Quick Read ตาดูหูฟัง

Yoshitomo Nara ความเข้าใจในเพื่อนมนุษย์และดนตรี คือแรงบันดาลใจชั้นดีของศิลปินที่ใคร ๆ ก็รู้จัก

  • Writer: Montipa Virojpan
  • Photo: Yoshitomo Nara

ผมอยากทำลายภาพติดตาที่ทุกคนมีต่อผม เช่นผมเป็นคนญี่ปุ่น หรือผมวาดรูปผู้หญิงที่น่ารัก ก็ไม่แน่ใจว่าทุกคนมีภาพในหัวว่าผมเป็นคนแบบไหน — Yoshitomo Nara

ศิลปินหลายคนหรือใครที่สนใจงานศิลปะ คงกำลังให้ความสนใจกับเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Bangkok Art Biennale ที่จะเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทยในวันที่ 19 พฤศจิกายน ถึง 3 กุมภาพันธ์ ปีหน้า เทศกาลนี้เป็นการนำผลงานศิลปะร่วมสมัยโดยศิลปินไทยและต่างประเทศมาจัดแสดงตามสถานที่ต่าง ในกรุงเทพ กว่า 70 ชิ้น ไม่ว่าจะเป็นแกเลอรี่ ห้างสรรพสินค้า หรือสวนสาธารณะ ในคอนเซปต์สุขสะพรั่ง พลังอาร์ต

แต่ก่อนที่เทศกาลจะเริ่ม จะมีกิจกรรมต่าง เกิดขึ้นก่อนเป็นการอุ่นเครื่อง อย่างเมื่อวันที่ 6 มีนาคม ที่ผ่านมา ทางผู้จัดงานได้เปิดโอกาสให้บุคคลที่สนใจร่วมงานเสวนา BAB Talk #5 ซึ่งแขกรับเชิญในครั้งนี้คือ Yoshitomo Nara ศิลปินชาวญี่ปุ่นเจ้าของรูปวาดเด็กผู้หญิงตาโตหน้าหงิก และรูปน้องหมาหน้าง่วงโด่งดัง จะมาบรรยายถึงที่มาที่ไปของผลงานและกระบวนการทำงานของเขา ซึ่งแน่นอนว่าหลังจากการเสวนาครั้งนี้แล้วเราจะได้ชมผลงานของนาราในเทศกาลนี้เช่นกัน

by Satoko Kawasaki
by Satoko Kawasaki

โยชิโตโมะ นารา เกิดที่เมืองฮิโรซากิ จังหวัดอาโอโมริ ประเทศญี่ปุ่น เขาเป็นลูกชายคนสุดท้องในบรรดาพี่น้องสามคน จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยศิลปะในเมืองไอจิ และไปศึกษาต่อปริญญาโทที่ประเทศเยอรมนี งานที่ทำให้เขามีชื่อเสียงไม่ใช่ผลงานที่เขาทำในช่วงที่เรียนมหาลัยเป็นหลัก แต่กลับเป็นภาพที่เขาวาดเล่น ที่บ้าน ที่วันนึงได้ตัดสินใจหยิบคาแร็กเตอร์นั้นมาทำเป็นงานตอนเรียนด้วย แม้ใครจะมองว่าภาพของเขาเหมือนงานของเด็ก แต่ถ้าเข้าใจถึงกระบวนการทำงานและวิธีคิด รวมถึงเห็นตัวงานแบบใกล้ ก็จะพบว่าเต็มไปด้วยรายละเอียดอันซับซ้อน แต่เลือกสื่อสารออกมาอย่างเรียบง่ายจนเข้าถึงคนได้ทุกเพศทุกวัยเสียมากกว่า

