Interview

Yaan โลกแห่งดนตรีและจิตวิญญาณ

  • Writer: Montipa Virojpan
  • Photographer: Neungburuj Butchaingam

โดยภาพรวมแล้ว วงดนตรี world music อาจจะไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรนัก แต่ในเมืองไทยก็ยังนับว่าเป็นอะไรที่ยังไม่ค่อยแพร่หลาย แต่เมื่อหลายปีก่อน วง Yaan ก็ได้สร้างปรากฏการณ์จากเพลง น้ำ เพลงบรรเลงสุดไพเราะที่มีการใช้เครื่องดนตรีจากหลายประเทศในเพลง และทำให้คำว่า world music เริ่มเป็นที่รู้จักในกลุ่มคนฟังดนตรีนอกกระแส มาทำความรู้จักกับพวกเขาและดนตรี world music ในแบบของ Yaan ให้มากขึ้นกันดีกว่า

img_3690

สมาชิก

ย้ง-ชวลิต เสาวภาคย์พงศ์ชัย: ไวโอลิน กีตาร์ เธเรมีน
นพ-นพรุจ สัจวรรณ: ซิตาร์ เบส เพอร์คัสชัน
ลี่-นฤพนธ์ ช่างเจริญ: ดิดเจอริดู เบส เพอร์คัสชัน
ทอมมี่ แฮนซัน: ซาวด์ดั๊บ, เอฟเฟกต์
โจ้-นพกร วรธนิตกิจกุล: ซินธิไซเซอร์ กีตาร์ไฟฟ้า
แชมป์: คีย์บอร์ด พิณ แคน ซินธิไซเซอร์เสียงอีสาน
กิ๊กกี้: เพอร์คัสชัน
เก่ง: กลอง

อะไรคือแรงบันดาลใจให้เกิดวงญาณขึ้นมา

ย้ง: ช่วงประมาณ 4 ปีที่แล้ว ตอนนั้นผมเพิ่งออกอัลบั้ม Chladni Chandi เดือนนึงเล่นดนตรีกันเยอะมาก สนุกมาก แต่เล่นไปเล่นมาก็เบื่อเหมือนกันเพราะวงก็ทำมานาน แล้วผมก็ไปเรียนซิตาร์ที่ศูนย์วัฒนธรรมอินเดีย (ICC) ก็ได้ไปเจอกับนพ ที่นู่น แต่ยังไม่ได้รู้จักกันเท่าไหร่ จนรู้ว่าบ้านอยู่ใกล้กัน ก็ชวนมาแจมกัน แล้วผมก็เปิดโรงเรียนพอดี เขาก็มาสอนด้วย เลยสนิทกัน แล้วก็มีรุ่นน้องอีกที่เล่นอย่างอื่นด้วย ก็เลยมาคิดว่า เออ น่าจะเอาเครื่องดนตรีที่เราเล่นกันอยู่เนี่ยมาเล่นด้วยกันแบบเป็นเรื่องเป็นราวหน่อย คิดเพลงขึ้นมา หรือว่าจะทำยังไงกับมันให้เป็นวงขึ้นมา แล้วผมก็อยากทำวงดนตรีที่เหมือนวงปลายเปิด คือเครื่องดนตรีอะไรก็ได้ ทำให้มันเข้ากัน ทำด้วยกัน แล้วก็ไม่ต้องไปสนแล้วว่ามันจะเป็นเพลงแบบที่คนจะชอบไหม หรือว่ามันจะต้องร้องไหม จะเป็นรูปแบบไหน ยังไง เราไม่ได้คิดถึงเรื่องตรงนั้นแล้ว เราแบบ มาเลย อะไรก็ได้ อาจจะมีว่าใช้คีย์อะไรนิดหน่อย เลือกจะพูดถึงสิ่งนี้กัน แล้วก็บรรเลงด้วยความรู้สึก จิตวิญญาณ แจมไปเลย แรก ๆ ก็ซ้อมกันแบบนั้น ต่างคนมีอะไรก็เอามาเล่นกัน อยากจะเล่นอะไรก็ทำมาเลย

