Article Contributor of the Month

โลกระบำ ตอนที่ 3: ไฟปิด

  • Writer: กร วรศะริน และ กฤษ มอร์ตัน

เมื่อถึงเวลาค่ำ เสียงโทรศัพท์ของผมก็ดังขึ้น เป็นสายจากเพื่อนที่รอพร้อมจะลุยปาร์ตี้กับผมต่อ “คืนนี้มีอะไร” “ไปไหนดี” คือคำถามที่เต็มไปด้วยความกระหายในเสียงเพลง ยิ่งเป็นตัวกระตุ้นให้ผมต้องค้นหาปาร์ตี้ตามหน้าอีเวนต์ต่าง ๆ

ในกรุงเทพมีคลับหลายแห่ง มีกลุ่มดีเจและโปรโมเตอร์อยู่หลายกลุ่ม หลายแนวให้เราได้เลือกไปตามเสพงานของพวกเขา “ตอนนี้ผมว่าทุกอย่าง ๆ มันก็เริ่มดีขึ้นแหละ เพราะคนก็เริ่มเยอะขึ้น กลุ่มปาร์ตี้หลาย ๆ กลุ่มในแนวนี้ก็พยายามพลักดันให้ผู้ฟังใหม่ ๆ ได้มาลอง ถึงแม้ว่าจะมีทั้งคนชอบและไม่ชอบก็ตาม” ต๊อบ หรือที่รู้จักกันในนาม Dogs On the Turns หนึ่งในดีเจและโปรดิวเซอร์ที่มาแรงในขณะนี้ และยังเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่ม No Sleep Crew และ Bittered “คลับใหญ่ ๆ ตอนนี้ก็มี Beam, Glow และ Dark Bar” คลับสามแห่งนี้ มีคาแรคเตอร์ที่ต่างกันไป “เพลงพวกนี้มีความละเอียดอ่อนต่อเวลา และสถานที่ในการเล่นเยอะพอสมควร ถ้าเราเลือกเล่นให้ถูกตามฟีลคนในตอนนั้นและบรรยากาศสถานที่ จะรู้เลยว่ามันสนุกแค่ไหน” คำกล่าวเสริมจากต๊อบ เมื่อเวลาต่าง คนต่าง สถานที่ต่าง เสียงเพลงก็ต่างเช่นกัน ดีเจแต่ละคน โปรโมเตอร์แต่ละกลุ่ม ก็จะมีการนำเสนอที่ต่างกันไป

“ของเราจะเน้นไปที่แนวเพลงเทคโน ซึ่งคอนเซปต์จะพยายามถ่ายทอดความหลากหลายของแนวเพลงเทคโน ไม่ว่าจะเป็น deep techno, dark techno งานของเราจะจัดขึ้นทุกวันพฤหัสที่ Glow” Mendy Indigo ผู้ก่อตั้งกลุ่ม Dark & Dirty ว่า “ตอนเริ่มจัดครั้งแรก ๆ ก็กลัว ๆ ว่าจะมีคนมารึเปล่า เพราะคนส่วนมากจะไม่ค่อยรู้จักเพลงแนวนี้ แต่ก็เอาวะ เพราะเราคิดว่าเราจะทำไปเรื่อย ๆ ทำจนกว่าคนจะรู้จักนั่นแหละ ทุกวันนี้ดีใจที่มีคนรู้จักเพลงเทคโนมากขึ้น และได้เห็นคนที่มาปาร์ตี้เรา มาฟังเพลงจริง ๆ บางคนไม่เคยเห็นหน้ามาก่อน ส่วนบางคนก็มาทุกปาร์ตี้เลย”

“ผมจะดีใจสุดๆเวลาได้เจอ คนฟังหน้าใหม่ที่เป็นคนไทยด้วยกัน อย่างวันเสาร์ที่แล้วที่ผมเล่น ก็ได้เจอ พี่ ๆ คนไทย 3 คนมาฟังเพลงแนวนี้ ก็ได้คุยกันนุ่นนี่ ผมเลยรุ้สึกว่า เราสามารถเจอเพื่อนใหม่ ๆ ได้ตลอดเวลาเลย แล้วการที่เราฟังเพลงแนวดนตรีเหมือน ๆ กันก็เป็นการดึงดูดคนที่มีนิสัยบางอย่างที่คล้าย ๆ มารวมกันได้อีกด้วย” คำกล่าวจากต๊อบ เกี่ยวกับความรู้สึกเมื่อเขาได้พบกับเพื่อนใหม่ ๆ ที่หลาย ๆ ครั้งการที่ได้พบเห็นเพื่อนใหม่เหล่านั้นบนฟลอร์เต้นรำ ก็ทำให้เหล่าดีเจมีความสุขได้

