Quick Read ตาดูหูฟัง

เกิดไม่ทันแต่อยากคิดถึง: มโนกับเพลงประกอบหนัง Coming of Age ยุค 80s

  • Writer: Sy Chonato
  • Illustrator: Ploypuyik

 

“เพลงนี้ทำให้ฉันฝันหวานถึงชีวิตในอดีตที่ไม่เคยเกิดขึ้นกับฉันเลย” — คอมเมนต์หนึ่งใน YouTube (You make me nostalgic for lives I’ve never lived.)

ทุกคนคงรู้สึกได้ว่าบรรยากาศแห่งยุค 80s ได้หวนกลับมาอีกครั้ง ไม่ใช่แค่เพลงแต่ยังมีหนังหรือซีรีส์ใหม่ ๆ ที่ได้อิทธิพลจากยุค 80s โผล่ผุดมาให้เราได้รำลึกถึงอดีตที่เราเกิดไม่ทัน จนบางทีก็ชวนให้สงสัยว่า เออ แล้วในยุคนั้น จริง ๆ มันเป็นยังไงนะ เราก็คงย้อนเวลากลับไปไม่ได้หรอก แต่คงรู้ได้จากคำบอกเล่า และภาพยนตร์ที่แช่แข็งเวลาเหล่านั้นไว้ให้เรากลับไปมองดู 

“มันรู้สึกยังไงหรอ ที่ได้เป็นวัยรุ่นในยุค 80s”  มีคนตั้งกระทู้ถามใน Quora 

“คุณจะใช้เวลาปริมาณมากกับการเล่น Pacman ซํ้าไปซํ้ามา คุณจะดู Breakfast Club นับครั้งไม่ถ้วนจนมันซึมเข้าไปอยู่ในหัวใจ คุณจะสวมถุงน่องสีเด๋อ ๆ มีเครื่องประดับเยอะ ๆ ใส่สเปรย์ในผม เพียงเพราะว่ามันดูคูลมาก”

“มาดอนน่า!!” – หลายความเห็น พูดเป็นเสียงเดียวกัน

“Rap music เพิ่งเกิดขึ้น เพื่อนำเสนอด้านดิบรุนแรงอันไม่สวยงาม”

“คอมพิวเตอร์เพิ่งเริ่มเข้ามาก่อนที่จะมาครองโลก วิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ (Computer Science) เพิ่งเป็นสาขาวิศวกรรมใหม่  เราต้องพิมพ์รายงานเหมือนเดิม  ไม่มี iPod หากอยากจะพกพาเพลงไปทุกที่ให้พึ่ง Sony Walkman”

“80s ไม่ใช่เวลาแห่ง Minimalism”

เอาจริงเราก็เกิดในยุค 90s เหมือนผู้อ่านส่วนใหญ่ของ Fungjaizine แต่ว่าเมื่อก่อนก็ยังทันได้ดูหนังวัยรุ่นในยุค 80s หลาย ๆ เรื่องจากผู้กำกับอย่าง John Hughes หรือ Rob Reiner บรรจุในแผ่นขายที่สกาล่า หนังเหล่านี้ทำให้เรามโนถึงพลังงานของสมัยนั้น เลยอยากหยิบมาให้หลาย ๆ คนได้หวนกลับไปชมและและอินกับบรรยากาศและความงามของยุค 80s และแต่ละเรื่องก็มีเพลงประกอบที่เป็น iconic น่าจดจำ

‘Coming of age’ คือช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านระหว่างเด็กเติบโตสู่การเป็นผู้ใหญ่ หนัง coming of age จึงมักเกี่ยวข้องกับตัวละครวัยรุ่น โดยเรื่องแบบนี้มักเน้นยํ้าถึงบทสนทนาภายในใจ (internal dialogue) ของตัวละคร มากกว่าการกระทำ (action) และมักย้อนกลับไปในอดีต

Sixteen Candles (1984)