img_3673

ทำไมต้องใช้ชื่อญาณ

ย้ง: ผมกับนพเนี่ยนั่งคุยกันแหละ ตอนนั้นเราไปเล่นมาแล้วงานนึง สักสี่ห้าปีที่แล้ว จะใช้ชื่อว่าวงอะไรดี ผมอยากได้ชื่อวงแบบพยางค์เดียว เพราะวงนี้จะเป็นอะไรที่เครื่องเยอะมาก แล้วก็อยากให้เป็นภาษาสันสกฤต ไม่อยากเป็นภาษาอังกฤษ อยากได้ภาษาราก แต่มีความหมายในภาษาไทยด้วย คิดไปคิดมาเขาก็พูดคำว่า ‘สัญชาตญาณ’ ขึ้นมา ผมก็ เฮ้ย เดี๋ยวนะ ที่เราเล่นมันก็เป็นเครื่องดนตรีจากสัญชาติต่าง ๆ เลยชอบคำนี้ แล้วคำว่า ‘ญาณ’ มันก็น่าจะมีความหมาย เราก็ไปหาความหมายแล้วคิดว่าน่าจะได้ ก็เป็นความหมายทางด้านบวก แปลว่าการหยั่งรู้ ในทางศาสนาพุทธก็ใช้ แล้วอยู่ในหลักพระธรรมด้วย แต่ในความหมายของเราก็ไม่ได้หมายถึงเรื่องอิทธิฤทธิปาฏิหาริย์ หยั่งรู้ในทางดนตรีก็คือ รู้ว่าจะเล่นอะไร จะทำยังไงกับอิมโพรไวส์ ความหมายมันเป็นแบบนั้น

นพ: เล่นด้วยสัญชาตญาณและจิตวิญญาณ

สมาชิกแต่ละคนมาได้ยังไง

นพ: ครั้งแรกสุดที่ได้เล่นเลยเนี่ย ตอนนั้นก็ยังไม่มีชื่อวง ผมเนี่ยก็เล่นซีตาร์ ตอนนั้นก็ทำเพลง Govinda Bhasya อยู่ แล้วพี่ย้งก็เล่นไวโอลิน เล่นกีตาร์ ลี่ Abstraction XL ก็มาเล่น ดิดเจอริดู แล้วกล้วย จริญตนาใก ก็มาเล่นเบสให้

ย้ง: พอช่วงปลายปีก็มีงาน Stone Free 2 เบิร์ด Desktop Error ก็อยากมาเล่นด้วย แล้วก็มีชิ มือกลองกับ percussion ให้ คนเริ่มเยอะ พี่เอม Superunknown ก็มาเล่นกีตาร์ ซัก 7-8 คน ชุดนั้นก็เล่นกันอยู่พักใหญ่ มีเล่นงาน Keep on the Grass, Stone Free 2, 3 แล้วหลังนั้นประมาณสองปีที่แล้วก็เปลี่ยนสมาชิกกันอีกเพราะบางคนก็ติดธุระ งานเยอะ อยากทำวงของตัวเอง ก็ขอพักไปก่อน เลยเป็นการเปลี่ยนอีกครั้ง เบิร์ด กล้วย พี่เอม ออก ก็ได้ทอมมี่ Srirajah Rockers มา แล้วก็พี่โจ้ NoppakornLertlak เล่นกีตาร์ไฟฟ้า แล้วก็มีน้องแมนเล่นคองก้า ตี percussion อยู่ด้วยช่วงนึงก็ติดงานเหมือนกัน เลยกลายเป็นกิ๊กกี้ น้องผู้หญิงที่เล่นอยู่ทุกวันนี้ ตอนนี้ลี่ก็ขอพักไปทำงาน แล้วก็ไปเรียนดนตรีเพิ่มเติม

img_3681

เครื่องดนตรีมีมาจากหลายประเทศมาก ใครเป็นคนเลือก

ย้ง: ก็จะเป็นเครื่องดนตรีที่ทุกคนเล่นอยู่แล้วน่ะครับ ที่เหลือเนี่ยจริง ๆ มันก็อะไรก็ได้ มันเปิดมาก เอาโน่นนี่มาก็ได้ นพจะเล่นซีตาร์ ผมเล่นไวโอลินกับกีตาร์ แต่ละคนจะมีเครื่องหลัก ๆ แต่ก็หยิบอันโน้นอันนี้มา เขาเลือกกันเอง แล้วก็ไม่ค่อยมีปัญหาว่าเครื่องดนตรีนี้ใช้ไม่ได้ เพราะคาแรกเตอร์ของเสียงมันก็มีเอกลักษณ์อยู่แล้ว

ได้ใช้ reference วิธีการเล่นจากที่อื่นไหม

ย้ง: ก็จะใช้ทักษะจากที่ตัวเองมีอยู่ อย่างช่วงหลังก็ได้รู้จักกับพี่นัท Maft Zai เขาก็เริ่มเอาเพลงที่เป็น world music เพลงพื้นบ้านหรือเพลงต่างประเทศจากแอฟริกาบ้างมาให้ฟัง ซึ่งบางทีเราก็ไม่เคยรู้จักมาก่อน ก็เป็นแรงบันดาลใจเอามาประยุกต์ได้

