Feature News News

Krungsri Behind The Band Competition I – Workshop Day

  • Writer: Piyapong Muenprasertdee

ในยุคปัจจุบัน เทคโนโลยีใหม่ ๆ ทั้งในด้านการผลิตและเผยแพร่เพลง ก้าวหน้าขึ้นเป็นอย่างมาก ทำให้วงดนตรีต่าง ๆ สามารถผลิตผลงานเพลงด้วยตัวเองได้ง่ายขึ้น ในราคาที่ถูกลง และเผยแพร่เพลงไปได้ทั่วโลกผ่านช่องทางอินเตอร์เน็ต ทำให้พวกเขาสามารถทำงานได้อย่างอิสระแบบไม่ต้องสังกัดค่ายเพลง ทว่าศิลปินและวงดนตรีส่วนใหญ่อาจยังไม่รู้ว่า พวกเขาควรต้องมีทีมงานที่ประกอบไปด้วยบุคคลที่มีความสามารถหลากหลาย จึงจะประสบความสำเร็จและกระทำเป็นอาชีพได้

ทางธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือกรุงศรี ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของทีมงานที่อยู่เบื้องหลังของวงดนตรี ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายบริหารจัดการ ฝ่ายการตลาด ฝ่ายออกแบบและครีเอทีฟ รวมไปถึงฝ่ายสนับสนุนด้านเทคนิค จึงได้ร่วมมือกับฟังใจ ชุมชนทางดนตรี และแอปพลิเคชัน music streaming จัดโครงการ Krungsri Behind The Band Competition เพื่อให้การศึกษาแก่นิสิตนักศึกษาที่สนใจต้องการเป็นศิลปินและทีมงานเบื้องหลังมืออาชีพ เพื่อเป็นพื้นฐานในการประกอบอาชีพในอุตสาหกรรมดนตรีได้ต่อไปในอนาคต

โครงการนี้ไม่เหมือนกับการประกวดดนตรีอื่น ๆ ทั่วไป เพราะไม่ได้ดูความสามารถทางดนตรีเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการแข่งขันของ ‘ทีมงาน’ ที่ร่วมกันทำให้วงดนตรีแข็งแรงสมบูรณ์แบบมืออาชีพ โดยผู้เข้าร่วมโครงการจะได้เรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญในงานเวิร์คช็อปในวันที่ ได้ลองปฏิบัติจริง และในวันสุดท้าย แต่ละทีมจะได้จัดโชว์การแสดง และนำเสนอทุกอย่างตั้งแต่คอนเซปต์ของวง แผนการตลาด การออกแบบเครื่องแต่งกาย การออกแบบโปสเตอร์และปกซีดี รวมทั้งถ่ายทำมิวสิควีดีโอของตัวเองอีกด้วย

ขอขอบคุณ Main Sponsor ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และ Supporting Sponsors dtac Music Infinite และ รองเท้า Bata ที่ให้การสนับสนุนโครงการ Krungsri Behind The Band Competition ครั้งที่ 1 นี้เป็นอย่างยิ่ง

 

Logos


Krungsri Behind The Band Competition I – Workshop Day

วันอาทิตย์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2560

8.00 น. – 9.30 น. : ลงทะเบียน

img_0474

น้อง ๆ นักศึกษาที่ได้เข้าร่วมโครงการฯ ได้มาเริ่มลงทะเบียนตั้งแต่เช้า ซึ่งมีทั้งหมด 5 ทีมด้วยกัน คือ