เรื่องนี้เป็นเรื่องแรกที่เราได้ดูจากผู้กำกับ John Hughes เป็นต้นตำรับหนังวัยรุ่นว้าวุ่นหัวใจ โดย Molly Ringwald เล่นเป็น Samantha สาวน้อยเด๋อ ๆ ที่ไม่มั่นใจที่เพิ่งอายุ 16 ปี เธอตกหลุมรักหนุ่มหล่อในโรงเรียน แต่มีเพื่อนหนุ่มเนิร์ดน่ารักจริงใจแต่ไม่เท่เท่ามากุ๊กกิ๊ก (คุ้น ๆใช่ไหม พล็อตที่ถูกผลิตซํ้าอีกไม่รู้กี่ครั้ง แต่เราก็ยังชอบกันอยู่เรื่อย ๆ แหละ) เรื่องนี้ก็ไม่ได้ให้ข้อคิดอะไรมาก แต่สนุกและรู้สึกชุ่มชื่นหัวใจ และพอดูหนังวัยรุ่นแนวนี้อีกหลาย ๆ เรื่องในยุคถัด ๆ มา ก็รู้สึกถึงพลังงานบางอย่างว่าได้แรงบันดาลใจจากเรื่องนี้แน่ ๆ

เพลง Sixteen Cancles ที่ถูกนำมาสร้างเป็นชื่อหนัง ไม่ได้มาจากยุค 80s หรอกเป็นเพลงเก่าที่ฮิตติดบิลบอร์ดใน 1959 โดยวง The Crest แต่วง The Stray Cats ได้นำไปคัฟเวอร์เพื่อประกอบหนังในปี 1984 สนุกดีที่พอเราย้อนกลับไปดูหนังเก่ายุค 80s หนังในยุคนั้นก็อาจจะไปหยิบเพลงยุคก่อนหน้ามา เราต่างพากันย้อนกลับไปค้นหาขุมทรัพย์กันในอดีตไปเรื่อย ๆ

เวอร์ชั่นแรกของเพลงจากปี 1958 ก่อนถูก remake 

Breakfast Club (1985)

เรื่องนี้ได้นำเสนอช่วงเวลา 1 วันของวัยรุ่นต่าง stereotype มาถูกกักบริเวณอย่างพร้อมหน้าจนทุกคนผ่อนคลาย พูดคุย สารภาพเปิดใจ และได้เรียนรู้กันและกันว่าแม้จะต่างวรรณะหรือไทป์ในโรงเรียน เราอาจเข้าใจกันได้หากได้คุยกัน

หนังจำกัดฉากอยู่แค่ในโรงเรียน ออกไปไหนไม่ได้ตลอดวันหยุดวันเสาร์ แต่เพลินและมี dialogue ที่สนุกและกินใจมาก ความเป็นวัยรุ่นคือความ awkward ความไม่มั่นใจ ความรู้สึกผิด รู้สึกว่าตัวเองไม่ดีพอ และรู้สึกว่าตัวเองไม่ fit in

ส่วนนี้คือเพลง Don’t You (Forget About Me) มาโผล่ฉากตอนจบ (มีสปอยล์นะ อย่าดูถ้าอยากจะตามดูเอง :P)

เพลงนี้ถูกแต่งเพื่อหนังเรื่องนี้โดยเฉพาะ แต่ไม่มีวงไหนยอมเล่นให้เลยเพราะวงดนตรีร็อกสมัยนั้น ใคร ๆ ก็อยากแต่งเพลงของตัวเองทั้งนั้น จนกระทั่งวง Simple Minds ยอมเล่น (แบบไม่ค่อยเห็นด้วยเท่าไหร่) และเพลงนี้ก็ฮิตตามหนังที่ออกมา พุ่งทะยานสู่อันดับ  1 ของบิลบอร์ดในปี 1985 เกร็ดน่ารู้คือ ท่อน la-la-la-la-la ไม่มีเนื้อมาให้ นักร้องวงเลยใส่เพิ่มมาเองตอนอัด โคตรชอบ

เพิ่งรู้ว่า John Hughes เขียนบทภาพยนตร์เรื่องนี้ในเวลาสองวัน และมีฉาก improvise จำนวนมากในหนัง มันเลยรู้สึกสด ใหม่ และจริง ทุกครั้งที่ได้ดู

ประโยคจากหนังที่ประทับใจมีเยอะมาก เช่น

“โอ้ พระเจ้า เราจะโตไปเป็นเหมือนพ่อแม่ของเราเหรอ”

“เธอต้องใช้เวลาลดลงหน่อยในการพยายามทำให้คนอื่นประทับใจ”

