เทคโนโลยี, ดนตรี, 2019

Quick Read Snacks

9 สิ่งล้ำ ๆ สำหรับคนดนตรีในปี 2019

  • Writer: Malaivee Swangpol

เราเคยเสนอไปเมื่อปี 2017 เกี่ยวกับเทคโนโลยีคอนเสิร์ตในปีนั้น ทั้งแชตบอต, ดูคอนเสิร์ตบุฟเฟต์, VR และอีกมากมาย (อ่านได้ ที่นี่) ซึ่งถึงตอนนี้ก็ผ่านมา 2 ปีแล้ว เราจึงอยากมาอัพเดตเทคโนโลยีล้ำ ๆ ที่กำลังจะมามีบทบาทในธุรกิจบันเทิงทั่วโลกกัน พร้อมแล้วก็ตามเรามาอัพเดตสิ่งใหม่ ๆ ที่เพื่อน ๆ จะได้พบเจอในปี 2019 กันเล้ย

ตำรวจ 4.0 – เทคโนโลยีสแกนหน้าในคอนเสิร์ต

Illustration by Taylor Callery - https://www.rollingstone.com/wp-content/uploads/2018/11/future-of-entertainment-facial-rec.jpg?crop=1260:720&width=1260
ภาพโดย Taylor Callery (Rolling Stone)

Taylor Swift เริ่มใช้เทคโนโลยี facial recognition ที่คอนเสิร์ตของเธอใน LA โดยเมื่อใครก็ตามหยุดดูวิดีโอที่บูธ ระบบตรวจสอบใบหน้าก็จะเริ่มถ่ายรูปและนำไปจับคู่กับฐานข้อมูลว่าเขาหรือเธอเป็นหนึ่งในเหล่าสตอล์กเกอร์กว่า 100 คนของสาวเทย์เลอร์หรือไม่ อย่างไรก็ดีในตอนนี้ยังไม่มีรายงานว่าจับใครได้บ้างหรือยัง อีกมุมหนึ่งก็มีเรื่องที่น่าเป็นห่วงคือเรื่องความเป็นส่วนตัวของคนดูคอนเสิร์ต ใครจะเป็นผู้เก็บข้อมูลใบหน้าเหล่านั้น และจะลบทิ้งเมื่อไหร่ โดยตัวแทนของเทย์เลอร์ก็ไม่ออกมาให้ข้อมูลแต่อย่างใด ก็ต้องดูกันต่อไปว่าเทคโนโลยีนี้จะพัฒนาไปถึงจุดไหน

นอกจากเพื่อจับคนร้ายแล้ว ก็ยังมีเทคโนโลยีสแกนหน้าเพื่อความรวดเร็วอย่าง Blink Identity ของ Ticketmaster บริษัทขายบัตรคอนเสิร์ตเจ้าใหญ่ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งผู้พัฒนาบอกว่าระบบนี้สามารถระบุตัวตนของผู้เข้าชมที่เดินเต็มสปีดได้ในระยะเวลาไม่ถึงวินาที โดยเทคโนโลยีนี้จะลดระยะเวลาการตรวจตั๋วเข้างานซึ่งเดิมมักจะทำให้เสียเวลาไปมาก ๆ ระบบนี้จะเริ่มใช้กับเหล่าผู้ถือตั๋ว VIP ในปี 2019

ฮอลคอนเสิร์ตแบบ 4D

เชื่อว่าหลาย ๆ คนเคยไปดูหนังหรือการแสดงแบบ 4D ซึ่งทำให้เรารู้สึกมีส่วนร่วมกับโชว์และสนุกสนานมากขึ้น โดยในอนาคตอันใกล้ คอนเสิร์ตก็จะใช้เทคโนโลยีนี้ด้วยจ้า เริ่มจาก Madison Square Garden Sphere ที่ Las Vegas ฮอลทรงกลมนี้มีลำโพงแบบ ultra-directional (พุ่งเสียงเข้าหาจุดเดียว) 157,000 ตัว, จอภาพ LED แบบ ultra high definition สูง 1. 4 กิโลเมตรที่โค้งขึ้นบนเพดาน และพื้นที่สั่นสะเทือนได้!

