Quick Read Snacks

รวม Side Project ที่น่าจับตามอง พร้อมปลดปล่อยอีกแง่มุมของตัวตนและความรู้สึก (ภาค 1)

แฟน ๆ นักฟังหลายคนอาจจะคุ้นหน้าคุ้นตากับศิลปินอย่าง Solitude is Bliss, t_047 , THE WHITEST CROW, World Nopparuj, JINTA และ เขียนไขและวานิช แต่วันนี้ Fungjaizine จะพาทุกคนไปรู้จักตัวตนอีกด้านของพวกเขาที่มี Side Project ของตัวเอง คุณภาพน่าติดตามไม่แพ้กับวงหลัก

View From The Bus Tourโปรเจ็กต์เดี่ยวของ เฟนเดอร์ (Solitude is Bliss) กำลังจะทำอัลบัมเต็มพร้อมเปิด patreon ให้แฟน ๆ ที่อยากเสพย์ผลงานเข้าไปซัพพอร์ตกันได้

YERM—ความแตกต่างของสถานการณ์ชีวิตด้าน ขาว และ ดำ จาก ตูน (t_047)

S.O.L.E.—ธาตุแท้และความต่างอย่างสิ้นเชิงจากวันที่เป็นอีกาขาว THE WHITEST CROW 

Walk by Myself—เริ่มต้นด้วยการให้กำลังใจตัวเองผ่านทัศนะในช่วงเวลาหนึ่งส่งให้เพลงเดินทางไปในที่ที่ควรไปจากปลายปากกาของ World Nopparuj

Kanitha / MALILA—เส้นทางการเติบโตบนโลกดนตรีของ ธีร์ (JINTA) ที่เริ่มต้นจากการใส่ใจอารมณ์และความรู้สึกทุกชั่วขณะจิต

สุขเสมอ—อีกด้านของ เรย์ มือกีตาร์ข้างกาย เขียนไขและวานิช และ อิศญา ที่มีความสุขจากการไม่คาดหวัง

 

View From The Bus TourFender (Solitude is Bliss)

โปรเจ็กต์เดี่ยวของ นักร้อง นักแต่งเพลงมากฝีมือจาก Solitude is Bliss หนึ่งในวงดนตรีสุดล้ำที่สุดวงนึงในยุคนี้ ศิลปินจากเชียงใหม่ที่ปลุกปั้นให้กระแสวงการดนตรีทางเลือกได้การยอมรับมากขึ้นจากคุณภาพเพลงที่สร้างสรรค์ขึ้นมา แต่ในอีกมุมหนึ่ง เฟนเดอร์—ธนพล จูมคำมูล มีสมุดไดอารี่ที่เปรียบเสมือบันทึกการเดินทาง ตั้งแต่หัดแต่งเพลง เรื่องราวที่พบเจอ รวมไปถึงแรงบันดาลใจต่าง ๆ หยิบมาเล่าเป็นท่วงทำนองเพื่อบ่งบอกตัวตนของเขาในช่วงเวลาที่เปลี่ยนไปราวกับกำลังเดินทางอยู่บนรถ สมุดบันทึกเล่มนี้มีชื่อว่า View From The Bus Tour 

“เป็นเหมือนสมุดไดอารี่ตั้งแต่หัดแต่งเพลงมาก็จะเอามาลงไว้ในชื่อนี้  ฟีลของดนตรีต่าง ๆ ที่เป็นแรงบันดาลใจ มักจะมีความเชื่อมโยงกับความรู้สึกได้เคลื่อนที่หรือเดินทางอยู่บนรถ” 

— เฟนเดอร์  View From The Bus Tour

โปรเจ็กต์นี้คงได้เห็นอารมณ์ใหม่ ๆ ที่แตกต่างออกไปจาก Solitude is Bliss ที่อัดแน่นไปด้วยการเติมแต่งดนตรีจากบุคลิกของสมาชิกทั้ง 5 คน แต่บันทึกเล่มนี้จะเต็มเปี่ยมด้วยเซนส์ทางดนตรีของ เฟนเดอร์ มาดูไปด้วยกันว่าหน้าตาของอัลบัมนี้จะเป็นยังไง..เชื่อว่าคุณภาพไม่ทิ้งลายมือประจำตัวของเขาแน่นอน ซึ่งกำลังจะเข้าห้องอัดเร็ว ๆ นี้ แล้วจะเปิดรับการซัพพอร์ตจากแฟน ๆ นักฟังผ่าน patreon (แพลตฟอร์มออนไลน์ที่เน้นระดมทุนเพื่องานศิลปะ) รอติดตามได้ที่เพจ View From The Bus Tour

