carole and tuesday netflix

Article Story

ชวนดูซีรีส์ Carole & Tuesday สองสาวที่ใช้เสียงดนตรีเติมเต็มชีวิตบนดาวอังคาร

เรื่องราวเกี่ยวกับการที่มนุษย์ใช้เทคโนโลยีและจินตนาการทั้งหมดเฝ้าฝันถึงการโยกย้ายถิ่นฐานไปอยู่บนดาวอังคารให้ได้ซักวันหนึ่ง ด้วยความหวังที่ว่าจะขยายอาณานิคมของมนุษยชาติ แต่หารู้ไม่ว่าในอนาคตอันไกลโพ้น ชีวิตบนดาวอังคารก็โหดร้ายไม่ต่างอะไรกับโลกที่เราอยู่ทุกวันนี้เลย

เมื่อดาวอังคารคือดินแดนใหม่ที่นักแสวงโชคทั้งหลาย พร้อมใจกันทิ้งอดีตของตัวเองบนโลกและขึ้นไปสร้างอนาคตที่สวยงามให้กับตัวเอง แต่เมื่อทุนนิยมคืบคลานตามไปถึง ทุกคนก็ล้วนต้องดิ้นรนปากกัดตีนถีบกันสุดกำลังเพื่อให้มีชีวิต จนพวกเขาลืมไปแล้วว่ามีชีวิตอยู่กันไปทำไม

ยกเว้น แครอล หญิงสาวกำพร้าที่มีใจรักในเสียงดนตรีมาตลอด หลังเลิกงานเธอจะออกไปเล่นดนตรีอยู่ข้างถนนเพียงเพื่อให้ใครซักคนฟังเสียงของเธอ หวังเพียงว่าจะเติมเต็มช่องว่างในจิตใจของเธอได้ ส่วน ทิวส์เดย์คือสาวน้อยที่หนีออกจากบ้านเพราะคนในครอบครัวไม่มีใครฟังเสียงดนตรีของเธอ ทั้งสองบังเอิญได้พบกันและเข้ากันได้ดีอย่างน่าประหลาด ทั้งสองจึงตัดสินใจตั้งวงดนตรีด้วยกันทันที

น้

นั่นคือเรื่องราวเริ่มต้นของ “สองสาวที่มาตั้งวงดนตรีด้วยกันบนดาวอังคาร” อนิเมชั่นเรื่องนี้พาให้เราตามไปเอาใจช่วย Carole & Tuesday วงดนตรีอินดี้ที่ใช้คีย์บอร์ดกับกีตาร์เป็นสื่อกลาง สื่อสารสิ่งที่คับข้องอยู่ในใจออกมาให้โลกได้รู้ ในโลกอนาคตที่เพลงฮิตติดชาร์ตบนดาวอังคารกว่า 99% เป็นเพลงที่ถูกสร้างโดย AI หรือปัญญาประดิษย์ทั้งนั้น ทำให้พวกเธอต้องพยายามมากกว่าคนอื่นเป็นเท่าตัว

เรียกว่ามันเป็นการ์ตูนว่าด้วยการทำวงดนตรีตั้งแต่เริ่มก็ได้ พวกเธอต้องทำทุกอย่างด้วยตัวเองตั้งแต่ก้าวแรกเลย ตั้งแต่แต่งเพลง ผลิต Music Video หาที่เล่นโชว์ด้วยตัวเอง หาคอนเน็กชั่นในวงการ หรือการตัดสินใจเข้าร่วมการประกวดดนตรีงเพื่อเพิ่มชื่อเสียงให้กับตัวเอง ล้วนเป็นทางเลือกในเส้นทางดนตรีที่ไม่มีผิดถูกเลยซึ่งระหว่างทางก็เต็มไปด้วยเรื่องราวป่วน ๆ ชวนหัวเราะ ชวนซึ้ง หรือชวนเศร้า ให้เราตามลุ้นเอาใจช่วยพวกเธอไปตลอดทั้งเรื่อง