เท่านี้ยังไม่พอ David Dibble ผู้ดูแลโครงการนี้ยังบอกอีกว่า จอภาพขนาดยักษ์นี้ไม่ใช่แค่ใหญ่ แต่ยังอลังการกว่าท้องฟ้าจำลองคูณสิบ และยังใหญ่ที่สุดในโลกตอนนี้ด้วย นอกจากนี้มาพร้อมด้วยระบบเสียงสุดทันสมัยที่จัดทำโดยบริษัท Holoplot ผู้เชี่ยวชาญในการจัดการเสียงให้ได้ยินในโซนแคบ ๆ ซึ่งจะทำให้แต่ละโซนสามารถฟังการแสดงเป็นคนละภาษาได้ เสริมด้วยความอลังการในการซ่อนลำโพงไว้ที่หลังจอภาพ และซ่อนไว้ใต้ที่นั่งเพื่อทำให้ได้ยินเสียงเบสชัดที่สุด

ซึ่งเป้าหมายของที่นี่ไม่ได้จำกัดแค่ให้การแสดงสุดอลังการหรือคอนเสิร์ตมาเล่นเท่านั้น แต่ยังสามารถมาจัดแข่ง e-sports แล้วฉายขึ้นจอกันอย่างเพลิดเพลิน โดยการมาชมการแสดงที่ฮอลนี้จะให้ความรู้สึกเหมือนใส่แว่น vr อยู่ทั้งที่ไม่ได้ใส่ นอกจากนี้ทางบริษัทยังมีแพลนจะสร้างฮอลในลักษณะเดียวกันที่ลอนดอน ชื่อ The Rockettes ในอีก 3 ปีข้างหน้าด้วยจ้า

RFID Wristband ที่ไม่ใช่แค่ใช้เข้างานกับจ่ายเงิน

นักดูคอนเสิร์ตอย่างเรา ๆ น่าจะเคยใส่เจ้า RFID Wristband และคุ้นเคยกับมันเป็นอย่างดี เพราะปีนี้หลาย ๆ เฟสติวัลก็เริ่มนำมาใช้เพื่อความสะดวกรวดเร็ว โดยยุคนี้แค่เร็วไม่พอ ยังต้องเก็บข้อมูลได้ทุกอย่าง, จ่ายเงินได้รวดเร็ว, ตรวจบัตรได้ไว, ปลอดภัยมากขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้อยู่ในริสต์แบนด์ของ Intellitix

เจ้าริสต์แบนด์นี้ตอบโจทย์ยุคแห่งการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลมาก ๆ เพราะมันทำให้เราไม่ต้องเสียเวลาและเงินเดาสุ่มไปมั่ว ๆ ริสต์แบนด์นี้สามารถเก็บข้อมูลของผู้คนในงานได้ทั้งหมดแบบเรียลไทม์ ไม่ว่าจะเป็นจำนวนคน ตำแหน่งที่อยู่ การเลือกซื้อของ การใช้จ่าย ยอดขายของสินค้าต่าง ๆ ซึ่งทั้งหมดนี้จะทำให้สามารถเลือกสถานที่จัดงานในปีหน้า, เลือกวงมาเล่น, คัดเลือกร้านอาหาร, มอบสิทธิพิเศษให้แก่ผู้ใช้เงินมากที่สุด และอีกมากมาย โดยสิ่งที่คุ้มที่สุดก็ทำให้มีข้อมูลจำนวนมากไปสรุปให้สปอนเซอร์แฮปปี้ ซึ่งทำให้เขามีแนวโน้มที่จะสนับสนุนเราอีกในปีหน้า

ข้อดีอื่น ๆ ของริสต์แบนด์ยุค 2019 คือทำให้ผู้ชมที่ต่อแถวยาว ๆ หน้างาน สามารถผ่านประตูไปได้กว่า 2,500 คนใน 1 ชั่วโมง ด้วยประตูแบบพิเศษของ Intellitix ซึ่งเป็นการติ๊ดบัตรด้วยตัวเองแบบชิว ๆ เร็วไม่พอ เครื่องตรวจยังทำให้ป้องกันคนที่ลักลอบเข้างาน และแบ่งโซน VIP โซนศิลปิน หรือโซนอื่น ๆ  ได้ง่ายดาย ที่สำคัญคือช่วยเพิ่มยอดขายสินค้าในงาน เพราะการจับจ่ายซื้อของสามารถทำได้เร็วขึ้นถึง 87% ซึ่งเมื่อแถวก็สั้นลง ลูกค้าก็แฮปปี้ มีเวลาไปทำอย่างอื่น แถมผู้จัดงานก็ไม่ต้องตรวจบัญชีร้านต่าง ๆ อีกต่อไป เพราะทุกอย่างอยู่ในระบบออนไลน์