YERMToon (t_047)

ตูน—ณัฐธีร์ อัครพลธนรักษ์ ในมุม t_047 ศิลปินที่มีชื่อติดอยู่บนโปสเตอร์งานดนตรีนอกกระแสอย่างคุ้นชิน กำลังเติบโตเข้าสู่ประตูกระแสหลักจากหลายเพลงที่ถูกใส่ไว้ในเพลย์ลิสต์โปรดของใครหลายคนอย่าง เพียงฤดู, รอสายรุ้ง ไปจนถึงเพลงใหม่อย่าง แม่กำปอง ที่ feat. กับ เขียนไขและวานิช ในวันที่เขามีห้วงความคิดปรัชญา มองสิ่งที่กระทบชีวิตอย่างลึกซึ้ง นั่นคือเวลาของ t_047 แต่อีกด้านของตัวตนในเวลาที่ต้องการปลดปล่อยความดิบ ดุดัน ไปจนถึงการระบายความเศร้าแบบเมา ๆ คงเป็นเวลาของ YERM ที่ตอบสนองความรู้สึกขณะนั้นได้ดีที่สุด 

YERM เริ่มต้นจากรั้วมหาวิทยาลัยศิลปากร (เพชรบุรี) ในช่วงเวลานั้นที่วงอื่น ๆ เล่นเพลงกระแสหลัก พวกเขาอยากแนะนำวงนอกกระแสที่ชอบให้คนที่นั่นรู้จักบ้าง จากจุดเริ่มต้นวันนั้นที่ทำวงขึ้นมาปั่น ๆ กวน ๆ เดินทางมาถึง เยิ้ม ในวันที่มีเพลงดังแตะหลักล้านวิวอย่าง ที่ผ่านมา, กลับดาว และอีกหลายเพลงที่แฝงแง่คิดอยู่ในนั้น เร็ว ๆ นี้พวกเขาจะปล่อยอัลบัมที่ 2 ใครรู้ตัวว่าเป็นแฟนวงนี้รอติดตามที่หน้าเพจ YERM ไว้ให้ดี

จุดประสงค์แค่อยากกวนตีนวงการดนตรี อัลบัมที่ 2 ของทั้งสองวง มันเป็นช่วงที่ชีวิตมันส์มาก อาจจะเป็น Masterpiece ทั้งของ YERM และ t_047  เลย

— ตูน YERM

 

S.O.L.E.Tritled (THE WHITEST CROW)

โปรเจ็กต์เดี่ยวของ เติ้ล—ปฏิภาณ สุวรรณสิงห์ ฟรอนต์แมนจาก THE WHITEST CROW ร็อกชุดดำที่ผ่านยุครุ่งเรืองราว 5 ปีที่แล้ว จากวันที่ส่ง Demo เพลง Don’t You Know แล้วถูกปฏิเสธจาก Rats Records กลายเป็นจุดเริ่มต้นของ S.O.L.E. โปรเจ็กต์เดี่ยวเขาที่ลองส่งเพลงนี้ให้ นิค—ธาฤทธิ์ เจียรกุล (Part Time Musicians / temp.), แป๊ก—รัชชา วัฒนจิตรานนท์ (electric.neon.lamp) จนปั้นขึ้นมาเป็นผลงานชิ้นแรก

จริง ๆ ก่อนทำ THE WHITEST CROW ก็ทำเพลงคนเดียวมาตั้งแต่แรกอยู่แล้ว เลยตั้งชื่อขึ้นมาว่า State of Living Ecclesiastic ที่แปลว่า การอยู่อย่างสันโดษ โดยตัวย่อคือ S.O.L.E. ที่ตรงกับ sole มีความหมายว่า 1 หรือ อันเดียว เป็นการพูดถึงโปรเจ็กต์เดี่ยวที่ทำทุกอย่างคนเดียวได้สมบูรณ์แบบในความคิดเรา

— เติ้ล S.O.L.E.

ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดระหว่างวงดนตรี 4 ชีวิต กับ โปรเจ็กต์เดี่ยวปัจจุบัน ที่เขาบอกว่า “มันเหมือนเป็นธาตุแท้ของเรา เพราะทุกอย่างมาจากเราคนเดียว ทั้งความชอบเรื่องเพลง หรือ จะเป็น Art Direction / MV ที่แสดงออกถึงความเป็นตัวเราได้ดีที่สุด” จะเป็นอะไรก็ได้ไม่ว่าจะเป็น Rave Music, Hip-Hop, Groove 70’s หรือรูปแบบที่กำลังอินในช่วงเวลานั้น นั่นคือนิยามของ S.O.L.E. 

 

จากภาพลักษณ์ของ THE WHITEST CROW ที่ไม่ได้มีแต่ความเดือดพล่านอย่างเดียว ด้วยคาแร็กเตอร์แฝงความสุภาพ เสื้อเชิ้ต ชุดดำ เซ็ตผม แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับภาพในปัจจุบันที่เราเห็นตามงานดนตรีหรือเฟสติวัลต่าง ๆ  (เติ้ล: S.O.L.E. มีความกเฬวราก เอ่อ..กะเลวกะลาด นั่นแหละ มันเหมือนเป็นวงเพื่อนมาเล่นปาร์ตี้ กินเหล้า กับเพื่อน มีความเป็นกันเองมาก ขนาดว่าเล่น ๆ อยู่ มีคนขอเบียร์กับบุหรี่เราตอนเล่น) แต่สุดท้ายแล้วสิ่งที่ยังเหมือนกันทั่ง 2 โปรเจ็กต์คือการเล่นสดที่ไม่ทิ้งลาย Guitar Band และอัดแน่นไปด้วยแพชชั่นของนักดนตรี ความพิเศษของตอนนี้คือ มีนักร้อง 2 คน, มือกีตาร์ 1 คน, มือเบส (ที่เล่นผ่านตู้กีตาร์) 1 คน, มือเบส (เป็น Synthesizer ที่ตี Drum Pad ไปในตัว) 1 คน, มือคีย์บอร์ด 1 คน และ มือกลอง (ตีกลองจริงไปพร้อมกับไลน์กลองที่เขียนจากคอมพิวเตอร์)

ปัจจุบันมันไม่มีอะไรใหม่แล้ว มันเป็นยุคของการหยิบจับสิ่งของที่มีในอดีต มาผสมกันให้เป็นลูกครึ่งของความแปลกใหม่

— เติ้ล S.O.L.E.

เร็ว ๆ นี้ S.O.L.E. จะมีปล่อยอัลบัมเต็มภายใต้ชื่อว่า PLURALISM ที่ได้คอนเซ็ปต์จากยุคปัจจุบันที่ทุกอย่างผสมผสานกันไปหมด (เติ้ล: ทุกเพลงจะสไตล์แตกต่างกันหมดเลยจะมีตั้งแต่ acoustic เบา ๆ ยัน Beach Music ที่มีความ Reggae ผสม 70’s vibes ยันเพลง Hardcore ตะโกนคอแตกแหกตาโบ๋) ใครอยากเพิ่มพลังชีวิต อยากอารมณ์พลุ่งพล่านไปกับเพลงสุดเดือด ไปติดตามได้ที่เพจ S.O.L.E. หรือในทุก streaming ไปแท็กหากันได้ @SOLEBKK / #SOLEBKK

 

Walk by MyselfWorld Nopparuj & Jeep (Jinta)