นพ: ได้ไอเดียจากเพลงหลาย ๆ แบบ อย่างเพลงญาณบางเพลงก็จะมี reference จากการบรรเลงดนตรีอินเดียแบบคลาสสิก ที่สัดส่วนไม่ปกติ จะดู fusion แล้วเอาตรงนั้นมาใส่กับเพลงที่ทำกันอยู่ แล้วเพิ่มท่อน เพิ่มจังหวะที่เห็นว่าสมควรแล้วว่ามันไม่มากเกินไปก็เอามาผสมกัน

ตอนเขียนเพลง น้ำ คิดอะไรอยู่

นพ: ตอนนั้นมีคอนเซปต์อยู่ ด้วยความที่ว่าเราเป็น world music เราจะทำเพลงที่เกี่ยวกับธรรมชาติ ก่อนหน้านั้นมีอีกอย่างนึง เรื่องเส้นศูนย์สูตร

ย้ง: มีเพลงที่แต่งไว้แล้วไปเล่น Stone Free ขากลับแวะน้ำตกกัน แล้วก็เอาเครื่องดนตรีที่อยู่ในรถไปเล่นตรงนั้น เราว่า เฮ้ย เพลงนี้มันต้องเกี่ยวกับน้ำเลย เสียงมันเหมาะมาก แล้วก็อย่างที่นพบอกเมื่อกี้คือ เคยคุยกันหลายคอนเซปต์ อย่างโลกประกอบขึ้นจากธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ อันนี้ก็จะเป็นเพลงนึงที่อยู่ในคอนเซปต์นั้น คอนเซปต์จะทำชื่อเพลงเป็นชื่อประเทศเลยก็มี เหมือนเราจะเอาเส้นละติจูดที่ตัดผ่านประเทศไทย แล้วก็ประเทศที่โดนตัดผ่านเส้นเดียวกับเราก็จะเป็นชื่อเพลงใน conceptual album มันก็คิดอะไรกันไปเรื่อย

ชื่อเพลง Manasu-Yaman (มานะสุยามัน) หรือ Vana-Aga (วณา-อะคา) มาจากอะไร

ย้ง: สองเพลงนี้คือเพลงที่ไปอัดเสียงกันปีที่แล้วให้ของ Zudrangma Records ครับ วง Paradise Bangkok Molam International Band เขาไปทัวร์กันที่ยุโรป แล้วพี่นัท Maft Zai เขาก็เลยติดต่อมาว่าอัดซักสองเพลงไหม แล้วก็มีวงเสียงหองไลออนส์ด้วย เขาจะเอาเพลงติดไปด้วยไปให้โปรดิวเซอร์ที่อังกฤษหรือเยอรมันได้ลองฟังว่าที่เมืองไทยมันมีเพลงแบบนี้นะ เป็นโปรเจกต์ที่อัดเสียงกันเพื่อที่จะไปทางนู้น แล้วจริง ๆ เรามาตั้งชื่อสองเพลงนี้ตอนที่อัดกัน เพราะว่าก่อนหน้านั้นก็เรียกชื่อเพลงแบบ nickname สั้น ๆ เอาแบบเข้าใจกัน ถ้าอย่าง มานะสุยามัน นี่ยังอยู่ในคอนเซปต์ของ ดิน น้ำ ลม ไฟ อยู่ ผมคิดถึงลม คำว่า มานะสุยามัน มาจากสองคำ ‘มานะสุ’ แปลว่า ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดมาจากอินเดียที่พัดมาประเทศไทยทำให้มีฝนตกในช่วงเดือนอะไรสักอย่าง แล้วเพลงก็เป็นอย่างนั้นคือมีความเป็นอินเดีย ผสมกับความรู้สึกที่ฟังแล้วมีความเป็นไทย ๆ ด้วย ก็เลยนึกถึงว่าเอาลมที่ว่าเนี่ยมาแทนเสียงเพลงที่มันพัดมาจากอินเดียมาไทย คำว่า ‘ยามัน’ เป็นทำนองอินเดีย

นพ: ทำนองอินเดียที่เขาเรียกว่า ‘ราก้า’ ‘ราคะ’ หรือ ‘ร้าก’ (raga, raag) เหมือนบันใดเสียงที่ใช้บรรเลงเพลงนี้มันชื่อว่า ‘ยามัน’ เหมือนสเกล C Major หรือ A Minor แต่ที่อินเดียเขาจะมีการเรียกทำนองหลายชื่อ ‘ยามัน’ ‘ไพราวี’ ‘บุพปาลี’ นี่ก็คือหนึ่งในทำนองบันไดเสียงของดนตรีอินเดีย เราก็แปลงทำนองมา