Omega – Voice Assistant คนใหม่ อินเรื่องเพลงกว่าเพื่อน

มาอีก 1 กับเจ้า a.i. เพื่อนรัก ที่คราวนี้พัฒนาโดยคนคุ้นหน้าคุ้นตาในวงการเพลง อย่าง will.i.am ซึ่งเพิ่งเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่จาก บริษัท I.AM+ ไปเมื่อเดือนตุลาคม ปี 2018 นี่เอง โดยบริษัทได้รับเงินลงทุนกว่า 3,800 ล้านบาท เป้าหมายของ Omega คือการกำจัด pain point ที่ทำให้ผู้บริโภคไม่สะดวกสบาย ซึ่งผู้ช่วยคนนี้สามารถการถ่ายโอนข้อมูลไปยังอุปกรณ์ต่าง ๆ ได้รวดเร็ว ทำกระบวนการต่าง ๆ ให้ผู้ใช้ตั้งแต่ต้นจนจบ เช่นขอให้เล่นเพลงหนึ่งเพลง Omega ก็สามารถเล่าข้อมูลของศิลปินคนนั้น ๆ บอกว่าศิลปินคนนั้นจะไปเล่นที่ไหนอีก ที่พีคคือ Omega สามารถบอกได้ว่า เมื่อไหร่ศิลปินคนนี้จะมาเล่นใกล้ ๆ แล้วยังสามารถจองตั๋วให้ได้เลย ซึ่งในขณะเดียวกันถ้าไปถามคำถามนี้กับ Siri จะได้ผลการค้นหาจาก Google มาแทน

เรื่องอื่น ๆ ที่ Omega ทำได้ ก็มีความคล้ายกับ Google Duplex ที่สามารถโทรไปจองคิวร้านอาหารให้ได้ และยังมีกระบวนการคิดแก้ปัญหาหากโต๊ะเต็ม หรือต้องเลื่อนเวลา นอกจากนี้ก็ยังสามารถเช็คสต็อกสินค้า, เขียนอีเมล์, จองห้องประชุม และอีกมากมาย โดยเจ้า a.i. ยังไม่มีแผนวางจำหน่าย แต่ Deutsche Telekom ก็ได้มาเป็นลูกค้าเจ้าแรกแล้ว ต้องรอดูกันต่อไปว่าเมื่อได้วางจำหน่ายแล้ว การใช้คู่กับการฟังเพลง หรือการทำงานเพลง จะเวิร์กขนาดไหน แบบนี้ซาแมนธาจากเรื่อง ‘Her’ จะมาให้เราเจออีกในไม่นานเกินรอแน่นอน

Home Theater ที่จะทำให้คุณลืมโรงหนังไปชั่วขณะ

เสียงแบบ 3 มิติ

หลาย ๆ คนน่าจะเคยได้ยินชื่อ Dolby Atmos ระบบที่สามารถส่งเสียงไปรอบทิศได้ตั้งแต่พื้นจรดเพดาน โดยระบบนี้สามารถปล่อยเสียงตามวัตถุที่กำลังเคลื่อนอยู่ได้ เช่นเครื่องบินที่กำลังบินผ่านหัวไป ก็สามารถให้ความรู้สึกแบบนั้นจริง ๆ ซึ่ง Dolby Atmos มีมาตั้งแต่ปี 2014 แต่สิ่งที่ทำให้ไม่สามารถชมภาพยนตร์กับระบบ Atmos ที่บ้านได้แบบเต็มประสิทธิภาพก็เนื่องมาจากว่าภาพยนตร์ที่ใช้ระบบเสียง 3D ยังมีน้อยและราคาของระบบเครื่องเสียงก็แพง แต่ในตอนนี้ Atmos ได้ปล่อยลำโพงที่มีราคาไม่ถึง 20,000 บาทออกมาในตลาด นอกจากนี้ Apple TV, Amazon Prime Video, Netflix ก็เริ่มให้บริการระบบเสียง 3 มิติแล้ว อีกไม่นานเกินรอ การดูภาพยนตร์ที่บ้านก็จะสมบูรณ์แบบสุด ๆ ไปเลย

