Article Guru

‘Rewind Forward กรอกลับหลังไปข้างหน้า’ …เมื่อเทปคาสเซ็ตกลับมาเป็นวัตถุแห่งกระแสอีกครั้ง

  • Writer: Piyakul Phusri

ในช่วงท้ายของปี 2562 เราอาจจะเห็นศิลปินไทยหลายวงเปิดให้สั่งจองเทปคาสเช็ตอัลบั้ม ไม่ว่าจะเป็น เขียนไขและวานิช, ภูมิจิต, T_047, Anatomy Rabbit, Soft Pine, Selina and Sirinya และ ปลานิลเต็มบ้าน ก็ถือเป็นการเพิ่มลูกเล่นทางด้าน format ในการฟังเพลงให้มากขึ้น เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบันเกือบจะ 100% ล้วนฟังเพลงผ่านไฟล์หรือ streaming กันทั้งนั้น สื่อดนตรีที่เป็นอนาล็อกอย่างไวนิล ซีดี หรือเทปคาสเซ็ต จึงเป็นทั้งช่องทางในการเสพดนตรีเฉพาะกลุ่มและเป็นของสะสมไปในตัว เพราะผลิตในจำนวนจำกัด และต้องสั่งจองล่วงหน้าเป็นเดือน ๆ

 – เทปคาสเซ็ตของเขียนไขและวานิช Sold Out

– ของภูมิจิตก็ Sold Out

– เทปคาสเซ็ตสีขาวสะอาดตาของ Selina and Sirinya

ผู้เขียนเองก็เป็นคนที่เกิดและเติบโตมากับยุคสมัยที่เทปคาสเซ็ตยังเป็น format หลักในการฟังเพลง (ถ้าคุณเข้าใจคำว่า อ.ว.ท.ม. ในโฆษณาขายรถยนต์ เราคือเพื่อนกัน) เพราะเป็น format ที่เข้าถึงง่ายที่สุด ราคาถูกที่สุด และพกพาง่ายที่สุด คาสเซ็ตหนึ่งม้วนยังมาพร้อมเนื้อเพลง ข้อความจากศิลปิน รายชื่อทีมงาน เอาไว้ให้อ่านเล่น หรือจะอ่านจริงจังก็ได้ ความรื่นรมย์อย่างหนึ่งของการฟังเพลงผ่านเทปคาสเซ็ตคือการได้มองแถบแม่เหล็กในเทปหมุนไปเรื่อย ๆ ด้วยความเร็วคงที่ เป็นความเนิบช้าที่สบายตาดี แต่ข้อเสียของเทปคาสเซ็ตก็คือมันไม่ค่อยจะทนทานต่อสภาพอากาศซักเท่าไหร่นัก (แต่ทนทานต่อการขูดขีดมากกว่าซีดีเยอะ) เทปม้วนที่คุณฟังบ่อย ๆ หรือเก็บไม่ดี โดนความร้อนหรือแสงอาทิตย์โดยตรงบ่อย ๆ มักจะเกิดปัญหา ‘เทปยาน’ ที่ทำให้เสียงเพลงยืดย้วนจนน่ารำคาญหู แต่ก็แก้ไขได้ไม่ยากด้วยการเอาเทปไปแช่ตู้เย็น

เหล่านี้เป็นเพียง good old days ของผู้เขียนที่ผ่านเลยไปแล้ว และก็ไม่คิดที่จะสรรหาเทปคาสเซ็ตของศิลปินวงไหนมาครอบครองอีก เพราะราคาที่ค่อนข้างสูงของมันในตอนนี้ และอย่างที่บอกว่าเทปคาสเซ็ตมักมีปัญหาด้านคุณภาพเสียงในระยะยาว แต่ก็ดีใจที่เห็นวงการเพลงไทยมีความเคลื่อนไหวในทางที่ดีทั้งตัวศิลปินเองที่มีชิ้นงานในรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น และแฟนคลับก็ถือว่าได้ของสะสมที่มียอดผลิตจำกัด ไม่เหมือนไฟล์ MP3 ที่ copy-paste ได้อย่างไม่สิ้นสุด

แต่การกลับมาอีกครั้งของเทปคาสเซ็ตมีที่มาที่ไปอย่างไร และมันคงไม่ใช่เรื่องบังเอิญแน่ ๆ ว่ามั้ย?

