Quick Read ตาดูหูฟัง

Almost Famous หนังของคนรักดนตรี ที่ทำให้เข้าใจวงการดนตรี

  • Writer: Montipa Virojpan

คริสต์มาสปี 1969 เมืองซานดิเอโก แคลิฟอร์เนีย แม่ของ William Miller หลอกเขามาตลอดว่าเขาอายุ 13 แต่จริง เขาอายุแค่ 11 ขวบ (เขาเป็นเด็กหัวไว เรียนป.1 ตั้งแต่ 5 ขวบ นั่นเลยทำให้เพื่อนชั้นเดียวกันที่โตกว่าล้อและไม่ยอมรับ) ไม่กี่วันให้หลังจากที่รู้ความจริง Anita Miller ทนไม่ได้ที่แม่ห้ามให้เธอและน้องชายฟังเพลงร็อกเพราะแม่เชื่อว่าเป็นเพลงที่พูดถึงแต่เซ็กซ์และยาเสพติด พออายุ 18 เธอไม่พูดกับแม่อีกและตัดสินใจไปเป็นแอร์โฮสเตส ก่อนไปได้ทิ้งแผ่นเสียงจำนวนนึงไว้ให้วิลเลียมและบอกเขาว่าสักวันนึงนายจะกลายเป็นคนที่เจ๋ง

ปี 1973 เป็นเวลาสี่ปีที่วิลเลียมซึมซับและเขียนถ่ายทอดเรื่องราวของวงดนตรีที่เขาชอบลงนิตยสารของโรงเรียน และส่งไปให้ Lester Bangs บรรณาธิการนิตยสาร Creem อ่านจนได้รู้จักกัน เขานี่แหละคือคนแรกที่ยอมรับวิลเลียม และจ้างให้ไปสัมภาษณ์ Black Sabbath รวมถึงรีวิวคอนเสิร์ตลงเล่ม หลังจากนั้นก็ถูก Ben Fong-Torres แห่งนิตยสาร Rolling Stone ทาบทามให้เขียนถึงวงร็อกดาวรุ่ง Stillwater และตามไปทัวร์กับพวกเขา

นั่นคือเนื้อเรื่องคร่าว ของ Almost Famous ภาพยนตร์ปี 2000 ของผู้กำกับ Cameron Crowe ที่เล่าชีวิตของนักเขียนสายดนตรีวัยกระเตาะคนนึง ซึ่งเป็นเรื่องจริงในช่วงชีวิตวัยรุ่นของเขาเอง โครวนี่แหละคือนักเขียนรับเชิญที่อายุน้อยที่สุดของ Rolling Stone ผู้เคยสัมภาษณ์ Bob Dylan, David Bowie, the Eagles, Eric Clapton, Neil Young และสมาชิกบางคนของ Led Zeppelin มาแล้ว ว่ากันว่าแรงบันดาลใจใน Almost Famous Tour ’73 มาจากตอนที่ Rolling Stone ส่งเขาไปทำสกู๊ปครั้งแรก และวงที่เขาต้องไปตามทัวร์ก็คือ The Allman Brothers Band ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจของวง Stillwater ในเรื่อง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงเป็นปีเดียวกันกับที่เล่าในหนัง

นี่ไม่ใช่แค่หนังที่ตีแผ่เรื่องราวของวงการร็อกแอนด์โรลยุค 70s หรือเรื่องที่ถูกพูดซ้ำ ในหนังเกี่ยวกับอุตสาหกรรมบันเทิง ฉากหน้าของหลาย วงที่มีสปอตไลต์สาดส่องในฐานะศิลปิน แท้จริงอาจจะไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าการอยากมีชื่อเสียง เงิน และรายล้อมไปด้วยผู้หญิง หรืออีกฝั่งก็เล่าเรื่องกรุ๊ปปี้อกหักเพราะเผลอใจให้นักดนตรี เพราะสิ่งที่ทำให้ Almost Famous ไม่เหมือนเรื่องอื่นคือการเล่าจากประสบการณ์ตรงของโครว ซึ่งทำให้ถ่ายทอดได้เรียลเสียเหลือเกิน (ตัวละครในเรื่องบางตัวมีชีวิตอยู่จริง อย่างบรรณาธิการของ Creem และ Rolling Stone ที่เล่าไปตอนต้น) โดยเฉพาะการพูดถึง music journalist หรือ ‘นักข่าวสายดนตรี’ ว่าอาชีพในฝันของใครหลายคนนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย และมันมีกฎกติกาบางอย่างในวิชาชีพนี้ที่หลายคนอาจมองข้ามไป

