บันทึกเรื่องราวแห่งยุคสมัยลงในคอร์ด กับบทเพลงของ วงสามัญชน

  • Writer: Piyakul Phusri
  • Photographer: Chavit Mayot

ถ้าจะถามว่า ‘เพลงเพื่อชีวิต’ คืออะไร คำตอบอาจจะเป็นไปได้หลากหลายขึ้นอยู่กับว่าจะเอาคำถามนี้ไปถามใคร บางคนอาจจะตอบเป็นชื่อวงเพื่อชีวิตระดับค้างฟ้าที่มีอยู่ไม่กี่วงในประเทศนี้ บางคนอาจจะตอบว่าเป็นเพลงอะไรก็ได้ที่ต้องโจ๊ะ ๆ มีกลิ่นอายลูกทุ่งซักหน่อย ในขณะที่บางคนอาจจะตอบว่า ต้องเป็นเพลงที่มีเนื้อหาพูดถึงการต่อสู้ของคนในสังคม โดยเฉพาะคนยากคนจน คนหาเช้ากินค่ำ ที่ต้องปากกัดตีนถีบ ฯลฯ คงไม่มีคำตอบไหนถูกต้องที่สุด แต่เราเชื่อว่าไม่ว่าจะเป็นเพื่อชีวิตแนวโฟล์กร็อก ลูกทุ่ง หรืออะไรก็ตาม แต่เนื้อหาของเพลงเพื่อชีวิตน่าจะเป็นสิ่งที่สามารถบันทึกสภาพสังคมในช่วงเวลาหนึ่ง ๆ ได้อย่างค่อนข้างชัดเจน โดดเด่น รวมไปถึงบันทึกความรู้สึกของนักแต่งเพลง หรือนักดนตรีที่มีต่อสถานการณ์บ้านเมืองในช่วงเวลานั้น ๆ ไว้อย่างลึกซึ้ง ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมืองที่ค่อนข้างรุนแรงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา วงสามัญชน คือวงดนตรีที่เป็นการรวมตัวกันของนักกิจกรรมจากต่างภูมิลำเนา และมีการเติบโตทางความคิดจากการทำกิจกรรมทางสังคมการเมืองร่วมกัน ชวนให้เรานึกไปถึงจุดกำเนิดของวงดนตรีเพื่อชีวิตยุคก่อน ๆ ที่บ่มเพาะความคิดของตนเองจากการทำกิจกรรมร่วมกับขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมือง การยึดมั่นในแนวคิดและต่อสู้อุดมการณ์บางอย่าง ก่อนจะตกผลึกออกมาเป็นบทเพลงเพื่อบอกเล่าถึงสภาพสังคม ความคาดหวังที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงของสังคม และความปรารถนาที่จะเห็นพลังทางสังคมจากภาคประชาชน น่าสนใจว่าเพลงของ วงสามัญชน ไม่ได้พูดถึงการต่อสู้โดยใช้ความรุนแรง หรือการหาญหักกันด้วยกำลังระหว่างมวลชนกับฝ่ายผู้มีอำนาจตามอย่างขนบเพลงเพื่อชีวิตไทยยุคบุกเบิก แต่เพลงของสามัญชนพูดถึงความหวัง กำลังใจ ความคิดคำนึงถึงมิตรสหายนักกิจกรรม โดยใช้ทั้งภาษาและคอร์ดที่เรียบง่ายไม่ซับซ้อน แต่เราสัมผัสได้ถึงความจริงใจและกระแสแห่งความคิดที่เคลื่อนไหวอยู่ระหว่างตัวโน้ต นี่คือบทสนทนาระหว่าง Fungjaizine กับ วงสามัญชน ในบ่ายวันศุกร์ที่กรุงเทพ ฯ มีฝนตกหนักจนประชาชนคนกรุงนับแสนถูกขังไว้บนถนนที่รถทุกชนิดจอดติดเครื่องอย่างนิ่งสงบเท่าเทียมกัน สมาชิก แก้วใส—ณัฐพงษ์ ภูแก้ว (กีตาร์, … Continued