มีการเปรียบเทียบการกลับมาของเทปคาสเซ็ต กับการกลับมาของแผ่นไวนิล ว่าเป็นเรื่องของกระแสโหยหาอดีต (nostalgia) เหมือนกัน กล่าวคือเป็นเรื่องของคนที่มีอายุอยู่ในช่วงวัยที่มีกำลังซื้อ กำลังไล่เก็บหาสิ่งของที่มีความผูกพันกับตัวเองในวัยเด็ก แต่ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ การกลับมาของแผ่นไวนิลในช่วงปีหลัง ๆ มานี้ มีเหตุผลในเรื่องของคุณภาพเสียงมารองรับ เพราะนักฟังเพลงจำนวนไม่น้อยรู้สึกว่าการฟังเพลงที่เป็นไฟล์ดิจิทัลนั้นถูกปรุงแต่งมากเกินไป หรือเสียง ‘คม’ มากเกินไป ทำให้พวกเขากลับไปฟังเพลงจากแผ่นไวนิลที่ให้เสียงที่ ‘จริง’ มากกว่า และสร้างสุนทรียะที่มากกว่าในการฟังเพลง เพราะมันไม่ได้ง่ายแค่คลิกสองสามทีแล้วเพลงก็ออก แต่มันต้องใช้เวลาในการจัดเตรียมอุปกรณ์ และมีรายละเอียดจุกจิกตั้งแต่การเลือกแผ่น ไปจนถึงการเลือกหัวเข็มของเครื่องเล่น แน่นอนว่ามันเรียกร้องการศึกษาหาความรู้จากคนเล่นแผ่นเสียงอย่างมากทีเดียว (เพราะไม่อย่างนั้นคุณอาจจะโดนต้มโดยผู้ไม่หวังดีที่ปั่นราคาของธรรมดาให้กลายเป็นของแพงได้โดยไม่รู้ตัว) การเล่นแผ่นเสียงจึงมักจะผูกติดกับภาพของการเป็นผู้มีปัญญาความรู้อะไรสักอย่าง

แต่เทปคาสเซ็ตก็ไม่ได้ให้คุณภาพเสียงที่ให้ความรู้สึก ‘จริง’ อย่างที่แผ่นไวนิลทำได้ และก็ไม่ได้ ‘คม’ อย่างที่แผ่นซีดีมอบให้ได้เช่นกัน ความน่าสนใจของเทปคาสเซ็ตจึงไม่น่าจะเป็นเรื่องคุณภาพเสียง แต่คืออะไรกันล่ะ?

Karen Emanuel ผู้บริหารของ Key Production Group ซึ่งเป็นบริษัทผลิตแผ่นไวนิล ซีดี และเทปคาสเซ็ตในอังกฤษให้ข้อคิดที่น่าสนใจว่า วงดนตรีหน้าใหม่และวงอินดี้ผลิตงานในรูปแบบเทปคาสเซ็ตมากขึ้นเพราะมันมีราคาถูกกว่าการสั่งปั๊มซีดี (สำหรับในต่างประเทศ) และสามารถสั่งผลิตได้ในยอดผลิตที่ต่ำกว่าการสั่งทำแผ่นไวนิล ขณะที่ John Hirst หัวหน้าฝ่ายดนตรีของ HMV ร้านค้าปลีกสื่อบันเทิงรายใหญ่ของอังกฤษถึงกับกล่าวว่า “คนซื้อเทปคาสเซ็ตเพราะมันเป็นของสะสม ไม่ได้เอาไปฟังกันซักเท่าไหร่หรอก” อาจจะเป็นข้อความที่ดูเบาคนซื้อเทปคาสเซ็ตไปซักหน่อย แต่ก็เป็นมุมมองของนักการตลาดที่ไม่ได้สนใจว่าคุณจะซื้อเทปไปเก็บหรือซื้อไปฟัง ตราบใดที่คุณซื้อแล้วจ่ายเงิน นั่นก็พอแล้ว สอดคล้องกับความคิดเห็นของ Zoe Wood คอลัมนิสต์ของ The Guardian ที่มองว่ากลับมาของเทปคาสเซ็ตในยุคนี้ เป็นเพราะมันเป็นวัตถุที่สามารถสะสมได้ และสามารถ ‘โพสต์ลงอินสตาแกรมได้’ (Instagrammable)