ตลอดการบรรยายสองชั่วโมงของ โยชิโตโมะ นารา เขาเลือกที่จะเล่าเรื่องของตัวเองมากกว่าการบอกถึงที่มาที่ไปของผลงานแต่ละชิ้นโดยตรง คล้ายกับว่าเขาอยากให้เรารู้จักตัวตนของเขาและอาศัยการตีความว่า เขาได้รับอิทธิพล ได้แรงบันดาลใจ หรือมีประสบการณ์ในชีวิตช่วงไหน มีชีวิตช่วงวัยเด็กอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบใด จึงส่งผลให้ผลงานของเขาออกมาเป็นลักษณะนี้ เช่นกันกับการทำงานของเขาที่ไม่ได้มุ่งไปยังเป้าประสงค์ที่คิดในหัวหรือผลลัพธ์ปลายทาง แต่จะเริ่มจากการทดลอง สังเกต และตั้งข้อสงสัยในงานของตัวเองเสมอ

นาราเปิดสไลด์ภาพถ่ายระหว่างการท่องเที่ยวในช่วงปี 1980s จนถึงยุคต้น มิลเลนเนียม แล้วเปลี่ยนเป็นภาพบ้านเกิดตอนที่เขายังเด็ก ตัวเขาเอง ครอบครัวของเขา และเพื่อนในวัยเยาว์ มีภาพภาพหนึ่งที่เป็นผ้าลายตัวการ์ตูนสุนัข มีตัวที่ใส่หมวกและไม่ใส่หมวก เขาบอกว่านั่นคือผ้าอ้อมของเขาที่คุณแม่ยังเก็บไว้ให้ ผมเพิ่งรู้เรื่องนี้เมื่อหกปีก่อน ตอนที่แม่เอาให้ดู ในใจของผมกำลังร้องไห้อยู่ ซึ่งผมดีใจมาก ๆ แล้วอยู่ดี ผมก็นึกถึงเรื่องที่คุณแม่เคยเล่าให้ฟังตอนเด็ก ซักขวบสองขวบขึ้นมาได้ทั้ง ที่ลืมไปแล้ว แม่เคยเล่าว่า หมาที่ทำตัวดีจะมีหมวกใส่ ถ้าทำตัวไม่ดีจะไม่มีหมวก ซึ่งต่อมาผมทำงานศิลปะที่เป็นรูปหมาซะเยอะ มันดูจะคล้าย กับลายผ้าอ้อมอันนี้ด้วย ก็รู้สึกว่าความทรงจำเป็นอะไรที่น่าสนใจแล้วก็น่ากลัวในขณะเดียวกันจากนั้นเขาก็โชว์ภาพของเขาตอนเด็กให้ดูอีกหลายภาพแถมยังเล่าติดตลกอีกว่ารูปนี้ พอดีผมเป็นเด็กดีก็เลยมีหมวกใส่

Nara's Dog

ก่อนที่เขาจะเล่าต่อ เขาก็พูดขึ้นหลังจากเห็นสีหน้าอิดโรยระคนสงสัยของผู้ฟังบางคนว่าตอนนี้ทุกคนกำลังคิดว่าผมพูดเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับงานของผมเลยใช่ไหม แต่ว่าเรื่องราวเหตุการณ์ต่าง นี้แหละที่จะเป็นกุญแจไขเข้าไปสู่งานของผมได้ซึ่งเราก็ได้คำตอบมาพอสมควรจากเรื่องเล่าชีวิตส่วนตัวที่เขายอมเปิดกับพวกเรา

เขาเปิดภาพของตัวเองตอนอยู่ชั้น .ปลาย เป็นภาพถ่ายอยู่กับเพื่อนและรุ่นพี่ที่ชวนกันแปลงโฉมโรงรถให้กลายเป็นร้านกาแฟแบบร็อก โดยเขารับหน้าที่เลือกแผ่นเสียงเข้ามาและเป็นดีเจเปิดเพลงในร้าน เขาเล่าว่าช่วงนั้นยังไม่ได้โฟกัสว่าอนาคตจะทำอาชีพอะไร ไม่แม้แต่จะคิดเรื่องศิลปะด้วยซ้ำ แล้วตอนนั้นยังไม่ชอบเรียนอีก จะให้เรียนอักษรศาสตร์ในมหาลัยรัฐก็คงเป็นเรื่องยาก

