียง low-pitch หรือเรียกในเชิงเทคนิคว่า chest voice เป็นเสียงต่ำที่ต้องเปล่งจากหน้าอกโดยไม่ต้องคำนึงถึงการเชื่อมอย่างลื่นไหลของโน้ตที่แตกต่างกันมากทั้งสองคีย์ สลับกันไปมาอย่างรวดเร็ว ทุกคนมักจะเข้าใจว่าสไตล์การร้องแบบนี้มาจากคนที่อาศัยแถบเทือกเขาแอลป์ในยุโรป แต่จริง ๆ มีต้นกำเนิดมาจากแอฟริกาตั้งแต่แรก ๆ ก่อนจะแพร่หลายไปทั่วโลก ในยุโรปคนเลี้ยงแกะบนเทือกเขาแอลป์ใช้เพื่อการสื่อสารกันในระยะที่ไกลมาก

yodeling ในแต่ละประเทศก็แตกต่างกันอีกด้วย การร้องแบบนี้เป็นที่นิยมในคนออสเตรียที่สุด มีทำนองที่หวานและเนื้อเพลงที่น่าฟัง ฝรั่งเศสจะรื่นหูที่สุด yodeling ของคนอเมริกาจะไพเราะกว่าและชวนเศร้าน้อยกว่า แต่ทุกคนจะคุ้นเคยกับการร้องแบบคนเยอรมันมากกว่า มันเฮฮาขี้เล่นเพราะทุกคนร้องรำกันเวลาดื่มเบียร์ แต่สวิตเซอร์แลนด์มองว่ามันคือดนตรีโฟล์กพื้นเมืองของบ้านเขา มันว้าเหว่ เซื่องซึมและโศกเศร้ามาก ๆ

แน่นอนว่าการร้องแบบนี้ก็ฝึกถ้าเราเข้าใจร่างกายของเราดีพอ ต้องฝึกการเบรกเสียงและควบคุมลมหายใจให้ถูกจังหวะ เพราะเราต้องสลับคีย์สูงต่ำอย่างรวดเร็ว หาคีย์ของตัวเองให้เจอ ฝึกฝนเยอะ ๆ เราก็ทำได้

Tuvan throat singing

อ่านไม่ผิดหรอก นี่คือการใช้คอร้องเพลง เป็นสไตล์การร้องเพลงที่แปลกประหลาดแต่ยังน่าทึ่งของชาวมองโกเลียและชาวทูวา เป็นการร้องที่มีลักษณะเป็น overtone คือมีเสียงของโน้ตสองตัวอยู่ในการเปล่งเสียงครั้งเดียว ซึ่งมาจากฮาร์โมนิกของเสียงทุ่มต่ำคล้ายเสียงเบสในลำคอ ส่งตรงมาจากปอดและผ่านการห่อริมฝีปากจนทำให้เกิดเสียงที่มีเอกลักษณ์มาก ๆ ขึ้นมา โดยมีพื้นฐานการร้องอยู่สามแบบคือ Khoomei, Sygyt และ Kargyraa ที่มีการใช้ลิ้นและการขับลมจากอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายไม่เหมือนกันเพื่อให้ได้ขีดจำกัดเสียงที่กว้างขึ้นไปอีก มีความเป็น world music จัด ๆ เลย

Pansori

มันคือมหรสพอันเก่าแก่ของชาวเกาหลีที่มีตัวนักร้อง (sorikkun) ที่คอยขับขานเรื่องราวต่าง ๆ และมีคนเล่นกลอง (gosu) สร้างจังหวะอันน่าอภิรมย์อย่างประหลาด ทั้งสองต้องมาในชุดฮันบก ชื่อ Pansori มาจากคำว่า pan ในภาษาเกาหลีที่แปลว่า ‘สถานที่ที่คนมารวมตัวกัน’ และ sori แปลว่า ‘เสียง’ มันคือศิลปะอันเก่าแก่ตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 โดยมีข้อมูลว่ามีต้นกำเนิดมาจากการร้องรำบูชาสิ่งลี้ลับ เป็นความบันเทิงยุคแรก ๆ ของชาวบ้าน ก่อนจะได้รับความนิยมจนขุนนางยังชมชอบก่อนจะเติมเทคนิคหรือการเล่นใหม่ ๆ ลงไปจนเข้าไปอยู่ในวังในศตวรรษที่ 19 แม้แต่พระราชาเองยังสนุกไปกับมัน แต่เมื่อโดนญี่ปุ่นปฎิวัติวัฒนธรรมในศตวรรษที่ 20 ความนิยมก็ค่อย ๆ เสื่อมลงจนเกือบหายไป

เป็นไปไม่ได้เลยที่คนต่างชาติจะฝึกร้องเพลงสไตล์นี้ ด้วยการร้องที่ซับซ้อนและการจับจังหวะที่เป็นประเพณีของคนพื้นเมืองมาก ๆ แล้วยังต้องมีท้องที่แข็งแรงเพื่อเปล่งเสียงออกมาจากตรงนั้น เคยมีคนโบราณบันทึกไว้ว่าคนที่จะเป็นนักร้อง Pansori ได้ต้องฝึกร้องเพื่อกลบเสียงน้ำตกให้ได้ก่อนถึงจะสร้างเสียงที่มีเอกลักษณ์แบบนี้ การแสดงมักมีระยะเวลาตั้งแต่ 3-8 ชั่วโมง โดยต้องร้อง เล่าเรื่อง ใช้ท่าทางและการกรีดพัดเพื่ออธิบายภาพในจินตนาการของเรื่อง และยังต้องเล่นเป็นทุกตัวละครซึ่งส่วนใหญ่ก็หยิบยกมาจากนิทานหรือวรรณกรรมพื้นบ้าน โดยมีมือกลองคอยให้จังหวะและส่งพลังให้

อันที่จริงสไตล์การร้องของบ้านก็แอบต้องใช้เทคนิค อย่างลูกทุ่งหรือหมอลำที่ต้องใช้การเอื้อนและลูกคอ แต่ที่ทำให้รู้สึกว่าเข้าถึงง่ายเพราะยังมีลูกเล่นและความบันเทิงผ่านทางดนตรีที่ประกอบเข้าไป แถมยังแทรกซึมอยู่ในชีวิตประจำวันที่บางคนสามารถร้องออกมาได้โดยไม่รู้ตัวแม้จะไม่ใช่มืออาชีพ ซึ่งก็อยากให้สืบทอดกันต่อไปไม่ว่าจะแบบดั้งเดิมหรือแบบประยุกต์เพราะอัตลักษณ์เหล่านี้ก็ไม่ได้สร้างกันง่าย ๆ เหมือนกับแต่ละสไตล์ที่นำเสนอมาด้านบน แบบนี้อ่านจบแล้วคิดว่าอยากไปฝึกร้องเพลงสไตล์ไหนกันดูบ้างล่ะ?

อ้างอิง
What is the world’s hardest singing style?
Facebook Comments

Next:


Peerapong Kaewthae

แม็ค เป็นคนชอบฟังเพลงเพราะเป็นกิจกรรมที่ทำคนเดียวได้ และก็ชอบแนะนำวงดนตรีหรือเพลงใหม่ ๆ ให้คนอื่นรู้จักผ่านตัวอักษรตลอดเวลา