เวย์ THAITANIUM

Feature เห็ดนอกใจ

เวย์ THAITANIUM กับร้านตัดผม Never Say Cutz

  • Writer: Patikal Phakguy
  • Photographer: Nattanich Chanaritichai

“…I’m a businessman.”

นั่นคือคำตอบจาก เวย์ THAITANIUM เมื่อถูกถามว่าตอนนี้ทำอะไรอยู่

การบอกว่าตัวเองเป็นนักธุรกิจของเวย์อาจไม่ใช่เรื่องเกินไปนัก หากดูจากการเติบโตของร้านตัดผม Never Say Cutz แล้ว ต้องบอกว่าฝีมือการทำธุรกิจของเขาไม่ใช่เล่น ๆ

ภายในระยะเวลาเกือบ 8 ปี ร้านดังกล่าวขยายออกเป็น 13 สาขา

เมื่อดูจากอัตราการเติบโต ผมคิดว่าคนที่ได้ชื่อว่าเป็นเจ้าของน่าจะต้องเหนื่อยไม่มากก็น้อย หากวันที่พูดคุยกัน เวย์ THAITANIUM  กลับปรากฏตัวด้วยท่าทางสบาย ๆ

ผมกล่าวแนะนำตัว ถามว่าตอนนี้เขากำลังทำอะไรอยู่

เป็นคุณพ่อของลูกสองคน เป็นสามีของภรรยาหนึ่งคน เป็นแร็พเปอร์ และเป็นนักธุรกิจ คือคำตอบของเวย์

โดยไม่ต้องเสียเวลาคิด ผมตัดสินใจว่าจะคุยเรื่องธุรกิจกับเขาต่อ

จริงจังหรือทำเอาสนุก เพราะใจรักหรือแค่งานอดิเรก

            มีแต่เวย์เท่านั้นที่จะตอบได้

เราไม่เคยเจอช่างตัดผมที่ถูกใจในเมืองไทยเลย คือคนจะคิดว่าการตัดสกินเฮดมันง่าย แค่เอาปัตตาเลี่ยนมาไถก็เสร็จ แต่จริง ๆ ในความง่ายของมันต้องมีการเก็บรายละเอียดด้วย คุณต้องตัดให้มันเนี้ยบ

1

จุดเริ่มต้นของ Never Say Cutz

เราไม่เคยเจอช่างตัดผมที่ถูกใจในเมืองไทยเลย คือคนจะคิดว่าการตัดสกินเฮดมันง่าย แค่เอาปัตตาเลี่ยนมาไถก็เสร็จ แต่จริง ๆ ในความง่ายของมันต้องมีการเก็บรายละเอียดด้วย คุณต้องตัดให้มันเนี้ยบ ซึ่งช่างที่เราเจอ เขาทำไม่ได้ บางทีทำผิดจนต้องโกนหัวไปเลยก็มี

เราลองผิดลองถูกไปเรื่อย จนย้ายไปอยู่บ้านแถวสุขุมวิท 43 กับเพื่อน ๆ เราก็ไปเจอร้านบาร์เบอร์ราคา 50 – 60 บาท แถวสุขุมวิท 39 ซึ่งตอนนั้นผมเพิ่งกลับมาจากสหรัฐฯ พอดี ก็เลยเข้าไปในร้าน บอกช่างว่า “พี่ เห็นเส้นตรงนี้มั้ย พี่เอามีดโกนไปให้ถึงตรงนี้นะ กันมันให้เป็นเส้นตรง” แล้วเขาดันทำได้ เราก็บอกว่าเดี๋ยวกลับมาอีก ให้เขาจำผมทรงนี้ไว้ จากนั้นก็เลยไปตัดกับเขาบ่อย ๆ ชื่อพี่แจ็ค ทุกวันนี้ก็ยังเป็นช่างที่ร้านอยู่

พอเพื่อน ๆ เห็นว่าเราตัดผมได้แล้ว ก็ถามกันว่าตัดที่ไหน เราก็แนะนำให้ไปที่นี่ หลังจากนั้นก็มีแฟนเพลงและคนอื่น ๆ มาถามอีกเยอะแยะไปหมด เราก็แนะนำให้ไปที่นี่หมด จนวันหนึ่งพี่แจ็คถามว่า อยากเปิดร้านตัดผมมั้ย เพราะร้านตรงนี้จะโดนทุบแล้ว แถมเขาก็จะไม่ย้ายตามเจ้านายเก่าไป