โปรเจ็กต์สายโฟล์กของ เวิลด์—นพรุจ ศรีม่วง จาก Believe Records ที่ยกเรื่องราวทัศนะต่าง ๆ ที่เขาได้พบเจอมาเขียนเป็นเพลง ทุกเพลงในโปรเจ็กต์นี้มีสารตั้งต้นมาจาก ‘การให้กำลังใจ’ พร้อมกับคู่หูดนตรีอย่าง จี๊ป—รัชช อมาตยกุล (Jinta) ที่ทำเพลงด้วยกันเสมอมา “เวิลด์ถ่ายทอดความรู้สึกผ่านเนื้อร้องและทำนอง จี๊ป ถ่ายทอดความรู้สึกเดียวกันนั้นผ่านพาร์ตดนตรี” นั่นคือส่วนผสมของทั้งคู่ พวกเขาเริ่มออกเดินทางตั้งแต่สมัยยังอยู่ในรั้วดุริยางคศาสตร์ ศิลปากร จนเริ่มเป็นที่รู้จักในแวดล้อมดนตรีสายโฟล์กจากเพลง สหาย ทำให้ได้ไปเล่นถึงเชียงใหม่กับบรรยากาศอบอุ่นที่บ้านบนดอย นั่นคือช่วงเวลาที่เสียงเพลงได้ตอบเราว่า  ‘เพลงบางเพลงได้ทำหน้าที่ของตัวเองและเดินทางไปยังสถานที่ที่เหมาะสม’  

Walk by Myself เป็นสำนวนที่ไปอ่านเจอความหมายคือ เดินเพียงลำพัง แล้วรู้สึกมันตรงกับชีวิตที่เป็นคนค่อนข้างสันโดษเลยเอาประโยคนี้มานิยามโปรเจ็กต์ในตอนนั้น ผ่านทัศนะที่ตัวเองไปเจอหมดเลย จริง ๆ คือให้กำลังใจตัวเองในเรื่องที่รู้สึกตอนนั้น

— เวิลด์ Walk by Myself

 

ไม่นานมานี้เพิ่งจะปล่อยเพลง ที่เกิดเหตุ ได้รับแรงบันดาลใจมาจากหนังสือของ วรพจน์ พันธุ์พงศ์ ที่เล่าถึงเรื่องราวจาก 3 จังหวัดชายแดนใต้ แต่เนื้อหาภายในสื่อถึงอะไรต้องลองหามาอ่านกันดู ใครที่รอให้พวกเขากลับมาทำโปรเจ็กต์นี้อีกครั้งคงต้องรอให้มีมุมมาตกกระทบชีวิตจนเพียงพอให้หยิบมาเขียนเพลงได้ ไปรอติดตามผลงานที่เพจนี้ได้เลย World Nopparuj 

 

Kanitha / MALILANuttea (Jinta)

ธีร์—ณัฐธีร์ วิชชุเกรียงไกร เจ้าของเสียงร้องสุดลึกที่เป็นผู้ฝากลายมือเพลงจากวงหลักของเขาอย่าง JINTA แต่ในอีกมุมของหนังสือเล่มนี้ยังมีอีก 2 บทที่เขาเป็นคนเขียนขึ้นมา ขนิษฐา (Kanitha) และ มาลิลา (MALILA) ซึ่งมีรากฐานที่มาแตกต่างกันออกไป

จุดเริ่มต้นของขนิษฐา ?

ธีร์: ที่มาของ ขนิษฐา มาจาก แฮม—ฐาณิศร์ สินธารัตนะ ที่เป็นมือกีตาร์คนปัจจุบัน เริ่มหัดเขียนเพลง เราอยู่หอพักเดียวกัน เลยเหมือนได้คุยแลกเปลี่ยนสิ่งต่าง ๆ กัน แฮม อยากรู้เรื่องเขียนเพลงเลยเข้ามาปรึกษาเราที่เรียนสาขาเกี่ยวกับการเขียนเพลงโดยตรง เกี่ยวกับว่าตรงไหนควรเป็นอย่างไร เขียนเนื้อตรงนี้ได้ไหม จนสุดท้ายได้เพลงมา แฮมก็เหมือนยัง งง ๆ ว่าเขียนมาแล้วไงต่อ จะทำอะไรต่อ เราเลยบิ๊วทำวงเลย

นิยามของ ขนิษฐา ในทัศนะของ ณัฐธีร์ ?