และถึงแม้ว่าจะพยายามมุ่งไปสู่วิถีอนาล็อกมากขนาดไหน แต่ก็เป็นที่ชัดเจนว่าช่องทางที่ทำให้ยอดขายเทปคาสเซ็ตเพิ่มสูงขึ้นก็คือระบบอินเตอร์เน็ต เนื่องจากมันเป็นช่องทางหลักที่ศิลปินใช้สื่อสารกับแฟนเพลงเพื่อส่งข่าวการเตรียมออกเทปคาสเซ็ต เป็นช่องทางการสั่งจอง เป็นช่องทางในการโชว์ของตัวอย่าง เช่น ‘เทปคาสเซ็ตม้วนแรกของเราออกจากโรงงานแล้ว’ และเป็นช่องทางที่ทำให้คนที่ครอบครองเทปคาสเซ็ตที่ผลิตใน ‘จำนวนจำกัด’ สามารถโพสต์โชว์เทปของตัวเองผ่านช่องทางต่าง ๆ ให้คนอื่นได้ตื่นเต้น อิจฉา หรือ อยากเป็นเจ้าของ นำไปสู่การแชร์ภาพนั้นอย่างไม่สิ้นสุด โดยที่ตัวเทปจริง ๆ มีเพียงเขาที่เป็นผู้ครอบครอง

นอกจากนี้ สำนักข่าวในต่างประเทศยังวิเคราะห์ว่าปัจจัยหนึ่งที่น่าจะมีผลต่อกระแสการกลับมาของเทปคาสเซ็ตน่าจะมาจากภาพยนตร์ Guardians of the Galaxy และ ซีรีส์ Stranger Things ทำให้คนรุ่นใหม่โหยหาและอยากสัมผัสข้าวของจากยุคนั้น ซึ่งก็ฟังดูเข้าเค้าดีทีเดียว เพราะ mixtape จาก Guardians of the Galaxy ก็ดีงามมากจริง ๆ และฟังได้ไม่เบื่อเลย (แต่เราก็ฟังมันผ่าน YouTube อยู่ดีนั่นแหละนะ)

 

หากมองเทปคาสเซ็ตด้วยแนวคิดด้านวัฒนธรรมศึกษา มันก็อาจจะเป็นวัตถุโบราณที่ฟื้นคืนชีพกลับมาเป็นอาวุธต่อกรกับสื่อร่วมสมัยที่มีลักษณะผูกขาด/กึ่งผูกขาด ในช่วงทศวรรษ 80s เทปคาสเซ็ตเป็นเครื่องมือที่ผู้คนใช้ก็อปปี้เพลงจากค่ายเพลงดัง ๆ ที่เทปของแท้มีราคาแพง และนำเทปก็อปปี้มาขายในราคาถูก ซึ่งนี่คือรูปแบบแรก ๆ ของสิ่งที่เรียกว่า ‘การละเมิดลิขสิทธิ์’ (ถ้าคุณยังจำคำว่า เทปผี-ซีดีเถื่อน ได้ เราก็คือเพื่อนกัน) ในสมัยสหภาพโซเวียตยังเรืองอำนาจ ประชาชนชาวโซเวียตต้องทนฟังเพลงปลุกใจจากสถานีวิทยุของรัฐ หรือหน่วยงานผลิตสื่อของรัฐ และเทปคาสเซ็ตก็เป็นเครื่องมือที่ประชาชนใช้ผลิต และส่งเพลงใต้ดินให้กันฟังเพื่อหาความบันเทิง ในช่วงเวลาหนึ่งทางประวัติศาสตร์ เทปคาสเซ็ตจึงนับได้ว่าเป็น ‘อาวุธของคนยาก’ (Weapon of the Poor) ที่คนที่มีปากมีเสียงน้อยกว่าใช้ต่อกรกับอำนาจที่ทรงพลังกว่า ไม่ว่าจะเป็นค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ หรือรัฐบาล