ใจเราน่ะอยากทำอยู่แล้ว แต่ก็มีปัญหาว่าจะเปิดที่ไหน ตอนแรกคิดว่าต้องเป็นสยาม แต่พอไปคุยกับนานาก็คิดได้ว่าลูกค้าเก่าที่อยู่ตรงสุขุมวิท 39 อาจไม่ตามไปก็ได้ แต่ถ้าเราเปิดแถวนี้ เราก็ยังมีลูกค้าเก่า เราสามารถบอกให้เขามาที่ร้านใหม่ได้ เราเลยพยายามหาร้านใกล้ ๆ ที่เดิม นานาก็ไปเจอร้านแถวสุขุมวิท 51 ขึ้นรถไฟฟ้าจากที่เก่ามาสถานีเดียวเอง เราเลยคิดว่าน่าจะเวิร์กก็เลยเปิดตรงนั้น เริ่มต้นด้วยช่างสามคน

ตอนนั้นคุณตั้งใจทำจริงจังเลยมั้ย หรือแค่อยากสนับสนุนช่างคนนี้

ทำจริงจังสิครับ ตอนนั้นเราอายุ 27 มีเงินอยู่ก้อนหนึ่งพอดี ตอนแรกก็มีเพื่อนชวนไปหุ้นทำคลับ แต่เราไม่ชอบทำอะไรที่ต้องคุยกันหลาย ๆ คน แล้วพอดีว่าเกิดเหตุการณ์ของช่างแจ็ค เราก็เลยลองคำนวณว่าต้องตัดให้ได้กี่หัวต่อวันถึงจะอยู่ตัว เราคิดหลายสเต็ป คิดจนน่าจะเวิร์กแล้วถึงเริ่มทำ

แต่คุณก็ตัดผมไม่เป็น

ไม่เป็นครับ เราอาศัยการดูและจับสไตล์เอา คือบาร์เบอร์ช็อปที่สหรัฐฯ มันเยอะมาก มีทุกซอกทุกมุม เราเลยลองเอาวัฒนธรรมที่เราเคยเห็นที่นั่นมาใช้ที่เมืองไทยบ้างเท่านั้นเอง

แล้วอย่างนี้คุณดูแลช่างตัดผมของร้านยังไง

มันเริ่มจากพี่แจ็คก่อน คือพอเราไปคลุกคลีกับเขามาก ๆ เขาก็จับสไตล์การตัดผมของเราได้ เราก็เลยเอาวิดีโอมาเปิดให้เขาดู มีเพื่อนมาจากต่างประเทศก็เรียกให้เขาไปตัด ซึ่งต้องบอกว่าเขามีพรสวรรค์ด้วยแหละ

หลังจากนั้น เราก็เริ่มซื้ออุปกรณ์ที่เมืองไทยไม่มีมาจากสหรัฐฯ พอเริ่มใหญ่โตก็รับช่างตัดผมใหม่ เปิดคอร์สฝึกกันจริงจัง บางคนก็ตัดได้ภายในหนึ่งเดือน บางคนก็หกเดือน ช่วงที่ฝึก เราก็จะเรียกวินมอเตอร์ไซค์หรือพนักงานออฟฟิศแถว ๆ นั้นมาตัดผมให้ฟรีเลย ลองกันจนเห็นว่าพร้อมลงสนามจริงแล้วถึงค่อยปล่อย

2

ช่วงนั้นเครียดมั้ย

สองสามเดือนแรกก็เครียดนิดหน่อย เพราะมันเป็นธุรกิจใหญ่ ไม่เคยทำมาก่อน คือผมเคยทำเสื้อผ้าขาย แต่ก็ไม่ได้ลงทุนมากเท่าไหร่ เทียบสเกลกันแล้วต่างกันมาก การเปิดร้านตัดผมนี่จริง ๆ ก็คือการสู้กันไปน่ะครับ ลองผิดลองถูกจนช่างอินเต็มที่ ทุกคนค่อย ๆ ช่วยกันจนเป็นแบบทุกวันนี้มากกว่า