ธีร์: จริง ๆ มันมาจากชื่ออาจารย์สอนวิชาภาษาอังกฤษของเรา อาจารย์เค้าเหมือนเป็นที่ปรึกษาให้กับพวกเรากลาย ๆ แฮมชอบชื่อของอาจารย์คนนี้เลยเอามาตั้งเป็นชื่อวง พอเขียนเพลงออกมาก็ลองเอากลับไปให้เค้าฟัง เค้าเขาชอบมาก เขียนกลอนให้เลยด้วย ทุกวันนี้แฮมน่าจะเป็นคนที่เก็บกระดาษแผ่นนั้นไว้

มันเริ่มด้วยจุดง่าย ๆ แบบนี้แหละ แต่ไป ๆ มาๆ  รูปร่างมันก็กลายเป็นตัวเป็นตน จนเป็นวงขึ้นมา เหมือนทรายที่ถมชายทะเล เพราะคลื่นน้ำมันซัดขึ้นมานั่นแหละ

— ธีร์ Kanitha / MALILA

แล้ว ธีร์ ในมุม มาลิลา (MALILA) ล่ะ ?

ธีร์: เรามีเพลงเขียนเก็บไว้เยอะ หลาย ๆ เพลงในสมุดบ้าง ในคอมบ้าง ทีนี้มันไม่ลงกับอันไหนเลย ไม่ว่าจะ จินตะ หรือ ขนิษฐา มันดูเป็นตัวเราที่อยากทำอะไรก็ทำมาก ๆ จนมีเพื่อนเอามาฟัง เลยบิ๊วให้ไปลองอัดเสียงที่ห้องอัด DBS Studio Bangkok พี่ที่ห้องอัดก็ช่วยซัพพอร์ตเรา จนได้เพลงมา แล้วบังเอิญเพลงนี้ไปถึง พี่เก่ง—ธชย ประทุมวรรณ ที่กำลังทำค่าย White Line Music เลยเหมือนทางมันเหมาะเจาะ กลายเป็นโปรเจ็กต์แยกของเราอีกอัน 

 

ความแตกต่างของ ขนิษฐา / มาลิลา ?

ธีร์: ขนิษฐา คนเริ่มต้นงานมันคือแฮมซึ่งจะมีความรู้เรื่องมากกว่า เพราะเราเป็นคนเขียนอะไรซ่อนความเยอะ แต่แฮมเป็นคนที่เก่งเรื่องจัดการการสื่อสารตัวเองมาก มีความลึกสวยงามในภาษา ไม่ต้องซ่อนความอะไรเลย สิ่งที่เราทำก็แค่จัดให้มันลงในลำดับที่พ้องและสวยงามเป็นระเบียบเหมือนกวี ส่วน มาลิลา มันคือเพลงที่เราเขียนเก็บไว้แล้วหาที่ลงไม่ได้แต่เราก็อยากให้เพลงออกไปให้คนอื่นฟังอยู่ ที่มันลงกับอย่างอื่นไม่ได้เพราะมันดูเป็นเพลงรักเกินไปบ้างหรือส่วนตัวมากเกินบ้าง บางเพลงดูเป็นอะไรที่ทดลองเกินไป จนขาดคาแร็กเตอร์ของวงนั้น ๆ  เราเลยมัดรวมมาเป็นตัวเราไว้ที่มาลิลา 

เร็ว ๆ นี้ จะมีปล่อยเพลง เหมือนพระจันทร์ ในโปรเจ็กต์ MALILA เพลงที่พูดถึง พระจันทร์ที่เราเคยมองและพระจันทร์ที่เรามองตอนนี้มันไม่เหมือนกัน เพราะที่นั่งข้าง ๆ ที่เคยมีคนที่เรารักอยู่ มันดันไม่มีเค้าอีกแล้ว ส่วน ขนิษฐา กำลังวางแผนทำอัลบัมเต็มตาม JINTA วงหลักของเขาไปติด ๆ เพิ่งปล่อยเพลง สลาย กับค่าย Tomato Love Records ที่ทำเพื่อช่วยประเทศออสเตรเลีย ส่วนอัลบัมเต็มของวงหลักอย่าง จินตะ เพิ่งจะเปิดตัวอัลบัม ‘สุ จิ ปุ ลิ’ กันไป ติดตามผลงานกันได้ที่เพจ JINTA 

