Hot and Trending

วรรณคดีสีชมพู มิติใหม่ของลูกทุ่งป๊อป จาก เปาวลี และ MAIYARAP

ศักราชใหม่ทั้งที วงการดนตรีเราก็ต้องมีอะไรใหม่ ๆ บ้าง และก็น่าตื่นเต้นมาก ๆ เมื่อ เปาวลี นักร้องสาวสุพรรณผู้โด่งดังจากบทบาท พุ่มพวง ดวงจันทร์ ยังคงเดินหน้าต่อในสายดนตรีลูกทุ่งจนประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง แต่ความน่าสนใจคือซิงเกิ้ลต้อนรับปี 2020 ของเธอที่ชื่อ วรรณคดีสีชมพู ไม่ได้แค่ชวน MAIYARAP มาแร็ปเพื่อให้เข้ากับเทรนด์ของยุคสมัย hiphop fever เพียงอย่างเดียว แต่รายละเอียดทางการเรียบเรียงดนตรีเพลงนี้คือโหดมาก จัดว่าเข้าขั้น hybrid แบบที่เราไม่จั๊กจี๋หูเลยแม้แต่น้อย

วรรณคดีสีชมพู คือเพลงน่ารัก ๆ ที่ถ่ายทอดความอินเลิฟได้อย่างเข้มข้น นำไปเปรียบเทียบกับบทเกี้ยวพาราสีในวรรณคดีไทย ที่เวลาพระ-นางจีบกันทีคนอ่านก็เขินม้วน โดยในพาร์ตของ MAIYARAP ก็เลือกเอาการเปรียบเปรย (metaphor) ความรักของคู่ในเพลงเข้ากับคู่พระนางในวรรณคดีที่ดูจะเป็นคู่แท้ไปแทบซะทุกเรื่อง ส่วนหนึ่งที่เราว่าไม่ขัดเลยกับการเลือกแร็ปเปอร์คนนี้มาร่วมงาน เพราะแชมป์มีพื้นฐานของการร้องเอื้อน ดีกรีทายาทศิลปินลิเก เลยมีทักษะในการทอดเสียง การควบกล้ำที่ชัด กับชื่อ AKA ของเขาเองก็เป็นตัวละครในรามเกียรติ์ก็ยิ่งเข้ากับไรห์มที่เขียนมาเข้าไปใหญ่

ส่วนท่อนร้องก็มีความพ่อแง่แม่งอนเบา ๆ แอบขู่แอบหวงตามประสา ซึ่งวิธีที่ใช้ก็เป็นเหมือนเพลงลูกทุ่งสมัยก่อนที่เราฟังแล้วก็จะรู้สึกใสซื่อ รักจริง ซึ่งผู้ประพันธ์เพลงได้เลือกใช้คำได้สละสลวยแบบคำในวรรณคดีแหละ แต่หลายคนอาจจะรู้สึกมีอารมณ์ร่วมได้ด้วยการแทรกสแลงสื่อออนไลน์ หรือพฤติกรรมที่จะพบในความสัมพันธ์ของโลกสมัยใหม่

ไม่ใช่แค่เนื้อเพลง เพราะรายละเอียดทางดนตรีเรียกว่าไม่ธรรมดา ตั้งแต่ท่อน adlib ของเปาวลีในช่วง intro ก็เป็นการใช้เสียงร้องแบบ r&b สากล แต่ทำนองการร้องคือการเอื้อนแบบไทยเดิม พวกเออ เอ้อ เอิง เอ่ยอะไรพวกนั้น vocal guide คือเอามาปรับใช้ได้เก่งมาก แล้วดนตรีก็ใช้ซินธิไซเซอร์ทำออกมาเป็นดนตรีร่วมสมัย แต่แอบใส่กลองตะโพนมาเป็นเบสดรัม เสียงระนาดแทนพวกเสียงเพอร์คัชชันที่เป็นบีตเร็ว ๆ เสียงขลุ่ยแทนอีกไลน์เมโลดิกซินธ์ ผสานด้วยซอเอ้อหู (ซอจีน) และไม่ลืมจะใส่ท่อนดรอปเข้ามาแบบเพลง EDM เป็น chill trap, future bass ที่ไม่ได้หนักเกินไป เมโลดี้ร้องในเวิร์สและฮุกคือป๊อปที่เคี้ยวง่าย ฟังวนได้ ลูกเล่นยิบย่อยอะไรเอาอยู่หมด อย่างท่อนที่แร็ปถึงแก้วหน้าม้าก็มีเสียงร้องฮี้คือเพลงนี้ไปถึงได้ในหลาย ๆ ทาร์เก็ตตั้งแต่ป๊อป แร็ป ลูกทุ่ง หรือ music nerd ได้สบาย ๆ

มิวสิกวิดิโอเขาก็ทำให้เข้ากับยุคสมัย แบบที่คนชอบอะไรมืด ๆ black light ขับกับไฟนีออนสีจัด ๆ ชุดของเปาวลีก็เป็นชุดโขนของตัวนางที่ประยุคมาให้ดู futuristic นิด ๆ แม้แต่ชุดหางเครื่องก็เป็น paperwork ที่น่ารัก แถมเล่นกับเมคอัพ fluorescent ทำให้ดูดุ เข้ากับเนื้อหาเพลงที่เธอจะแปลงร่างเป็นยักษ์ถ้าคนที่เธอรักแอบวอกแวก ส่วน MAIYARAP ก็จับใส่หัวโขนที่เป็นงานฉลุมินิมัลที่เท่มาก ๆ แล้วยังไม่ลืมที่จะใช้ลวดลายไทย ๆ มาฉายลงแบ็คกราวด์ทำเป็น silhouette เป็น traditional with a twist ที่น่าตื่นเต้นงานนึงเลย

ว่ากันตามตรงว่าดนตรีไทย ลูกทุ่ง หรือไทยเดิม จะมีรายละเอียดการเรียบเรียงที่เฉพาะตัว ซึ่งถ้าเอามาผสมรวมกับเครื่องดนตรีหรือการเรียบเรียงแบบสากลก็จะได้กลิ่นอายที่ชัดมาก และเสี่ยงที่จะเกิดความไม่ลงตัว ทำให้ในบางครั้งจากจุดเด่นก็จะกลายเป็นจุดด้อย หรือบางทีที่เราจะรู้สึกได้จากการฟังเพลงของบางวงแล้วเหมือนเขาจงใจยัดความไทยลงไปจนเพลงที่อยากจะทำให้ fusion นั้นไม่อร่อย กลายเป็นเลี่ยนไปเลย ตัวอย่างที่ดีของการ merge เพลงไทยพื้นบ้านเข้ากับเพลงสากลได้ลงตัวก็เช่นเพลง วอน ของ The Peach Band หรือ ซ่อนกลิ่น และ ดวงใจ ของ Palmy รวมถึงเพลงล่าสุด วรรณคดีสีชมพู ของ เปาวลี feat. MAIYARAP นี่เอง

Facebook Comments

Next:


Montipa Virojpan

อิ๊ก เนิร์ดดนตรีที่เพิ่งกล้าเรียกตัวเองว่าเป็นนักเขียนตอนอายุ 25 ชอบเดินเร็ว นอกจากขนมปังกับกาแฟดำแล้วก็สามารถกินไอศกรีมกับคราฟต์เบียร์แทนมื้อเช้าได้