ย้ง: วณา-อะคา ‘วณา’ แปลว่าป่า ภาษาไทยก็ใช้รากศัพท์จากภาษาสันสกฤตเหมือนกัน ‘อะคา’ ก็คือ อัคคี ไฟ ก็เลยเป็นไฟป่า ที่อัดเสียงกันไว้ลี่จะปล่อยพลังดิบเถื่อนสุด ๆ ไปเลย เวลาเล่นทีนี่เหมือนไฟไหม้ป่า ความร้อนแรง ของลี่ (หัวเราะ) เวลาเล่นสดเพลงนี้บางทีก็แรงไป บางทีก็เลือกจะไม่เล่นเลยเพราะเดี๋ยวแรงไปกับบางที ก็อยู่ในคอนเซปต์นั้นเหมือนกัน

img_3671

การเปลี่ยนสมาชิกทำให้สีสันแนวเพลงต่างจากยุคแรกไปมากขนาดไหน

ย้ง: แตกต่างครับ สีสันจะเยอะขึ้นมาก อย่างทอมมี่เนี่ย เขาจะไม่ได้เล่นเครื่องดนตรี เขาเล่นเอฟเฟกต์ แล้วก็ดั๊บซาวด์แบบวงเร็กเก้ คืออันนี้เราไม่ได้เล่นเร็กเก้กันแต่เขาเอาวิธีของเร็กเก้มาใช้กับดนตรีของเรา แล้วก็มีแชมป์ เสียงหองไลออนส์ เขาเป่าแคน เล่นพิณ แล้วก็เป็นมือคีย์บอร์ดวงผมด้วย ล่าสุดนี่ชวนมาเล่นก็จะมีเครื่องดนตรีไทย เครื่องดนตรีอีสานเข้ามาเพิ่มอีก ตอนยุคแรกก็เป็นอีกแบบนึง ตอนนั้นหลาย ๆ คนชอบโพสต์ร็อก เพลงเลยออกมามีกลิ่น ๆ แอมเบียนท์ด้วย แล้วยุคหลังก็จะมีความเป็น world music มากขึ้น ความเป็น psychedelic ก็ยังอยู่ นพแต่ก่อนจะเล่นซีตาร์อย่างเดียวเลย แต่จริง ๆ เขาเป็นมือเบส ตอนที่กล้วยออกไปนพก็จะเล่นเบสด้วย ก็คือตอนนี้เล่นทั้งเบสทั้งซีตาร์เลย คือเพลงนึงเล่นเบส อีกเพลงก็ไปเล่นซีตาร์ แล้วกลับมาเบส มันก็โอเคเพราะว่าถ้าซีตาร์ทุกเพลงเลยเดี๋ยวจะเบื่อกันไปก่อน เพราะเอกลักษณ์ของเสียงมันเนี่ยคืออินเดียมาก

นพ: บางทีเราอยากให้มีความเป็นอินเดียเข้ามา บางทีเราอยากให้เครื่องอื่นมันชูเอกลักษณ์ของมันขึ้นมามากกว่า อย่างเพลง เต้ยโขง เงี้ย เราก็จะไปเน้นตรงเครื่องดนตรีไทยที่เป็นแคน หรือว่าพิณ เครื่องดนตรีสากล หรือด้วยทำนองเพลง ถ้าซิตาร์เข้ามายังไงมันก็จะอินเดียอยู่ดี ก็เลยต้องลดหรือสลับบทบาทหน้าที่กันไป

ย้ง: ทีนี้ในวงก็จะมีข้อดีอย่างนึง ก็คือแต่ละคนเนี่ยก็จะเล่นเครื่องดนตรีได้หลายชิ้น กีตาร์เนี่ยเป็นเครื่องดนตรีที่ทุกคนเล่นได้ แล้วก็ที่เป็นเครื่องเคาะ เครื่องอะไรที่มันไม่ซับซ้อน ก็จะเอามาเล่นกัน แต่ละครั้งก็เอามาเล่นไม่เหมือนกันอีก

แต่ละคนมีวิธีแชร์ไอเดียกันยังไงจนสุดท้ายมาลงล็อกที่ความเป็นญาณ

ย้ง: ก็ต้องพูดถึงเพลงอะเนาะ บางเพลงเนี่ยเล่นกันมาตั้งแต่ยุคแรก ๆ เลย มันก็ถูกเล่นมาเป็นแม่แบบอยู่แล้ว แล้วทีนี้ก็จะปรับเปลี่ยนไปตามสถานที่หรือคน อย่างบางทีเล่นมากเกินไป กับน้อยเกินไป เพลงเนี่ยส่วนที่เป็นเมโลดี้หลักเราก็จะยึดไว้ไม่เปลี่ยนมัน เล่นทุกครั้งเหมือนเดิม แต่ส่วนที่เป็นโซโล่ อิมโพรไวส์ ก็เต็มที่เลย แล้วจะพิเศษตรงที่เราสามารถแถมหรือยืดเพลงออกไปอีก ไม่มีการนับห้อง แบบ ตอนนี้ฟีลมันมาละ แล้วก็ต่อเลย เล่นยาว บางเพลงเล่นกันครึ่งชั่วโมงก็มี จนต้องพอ บางงานก็อาจจะตัดจบเลย เพราะฟีลมันควรจะแค่นั้น

โปรดิวเซอร์ feedback มาว่ายังไง

ย้ง: ตอนที่เราอัดเสียงสองเพลงนี้พี่นัทเขาก็จะมาดูตลอด เขาก็ไม่ได้คอมเมนต์อะไร เอาแบบที่ทำเลย ไม่แน่ใจว่าขายหรือเปล่า เพลงก็ยังไม่ได้ปล่อยออกมา ยังอยู่ในคอมทอมมี่ (หัวเราะ) เหมือนไปคุยกับทอมมี่แล้วทอมมี่เหมือนยังไม่ค่อยชอบ ในตอนนั้นมันยังขาดอะไรไปบางอย่าง ก็เลยยังไม่ได้ทำ เลยปล่อยไว้อย่างนั้น ทุกอย่างเสร็จหมดแล้วเหลือมิกซ์อย่างเดียว แต่จริง ๆ ก็พยายามอัดเสียงกันอยู่เรื่อย ๆ อย่างซ้อมหรือเล่นทุกครั้งก็อัดเสียงตลอด แล้วต้นปีนี้ เมื่อเมษาก็พยายามไปอัดเสียงกัน ไปต่างจังหวัด เป็นบ้านทำเป็นห้องอัดขึ้นมาเอง แล้วเอาเครื่องดนตรีไปเล่นในนั้น ก็เป็นข้อจำกัดของสถานที่ เลยไม่สำเร็จ อัดกันยังไม่สมบูรณ์

img_3701

เป็นวงที่มีการทดลองอยู่ตลอดเวลา

นพ: ทุกครั้งที่เล่นก็จะมีการทดลองอะไรใหม่ ๆ แล้วแต่ว่าใครคิดอะไรขึ้นมาก็จะเกิดสิ่งใหม่ ๆ ขึ้นมา

ย้ง: ทอมมี่ทำให้ช่วงหลัง ๆ มีความคิดแบบนี้เกิดขึ้นมาเยอะมาก เพราะเขาจะมีไอเดียเหมือนเด็กฝรั่งอะ ไม่ทำอะไรเดิม ๆ เขาจะคิดอันนั้นอันนี้ ลองเอาอันนี้มาผสมกันซิ ลองทำเอฟเฟกต์เองบ้าง เขาจะชอบเรื่องซาวด์มาก แล้วจะชวนทำนั่นทำนี่ตลอด

อะไรทำให้ทุกคนสนใจ world music

ย้ง: อย่างที่บอกว่าผมอยากทำเพลงที่เปิดไปเลย เอาหมดเลย มันก็ต้องเป็นเครื่องดนตรีที่กว้างมาก ๆ ก็คือ world music อะไรก็ได้ที่อยู่ในโลกเราเนี่ยแหละ แต่ทีนี้พื้นฐานผมเป็นคนชอบฟังเพลงพวก psychedelic, stoner มันมีบางจุดที่มันก็เข้ากันได้ อย่างนพก็แน่นอนอยู่แล้ว เขาก็จะฟังดนตรีคลาสสิกของอินเดียไปเลย Ravi Shankar พวกชั้นครูซิตาร์ของอินเดีย มันก็แมตช์กันอยู่แล้ว หรือเครื่องดนตรีอย่างลี่เขาก็ฟังพวก tribal, Aborigin เพราะมันก็มีดนตรีที่เอามาผสมกับดนตรีอิเล็กทรอนิก พวกทรานซ์ อะไรด้วย อย่างทอมมี่เขาก็ชอบเร็กเก้ มันก็เป็นส่วนนึงของดนตรีที่เป็น world music

