Article Contributor of the Month

โลกระบำ ตอนที่ 4: ไปต่อ

  • Writer: กร วรศะริน และ กฤษ มอร์ตัน

หลังจากลุยศึกหนักในยามค่ำคืน เราก็มาลงเอยกันที่ร้านลาบด้วยความเหน็ดเหนื่อยและหิวโหย เพื่อน ๆ บางคนก็ยังอยากกินกันต่อเลยสั่งเบียร์มาเพิ่ม บางคนก็เล็งจะซดต้มแซ่บอุ่น ๆ ให้ชุ่มคอเป็นการปิดเกมของคืนนี้ ในระหว่างที่ทานอาหารมื้อดึกแกล้มเบียร์กันไป บทสนทนาในช่วงนี้ก็มีหลากหลายอารมณ์ ทั้งมีสาระบ้าง ไม่มีสาระบ้าง ตลก ซึ้ง เศร้า ปะปนกันไปในเรื่องราวที่แต่ละคนบอกเล่ากันมาจากเพื่อน ๆ ที่ใกล้ชิด และเพื่อนใหม่ ๆ ที่ได้ทำความรู้จักด้วยเสียงเพลง หรือแม้เพียงแค่อยากมาร่วมก๊วนร้านลาบก็ตาม มันเป็นเสน่ห์ของมื้อดึกที่ทุกคนจะมาล้อมวงร่วมสนทนากัน

“เปิดเพลงอะไรหรอ” หนึ่งในคำถามที่พบบ่อยในหมู่เพื่อนใหม่ ๆ ที่ได้รู้จัก และเป็นหนึ่งในคำถามที่ตอบยาก ส่วนมากเราก็จะตอบไปว่า “เปิด house/techno ครับ” เป็นคำตอบกลาง ๆ ซึ่งก็ครอบคลุมในเพลงที่เราเปิดระดับนึง “ประมาณไหนอะ” เพื่อให้เราอธิบายถึงรายละเอียดในเสียงเพลงเหล่านั้น ในคำจำกัดความของ house และ techno นั้นช่างกว้างใหญ่มาก เพราะมีเพลงที่ถูกจำกัดความอยู่ในคำสองคำนี้อยู่มากมาย มีทั้งเพลงสวย ๆ เพลงเพราะ ๆ เพลงหนัก ๆ ที่สามารถรองรับกับทุกอารมณ์ เวลา และสถานที่ ยังไม่ได้รวมถึง subgenre ต่าง ๆ ที่แตกแขนงออกไปได้อีก เช่น tech house, minimal house/techno ซึ่งในแต่ละสายก็จะมีความหลากหลายในตัวมันเช่นกัน ซึ่งความหลากหลายเหล่านี้ ทำให้ดีเจแต่ละคนที่มีความชอบไม่เหมือนกัน มีสไตล์การเล่นที่แตกต่างกันออกไป

“แล้วมันยากตรงไหน แค่เลือกเพลงมาเปิด” หลายครั้งที่พบเจอคำถามนี้แล้วไม่ได้ตอบแบบจริง ๆ จัง ๆ เพราะมันอาจจะฟังดูซีเรียสเกินไป ก็ตอบปัด ๆ ไปขำ ๆ “หูยย มันก็ใช้เวลานะ” แต่ในใจเต็มไปด้วยคำพูดมากมาย การเป็นดีเจ พูดง่าย ๆ มันก็คือการเลือกเพลงมาเปิดนั่นแหละ หน้างานโดยหลัก ๆ ก็คือเปิดเพลงหนึ่ง ไปเพลงสอง เพลงสอง ไปเพลงสาม ต่อไปเรื่อย ๆ บางคนอาจจะมีเครื่องดนตรีเสริมให้มีความแปลกใหม่ ก็แล้วแต่สไตล์ของแต่ละคน เมื่อมองเพียงผิวเผิน เราก็จะเห็นคนคนหนึ่งยืนหมุนปุ่มไปมา โยกซ้ายโยกขวา แต่กระบวนการคิดและการทำงานของดีเจนั้น เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนจะมาเล่นแล้ว ดีเจต้องผ่านเพลงมาหลายพันหลายหมื่นเพลง เพื่อให้ได้เพลย์ลิสต์ที่ตัวเองต้องการเพียงไม่กี่ร้อยเพลง ต้องศึกษาท่อนของเพลงแต่ละเพลง ต้องทำความรู้จักกับเพลงที่ได้มาโดยการฟังและวิเคราะห์ว่าเพลงนี้ทำงานอย่างไร เหมาะกับสถานที่และช่วงเวลาแบบไหน จากนั้นนำเพลงเหล่านั้นมาเรียง เพลงไหนต่อเพลงไหนถึงจะเวิร์ก และบทสรุปของงานที่ทำคือการนำไปเล่นกับคนจริง ซึ่งในหัวก็ต้องมีการคิดตลอดเวลาว่าเราจะเล่าเรื่องอย่างไรต่อ ซึ่งบางครั้งแผนที่วางมาตอนแรกอาจจะไม่เวิร์ก ก็อาจจะมีการพลิกแพลงกัน จบเซ็ตนึงก็ได้ประสบการณ์และข้อมูลนำไปปรับปรุงในเซ็ตต่อไป