1. Apollo Thirteen จากมหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยศิลปากร

2. Flammable Goods จากมหาวิทยาลัยศิลปากร และมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม

3. Lost In Pulse จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยศิลปากร

4. Tangled Wires จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยมหิดล

5. Tilly Birds จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยลิเวอร์พูล

9.30 น. – 10.00 น. : พิธีเปิด

img_0516

พอน้อง ๆ มากันครบแล้ว ก็เข้าสู่พิธีเปิด ซึ่งมีพี่พาย—ปิยะพงษ์ หมื่นประเสริฐดี ผู้บริหารของฟังใจมากล่าวถึงที่มาของงาน และพูดถึงความหวังที่จะให้โครงการ ฯ นี้ดำเนินต่อไปทุกปี ๆ ซึ่งนอกจากจะช่วยให้น้อง ๆ นักศึกษาได้เตรียมพร้อมสำหรับการทำงานในอุตสาหกรรมดนตรีหลังจากเรียนจบแล้ว ยังช่วยให้น้อง ๆ มีพื้นฐานความรู้และประสบการณ์ที่จะสามารถต่อยอด และอาจก่อตั้งค่ายเพลงในท้องถิ่นของตัวเองได้ในอนาคต ซึ่งจะช่วยทำให้อุตสาหกรรมดนตรีไทยนั้นคึกคัก และเจริญเติบโตมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังมีพี่แม็ก—อาสนัย อาตม์สกุล ที่เป็นทั้ง DJ จาก Cat Radio มือกลองของวงภูมิจิต และนักร้องนำของวง The Superglasses Ska Ensemble มาเป็นพิธีกรผู้สร้างความบันเทิงควบคู่กับการให้ความรู้แก่น้อง ๆ ทุกคนอีกด้วย

img_0531

นอกจากนี้ พวกเราก็ได้รับเกียรติจากคุณภคมน ตุลยาพิศิษฐ์ชัย หรือพี่โย่ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายการตลาดดิจิทัล ธนาคารกรุงศรีอยุธยา มาเป็นประธานเปิดงานและกล่าวคำให้กำลังใจแก่ทีมที่ได้รับคัดเลือก แล้วก็ได้ถ่ายรูปหมู่กับน้อง ๆ ทุกคนอีกด้วย

Krungsri Behind The Band workshop group photo


10.00 น. – 10.40 น. : เล่นเกมละลายพฤติกรรม

img_0569

 

พอถ่ายรูปกันเสร็จเรียบร้อย พวกเราก็ได้เล่นเกมละลายพฤติกรรมที่นำโดยพี่พายและพี่แม็ก ซึ่งพี่ ๆ เริ่มจากการให้ทีมงานของฟังใจแบ่งน้อง ๆ ออกเป็น 4 กลุ่มที่คละสมาชิกจากแต่ละทีม แล้วให้กระดาษคนละ 3 ใบ โดยให้แต่ละทีมเขียนคำพูดอะไรก็ได้ที่สอดคล้องกับหัวข้อของตัวเอง แต่ก็ไม่บอกว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อ ทำให้น้อง ๆ สับสนเล็กน้อย ซึ่งก็เป็นแผนของทีมงานนั่นเอง

img_0596

พอเขียนกันครบทุกคนแล้ว ทีมงานก็ได้แจกฟิวเจอร์บอร์ดให้ทีมละหนึ่งแผ่นพร้อมเทปกาว แล้วพี่พายกับพี่แม็กก็เฉลยว่าจะให้น้อง ๆ เอากระดาษมาเรียงเป็นเนื้อเพลงแปะบนฟิวเจอร์บอร์ดเป็นเพลง จากนั้นทุกทีมก็ได้ขึ้นไปพรีเซ้นต์เพลงตัวเองบนเวที โดยพี่แม็กได้เล่นกีต้าร์และร้องเพลงแบบด้นสด ๆ ให้ทุกคนฟังอย่างสนุกสนาน ซึ่งกิจกรรมนี้ก็ได้ละลายพฤติกรรมของน้อง ๆ ได้สำเร็จ ทำให้ทุกคนได้รู้จักเพื่อนใหม่จากทีมอื่น ๆ อีกด้วย


10.40 น. – 12.00 น. : แต่ละทีมแนะนำตัวเอง และนำเสนอผลงาน

img_0803

ช่วงเวลานี้ คือเวลาที่น้อง ๆ แต่ละทีมได้ขึ้นมาแนะนำสมาชิก และนำเสนอผลงานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเพลงและรูปถ่ายเสื้อผ้าของวงดนตรี แผนการตลาด หรือภาพกราฟฟิก ซึ่งวิทยากรและคณะกรรมการก็ได้ให้คำแนะนำในการปรับปรุงกับน้อง ๆ อีกด้วย