ไม่ว่าจะสายงานไหน การเป็นหน้าใหม่และยังอายุน้อยทำให้สูญเสียความน่าเชื่อถืออย่างช่วยไม่ได้ในระดับนึง การเริ่มต้นมาเป็นนักเขียนของวิลเลียมหรือเราเองก็เป็นสิ่งที่ถูกตั้งคำถามมาโดยตลอด (วิลเลียมเขียนลง Rolling Stone ตอนอายุ 15 เราเริ่มเขียนลง Fungjaizine ตอนอายุ 21) กว่าที่คนอ่านจะยอมรับต้องผ่านการพิสูจน์ตัวมามากมาย ทั้งการต้องฟังเพลงให้เยอะ ทำรีเสิร์ช ไปขอสัมภาษณ์และถูกปฏิเสธครั้งแล้วครั้งเล่า ไปตามทัวร์ ใช้ชีวิตร่วมกับศิลปิน ซึ่งการนำมาเรียบเรียงเป็นเรื่องราวให้แฟนหนังสือที่คาดหวังบทความคุณภาพก็ยิ่งเพิ่มความกดดันเป็นทวีคูณ และระหว่างนั้นเองก็มีบททดสอบที่สื่อทุกคนน่าจะเคยเจอ

Philip Seymour Hoffman นักแสดงในตำนานผู้รับบท Lester Bangs พูดว่าถ้าจะเป็นนักเขียนดนตรี ข้อแรก เงินน้อยนะ แต่จะได้เพลงไปฟังฟรี จากค่ายเพลง แล้วเขาจะเลี้ยงเหล้านาย จะได้เจอสาว เขาจะออกค่าเดินทางให้นายไปทำข่าว บางทีก็มียาให้ดูด มันดูเจ๋งใช่ไหม แต่พวกเขาไม่ใช่เพื่อนของนาย คนพวกนี้อยากให้นายเขียนเรื่องดี เกี่ยวกับอัจฉริยภาพของร็อกสตาร์พวกนั้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้แหละที่จะทำให้ร็อกแอนด์โรลพัง และฆ่าทุกอย่างที่เราให้รักตายไป

You know, because they’re trying to buy respectability for a form that is gloriously and righteously dumb. Now, you’re smart enough to know that. And the day it ceases to be dumb is the day that it ceases to be real, right? And then it just becomes an industry of cool.

ดนตรีไม่ได้เป็น pure art แต่กลายมาเป็น commercial art เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายคนก็หาเงินจากมัน และเราก็เป็นหนึ่งในกลไกของระบบ ฟังดูมืดมนนะ แต่สิ่งที่เราพอจะทำได้คือมีความรับผิดชอบกับวิชาชีพ แบบที่แบงส์บอกวิลเลียมว่า ‘นายต้องมีชื่อจากความซื่อสัตย์ และอย่าใจดี… ฉันรู้ว่านายคิดว่าพวกเขาคือเพื่อนของนาย แล้วถ้าอยากจะจริงใจกับเพื่อนพวกนั้น ก็เขียนอย่างที่รู้สึกและอย่าได้ปรานีสุดท้ายแล้ว connection ก็หันกลับมาแว้งกัดเราในบางครั้ง มันทำให้เราลืมว่า ‘หน้าที่’ ของสื่อคืออะไร การวิจารณ์อย่างตรงไปตรงมาไม่ใช่เรื่องเลวร้ายหากเป็นการติเพื่อก่อ เพียงแต่ว่าเป็นสิ่งที่หลายคนไม่ได้ยอมรับกันง่าย เท่าคำชื่นชมสวยหรู