“ความสุขระหว่างการเปิดเพลงคือผมได้เปิดเพลงที่ศรัทธากับมันจริง ๆ” คำกล่าวจาก FISHMONGER กลุ่ม Duo DJ จากภูเก็ต “จุดมุ่งหมายของเราคือการทำให้มีคนได้มา enjoy ในสิ่งที่เราชอบ เพราะเพลงเต้นรำ (เน้นว่าเพลงเต้นรำนะครับ ไม่ใช่เพลง electronic หรือ indie) นั้นถูกทำขึ้นมาไว้ร่วมสนุกด้วยกันหลาย ๆ คน องค์ประกอบต้องครบ เป้าหมายสูงสุดคือวันหนึ่ง scene เราจะเป็น scene ที่ self sustainable โดยไม่ต้องหวัง factor จากข้างนอก ถ้าพูดถึงเบอร์ลินก็ฟังดูไกลตัวไปเยอะ เพื่อให้เห็นภาพชัด เราเอาสิงคโปร์เป็นเป้า ต้องไปให้ถึงจุดนั้นก่อนแล้ว ค่อยว่ากันว่าจะไปกันต่อยังไงดี”

ผู้ที่มีความมุ่งหมาย อยากจะนำเสนอดนตรีแนวนี้ไม่ได้มีแค่ในกรุงเทพ ฯ แต่กระจัดกระจายอยู่ทั่ว ๆ ภูมิภาค “ผมว่าภูเก็ตยังโชคดีที่มีความเป็นเมืองที่มีชาวต่างชาติมาเที่ยวและอยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก demographic นี้เอื้อให้เรายังได้ทำงานตรงนี้ได้ อีกทั้งยังทำให้ culture นี้เป็นที่คุ้นเคยกับคนพื้นที่ได้เป็นอย่างดี อันนี้คือข้อได้เปรียบเมื่อเราเปรียบเทียบกับจังหวัดอื่น ๆ แต่โจทย์ที่เราเจอนั้นก็มีอยู่ เช่นการที่ภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบ โอกาสที่สถานบันเทิงต่าง ๆ จะมาทำเท่ห์แทบเป็นศูนย์ อย่างไรก็ตาม กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่จะมาฟังเพลงแบบที่เรานำเสนอนั้นแทบไม่มี เคยมีโอกาสได้คุยกับรุ่นพี่ที่นับถือ ซึ่งเขาได้ให้เหตุผลมาว่าเพราะบ้านเราไม่มีคณะในมหาลัยที่หลากหลาย โดยเฉพาะศิลปะ มีแต่คณะการโรงแรมและท่องเที่ยวที่ผลิตบุคลากรป้อนอุตสาหกรรมหลักอย่างเดียว ผมมองว่ามีผลต่อการเปิดใจและผจญภัย และกลุ่มคนเที่ยวทั้งไทย ทั้งเทศ มีอยู่ไม่กี่กลุ่ม ระบบขนส่งมวลชนที่แพงและแสนห่วยแตก กิจกรรมบนมือถือที่เอื้อให้คนอยู่บ้านมากขึ้น บวกกับงานเราเป็นงานให้พวกคุณมาเต้น ไม่ได้เน้นกินเหล้าเข้าสังคม (แต่เอาเมา) เป็นหลักอยู่แล้ว สมมุติว่าซวยไปจัดตรงกับวันเกิดเซเล็บคนนึง คนมางานนี่อาจจะหายไปมากโขอยู่ ซึ่งรับได้เพราะเป็นธรรมชาติของสังคมตามเกาะที่คนจะรู้จักกันหมด ถึงอย่างไรก็ตาม ข้อแม้เหล่านี้ล้วนเป็นแรงผลักดันให้เราทุ่มเทเพื่อให้เนื้องานออกมาดีที่สุดตามกำลัง สร้างความประทับใจให้กับคนที่มางานเรา เหมือนเวลาเราเจอร้านข้าวเจ้าเด็ด ยากขนาดไหน ก็จะดั้นด้นมาซ้ำให้ได้เมื่อมีโอกาส”