แล้วเทปคาสเซ็ตมันต่อกรกับสื่อร่วมสมัยอย่างไร ในเมื่อเห็น ๆ กันอยู่ว่ามันก็ขายผ่านระบบอินเทอร์เน็ต? ลองนึกถึง YouTube Suggestion หรือ Playlist Spotify ที่ให้ AI เป็นตัวคัดสรรเพลงมาให้คุณฟังดูสิ คุณอาจจะคิดว่า ‘ก็ดีแล้วนี่’ แต่ในอีกมุมหนึ่ง ระบบแบบนี้กำลังจัดกรอบความคิดในการฟังเพลงให้กับคุณโดยที่คุณไม่ได้เป็นผู้เลือก และมันเลือกโดยที่พยายามทำความเข้าใจความคิดของคุณซะด้วย แต่เทปคาสเซ็ต ซีดี หรือแผ่นไวนิล มันตั้งอยู่ตรงนั้น รอให้คุณได้รู้จักมัน และคุณมีอำนาจเต็มในการที่เลือกซื้อ หรือไม่เลือกซื้อมัน อย่างที่โปรดิวเซอร์ Craig Eley เคยบันทึกไว้ในบทความว่า ‘วัฒนธรรมเทปคาสเซ็ตในปัจจุบัน คือการหลีกเลี่ยงสื่อร่วมสมัยไปหาสื่อที่มีความเฉพาะกลุ่มมากยิ่งขึ้น โดยใช้วิธีการดั้งเดิมของวัฒนธรรมเทปคาสเซ็ตแบบดั้งเดิม ที่เป็นเครื่องมือในการต่อการครอบงำอุตสาหกรรมดนตรี’

เห็นมั้ยล่ะว่าเทปคาสเซ็ตมันไม่ใช่แค่เรื่องเทรนด์ แต่มันกำลังกลับมาท้าทายสื่อปัจจุบันเลยทีเดียวล่ะ

ว่าแล้วก็ขอแก้ง่วงตอนบ่ายด้วยกรอเทปกับดินสอซักหน่อย แม้ว่าจะไม่ได้เปิดฟังก็ตามเถอะ…

FACT: จุดสูงสุดของเทปคาสเซ็ตเกิดขึ้นในปี 1989 โดยทั่วโลกมียอดจำหน่ายเทปคาสเซ็ตกว่า 83 ล้านตลับ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความนิยมในเครื่องเล่นเทปคาสเซ็ตขนาดพกพา Sony Walkman

ที่มา
Back in the loop: why cassette tapes became fashionable again
Column: Cassette tapes are making a comeback. But it’s about the culture, not the sound
The Cassette Comeback Isn’t What You Think It Is
Facebook Comments

Next:


Piyakul Phusri

Piyakul Phusri นักฟังเพลงจับฉ่ายที่มีความเชื่อว่านอกจากการกินอิ่ม-นอนอุ่น การบริโภคงานศิลปะที่ถูกใจก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยของการมีชีวิตที่ดี