Feature Head talk

Pok & Tul: Freedom of Music

  • Writer: Gandit Panthong
  • Photographer: Neungburuj Butchaingam
  • Stylist: Varachaya Chetchotiros
  • Art Director: Son of Jumbo

Stylish Nonsense คือ วงดนตรีสัญชาติไทย แนวดนตรี Freestyle สังกัด Panda Records มีสมาชิก 2 คนคือ ยุทธนา กะลัมพะเหติ (จูน) และ วรรณฤต พงศ์ประยูร (ป๊อก) มีผลงานออกมา 1 อัลบั้มคือ Use Your Professor

Apartment Khunpa คือ วงดนตรีทีเกิดขึ้นในปีพ.ศ. 2545 มีสมาชิกในวงทั้งหมด 5 คนได้แก่ ตุล ไวทูรเกียรติ (ตุล) ปิย์นาท โชติกเสถียร (ปั้ม) กันต์ รุจิณรงค์ (บอล) ภู่กัน สันสุริยะ (ใหม่) ทรรศน์ฤกษ์ ลิ่มศิลา (จ้า) โดยแนวดนตรีของพวกเขาคือแนว Rock N’roll ปัจจุบันมีผลงานแล้วทั้งหมด 4 อัลบั้มคือ Your First Kiss , Romantic And Comendy , สมรสและภาระ และอัลบั้มรักสนิยมที่กำลังจะออกในปี 2559

วรรณฤต พงศ์ประยูร (ป๊อก)
ตุล ไวทูรเกียรติ (ตุล)

1

ถ้าต้องทำเพลงเพื่อให้คนฟังรู้สึกดีกับเรา ความหมายของคำว่าอิสระ มันก็จะเปลี่ยนไปทันที

จะไม่มีกำแพงขวางกั้นคนดนตรี
จะหลับตานอนฝันถึงวันพรุ่งนี้ที่ดี

จุดเริ่มต้นของบทสนทนาครั้งนี้มันเกิดขึ้นจากความต้องการของตัวผมเองที่อยากจะนำเสนอเรื่องราวของอิสรภาพทางดนตรีในประเทศไทยว่าแท้จริงแล้วมันมีคำนี้เกิดขึ้นจริงหรือไม่ แล้วกระบวนการทำงานของนักดนตรีอิสระทุกวันนี้มันเป็นเช่นไรอยู่รอดมั้ยหากจะเป็นอาชีพนักดนตรี ผมจึงได้นัดคุณป๊อก แห่งวง Stylish Nonsense และคุณตุล แห่งวง Apartment Khunpa มาสนทนากันให้รู้ไปเลยว่าแท้จริงแล้วอิสรภาพจากเสียงดนตรีมันมีจริงรึเปล่า แล้วเสียงดนตรีให้อะไรกับชีวิตพวกเขาบ้าง โดยการสนทนาครั้งนี้ผมนัดพวกเขาที่ร้านกาแฟ ย่าน RCA สถานที่ท่องเที่ยวราตรีของวัยรุ่นไทยนั้นเอง เมื่อเขาทั้งสองคนเดินมาถึงในบริเวณร้านกาแฟที่ผมรออยู่ บทสนทนานี้จึงเกิดขึ้น ผมไม่รอช้ารีบชิงถามถึงเรื่องที่สงสัยในทันใด

อิสระทางดนตรีในมุมมองของคุณ คืออะไร 

ป๊อก : เราว่าดนตรีน่าจะมีความเป็นอิสระในตัวของมันอยู่แล้ว เพราะมันก็เป็นศิลปะอย่างนึง ซึ่งไอ้คำว่าศิลปะเนี่ย ถ้าเกิดจากความอิสระมันก็คิดได้หลายอย่าง ไม่ได้จำกัดว่าจะต้องเป็นเพลง เป็นภาพ มันเป็นอะไรก็ได้แล้วแต่คนจะคิดเลย

ตุล : ดนตรีมันไม่ใช่สิ่งจำเป็นในชีวิตมนุษย์นะ ผมว่ามันอยู่ที่ว่าตัวเราเองจะทำอะไรกับดนตรีได้บ้างต่างหาก ทำให้เพลงดีก็ทำได้ ทำเพลงให้ห่วยก็ทำได้ ดนตรีมันไม่เคยทำร้ายใคร มันมีความอิสระในตัวของมันอยู่แล้ว อย่างเช่น ถ้าเราฟังเพลงนี้แล้วชอบ ตัวเราก็จะแฮปปี้ คนอื่นอาจจะฟังแล้วมันไม่เพราะก็ไม่เป็นไร การฟังดนตรีมันไม่เหมือนการสร้างบ้านนะ การสร้างบ้านยังมีกรอบ มีข้อจำกัดของมัน แตกต่างจากการทำเพลงเลย ถ้าเพลงมันแย่ มันก็ไม่มีใครเจ็บ ไม่มีใครเดือดร้อนนะ แค่ไม่มีคนฟังเท่านั้นเอง ดนตรีเลยมีอิสระ เพราะฉะนั้นแล้ว เราอยากทดลองทำอะไรก็ทำได้ ทำไปเถอะ ไม่มีใครเดือดร้อนจากการกระทำของเราเท่าไหร่หรอก นี่คืออิสระของดนตรี

2

การสร้างสรรค์ผลงานในแบบฉบับ ป๊อก – ตุล

ป๊อก : เรื่องของการทำเพลงถ้าตัดเรื่องของคนออกไป เราก็คิดว่ายังมีอิสระในการทำเต็มที่อยู่นะ เว้นแต่ว่าเราต้องการทำเพลงเพื่อเอาใจคน หรือแม้แต่เอาใจตัวเอง ถ้าต้องทำเพลงเพื่อให้คนฟังรู้สึกดีกับเรา ความหมายของคำว่าอิสระ มันก็จะเปลี่ยนไปทันที

ตุล : จริง ๆ ผมว่าดนตรีของ Apartment Khunpa ตอนเราเริ่มคิดก็ไม่มีอะไรมากกว่าความรู้สึกในใจของผมนะ เวลาเขียนหรือแต่งเพลงได้เนี่ย มันต้องมีเรื่องมากระทบใจ ไม่สบายใจ มันคือความทุกข์ชนิดนึงจริง ๆ ดนตรีของผมเกิดจากความไม่ปกติในจิตใจนะ เมื่อมีเรื่องที่ไม่ปกติในจิตใจ เราก็ต้องระบายออกมาด้วยการเขียนเพลง ซึ่งในกระบวนการทำเพลงอย่างที่ป๊อกบอก มันต้องมีระบบระเบียบวินัยในตัววงอยู่แล้ว อิสระมากไม่ได้หรอก มันต้องมีการนัดซ้อมกัน นัดอัดเพลง ไหนจะความเห็นที่ต่างกันของสมาชิกในวงอีก มันคือการบริหารจัดการชนิดนึงก็ว่าได้ เราจะแบ่งอำนาจยังไงให้ลงตัวเนี่ยแหละคือโจทย์สำคัญในการทำเพลงของวงเราเลย

การเมืองในวง Stylish Nonsense และ  Apartment Khunpa

ป๊อก : วงเราจะเป็นการต่อสู้เรื่องของไอเดียเป็นส่วนใหญ่ มันจะเกิดความคิดของวงขึ้นเสมอว่า เราอยากจะแต่งเพลงออกมาเป็นอย่างไร อยากจะใส่อะไรลงไปในเพลงบ้าง ทุกครั้งที่ทำเพลงเราจะเถียงกับจูน (ยุทธนา กะลัมพะเหติ หรือ จูน Stylish Nonsense) ตลอด แต่คิดไปคิดมา ไอ้สิ่งที่เถียงเนี่ย มันก็จะพาไปสู่จุดเดียวกันนั่นก็คือเพลงที่เสร็จสมบูรณ์ เหมือนตอนแรกความเห็นไม่ตรงกันเลยนะ แต่จริง ๆ แล้วผลลัพธ์ที่ได้ก็ไปทางเดียวกัน ทุกวันนี้ก็ไม่รู้จะเถียงกันไปทำไม (หัวเราะ)

