Fyre Festival

Quick Read ตาดูหูฟัง

Netflix พาไปเจาะลึกเบื้องหลัง Fyre Festival เทศกาลดนตรีที่หลอกลวงคนทั้งโลก

  • Writer: Peerapong Kaewthae

ลองจินตนาการว่าตัวเราเองกำลังเดินเลียบชายหาดอยู่บนเกาะส่วนตัว ผู้คนรอบตัวปาร์ตี้กันสุดเหวี่ยงตั้งแต่หัววัน แถมมีนางแบบชื่อดังมากมายกำลังนอนอาบแดดอยู่บนเรือยอท กวักมือเรียกคุณให้โดดลงไปเล่นน้ำด้วยกัน แต่คุณไปไม่ได้เพราะต้องไปดูวงที่คุณรักในเทศกาลดนตรีระดับโลกบนเกาะนี้ ฟังดูแล้วเหมือนสวรรค์บนดินเลยเนอะ

มันคือภาพที่ Fyre Festival พยายามขายให้ทุกคน

เทศกาลหรูหราน่าเหลือเชื่อนี้เกิดขึ้นมาเพื่อโปรโมตแอปพลิเคชัน Fyre สำหรับว่าจ้างเหล่าคนมีชื่อเสียงและมากความสามารถในวงการดนตรีแค่เพียงปลายนิ้ว โดยมีตัวตั้งตัวตีคือ Billy McFarland นักลงทุนที่มีชื่อเสียงมากหลังจากประสบความสำเร็จจาก Magnises บัตรเครดิตสำหรับคน gen y ที่มีสิทธิพิเศษเหนือชั้นโดนใจวัยรุ่น เมื่อเขาหันมาจับตลาดสตาร์ตอัพอีกครั้ง แน่นอนว่าต้องสร้างความสนใจไปทั่วโลก เขาเริ่มประกาศขายบัตรมิวสิกเฟสติวัลด้วยราคาที่สูงมากแลกกับการใช้ชีวิตเหมือนพระเจ้าบนเกาะแห่งนี้ ทุกคนก็พร้อมที่จะจ่าย โดยหารู้ไม่เลยว่าฝันร้ายกำลังย่างกรายเข้ามาเยือนทุกคนแล้ว

ช่วงปีสองปีก่อน อาจมีคนไทยไม่กี่คนที่ได้ยินชื่อ Fyre Festival แต่วันนี้หลายคนน่าจะได้รู้จักมันแล้ว ในฐานะเทศกาลดนตรีแหกตาลวงโลกที่สุดที่โลกนี้เคยมีมาจากสารคดีที่รับชมได้บน Netflix ในชื่อว่า ‘FYRE: The Greatest Party That Never Happened’ ซึ่งหนังตีแผ่ความเลวร้ายของเทศกาลดนตรี ผ่านฟุตเทจของงานและคนบนโซเชียลอีกหลายคนตัดสลับการสัมภาษณ์ทีมงานถึงเบื้องลึกเบื้องหลังอันวายปวง กับความไม่ชอบมาพากลของเรื่องทั้งหมด

เริ่มจากเรื่องเล่าของทีมงานหลายฝ่ายที่ต้องระดมสมองกันเพื่อให้เฟสติวัลอันนี้เกิดขึ้นให้ได้ภายในเวลาไม่กี่เดือน โดยทุกคนมีความคิดต่อ Billy เหมือนกันว่า ‘ตกลงเขาฉลาดมากหรือบ้ามากกันแน่?’ แต่ทุกสิ่งก็เหมือนจะเป็นไปได้จริง ๆ เพราะวีดีโอไวรัลที่เขาปล่อยพร้อมการตลาดออนไลน์ที่เหนือชั้น ทำให้Fyre Festival ขายบัตรเกือบทั้งหมดได้ภายในเวลาแค่ 2 วัน แต่แล้วหายนะก็มาเยือนเมื่อทุกสิ่งไม่ได้เป็นไปตามแผนที่ทีมงานวางไว้ ทั้งสถานที่ที่ต้องเปลี่ยนกะทันหันจนไม่สามารถรองรับผู้ชมทั้งหมดได้ การดีลงานส่วนต่าง ๆ ทั้งสาธารณูปโภค อาหาร ที่พัก วงที่จะมาเล่น ไปจนถึงเงินที่เริ่มร่อยหรอ ทุกคนต้องช่วยกันแก้ปัญหาสุดชีวิต ทั้งรับมือกับกระแสด้านลบในโซเชียลและการโรยหน้าผักชีให้เฟสติวัลนี้ยังดูสวยงามไปพลาง ๆ แต่ Billy ยืนยันกับทุกคนว่ายังไงก็ต้องจัดงานนี้ให้ได้ ถึงขนาดสั่งให้ทีมงานคนนึงที่สนิทกันมากต้องไปเป่าปี่ให้คนของรัฐเพื่อให้ตัวเองได้ในสิ่งที่ต้องการ!?