จนเมื่อโรงเรียนของเขามีเทศกาลที่แต่ละห้องจะต้องทำเนบุตะ หรือ ตุ๊กตาขนาดใหญ่ที่ทำมาจากกระดาษ ซึ่งจะนำไฟใส่เข้าไปให้กลายเป็นโคมและนำไปประดับในขบวนพาเหรด แต่ห้องของเขาก็ยังไม่มีตัวแทนที่จะวาด อยู่ดี ก็มีเพื่อนร่วมชั้นคนหนึ่งพูดขึ้นมาว่า ตอนประถมนาราเป็นคนวาดรูปเก่งมาก เขาก็ไม่ได้ปฏิเสธอะไรจึงลองดู โดยเพื่อน เอารูปตัวอย่างขนาดเท่าโปสการ์ดมาให้เขา แต่สิ่งที่เขาจะต้องวาดมีขนาดประมาณ 2 เมตร สุดท้ายมันก็ออกมาดูดีทีเดียว ตอนนั้นเองเขาเลยคิดว่า หรือจะเลือกเรียนไปทางวาดรูป เพราะไม่ต้องตั้งใจเรียนขนาดนั้นก็อาจจะเข้ามหาลัยได้หลังจากนั้นอีกสามสิบปีก็มีงานเทศกาลที่บ้านเกิดของผม ซึ่งเขาก็ขอทำเนบุตะออกมาในสไตล์นาราอย่างที่หลายคนเคยเห็นน่ะครับ

Nara's Nebuta

Nebuta

เมื่อนาราสามารถกำหนดเส้นทางในชีวิตของเขาได้แล้ว เขาก็เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยศิลปะภาคเอกชนแห่งหนึ่ง งานชิ้นแรก ที่เขาวาดจะเป็นภาพบรรยากาศเก่า ที่บ้านเกิด ลักษณะของงานไม่เหมือนกับงานเด็กผู้หญิงที่เราคุ้นเคยแม้แต่น้อย แต่สิ่งที่เหมือนกันของงานทั้งสองยุคคือความเรียบง่ายในฝีแปรงของเขานั่นเอง

หลังจบมหาลัยวิทยาปีที่หนึ่ง เขาเอาเงินที่จะใช้จ่ายค่าเทอมของปีสองไปเที่ยวที่ปากีสถานโดยไม่บอกพ่อแม่ ทำให้เขาต้องออกจากมหาวิทยาลัย แต่หลังจากท่องเที่ยวอย่างหนำใจเขาก็รู้สึกว่าควรเรียนต่อ จึงลองสมัครสอบมหาวิทยาลัยของรัฐ และผลคือสอบติดผมโทรไปบอกพ่อแม่ว่าเรียนเอกชนค่าเทอมมันแพง ขอย้ายไปเรียนรัฐบาลละกัน หลังจากปีหน้าก็ไม่ต้องส่งเงินมาแล้วนะครับ คือบ้านผมไม่ได้จน แต่ตอนนั้นทุกคนได้เงินจากพ่อแม่แล้วมาเรียน ผมเลยมีความรู้สึกว่าอยากทำอะไรที่แตกต่างจากคนอื่น อยากทำงานหาเงินเลี้ยงดูตัวเอง ผมเลยทำงานพิเศษที่บริษัทจัดสวน แล้วก็ทำที่ร้านขายแผ่นเสียง งานพวกนี้เป็นงานที่ผมยอมจ่ายเงินเพื่อให้ได้เข้าไปทำงานด้วยซ้ำ คิดว่าประสบการณ์ตอนนั้นเป็นสิ่งที่ซัพพอร์ตการทำงานศิลปะของผมตอนนี้ ระหว่างนั้นก็ไปดูคอนเสิร์ต ดูนิทรรศการต่าง ไปด้วย ก็ไม่ค่อยตั้งใจเรียนเท่าไหร่หรอกครับ จนผมได้งานพิเศษอีกที่เป็นพี่ติวที่โรงเรียนสอนศิลปะ ตอนนั้นเป็นครั้งแรกที่มีคนเรียกผมว่าครู ทำให้ผมรู้สึกว่าต้องตั้งใจเรียนศิลปะแล้วล่ะ