12.00 น. – 12.50 น. : พักรับประทานอาหารเที่ยง


12.50 น. – 16.30 น. : วิทยากรขึ้นสอนเกี่ยวกับหัวข้อต่าง ๆ

img_0886

วิทยากรท่านแรก คือ พี่พาย—ปิยะพงษ์ หมื่นประเสริฐดี ผู้บริหารของฟังใจนั่นเอง โดยได้มาสอนเกี่ยวกับเรื่องการตลาด โดยพูดถึงความสำคัญของการรู้จักตลาด รู้จักลูกค้า และรู้จักตนเอง พร้อมด้วยการสอนเครื่องมือการวิเคราะห์การตลาดเพื่อให้สามารถนำไปใช้ในการเข้าถึงแฟนเพลงของตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น สุดท้ายพี่พายก็ได้บอกเคล็ดลับของการตลาดให้กับน้อง ๆ ว่า การตลาดนั้นสามารถสรุปและอธิบายได้ด้วยคำคำเดียว คือ ‘ความรัก’ ซึ่งหมายความว่า หากเรารักลูกค้าของเรา เราก็จะพยายามทำความเข้าใจเขาว่าเขาต้องการอะไร และพยายามมอบสิ่งที่ดีที่สุด ที่เขาอยากได้ที่สุดให้กับเขา และหากลูกค้ารักเราตอบ เขาก็จะดีใจที่ได้ของของเรา และยอมแลกเปลี่ยนสิ่งที่มีค่าของเขาเป็นการตอบแทน

img_0940

วิทยากรท่านถัดมาก็คือ พี่บอล—ต่อพงศ์ จันทบุบผา มือกีต้าร์วง scrubb และโปรดิวเซอร์และผู้บริหารค่ายเพลง What The Duck มาสอนเกี่ยวกับเรื่อง artist development โดยที่พี่บอลนั้นได้เน้นสอนเกี่ยวกับ Product Life Cycle หรือวัฎจักรชีวิตผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นความรู้เชิงการตลาดที่สามารถปรับใช้กับการพัฒนาศิลปิน ก็คือว่าผลิตภัณฑ์ใด ๆ ก็ตาม รวมถึงศิลปินนักดนตรีนั้น จะมีช่วงการการพัฒนา (development) ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำเพลง หรือดีไซน์ภาพรวมของศิลปิน; การแนะนำผลิตภัณฑ์ (introduction) หรือตัวศิลปินให้แฟนเพลงได้รู้จัก; ช่วงเจริญเติบโต (growth) ที่แฟนเพลงตอบสนองและเพิ่มจำนวนมากขึ้น; ช่วงที่เริ่มอิ่มตัว (maturity & saturation) ที่ชื่อเสียงของศิลปินไม่เพิ่มขึ้นแล้ว; และช่วงตกต่ำ (decline) ที่แฟนเพลงเริ่มไม่สนใจในตัวศิลปินแล้ว โดยพี่บอลได้สอนว่าศิลปินและทีมงานควรที่จะรู้ว่าตัวเองนั้นอยู่ในจุดไหนแล้ว หากถึงจุดที่แฟนเพลงเริ่มอิ่มตัว ก็ควรที่จะสร้างผลงานใหม่ ๆ ออกมา อย่าให้ตกลงไปสู่จุดตกต่ำ และให้สร้างผลงานออกมาอย่างสม่ำเสมอ

img_0958

วิทยากรท่านที่สามคือพี่ปูม—ปิยสุ โกมารทัต หัวหน้าค่ายเพลง Parinam Music ที่ได้สอนเกี่ยวกับเรื่อง sound engineering เบื้องต้น ทั้งเรื่องของสายสัญญาณชนิดต่าง ๆ ที่ sound engineer ควรรู้จัก; ประเภทของ sound engineer ไม่ว่าจะเป็นสำหรับการแสดงดนตรีสดหรืออัดเสียงในสตูดิโอ; ขั้นตอนการเตรียมตัวก่อนเข้าห้องบันทึกเสียง; และข้อแนะนำของการเป็น sound engineer ที่ดีนั้นควรเป็นอย่างไรบ้าง