โดยมีคู่แข่งเป็นนางแบบวัยรุ่นชื่อดัง แองเจล่า ที่กำลังผันตัวเองมาเป็นนักร้องพอดี เพราะต้องการทำความปรารถนาของ “แม่” ให้เป็นจริง แถมเธอยังมีโปรดิวเซอร์อย่าง ทาโอะ นักวิทยาศาสตร์และนักแต่งเพลงอันดับหนึ่งของดาวอังคาร ที่ใช้ AI ในการรังสรรค์เพลงฮิตให้เธอได้ทุกเพลง

ความเข้นข้นของเรื่องราวยิ่งมากขึ้นเข้าไปอีกเมื่อมันดำเนินเรื่องอยู่ในช่วงการเลือกตั้งประธานาธิบดีบนดาวอังคาร ซึ่งสอดคลองกับความขัดแย้งระหว่างผู้อพยพจากโลกและรัฐบาลบนดาวอังคารพอดี จนเกิดเป็นการก่อการร้าย ทำให้รัฐบาลเริ่มคุกคามเสรีภาพของประชาชน แน่นอนว่าศิลปินที่ออกมาพูดเรื่องสิทธิหรือสร้างผลงานที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับรัฐบาล ที่อ้างความสงบเป็นอาวุธ ล้วนถูกแบนหรือถูกจับ (คล้าย ๆ กับบางประเทศแถวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้)

แถมยังมีปมที่เหมือนเป็นตลกร้ายของเรื่องเมื่อแม่ของทิวส์เดย์คือนักการเมืองที่เสนอกกฎหมายผลักดันคนจากโลกออกไปจากดาวอังคาร แต่ตัวแครอลเพื่อนรักของเธอก็เป็นคนจากโลกเหมือนกัน การที่ทั้งสองเป็นเพื่อนที่ดีต่อกันได้ เหมือนเป็นหลักฐานยืนยันว่าแม่ของเธอคิดผิด รัฐบาลไม่มีสิทธิ์ผลักดันคนที่แตกต่างกันออกไป ก่อนหน้านี้แครอลกับทิวส์เดย์แต่งเพลงที่พูดถึงแต่ตัวเอง ทำให้เธอตระหนักได้ว่าสิทธิ์ในการพูดกำลังจะหายไป เธอจึงต้องทำอะไรซักอย่างเพื่อต่อต้านกฎหมายของแม่เธอเอง อย่างการร้องเพลงนั่นเอง

โดยผู้กำกับแอนิเมชั่นเรื่องนี้ได้แก่ Shinichiro Watanabe ที่เคยสร้างแอนิเมชั่นชื่อดังมากมายอย่าง Cowboy Bebop, Samurai Champloo, Kids on the Slope, Space Dandy ฯลฯ  ซึ่งเซ็ตติ้งของเรื่องก็มีความไซไฟในแบบของ Cowboy Bebop อยู่เหมือนกัน หรือในส่วนของดนตรีที่หลากหลายและน่าสนใจมาก ๆ ก็ทำให้เราคิดถึง Samurai Champloo ของเขาทันที และการหยิบมิตรภาพความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนในวงดนตรีที่อบอุ่นหัวใจแบบ Kids on the Slope ก็ทำให้เราตกหลุมรักตัวละครทุกตัวในเรื่องนี้ได้ทันที

สิ่งที่ทำให้รักผู้กำกับคนนี้มาก ๆ เพราะเขาก็น่าจะเป็นคนที่ชอบฟังเพลงมาก ๆ เหมือนกัน สังเกตได้จากชื่อตอนทุกตอนในเรื่องล้วนหยิบยืมชื่อเพลงสุดคลาสสิกในตำนานมาตั้งทั้งนั้น ซึ่งเนื้อหาของเพลงก็สอดคล้องกันตอนนั้นได้ดีเลยทีเดียว เช่น With or Without You ของ U2 ที่พาแครอลไปตามหาทิวส์เดย์ที่หายไป หรือ We’ve Only Just Begun ของ Carpenters ก็เป็นตอนที่แครอลกับทิวส์เดย์เป็นผู้ชนะร่วมในการประกวดร้องเพลงและกำลังจะเดบิวเป็นศิลปินแล้ว หรือ Don’t Stop Believin ของ Journey ที่สองสาวลุกขึ้นมาแต่งเพลงเพื่อสันติภาพ ถ้าใครรู้จักเพลงที่ถูกนำมาใช้เป็นชื่อตอนแบบข้างต้นก็จะทำให้อินกับเนื้อเรื่องในตอนนั้นเข้าไปอีก

อีกสิ่งหนึ่ง ที่โดดเด่นที่สุดในเรื่องเลยก็คือดนตรีที่พิถีพิถันกับทุกเพลงมาก ๆ สังเกตได้ว่าพวกเขาอนิเมทตัวละครทุกตัวเวลาร้องเพลงเล่นดนตรีกันอย่างจริงจังมาก ๆ

หลาย ๆ ซีนเวลาเล่นดนตรีมันมีเสน่ห์มาก ๆ โดยเฉพาะเพลง Round & Laundry ที่แครอลกับทิวส์เดย์ค่อย ๆ เขียนขึ้นมาระหว่างกำลังซักผ้า ซึ่งเป็นเพลงที่สองของพวกเธอ พูดถึงการเจอกันของพวกเธอหญิงสาวที่หลงทางทั้งคู่ ก่อนหน้านี้ชีวิตช่างยากลำบาก แต่เมื่อได้มาร้องเพลงแต่งเพลงด้วยกัน พวกเธอกลับพร้อมจะเผชิญทุกอย่างไปด้วยกัน ด้วยคีย์น่ารัก ๆ กับเสียงกีตาร์โปร่งสบาย ๆ ทำให้เพลงนี้ติดอยู่ในใจเรามาทั้งเรื่องเลย

ด้ายตัวละครอย่าง แองเจล่า คู่แข่งของพวกเธอก็น่าสนใจไม่แพ้กัน กับเพลงอย่าง Move Mountains เพลงแรกที่เธอร้องในเรื่องและครั้งแรกต่อหน้าทุกคนในรายการประกวดร้องเพลง โดยที่กำจัดข้อกังขาของกรรมการและคนดูอย่างเราในทันทีที่ร้องจบ เสียงเปียโนเบา ๆ ถูกเบียดขึ้นมาด้วยบีทเท่ ๆ แถมยังถ่ายทอดอารมณ์ของเธอออกมาได้อย่างชัดเจน ความพร้อมที่จะสลัดภาพของนางแบบวัยรุ่นขึ้นมาเป็นนักร้องเต็มตัว ซีนนี้ทำให้เรายิ่งหลงรักอนิเมชั่นเรื่องนี้ สังเกตท่อนฮุกที่ใส่การเคลื่อนไหวของเธอได้มีอารมณ์ร่วมมาก ๆ

ในเรื่องยังมีเพลงหลากหลายแนวที่เราต้องทึ่ง ทั้ง EDM ที่สร้างโดย AI ซึ่งทำให้อะดรีนาลีนเราสูบฉีดตามได้อย่างน่าประหลาด หรือเพลง R&B บีทลึกลับชวนให้เราหลงใหล หรือที่พีคสุดในเรื่องก็ OG Bulldog คู่แข่งคนแรกในรายการประกวดร้องเพลงของ Carole & Tuesday ด้วยรูปร่างดุดันกับสไตล์การแต่งตัวของเขาทำให้เราพอเดาได้ว่าเขาต้องสายฮิปฮอปแน่นอน แต่ใครจะรู้ว่าเขาจะร้องแบบโอเปร่า! เสียงโซปราโนมันจะอยู่กับบีทดิบ ๆ ได้ยังไง!

แต่เพลงที่กลายเป็นไวรัลบนอินเทอร์เน็ต จนทำให้หลายคนรู้จักแอนิเมชั่นเรื่องนี้คงหนีไม่พ้นเพลง Galactic Mermaid โดยหนึ่งในผู้เข้าแข่งขันประกวดร้องเพลงอย่าง Mermaid Sisters ที่ดนตรีแคปเปลล่าสนุก ๆ ชวนรื่นเริงใจ แอคชั่นท่าทางอะไรก็ชวนเพลิดเพลินไปกับดนตรี แต่เนื้อร้องของเพลงกับหยาบโลนจนต้องอ้าปากค้าง มันเป็นเพลงที่ดีมากเลยนะ แต่เสียดายที่เขียนเนื้อแบบนี้ ไม่ต้องสงสัยเลยว่าชะตากรรมของพวกกเธอจะเป็นยังไง

ทุกคนอาจจะสังเกตได้ว่า Mermaid Sisters ดูเป็นคนข้ามเพศ นี่คือสิ่งที่ทำให้ชอบแอนิเมชั่นเรื่องนี้ขึ้นไปอีก ในหนังเราจะเห็นคนหลากหลายทางเพศเยอะมาก ทั้งผู้หญิงกับผู้หญิง หรือทรานส์เจ็นเดอร์ที่ต้องกินฮอร์โมนซึ่งในเรื่องก็ทรีทตัวละครเหล่านี้โดยไม่แตกต่างกับตัวละครรักต่างเพศทั่วไปเลย ดีใจที่มีความหลากหลายทางเพศอยู่บนจอทีวีเยอะ ๆ ซึ่งมันควรต้องเป็นเรื่องธรรมดาได้แล้ว

แม้เซ็ตติ้งในเรื่องจะเป็นโลกอนาคตอันไกลโพ้น เต็มไปด้วยสถาปัตยกรรมล้ำ ๆ และสิ่งประดิษฐ์มากมาย แต่พวกเขาก็ยังใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กแบบที่เราใช้กันทุกวันนี้ด้วย ทั้ง IG กับ Tiktok นิตยสารดนตรีอย่าง Pitchfork หรือ Rolling Stone ก็ยังอยู่ด้วยนะ แถมยังมี SXSW บนดาวอังคารอีกต่างหาก แล้วยังใส่กิมมิกหรือ Easter Eggs ความลับน่ารัก ๆ ให้เราอมยิ้มได้ ทั้งการพูดถึงวง The Beatles กับ Justin Bieber และ Daft Punk (ซึ่งแน่นอนว่าเด็กในเรื่องไม่มีใครรู้จักเลย) แถมยังแซะแรงด้วยการล้อเล่นเสียงแปดหลอดของ Vitas หรืออ้างถึง Pikotaro เจ้าของเพลง PPAP ที่ร้องว่า I have a pen, I have an apple ด้วย

ถ้ารู้สึกว่าตัวเองเป็นคนชอบฟังเพลงละก็ ไม่ควรพลาดแอนิเมชั่นซีรีส์เรื่องนี้เด็ดขาด มันมีกลิ่นอายของคนรักดนตรีฟุ้งกระจายอยู่เต็มไปหมด แล้วต้องไปปะทะกับดนตรีที่แปลกใหม่น่าตื่นเต้นที่แต่งขึ้นมาเพื่อการ์ตูนเรื่องนี้อีก บอกเลยว่าทุกคนจะต้องตกหลุมรักเพลงในเรื่องนี้ทุกเพลงแน่นอน ยิ่งเป็นคนที่ทำวงดนตรีของตัวเองอยู่ก็จะได้พลังจากอนิเมะเรื่องนี้ซึ่งนำไปสู่แรงบันดาลใจในการตั้งใจทำผลงานเพลงของตัวเองต่อไป

ก่อนหน้านี้ แครอลกับทิวส์เดย์ต่างรู้สึกว่าตัวเองกำลังขาดอะไรบางอย่างในชีวิตไปตลอดเวลา สิ่งที่พวกเธอขาดไม่น่าใช่ครอบครัวหรือความรักจากใครซักคน แต่เธอแค่เพิ่งเจอคนที่จะมาเติมเต็มเสียงเพลงในชีวิต เพื่อใช้เล่าเรื่องหรือเปิดเผยความรู้สึกของตัวเองออกมาให้ทั้งโลกได้ลองฟังต่างหาก ถ้าเราดูอนิเมชั่นเรื่องนี้จบ เราอาจพบสิ่งที่เรากำลังตามหาเหมือนทั้งสองคนก็ได้นะ

Facebook Comments

Next:


Peerapong Kaewthae

แม็ค เป็นคนชอบฟังเพลงเพราะเป็นกิจกรรมที่ทำคนเดียวได้ และก็ชอบแนะนำวงดนตรีหรือเพลงใหม่ ๆ ให้คนอื่นรู้จักผ่านตัวอักษรตลอดเวลา