ตอนนั้นเพิ่งเรียนจบก็อยากจะเรียนต่อ แต่ก็ไม่อยากได้เงินจากพ่อแม่แล้ว ก็เห็นว่าที่เยอรมันไม่เสียค่าเทอม และเป็นประเทศที่เหมาะกับการเรียนการสอนศิลปะ เงินเก็บช่วงนั้นก็พอซื้อตั๋วเครื่องบิน พอค่าอยู่ค่ากินพอดี เลยลองสอบดู และก็เป็นโชคดีที่สอบติด ไปเรียนปริญญาโทได้ ปกติคนที่เพิ่งเรียนจบจะรวมพอร์ตตัวเองแล้วเอาไปยื่นให้แกเลอรีต่าง ดู แต่ผมไม่เคยทำแบบนั้นสักครั้งเลย ที่เยอรมันจะมีการจัดนิทรรศการในมหาลัยปีละครั้ง แล้วจะเชิญแกเลอรีชั้นนำเข้ามาดูงานเพื่อที่จะหาศิลปินหน้าใหม่ไปแสดงงาน ซึ่งตอนนั้นก็มีแกเลอรีมาชวนผมไป หลังจากนั้นคนก็เริ่มเรียกผมเป็นศิลปิน แต่ผมก็มานั่งคิดว่าศิลปินคืออะไร

จุดประสงค์ของผมไม่ได้อยากเอางานตัวเองไปแสดง แต่คือการได้มีสตูดิโอ มีสภาพแวดล้อมที่ทำให้ทำงานศิลปะต่อไปได้ แล้วเอางานที่ได้ให้เพื่อนหรือคนสนิทมาดูกันเองมากกว่า เวลาผมเล่นกับเด็กเล็ก เขาจะวาดรูปทับลงงานของผม แล้วคนที่ไม่รู้หรือไม่เข้าใจงานศิลปะก็จะบอกว่างานผมเหมือนเด็กวาด แต่บางคนพอผมวาดอะไรเล็ก ให้เขาจะเก็บไว้อย่างดี บางคนเวลาพูดถึงผมก็จะบอกว่าเป็นคนที่ดังมาก ขณะที่บางคนจะบอกว่าผมวาดรูปได้ดีมาก แต่ละคนจะมีมุมมองที่ต่างกันไป ซึ่งตรงนี้เองที่เป็นตัวกำหนดตัวตนของผม ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าศิลปินมันเป็นอาชีพแบบไหน เพราะคนที่เป็นเกษตรกรก็มีความเป็นศิลปิน คนที่เล่นดนตรีบางคนก็ไม่ได้มีความเป็นศิลปิน คนทำงาน commercial มาก บางคนก็ยังมีพาร์ตที่เป็นศิลปินเหมือนกัน ขณะที่บางคนที่ทำงานเหมือนเป็นงานศิลปะ แต่จริง มันคืองานที่เป็น commercial มาก เพราะงั้นคำว่าศิลปินไม่ได้เป็นคำพูดที่รู้สึกดีเท่าไหร่สำหรับผม เด็กตัวเล็ก ยังไม่เรียกผมว่าเป็นศิลปินเลย

นอกจากความสมถะและเรียบง่ายในการใช้ชีวิต มีอยู่หลายครั้งที่ความเห็นอกเห็นใจในเพื่อนมนุษย์ และการตระหนักถึงความเลวร้ายของสงคราม ภัยพิบัติต่าง ถูกส่งผ่านออกมายังผลงานหลาย ชิ้นของ โยชิโตโมะ นารา อย่างงานเด็กผู้หญิงที่ยืนหลับตาในน้ำ เขียนขึ้นเพื่อไว้อาลัยแก่ผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์สีนามิที่ญี่ปุ่นเมื่อปี 2011 หรือภาพที่วาดให้เมืองฮิโรชิมะที่ชื่อ ‘Missing in Action – Girl Meets Boy’ (2005)

สงครามเป็นสิ่งที่ไม่ดี แต่มันก็เป็นชนวนที่จุดให้คนรู้สึกถึงความเป็นมนุษย์มากขึ้นเมื่อได้เจอกับเรื่องที่กระทบจิตใจอย่างรุนแรง