แม้ต่างภูมิภาค แต่มีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือการผลักดันให้ underground dance music scene ได้รับความนิยมมากขึ้น “ผมอยากให้คนไทยเปิดใจฟังเพลงมากขึ้นครับ มองมันให้เป็นศิลปะมากขึ้น ไม่ต้องยึดติดว่ามันต้องอยู่แต่ในผับ มืด ๆ ไฟจัด ๆ ผมชอบอีเวนต์กลางแจ้งตอนกลางวันมาก ๆ เพลงมันฟังที่ไหนเมื่อไหรก็ได้ แต่ขาดคนนำเสนอ” TJ Tiesjungle ผู้ก่อตั้งกลุ่ม Loco Room และ Unused จากจังหวัดนครราชศรีมา แสดงความเห็นของเขาที่มีต่อซีนทั้งในจังหวัดตัวเองและที่อื่น ๆ แน่นอนว่าในหลายพื้นที่ก็ยังประสบปัญหานี้ “มันยากมาก (ตอบเสียงแข็ง) ผมพยายามทำความเข้าใจใน scene ของบ้านเรา หลายคนอาจจะยังไม่เปิดใจ ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะนำเสนอผลงานหรือการนำเสนออีเวนต์เล็ก ๆ แปลก ๆ”

“คงเป็นความยากเดียวกันในแต่ละทุกพื้นที่ มีกลุ่มคนที่มีวัฒนธรรมการฟังเพลงและเสพสิ่งรอบตัวแบบฝังลึกจากสิ่งที่สื่อปกติป้อนให้ การจะเปลี่ยนกลุ่มวัยรุ่นให้หันมาฟังและสนใจกับสิ่งที่เราทำ จึงเป้นเรื่องยากเสมอของแทบจะทุกพื้นที่ในแต่ละครั้งที่จัดงาน” Ronn หรือ ที่รู้จักกันในชื่อ Noxro หนึ่งในผู้ก่อตั้ง WHVCK ซึ่งเป็นกลุ่มจากบางแสนกล่าว “แต่หลาย ๆ อย่างมันก็เป็นไปในทิศทางที่ดีจากตอนแรกที่เริ่มทำ สิ่งที่พัฒนาคือแนวดนตรีที่หลากหลายและมีเอกลักษณ์ ของแต่ละคน”

นอกจากจะมีโปรโมเตอร์ที่คอยจัดงานปาร์ตี้ตามคลับแล้ว ยังมีกลุ่มที่คอยแบ่งปันความรู้ต่าง ๆ “เราจะชวนศิลปิน ดีเจ โปรดิวเซอร์จากต่างประเทศ มาบรรยายและให้คำแนะนำเกี่ยวกับเทคนิคการทำเพลง ดีเจ หรือทัศนคติต่าง ๆ ในมุมมองของพวกเขา เพื่อที่จะได้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดและได้รับความรู้มาปรับใช้กับการทำงานของศิลปินในบ้านเรา และนำความรู้เหล่านั้นมาสร้างผลงาน เพื่อเติบโตไปพร้อม ๆ กัน” เจ หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Collect / Save กลุ่มที่พาศิลปินต่างชาติ เข้ามาให้ความรู้กับพวกเรา

ยังมีโปรโมเตอร์อีกมากมายที่เราไม่ได้มีโอกาสได้พูดคุยกับพวกเขา “มีหลายคนเลยที่พยายามจะผลักดันให้คนไทยได้รู้จักดนตรีประเภทนี้เยอะมาก ๆ แล้วพวกเค้าก็สู้ไม่เคยถอยเลย” ความเห็นจาก DOTT  “อย่าง Subconcious ก็เป็นกลุ่มรุ่นเก๋าเหมือนกันที่ก็ยังลุยจัดปาร์ตี้อยู่เหมือนเดิม แล้วก็มี Pineapple Party (Sun, Bedcheck) กลุ่มนี้ก็จะเป็นกลุ่มที่จะเอาซาวด์ tech House หรือ techno ที่เป็น เกาะ ๆ เจ๋ง ๆ มาเล่นอยู่เสมอเหมือนกัน”

