Feature เห็ดหูหนู

6 เพลงแจ๊สที่เปี่ยมความหมายและความทรงจำ โดย นุ วุฒิวิชัย แห่ง Jazz Happens

  • Writer: Piyakul Phusri

6 เพลงแจ๊สที่เปี่ยมความหมายและความทรงจำ โดย นุ วุฒิวิชัย แห่ง Jazz Happens

บทเพลงพระราชนิพนธ์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช – แว่ว (Echo)

เพลงนี้คนอาจจะไม่ค่อยคุ้นเพราะร้องตามยากจริง ๆ ส่วนเนื้อหา… ไม่รู้ท่านแต่งได้อย่างไร มันดีมาก ผมเชื่อว่าถ้าเป็นนักดนตรีแจ๊สจะชอบเพลงนี้ ด้วยความสละสลวยของเมโลดี้ เนื้อร้อง ทำนอง นับว่าสุดยอด ถือเป็น rare item ที่มหัศจรรย์จริง ๆ

Burt Bacharach – A House is not a Home

เป็นเพลงเศร้า ต้องไปฟังเนื้อร้องเพลงเอาเอง เป็นเพลงที่แต่งได้ดีมาก และมีความซับซ้อนของจังหวะ

Charlie Chaplin – Smile

มีอะไรก็ให้ยิ้มกันไว้ เป็นเพลงที่ฟังไม่ยากและอยู่มายาวนาน เป็นเพลงที่ให้ความหวังกับคนในอีกรูปแบบหนึ่ง

Various Artists (มีหลายเวอร์ชั่น หลายคนร้อง) – My Foolish Heart

เป็นเพลงที่เนื้อร้องทันกับยุคสมัยและเพราะมาก พูดถึงความรัก ความหลง มันมีมิติของเนื้อร้องและทำนองที่ดี

นุ วุฒิวิชัย – ความรักไม่รู้จบ

https://www.dropbox.com/s/f2jkliymwwhikhg/02.%20%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%88%E0%B8%9A.mp3?dl=0

เป็นเพลงไม่ค่อยมีใครร้อง ไม่ค่อยมีใครจำได้ แต่พอร้องทีไรก็คุ้น ในยุคลูกกรุง คนจะนึกถึงเพลงดัง ๆ เพลงอื่น แต่เพลงนี้เป็นเพลงไทยที่ผมเล่นเป็นเพลงแรกชีวิต ถึงคนจะไม่ค่อยรู้จัก แต่เล่นทีไรคนก็จะชอบทุกที เพราะเนื้อเพลงเพราะมาก

Antonio Carlos Jobim – Desafinado

เป็นเพลงมหากาพย์ของเขาเลย เป็นเพลง bossanova ที่เพราะมาก คนที่ไม่เคยฟังภาษาโปรตุกีส ถ้าฟังเพลงนี้อาจจะหลงรักและอยากไปเรียนภาษาโปรตุกีสได้เลย


 

10306549_10204003614992937_3442401432781515176_n

ตุลาคม 2560 เดือนที่ใครหลายคนไม่อยากให้มาถึง แต่ไม่มีใครจะฉุดรั้งการเดินทางของเวลาได้

นอกจากความทรงจำ พระราชดำรัส พระบรมราโชวาท โครงการในพระราชดำริ และอื่น ๆ อีกมากมายที่พระองค์ได้ทรงมอบให้ประชาชนชาวไทย อีกสิ่งหนึ่งที่พระองค์ได้ทรงสร้างสรรค์ไว้เป็นมรดกสำหรับคนทั้งโลกก็คือ ‘เพลงพระราชนิพนธ์’ พวกเราชาวไทยต่างรับรู้ถึงพระปรีชาสามารถทางด้านดนตรีเป็นอย่างดี และเชื่อเหลือเกินว่าเพลงแจ๊สที่คนไทยเกือบทั้งประเทศได้ยินเป็นเพลงแรก ๆ ในชีวิตก็คือเพลงพระราชนิพนธ์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 นั่นเอง

ไม่ไกลจากพระเมรุมาศที่สง่างามอยู่กลางมณฑลพิธีท้องสนามหลวง Fungjaizine ได้มาพูดคุยกับ นุ วุฒิวิชัย หรือ ‘อาจารย์นุ’ ของลูกศิษย์ลูกหา และแฟนเพลงแจ๊สแห่งร้าน Jazz Happens บาร์แจ๊สริมถนนพระอาทิตย์ที่ยืนหยัดเผยแพร่เพลงแจ๊ส และสร้างนักดนตรีแจ๊สฝีมือดีมาแล้วมากมาย