 

สุขเสมอเรย์ (เขียนไขและวานิช / อิศญา)

อีกหนึ่งโปรเจ็กต์เดี่ยวของมือกีตาร์คู่กาย เขียนไขและวานิช และ อิศญา ที่เอาดนตรีโฟล์กเนิบช้ามาเล่าเรื่องราวจรรโลงสังคม ให้คนฟังได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติมากขึ้น เริ่มจาก เรย์—ประชา หลุยจำวัน ต้องการจะทำดนตรีที่เริ่มจากตัวเองตามตัวตนภายในของเขาและสร้างเสียงที่ เรย์ อยากฟังจริง ๆ โดยไม่มีการคาดหวังหรือผ่านการตีกรอบใด ๆ จากผู้ฟัง เป้าหมายเพื่อความผ่อนคลาย สบายใจ (ถ้าใครรู้จักหรือเคยคุยกับ เรย์ จะรู้เลยว่าผ่อนคลายของเขานั้นสบายมากขนาดไหน)

ในพาร์ตดนตรีของ สุขเสมอ จะเป็นตัวตนของเขาอย่างชัดเจน เขียนเนื้อร้อง แต่งทำนอง ไปจนถึงร้องประสาน (บางครั้งก็มีเสียงประสานผู้หญิงที่มาคอยช่วยให้อารมณ์ของเพลงเป็นไปอย่างที่ต้องการ) ซึ่งค่อนข้างแตกต่างจาก เรย์ ในวันที่เล่นกับ เขียนไขและวานิช เพราะนั่นคือภาษาเขียนและทำนองเฉพาะตัวที่ โจ้—สาโรจน์ ยอดยิ่ง เป็นคนนำทางเอาไว้ ส่วนตัวเขามีหน้าที่คิดโซโล่และเสียงร้องประสาน เช่นกันกับ อิศญา วงดนตรีที่มี โอ๊ต—ณพล ประสพ เป็นผู้ร่วมสร้างงานไปพร้อม ๆ กัน ผลัดกันเล่น ผลัดกันร้อง จนออกมาเป็น อิศญา ที่ได้ฟังกันไป  

 

อยากจะทำดนตรีที่เริ่มจากตัวเองตามที่ตัวเองอยากฟังโดยไม่มีการคาดหวังหรือผ่านกรอบใด ๆ จากผู้ฟัง

— เรย์ สุขเสมอ

เร็ว ๆ นี้ สุขเสมอ จะปล่อยอัลบัมที่ 2 หลังจากปล่อยอัลบัม ‘อยู่ เย็น เป็น สุข’ ไปเมื่อปีที่ผ่านมา อัลบัมนี้จะมีความดิบปนอยู่ในนั้น อย่างเพลงแรกที่ถูกปล่อยเมื่อเดือนที่แล้วอย่าง ผ่านพ้นคืนวาน คือจุดเริ่มต้นของอัลบัมนี้ รอติดตามได้ที่เพจ สุขเสมอ

อีกไม่นานเกินรอศิลปินเหล่านี้คงจะมีผลงานใหม่มาให้ติดตามกัน ลองย้อนกลับไปฟังผลงานที่ผ่านมาของพวกเขารอไปก่อน ชีวิตคนเรามักจะมีหลายแง่มุมเสมอ ลองเรียนรู้แง่คิด มุมชีวิต และ ประสบการณ์ที่พวกเขาไปเจอมาผ่านบทเพลงที่แสดงตัวตนก็เป็นวิธีการเรียนรู้กันที่ดีอีกแบบ..แล้วพบกันในเพลง

Facebook Comments

Next:


บ็อบ รักเพลงโฟล์ก พอ ๆ กับชอบกินกาแฟดำไม่ใส่น้ำตาล วงนั่งเล่น กับ Boy Imagine คืออาจารย์ ดูอาร์เซน่อลเตะเวลาฟอร์มดี ชอบอ่านหนังสือแปลจากญี่ปุ่นกับจีน ตอนเช้ากินกาแฟ กลางวันกินกะเพรา ตอนเย็น อะ! กินเหล้ากัน