ตุล : การทำงานเป็นหมู่คณะต้องมีจุดหมายปลายทางนะ บางทีตัวเราเองก็ไม่ได้กำหนดกฎเกณฑ์อะไรมาก แต่สุดท้ายไอ้การทำงานกลุ่มหรือการทำวงดนตรีเนี่ย หนึ่งอย่างที่ต้องมีเลยก็คือเดดไลน์หรือกำหนดส่งงาน ถ้าไม่มีเดดไลน์ มันก็ทำไปเรื่อย ส่วนใหญ่วงของผมช่วงระหว่างการแต่งเพลง มันดูเหมือนง่ายนะ แล้วก็ไปซ้อม ๆ กันให้มันออกมาเป็นเพลง ช่วงซ้อมจะเป็นช่วงของการกำหนดจังหวะเพลงว่า เฮ้ยเอายังไงดีวะ จะเอาจังหวะ 98 หรือ 96 ดี ท่อนนี้ทำไงกับมันได้บ้าง เรื่องพวกนี้มันเป็นการถกเถียงที่เหมือนจะมีสาระ แต่ก็ไร้สาระ สิ่งเหล่านี้มันคือความโรคจิตของนักดนตรีนะ เพลงยังไงมันก็คือเพลงนั่นแหละ เราเล่าเรื่องนี้เลย เพราะ มันก็จะมีรายละเอียดดีเทลเล็ก ๆ มากมายเต็มไปหมด อยู่ที่ว่าเราจะแบ่งความสำคัญยังไงให้ส่งงานทัน ไอ้เดดไลน์เนี่ย ผมชอบมากไม่ว่าจะเถียงกันยังไง วันนี้ก็ต้องจบนะ แต่ถ้าไม่มีเดดไลน์แล้วละก็ สมมติให้วันนี้กลับไปฟังเพลงที่ทำกันที่บ้านของแต่ละคน แล้วพรุ่งนี้ค่อยว่ากันใหม่ มันก็จะไม่จบสักที การเมืองในวงเรามันเลยจะค่อนข้างดุเดือดนิดนึง

ใครคือผู้นำในวงดนตรีของพวกคุณ

ตุล : Apartment Khunpa ต้นเรื่องทั้งหมดมันก็จะมาจากผมแหละ แต่ว่าพอเข้าห้องอัดไปแล้ว มันก็ต้องฟังกันหลาย ๆ คนนะ แน่นอนในวงจะมีคนที่มีการพูดและตัดสินใจได้น้ำหนักอยู่ แต่มันก็จะมีพวกอะไรก็ได้คอยเสริมเข้ามาอีกชุดนึง คือวงเราจะมีทั้งคนที่คุยยากมากเรื่องดนตรีกับคนที่อะไรก็ได้ มันมีคนแบบนี้ผสมกันอยู่ ซึ่งเป็นเรื่องดีนะเพราะถ้ามีแต่พูดเข้าใจยากหมดเลย มันก็จะตีกันเละ ฉะนั้นถ้ามีคนที่ยากบ้าง อะไรก็ได้บ้างอยู่ในวงเดียวกัน มันก็จะกำลังดีเมืองเราจะเป็นแบบนี้ปกครองกันสบาย ๆ

ป๊อก : ถ้าเป็นฝั่งเรา Stylish Nonsense ช่วงแรกเนี่ยต่างคนต่างมีความเห็นกัน มันก็จะมีข้อดีว่า ทำให้ไอเดียมันออกมาเยอะมาก งานมันก็จะเสร็จเร็วด้วย แต่มันก็ต้องใช้วิธีของตุลเหมือนกันว่า มันต้องมีเดดไลน์ มีสรุปว่าเพลงนี้เราจะเอาแค่ 3 นาทีพอ อีกเพลงเอา 8 นาทีละกัน ไม่งั้นมันก็จะไม่มีจุดจบซะที งานเพลงของวงเราที่ทำออกมา มันก็เป็นไปตามสถานการณ์นะ ถึงเราจะไม่ยอมกัน มันก็ต้องคุยกันให้ลงตัวและผลิตผลงานออกมาให้ได้

3

เวลาผมเขียนหรือแต่งเพลงได้เนี่ย มันต้องมีเรื่องมากระทบใจ ไม่สบายใจ มันคือความทุกข์ชนิดนึงจริง ๆ ดนตรีของผมเกิดจากความไม่ปกติในจิตใจนะ

เคยเจอคนฟังเพลงของพวกคุณไม่รู้เรื่องบ้างรึเปล่า

ป๊อก : เจอบ่อยมาก เพราะเราจะเล่นไม่ค่อยเหมือนในอัลบั้ม บางคนเคยฟังเพลงของวงเรามาก็เข้าใจว่าวงเราจะเป็นแบบนั้น แต่พอไปดูแล้วจะเป็นอีกแบบนึง จริง ๆ วงเราตั้งใจไว้ว่าจะเป็นแนวเพลงแบบ freestyle คนฟังที่เขายังไม่รู้จักเราก็จะงง ๆ ว่า พวกเราเล่นอะไรกันอยู่วะ เจอแบบนี้บ่อยมาก แต่เราก็เข้าใจครับ

ตุล : ช่วงแรก ๆ คนไม่ฟังเพลงเราเลยก็มี คนอุดหูก็มี Apartment Khunpa เนี่ย เดินหนีตอนเราเล่นอยู่นี่เจอบ่อยเลย แต่โชคดีหน่อยช่วงนี้ไม่ค่อยเจอแล้ว (หัวเราะ) ก็ไม่ได้รู้สึกแปลกใจอะไรนะ ช่วงนั้นรู้สึกชินมากกว่าครับ ยอมรับสิ่งที่ผู้ฟังแสดงออกมาเสมอครับ

อะไรที่ทำให้ยังเล่นดนตรีอยู่ในทุกวันนี้

ป๊อก : น่าจะเป็นความชื่นชอบในเสียงดนตรีครับ เราเชื่อว่าทุกคนมาเล่นดนตรี มันก็มาจากความชอบ ทีนี้เมื่อมีความชอบมากขึ้น เราก็เสาะหาแนวดนตรีใหม่ ๆ ลึกเข้าไปเรื่อย ๆ ซึ่งเมื่อเสาะหาแล้วก็ค้นพบอะไรใหม่ ๆ เต็มไปหมดเลย เราก็เลยไม่หยุดสร้างสรรค์ดนตรีในแบบของเรา เหมือนเป็นการผจญภัยนะการเล่นดนตรีในทุกวันนี้

ตุล : ส่วนผมคงจะเป็นเรื่องของการมีเพื่อนที่เกิดจากการเล่นดนตรีครับ อย่างวง Apartment Khunpa พวกเราอยู่กัน 5 คน สมาชิกวงเราก็ไม่เคยเปลี่ยน ไม่ค่อยมีใครออกจากวง แถมมีเพิ่มมาเรื่อย ๆ ด้วย ตอนนี้มี 6 คนแล้ว แถมมี Technician มี Sound Engineer มีผู้จัดการวง เพิ่มมันกลายเป็นครอบครัวที่ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ทุกคนเติบโต ทำงานไปด้วยกัน ความเป็นพี่เป็นน้องตรงนี้เป็นความสุขที่ผมภูมิใจเสมอว่าวงเราไม่เคยเปลี่ยนสมาชิกเลย

ป๊อก : เราก็มีความรู้สึกแบบเดียวกันกับตุลนะ การที่เราทำค่ายเพลง ดนตรีมันให้มากกว่าเสียงเพลงนะมีความสำคัญแบบเพื่อน พี่ น้อง ครอบครัว อย่างค่าย Panda Records ของเรา สมมติว่าปีนี้มีวงใหม่มาทำเพลงด้วย มันก็จะมีการสร้างความสัมพันธ์เกิดขึ้น ทุกวันนี้ยังไม่เคยมีใครมาบอกเรานะ เลิกทำดนตรีกันเถอะ ไปทำงานอย่างอื่นแหละ ยังไม่เคยเจอนะ (หัวเราะ)

ทำไมถึงอยากเป็นผู้จัดงานเทศกาลดนตรี

ป๊อก : ความคิดตอนที่เริ่มทำ Stone Free Music Festival เราคิดว่า ถ้าเกิดมันยังไม่มีงานอะไรแบบนี้เกิดขึ้น นักดนตรีหลาย ๆ คนก็อาจจะไม่มีงานเล่น หรือไม่มีพื้นที่เล่นดนตรีก็เป็นได้ ยิ่งเป็นสายที่ผมดูแลอยู่ พวกดนตรีแนวใหม่ ๆ พวกเขาไม่ค่อยมีพื้นที่ให้เล่นเลย เราอยากจะมีเทศกาลให้วงพวกนี้ได้เล่น มันก็เลยเกิดเทศกาลนี้ขึ้นมา แต่ด้วยสถานการณ์บ้านเมืองที่เกิดขึ้นทุกวันนี้มันไม่ค่อย Support อะไรเราเลย ไม่มีเงินทุนใด ๆ สนับสนุนทั้งสิ้น เราก็เลยสร้างเทศกาลนี้ขึ้นมาด้วยใจของเราเลย แต่ปัจจุบันนี้งานดนตรีพวกนี้มันก็เยอะแล้วนะ มันทำให้เราเริ่มรู้สึกว่าหมดความจำเป็นที่ทำงานพวกนี้แล้ว ขอส่งไม้ต่อให้คนอื่นรับช่วงเทศกาลนี้ ไปจากเราครับ