ภาพสุดคมชัด

ในขณะที่ตลาดกำลังเห่อทีวี 4K Samsung ก็ได้ข้ามสเต็ปไปที่ The Wall ทีวีขนาดยักษ์ขนาด 3.6 เมตร ที่บางเพียงไม่กี่นิ้ว ซึ่งจอที่เป็น LED ก็สามารถให้ภาพที่ทั้งสว่างกว่าและมืดกว่าจอคู่แข่ง ยิ่งไปกว่านั้น จอนี้สามารถแบ่งออกมาขายตามขนาดที่ผู้ซื้อต้องการ (ลองดูตัวอย่างในคลิป) ซึ่งตอนนี้เปิดให้พรีออเดอร์แล้วจ้า

ไวนิลรุ่นใหม่ เพิ่มควอลิตี้เสียง

HD Vinyl high precision laser

นับตั้งแต่ Thomas Edison ประดิษฐ์แผ่นไวนิลขึ้นมา การเปลี่ยนโฉมแผ่นไวนิลก็เกิดขึ้นน้อยครั้งมาก ซึ่งครั้งล่าสุดคือเมื่อ 40 ปีที่แล้วที่มีการคิดค้นวิธี direct metal mastering ขึ้นมา ดังนั้น HD Vinyl ผู้ผลิตแผ่นเสียงจึงคิดวิธีปรับปรุงการผลิตไวนิลเพื่อให้เป็น high definition ซึ่งตอนนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการผลิต วิธีการคือเปลี่ยนมาใช้เท็มเพลตไวนิลเป็นเซรามิกแทนโลหะ ทำให้หัวเข็มมั่นคง ไม่กร่อน เสียงของไวนิลแต่ละแผ่นก็จะคงที่ไม่ว่าปั๊มไปกี่แผ่น กระบวนการผลิตแบบนี้จะเหมาะมาก ๆ กับอัลบั้มรีมาสเตอร์ของวงระดับตำนานทั้งหลาย ซึ่งอัลบั้มแรกที่ใช้วิธีผลิตแบบนี้จะออกในปลายปี 2019

โดยระบบใหม่นี้ ทำให้เสียงดีขึ้น 30% โดยไม่มีเสียงรบกวน, ความจุแผ่นเยอะขึ้น ทำให้ไม่ไปจำกัดไอเดียของศิลปิน, ผลิตได้ไวขึ้น แต่ไม่ก่อให้เกิดสารพิษต่างจากแบบเดิม

เมื่อ A.I. แต่งเพลงได้จริง ๆ

เมื่อไม่นานมานี้ เจ้า a.i. ชื่อ Flow Machines ที่สามารถแต่งเพลงได้ก็เป็นที่พูดถึงไปทั่วอินเตอร์เน็ต ซึ่งในปัจจุบันมีศิลปินที่ใช้เจ้าผู้ช่วยคนนี้และทำให้มีชื่อในเพลย์ลิสต์ New Music Friday ของ Spotify เป็นที่เรียบร้อย โดยตอนนี้มีสตาร์ทอัพอย่าง Amper, Popgun, Jukedec และ Amadeus Code กระโดดลงมาเล่นในตลาด a.i.

วิธีการทำงานของเหล่าผู้ช่วย a.i. คือ เจ้าพวกนี้จะศึกษาเพลงตามแนวที่ผู้ใช้ต้องการ แล้วก็ดำเนินการผลิตชุดคอร์ดและเมโลดี้ตามแนวเพลงนั้น ๆ ซึ่งแทบจะแยกไม่ออกจากเพลงที่มนุษย์เป็นผู้เขียน ซึ่งถึงแม้ว่าโปรแกรมเหล่านี้จะไม่ฉลาดขนาดกำหนดเทรนด์ดนตรีโลกแบบที่มนุษย์ทำ แต่ประสิทธิภาพของพวกมันก็ดีกว่านักดนตรีผู้เหนื่อยล้าจากการทัวร์ติดต่อกันเป็นเดือน ๆ