เมื่อสเกลมันใหญ่ขนาดนี้ กลายเป็นว่าคุณต้องจริงจังกับการทำธุรกิจเลยหรือเปล่า

ตั้งแต่เด็ก เวลาคนถามว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร เราจะพูดอยู่เสมอว่าอยากเป็นนักธุรกิจหรือไม่ก็นักเบสบอล จริง ๆ แล้วเราเป็นคนชอบหาเงิน เราเริ่มหาตั้งแต่เด็ก ๆ เลย เราหาเงินครั้งแรกตอนอายุ 8 ขวบ คือต้องบอกก่อนว่าโรงเรียนในสหรัฐฯ ไม่มีขายขนม มีขายแต่พวกแซนด์วิช ผลไม้ ไม่มีพวกลูกอม ขนมกรุบกรอบ เราเลยคิดอยากซื้อช็อกโกแลตไปขายในโรงเรียน สมมติว่าช็อกโกแลตหนึ่งกล่องราคา 9 เหรียญ ในนั้นมีช็อกโกแลต 20 แท่ง เราเอาไปขายแท่งละเหรียญ ได้กำไรตั้ง 11 เหรียญ เราเลยไปขอให้แม่เป็นนายทุนให้แล้วก็ซื้อไปขาย

โรงเรียนไม่ห้ามเหรอ

ห้าม แต่เขาไม่รู้ คือพวกนักเรียนจะรู้กันว่าถ้าอยากได้ขนมให้มาหาเรา หรือไม่ก็เป็นเรานี่แหละที่คอยถามว่าเอาลูกอมมั้ย เอาช็อกโกแลตมั้ย ขายเป็นเรื่องเป็นราว มีพาร์ตเนอร์ด้วยหนึ่งคน แบ่งงานกันเสร็จสรรพว่าใครขายที่ไหน ถ้าของขาดให้ไปเอาตรงไหน

พอโรงเรียนปิดเทอม เราก็ไม่อยู่นิ่ง ๆ เอาพวกสเตชันเนรี ปากกา การ์ด ไปเคาะขายในหมู่บ้าน หรือครั้งหนึ่ง เราเคยไปเยี่ยมป้าที่ฟลอริดา ป้าเปิดปั๊มน้ำมันอยู่ แล้วในปั๊มก็จะมีพวกของแถมอย่างไฟฉาย หมวก หรือร่ม เราก็เอากลับมานิวยอร์ก แล้วตั้งขายในซอยแถวบ้าน

เราทำแบบนี้ตลอด จนพอต้องย้ายบ้านตอนอายุ 15 เพื่อนที่ขายของด้วยกันในโรงเรียนบอกว่าเสียใจมากที่ต้องห่างจากเพื่อนที่ทำธุรกิจด้วยกันมา เราจำได้เลยว่าวันนั้น เขาเอาเงินที่เก็บสะสมจากการขายของมาให้ ประมาณหกร้อยกว่าเหรียญ ซึ่งสำหรับตอนนั้นถือว่าเยอะมาก

เราสนุกกับการขายจนสามารถเรียกตัวเองว่านักขายได้เลย อย่างตอนที่ทำเสื้อผ้าแล้วสินค้ามันเดดสต็อก เวลาไปทัวร์เราก็จะเปิดท้ายรถขายเลย คือเราโรคจิตน่ะครับ ชอบขายของมาก ชอบถือเงินสดเป็นก้อน ๆ แล้วนั่งนับ เวลาเด็ก ๆ พอได้ของขวัญวันเกิดหรือคริสมาสต์แล้วไม่ชอบนี่เราขายทิ้งหมด หลังจากนั้นเลยบอกทุกคนว่าไม่ต้องซื้อของหรอก เอาเงินมาให้ดีกว่า

3

ทำไมคุณไม่เรียนด้านที่เกี่ยวกับตัวเลขไปเลย

เราเรียนจบแค่ม.3 แต่หลังจากนั้นก็กลับไปสอบเทียบ เรียนมหาวิทยาลัยได้ประมาณสามเทอม แล้วก็ไม่ได้เรียนต่อ แต่เราจะอ่านหนังสือเล่มหนึ่งบ่อยมาก ลืมเมื่อไหร่ก็จะกลับไปอ่านใหม่ หนังสือเล่มนั้นชื่อว่า ‘Rich Dad Poor Dad (พ่อรวยสอนลูก)’