เคยคิดอยากจะลองใช้เครื่องดนตรีนอกเหนือจากตรงนี้อีกไหม

นพ: มีครั้งนึง พี่อ้น Honon Handpan เขาก็เคยมาร่วมเล่นด้วยกัน ก็เป็นเครื่องดนตรีของสวิส ก็มีคนมาแจมเยอะ อาจารย์อนันต์ก็เอาซอเอ้อหูของจีนมาเล่น ด้วยที่ว่าเครื่องดนตรี world music มีอยู่แค่นี้ เลยเอาที่มีอยู่เท่านี้ทำให้มันเกิดประโยชน์สูงสุดก่อน ใจก็อยากหาอย่างอื่นมาเล่น แต่ที่นี้ด้วยความที่ว่าเครื่องมันอาจจะหาไม่ยาก แต่หาให้คนที่เล่นแล้วเข้าใจ เล่นเป็น แล้วมาร่วมบรรเลงตอนนี้มันยังไม่มี แต่อาจจะเอาเข้ามาในลักษณะ featuring กันมากกว่า อย่างบางเครื่องเนี่ยถ้าไม่เหลือบ่ากว่าแรง ด้วยทุกคนก็มีทักษะทางดนตรีอยู่แล้วก็จะเล่นกันเอง แล้วเอามาเรียบเรียงไม่ให้มันดูเหมือนเป่าไม่เป็นแล้วมาเป่า พอสื่อสารออกไปคนก็จะเข้าใจว่าเครื่องนี้เล่นแบบนี้หรอ แล้วพอเขาไปเจออีกอย่างนึงแล้วก็จะคิดว่า อ้าว ตกลงมันเล่นยังไง เพราะฉะนั้นเราก็เลยพยายามใช้ทรัพยากรบุคคลให้คุ้มก่อน อย่างวันนี้พี่ย้งไม่เล่นกีตาร์ก็มาฝึกเป่าขลุ่ยกัน หรือผมอาจจะเอาเครื่องอื่นที่ไม่ใช่อินเดียที่พอเล่นได้ไม่ถึงกับเก่งมาก แต่ถ้าสามารถดำเนินทำนองได้ก็เอามาเล่น ในอนาคตก็พยายามจะทำอยู่ เข้าใจนะว่าคนฟังก็จะเห็นแค่มีซีตาร์ หรือนั่นนี่อยู่แค่นี้ ก็อยากให้มันฉีกออกอยู่เหมือนกัน ก็เลยเอาเครื่องดนตรีที่มีอยู่ไปเล่นในทำนองอื่น อย่างเช่น เอาซีตาร์ไปเล่นทำนองจีนหรือญี่ปุ่น พยายามเปลี่ยนสำเนียง หรือเทคนิกการเล่นไม่ให้มันดูอินเดียเกินไป ก็จะออกมาเป็นเสียงเครื่องสายของประเทศนั้น ๆ พี่ย้งเขาก็จะมีการเอากีตาร์มาเล่นสไลด์ ตั้งแต่พี่เบิร์ดมาอยู่เขาก็จะเล่นกีตาร์สไลด์ให้เหมือนว่าเป็น lap steel เหมือนเล่นกีตาร์ฮาวาย ลี่เขาก็จะเอาดิดเจอริดูมาเป่า แทนที่เขาจะเป่าเฉย ๆ เขาก็ตะโกนปุ๊ดปั๊ด ๆ ให้เหมือนบีทบ็อกซ์ ก็ทดลอง เคาะบ้าง ตีฉิ่ง ใช้ให้มันเต็มที่ ก็เป็นการ adapt

world music วงไหนที่น่าสนใจ

ย้ง: ก็เยอะนะ ที่ผมชอบจะเป็นวงจากยุค 70s เพราะเสียงเขาจะมีเสน่ห์ ความเก่าของเครื่องดนตรี ซาวด์แบบ 70s แล้วยุคนั้นฝรั่งก็บูมมาก ยุคที่เอาดนตรีนู้นนี้มาผสม เราก็ชอบความอิสระเสรีอะไรตรงนั้น

นพ: Playing for Change อันนั้นเขาก็เอาดนตรีหลาย ๆ ประเทศมาบรรเลงร่วมกันในหนึ่งเพลง ท่อนนี้คนนึงเล่นเพลงนี้ ท่อนนี้คนนึงเล่นเพลงนี้ เขามีเพลงอยู่แล้ว เขาก็ไปเรียบเรียงงกันว่าใครจะบรรเลงยังไง