อันที่จริงสื่อแต่ละหัวก็มีรสนิยมที่ชัดเจน และเพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงการปะทะสื่อจึงเลือกนำเสนอสิ่งที่เขาคัดกรองมาแล้ว แต่การกระทำของวิลเลียมเป็นอะไรที่เท่มาก การที่เขาชอบ Stillwater และวงร็อกแอนด์โรลหลาย วงที่เกลียดนิตยสาร Creem ที่เขาทำงานให้ (ตอนต้นเรื่องวงดนตรีเรียกเขาว่า the Enemy เพราะพวกเขามองว่าสื่อนี่แหละสามารถสร้างและทำลายชื่อเสียงของวงได้ในเวลาเดียวกัน) วิลเลียมก็ยังดื้อด้านจะนำเสนอ ซึ่งแบงส์ก็เท่ไม่แพ้กันในฐานะบรรณาธิการที่ให้อิสระและให้คำปรึกษาวิลเลียมเต็มที่แม้จะไม่ชอบวงพวกนั้นก็ตาม

Almost Famous

ปี 2019 เรากลับมาดู Almost Famous เป็นครั้งที่ 3 ก็ยิ่งเห็นตัวเอง แม้ว่าจะไม่ได้เก่งเท่าวิลเลียม แต่จุดเริ่มต้นของการมาเป็นนักเขียนดนตรีก็มาจากการชอบฟังเพลง การเขียนรีวิวคอนเสิร์ตแล้วอ่านกันเองในกลุ่มเพื่อน โดนแม่โทรตามและไม่เข้าใจงานที่เราทำแบบวิลเลียมเป๊ะ แต่เราก็ยังไม่หยุดและทำให้แม่ยอมรับได้ในที่สุด (ด้วยการพาแม่ไปคอนเสิร์ตด้วยเลย ฮ่า)

นอกจากนี้มันยังสะท้อนคนรอบตัวที่เราเจอ น่าตกใจว่าสิ่งที่แบงส์พูดกับวิลเลียมเสมอคือเขาไม่ใช่คนคูล ‘The only true currency in this bankrupt world is what you share with someone else when you’re uncool.’ ใจความเดียวกับที่อาจารย์ที่ปรึกษาของเราพูดเสมอ ว่า การไปคอนเสิร์ตของบางคนมันไม่ใช่แค่การเสพดนตรี บางคนอยากมีตัวตน อยากสังสรรค์กับเพื่อน อยากใกล้ชิดกับศิลปิน หรือกระทั่งอยากมีความสัมพันธ์กับศิลปินก็ตาม มันไม่ใช่เรื่องใหม่แต่เป็นแบบนี้มาตั้งแต่ปี 70s หรือก่อนหน้านั้น 

เราไม่เห็นด้วยซะทีเดียว (แต่ก็ไม่ได้สนับสนุนให้ทำ) บางทีในสิ่งที่ทุกคนคิดว่ามันเป็นความฉาบฉวยนั้น สำหรับบางคน ดนตรีศักดิ์สิทธิ์ยิ่งกว่าศาสนา พร้อมยอมพลีทุกสิ่งอย่างให้โดยไม่ทันคิดว่าจะถูกเอาเปรียบทั้งเวลา ร่างกาย หรือแม้แต่ความรู้สึก เรื่องราวของคนกลุ่มนี้เองที่ถูกเล่าผ่าน Penny Lane สาวสวยที่วิลเลียมหลงรัก

เพนนี เลน หญิงสาวปริศนาที่ใช้ชื่อเดียวกับเพลงของ The Beatles เธอและผองเพื่อน ‘Band Aid’ เลือกจะใช้ชีวิตหลังเวที สร้างความสุขให้วงดนตรีที่เธอชอบ เพนนีเชื่อว่าความรู้สึกที่มอบให้ทุกคนเป็นของจริง แต่มีใครบ้างที่มอบความรักที่แท้จริงให้เธอ ในสายตาของคนทั่วไปหรือวงพวกนั้นมองเธอเป็นแค่กรุ๊ปปี้ นี่อาจเป็นเหตุผลที่เพนนีเลือกที่จะมีตัวตนสมมติ ไม่เปิดเผยชื่อจริงหรือเรื่องราวภูมิหลังในชีวิต เพราะเธอเองก็รู้ดีว่าสิ่งนี้มันไม่จริง อาจจะมีความโหดร้ายไม่ต่างไปจากโลกข้างนอกเท่าไหร่ด้วยซ้ำ แต่เธอยินดีจะอยู่เพราะความรักในเสียงดนตรีและหวังจะเห็นวงเหล่านั้นประสบความสำเร็จ (แม้มันจะเป็นชื่อเสียงจอมปลอม กับเงินทองที่เอาไปถลุงกับเหล้ายาในเวลาต่อมา ตามสไตล์ร็อกสตาร์ยุคนั้นน่ะนะ) แรงบันดาลใจของตัวละครนี้มาจาก ‘Flying Garter Girls’ กลุ่มเพื่อนสาวที่ใช้ชื่อสมมติในการช่วยผลักดันวงร็อกหลายวง หนึ่งในนั้นคือ Pennie Ann Trumbull ที่ใช้ชื่อว่า ‘Pennie Lane’ แบบในเรื่อง อ่านเรื่องราวชีวิตจริงของเธอได้ ที่นี่