เรามาชวนนักเปียโนแจ๊สพูดคุยถึงเรื่องดนตรีแจ๊สในประเทศไทย และความรู้สึกที่เขามีต่อพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็น ‘Jazz King’

อาจารย์เริ่มเล่นดนตรีตั้งแต่เมื่อไหร่

เริ่มเล่นตั้งแต่ 8 ขวบ ก็เล่นเปียโนกับอิเล็กโทนคู่กันมา แต่เล่นอิเล็กโทนก่อน เป็นแชมป์อิเล็กโทนประเทศไทยหลายสมัย ส่วนที่มาชอบแจ๊สเพราะว่าครูที่สอนอิเล็กโทนเขาชอบแจ๊ส เขาเลยเอาเพลงแจ๊สมาให้ผมเล่น แต่ก็ชอบคลาสสิกด้วยเพราะเรียนเปียโนคลาสสิกคู่กันอยู่แล้ว จนผมไปสอบติดคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬา ฯ ปรากฏว่าไม่ชอบ เรียนอยู่ไม่ถึงเทอม เลยตัดสินใจเบนเข็มไปเรียนเมืองนอก (Cornish College of the Arts, Seattle USA) แต่ก่อนจะไปก็มีโอกาสได้เล่นดนตรีกลางคืนร่วมกับดนตรีรุ่นใหญ่ ๆ อยู่ประมาณปีกว่า ๆ พอไปเรียนกลับมาก็มาเริ่มสอนที่คณะดุริยางคศาสตร์ สาขาดนตรีแจ๊ส มหาวิทยาลัยศิลปากร สอนที่นี่อยู่ 12 ปี ระหว่างที่สอนก็ได้ทำกิจกรรมมากมาย เช่น เป็นคนริเริ่มจัด Thailand Jazz Competition ชิงถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ จัดโครงการชื่อ ‘Jazz เหอะ’ เป็นคาราวานนักศึกษาดนตรีไปตระเวนเล่นทั่วประเทศเพื่อให้นักศึกษาได้ออกไปเล่น ไปโชว์ ไปแบ่งปันดนตรีที่เขาเรียนมา ก็ทำอยู่หลายปีแต่ก็ยังรู้สึกว่ามันไม่พอ เพราะกิจกรรมก็เป็นแค่กิจกรรม ถ้าเป็นนักดนตรีก็ต้องเล่นดนตรี ก็เลยคิดว่าเปิดร้านแจ๊สมันเลย เลยมาเป็นร้าน ‘Jazz Happens’ ซึ่งในปีนี้ร้านก็ครบ 10 ปีละ ตั้งใจให้นักศึกษามาเล่นเพื่อพัฒนาฝีมือ ซึ่งก็พัฒนาได้รวดเร็วทันใจ ตรงตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ รวมถึงเป็นที่ต้อนรับแขกเหรื่อนักดนตรี

นอกจากร้าน Jazz Happens ตอนนี้อาจารย์ยังสอนดนตรีที่อื่นหรือมีบทบาทด้านอื่น ๆ อีกหรือเปล่า

สอนส่วนตัวอย่างเดียวเลย เพราะออกจากมหาวิทยาลัยมา 5-6 ปีแล้ว แต่ที่ Jazz Happens ก็เหมือนโรงเรียน ก็ยังสอนอยู่ เผลอ ๆ เหนื่อยกว่าสอนมหาวิทยาลัยอีก เพราะมันเป็นภาคปฏิบัติจริง ๆ ต้องมานั่ง comment นั่งดุนั่งด่ากันในแต่ละคืน มันก็คือโรงเรียนดี ๆ นี่เอง

10382041_10204003661834108_5579605701192038520_o

ทำไมตอนอาจารย์เริ่มเรียนดนตรีถึงเลือกเรียนอิเล็กโทนและเปียโน

เรียนตามพี่ชาย เพราะพี่ชายไปเรียนอิเล็กโทนก่อน เห็นแล้วก็รู้สึกว่าสนุกดี ก็เลยอยากเล่นบ้าง เลยขอพ่อแม่ไปเรียน พอเรียนไปเรียนมามันไปได้เร็วแซงชาวบ้าน พูดง่าย ๆ คือมีพรสวรรค์ทางนี้ เลยเริ่มเจอทางว่าเราชอบอันนี้