จริง ๆ แล้ว พ่อเราอยากให้เราเรียนหนังสือ เขาคิดว่าการที่ลูกเรียนจบปริญญา ได้ทำงานในออฟฟิศที่ติดแอร์ คือเพอร์เฟ็กต์จ็อบ ซึ่งเราว่าความคิดของพ่อตรงกับ Poor Dad ในหนังสือเล่มนั้นมาก

ทีนี้เมื่ออ่านไปเรื่อย ๆ เราก็นึกถึงตัวเองไปด้วย คือเราทำงานจริงจังตั้งแต่อายุ 15 เป็นเด็กเสิร์ฟ เป็นบาร์เทนเดอร์ตามร้านอาหาร เพราะมันเป็นอาชีพที่ได้เงินสด ได้ทิป ระหว่างนั้นเราก็คิดไปด้วยว่าถ้าเราทำงานเต็มที่ ทั้งเดือนหรือทั้งปีเราจะได้เงินเดือนเท่าไหร่ และเราอยากได้เงินเท่าไหน

สมมติว่าถ้าเราทำงานเป็นเด็กเสิร์ฟไปเรื่อย ๆ เราจะได้เงินเจ็ดแสนบาทต่อปี ถ้าเรายังอยากได้เงินเท่านี้อยู่ แต่เราไม่อยากเป็นเด็กเสิร์ฟ เราจะทำอะไรได้บ้าง

เราพยายามหาคำตอบให้กับคำถามนี้มาตั้งแต่เด็กว่ามันคือการทำอะไร จนกระทั่งเจอร้านตัดผมนี่แหละ เราจึงได้คำตอบ

ซึ่งก็ใช้เวลาหลายปีอยู่

ครับ แต่ระหว่างนั้นเราก็ทำมาเรื่อย ๆ ถือเป็นการเอาเงินมาต่อยอดเงินจากการเป็นนักร้องและขายเสื้อไปในตัว

ทำไมไม่เล่นหุ้นไปเลย

เราว่ามันเหมือนการพนันเกินไป

แล้วไม่อยากลอง

บางทีอาจจะลองก็ได้ แต่ไม่ใช่ตอนนี้ เราอาจจะยังไม่รู้ข้อมูลเยอะพอที่จะเล่นมัน

การตัดสินใจสร้างเนื้อสร้างตัวที่นี่ทำให้เราโตขึ้น มีความรับผิดชอบมากขึ้น เหตุผลส่วนหนึ่งก็เพราะ หนึ่ง—นานาทำให้เราอยากโตขึ้น เป็นผู้ชายที่ดีขึ้น ซึ่งไม่ใช่แค่กับเขา แต่กับทุกคนในชีวิต และสอง—เราอยากมีอะไรเป็นของตัวเอง เรายอมแพ้ไม่ได้

การที่คุณสะสมรองเท้านั้นเป็นเพราะชอบจริง ๆ หรือเป็นส่วนหนึ่งของการเป็นนักขายด้วย

สะสมจริง ๆ แต่ในใจเราก็ยังเป็นนักธุรกิจอยู่ดี โอเค มันเป็นคอลเลกชันที่เราชอบ สะสม แต่ถ้าให้ขายจริง ๆ ก็ขายได้ มีบ้างบางวันที่เรารู้สึกว่ามีเยอะแล้ว ไม่รู้จะไปเก็บไว้ที่ไหน เราก็จะโทรหาลูกน้อง โทรหาคนที่ใส่รองเท้าไซส์เดียวกับเรา ส่งรูปไปถามว่าอยากได้มั้ย

ไม่เสียดาย

ไม่ครับ หาใหม่ได้ แล้วก็อย่างที่บอก เราโรคจิต บางเวลาก็อยากถือเงินเป็นก้อน ๆ มากกว่า