ฉันบอกพวกสาว เสมอว่า อย่าจริงจังกับพวกนั้นเชียว เมื่อใดก็ตามที่เธอไม่จริงจัง เธอจะไม่เจ็บ พอเธอไม่เจ็บ เธอก็จะมีแต่ความสนุก แล้วเมื่อไหร่ก็ตามที่เธอรู้สึกเหงา ก็ไปร้านแผ่นเสียงซะ เพลงพวกนั้นจะเป็นเพื่อนของเธอเอง

ความที่เป็นหนังเกี่ยวกับดนตรี และผู้กำกับเองก็เป็นอดีตนักเขียนดนตรี จะไม่พูดถึงเพลงในเรื่องก็ไม่ได้ มาหมดตั้งแต่ The Stooges, Black Sabbath, The Beach Boys, Joni Mitchell, The Guess Who, Lynyrd Skynyrd, Led Zeppelin, Neil Young, Fleetwood Mac, Deep Purple, Elton John, Steely Dan, The Velvet Under Ground, Jimi Hendrix และ Stevie Wonder ยิ่งการได้เห็น cameo ศิลปินระดับตำนานในเรื่องก็เป็นอะไรที่ตื่นเต้นมาก ทั้งผมแดงแว้บ ของ David Bowie ยุค Ziggy Stardust (โครวเล่าว่าเขาเขียนบทให้โบวี่มาเล่นแต่ชวนมาเล่นไม่ได้ เลยให้คนมาวิ่งผ่านเป็นโบวี่ก็ยังดี) แม้แต่ Peter Frampton และ Jann Wenner ผู้ร่วมก่อตั้งนิตยสาร Rolling Stone ตัวจริงก็มาโผล่ในเรื่องนี้

สองชั่วโมงสี่สิบนาทีของ Almost Famous ทำให้เราเห็นคนรักดนตรีหลายประเภท และแต่ละคนใช้มันเป็นพลังงานหล่อเลี้ยงชีวิตหลายรูปแบบมาก แอนิต้า พบตัวเองและเป็นอิสระจากความคาดหวังของแม่ได้เพราะเพลง America ของ Simon & Garfunkel วิลเลียมรับไม้ต่อจากพี่สาวผ่านอัลบั้ม Tommy ของ The Who แต่เขาเลือกจะนำเสนอแง่งามของสิ่งที่เขารักไปสู่ทุกคนผ่านตัวหนังสือที่เขาเขียน เลสเตอร์ แบงส์ รักดนตรีที่เป็นดนตรี และหวังจะให้จิตวิญญาณของดนตรียังคงอยู่ รัสเซลและวง Stillwater อาจจะรักดนตรีเพราะมันทำให้พวกเขากลายเป็นร็อกสตาร์ หรือเพนนีที่รักดนตรีเพราะมันเป็นทุกอย่างในชีวิต แล้วคุณล่ะ เป็นคนรักดนตรีแบบไหน?

อ้างอิง
Gregg Allman, Cameron Crowe, and ‘Almost Famous’: The Story Behind the Story
The Allman Brothers Story: How Gregg Allman Keeps Band Going After Duane’s Death
10 Actors You May Not Have Known Were in the Movie
Facebook Comments

Next:


Montipa Virojpan

อิ๊ก เนิร์ดดนตรีที่เพิ่งกล้าเรียกตัวเองว่าเป็นนักเขียนตอนอายุ 25 ชอบเดินเร็ว นอกจากขนมปังกับกาแฟดำแล้วก็สามารถกินไอศกรีมกับคราฟต์เบียร์แทนมื้อเช้าได้