นอกจากเหตุผลที่ว่าครูที่สอนดนตรีชอบแจ๊สแล้ว ทำไมอาจารย์ถึงเลือกเล่นแนวแจ๊ส

คือตอนนั้นเรายังเด็กมาก ผมก็เรียนตาม step ไปจนหมดตำราแล้ว ของสยามกลการมีอยู่ 9 เล่ม ก็มาคิดว่าจะเรียนอะไรต่อ คุณครู (อาจารย์ฤทธี ภักดีวิจิตร) เลยเอาโน้ตเพลงแจ๊สของญี่ปุ่นมาป้อนให้ มันก็เลยซึมเข้ามา และผมก็ชอบ มันเหมือนบุพเพสันนิวาสกันพอดี คืออิเล็กโทนเราจะเล่นพวกเพลงป๊อปเพลงนู่นเพลงนี่ ส่วนเปียโนเป็นคลาสสิกอย่างเดียว เล่นเปียโนเราก็ได้ แต่โทนของเพลงเราชอบไปทางอิเล็กโทน เพราะเพลงมันหลากหลาย

เพลงของศิลปินแจ๊สที่อาจารย์เริ่มเล่นเป็นเพลงของใครบ้าง

ที่เล่นหนัก ๆ ก็มี Casiopea วงนี้ผมเล่นแทบจะทุกเพลงเท่าที่มันมีโน้ต ซึ่งเยอะมากและยาก มันก็ทำให้เราได้สกิลของความเป็นแจ๊สเข้ามาเติมเรื่อย ๆ และก็มี Shakatak ก็เล่นทุกเพลงเท่าที่มีโน้ต นอกจากนั้นก็จะมี Bob James, Joe Sample, The Crusaders ฯลฯ และก็บังเอิญไปเล่นกับวงที่ชอบเพลงแจ๊สเหมือนกัน เจอก๊วนของคนที่ชอบแจ๊สมาตั้งแต่เด็ก ๆ

จริง ๆ ผมเริ่มเล่นดนตรีอาชีพตอน ม.1 รับเงิน 300 บาท เล่นกับ ต๋อง-วงทู หลังจากนั้นก็เล่นมาเรื่อย ๆ ได้เจอนักดนตรีหลากหลาย แต่ที่โชคดีที่สุดคือก่อนไปเรียนเมืองนอกก็ได้เจอกับพี่ ๆ รุ่นใหญ่ในยุคนั้น ซึ่งผมเป็นใครก็ไม่รู้ แต่พี่ ๆ เขาก็เลือกให้ไปเล่น ตอนนั้นก็เล่นอยู่หลายบาร์ไปจนถึงโรงแรม ก็เล่นอยู่ปีกว่า ๆ จนผมไปต่างประเทศ

บรรยากาศการเรียนดนตรีระหว่างในไทยและต่างประเทศในตอนนั้นต่างกันมากไหม

ถ้าในรั้วมหาวิทยาลัยไม่ต่างกันเท่าไหร่ แต่บรรยากาศโดยรวมของเมืองแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ยกตัวอย่าง ถ้าเป็นนิวยอร์กมันก็หาศิลปะได้เยอะกว่ากรุงเทพ ฯ บ้านเราสัดส่วนของศิลปะในเมืองมันน้อยไป ที่นู่นจะมีพิพิธภัณฑ์มากมาย มีแกเลอรีเยอะแยะ บาร์แจ๊สก็มีเยอะ หรืออย่างผมอยู่ Seattle กลิ่นอายของศิลปะมันก็มีอยู่มาก มันอำนวยให้คนมีอะไรเสพมากกว่า คือ pop culture มันก็มีอยู่ทุกที่แหละ แต่สัดส่วนของศิลปะของเมืองในต่างประเทศมันมีมากกว่าบ้านเรา

แล้วการเรียนการสอนดนตรีในต่างประเทศเป็นไปอย่างหนักหน่วงอย่างที่เราเห็นในหนังเรื่อง Whiplash หรือเปล่า

อาจารย์ที่สอนผมก็โหด แต่ไม่ถึงขนาดนั้น แต่เชื่อว่ามีแน่นอน เพราะการแข่งขันมันสูง และมาตรฐานที่นักดนตรีต้องเป็นก็สูงมาก การผลักดันให้นักเรียนต้องได้มันก็มีอย่างนั้นจริง ๆ