ตุล : สำหรับเรา อย่างงาน SALA Inspiring Space จริง ๆ จุดมุ่งหมายมันไม่ใช่ Music Festival นะ มันมีจุดขายของมันอยู่ จุดเด่นของมันคือการมาเล่าประสบการณ์ชีวิต แชร์ประสบการณ์ที่ดีให้คนรุ่นหลังฟัง เหมือนเอาประสบการณ์จากคนหลากหลายสาขาอาชีพมาเล่าให้ฟัง ดนตรีคือการแสดงความบันเทิงในงานเท่านั้น ตรงนี้เองที่ทำให้ SALA Inspiring Space แตกต่างจากงานเทศกาลอื่น แต่ปีนี้เราไม่ได้จัดนะ ปีหน้าจะกลับมาจัดอีกครั้งแน่นอน เราจะพยายามวางสัดส่วนของดนตรีให้น้อยลงด้วย เพราะคนอื่นทำ Music Festival เยอะแล้ว ยังไงก็ฝากติดตามกันด้วยครับ

4

ความคุ้มค่าของเทศกาลดนตรีที่จัดคุ้มรึเปล่า

ตุล : เจ๊งครับ (หัวเราะ)

ป๊อก : ตอบได้เร็วมากนะเนี่ย

ตุล : จริง ๆ การที่ทำงานเทศกาลพวกนี้เจ๊งเนี่ย มันไม่เชิงเป็นบทเรียนนะ คิดซะว่ามีตังค์ก็ใช้กันดีกว่าเอาเงินไปใช้อย่างอื่น เอามาทำอะไรแบบนี้ดีกว่า เกิดประโยชน์กว่าเยอะเลย

ป๊อก : อย่างงาน Stone Free Music Festival ของผม เรียกว่าเจ๊งในแง่ผลตอบแทนเป็นตัวเงินนะ แต่มันไม่ได้คาดหวังไว้ตั้งแต่แรกไง เราหวังไว้แค่ว่าเราอยากมีพื้นที่ให้นักดนตรี ได้ออกมาเล่นดนตรีกัน แล้วมันเกิดขึ้นแล้ว คิดว่ามันคุ้มค่ามาก ๆ แล้วนะ

ตุล : ผมเชื่อว่าเวลาเราจัดงานเทศกาลดนตรีพวกนี้ เราไม่ได้คิดหรอกว่ามันจะต้องได้กำไร อันนี้มันเหมือนเป็นความสุข ยกตัวอย่างง่าย ๆ เหมือนคุณไปเที่ยวโสเภณีแล้วคุณมีเซ็กส์เพื่อความมัน งานพวกนี้ก็เหมือนกัน มันเป็นการระบายความใคร่ของคนเสี้ยนจัดงานเทศกาลดนตรี มันฟินนะ ไม่ได้อยู่ที่การได้กำไรหรือเปล่า เพราะมันมีเงินที่ต้องจ่ายของมันอยู่แล้ว เรารู้อยู่แล้วว่าต้องใช้จ่ายเท่าไหร่ เรื่องเงินมันไม่ใช่เรื่องใหญ่เลย แต่สิ่งที่เราได้รับกลับมามันยิ่งใหญ่กว่าเงินเยอะเลย มิตรภาพที่ดี ความสนุกสนานการต่อยอดของไอเดีย ถ้าเราทำแล้วมีคนอื่นเอาพลังงานตรงนี้ไปทำต่อได้มันโคตรคุ้ม เพราะกว่าที่เราจะมาอยู่ตรงนี้ได้ มันก็มีคนรุ่นพี่ที่เขายอมทำอะไรแบบนี้ที่ไม่ได้กำไรเหมือนกัน สุดท้ายแล้วเราก็ต้องจัดงานเทศกาลพวกนี้ให้มีอยู่เพื่อคนรุ่นหลังต่อไปครับ

ปัญหาเกิดจากคนไม่ซื้อบัตรเข้างานคอนเสิร์ตมีส่วนมั้ย

ป๊อก : ถ้าเป็นเรื่องนี้ก็น่าจะมีส่วนนะ มันเป็นค่านิยมวัฒนธรรมในการดูคอนเสิร์ตของเมืองไทยเลยแหละ ทั้งผู้ใหญ่ทั้งเด็กเลย เอาง่าย ๆ ถ้าเราจะจัดงานเทศกาลดนตรีแล้วมีการเก็บเงินค่าเข้าเนี่ย มันจะเป็นด่านแรกในการวัดใจพวกเขาว่าจะจ่ายเงินมั้ย เหมือนสกรีนคนเข้างานด้วยว่าเขาอยากจะมาดูและเสียเงินให้เราหรือเปล่า ตอนที่ทำ Stone Free Music Festival ทีแรกไม่ได้คิดเลยว่าต้องเก็บเงินเข้างานกี่บาท เพราะผู้จัดอย่างเราเองยังไม่รู้เลยว่า ทำแล้วจะออกมาดีมั้ย เราเลยใช้เป็นว่า ใครมางานจะให้เท่าไหร่ก็ได้ แล้วแต่กำลังศรัทธาเลย ปรากฏพอทำแล้วคนมาดูยิ่งงงหนักเลยว่าตกลงกูต้องให้เงินกับงานนี้เท่าไหร่วะเนี่ย ตอนนั้นเลยตัดสินใจว่างั้น 100 บาทละกัน ซึ่งคนดูเขาก็พอใจที่จะให้มากกว่านั้น เขาก็ให้ด้วยนะ แต่สุดท้ายอย่างที่บอกครับ มันมีเรื่องของค่าใช้จ่ายที่มากขึ้น เราก็ต้องตั้งราคาบัตรให้มันสมเหตุสมผลมากขึ้น ซึ่งพอขึ้นราคาบัตรแล้ว มันก็เป็นจำนวนเงินเยอะขึ้นกว่าเดิมนะ ทำให้เขาต้องตัดสินใจมากขึ้น เพราะฉะนั้นเรื่องบัตร มันก็มีส่วนเหมือนกัน

ตุล : ถ้าให้เทียบกันจริง ๆ อย่างผมเคยจัดงาน SALA Inspiring Space หรืองานคอนเสิร์ตของวง Apartment Khunpa เอง งานคอนเสิร์ตสุข 13 ราคาค่าบัตรมันก็เป็นราคาที่สมเหตุสมผลนะ ถ้าตัวเราเองมางานแบบนี้ เราก็อยากจะจ่ายนะ ราคาโอเคเลย ตอนที่จัดเรารู้เลยว่างานนี้มันคงไม่กำไร แต่มันก็ไม่ขาดทุนขนาดที่รับไม่ได้แน่ ๆ จะให้ขายบัตรแพงกว่านี้ เราก็ต้องเข้าใจแฟนเพลงของเรานะว่า เขาไหวกันที่ราคาเท่าไหร่ เราอยากให้คนมาเยอะ ขณะเดียวกันตัววงเองก็ไม่ได้ลดต้นทุนของงานนี้เลย สุดท้ายแล้วผมก็มองว่า จริง ๆ มันก็เหมือนจัดงานแต่งงานแหละครับ เราก็อยากให้แขกที่มางานแฮปปี้ อยากให้เขากินโต๊ะจีน ทุกคนได้กิน ไม่มีใครยืนหิวอะไร ส่วนเงินทองก็ได้มาสักประมาณนึงก็โอเคแล้ว รายได้หลักของเราไม่ได้มาจากตรงนี้ ดังนั้นมันไม่ได้เป็นสิ่งที่ต้องมาคิดอะไรมาก ซึ่งปัจจุบันนี้ คนกล้าที่จะจ่ายเงินค่าบัตรคอนเสิร์ตมากขึ้นนะ ผมก็มองว่า 5 ปีข้างหน้า เรื่องนี้จะไม่มีปัญหา เรื่องคนดูไม่ยอมจ่ายเงินค่าบัตรเนี่ย เดี๋ยวนี้คนก็เข้าใจมากขึ้น

ป๊อก : ที่ตุลบอก จริง ๆ มันเริ่มเกิดขึ้นแล้วนะ คนดูเริ่มเข้าใจคนจัดงานมากขึ้น รู้ที่มาที่ไปยังไง รู้ว่ามีคนทำงานพวกนี้ให้ แล้วก็รู้ว่าถ้าไม่ซื้อบัตรเขา แล้วเขาจะเอาเงินตรงไหนไปใช้จัดงานดนตรีดี ๆ ละ พอเขาได้เสียเงินเพียงเท่านี้ เขาก็รู้สึกภูมิใจและยอมรับได้นะ มันเหมือนตอนนี้สิ่งนี้ปลูกฝังคนฟังเพลงมากขึ้นกว่าแต่ก่อนเยอะเลยแหละ