img_3698

ที่เล่นที่ Studio Lam มีแฟนขาประจำมาดูไหม

นพ: มีญี่ปุ่นคู่นึง ทุกครั้งที่เขามาเขาก็จะไม่เขินอาย เขาจะปลดปล่อยตัวเองเต็มที่ เขาจะเต้น จะอะไร เหมือนมันเป็นความรู้สึกที่เขาแสดงออกมาขณะที่เขาฟังเพลง ในชณะที่ เข้าใจว่าคนบ้านเราก็ยังจะมีเขิน ๆ อาย ๆ หรือรู้สึกว่ากลัวลุกขึ้นเต้นแล้วไม่มีใครเต้นด้วย หรืออาจจะเป็นไปได้ว่าแรงกระตุ้นจากเพลงอาจจะทำให้เขายังไม่รู้สึกว่าพีคพอที่เขาจะปลดปล่อยความรู้สึกออกมาได้ อย่างบางคนฟังเพลงที่เราเล่นแล้วรู้สึกว่ามีจังหวะที่น่าจะต้องเต้นได้ ปรากฏว่ามีเต้นแค่บางส่วน ส่วนใหญ่จะเป็นฝรั่ง เป็นญี่ปุ่น คนต่างชาติมากกว่า แต่เพลงที่เป็นลักษณะช้า ๆ ให้ความรู้สึกลอย ๆ เคลิบเคลิ้มเนี่ย คนบ้านเราจะอินมากกว่า แต่ละเพลงจะตอบโจทย์คนแต่ละคนไม่เหมือนกัน

ย้ง: มีร้องไห้ด้วย แต่อีกคนที่นั่งติดกันก็หลับ (หัวเราะ) จริง ๆ คนไทยเดี๋ยวนี้ก็ไม่น้อยแล้วนะ แต่ก่อนแรก ๆ จะเป็นพวกฝรั่ง 10 คนเนี่ย ชอบซะ 8 คน เขามาเที่ยวเอเชียเพื่อมาหาอันนี้ เขาจะแฮปปี้ เข้ามาอยากจะขอซื้อแผ่นกันเลย ซึ่งทุกวันนี้ก็มีน้อง ๆ คนไทยที่มาดูเยอะขึ้น บางคนก็มาบ่อย บางทีก็เป็นลูกศิษย์ของนพก็มี เพราะนพก็สอนซีตาร์ด้วย เขาคงอยากจะเห็นว่าประยุกต์ใช้ยังไงได้บ้าง

นพ: จริง ๆ ตอนทำเพลง world music เราก็มีความคิดกันว่า ให้เป็นเพลงที่สื่อสารออกไปโดยที่เราไม่ต้องตั้งชื่อเพลง เราจะให้คนไปตีความเอาเอง ใครฟังแล้วสถานะหรือสภาพจิตใจเขาอยู่ตอนไหน เขาก็จะไปตีความความรู้สึกนั้นของเขา เขาก็จะเรียกเพลงนั้นตามความรู้สึกของเขา

แล้วถ้าจะไปหาฟังต้องทำยังไง

นพ: ส่วนใหญ่หลัง ๆ เราเล่นแล้วจะบันทึกอัดยาว ๆ ทั้งโชว์ไปปล่อยใน YouTube Channel พยายามจะเก็บรวบรวมข้อมูลไว้ว่าแต่ละครั้งที่เล่นเพลงเดียวกันเนี่ย ต่างสถานที่ เล่นไม่เหมือนกัน มันอยู่ที่สถานที่แล้วก็ความรู้สึกในการเล่นแต่ละที่ อย่างที่ Studio Lam หรือ Overstay เนี่ย เรารู้สึกว่าเราสามารถเล่นแล้วสามารถที่จะ free form ได้มากกว่าสถานที่อื่น ๆ อย่าง JJ Green นี่มันเหมือนจะ free form ได้ แต่ไม่ได้ เพราะหนึ่ง มันเป็นที่เปิด ใครจะเข้ามาดูก็ได้ มันมีคนทุกเพศทุกวัย แล้วเราก็กลัวว่าจะไปทำให้ตลาดเขาแตกหรือเปล่า เราก็เลยต้องปรับการเล่น แต่ถ้าดูแล้วว่ามีคนดูมาเอนจอยเยอะเราก็จะปรับการเล่นตาม

ย้ง: ส่วนใหญ่จะเป็นเล่นสดหมดเลยเพราะเล่นสดแต่ละทีก็ไม่เหมือนกัน บางที่เราไปเล่นบางที่ก็จะเล่นให้เบาลง ปรับให้เข้ากับสถานที่ เพราะอย่างวงญาณ มันมีไปเล่นที่หอศิลป์ หรือพิพิธภัณฑ์ เล่นในบาร์ ร้านเหล้า ก็ต้องดีไซน์ให้มันต่างกัน แล้วคนดูก็คาดหวังโชว์ไม่เหมือนกัน ต้องเล่นให้มันสุภาพ หรือเพราะ ๆ นวล ๆ หรือว่าเต็มที่เลย บางทีเขาก็ฝรั่ง หรือว่าคนที่มาดูบางทีก็คิดว่าเล่นเบาจัง ไม่มันเลย แต่บางทีก็เล่นแรงเกิน (หัวเราะ) ที่ Overstay ถ้าไปเล่นที่นู่นเราก็เล่นไปเรื่อย ล่าสุดขึ้นตอนเที่ยงคืน เลิกตีสี่อะ เล่นกันแบบลืมไปเลย มันก็เหมาะกับที่นั่น