10504836_10204003656793982_6709917549829264235_o

ศิลปินแจ๊สที่เป็นแรงบันดาลใจ หรือศิลปินในดวงใจคือใคร

จริง ๆ ก็มีมากมาย แต่ถ้าบีบให้แคบลงว่าเป็นนักเปียโน คนที่ผมชอบที่สุดคือ Keith Jarrett การอิมโพรไวส์ของเขามันมีอารมณ์มาก ๆ ผมจะชอบแนวที่มีอารมณ์เข้ามาในดนตรีเยอะ ๆ ฟังเพลงของเขานานไม่ได้ ผมร้องไห้ตลอด เพราะมัน emotional มาก

ในฐานะที่อยู่ในซีนแจ๊สเมืองไทยมานาน อาจารย์มองเห็นพัฒนาการของวงการดนตรีแจ๊สอย่างไรบ้าง ทั้งด้านการเรียนการสอน การผลิต และการบริโภค

ในด้านการผลิตถือว่าตอนนี้เลยเป้าแล้ว ทั้งด้านคุณภาพและปริมาณ ซึ่งก็น่าเป็นห่วง เพราะอุปสงค์-อุปทานมันสวนทางกันอยู่ ยุคนู้นมีแต่นักดนตรีฟิลิปปินส์เพราะคนไทยเรายังเล่นแจ๊สไม่เป็น จะมีอยู่ก็กลุ่มก้อนเดียว อย่าง อ.ผดุง อ.สมเจตน์ หรือ อ.โดม หโยดม ซึ่งก็เล่นดนตรีคู่กับพวกฟิลิปปินส์มาประมาณ 30 ปี แต่ตอนนี้พอมี 3 มหาวิทยาลัยที่สอนแจ๊ส (มหิดล, ศิลปากร และ ม.รังสิต) และมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ก็พยายามเติมแจ๊สเข้าไปในสาขาวิชา มันก็เริ่มแพร่หลายมากขึ้น คุณภาพของเด็กเราบอกได้เลยว่าสู้ฝรั่งได้สบายมาก ฟังเด็กไทยเล่นเหมือนฟังฝรั่งแล้ว แต่ส่วนผู้บริโภคยังตามไม่ค่อยทัน คือปฏิเสธไม่ได้ว่าคนไทยชอบฟังอะไรง่าย ๆ ดูเหมือนคนจะเข้าใจว่า smooth jazz ก็คือ jazz ทั้งหมดแล้ว ซึ่งจริง ๆ มันยังมีอะไรอีกมากมาย คือ pop culture มันหนักหน่วงมาก มันเป็นอะไรที่เสพง่ายไว้ก่อน ผู้บริโภคเลยโตตามไม่ทัน

เหมือนอาจารย์กำลังจะบอกว่าอุปสงค์วงการแจ๊สไทยผลิตทั้งคนและร้านมามากเพียงพอแล้ว

ร้านแจ๊สจริง ๆ ไม่ค่อยเยอะ คือตั้งแต่ผมเด็กมันก็มี Brown Sugar, Saxophone, Trumpet และ The Glass แต่มันมาแล้วมันก็หาย ที่ยืนยาวหน่อยก็ Brown Sugar กับ Saxophone แต่หลัง ๆ ก็เป็นแนว variety จริง ๆ ของเราก็เป็น variety แต่ก็พยายามอิงแจ๊สให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และไม่ pop จนเกินไป เพื่อให้มันเข้ากับคนฟังมากขึ้น ในช่วงเวลาที่ผ่านมาก็จะเห็นลูกศิษย์ไปเล่นตรงโน้นตรงนี้ แต่ซักพักหนึ่งร้านเหล่านั้นก็จะเริ่มกลาย ไม่อยากเอาแจ๊สละ เพราะเอาเข้าจริง ๆ บางทีเจ้าของร้านก็ไม่ได้ชอบแจ๊ส คนที่จะเปิดร้านแจ๊สมันต้องชอบแจ๊สก่อน ไม่ใช่เปิดเพราะอยากให้มันมีแจ๊สเป็นส่วนประกอบ มันก็เลยจะมา ๆ หาย ๆ กันอยู่อย่างนี้ โรงแรมก็ไม่เอื้อกับการเล่นนอกจากนักดนตรีจะมีงาน ซึ่งก็ไม่เยอะหรอก และในโรงแรมมันถูกใช้เป็นดนตรีเพื่อเสริมลุคเท่านั้นเอง แวดวงของแจ๊สมันก็เลยไม่โตซักที