5

เทศกาลดนตรีในฝันที่อยากทำ

ป๊อก : เราอยากจัดงานแบบที่มันสามารถส่งต่อความรู้สึกให้คนอื่น ๆ ได้อ่ะ ปัจจุบันนี้บางทีเราจะจัดงานคอนเสิร์ตทีมันก็เริ่มมีเรื่องกฎหมาย การเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องแล้วใช่มั้ย ยิ่งพอพูดถึงประเด็นเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ อะไรพวกนี้ ยิ่งรู้สึกว่าปัญหาเรื่องพวกนี้มันเยอะมาก ๆ เลยนะ ที่ผ่านมา เราทำแล้วก็สิ้นใจ ส่งไม้ต่อให้คนอื่นไปทำต่อบ้าง เราเลยรู้สึกว่าถ้าทำงานเทศกาลดนตรีในฝันได้ก็คงทำงานที่มันสามารถส่งต่อให้คนดูและคนจัดงานต่อไปภายในอนาคตได้ มันก็รู้สึกดีมาก ๆ แล้วแหละ อยากทำเทศกาลแบบนี้มันจะเป็นเทศกาลที่ไม่ได้เสียดายเงินด้วย มันมีความรู้สึกเหล่านี้มาทดแทนซึ่งมันดีมาก ๆ

ตุล : ในอนาคตก็มีความรู้สึกอยากจะทำเทศกาลดนตรีเหมือนกันนะ ตอนนี้ก็เริ่มคุยกับค่ายสนามหลวงมิวสิกเหมือนกัน ในฐานะที่ตอนนี้เราก็มีโอกาสได้อยู่ตรงนี้ก็อยากจะทำเทศกาลที่ไม่ต้องใหญ่มาก อยากให้มันเป็นงานเล็ก ๆ ผมจะเปิดโอกาสให้วงดนตรีหน้าใหม่ ๆ ได้เข้ามาแสดงฝีมือกัน อย่างงานใหญ่ ๆ ที่ผมได้เข้าไปร่วมเนี่ยมันมีหลาย ๆ อย่างที่ไม่ค่อยโอเคเท่าไรนะ ถ้าผมได้จัดจริง ๆ บทเวทีระหว่างโชว์ต้องมีความเงียบเกิดขึ้น 40 นาทีทุกโชว์นะครับ เพื่อโชว์ในงานไม่เลทด้วยและการสับเปลี่ยนวงดนตรี เครื่องดนตรีต่าง ๆ ต้องทันเวลาถ้าเป็นไปได้แบบนั้นมันจะชิวมาก ๆ เลย ในงานอยากได้วงดนตรีประมาณ 10 วงก็พอแล้ว ส่วนไอ้เรื่องความเงียบที่เกิดขึ้นระหว่างโชว์เนี่ยที่ต้องการให้เกิด เพราะ อยากให้คนดูได้พักทำอย่างอื่นภายในงานด้วยให้เขารู้สึกสบาย ๆ ไม่ต้องยืนรอกันให้เมื่อย อย่างผมเวลาไปงานต่าง ๆ จะต้องการความเงียบค่อนข้างสูง ซึ่งงานส่วนใหญ่ตอนนี้มันก็จะไม่ค่อยมีที่เงียบ ๆ เลย เพราะฉะนั้นในเทศกาลดนตรีก็ควรจะมีเงียบอยู่บ้าง ถ้าทำได้มันก็น่าจะสนุกดีครับ

ประชาธิปไตยในวงการดนตรี ตอนนี้มันเกิดขึ้นจริงแล้วหรือยัง

ตุล : ผมว่าศิลปะมันไม่ต้องมีประชาธิปไตยนะ ดนตรีจุดกำเนิดมันคือเผด็จการอยู่แล้วแหละ เริ่มต้นเขียนเพลงเนี่ย เราต้องการให้เพลงมันจะเป็นอย่างไร ต้องเผด็จการก่อนเลย ถึงแม้เราจะกำหนดมันได้ แต่ระหว่างกระบวนการเนี่ย มันต้องเป็นประชาธิปไตย เราไม่ได้ทำเพลงคนเดียว ยิ่งถ้าเป็นวงดนตรีด้วยแล้วมันก็ต้องเกิดการฟังกันหลาย ๆ คน ทุกคนต้องมีความคิดเห็นที่แตกต่าง แต่ในฐานะนักเขียนเพลง การเขียนเพลงมันคือเผด็จการ แต่การทำเพลงมันก็ต้องมีความเป็นประชาธิปไตยในระดับนึงนะ

ป๊อก : เรามองว่าประชาธิปไตยนี้มันเป็นเรื่องของคนนะ เหมือนมีคนมาตัดสินว่าเพลงนี้ถูกจัดให้เป็นแนวนี้ ดนตรีแบบนี้ อันนี้ก็คือเป็นกระบวนการของมนุษย์ที่มีต่อเสียงที่ได้ยิน เรามองว่าเป็นเรื่องของคนที่ใส่ความเป็นตัวตนลงไประหว่างกระบวนการผลิต ส่วนดนตรีที่เราสนใจมันเป็นเสียงดนตรีของธรรมชาติ ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ไม่ได้มีแผนการอะไร ซาวด์หรือการจัดรูปแบบธรรมชาติมันไม่มีแผนการ ไม่มีประชาธิปไตยอะไรแบบนี้ การปฎิบัติดนตรีของเราไปทางนี้มากกว่า

วงการเพลงบ้านเราตอนนี้เป็นอย่างไร

ตุล : ผมต้องขอบคุณเทคโนโลยี สำหรับผมไอ้เรื่องนี้มันก็เป็นประชาธิปไตยนะ คนทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเผยแพร่ผลงานได้หมด สมมติผมหัดเล่นกีต้าร์ได้แค่คอร์ด C ผมก็ถ่ายคลิปโพสต์ลงยูทูป คนก็เจอคลิปผมแล้ว ซึ่งไอ้เพลงที่มีคอร์ดเดียวนี่ก็มีสิทธิ์ให้คนทุกคนฟังได้เหมือนเพลงหลายคอร์ดเลย สิ่งนี้ในอดีตมันเป็นไปไม่ได้เลยนะ ไอ้การที่คุณจะเผยแพร่ผลงานเพลงตัวเอง มันต้องไปเปิดคลื่นวิทยุเท่านั้น ตอนนี้ทุกคนเป็นสื่อมวลชนหมด ทุกคนมีสิทธิ์เผยแพร่ผลงานตัวเองได้หมดเลย นี่แหละคือความเท่าเทียม ซึ่งเมื่อมันเป็นเช่นนี้แล้ว ไอ้เพลงที่ดี มันก็จะวิ่งไปต่อของมันเองได้สบาย ๆ เลย สำหรับวงการเพลงไทย ตอนนี้ผมแฮปปี้ดีนะ เปิดยูทูปดูก็เจอเพลงใหม่ดี ๆ เยอะแยะ

ป๊อก : เราก็ว่าดี เทคโนโลยีให้ประโยชน์หลายอย่างเลย ทั้งความเท่าเทียมในการเสพ ทั้งการผลิต นอกจากนี้ยังได้ศึกษาด้วย คือหัดเรียนกีต้าร์จากยูทูป คุณอยากเรียนเครื่องดนตรีอะไรมีหมด แม้แต่ประเทศของเราอาจจะเป็นประเทศโลกที่ 3 โลกที่ 4 ก็ตาม แต่เทคโนโลยีมันก็จะพัฒนาให้เราทำทุกอย่างได้โดยง่าย กิจกรรมอีเวนต์ต่าง ๆ ทุกคนสามารถโปรโมตวงตัวเอง ทำอีเวนต์ในหมู่บ้าน ในจังหวัด หรือในประเทศของตัวเองได้ หรือแลกเปลี่ยนเพลงกับประเทศเพื่อนบ้านก็ได้ เราว่ามันมีแต่พัฒนาให้ดีขึ้นนะ ไอ้กราฟการพัฒนามันก็จะมาเร็วมาก ซึ่งตอนนี้มันก็เลยทำให้มีโอกาสที่เพลงหลาย ๆ แบบจะเกิดขึ้นได้มาก แต่คิดว่าประชากรหลักก็จะอยู่ในส่วนแมสเนี่ยแหละ เพราะว่าประชากรแบบแมสก็ขยายตัวเร็วเหมือนกัน ส่วนดนตรีกลุ่มน้อยนี้ก็ได้พัฒนาเหมือนกัน ประโยชน์คือมีความเท่าเทียมกัน เราคิดแบบนี้นะ