อย่างนี้เวลาช้อปปิ้งคุณคิดเยอะมั้ย

ก็คิด แต่การช้อปปิ้งของผม ถ้าไม่ซื้อก็ไม่ซื้อเลย แต่ถ้าซื้อก็จะไม่ลังเล จะเป็นแบบ I see it. I want it. I buy it. จะไม่เดินดูแล้วลังเลไปมา ถ้าชอบซื้อเลย ถ้าไม่ก็จะไม่

มีลูกแล้วนิสัยการใช้เงินเปลี่ยนบ้างหรือเปล่า

เปลี่ยนครับ แต่เราทำงานมานานมันก็จะมีส่วนที่เก็บบ้างอยู่แล้ว คือเราจะคิดเป็นเปอร์เซ็นต์เลยว่า 50 เปอร์เซ็นต์นี้คือเก็บ ส่วนที่เหลือก็แบ่งไว้เป็นค่าใช้จ่ายภายในบ้านสัก 20 เปอร์เซนต์ อีก 30 เปอร์เซ็นต์จะเอาไปทำอะไรก็แล้วแต่

ทำไมถึงต้องมีระบบขนาดนี้

เราไม่ได้บอกว่าทำได้ทุกตอนนะครับ (หัวเราะ) เพียงแต่มันคือระบบที่เราวางไว้ ซึ่งโชคดีว่ามีคุณนานาด้วย เขาเก็บตังค์เก่ง

แปลว่าก่อนหน้านี้คุณก็ใช้เงินเก่ง

ก็มีบ้างครับ ช่วงที่ฮิปฮอปพีค ๆ ในเมืองไทย ทัวร์วันละ 2 – 3 ที่ เราไม่ได้เก็บเงินแบบที่บอกไปเลย ตอนนั้นอยากไปเที่ยวไหนก็ไป กลับสหรัฐฯ ที แร็พสตาร์โคตร ๆ ซื้อทอง ซื้อเสื้อผ้า จนเริ่มเป็นแฟนกับนานานั่นแหละ

ครั้งแรกที่เดตกัน เขามารับ พอคุยกันก็รู้ว่าเขามีรถ มีบ้านสองหลัง อายุก็เท่ากัน เราเลยต้องทำอะไรสักอย่าง ซึ่งจริง ๆ แล้วนิสัยเราเป็นคนยอมแพ้ไม่ได้อยู่แล้วด้วย (หัวเราะ)

แต่ตอนนั้น (2007 – 2008) เราก็ยังไม่ได้คิดจะอยู่เมืองไทยนะ ยังไป ๆ มา ๆ คิดว่าสักวันก็คงกลับไปที่นั่น เลยกะว่าใช้ชีวิตให้คุ้มก็พอ

ตอนนี้คือตัดสินใจกลับมาอยู่ไทยเต็มตัวแล้ว

ใช่

4

มันมีผลที่ทำให้เราจริงจังกับธุรกิจมากขึ้นมั้ย

มีครับ คือแต่ก่อน ตอนไป ๆ กลับ ๆ นิวยอร์ก-เมืองไทย เราก็ไม่สนใจอะไร แต่พอคิดว่าถ้าอยู่นิวยอร์กแล้วจะทำอะไร กลับไปเป็นเด็กเสิร์ฟเหรอ เราก็เริ่มคิดว่ามันไม่ใช่ แล้วนิวยอร์กมันก็อยู่ตรงนั้น ถ้าไม่ไหวจริง ๆ เราก็กลับไปได้

การตัดสินใจสร้างเนื้อสร้างตัวที่นี่ทำให้เราโตขึ้น มีความรับผิดชอบมากขึ้น เหตุผลส่วนหนึ่งก็เพราะ หนึ่ง—นานาทำให้เราอยากโตขึ้น เป็นผู้ชายที่ดีขึ้น ซึ่งไม่ใช่แค่กับเขา แต่กับทุกคนในชีวิต และสอง—เราอยากมีอะไรเป็นของตัวเอง เรายอมแพ้ไม่ได้ เราเลยอยากทำให้มันไปได้