เทคโนโลยีนี้เป็นที่ชอบใจของค่ายเพลงและสตรีมมิ่งแน่นอน เพราะอะไรจะดีไปกว่าได้เพลงเป็นร้อยเป็นพันแต่ไม่ต้องจ่ายเงินให้คนแต่งเพลง ซึ่งเรื่องนี้ก็เคยมีดราม่ากันมาแล้วในปี 2017 ที่ Spotify นำเพลงจากเหล่า a.i. ไปเข้าในเพลย์ลิสต์ โดยมีการสร้างตัวตนศิลปินปลอม ๆ ขึ้นมาด้วยทำให้หลาย ๆ คนไม่พอใจ แต่อย่างไรก็ดี เหล่าผู้พัฒนา a.i. เชื่อว่า พวกมันจะไม่มีทางมาแทนที่ศิลปินจริง ๆ อย่างแน่นอน โดยเจ้าผู้ช่วยคนใหม่นี้จะมีผลดีกับศิลปินมากกว่าผลเสีย เพราะทำให้ช่วยกันต่อยอดไอเดียในการแต่งเพลงได้

Music: Not Impossible เมื่อคนหูหนวกก็เอนจอยกับดนตรีได้

กว่า 3 ปีที่บริษัท Not Impossible Labs คิดค้น Vibrotextile เพื่อรับ แปลสัญญาณ และส่งการสั่นสะเทือนตามจุดต่าง ๆ เข้าไปที่ร่างกายของผู้ฟัง โดยผู้ที่ได้รับประโยชน์จากการคิดค้นครั้งนี้ไม่ใช่แค่คนหูหนวก แต่เป็นทุกคนที่รักในการฟังเพลง Vibrotextile ประกอบไปด้วยเสื้อ vest, ริสต์แบนด์ที่แขนสองข้าง และข้อเท้าสองข้าง ทำให้ร่างกายสัมผัสกับดนตรีได้อย่างสนุกสนานมากขึ้นกับสิ่งที่เรียกว่า Surround Body Experience

“วิธีการทำงานของ M:NI คือการได้ยินด้วยสมอง ผ่านการรับสัญญาณทางผิวหนัง” Mick Ebeling ผู้ก่อตั้งและ CEO ของ Not Impossible Labs บอก “ตอนที่เราทดลองใช้กับกลุ่มคนหูหนวก พวกเขาบอกผมว่า ‘สิ่งนี่ทำพวกเราทึ่งไปเลย ไม่คืนแล้วได้มั้ย!’ นี่คืออนาคตของการออกไปดูดนตรีสด และจะเป็นการเชื่อมโยงคนผ่านประสบการณ์ที่เราทำร่วมกัน”

Music: Not Impossible สามารถใช้ได้กับคอนเสิร์ตตั้งแต่สเกลเล็ก ๆ ไปจนอารีน่าขนาดใหญ่ โดยในอนาคตจะมีสิ่งที่เรียกว่า Vibrotactile DJ ซึ่งสามารถกำหนดให้ vest ที่ทุกคนสวมใส่สั่นเฉพาะบางส่วนของร่างกาย ซึ่งนี่อาจจะเปลี่ยนโฉมของวงการดนตรี, เกม, ภาพยนตร์ และทุก ๆ อย่างไปเลย!

OneManBand สิ่งที่จะมาแทนการเปิด backing track แบบธรรมดา

OneManBand คือสิ่งที่จะแปลงโฉมการเล่นกีตาร์คนเดียวไปตลอดกาล วิธีการทำงานของมันคือ เจ้าเครื่องนี้จะดักสัญญาณจากสายกีตาร์และแปลงมาเป็นสัญญาณดิจิทัลแบบเรียลไทม์ โดยผู้เล่นจะรู้สึกเหมือนเล่นกีตาร์ตามปกติ เพียงแค่ติดเจ้าเครื่องเล็ก ๆ นี้ไว้กับบริดจ์ของกีตาร์ ก็จะมี 3 ฟังก์ชันมาให้เลือกใช้ คือ

1. เปิดแบ็คกิ้งแทร็คแบบฟูลแบนด์ ซึ่งเสียงจะแน่นเหมือนเล่นกับวงจริง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเพลงของคุณเองหรือจะเลือกเล่นตามประเภทของเพลง ซึ่ง tempo ก็จะไหลตามที่เราเล่น ไม่ใช่เราต้องตามจังหวะของแบ็คกิ้งแทร็คเหมือนปกติ แถมยังสามารถเล่นด้วยมือเดียวโดยไม่ต้องดีด ที่สำคัญคือสามารถมิกซ์เสียงได้ เพื่อปรับบาลานซ์และซาวด์ได้ตามใจ