ความคิดตอนที่เริ่มทำ Stone Free Music Festival เราคิดว่า ถ้าเกิดมันยังไม่มีงานอะไรแบบนี้เกิดขึ้น นักดนตรีหลาย ๆ คนก็อาจจะไม่มีงานเล่น หรือไม่มีพื้นที่เล่นดนตรีก็เป็นได้ ยิ่งเป็นสายที่ผมดูแลอยู่ พวกดนตรีแนวใหม่ ๆ พวกเขาไม่ค่อยมีพื้นที่ให้เล่นเลย เราอยากจะมีเทศกาลให้วงพวกนี้ได้เล่น มันก็เลยเกิดเทศกาลนี้ขึ้นมา

6

แล้วปัญหาเรื่องการดาวน์โหลดเพลงละเมิดลิขสิทธิ์ละ

ตุล : เรื่องนี้ขอมองว่า ไม่เป็นปัญหาอะไรเลยนะสำหรับเรา มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจนแก้ไขได้ยากแล้วอ่ะ แน่นอน ในฝั่งของศิลปิน เราอยากจะให้ลูกค้าทุกคนได้ฟังเพลงฟรี ดาวน์โหลดเพลงกันง่าย ๆ อยู่แล้ว เพราะฉะนั้น ถ้าเกิดคนจะฟังเพลงของเราฟรีที่อื่น หรือฟังจากยูทูปมันเป็นธรรมชาติของคนในตอนนี้ไปแล้วอ่ะ

ป๊อก : เราว่าโลกมันเปลี่ยนไปแล้ว ถ้ามองให้เป็นปัญหา มันก็กลายเป็นว่าเราไม่เข้าใจวงการเพลง

ตุล : จริง ๆ เรื่องพวกนี้ มันช่วยเรามากเลยนะ มันทำให้เพลงเราไปได้กว้างขึ้นกว่าเดิมเยอะเลย ถ้าโลกนี้ไม่มีอินเทอร์เน็ตหรืออุปกรณ์สื่อสารพวกนี้นะ ถ้าตัวเราเองยังนั่งขายซีดีกันเหมือนเดิม เอาง่าย ๆ สมมติว่าผมต้องไปเล่นคอนเสิร์ตที่จังหวัดไกล ๆ คนที่เขามาดูเรา เขาจะรู้จักเพลงของเราได้ยังไง เทคโนโลยีที่ดาวน์โหลดได้โอเคแน่นอน มันทำให้มีการดาวน์โหลดผิดกฎหมายเกิดขึ้น แต่อย่าลืมว่าดนตรีมันก็เดินทางไปถึง มันก็ทำให้โลกเล็กลงนะ คุณปล่อยเพลงออกมา คุณอาจจะได้แฟนเพลงที่อยู่ประเทศอื่น ๆ ก็ได้ ซึ่งตรงนี้ผมมองว่าเป็นข้อดีนะ

ป๊อก : โลกมันเล็กลง ทุกคนก็จะเท่ากัน ตอนนี้เกือบทุกบ้านผลิตเพลงออกมาได้หมดเลยนะ ถ้ามันไม่ปล่อยให้ดาวน์โหลดหรือหาที่ปล่อยผลงานเพื่อเพิ่มโอกาสในการฟังให้ง่ายขึ้น เพลงของเราก็จะออกไปหาคนพันล้านคนที่อยู่บนโลกนี้ไม่ได้

ยุคทองของวงการอินดี้ไทย

ตุล : ปีนี้ถือว่าเป็นยุคทองของวงการเพลงสายอินดี้เลยนะ เวลาไปเดินดูเทศกาลดนตรีที่ไหนก็จะเจอวงที่เราต้องรู้สึกตื่นตาตื่นใจอยู่ตลอดเลย อย่าง 5 ปีที่แล้ว ผมรู้สึกว่าวงการเพลงฝั่งนี้มันซึม ๆ ไปนะ ตอนนั้นจะออกไปดูคอนเสิร์ต ออกไปดูปาร์ตี้ มันรู้สึกได้แค่ประมาณนึงเท่านั้นเอง แต่ตอนนี้รู้สึกเซอร์ไพรส์กับเด็กรุ่นใหม่มาก ๆ พวกเขาทำได้ดี

ป๊อก : มันเป็นยุคที่มีความกระฉับกระเฉงสูงนะ แต่ไม่รู้ว่ายุคต่อไปจะเป็นอย่างไรต่อเหมือนกัน เพราะไอ้ความกระฉับกระเฉงมันก็ต้องเป็นแบบสเตปต่อไปเหมือนกัน คนรุ่นหลังจากนี้เขาจะรู้สึกแบบนี้อยู่มั้ย เราก็ต้องติดตามดูกันต่อไปครับ โดยรวมตอนนี้ดีมาก ๆ แล้ว

มุมมองในฐานะเจ้าของค่าย Panda Records มีความเห็นอย่างไรบ้าง

ป๊อก : เราเคยสังเกตดูเด็กยุคใหม่ พวกเขามาพร้อมกับซาวด์เพลงเก่า ๆ เลยนะ บางซาวด์ก็เป็นยุคที่เขายังไม่เกิดเลยด้วยซ้ำ บางทีเราก็สงสัยว่าไปรู้จักมาได้ยังไงเหมือนกัน อีกอย่างที่เราเห็นก็คือ พวกเขาก็จะมีข้อมูลเพลงจากวงต่างประเทศเยอะมาก ๆ ผิดกับเราสมัยก่อนที่กว่าจะร้องเพลงต่างประเทศได้สักเพลงนี่ยากมาก ๆ มันเลยทำให้รู้ว่าไอ้เทคโนโลยีตอนนี้ มันไม่เท่ากับสมัยเราเลย และสิ่งนี้แหละที่ทำให้เด็กยุคนี้มีศักยภาพแบบนึงที่เราไม่มี

ตุล :  คนยุคเก่ามันจะมีคุณสมบัติอย่างนึงที่คนยุคใหม่ไม่มีคือ ความถึก ตรงนี้คนยุคใหม่ยังไม่มีนะ ความหมกหมุ่นกับสิ่งที่เขารักจริง ๆ สมัยนี้ยังไม่เห็น ยิ่งตอนเราช่วงนั้น เอาจริง ๆ ว่าข้อมูลในการรับข่าวสารมันน้อยมาก ๆ ต่างจากเด็กรุ่นนี้เลย ความหมกหมุ่นจึงดูเหมือนโง่งมโข่งอ่ะ เราเชื่อในสิ่งที่ทำมาก ๆ เลยนะ เราจะไม่เป๋ไปทางอื่นเลย แต่สำหรับคนรุ่นใหม่ ทางเลือกเขาเยอะมาก การเปลี่ยนแปลงมันอาจจะดีหรือไม่ดีก็ได้ เพราะฉะนั้นเรามองว่าเนี่ยแหละมันคือเสน่ห์อีกอย่างนึงที่แตกต่างกันระหว่างคนต่างรุ่น

ป๊อก : จริงครับ (หัวเราะ) สมัยก่อนตอนเด็ก ๆ แค่ขอพ่อแม่เรียนดนตรีก็โดนว่าแล้ว แต่สมัยนี้มันมีโรงเรียน มีสถาบันที่สอนกันจริงจัง ทำให้พวกเขามีพื้นฐานที่ดีและเก่งด้วย มันไม่ใช่เรื่องคิดสั้นอีกต่อไปแล้วการเล่นดนตรีในสมัยนี้มันคืออาชีพนึงก็ว่าได้ครับ

7

16 ปี Panda Records มีความรู้สึกอยากเลิกทำบ้างมั้ย

ป๊อก : เรื่องความอยากจะเลิกทำ มันมีในทุก ๆ อย่างนะ ไม่ใช่แค่การทำดนตรีด้วย บางทีเราทำอะไรซ้ำเดิมมาก ๆ เราก็ต้องมีคำถามกับตัวเองแล้วว่า เราจะทำงี้ต่อไปหรือเบื่อกับสิ่งที่ทำแล้ว อยากทำอะไรอย่างอื่นอีกบ้างมั้ย มันเกิดขึ้นตลอดด้วยนะ แต่สาเหตุที่ไม่เลิกเพราะว่า สุดท้ายมันก็จะมีคนมาชวนให้เราทำเพลงด้วยตลอด อารมณ์ประมาณว่าพี่ทำให้ผมหน่อยครับ ช่วยดูให้หน่อยครับ มันก็เลยต้องทำต่อไปและทุกครั้งที่ทำ เราก็ได้แลกเปลี่ยนพลังงานใหม่ ๆ กับคนรุ่นนี้ด้วย มันก็รู้สึกว่าไม่เสียหายอะไร ทำต่อไปอีกก็น่าจะโอเค (ยิ้ม)