img_1014

วิทยากรท่านที่สี่คือพี่หมู—ชยนพ บุญประกอบ ผู้กำกับภาพยนต์ Suck Seed และผู้กำกับมิวสิควีดีโอให้ศิลปินอาทิ Big Ass, โรส สิรินทิพย์ ซึ่งได้มาสอนเกี่ยวกับเรื่องการทำมิวสิควีดีโอ โดยได้เล่าถึงประสบการณ์การทำมิวสิควีดีโอเพลง รักเหอะ ของ Big Ass ซึ่งสาระสำคัญที่พี่หมูพูดถึงนั้นก็คือการเล่นกับความคาดหวัง (expectation) ของผู้ชม และการ execute ให้ได้ภาพที่เผยเรื่องราวที่ทำให้ผู้ชมคาดไม่ถึงแล้วก็เกิดความประทับใจยิ่งขึ้น ซึ่งสามารถคลิกไปดูและอ่านได้อย่างละเอียดที่นี่

 

img_1082

และวิทยากรท่านสุดท้ายคือพี่อ๊อด—สุพิชาน โรจวณิช ซึ่งเป็นนักออกแบบ และ art director ให้กับศิลปินหลากหลายท่าน อาทิ Stamp, Slot Machine, Cocktail ซึ่งพี่อ๊อดก็ได้มาให้ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการคิดและพัฒนางาน art direction; ความหมายของเอกลักษณ์และอัตลักษณ์; และยังได้เล่าประสบการณ์ตอนที่ได้รับมอบหมายให้ออกแบบโลโก้ใหม่ให้กับวง Cocktail อีกด้วย นอกจากนี้พี่อ๊อดยังสอนอยู่ที่โรงเรียน BEAR School of Visual Specialist ซึ่งหากใครต้องการความรู้เพิ่มเติมในด้านนี้ก็สามารถคลิกเข้าไปดูได้ที่นี่


16.30 น. – 17.50 น. : Private Sessions กับวิทยากร

ในช่วงเวลานี้ แต่ละทีมได้มีโอกาสไปนั่งโต๊ะขอคำปรึกษากับพี่ ๆ วิทยากรอย่างใกล้ชิดและเป็นกันเอง ทำให้ได้รับความรู้ที่ทีมของตัวเองนั้นต้องการจริง ๆ


17.50 น. – 18.10 น. : สรุปงานและแจ้งข้อมูลเพื่อเตรียมตัวสำหรับรอบสุดท้าย

ในช่วงนี้ พี่พายและพี่แม็กได้กล่าวสรุปการเรียนรู้จากงานในวันนี้ และแจ้งข้อมูลเพื่อให้แต่ละทีมได้กลับไปสร้างผลงาน และเตรียมตัวก่อนที่จะมาพบกันอีกครั้งในงาน Final Presentation วันอาทิตย์ที่ 26 กุมภาพันธ์ 2560


2500x792_5finalistsfixed-01

Final Presentation วันอาทิตย์ที่ 26 กุมภาพันธ์ 2560

ในวันอาทิตย์ที่ 26 กุมภาพันธ์ 2560 แต่ละทีมจะได้มานำเสนอผลงานของตัวเองให้กับคณะกรรมการ ไม่ว่าจะเป็นแผนการตลาด มิวสิควีดีโอ กราฟฟิกดีไซน์ เสื้อผ้าหน้าผม และการแสดงดนตรี รักใครเชียร์ใคร อย่าลืมส่งกำลังใจไปให้แต่ละทีมใน Facebook Fanpage ของพวกเขาด้วยนะครับ ^_^

คลิกกันได้ที่นี่: Apollo ThirteenFlammable GoodsLost In PulseTangled Wires; และ Tilly Birds

Facebook Comments

Next:


Piyapong Meunprasertdee

นักวิชาการอุตสาหกรรมดนตรี รักแมว รักโลก เคยทำงานเป็นนักวิชาการที่ปรึกษาด้านความยั่งยืนและการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโลก (Sustainability & Climate Change) เคยมีวงอินดี้แต่ไม่ประสบความสำเร็จ และจากการที่ไปทำงานในบริษัทเกี่ยวกับดนตรีอินดี้ที่อเมริกา ก็เลยมีความคิดอยากมีส่วนช่วยพัฒนาวงการดนตรีไทยให้มีความแข็งแรงและยั่งยืนยิ่งขึ้น