2. แปลงเสียงกีตาร์เป็นเครื่องดนตรีอื่น โดยจะเลือกเล่นเป็นเครื่องดนตรีอื่นเฉย ๆ หรือจะเล่นแล้วอัดลูปไว้ เพื่อกลับไปดีดกีตาร์อย่างสบายใจก็ทำได้เช่นกัน (หรือจะในทางกลับกัน เล่นเครื่องดนตรีอื่นโดยทิ้งเสียงกีตาร์ไว้ ก็ทำได้เช่นกัน)

3. ใช้กีตาร์แทน MIDI Controller เพื่ออัด MIDI เข้าโปรแกรมทำเพลง จากนั้นก็ปรับแต่งเสียงได้ตามใจเล้ย

ปัจจุบัน OMB มีสินค้าขาย 3 อย่าง คือกีตาร์แบบ built in มี OMB ติดมาให้เลย เป็นกีตาร์ไฟฟ้า 2 แบบและกีตาร์โปร่ง 1 แบบ, ตัวเครื่อง OMB ที่สามารถติดตั้งไปที่กีตาร์ที่มีอยู่แล้ว และสุดท้าย pedal สำหรับเหยียบเพื่อให้เปลี่ยนโหมดต่าง ๆ ใน OMB ได้อย่างรวดเร็ว

 

อัพเดตเล็กน้อยจากบทความ10 สิ่งล้ำ ๆ ในคอนเสิร์ตยุค 2017

1. Concertpass แอปพลิเคชันที่ช่วยมอบสิทธิพิเศษ (rewards) แก่ผู้เข้าชมคอนเสิร์ต

ตอนนี้เหมือนจะหยุดพัฒนาไปแล้ว

2. Mixhalo ระบบ Smart Earbuds ที่คุณมิกซ์เสียงได้เองกลางคอนเสิร์ต

ตอนนี้ปล่อยแอพ iOS แล้ว และมาจับมือกับ Metallica ให้แฟน ๆ ทุกคนได้ใช้ฟรี โดยถ้าเป็นบัตร VIP จะมีเจ้าหน้าที่นำอุปกรณ์และหูฟังมาให้ถึงที่นั่งเลยทีเดียว

ดูเพิ่มเติม: mixhalo.com/metallica

3. Yondr song log ได้สำหรับใส่มือถือเพื่อไม่ให้นำออกมาใช้ระหว่างชมการแสดง

ได้ใช้จริงแล้วในคอนเสิร์ตของ Dave Chappelle, Jack White, Chris Rock, Amy Schumer, Childish Gambino, Michael Che, Bruno Mars, Ellen DeGeneres และตามงานอีเวนต์, โรงเรียน ฯลฯ อีกมากมาย

4. Hologram เมื่อนักร้องผู้ลาโลกฟื้นคืนชีพ

ปี 2019 Amy Winehouse, Dio, Zappa จะกลับมาทัวร์!

 

อ้างอิง

The Future of Entertainment
Inside the Insane Concert Venue of the Future
THE WORLD’S MOST INNOVATIVE COMPANIES 2018 HONOREES BY SECTOR
The future of music: 10 predictions from industry professionals
The Music Tech Trends Defining 2018
Ronnie James Dio hologram tour to hit 100-plus cities in 2019; Frank Zappa hologram trek also in works
Intellitix RFID Wristband and Event Technology Solutions
will.i.am Gets $117 Million to Build Omega Voice Assistant for Enterprise Users
will.i.am Debuts New AI-powered Voice Assistant Omega
HD Vinyl: The Future of Vinyl Records
Music: Not Impossible
Vibrotextile Surround-Body Experience Bypasses Eardrums Enabling Users to ‘Hear’ Music via the Brain
OneManBand (OMB) – A New Way to Play Guitar
Facebook Comments

Next:


Malaivee Swangpol

มิว (เรียกลัยก็ได้)​ โตมาข้าง ๆ วงมอชแต่ตอนนี้ฟังทุกแนว ชอบอ่านหนังสือ ตามหาของกินอร่อย ๆ และตอนนี้ก็คงกำลังวางแผนเที่ยวรอบโลกอยู่