ฝั่ง Apartment Khunpa ผ่านมา 14 ปีแล้ว รู้สึกอย่างไรบ้าง

ตุล : รู้สึกแก่แล้วครับ (หัวเราะ) ทำเพลงกันมานานแล้ว เราก็คงจะทำต่อไปเรื่อย ๆ แน่นอน มันเป็นวัฏจักรของชีวิตแล้ว ให้พวกเราทำอย่างอื่นคงทำไม่เป็นกันหรอกครับ

ป๊อก : ใช่ ๆ สุดท้ายสิ่งที่ทำมา พอมันทำไปมาก ๆ แล้วเลย จุดที่แบบว่า เฮ้ย แม่งเหนื่อย แม่งท้อ มันจะไม่มีอีกแล้ว มันกลายเป็นสิ่งที่หล่อเลี้ยงให้เราทำโดยธรรมชาติไปแล้ว เสียงเพลงมันไม่ได้ทำร้ายเราเลย ผมก็เชื่อว่าวง Apartment Khunpa อยู่มา 14 ปีได้ เพราะพวกเขารักที่จะทำมันจริง ๆ นะ ทุกครั้งที่เรามีโอกาสได้ดู เราจะสัมผัสได้ถึงพลังของพวกเขาตลอดเลย

8

รายได้ในการเล่นดนตรีทำให้นักดนตรีอยู่รอดได้จริงมั้ย

ตุล : ไอ้คำว่าอยู่รอดเนี่ย มันอยู่ที่เราวางแผนการใช้เงินยังไงด้วยนะ ปัญหาหลัก ๆ ก็คือ นักดนตรีต้องจัดสมดุลในชีวิตตัวเองให้เป็น เราต้องรู้ว่าเราจะกินข้าวแบบไหนกัน เราจะกินอาหารญี่ปุ่นทุกวันหรือจะกินข้าวแกงบ่อย ๆ ทุกคนเลือกได้ เล่นดนตรียังไงมันก็ได้เงิน เราจะกินแสงโสมหรือกินเหล้าขาว มันก็เมาได้เหมือนกัน มันเป็นเรื่องของการจัดสมดุลของชีวิตเลยแหละ

ป๊อก : บางช่วงเราอาจจะได้กินนะเบียร์เนี่ย (หัวเราะ) หรือบางช่วงเราอาจจะไม่ได้กินเลยก็เป็นไปได้หมด เห็นด้วยกับตุลนะ ค่าย Panda Records มันก็ไม่มีค่าใช้จ่ายที่เกินความจำเป็นเยอะ เช่นเอาเงินไปซื้อโฆษณาที่มันไม่ได้ประโยชน์ก็เหมือนเอาเงินไปทิ้งน้ำ การใช้จ่ายเงินแบบนั้นมันไม่เหมาะสมกับแนวดนตรีแบบนี้นะ พอเราไม่ได้ใช้เงินเกินความจำเป็น มันก็ทำให้เราอยู่รอดได้ครับ

ตุล : จริง ๆ มันก็อยู่ที่เราบริหารจัดการด้วยว่าอยากจะไส้แห้งหรืออยากจะมีกินมีใช้

ป๊อก : เราคิดว่าทั้งหมดทั้งมวลที่ทำเกี่ยวกับดนตรี มันทำให้ตัวเราอยู่ได้นะ สุดท้ายคือเราเองก็ดำรงชีวิตได้ด้วยดนตรีเนี่ยแหละ แล้วก็คิดว่ามันมาจากที่ทำดนตรีเนี่ยแหละ ผมอยู่มาได้เพราะ Panda Records เหมือนกัน

อยากทำอะไรในวงการเพลงไทยอีก

ป๊อก : ทำ Live House กันมั้ย (หัวเราะ)

ตุล : เออผมก็อยากทำนะ หาค่าเช่าถูก ๆ ปัญหาคือ ที่ที่มันดี ค่าเช่ามักจะแพง ถ้าค่าเช่าถูกแล้วมันเป็นสถานที่ที่เดินทางสะดวกด้วย ใช้เสียงดัง ๆ ได้จะดีมากเลย ปัญหาหลัก ๆ ของการทำสิ่งนี้ คือนักดนตรีประเทศไทยอ่ะ แม่งต้องไปเล่นในผับในบาร์อย่างเดียวเลยนะ ซึ่งสถานที่เหล่านี้ใจร้ายกับนักดนตรีมาก บางทีเขาไม่สนหรอกว่าคุณมาเล่นดนตรี เขาสนแค่ว่าคุณจะมาเรียกลูกค้าได้มั้ย บางทีคนฟังก็จะมาแค่ต้องการเพียงจีบสาวในผับแค่นั้นเอง ถ้ามาร้องเพลงที่ไม่รู้จักให้เขาฟัง คนฟังเขาก็พร้อมที่จะเอาน้ำแข็งปาใส่

ป๊อก : สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ยังไม่เคยมีในประเทศไทย และยังไม่มีทางที่จะอยู่รอดได้ด้วย ปัจจุบันนักดนตรีไปเล่นตามร้านมันก็จะไปเล่นให้จบ ๆ ไป อุปกรณ์ในร้านก็ไม่พอดี การเตรียมตัวของศิลปินก็ทำไม่ได้ ถ้าเกิดขึ้นจริง วัฒนธรรมซื้อตั๋วเข้ามาดูคอนเสิร์ตมันก็เป็นจริงขึ้นได้นะ

ตุล : Live House ที่ดีจะต้องมีเวที มีห้องขายตั๋วเข้างานคอนเสิร์ต มีห้องพักศิลปิน คนเข้ามาก็จะมีพื้นที่ให้เขายืน มีบาร์ที่อยู่ห่างออกไปเลยก็ได้ มีห้องน้ำที่สะอาด จริง ๆ ถ้าเรารวมกันเป็นสหกรณ์นักดนตรีขึ้นมาได้นะ รวมจากนักดนตรีหรือหน่วยงานอะไรก็ได้สัก 10 กลุ่มแล้วทำให้มันเกิดขึ้นเนี่ย มันจะดีมาก ๆ เลย มันจะมีประโยชน์ต่อวงการเพลงมาก

ป๊อก : ไอเดียแบบสหกรณ์มันเข้าท่ามาก ๆ เลย อย่างที่บอกมันมีซุ้มขายของ วงมาเล่นแล้วก็ได้ขายผลงานตัวเองด้วย แต่ถ้าทำแล้วเจ้าของ Live House แม่งอยู่ได้คนเดียว ได้เงินคนเดียว มันก็ไม่เกิดประโยชน์นะ

ตุล : จริง ๆ ถ้ารวมกันเพื่อเช่าสถานที่เนี่ย เดือนละ 5,000 บาทเลย ทุกค่ายเพลง โดยที่ทุกคนไม่คิดนะว่ามันต้องได้กำไรอะไรมากมาย ผมว่ามันเกิดขึ้นแน่นอนครับ

วัฒนธรรมคนดูคอนเสิร์ตตอนนี้เป็นอย่างไร

ตุล : สำหรับคนไทย ถ้าเป็นเพลงที่เขาไม่รู้จัก เขาจะไม่มีอารมณ์ร่วมกับเพลงนั้นเลยนะ การฟังเพลงของคนไทยต่างจากต่างชาติ คนบ้านเราไม่สามารถฟังเพลงที่ไม่มีเนื้อร้องแล้วสนุกไปกับมันได้เลยนะ แต่ลองดูชาวต่างชาติ แค่เขาฟังเพลงบรรเลง ฟังภาษาในเพลงไม่รู้เรื่อง เขาก็เต้นไปกับเพลงได้

ป๊อก : จริง ๆ เพราะว่าคนไทยอาจจะไม่ได้ฟังเพลงลึกมากด้วย บ้านเราชอบติดกันอยู่ที่เนื้อเพลงหรือเรื่องราวในเพลงมากกว่า แต่ถ้าเป็นฝรั่งง ถ้าเขาชอบ เขาก็ลุยแหละไม่คิดอะไรมาก

ตุล : จริง ๆ เราว่าอย่างวง Stylish Nonsense เวลาไปเล่นต่างประเทศ แป๊ปเดียวก็จะมีคนมาโยก ๆ หน้าเวทีแล้ว เขาจะรู้ว่านี่กลองนะ นี่เบสนะ แต่ถ้าเป็นคนไทย เขาก็จะคิดว่าทำไมไม่ร้องเลยสักที แต่มันก็เป็นเรื่องของเวลานั่นแหละ สุดท้ายแล้วมันก็ดีกว่าเมื่อก่อนเยอะแล้วในตอนนี้