“เวลาที่ฉันดูตัวเองในกระจก ฉันเห็นตัวเอง และไม่ชอบสิ่งที่ฉันเห็นเลย”

“เราทุกคนต่างประหลาดกันทั้งนั้น แค่บางคนอาจจะซ่อนมันได้เก่งหน่อย”

หนังเรื่องนี้มันโคตรปลอบโยนจิตใจวัยรุ่นเลย ทุกคนก็แปลกประหลาด ไม่มั่นใจ ไม่สมบูรณ์แบบกันทั้งนั้นนั่นแหละ

Say Anything (1989)

หลายคนอาจจะเคยเห็นฉากถือวิทยุอยู่นอกหน้าต่าง และสงสัยว่ามันมาจากไหน มันมาจากเรื่องนี้แหละ นี่คือการบอกรักของคนในยุคนั้น อาจดูโรแมนติกแต่ในชีวิตจริงอาจจะโดนปาหินจากข้างบ้านได้ 555

Say Anything เล่าเรื่องความรักแรกของ Lyod (John Cusack) มองโลกในแง่ดี กับผู้หญิงสาวแสนสวย Diane (Ione Skye) ที่เพอร์เฟ็กต์

เพลงที่เปิดเต็ม ๆ คือเพลง In Your Eyes โดย Peter Gabriel (1986)

เนื้อเพลงก็หวานเลี่ยนเหลือเกิน แต่มันก็เหมาะกับซีนนี้จนทำให้เป็นฉากนี้สมบูรณ์และน่าจดจำ

“In your eyes
The light the heat
In your eyes
I am complete “

แต่ไม่ว่าจะเปลี่ยนเทคโนโลยีไปอย่างไร การใช้เพลงในการแสดงถึงความรู้สึกก็จะคงอยู่ต่อไปทุกยุคทุกสมัย ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีแบบไหน จะอัด mixtape ส่งให้กัน หรือส่งผ่าน ICQ, MSN หรือ Facebook Messenger

ผู้กำกับ Cameron Crowe เล่าว่า  Boombox Scene อันทรงพลังฉากนี้ คือสิ่งสุดท้ายที่ถ่ายในวันสุดท้ายของกอง ในช่วงแสงสุดท้ายของดวงอาทิตย์วันนั้น (ที่รุ่นเราเรียกกกันว่า magic hour นั่นแหละ)  โรแมนติกจัง

Stand By Me  (1986)

คนอาจจะคิดถึงยุคนี้ว่ามีแต่เพลงป๊อป ดิสโก้ กากเพชร ฟู่ฟ่า เรืองรอง การใส่สเปรย์ผม และถุงน่องลายลูกไม้ แต่หนังเรื่องนี้กลับเงียบสง่างาม และสะเทือนอารมณ์

หนังเรื่องนี้สร้างมาจากหนังสือของ Stephen King กำกับโดย Rob Reiner (คนเดียวกับ When Harry Met Sally และ Princess Bride) เล่าเรื่องกลุ่มเด็กชายที่ไปผจญภัยในป่าแล้วพบศพ ทำให้หลุดจาก comfort zone เกิดคำถาม และค่อย ๆ หลุดจากความไร้เดียงสาของวัยเด็ก เผชิญหน้าความขัดแย้งและ ethical dilemma ให้เราต้องตัดสินใจ หนังผจญภัยลึกลับอย่าง Stranger Things ได้เรื่องนี้เป็นแรงบันดาลใจมาแน่ ๆ

เนื้อเรื่องดำเนินอย่างเรียบง่ายแต่บีบคั้นขึ้นเรื่อย ๆ เชื่อว่าหลาย ๆ คนที่ดูเรื่องนี้จะแอบหลงรัก River Phoenix หัวโจกของกลุ่มที่มีความกล้าหาญ เป็นหนังที่เงียบและเล็ก แต่กลับทรงพลังอย่างมากและยังทรงพลังอยู่จนวันนี้

เพลง Stand By Me โดย Ben E. King (1961) ก็ไม่ใช่เพลงในยุค 80s แต่มาจากยุค 60s และหนังเรื่องนี้ก็ทำผู้ใหญ่ในยุค 80s ย้อนกลับสู่วัยเด็กของตัวเองที่เก่ากว่านี้ คนทุกยุคต่างย้อนกลับสู่จุดเริ่มต้นของตัวเองกันทั้งนั้น เพลงที่เราได้ฟังยามเด็กจะอยู่กับเราตลอดไป