มีเพลงใหม่บ้างไหม

ย้ง: ก็ทำกันไปแล้ว แล้วก็ไม่ชอบ เปลี่ยน ก็มี

งานเล่นเยอะไหม

ย้ง: อาจจะเดือนนึงครั้งนึง เดือนนึงสองครั้ง มาเรื่อย ๆ เพราะจะมีเล่นประจำอยู่ที่ Studio Lam ช่วงก่อนเข้าฝนเมื่อต้นปีก็เล่นที่ JJ Green อันนั้นเดือนละครั้ง เป็นเวทีกลางของตลาดแล้วแต่เขาจะเลือกวงมาเล่น

นพ: พอดีเราก็อยู่ตรงนั้นอยู่แล้ว เปิดร้านเหล้าอยู่ที่นั่น แล้วรู้จักกับคนในตลาด แล้วพี่ที่เขาทำอยู่ที่ร้านเขาก็ดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องวงดนตรีที่ตลาด เขาก็เลยบอกว่า เอาวงมาเล่นสิ เพราะตลาดเขาก็อยากได้วงที่ไม่ได้เล่นเพลงตลาด อยากได้แปลก ๆ ให้เป็นจุดขายของตลาดก็เลยเอาวงญาณไปเล่น โกดังหลังสุดเลยที่เขียนว่า Green Vintage โซนขายของเก่า

ย้ง: เราหยุดไปเพราะเป็นหน้าฝน สถานที่เป็นกลางแจ้ง ถ้าฝนตกก็ต้องเลิก อันนั้นก็เล่นอีกแบบนึงเพราะคนดูก็อีกแบบนึง เขาไม่ได้ตั้งใจมาดูแต่มาเดินซื้อของอะไรแบบนั้น ส่วนมากก็จะเป็นเด็ก ๆ ด้วย เวลาเล่นบางทีก็ต้องคัฟเวอร์นิดหน่อยให้คนเขาอ๋อ เออ รู้จักเพลงบ้าง ไม่ถึงกับคัฟเวอร์แต่อาจจะเอาเมโลดี้ของเขามาใส่นิดหน่อย ก็ยังเป็นเพลงบรรเลงอยู่ ทำให้มันฟังง่ายขึ้น

โรงเรียน Sky Music นี่เปิดนานหรือยัง

ย้ง: ก็เปิดมา 2012 พร้อม ๆ วงญาณเลย มีผมกับนพสอนอยู่หลัก ๆ ก็จะมีดนตรีสากล กีตาร์ ไวโอลิน เปียโน เบส อูคูเลเล่ กลองชุด ยกเว้นเครื่องเป่า มีพี่อีกคนสอนแบนโจด้วย แต่จะมาสอนก็ต่อเมื่อมีนักเรียน แล้วก็จะมีซีตาร์

img_3694

ฝากผลงาน

ย้ง: อยากจะให้ดูเล่นสดก่อน เพราะเพลงอาจจะอีกสักพักกว่าจะได้อัดเสียงกันหรือปล่อยออกมา กว่าจะเป็นอัลบั้ม เพราะว่าเล่นสดก็อย่างที่บอกไปเมื่อกี้ ก็คือมันมีตัวสถานที่หรือตัวคนดูก็มีผลกับการเล่นของวง แล้วมันก็สนุก เพราะการเล่นแต่ละครั้งมันก็ไม่เหมือนกัน สมาชิกบางคนก็ไม่มาเราก็ต้อง rotation ให้เท่าเดิม ลักษณะของเสียง การผสมเสียงก็ต่างกันออกไป ส่วนข้อมูลในเพจก็อัพเดตเรื่อย ๆ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ Yaan ได้ใน Facebook Fanpage

Facebook Comments

Next:


Montipa Virojpan

อิ๊ก เนิร์ดดนตรีที่เพิ่งกล้าเรียกตัวเองว่าเป็นนักเขียนตอนอายุ 25 ชอบเดินเร็ว นอกจากขนมปังกับกาแฟดำแล้วก็สามารถกินไอศกรีมกับคราฟต์เบียร์แทนมื้อเช้าได้