Uncategorized

Sonic Seasoning : เพลงทำให้อาหารรสชาติดีขึ้นได้จริงหรอ?

  • Writer: Peerapong Kaewthae
  • Art Director: Tunlaya Longsurname

เพิ่งกินข้าวเช้าไปตอนเก้าโมง แต่พักนึงก็เริ่มอยากกินข้าวเที่ยงแล้วเพราะวันนี้เดินผ่านร้านข้าวมันไก่ ป้าก็เปิดเพลง ข้าวมันไก่ ของพี่ เจมส์ เรืองศักดิ์ ดักแก่กันเฉยเลย แต่เหนือสิ่งอื่นใด เพิ่งสังเกตว่าทำไมวันนี้ข้าวมันไก่ร้านป้าถึงอร่อยกว่าปกตินะ คงเป็นเพราะน้ำจิ้มที่หอมกระเทียม กลมกล่อม เค็มกำลังดี เคี้ยวโดนพริกหั่นหยาบแล้วเผ็ดเข็ดฟัน อยากอมไว้ไม่ต้องกลืนไปตลอดกาล

บางครั้งเพียงแค่การก้าวขาเข้าร้านอาหารซักร้านอาจทำให้เราตกอยู่ภายใต้มนต์สะกด ตั้งแต่บรรยากาศของร้าน การได้ยินเพลงที่เปิดคลออยู่ ความดูดีของหน้าตาอาหารบนเมนู หรือของจริงตรงหน้าตอนที่ถูกยกมาเสิร์ฟ เสียงของชิ้นเนื้อที่กำลังดิ้นพล่านอยู่บนกระทะร้อนร้อนฉ่าที่พนักงานยกผ่าน รวมถึงเสียงสงครามบนจานระหว่างช้อนกับส้อม ก็มีส่วนช่วยให้อาหารถูกปากเรามากขึ้นไปด้วย

Charles Spence ผู้เขียนหนังสือ ‘Gastrophysics: The New Science of Eating’ ใช้เวลากว่ายี่สิบปีในการทำวิจัยเพื่อไขปริศนาความลับของความสัมพันธ์ระหว่างเสียงและรสชาติอาหารจนพบกับคำว่า ‘sonic seasoning’ หรือ ‘เสียงปรุงรส’ เขาให้ผู้เข้าร่วมทดสอบกว่า 200 คนลองกินขนมมันฝรั่งแผ่นระหว่างฟังเสียงที่แตกต่างกันไป จนพบว่าเวลาเราได้ยินเสียงเคี้ยวอาหารกรอบ ๆ ดัง ๆ จะทำให้ขนมมันฝรั่งอร่อยขึ้นได้เหมือนที่เราเคยเห็นตามโฆษณาทีวีนั่นแหละ เขายังร่วมมือกับเชฟชื่อดังด้วยการเสิร์ฟหอยนางรมสดสองจาน จานหนึ่งมาพร้อมเสียงคลื่นทะเล อีกจานเสิร์ฟโดยไม่มีเสียงอะไร ปรากฎว่าผู้บริโภคเห็นตรงกันว่าเสียงคลื่นทำให้หอยนางรมเค็มขึ้นด้วย

เขายังได้ทดลองให้อาสาสมัคร 180 คนกินอาหารเผ็ดพร้อมกับเพลงต่าง ๆ และพบว่าเพลงจังหวะเร็วหรือเสียงแหลม ๆ มักทำให้อาหารเผ็ดร้อนขึ้น ไม่แปลกใจเลยที่เพลงอินเดียจะทำให้อาหารอร่อยขึ้นได้ เพราะเสียงสูงอันน่าพิศวงของซีตาร์เครื่องดนตรีประจำชาติอินเดีย และจังหวะกลองเร็ว ๆ เป็นเสียงปรุงรสที่ร้อนแรงที่สุดในโลก ในทางกลับกันการฟังเพลงที่เสียงทุ้ม ๆ จะทำให้อาหารออกรสเปรี้ยวขึ้นได้ด้วย

Spence ยังพบอีกว่าการเปิดเพลงในร้านอาหารได้ตรงกับบรรยากาศยังช่วยให้อาหารรสดีขึ้น เช่นการที่ลูกค้ามักจะให้คะแนนรีวิวกับพิซซ่าและพาสต้ามากเป็นพิเศษเมื่อร้านเปิดเพลงโอเปร่าอิตาลี

“เพลงไม่ได้สร้างรสชาติในปากของเรา” Spence บอก “แต่มันดึงดูดความสนใจของเราให้ลึกลงไปในรายละเอียดของอาหารและเสริมแต่งรสชาติในจิตใต้สำนึกของเรา แม้ในตอนนี้เรายังไม่รู้ว่ามันเกิดขึ้นได้ยังไงก็ตาม”

ร้านอาหารก็ยังมีเวทมนตร์อีกหลายบทที่จะเสกให้เราตกหลุมรักเมนูของพวกเขาได้ เช่น ของหวานมักถูกเสิร์ฟในจานสีขาวแบบกลมเพราะมันเพิ่มรสหวานได้อย่างน่าอัศจรรย์ เบียร์มักถูกเสิร์ฟด้วยแก้วเพื่อให้นักดื่มได้สัมผัสกับกลิ่นของเบียร์และช่วยเพิ่มรสชาติ ร้านยิ่งใช้ช้อนส้อมที่ดูดีเราก็ยิ่งรู้สึกว่าอาหารดูแพงขึ้น คุ้มค่ากับราคาที่เราจ่ายมากขึ้นนั่นเองล่ะ

Facebook Comments

Next:


Peerapong Kaewthae

แม็ค เป็นคนชอบฟังเพลงเพราะเป็นกิจกรรมที่ทำคนเดียวได้ และก็ชอบแนะนำวงดนตรีหรือเพลงใหม่ ๆ ให้คนอื่นรู้จักผ่านตัวอักษรตลอดเวลา