ดีกรีการเล่นของนักดนตรีมันก็เป็นของที่พูดยาก อย่างผมก็ชอบฟังชอบเล่นตั้งแต่เพลงง่ายไปจนถึงยากมาก และปฏิเสธไม่ได้ว่าดนตรีแจ๊สมันเป็นดนตรีที่เอื้อกับคนเล่น พอมันเริ่มยากมากขึ้น มันก็สวนทางกับคนฟังในประเทศเรา แม้แต่ร้านเราก็ต้องปรับ สิ่งที่เราต้องการมาก ๆ คือต้องมีนักร้อง อย่างน้อยให้เสียงร้องมาสะกิดคนฟัง เพราะคนไทยไม่ชินกับเพลงบรรเลง เลยให้เนื้อร้องมันเป็นสื่ออย่างหนึ่งกับคนฟัง

อยากให้อาจารย์เล่าถึงความสัมพันธ์ระหว่างเพลงแจ๊สและบลูส์ ซึ่งเป็นแนวที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงโปรด อย่างสั้น ๆ

ตอนยุคของท่านจะหนักเรื่องเพลง New Orleans Jazz หรือ Dixieland ซึ่งเป็นช่วงที่บลูส์กับแจ๊สจะใกล้กันมากกว่าตอนนี้เยอะ และมันก็จะมีอิทธิพลซึ่งกันและกัน เพลงพระราชนิพันธ์ของท่านก็จะมีกลิ่นอาย มีโน้ตของความเป็นบลูส์แทรกอยู่พอสมควร แต่กลิ่นที่มากที่สุดยังเป็น New Orleans Jazz ที่น่าสังเกตก็คือเพลงในยุคหลัง ๆ อย่างเพลง แว่ว เป็นแจ๊สที่ต้องบอกว่ามหัศจรรย์ ร้องยาก เล่นยาก แต่เพราะ

การทรงดนตรีของในหลวงรัชกาลที่ 9 มีอิทธิพลกับชีวิตนักดนตรีของอาจารย์ในมิติไหนบ้าง

มี…โดยผมไม่รู้ตัว และผมเชื่อว่าอีกหลายคนก็ไม่รู้ตัวหรอก คือเพลงพระราชนิพนธ์เหล่านี้เราได้ยินมาตั้งแต่เด็ก ๆ และมันก็ซึมอยู่ในตัวเราตลอดเวลา การที่ผมชอบแจ๊สอาจจะมาจากท่านก็ได้ ความเป็นแจ๊สที่อยู่ในเพลงพระราชนิพนธ์ที่เราได้ยินมันซึมอยู่ในเราแล้ว

เพลงพระราชนิพนธ์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่อาจารย์ชอบที่สุดคือเพลงอะไร และทำไม

จริง ๆ ก็ชอบเยอะ ชอบเพลง ไกลกังวล ฟังแล้วอารมณ์ดี เพลง ยามเย็น เป็นเพลงที่ฟังแล้วชอบที่สุด ไม่รู้จะบอกอย่างไร คือเพลงมันโดน

เพลงจะสามารถเปลี่ยนความเศร้าในใจคนไทยให้กลายมาเป็นพลังได้อย่างไร

บทเพลงที่ดีมันสามารถเปลี่ยนชีวิตคนจริง ๆ มันมีตัวอย่างให้เห็นตลอดชั่วชีวิตของผม เพลงก็คือบทกวีบทหนึ่งที่ใส่ทำนองเข้าไป ทำนองก็ต้องสวยงาม มีความเหมาะสมกับบทกวีนั้น ๆ ไม่ว่าจะเป็นเพลงรัก หรือเพลงที่พูดเรื่องสังคม ผมเชื่อว่ามันมีอิทธิพลต่อคน

ในช่วงเวลาอย่างนี้ ทุกคนก็คิดถึงท่าน สำหรับผมเอง หลังจากท่านสวรรคต พอกลับมาเล่นดนตรีได้เราก็เล่นเพลงพระราชนิพนธ์ มันก็ทำใจยาก นักร้องนี่ไม่ต้องห่วง ร้องไห้ทันที และคงทำใจยากไปอีกหลายปี บทเพลงเหล่านี้เราก็ได้ยินมาตั้งแต่เราเกิด มันอาจจะสบายใจที่ได้ฟังเพลงของท่านเพราะเพลงท่านเพราะอยู่แล้ว แต่ความคิดถึง ความเศร้าก็ยังคงมีอยู่ ก็คงไม่หายไปไหน

10250321_10204003613072889_7519755735287066919_n

Facebook Comments

Next:


Piyakul Phusri

Piyakul Phusri นักฟังเพลงจับฉ่ายที่มีความเชื่อว่านอกจากการกินอิ่ม-นอนอุ่น การบริโภคงานศิลปะที่ถูกใจก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยของการมีชีวิตที่ดี