ตอนเปิดร้าน คุณคิดมั้ยว่าถึงวัยต้องมีธุรกิจเป็นของตัวเองแล้ว

จริง ๆ การเป็นนักดนตรีมันก็เปิดประตูให้อย่างอื่นในชีวิตนะครับ ซึ่งก็ดี แต่ถ้าสักวันเราร้องเพลงไม่ได้หรือไม่มีใครชอบแล้ว มันจะมีอะไรที่ต้อนรับไลฟ์สไตล์ที่ตัวเราติดแล้วบ้าง เราไม่ต้องการให้มันเว่อร์มาก เราหวังแค่ให้มันประคองไลฟ์สไตล์ที่ตัวเองเคยชิน ตื่นมาแล้วสามารถไปซื้อกาแฟที่สตาร์บัคส์ได้ เราเลยต้องคิดว่าเราทำอะไรได้บ้าง

เหมือนทำสิ่งที่ตัวเองชอบ

ใช่ แต่โชคดีที่ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองมี passion และก็ชอบด้วย เราเลยไม่ได้มองว่ามันเป็นงานเท่าไร

พอเวลาผ่านไป เรายังทำเพราะชอบอยู่มั้ย

ไม่แล้วครับ ตอนนี้เราทำเพราะว่ามีคนที่ต้องเลี้ยงดูและดูแลประมาณ 90 คน

กดดันกว่าเดิมหรือเปล่า

เราไม่มองว่ามันเป็นเรื่องกดดัน เรามองเป็นเรื่องทำดี สร้างอาชีพให้คนอีก 90 คน

เวลาขยายสาขา คุณกลัวบ้างมั้ย

ก็มีบ้าง แต่การลงทุนคือการเสี่ยง เราก็พยายามให้มันเสี่ยงน้อยที่สุด ถ้ามีรูรั่วก็ดูว่าอุดยังไง ถ้าทำไปแล้วไม่ดี เราก็ต้องรู้ว่าควรชูธงยอมแพ้เมื่อไร

คุณคิดว่าตอนนี้ยังเสี่ยงอยู่หรือเปล่า

ไม่ เพราะคนเรายังต้องตัดผม เราแค่รักษามาตรฐาน บริการให้คนยังรักเราและกลับเข้ามาใช้เราได้อีกก็พอ

คุณรับมือกับความเสี่ยงได้แล้ว

เวลาจะทำอะไรสักอย่าง เรากับนานาต้องมาหาข้อดีข้อเสียกันตลอด ชั่งน้ำหนักว่าสิ่งไหนมากกว่ากัน ลิสต์กันออกมาเป็นข้อ ๆ

มีบ้างมั้ยที่ข้อเสียเยอะกว่า

มี แต่ก็ทำ (หัวเราะ) บางทีถ้า passion เยอะ เราก็ไม่ฟังอะไรอย่างอื่นแล้วน่ะครับ มีแต่ร้องจะทำ ๆๆๆ

ทุกวันนี้คุณยังคุมทุกอย่างอยู่มั้ย

ก็ยังดูอยู่ครับ แต่เราก็มี Team Management ของแต่ละสาขา ซึ่งทุกคนก็อยู่กันมาตั้งแต่เริ่ม เขาเลยรู้ว่ามาตรฐานของ Never Say Cutz คืออะไร

ยังมีอะไรที่ เวย์ THAITANIUM อยากลองทำอีกหรือเปล่า

ตอนนี้เราไม่คิดถึงการลงทุนอะไรที่มันไกลตัวมากนะครับ ทำในสิ่งที่ตัวเองทำทุกวันนี้ให้ดีขึ้นก็พอ อะไรที่ลงทุนไปแล้ว ถ้ามันขาดทุนก็จะไม่หลงตัวเอง จะไม่เชื่อตัวเองมากเกินไป ก็จะปล่อยหรือหยุดทำสักพัก

 

DABOYWAY ปล่อยซิงเกิ้ลใหม่ ‘วันอะไร’ ภายใต้สังกัด Def Jam Recordings

ฟังเพลงของ THAITANIUM บนเวบฟังใจ

 

Facebook Comments

Next:


Patikal Pakkai

ปฏิกาล ภาคกาย เป็นคนทำหนังสือประจำสำนักพิมพ์แห่งหนึ่ง เป็นนักฟังเพลงในบางจังหวะ และนักพบปะผู้คนในบางโอกาส