ป๊อก : ใช่ ๆ อย่าไปมองว่าเป็นปัญหาเลย เดี๋ยวมันก็ดีขึ้น

ถึงตอนนี้แล้ววงการดนตรีให้อะไรกับคุณบ้าง

ตุล : สิ่งที่ดีที่สุดคือเรื่องมิตรภาพ เพื่อนฝูง พี่น้อง พวกนี้เงินซื้อไม่ได้ มีแต่เพลงที่พาเรามาเจออะไรแบบนี้ เราไม่ได้คิดว่าเพลงต้องให้อะไรกับเรา แต่มันได้เพื่อนพี่น้องแน่นอน

ป๊อก : ลำดับแรก ผมรู้จักกับตุลเลย เพราะชอบดนตรีด้วยกัน ยิ่งเวลาผ่านไป เราก็ยังทำดนตรีด้วยกันอยู่ต่างคนต่างทำ เราก็ยิ่งเห็นกันมากขึ้น เรื่องมิตรภาพมันก็เพิ่มขึ้น คิดว่าตั้งแต่อยู่กับดนตรีมา มันก็ได้อะไรหลาย ๆ อย่างขึ้นมาเองนะ

เราต้องรู้ว่าเราจะกินข้าวแบบไหนกัน เราจะกินอาหารญี่ปุ่นทุกวันหรือจะกินข้าวแกงบ่อย ๆ ทุกคนเลือกได้ เล่นดนตรียังไงมันก็ได้เงิน

9

ดนตรีสัมพันธ์
ชีวิตสัมพันธ์

เมื่อพูดถึงในเรื่องของดนตรีจนมากพอสมควรแล้ว ผมเลยขอเปลี่ยนโหมดการสนทนากับทั้งคู่บ้าง โดยเริ่มคุยในส่วนของความสัมพันธ์ของคุณป๊อกและคุณตุลว่าแท้จริงแล้วเขารู้จักกันมานานแค่ไหน คำตอบที่ผมได้รับคือทั้งสองสนิทกันมาประมาณ 16 ปีได้แล้วและเมื่อถามในเรื่องนี้เสร็จผมจึงเริ่มถามคำถามพวกเขาต่อโดยทันทีซึ่งจะเป็นในโหมดการใช้ชีวิตของพวกเขาทั้งคู่ว่านอกจากเล่นดนตรีแล้วทำอะไรกันอยู่บ้าง 

วินาทีแรกที่ฟังเพลงของกันและกัน รู้สึกอย่างไร

ตุล : ครั้งแรก ๆ ที่ได้ยินเพลงของป๊อก เพลงเขาจะเป็นอีกแบบเลยนะ ไม่เหมือนสมัยนี้ที่ freestyle กว่า เมื่อก่อนจะเป็นเพลงมีความเป็นอิเล็กทรอนิกส์ มีกรู๊ฟอีกแบบเลย แต่ตอนนี้มันจะเป็น free jazz อะไรแบบนั้นมากกว่า เป็นการเกิดขึ้นของรูปแบบอะไรก็ได้ในเสียงเพลง เมื่อก่อนการแสดงของพวกเขาจะเป็นจังหวะที่คิดกันมาแล้ว แต่ตอนนี้พวกเขาจะเป็นโชว์อีกแบบนึง ถ้าฟังซาวด์ดนตรีจะรู้เลยว่าเมื่อก่อนจะต้องมีคอมพิวเตอร์อะไรมากมาย ปัจจุบันมันมีแค่กลอง คีย์บอร์ดหรือว่าเบส กีต้าร์ก็ได้ มันก็เป็นเพลงแล้ว

ป๊อก : ผมเห็นตุล ตั้งแต่แรกตอนเล่นกันในร้านเล็ก ๆ คนดูก็จะมีเพื่อน ๆ กันเนี่ยแหละ สำหรับวง Apartment Khunpa กับตุล ผมจะเห็นพัฒนาการของพวกเขามาตลอดนะ ยิ่งเล่นยิ่งแบบว่าทุกอย่างมันดูดีไปหมด ทั้งเรื่องแต่งเพลงทั้งการเล่น ทุกคนเป็นทีมเวิร์กที่ดีมากอ่ะ พอฟังแล้วก็รู้เลยว่ามันเป็นเพลงของ Apartment Khunpa อ่ะ ผมก็เป็นแฟนเพลงของเขามาตลอดนะ แถมเจอกันบ่อยด้วยตามงานดนตรี

ตุล : ใช่ เจอกันบ่อยมาก ในงานปาร์ตี้ งานดนตรี เทศกาลอะไรพวกนี้ เราทักทายกันตลอดอยู่แล้ว ส่วนใหญ่จะช่วยกันทุกครั้งเวลามีงาน ใครจัดงานอะไรก็จะไปให้กำลังใจตลอดอยู่แล้ว

10

ความทุกข์ทำให้เกิดงานศิลปะ ยิ่งยากลำบาก มันยิ่งเกิดขึ้นง่าย

ชีวิตประจำวันทุกวันนี้ทำอะไรกัน

ตุล : ออกกำลังกายแบบคนธรรมดาครับ แล้วก็กินเหล้า (หัวเราะ)

ป๊อก : ผมก็เลี้ยงลูกเป็นหลัก ๆ เลยครับ แต่มันก็จะพอมีเวลาว่างอยู่บ้าง ช่วงกลางคืนถ้ามีงานดนตรี ผมก็จะออกไปดูบ้างตามปกติของผมครับ

ความเป็นผู้นำแฟชั่นบทเวทีคอนเสิร์ต

ป๊อก : อย่างไอ้ชุดเดรสของเราเนี่ย มันก็มาของมันเองนะ (หัวเราะ) มันเริ่มมาจากวง Stylish Nonsense ทำเอ็มวีแล้วก็มีน้องบอกว่า อยากได้ reference เหมือน Nirvana จัง น้องเขาก็เลยซื้อมาให้ พอเขาซื้อมาถ่ายเอ็มวีแล้ว เราก็เห็นว่าไหน ๆ ซื้อมาแล้ว เอาไปใส่ต่อเลยละกัน (ห้วเราะ) บางทีมันก็ดีนะ คนก็จำได้จากเอ็มวี บางทีการแต่งตัวมันก็เป็นการโชว์อย่างนึงเหมือนกัน ส่วนลูกสาวก็มีคอมเมนต์ว่าเป็นตุ๊ดหรือเปล่า ตลกดีแต่เขาก็ชอบนะ

ตุล : เราก็ชอบแต่งตัวนะ แต่เวลาขึ้นโชว์ เราจะใส่อะไรที่ไม่ได้เว่อร์นะ แต่อาจจะเปลี่ยนชุดให้มันดูมีสีสันหน่อย เสื้อก็ใส่เสื้อกล้ามบ้างบางงาน เพราะมันร้อนแล้วก็หากางเกงที่สีสันสดใส เพราะเราชอบ ในวงของเราจะชอบแต่งตัวไม่เหมือนกัน บางคนก็แต่งเยอะ บางคนก็ไม่เยอะ

ป๊อก : นี่คุณตุลเขาเคยได้รางวัล Best Costume ดีเด่นนะครับ

ตุล : ภูมิใจกว่ารางวัล Best Album อีกครับ (หัวเราะ)

11

คุณป๊อกอยากให้ลูกสาวโตมาเป็นนักดนตรีมั้ย

ป๊อก : ถามว่าอยากมั้ยก็อยากนะ เขาจะได้มาเล่นกับเรา อันนี้ก็ไม่ได้บังคับหรอก ก็แล้วแต่เขา ผมไม่ได้สอนดนตรีเขาเลยก็เลยปล่อยฟรี ซึ่งผลตอนนี้ก็คือเขาดูมีแววนะ สมมติว่าผมซื้อแผ่นวง Blur ชุดใหม่มา เขาก็จะรู้ว่านี่ Blur ชุดใหม่ใช่มั้ยเนี่ย (หัวเราะ) เขาก็จะสังเกตแหละ ก็มีเซนส์ในการฟังเพลงที่ดี อายุ 7 ขวบเอง ส่วนเพลงวงพ่อก็ฟังเพลงเดียว Never Blur เขาก็จะชอบขอดูซ้ำ

ความรักในมุมมองของคุณตุล ตอนนี้พร้อมแต่งงานแล้วรึยัง

ตุล : ยังไม่อยากจะมีคู่นะ มันพูดยากอ่ะเรื่องนี้ ถ้ามีก็ยังจินตนาการไม่ออกเหมือนกัน ผมเป็นคนที่ออกจากบ้าน 7 วัน 7 คืนอ่ะ เป็น Party Boy อยู่ แต่ก็ไม่ขนาดโต้รุ่งเหมือนสมัยก่อนแล้วนะ จะมีลิมิตตี 2 กลับบ้านนอนแล้ว เป็นระบบเป็นระเบียบมากขึ้น มีเวลาให้เพื่อน ๆ มีเวลาให้งานที่เรารักด้วย ยังรู้สึกวัยรุ่นอยู่นะ ส่วนคำว่าความรัก สำหรับเราที่อายุมากขึ้น ความร้อนแรงก็น้อยลงเป็นธรรมดา มองเป็นเรื่องปกติของชีวิตแหละ ถ้าดีใจก็ดีใจประมาณนึง ถ้าผิดหวังก็คงผิดหวังน้อยกว่าตอนเด็ก ๆ นะ