เมื่อภัณฑารักษ์ต้องการภาพที่สื่อถึงเมืองฮิโรชิมะ เขาจึงใช้เด็กผู้หญิงตาสองสีคนนี้เป็นตัวแทนสิ่งที่เมื่อคนพูดถึงเมืองนี้จะนึกถึง นั่นคือการที่ ‘Little Boy’ หรือชื่อของระเบิดปรมาณูที่ถูกทิ้งลงยังเมืองฮิโรชิมะโดยกองทัพสหรัฐ คร่าชีวิตผู้คนนับหมื่นและอีกหลายคนที่รอดชีวิตก็ได้รับผลกระทบจากกัมมันตภาพรังสีมาจนถึงปัจจุบัน นาราได้ให้เหตุผลที่เด็กหญิงในภาพนี้มีตาสองสี ข้างสีเขียวมรกตเป็นประกายคือดวงตาไร้เดียงสาของเธอเอง แต่ตาข้างขวาที่เป็นสีทองอำพันงดงาม กลับเป็นช่วงเวลาที่โหดร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์มวลมนุษยชาติ นั่นคือวินาทีแรกที่ระเบิดตกลงกระทบกับพื้น นาราได้คุยกับผู้ที่รอดชีวิตจากเหตุการณ์นั้นโดยพวกเขาเล่าว่าตอนที่ระเบิด แสงของมันสว่างวาบจนมองไม่เห็นอะไรเลย… 

Girl Meets Boy

งานแอนิเมชันประกอบสารคดี ‘The Playground Project’ ของ Libby Spears เกี่ยวกับเด็กที่ตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ มีนักข่าวชาวอเมริกันเข้าไปทำข่าวและทำสารคดีเกี่ยวกับเรื่องนี้ เด็กมากมายในอเมริกาโดนลักพาตัวและถูกบังคับให้ประกอบอาชีพผิดกฎหมาย เขาต้องการให้นาราทำแอนิเมชันออกมาเพื่อให้คนดูรู้สึกผ่อนคลายจากเนื้อหาที่เคร่งเครียด งานนี้มีเพลงของศิลปินระดับโลกทั้ง Björk, Sigur Rós และ Radiohead เป็นเพลงประกอบ ทีมงานทุกคนรับงานฟรี  หรือไม่คิดค่าลิขสิทธิ์ โดยหวังว่าความสามารถของพวกเขาจะสามารถสร้างแรงกระเพื่อมบางอย่างให้กับโลกใบนี้ได้

อีกสิ่งที่มีผลกระทบมาก กับงานศิลปะของนาระคือหนังสือและดนตรี นาราเล่าว่าเวลาที่เขาจะวาดภาพภาพหนึ่ง เขาจะนำ reference หรือแรงบันดาลใจในการสร้างงานของเขามาวางเรียงกันและลองวาดออกมา ซึ่งสิ่งเหล่านั้นไม่ได้เกี่ยวกับศิลปะโดยตรง แต่มันจะเป็นสิ่งที่มีคุณค่าทางจิตวิญญาณและความรู้สึกของเขา เขาเปิดภาพคอลเล็กชันของสะสมส่วนตัวซึ่งมีทั้งหนังสือเกี่ยวกับเหตุการณ์ความรุนแรงในประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นข้อความของเด็ก จากปาเลสไตน์ เด็กที่ได้รับผลกระทบจากสงครามเขมรแดง หนังสือภาพคนญี่ปุ่นที่เป็นเชลยศึกในค่ายกักกันของอเมริกาหลังแพ้สงครามโลก นังสือที่เขียนเกี่ยวกับทิเบตที่โดนแบนไม่ให้จำหน่ายในจีน ไปจนถึงซีดีที่รวบรวมเพลงของชาวไอนุซึ่งเป็นคนกลุ่มน้อยที่อยู่ที่ญี่ปุ่น ซีดีเพลงช่วงยุค 60s 70s 90s ไวนิลเทศกาลดนตรี Woodstock ที่สำคัญเขายังเป็นแฟนตัวยงของ Bob Dylan อีกด้วยผมมีกีตาร์ตัวหนึ่งเป็นของเพื่อนที่ล่วงลับไปแล้ว ผมเอามันมาตั้งข้าง ผ้าใบและวาดจนออกมาเป็นงานชิ้นนี้