และแน่นอนว่าถึงวันจริงเฟสติวัลก็เละไม่เป็นท่า ทุกคนจ่ายเงินไปเป็นหมื่นเพื่อมาเจอเฟสติวัลที่ยังสร้างไม่เสร็จ วงเฮดไลเนอร์ที่ประกาศยกเลิกทันที วิลล่าสุดหรูกลายเป็นเต๊นท์ผู้อพยพ อาหารชั้นเลิศเหลือเพียงแซนวิชชีส แถมจะบินกลับก็ไม่ได้เพราะเจ็ตส่วนตัวที่เขาเคยสัญญาไว้ก็กลายเป็นเครื่องบิน low cost ซึ่งไม่พอจะขนคนหลายพันกลับบ้านได้ จนมีคนตกค้างอยู่ที่เกาะมากมายโดยที่ไม่มีอาหารและน้ำกิน กลายเป็นกระแสตีกลับให้ Billy McFarland และคนที่เกี่ยวข้องกับงานนี้ถูกฟ้องกันถ้วนหน้า อีกหลายคนต้องตกงาน สูญเสียเงินและความนับถือไป บางคนถึงกับป่วยทางจิตไปเลย

เรื่องนี้ถึงขั้น FBI ต้องลงมาสืบเอง แล้วทุกคนก็พบความจริงที่น่าตกใจว่า Billy คือนักต้มตุ๋นมือฉมัง ซึ่งเขาใช้Fyre Festival ในการหลอกเอาเงินจากนักลงทุนทั้งหลายด้วยสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง รวมถึงข้อมูลเกือบทั้งหมดที่เขาเคยพูดออกมาเกี่ยวกับงานนี้เป็นแค่คำโกหกพกลม รวมถึงเขายังฉ้อโกงมาตั้งแต่บัตรเครดิต Magnises แล้วด้วย

สิ่งแรกเมื่อดูหนังเรื่องนี้จบแล้ว มันทำให้เราตระหนักถึงพลังอันมหาศาลของ influencers บนโซเชียลมีเดียได้ทันที Billy ได้พูดไว้ในฟุตเทจเลยว่าเขาตั้งจะหลอกล่อพวก loser ชนชั้นกลางในอเมริกา เพียงนางแบบชื่อดังไม่กี่คนโพสต์รูปติดแฮชแท็กและให้ influencers ที่มีอิทธิพลบนโลกออนไลน์ช่วยกันปั่นกระแส พร้อมวีดีโอที่ออกแบบมาอย่างแยบยล ก็สามารถชักจูงคนเป็นแสนได้ในทันที สิ่งเหล่านี้มันใกล้ตัวเรามาก วิ่งผ่านหน้าไทม์ไลน์มือถือเราอยู่ตลอดเวลา แต่จะมีซักกี่คนที่รู้เท่าทันมัน บนโลกออนไลน์ที่แบรนด์จ้างให้คนพยายามสร้างภาพแห่งความสุขจอมปลอมที่คนธรรมดาพอจะไขว่คว้าแบบสุดเอื้อม ทำให้พวกเขาพร้อมจะติดกับดักนั่นทันที ซึ่งเป็นวิธีที่ Billy ใช้หลังได้ประกันตัวออกมา เขาก็ยังทำธุรกิจหลอกหลวงเหมือนเดิมด้วยการให้โอกาสที่ไม่มีจริงกับคนทั่วไปที่พร้อมจะคว้าทุกอย่างให้ชีวิตตัวเองมีความสุข ถึงเวลาหรือยังที่เราควรจะควบคุม influencers เหล่านี้อย่างจริงจังหรือให้ความรู้คนทั่วไปเพื่อไม่ให้พวกเขาถูกชักได้ง่าย ๆ อย่างในหนังก็มีบอกเหมือนกันว่านางแบบคนหนึ่งถูกฟ้องข้อหาหลอกหลวงประชาชนเพราะไม่ได้ติด #advertising ในโพสต์ของตัวเองเกี่ยวกับ Fyre Festival

 