ในหนึ่งคืนของคลับ อาจจะเปรียบเทียบได้กับภาพยนตร์ 1 เรื่อง ดีเจแต่ละคนก็เปรียบเหมือน sequence ของหนังแต่ละช่วง ช่วงแรกอาจจะเป็นการปูพื้นเรื่องราวที่จะเกิดขึ้นในช่วงเวลาต่อจากนี้ อาจจะไม่ได้สนุกสนานมาก ก็แต่เป็นการสร้างบรรยากาศให้กับคนที่เพิ่งเข้ามา และค่อย ๆ เรียกพวกเขาให้มาสนุกบนแดนซ์ฟลอร์เพื่อให้คนต่อ ๆ ไปสามารถควบคุมคนบนฟลอร์ได้อย่างอิสระ เหมือนกับภาพยนตร์ที่ปูพื้นเรื่องราวในช่วงแรก และค่อย ๆ เล่นกับเรื่องราวเหล่านั้นจนไปถึงไคลแมกซ์ และร่อนลงสรุปอย่างสวยงาม

“ต้องใช้เพลงเยอะขนาดนี้ แล้วไปหาเพลงฟังกันจากที่ไหน” ส่วนใหญ่เว็บที่ซื้อขายเพลงกันเป็นประจำก็มีอยู่ไม่กี่เว็บ เช่น Beatport, Juno, Traxsource แต่ก็จะมีเว็บที่ขายเพลงเฉพาะ หรือร้านแผ่นเสียงที่จะออกเพลงให้กับโปรดิวเซอร์แค่ไม่กี่คน ซึ่งก็แล้วแต่ดีเจแต่ละท่านจะสรรหามาใส่ในเซ็ตของตัวเอง โปรดิวเซอร์นั้นมีมากมาย

นับไม่ถ้วน หลายท่านที่เป็นดีเจด้วย หลายท่านก็ทำเพลงอย่างเดียว และเช่นเดียวกับดีเจที่เป็นดีเจอย่างเดียว และไม่ทำเพลง สองเรื่องนี้เป็นสิ่งที่แยกจากกัน โปรดิวเซอร์ที่ดีอาจไม่ใช่ดีเจที่ดี ดีเจที่ดีอาจไม่ใช่โปรดิวเซอร์ที่เก่ง แต่ทั้งสองอย่างนี้ทำงานร่วมกันด้วยหลักการง่าย ๆ โปรดิวเซอร์ทำเพลงออกมา ดีเจก็เลือกเพลงเหล่านั้นมาเปิด มาเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จัก หากขาดใครคนใดคนหนึ่งไป ก็ยากมากที่จะใช้ชีวิต กลไกนี้สามารถใช้ได้กับแนวเพลงอื่น ๆ และดีเจคลื่นวิทยุเช่นกัน เพราะเมื่อศิลปินทำเพลงและไม่ได้รับการเผยแพร่ ศิลปินก็จะไม่โต ไม่ได้เป็นที่รู้จัก ทั้งนี้คุณภาพของผลงานของศิลปิน ก็ต้องการันตีว่าดีจริง จึงจะถูกนำไปเปิดและเผยแพร่อย่างภาคภูมิใจ

ในทุก ๆ คืนมันก็มีความแตกต่างกันไป บางคืนสนุกสนาน บางคืนคนน้อย บางคืนคนเยอะ ในแต่ละคืนก็ให้ประสบการณ์ที่ดีและร้ายเพื่อให้ทุกคนได้เรียนรู้ และแก้ไขปรับปรุงในจุดที่บกพร่อง สิ่งที่จะขับเคลื่อนซีนต่อไปได้ ไม่ว่าจะซีนไหนก็ตาม ต้องทำหน้าที่ของเราให้เต็มที่ ให้ดีที่สุด ไม่ว่าคุณจะเป็นคนฟังเพลง เป็นดีเจ เป็นบาร์เทนเดอร์ เป็นเจ้าของร้านแผ่นเสียง เป็นคนทำเพลง ทุกคนล้วนมีบทบาทในการขับเคลื่อนวงการทั้งสิ้น สุดท้ายไม่ว่าแต่ละคืนจะเป็นยังไง เราก็มาจบกันที่ร้านลาบเพื่อพูดคุยกันต่อ หรือแยกย้ายกันกลับบ้านนอน ทุกค่ำคืนนั้นมีความหมายมากมายจริง ๆ ขอขอบคุณเพื่อน ๆ พี่ ๆ และผู้สนับสนุนในทุกค่ำคืน และเรายินดีต้อนรับเพื่อนใหม่ ๆ ในทุก ๆ คืนเสมอ

 

อ่านตอนก่อนหน้านี้ได้ ที่นี่

โลกระบำ ตอนที่ 1: แก้วแรก
โลกระบำ ตอนที่ 2: ไฟเปิด
โลกระบำ ตอนที่ 3: ไฟปิด

Facebook Comments

Next:


Korn Varasarin

กร อยู่กับเสียงเพลงมาเกือบครึ่งชีวิต มีความสุขที่ได้ฟังเพลง ทำเพลง เปิดเพลง อีกเกือบครึ่งชีวิตมอบให้กับเกมคอมพิวเตอร์