คำว่า ‘Stand by me’ แปลว่า ‘อยู่เคียงข้างกัน’ ในบริบทของเรื่องนี้น่าจะหมายถึงกลุ่มเพื่อนไม่ว่าจะเจอเรื่องร้าย (หรือเจอศพในป่าใหญ่) ซึ่งโคตรจะโรแมนติกแบบเด็ก ๆ เพราะชีวิตจริงความสัมพันธ์และมิตรภาพสามารถคลี่คลาย อาจจบลงและจางหายไปได้เมื่อโตขึ้น เราต่างต้องแยกย้าย ดูแล้วอดนึกถึงตัวเองสมัยเด็กในเวอร์ชั่นก่อนจะเป็นเราทุกวันนี้ไม่ได้

ที่สำคัญคือมีบทสนทนาของตัวละครที่เป็นเด็กอันโคตรลํ้าค่า ให้อยากกลับไปดูซํ้า ๆ สิ่งหนึ่งที่ต่างไปจากการเสพของคนยุคก่อนหน้าเรา คือพฤติกรรมการดูหนังเรื่องชอบที่ชอบซํ้า ๆ เพราะตัวเลือกไม่ได้หาง่ายและมีมากมายเหมือนสมัยนี้

แล้วยุค 80s จริง ๆ เป็นอย่างไรกันแน่นะ

มันคงอาจจะยากและไม่ตรงใจทุกคนหากจะจำกัดความ ระยะเวลายาวนานถึง 10 ปีของยุค 80s ในหลาย ๆ วัฒนธรรมของหลากหลายชีวิตคนเป็นล้านอันแตกต่างหลากหลาย ด้วยชุดคำวิเศษณ์เพียงไม่กี่คำที่เราตีความเข้าข้างตัวเอง (ของไทยกับฝรั่งก็คงไม่ตรงกันเท่าไหร่) แต่ยุค 80s คือยุคแห่งความฝัน ยุคแห่งความบ้าคลั่ง ความมองโลกในแง่ดี และทำบ้า ๆ บอ ๆ ให้เต็มที่ และ Materialism ฟู่ฟ่าหรูหราวิบวัยแบบสุดชีวิต

ยุค 80s ยังเป็นช่วงเวลาของโรคเอดส์ John Lennon โดนลอบสังหาร การสังหารหมู่เทินอันเหมิน ปรมาณูเป็นสิ่งที่ทุกคนหวาดกลัว เด็กรุ่นเราอาจเห็น 80s ดูสวยงามจับใจ ไม่อยากดำรงอยู่ในยุคสมัยนี้ เพราะเขาอาจเห็นแต่สิ่งสวยงามที่ดีพอจะหลงเหลือมาให้เห็นให้ประทับจิต ได้เห็นของที่อยากจำถูกผลิตซํ้าแม้ผ่านมาเป็นสิบ ๆ ปี

“เรารู้ว่ามีเรื่องอันน่าตื่นเต้นและสำคัญเกิดขึ้นในปี 60s และ 70s ความเปลี่ยนแปลงอย่างถอนรากถอนโคน อิสรภาพ การประท้วง และความหวัง ความรู้สึกว่าโลกได้เปลี่ยนไปตลอดกาล คนจึงเดินประท้วง เขียนบทกวี และเป็นกบฎ แต่ในช่วงปี 1980s เรารู้สึกว่าคงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เพราะความเปลี่ยนแปลงได้ล่มสลายลง กับเวียดนาม หรือ Water Gate เราสูญเสียศรัทธา คนทุกคนกลายเป็นคนอนุรักษ์นิยมและโลภ กลายเป็นแม่พิมพ์ Preppy และ Yuppie กันไปหมดในยุคนั้นมีความคิดต่อต้านวัยหนุ่มสาวในผู้ใหญ่ ไม่มีโอกาสมากนัก เราไม่มีอินเตอร์เน็ต หรือความหวังที่จะสร้างโลกใหม่รามีแค่สองทางเลือก เราต้องใส่สูทและเลือกทำงานกับองค์กร หรือหนีออกจากสังคมไปเลย กลายเป็นยุคแห่งการหลงละเมอ เพ้อฝัน คนหนุ่มสาวเลิกสนใจในความเคลื่อนไหวและการเมือง เพราะรู้สึกว่าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงได้ ” – หนึ่งในความเห็นของ Quora เตือนสติว่าอย่าไปเพ้อฝันมากนัก 

