Article Contributor of the Month

David Bowie and I (Part 2)

  • Writer: Wee Viraporn

ตลอดการเติบโตของเด็กชายจากยุค 80s กลายเป็นวัยรุ่นที่อินกับเพลงจากยุค 70s ในยุค 90s และได้ขยายขอบเขตความสนใจเรื่องเพลงของเขาออกไปเรื่อย ๆ แม้ในยุคของผมจะมาพร้อมกับกระแสของ grunge และ Brit pop แต่นั่นกลับทำให้ผมยิ่งรู้สึกโชคดีที่ได้ฟังดนตรีจากยุค 70s เพราะมันทำให้ได้รู้ที่มาที่ไปของสิ่งที่กำลังมาใหม่ ณ เวลานั้น โดยเฉพาะการเป็นแฟน David Bowie ทำให้ผมมองเห็นเงาของ Bowie ในความแรดของ Brett Anderson ได้ยินซาวด์ของ Bowie ในงานของ Pulp และ Blur แม้แต่เพื่อนที่เป็นแฟน Nirvana ยังต้องมาขอยืมต้นฉบับของ The Man Who Sold The World ไปฟัง

โดยภาพรวม การใช้ชีวิตม.ปลายและมหาลัยระหว่างปี 1993-1999 เป็นช่วงเวลาที่เหมาะเจาะเหลือเกินสำหรับคนรักเสียงเพลง ผมมีโอกาสได้ดู Michael Jackson ที่สนามศุภ ฯ ได้ดูเทศกาลบันเทิงคดีของมาโนช พุฒตาล และ ดิ โอฬาร โปรเจ็คต์ ได้ไปกระโดดในหลายคอนเสิร์ตของศิลปินอัลเทอร์ไทยรุ่นแรก ตั้งแต่โมเดิร์นด็อก พี่ป้าง อรอรีย์ ยืนเกาะเกือบติดขอบเวทีของ Mr.Big โยกหัวไปกับเพลง Zombie ในโชว์ของ The Cranberries พอเสพย์ติดการดูคอนเสิร์ตอย่างหนักแล้วมารู้ว่า Bowie เคยมาแสดงที่ประเทศไทยเมื่อปี 1983 แถมยังกล่าว happy birthday ในหลวงรัชกาลที่ 9 บนเวทีจากคำบอกเล่าของรุ่นพี่และบทความในนิตยสารเก่าที่ขุดหาเจอ ยิ่งทำให้คาดหวังว่าอยากให้ Bowie ออกอัลบัมใหม่แล้วมาทัวร์แถบเอเชียอีกครั้ง แม้จะมีข่าวลือว่าเขาจะมาแสดงที่กรุงเทพในปี 1995 แต่มันก็ไม่ได้เกิดขึ้นจริง

by Bangkok Post

หลายคนอาจจะมองว่าผลงานของ Bowie ในช่วงยุค 90s ไม่ได้น่าจดจำนัก และเป็นเพียงความพยายามดิ้นรนเพื่อไม่ให้ตกยุคของศิลปินที่พ้นช่วงกอบโกยไปแล้ว แม้ว่าผมจะค่อนข้างเห็นด้วยว่าคุณภาพของแต่ละอัลบัมไม่ได้ดีเลิศจนเป็นตำนานได้เหมือนผลงานจากยุค 70s แต่สำหรับผม ประสบการณ์ตรงนั้นมันพิเศษตรงที่เป็นครั้งแรกที่ได้เริ่มฟังเพลงของ Bowie ที่ออกมาในยุคปัจจุบัน ไม่ต้องย้อนกลับไปมองประวัติศาสตร์และเหตุการณ์ในสังคมเพื่อทำความเข้าใจที่มาของแต่ละอัลบัม ได้เห็นพลังสร้างสรรค์ของ Bowie จากความถี่ในการออกอัลบัมใหม่อย่างสม่ำเสมอทุก 2 ปี พร้อมกับการทดลองเปลี่ยนแนวดนตรีและภาพลักษณ์อย่างต่อเนื่อง จากดนตรีแจ๊สร็อกหนักทรัมเป็ต (ที่แถมเพลงแต่งงานมาให้ด้วย) ใน Black Tie White Noise มาเป็น art rock กลิ่น industrial ใน Outside ซึ่งเป็นการกลับมาร่วมงานกันกับเจ้าพ่อ ambient อย่าง Brian Eno ก่อนจะหลุดไปเป็น drum & bass ใน Earthling ซึ่งได้ร่วมงานกับ Nine Inch Nails และตบท้ายศตวรรษด้วยการกลับมาทำดนตรีที่เรียบง่ายลงอีกครั้งใน Hours

เมื่อมองย้อนกลับไป ผมอดคิดไม่ได้ว่า บางทีความสนใจหลักของ Bowie ในช่วงครึ่งหลังของยุค 90s อาจจะไม่ได้อยู่ที่การทำดนตรีแล้วก็ได้ และอาจจะมองย้อนไปยังตัวตนที่เขาเยสร้างขึ้นมาเป็นเรื่องล้อเล่น ดังที่มีภาพหลุดจากมิวสิควิดิโอที่สุดท้ายไม่ได้ออกฉายของเพลง The Pretty Things Are Going To Hell เป็นหุ่นกระบอก Bowie จากต่างยุคสมัยอยู่ในฉาก ตัวผมเองก็ตื่นเต้นกับการเล่าเรื่อง non-linear narrative ของอัลบัม Outside ไม่แพ้ตัวเพลง เสื้อโค้ทธงชาติอังกฤษขาดวิ่น (Union Jacket) ซึ่งเป็นผลงานของ Alexander McQueen (ในสมัยที่ยังไม่ค่อยดัง) บนปกของ Earthling เป็นภาพที่ติดตาและน่าจดจำกว่าจังหวะ jungle beat และในความเนิบจนค่อนไปทางน่าเบื่อของ Hours ก็เป็นช่วงที่ Bowie กำลังทำการทดลองกับเครื่องมือใหม่อย่างหนึ่งก่อนหน้าคนอื่น นั่นคือ อินเทอร์เน็ต

david-bowie-roseland-alexander-mcqueen-union-jack-1996-800x1199

ช่วงปลายทศวรรษ 1990 นักศึกษายังไม่ได้มีคอมพิวเตอร์กันทุกคน แม้แต่โทรศัพท์มือถือก็เพิ่งเริ่มเข้ามาแย่งชิงตลาดจากเพจเจอร์ การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของผมยังจำกัดแค่การมานั่งใช้ในคอมที่มหาลัย เพื่อนที่มีความไฮเทคกว่าคนอื่นเริ่มมีโมเด็มความเร็วต่ำกว่า 56K ติดบ้าน แต่ Bowie เริ่มธุรกิจใหม่เป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต! (เปรียบเทียบว่าเราติดเน็ตบ้านกับ True หรือ 3BB แต่ลองคิดว่าเราจ่ายเงินให้บริษัทของ Bowie มาติดเน็ตบ้าน เท่ไหมล่ะ) พร้อมกับมีเว็บไซต์ที่เก็บค่าสมาชิกเพื่อให้เขาได้ปฏิสัมพันธ์กับแฟนเพลงในหลากหลายรูปแบบ ทั้งเข้ามาตอบกระทู้ ชวนแฟน ๆ มาช่วยแต่งเพลง และชมการถ่ายทอดสดการบันทึกเสียงในสตูดิโอ ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นก่อนโลกนี้จะรู้จัก Myspace และ social media ใด ๆ แถมยังไปโผล่เป็นตัวละครในเกม Omnikron อีก การอ้าแขนรับเทคโนโลยีใหม่และอ่านอนาคตที่อินเทอร์เน็ตจะมาทำลายรูปแบบความสัมพันธ์เดิม ๆ ระหว่างศิลปินกับแฟนเพลงได้ขาดก่อนใครอาจจะเป็นหลักฐานยิ่งใหญ่ที่สุดเรื่องความล้ำหน้าของเขา

_87605768_523f92e7-029c-481f-aa84-1aa7849ba6e0

หลังจากที่เรียนจบมหาวิทยาลัยพร้อมกับการเปลี่ยนศตวรรษ และการเปลี่ยนแปลงอีกหลายอย่างของโลก จากชีวิตที่โดนการจราจรทำร้ายจนคาดเดาเวลาไม่ได้ ก็เริ่มได้ใช้ BTS เพจเจอร์ถูกแทนที่ด้วยโทรศัพท์มือถือ กล้องดิจิทอลเริ่มเข้ามาแทนที่ฟิล์ม อัลบัมแรกในยุค 2000s ของ Bowie คือ Heathen ออกมาพร้อมกับปกที่ออกแบบโดย Jonathan Barnbrook นักออกแบบกราฟิกชาวอังกฤษที่ผมชื่นชอบที่สุดคนหนึ่ง เขามีความสามารถในการเล่นกับตัวอักษร สร้างงานที่สะท้อนประเด็นสังคม รันสตูดิโอขนาดไม่กี่คนแต่ได้ทำงานใหญ่เกินตัว ยิ่งมาได้ทำงานออกแบบให้ Bowie อีก ผมเลยได้ยก Barnbrook เป็นหนึ่งใน role model และหวังว่าจะได้ทำงานออกแบบกราฟิกให้ศิลปินที่ตัวเองชื่นชมบ้างสักวัน

jonathan-barnbrook_david-bowie_heathen_album-cover-art_dezeen_936_3

jonathan-barnbrook_david-bowie_heathen_album-cover-art_dezeen_936_0

จากปี 2000-2003 ชีวิตหลังเรียนจบของผมผ่านความผันผวนอย่างต่อเนื่อง ทั้งการเป็นฟรีแลนซ์ รวมกลุ่มรับงานกับเพื่อนจนแตกกัน ตกงาน ร่วมทีมก่อตั้งนิตยสารที่แท้งไปกลางทาง ก่อนจะได้มาทำงานประจำในบริษัทที่มีชื่อเสียงและมั่นคง แม้ว่าตลอดชีวิตวัยรุ่นที่ผ่านมาผมจะฟังเพลงข้ามยุค ข้ามแนว กลับไปกลับมา ผ่านการปลื้มและเลิกปลื้มศิลปิน/นักออกแบบหลายคน แต่ David Bowie ก็ยังคงสถานะไอดอลอยู่เสมอ สิ่งที่ Bowie ในยุค 90s – ต้น 2000s สอนผม คือการไม่หยุดเปลี่ยนแปลงตัวเอง ไม่ยึดติดกับความสำเร็จในบทบาทเดิม ๆ และกล้าเสี่ยงลงทุนกับอนาคต เมื่อผลงานในช่วงปลาย 80s เริ่มไม่ประสบความสำเร็จทางยอดขาย เขาสามารถเลือกทางปลอดภัยที่จะหากินกับเพลงเก่ากับแฟนเพลงกลุ่มเดิมต่อไปเรื่อย ๆ แต่เขากลับประกาศปลดระวางเพลงฮิตเก่า ๆ ทดลองทำเพลงแนวใหม่ สร้างภาพลักษณ์ใหม่ กลับไปร่วมมือกับคนเก่า ๆ ในแนวทางใหม่ รวมถึงใช้บารมีที่สั่งสมมาช่วยดันศิลปินหน้าใหม่ ทำให้ตัวเขาเองไม่เคยหายไปจากพื้นที่สื่อ ทั้งยังมองเห็นโอกาสบนอินเทอร์เน็ตในเวลาที่ค่ายเพลงยังกลัวมันจะมาทำลายยอดขาย ราวกับไม่ว่าโลกจะหมุนไปทางไหน David Bowie ก้าวนำคนอื่นอยู่เสมอ

หลังจากทำงานมาได้ระยะหนึ่ง เมื่อตัดสินใจได้ว่าจะไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ ผมได้เขียน to-do list เรื่องที่ไม่เกี่ยวกับการเรียนขึ้นมาสิบกว่าข้อ และข้อแรกในนั้นคือ ‘ดูคอนเสิร์ตของ David Bowie ให้ได้อย่างน้อย 1 ครั้ง’

Facebook Comments

Next:


Wee Viraporn

A graphic designer who always wear floral shirt, riding a red bicycle, doing post-it art while listening to David Bowie