ป๊อก : ต้องไปฟังเพลงที่ตุลเขาเขียน คือในความเป็นผู้ใหญ่แล้ว ความที่มีอายุผ่านมาหลายปี มุมมองเรื่องพวกนี้มันก็จะเติบโตขึ้น ผมเดาว่าผมเข้าใจเขา (หัวเราะ) หมายถึงทุกคนมันก็จะมีการตกผลึกอะไรเรื่องพวกนี้อยู่ อย่างผมผ่านประสบการณ์มีครอบครัว มันก็จะไปอีกแบบนึง

วาดภาพตัวเองตอนแก่ไว้ยังไง

ตุล : อยากเล่นดนตรีอยู่ ไม่อยากหัวล้าน แล้วก็อยากใส่กางเกงตัวเดิมได้เรื่อย ๆ ไม่อยากขออะไรไปมากกว่านี้แหละ หัวล้านแล้วมันอุบาทว์นะ เราอยากจะสตัฟฟ์ตัวเราแบบนี้ไว้

ป๊อก : อยากเล่นดนตรีอยู่เหมือนกัน อยากจะรู้ด้วยว่าจะเป็นยังไง จริง ๆ แล้วอยากจะวาร์ปไปเลยว่าอายุ 60 – 70 ปี ไอ้สิ่งที่สนใจคือดนตรีของเราจะเป็นอย่างไร ส่วนไอ้เรื่องหัวโล้นก็แบบว่า มันเป็นเรื่องธรรมชาติ ถ้าจะโล้นก็เอาวะ แม่งเท่ มองให้เป็นงั้นไป (หัวเราะ)

ถ้าทำวงดนตรีด้วยกันจะเป็นวงดนตรีแบบไหน

ตุล : อยากทำเพลงว้ากสั้น ๆ 2 นาทีจบ แล้วเน้นพลังไป น่าจะมันดี

ป๊อก : จริง ๆ อยากทำด้วยนะ (หัวเราะ) คือเราโตแล้ว คิดว่าจะทำอะไรสนุก ๆ กันน่าจะดี ถ้าเล่นดนตรีด้วยกันมันต้องฮาแน่ ๆ พลังงานเรายังพอมีอยู่นะ

12

13

เราว่าดนตรีอินดี้ มันเป็นดนตรีป๊อปไปแล้วอ่ะ หมายถึง มีความนิยม สิ่งที่น่าจะเป็นจริงในไม่ช้าก็ คือ วงอินดี้น่าจะถูกจ้างด้วยค่าตัวที่สมน้ำสมเนื้อสักที

มีอะไรอยากพูดถึงวันรัฐธรรมนูญมั้ย

ตุล : ไม่รู้ว่ารัฐธรรมนูญใหม่จะออกมาหน้าตาเป็นยังไงนะ ก็ขอให้มันดีกว่าเดิมละกัน ตอนนี้ไม่ค่อยมีความหวังอะไรกับการเมืองไทยสักเท่าไหร่ โอเคไว้มีอะไรมัน ๆ แล้วเราค่อยมาแต่งเพลงกับเรื่องพวกนี้แล้วกัน

ป๊อก : ผมว่าสถานการณ์บ้านเมืองเรามันก็เป็นแรงขับเคลื่อนให้เราเหมือนกันนะ ถึงแม้ผมจะไม่ค่อยรับข่าวสารอะไรต่าง ๆ ก็ตาม

ตุล : จริง ๆ ผมก็มองเรื่องการเมืองนะ ทุกครั้งที่มันเกิดความยากลำบากขึ้นทางเศรษฐกิจเนี่ย ศิลปะจะดี เมื่อคนอยู่ภายใต้ความกดดันต่าง ๆ มันจะมีแรงผลักดันที่ทำให้เกิดสิ่งดี ๆ ได้

ทำนายดวงชะตาของวงการเพลงปี 2016 หน่อย

ตุล : วงที่กำลังจะก้าวขึ้นมาอย่างวง Monomania, Solitude Is Bliss เนี่ย พวกเขาจะก้าวขึ้นมาใหญ่กว่าเดิม ผมว่ามันสามารถก้าวขาเข้ามาใน pop world ได้ เอาง่าย ๆ ปีนี้วงบางวงที่มาจากต่างจังหวัด คนดูเยอะกว่าวงกรุงเทพ ฯ อีก เขาได้มาสร้างฐานะไว้แล้ว กรุงเทพ ฯ จะไม่ใช่โซนหลักของดนตรีอีกต่อไป เราจะได้เห็นอะไรใหม่ ๆ มากขึ้นจากโซนอื่น ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพด้วยนะ เราจะได้เห็นซาวด์ต่าง ๆ ปรากฏตัวออกมาและเขาจะสามารถเป็น line up ในเทศกาลดนตรีต่าง ๆ ทั่วประเทศได้

ป๊อก : เราว่าดนตรีอินดี้ มันเป็นดนตรีป๊อปไปแล้วอ่ะ หมายถึงมีความนิยม สิ่งที่น่าจะเป็นจริงในไม่ช้าคือวงอินดี้น่าจะถูกจ้างด้วยค่าตัวที่สมน้ำสมเนื้อสักที

ตุล : ผมเชื่อว่าดนตรี ยิ่งใช้เวลาผ่านไปเรื่อย ๆ มันจะย่อยง่ายไปเอง สมัยก่อนอย่างประเทศไทยเราไม่เคยมีร้านอาหารเม็กซิกันสักเท่าไร คนไม่ชิน เดี๋ยวนี้ก็เจอทุก ๆ ที่ เช่นเดียวกัน เพลงที่คนเคยอุดหูฟัง คนก็ยอมรับมากขึ้นแล้ว ผมว่ามันจะเป็นยุคทองสำหรับวงทางเลือกยิ่งขึ้น ในอนาคตจะไม่มีคำว่าอะไรคือแมสแล้ว ทุกคนจะหาสิ่งที่เขาชอบเจอเอง

ป๊อก : ใช่ มันจะเยอะสัด ๆ เลย

อวยพรคนอ่านบทสัมภาษณ์นี้หน่อย

ตุล : ขอให้มีความสุขในวันรัฐธรรมนูญและขอให้มีความสุขในวันปีใหม่ครับ แล้วก็ปีหน้าเตรียมรับมือกับเศรษฐกิจที่เฮฟวี่แน่นอน เตรียมตัวเลย ต้อนรับความมัน ความทุกข์ทำให้เกิดงานศิลปะ ยิ่งยากลำบาก มันยิ่งเกิดขึ้นง่าย

ป๊อก : ผมคิดว่าขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละทุกคนว่ามองเห็นยังไง มันอาจจะเป็นยุคทองของวงการเพลง แต่ถ้าพลาดพลั้ง มันอาจจะมืดมนก็เป็นได้ สุดท้ายนี้ก็สวัสดีปีใหม่ครับ

 

หลังจากที่การสัมภาษณ์ครั้งนี้จบลงผมได้อะไรใหม่ ๆ เยอะเลย ทั้งในส่วนของทัศนคติและความคิดใหม่ ๆ ที่ก้าวหน้าของทั้งสองคน ซึ่งตลอดช่วงระยะเวลาที่สนทนากันในครั้งนี้มันเหมือนเพื่อนนั่งพูดคุยกันมากกว่าคล้าย ๆ กับเป็นการสอบถามทุกข์สุขของเพื่อนสนิทในช่วงนั้นเลยก็ว่าได้ รอยยิ้มเสียงหัวเราะของทั้งคู่ทำให้ผมรู้ว่าความสุขในความอิสระแท้จริงมันเป็นยังไงในอาชีพที่เรียกตัวเองว่า นักดนตรี แล้วพบกันใหม่ฉบับหน้าครับ / สวัสดีวันรัฐธรรมนูญครับ

 

14

Facebook Comments

Next:


Gandit Panthong

กันดิศ ป้านทอง อดีตนักศึกษาฝึกงานนิตยสาร Hamburger Magazine, ทำงานในกองบรรณาธิการ MiX Magazine และ บก.คนแรกของ Fungjaizine ที่มีความมุ่งมั่นว่าจะตั้งใจสร้างสรรค์วงการเพลงให้เกิดแต่สิ่งดี ๆ ต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง