Article Guru

More than Peace and Love เรียนรู้ประวัติศาสตร์การค้าทาสผ่านเพลงเร็กเก้

  • Writer: Piyakul Phusri

 

ไม่ว่ากระแสดนตรีโลก-ดนตรีไทยจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วแค่ไหน แต่แนวดนตรีที่มีซาวด์หนึบหนับ ๆ เนิบช้า ที่ทำให้เราโยกร่างกายไปตามเสียงเบส เสียงกลอง และเสียงร้องก้อง ๆ ยาน ๆ ได้เหมือนมีเวทมนต์อย่าง ‘เร็กเก้’ (reggae) ก็ยังเป็นแนวดนตรีที่ถือว่ามีกลุ่มแฟนเหนียวแน่นระดับเดนตาย และยังดึงดูดกลุ่มคนฟังหน้าใหม่ให้กลายเป็นแฟนเร็กเก้ได้อย่างต่อเนื่องเพราะเสน่ห์ของเพลง และแฟนเร็กเก้ที่เรียกได้ว่า friendly มาก ๆ

นอกจากตัวดนตรีแล้ว วัฒนธรรม และแฟชั่นที่เกี่ยวข้องกับเพลงเร็กเก้อย่างการถักผมเดร็ดล็อค (dreadlock) การสวมใส่เสื้อผ้าหรือประดับร่างกายด้วยสีเขียว-เหลือง-แดง หรือ การแสดงออกถึงความนิยมชมชอบพืชสมุนไพรใบแฉก ๆ บางชนิด ก็เป็นภาพจำที่หลายคนก็คงคุ้นเคยและเห็นได้บ่อย ๆ ตามงานดนตรี หรือผับแนวเร็กเก้

แต่นอกจากภาพลักษณ์ของการเป็นแนวดนตรีที่รักธรรมชาติ รักสันติ หรือ เพลงสายเขียว (หญ้าเขียวเหรอ? อย่างงั้นแหละมั้ง…) เร็กเก้ยังเป็นแนวดนตรีที่มีอะไรมากกว่า ‘peace and love’ อย่างที่หลายคนเข้าใจ เนื้อหาของเพลงเร็กเก้ โดยเฉพาะจากจาไมก้าที่เป็นแหล่งกำเนิดของมันมีความเป็นการเมืองสูงมาก เพลงจำนวนมากมีเนื้อหาพูดถึงการต่อสู้ของคนผิวดำที่ถูกกดขี่โดยคนขาว เนื่องจากเร็กเก้คือส่วนผสมระหว่างดนตรีตะวันตกจำพวก rock n’ roll, rhythm and blues และ soul กับ แนวดนตรี mento และเรื่องราวชีวิตของคนผิวดำแถบแคริเบียนผู้สืบเชื้อสายมาจากทาสชาวแอฟริกันที่ถูกชาวตะวันตกนำตัวมาใช้แรงงาน ถ้าจะบอกว่า เร็กเก้ คือ ‘เพลงเพื่อชีวิต’ ของคนผิวดำก็คงจะไม่ผิดนัก เพราะเนื้อหาที่ถูกเล่าผ่านท่วงทำนองชวนขยับแข้งขยับขานั้น จริง ๆ แล้วมันหนักอึ้งเลยทีเดียว

เพลงเร็กเก้ถูกใช้เป็นสื่อที่ศิลปินใช้บอกเล่าประวัติศาสตร์ความโหดร้ายที่คนผิวขาวได้กระทำทารุณต่อคนผิวดำโดยภาษาที่รุนแรง ตรงไปตรงมา เช่นในเพลง Mi God, Mi King ของ Papa Levi

They tek ‘wey we gold, jah man, them tek wey silver
Them hang me pupa and rape me madda
They cheat me from the wonderful land of africa
We slave fi dih plantation owner
They take wey we name, jah man, them call we nigga

มัน (คนขาว) เอาทองคำของเราไป เอาเงินของเราไป
มันแขวนคอพ่อของฉัน ข่มขืนแม่ฉัน
มันพรากฉันจากดินแดนแอฟริกาอันแสนวิเศษ
มาเป็นทาสให้เจ้าของสวน
มันเอาชื่อของเราไป และเรียกเราว่า นิโกร

หรือ เพลง Aparttheid ของ Peter Tosh ที่พูดถึงการต่อต้านการแบ่งแยกสีผิว และโจมตีคนผิวขาวว่าไม่เคยสร้างสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้กับดินแดนที่ตนเองเข้าไปปกครองเลย นอกจากจะสูบเอาทรัพยากรในดินแดนนั้นกลับไปยังประเทศแม่จนหมด

You’re in a me land – you no build no school for black children
You’re in a me land – no hospital for black people
You’re in a me land – you build your prison
You’re in a me land – you build their camp

แกอยู่ในแผ่นดินของฉัน – แกไม่เคยสร้างโรงเรียนเพื่อเด็กผิวดำ
แกอยู่ในแผ่นดินของฉัน – ไม่มีโรงพยาบาลสำหรับคนผิวดำ
แกอยู่ในแผ่นดินของฉัน – แกสร้างเรือนจำ
แกอยู่ในแผ่นดินของฉัน – แกสร้างค่ายทหาร

เพลง 1865 (96 Degrees In The Shade) ของวง Third World แต่งขึ้นเพื่อรำลึกถึง Paul Bogle นักบวชที่ถูกทางการอังกฤษสั่งแขวนคอหลังจากเป็นผู้นำชาวจาไมก้าประท้วงเรียกร้องความเป็นธรรมและเท่าเทียมให้กับชาวจาไมก้าผิวดำ ที่ Morant Bay ในเดือนตุลาคม ปี 1865 ซึ่งขณะนั้นจาไมก้ายังเป็นอาณานิคมปลูกอ้อยภายใต้การปกครองของอังกฤษ

Some may suffer and some may burn
But I know that one day
My people will learn
As sure as the sun shines
Way up in the sky
Today I stand here a victim
The truth is I’ll never die

บางคนอาจจะเจ็บปวด บางคนอาจจะมอดไหม้
แต่ฉันรู้ว่าวันหนึ่ง
ประชาชนของฉันจะเรียนรู้อย่างแน่นอน
เหมือนพระอาทิตย์ลอยขึ้นสู่ท้องฟ้า
วันนี้ ฉันยืนอยู่ตรงนี้ในฐานะเหยื่อ
ความจริงคือ ฉันจะไม่มีวันตาย

เพลงเร็กเก้บางเพลงแสดงให้เห็นถึงความภาคภูมิในสายเลือดคนแอฟริกันที่ไหลเวียนอยู่ในตัวเอง โดยกล่าวถึงประวัติและวีรกรรมของกษัตริย์ และราชินีของอาณาจักรโบราณในแอฟริกา และปลุกเร้าให้คนที่มีเชื้อสายแอฟริกันศึกษาหาที่มาของเผ่าพันธุ์ของตนเอง เช่น เพลง Great Queens of Africa ของ Mutabaruka

Yes Africa had great kings
And queens you should know
Search your history
It will show
If you know not from whence you came
You are doomed to live in shame

แอฟริกาเคยมีราชาผู้ยิ่งใหญ่
รวมถึงราชินีที่เธอควรรู้จัก
จงสืบค้นประวัติศาสตร์ของตัวเอง
หากเธอไม่รู้ว่าตัวเองมาจากที่ไหน
เธอก็ถูกสาปให้อยู่กับความอับอาย

หลังจากประเทศในแอฟริกาทยอยได้รับเอกราชจากเจ้าอาณานิคมยุโรป ก็เกิดกระแสเรียกร้องให้คนแอฟริกา และคนเชื้อสายแอฟริกาที่ถูกคนขาวพรากจากบ้านเกิดไปเป็นทาสตามที่ต่าง ๆ มารวมกันเป็นหนึ่งเดียว หรือ Pan-African Movement มีการเรียกร้องให้ลูกหลานชาวแอฟริกันพลัดถิ่นหวนกลับคืนสู่ทวีปแอฟริกาที่เป็นเสมือน ‘บ้านที่แท้จริง’ ของพวกเขา และเพลงเร็กเก้ก็เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ถูกใช้เพื่อขับเคลื่อนแนวคิดนี้ เช่น เพลง Africa Unite ของ Bob Marley & The Wailers

Africa unite!
‘Cause we’re moving right out of Babylon
And we’re going to our father’s land, yea-ea

จงรวมกัน แอฟริกา!
เพราะเราออกจากแผ่นดินบาบีโลน
และเรากำลังจะกลับคืนสู่ปิตุภูมิของเรา

ยังมีเพลงเร็กเก้อีกหลายเพลงที่มีเนื้อหาสื่อถึงความรุนแรงในอดีตที่คนผิวขาวได้กระทำกับคนผิวดำจนนำมาสู่การเรียกร้องสิทธิและการต่อสู้เพื่อชีวิตของคนผิวดำ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นคนผิวไหน เชื้อชาติใด การเคารพในสิทธิ และความเท่าเทียม เป็นสิ่งที่ทุกคนพึงมีให้กัน ซึ่งดนตรีเร็กเก้ก็เป็นอีกหนึ่งสื่อกลางที่ดีที่เผยแพร่ความคิดเรื่องการไม่ยอมรับการกดขี่ข่มเหงในทุกรูปแบบให้แพร่กระจายออกไปในหมู่ผู้ฟังทั่วโลก

ครั้งต่อไปที่คุณฟังเพลงเร็กเก้ ลองตั้งใจฟังเนื้อร้องดี ๆ อาจจะมีข้อความแห่งการต่อสู้ที่ร้อนเร่า ประวัติศาสตร์แห่งความรุนแรงที่ไม่อาจลบเลือน หรือ บทกวีของผู้ทุกข์ทนที่ไม่ยอมแพ้ต่อชะตาชีวิตที่ตั้งใจจะสื่อมาถึงคุณโดยเฉพาะก็เป็นได้…..

 

Source

Walters, Angela. 1996. How I Learned African History from Reggae, Issue: A Journal of Opinion African [Diaspora] Studies (24)2: 43-45

เดวิส, สตีเฟน. 2538. ศาสดาขบถ กัญชา อิตถีเพศ และเทศนาด้วยบทเพลง. แปลจาก Bob Marley: The Definitive Biography of Reggae’s Greatest Star. แปลโดย อัคนี มูลเมฆ. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ปัจเจกชน

Facebook Comments

Next:


Piyakul Phusri

Piyakul Phusri นักฟังเพลงจับฉ่ายที่มีความเชื่อว่านอกจากการกินอิ่ม-นอนอุ่น การบริโภคงานศิลปะที่ถูกใจก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยของการมีชีวิตที่ดี