ในต่างจังหวัดก็มีกลุ่มที่น่าสนใจ ตอนนี้มีกลุ่ม Phuket House Mafia ที่จัดงาน CONNECTED เดือนละครั้งในตัวเมืองภูเก็ต ซึ่ง FISHMONGERได้เป็นหนึ่งใน resident ร่วมกับ house DJ รุ่นบุกเบิกอย่าง Q Narongwateและ Taz โดยเน้นความสนุกเป็นหลัก เพราะฉะนั้นคนที่มาเที่ยวจะสนุกได้ทันที แต่ยังเป็นเพลงที่สดใหม่ หาฟังที่อื่นในภูเก็ตไม่ได้เช่นกัน

อีกหนึ่งงานคือ BERMUDOS ซึ่งเป็นกลุ่มดีเจ โปรโมเตอร์ ชาวเบลารุส มาสานต่อโปรเจกต์ที่เริ่มไว้ที่บ้านเขา จัดมาประจำทุกสัปดาห์ไม่เคยหยุดเป็นเวลากว่า 4 ปีแล้ว มีฐานคนฟังที่ซื่อสัตย์ พวกเขาไปเล่นที่ไหน ยกพลกันไปที่นั่น 6 ชั่วโมงต่องานเป็นอย่างน้อย เพราะฉะนั้นแนวเพลงที่เปิดในงานจะเป็นเพลงแนวที่เต้นย่ำกันได้ยาว ๆ ทั้งคืน เราจะได้เจอกับ guest DJ ที่มาจากแถบรัสเซียบ่อย ๆ ซึ่งบอกตรง ๆ ว่าไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อนเลยซักคน แต่ taste ดี selection คม BERMUDOS ได้พิสูจน์ให้เรากระจ่างว่า ไม่ต้องเด่น ไม่ต้องดัง แต่มั่นใจได้ว่าของดีคัดมาแล้ว นี่แหละคือ underground ของจริง” คำแนะนำจาก FISHMONGER เกี่ยวกับกลุ่มต่าง ๆ ในภูมิภาค นอกจากนี้ยังมีอีกหลายกลุ่มทั้งในกรุงเทพ ฯ และต่างจังหวัดซึ่งเราอยากให้ทุกท่านลองเข้าไปดูและติดตามกัน

Promoter

Psyhead Community, Kandoo, Off the Grid, Inhale Exhale, Lost in Paradise, Moon Mountain, Young Agenda,

Venue

Dark Bar, Beam, Glow, Betta Cafe, JUNK, Sorry I’m Gay

และผมคิดว่ามันยังมีอีกมากมายที่เรายังไม่เคยค้นพบ ไม่เคยรู้จัก หรืออาจจะตกหล่นไป ก็ต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ อย่างไรก็ตาม นั่นก็เป็นจำนวนที่มากพอสมควรที่จะทำให้เราได้สัมผัสประสบการณ์ไปกับศิลปิน และดีเจแต่ละคนที่มีสไตล์ที่แตกต่างกันไป เมื่อมีการสนับสนุนมากขึ้น พวกเราก็มีกำลังใจจะพัฒนาตัวเอง และสร้างสรรค์ผลงานต่อ ๆ ไปให้ดียิ่งขึ้น สุดท้ายนี้เราขอทิ้งท้ายด้วยแบบสอบถามให้กับทุกคนที่ติดตามกันมา ไม่ว่าจะเป็นคนที่คุ้นเคยกับซีนนี้ หรือคนที่เพิ่งได้ทำความรู้จักกัน โดยที่ทุกท่านสามารถตอบแบบสอบถามเพื่อเป็นคำถามให้กับพวกเราได้ตอบในบทความต่อไป ซึ่งจะเป็นบทความสุดท้ายของพวกเรา

 

อ่านตอนต่อไปได้ ที่นี่

โลกระบำ ตอนที่ 1: แก้วแรก
โลกระบำ ตอนที่ 2: ไฟเปิด
โลกระบำ ตอนที่ 4: ไปต่อ

Facebook Comments

Next:


Korn Varasarin

กร อยู่กับเสียงเพลงมาเกือบครึ่งชีวิต มีความสุขที่ได้ฟังเพลง ทำเพลง เปิดเพลง อีกเกือบครึ่งชีวิตมอบให้กับเกมคอมพิวเตอร์