ในหนังก็ยกตัวอย่างน่าสนใจมากว่า Woodstock ครั้งหนึ่งก็เคยชิบหายขนาดนี้

เมื่อไปหาข้อมูลก็พบว่าไม่ได้ต่างอะไรกับ Fyre Festival เลย งานรองรับคนได้แค่ห้าหมื่นคนแต่ดันขายบัตรไปแล้วแสนห้าหมื่นใบ บริหารงานไม่ดีเหมือนกัน แถมพวกเขาไม่ได้วางแผนเรื่องขนส่งสาธารณะและเรื่องปัจจัยสี่ด้วย แต่ทำไม Woodstock ถึงรอดมาได้ล่ะ? อาจจะเพราะว่าตอนนั้นไม่มีอินเทอร์เน็ตมั้ง การที่ทุกคนมีอินเทอร์เน็ตมันทำให้ลูกค้าก็มีสิทธิ์มีเสียงและสามารถโต้ตอบนายทุนได้อย่างเจ็บแสบ คนมีอินเทอร์เน็ตสมัยนี้ก็หัวฟัดหัวเหวี่ยงกันสุด ๆ เพราะเขาอยากเอาความโกรธไปลงกับใครซักคน influencers ก็อาจกลายเป็นหนึ่งในเป้าหมายของคนเหล่านี้ นางแบบบางคนที่เกี่ยวข้องแค่ช่วงถ่ายวีดีโอโปรโมต โดนตามเล่นงานบนโซเชียลมีเดียจนต้องออกมาขอโทษในสิ่งที่อาจไม่ใช่ความผิดของเธอด้วยซ้ำ

แต่ชาวเน็ตก็ไม่ได้มีแค่พวกหัวรุนแรงเสมอไป เพราะล่าสุด Maryann Rolle แม่ครัวบนเกาะบาฮามาสมาเล่าถึงความทุกข์หลังจากงานเฟสติวัลนี้ยกเลิกไป แต่เธอต้องใช้เงินเก็บหลายแสนมาจ่ายแทนความเสียหายที่ Billy ทิ้งไว้ในสารคดี ก็มีชาวเน็ตใจดีเปิดระดมทุนเพื่อเป็นเงินต่อชีวิตให้กับเธอ แถมยอดบริจาคยังเกินเบอร์ไปเยอะจนมากกว่าเงินเก็บที่เธอใช้ไปถึงสามเท่า เธอเลยก็ยิ้มแป้นแล้นถ่ายรูปเป็นการขอบคุณชาวเน็ตที่ไม่เคยเจอกันด้วย

สุดท้ายแล้ว ทุกสิ่งมันก็คือการตลาดเพื่อหลอกล่อให้เราต้องทำในสิ่งที่เขาต้องการเท่านั้นแหละ ส่วนตัวได้ดูแล้วก็รู้สึกว่างานนี้ ก็มีศักยภาพที่จะเกิดขึ้นได้จริง ๆ นะ ทั้งทีมงานหรืออะไร เสียดายที่การบริหารงานมันผิดพลาดไปหน่อย แต่คิดในอีกแง่หนึ่งก็คือ Billy อาจไม่ได้แคร์งานนี้ตั้งแต่แรกรึเปล่า ถึงกล้าที่จะฉ้อโกงได้ขนาดนี้ แต่บอกเลยว่าดูเรื่องนี้แล้วทึ่งเหมือนกันทั้งความคิดสร้างสรรค์ในทางการตลาดหรือวิธีวางแผนบริหารของงาน เป็น case study ที่น่าสนใจมาก ใครเป็นสายออร์กาไนซ์หรือเกี่ยวข้องในวงการอีเวนต์ควรดู หรือใครไม่เกี่ยวเลยก็ดูได้เพราะประเด็นแซ่บและหนังเล่าได้สนุกเหมือนกัน แล้วจะเข้าใจว่าการจัดเฟสติวัลมันยากและประสาทแดกขนาดไหน

เพราะงั้นอย่าลืมกาปฎิทินไว้วันที่ 16-17 พฤศจิกายน บอกเลยว่า Maho Rasop Festival จัดจริง ๆ ไม่หลอก และปีนี้ก็ห้ามพลาดโดยเด็ดขาด ขอขายของหน่อย อิอิ

Facebook Comments

Next:


Peerapong Kaewthae

แม็ค เป็นคนชอบฟังเพลงเพราะเป็นกิจกรรมที่ทำคนเดียวได้ และก็ชอบแนะนำวงดนตรีหรือเพลงใหม่ ๆ ให้คนอื่นรู้จักผ่านตัวอักษรตลอดเวลา