ก่อนจบงาน เขาได้เปิดโอกาสให้ผู้ร่วมฟังเสวนาได้ถามคำถาม ซึ่งระหว่างการบรรยายนั้นเขาไม่ได้เล่าสิ่งที่หลายคนอยากรู้มากที่สุดนั่นคือ อะไรถึงทำให้เขาสร้างคาแร็กเตอร์เด็กหญิงหน้าหงิกขึ้นมาจนทำให้เขาเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง นาราไม่ได้ตอบคำถามนั้น แต่กลับให้เหตุผลที่น่าสนใจกว่าคำตอบที่เราต้องการ ซึ่งเราได้คัดบางส่วนในคำตอบของเขามาเรียบเรียงให้อ่านกันด้านล่างนี้แล้ว

ตอนเรียนมหาลัยที่ญี่ปุ่นค่อนข้างเรียนอะไรที่เป็นวิชาการ เวลาอยู่บ้านผมเลยมักจะวาดรูปเล่นไปเรื่อย ซึ่งลักษณะของรูปที่วาดเล่นค่อนข้างคล้ายกับงานสมัยนี้ ในทางกลับกันคือมันต่างกับงานตอนเรียนโดยสิ้นเชิง สิ่งที่สำคัญสำหรับผมไม่ใช่สิ่งที่ออกมาเป็นวิชวลหรืองานที่สำเร็จแล้ว สิ่งสำคัญคือ process ในการคิดงาน เหมือนหนังสือหรือเพลงต่าง ที่ฟังแล้วจะมีไอเดียผ่านเข้ามา ผมเองก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าเริ่มเอางานวาดนอกเวลาไปรวมกับงานมหาลัยตอนไหน

งานศิลปะเป็นเพียง 10% ของผมเท่านั้น ที่เหลือคือผมชอบท่องเที่ยว แล้วก็ปลูกต้นไม้ สิ่งเหล่านี้จะคอยเกื้อกูล 10% ที่ทำงานศิลปะของผม ตอนแรกผมมีแกเลอรีที่เยอรมัน ญี่ปุ่น อังกฤษ แต่ตอนนี้ผมออกจากแกเลอรี่พวกนั้นหมดเลย ผมไม่ค่อยอยากจะยุ่งกับวงการศิลปะแล้ว อยากจะไปใช้ชีวิต ไปท่องเที่ยวมากกว่า คุณตาของผมเคยทำงานที่ Sakhalin เป็นเกาะที่อยู่ระหว่างรัสเซียกับญี่ปุ่น ตอนที่ไปท่องเที่ยวที่นั่นครั้งแรกทำให้ผมรู้เลยว่า การที่ผมยังทำงานและขายงานศิลปะก็เพื่อที่จะพาตัวเองมาอยู่ในทัศนียภาพแบบนี้ แต่เวลาไปเที่ยวก็ไม่ค่อยได้ไปแลนด์มาร์กนะ จะไปที่ที่มีความเกี่ยวข้องกับตัวเอง ไปนิวยอร์กหลายครั้งมากแต่เคยไป Central Park แค่ครั้งเดียว กรุงเทพ ก็เคยมาหลายรอบแล้ว แต่สถานที่ท่องเที่ยวแทบจะไม่ไปเลย

ผมเคยไปวัดโพธิ์ครั้งเดียว ซึ่งล่ามคนนี้แหละที่เป็นคนพาไป ตอนนั้นเธอเรียนอยู่ม.ปลาย เธอเป็นลูกสาวของนักเรียนไทยที่ผมเจอตอนอยู่ญี่ปุ่น ซึ่งตอนนี้เขาเป็นอาจารย์อยู่ที่ศิลปากร ตอนแรกล่ามจะเป็นอีกคน ผมคิดว่าคนนั้นจบอักษรญี่ปุ่นมา คงเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในการเป็นล่ามที่ดี ล่ามแบบนี้เหมาะจะเป็นล่ามพวกงานเสวนาทางเศรษฐกิจหรืองานวิชาการที่ต้องแปลแบบจริงจังมากกว่า แต่คงไม่เหมาะสำหรับผม เพราะเขาอาจจะไม่ได้เข้าใจผม การไปท่องเที่ยวที่ผมชอบที่สุดคือการได้ไปบ้านของเพื่อน จิบเบียร์กันแค่นั้นพอ