ในยุคนี้เราสามารถเสิร์ชเนื้อและความหมายได้อย่างว่องไว ผ่านไปไม่กี่นาทีเราก็ move on ไปสนใจเพลงใหม่ได้รวดเร็ว ในเพลย์ลิสต์ Spotify ที่ save เพลงไว้เป็นพัน ๆ เพลง คนยุคก่อนหน้าเราคุ้นเคยกับการเสพสิ่งซํ้า ๆ ดูหนังเรื่องเดิม ฟังเทปคาสเซ็ตอัลบั้มเดิมวนไปมาจนท่องได้ขึ้นใจ เรายังจำสมัยเด็กที่ฟังเพลงเดียวซํ้า ๆ เพื่อจะพยายามถอดเนื้อออกมาให้ได้

หากใครจะหยิบความสวยงามความเป็นวัยรุ่นยุคนี้ไปใช้ ก็อยากให้จะได้เห็นจากเวอร์ชั่นออริจินอล ก่อนถูกลดทอนกลายเป็นยุค 80s แบบในจินตนาการของ พ.ศ. นี้ที่ผิดเพี้ยนไป อยากให้ทุกคนที่อินมาสนุกกับการส่องวัฒนธรรมทางภาพ เสียง ที่เราอาจจะหยิบไปสร้างสรรค์เป็นสิ่งใหม่แบบมีราก มีความเข้าใจ

คนที่เกิดก่อนจำนวนหนึ่งอาจจะดูแคลนเด็กสมัยใหม่ที่เพ้อฝัน มโนว่าตัวเองคงเหมาะกับยุคนั้นยุคนี้มากกว่า แต่การหยิบยืมสำเนียงเสียงและลักษณะของยุคก่อนหน้ามาใช้เป็นเรื่องปกติในการออกแบบและศิลปะ เราต่างสร้างจากรากที่เรารับรู้ พบเห็น แม้จะเกิดไม่ทันแต่เราสามารถย้อนกลับไปดูและซึมซับหยิบเอาส่วนที่สำคัญมากเสนอต่อโลกได้ 

“คุณอาจจะมีโอกาสได้ฟังเพลงดีๆ จากยุค 80s ที่หลุดหลงเหลือมา เป็นยุคที่ Alternative เริ่มก่อร่างและเติบโต แต่ชีวิตจริงในปี 80s คือการที่ห้างเปิดเพลงที่เอาของเก่าจากยุค 60s มาทำใหม่และ Muzak”

นี่อาจเป็นเหตุผลที่เราจะฟัง The Cure, David Bowie, Queen, Stevie Nick, Madonna และ Prince <3 วนซํ้าไปเรื่อย ๆ ตราบที่ใจเราต้องการ ฟังแทนคนในยุค 80s ที่ไม่ได้มีโอกาสได้ฟังเพลงเหล่านี้

เพราะมันก็รู้สึกดีเสมอ เมื่อเจอเพลงที่ทำให้เรารู้สึกดี พาเรามโนกลับไปถึงชีวิตที่ไม่ใช่ของเรา แต่สนุกดีที่จะคิดถึง  ไม่ว่ายุค 80s จะวนมาฮิตอีกกี่ครั้ง และเพี้ยนไปจากของจริงของอดีตขนาดไหน ก็เป็นช่วงเวลาที่น่าจดจำจับใจของมนุษยชาติ ที่อยากกลับไปคิดถึงบ่อยๆ : )

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง: ทำไมเรายังฟังเพลงวัยรุ่นซํ้า ๆ อยู่นั่นแหละ

 

References:

https://www.quora.com/What-did-it-feel-like-to-be-a-teenager-in-the-1980s
https://en.wikipedia.org/wiki/16_Candles_(song)
https://www.billboard.com/music/simple-minds/chart-history/hot-100/song/4749

Facebook Comments

Next:


Sy Chonato

Sy is a messy designer and a curious internet explorer. She falls in love with the category of ‘Scientific Romantic’. She loves information overload and enjoys existential crisis.