จับเชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่มาทำเพลง หาวิธีต่อกรกับโรคระบาดในตอนนี้

Article Story

จับเชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่มาทำเพลง หาวิธีต่อกรกับโรคระบาดในตอนนี้

ที่ผ่านมา เราน่าจะรู้สึกแล้วว่า Covid-19 มันทำร้ายนักดนตรีไปมากมายแค่ไหน สังเกตได้จากเพลงที่ถูกแต่งขึ้นโดยได้แรงบันดาลใจมาจากโรคระบาด หรือเพลงที่ให้กำลังใจกันในยามยากแบบตอนนี้ นี่จะเป็นครั้งแรกที่เราจะได้ยินเสียงของเจ้า SARS-CoV-2 หรือโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ที่กำลังสร้างความวุ่นวายในบ้านเราอยู่บ้าง

เพื่อทำความเข้าใจเจ้าไวรัสตัวนี้มากขึ้น Markus Buehler และนักศึกษาจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ ลองแปลโครงสร้างของโปรตีนในตัวมันให้กลายเป็นเสียงดนตรี โดยใช้ AI เข้ามาช่วยประมวลผลจากข้อมูลจำลองแบบสามมิติของโปรตีนกว่าหนึ่งแสนชนิด สำรวจในระดับอะตอม ผลลัพธ์ของมันน่าทึ่งมาก สิ่งที่ได้คือดนตรีบรรเลงอันผ่อนคลายกว่าสองชั่วโมง ที่กล้องจุลทรรศน์ไม่สามารถอธิบายออกมาได้

Buehler บอกว่า สมองของคนเราประมวลผลเสียงได้ดีมาก ๆ ทั้งเสียงต่ำ เสียงสูง ทำนอง จังหวะหรือคอร์ด การที่จะจำแนกรายละเอียดของสร้างของไวรัสตัวนึงผ่านกล้องจุลทรรศน์ อาจต้องใช้เวลานานมากกว่าเราจะสังเกตองค์ประกอบโปรตีนของมันทั้งหมด แต่เมื่อเปลี่ยนสิ่งเหล่านี้ให้กลายเป็นเสียงดนตรี มันทำให้เราเห็นในสิ่งที่ตาเราอาจมองไม่เห็นเลยก็ได้ กลายเป็นคลังข้อมูลที่เข้าใจง่ายขึ้นเยอะ

โคโรน่าสายพันธุ์ใหม่มีองค์ประกอบที่ซับซ้อนเป็นพิเศษ มันเชื่อมโยงโครงสร้างของโปรตีนสามแบบเข้าด้วยกันชวนสับสน ความดังของเสียง ความยาวของเพลง และจังหวะของโน้ตแต่ละตัวคอยชี้ให้เราเห็นว่ากรดอะมิโนที่ประกอบกันอยู่ในโปรตีน มีรูปแบบการจัดเรียงยังไงบ้าง

โครงสร้างของมันเล็กเกินกว่าจะสังเกตเห็นได้ด้วยตา เรายังได้ยินมันอยู่ดี แต่เขาไม่ได้สร้างเพลงนี้ขึ้นมาเพื่อความจรรโลงใจหรือพยายามหาข้อดีของเจ้าเชื้อร้ายตัวนี้หรอกนะ

เมื่อสามารถระบุโครงสร้างของโปรตีนของมันได้ ก็จะกลายเป็นเครื่องมืออีกชิ้นที่ทำให้นักวิทยาศาตร์รู้ว่า จะกำจัดมันได้ยังไงด้วย

ในระหว่างการสร้างเพลงขึ้นมา พวกเขาพยายามวิเคราะห์การสั่นสะเทือนของโครงสร้างของโปรตีนไปด้วย ว่าอะไรทำให้มันเกิดเสียงแบบนี้ ถ้าทำความเข้าใจรูปแบบของการสั่นสะเทือนของมันได้ ก็ง่ายต่อการออกแบบยามาเพื่อต่อกรกับมัน เช่นการสั่นสะเทือนอาจเปลี่ยนไปในอุณหภูมิที่สูงขึ้น ซึ่งอาจบอกได้ว่าทำไม SARS-CoV-2 ถึงขัดขวางการเดินทางของเซลล์ในตัวเราได้มากกว่าเชื้อไวรัสตัวอื่น

ครั้งนี้เราจะใช้เสียงดนตรีเป็นอาวุธ สื่อสารผ่าน AI กับตัวไวรัส นักวิทยาศาสตร์อาจจะมองหาโปรตีนซักตัวหนึ่งที่เข้ากับเมโลดี้ หรือเลือกแอนตี้บอร์ดี้ที่ลงตัวกับจังหวะของมัน เพื่อรบกวนความสามารถในการแพร่กระจายไวรัสของมันในร่างกายคนได้

เจ้าไวรัสตัวนี้สอนให้เรารู้ว่า มันก็เหมือนงานศิลปะชนิดหนึ่งที่มีหลายแง่มุมให้เราได้ลองตีความ เพลงนี้ก็ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาในมุมของความคิดสร้างสรรค์หรือศิลปะอย่างเดียว ถ้าฟังแล้วชอบก็ต้องระลึกไว้เสมอว่ามันกำลังหลอกหูเรา เหมือนที่ไวรัสพยายามหลอกเซลล์ในร่างกายของเราว่ามันมาดี แต่จริง ๆ คือมาร้าย

ต้องขอบคุณ SARS-CoV-2 ที่ทำให้พวกเรามองไวรัสในมุมใหม่ และสร้างสรรค์วิธีใหม่ ๆ ในการต่อสู้กับสิ่งเหล่านี้

อ้างอิง
abc.net.au
sciencemag.org
council.science
news.mit.edu

Facebook Comments

Next:


Peerapong Kaewthae

แม็ค เป็นคนชอบฟังเพลงเพราะเป็นกิจกรรมที่ทำคนเดียวได้ และก็ชอบแนะนำวงดนตรีหรือเพลงใหม่ ๆ ให้คนอื่นรู้จักผ่านตัวอักษรตลอดเวลา