เมื่อวานก็มีคุยธุรกิจกันนิดนึง ก็มีผู้ชายในทีมที่พูดภาษาญี่ปุ่นได้ผมก็บอกเขาว่าพูดญี่ปุ่นเก่งนะ เขาก็บอกว่าไปเรียนที่เกียวโตมา ผมก็ถามว่าสนใจเรื่องประวัติศาสตร์หรอ เขาบอกเปล่า เขาเรียนเศรษฐศาสตร์ ผมเลยถามต่อว่าที่เกียวโตมีวัดน่าสนใจเยอะก็ไม่ได้ไปใช่ไหม เขาบอกไม่ได้ไป ผมไม่คิดว่าการที่เขาไม่ไปวัดเป็นสิ่งที่แย่ แต่การที่เราสนใจในสิ่งที่เราอยากทำ การที่เรามีเป้าหมายชัดเจนต่างหากที่เป็นเรื่องดี อยู่ที่ว่าเราจะเปิดตัวเองให้กว้าง รับสิ่งอื่นที่มากกว่าสิ่งที่ตัวเองสนใจได้มากแค่ไหน ตรงนั้นจะเป็นการสร้างและหล่อหลอมความเป็นตัวเองขึ้นมาได้ ผมยังไม่ได้คิดว่าจะต้องเป็นศิลปินแบบไหน แต่ผมมักจะคิดว่าจะทำให้ตัวเองแตกต่างคนอื่นได้ยังไงโดยยังใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่นได้อยู่

ผมคิดอยู่ตลอดว่าถ้าผมพูดเรื่องอื่นที่ไม่ใช่ศิลปะ มันจะทำให้ผมเติบโตได้มากกว่า และมันไม่สำคัญว่าผมเริ่มวาดแบบนี้ตอนไหนหรืออะไรทำให้วาดแบบนั้น สำคัญที่ว่าตอนนี้ผมยังวาดอยู่ และถ้ามีวันไหนที่ผมเลิกวาดรูปขึ้นมา ผมคงคิดถึงเหตุการณ์ที่ทำให้ผมเลิกวาดไปตลอดชีวิต

Margaret

จากที่เราชื่นชอบผลงานของโยชิโตโมะ นารา เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว การที่เราได้รู้จักตัวตนของเขาและเข้าใจความคิดของของมากขึ้น (อาจจะไม่ใช่ทั้งหมด เพราะเป็นคนที่รักความเป็นส่วนตัวมาก ขนาดทีมงานขอให้ถ่ายรูปรวมกับผู้เข้าฟังเสวนายังไม่มีโอกาส เจ้าตัวรีบพุ่งกลับเข้าไปหลังเวทีทันทีที่จบ session ดังนั้นการที่เขามาเปลือยตัวตนขนาดนี้ถือว่าเป็นโอกาสที่หาได้ยากจริง ) ยิ่งทำให้เราประทับใจเขามาก หวังว่าแฟน ของนารา หรือคนที่ยังไม่เคยเห็นผลงานหรือรู้จักศิลปินคนนี้จะชื่นชอบเขามากยิ่งขึ้น รวมถึงนำแนวคิดของเขาไปปรับใช้กับตัวเองได้บ้าง

เข้าไปดูผลงานของ Yoshitomo Nara ได้ ที่นี่ และติดตามรายละเอียดของงาน Bangkok Art Biennale 2018 ได้ ที่นี่

Facebook Comments

Next:


Montipa Virojpan

อิ๊ก เนิร์ดดนตรีที่เพิ่งกล้าเรียกตัวเองว่าเป็นนักเขียนตอนอายุ 25 ชอบเดินเร็ว นอกจากขนมปังกับกาแฟดำแล้วก็สามารถกินไอศกรีมกับคราฟต์เบียร์แทนมื้อเช้าได้