Article Contributor of the Month

The Lost Songs

  • Writer: Kongdej Jaturanrasmee

The Lost Songs

เราไม่แน่ใจนักว่าสิ่งที่กำลังจะเขียนต่อไปนี้จะมีประโยชน์อะไรกับพวกเธอหรือเปล่า เมื่อเดือนก่อน ตอนที่เรานั่งสัมภาษณ์กับฟังใจในร้านกาแฟร้านนั้น จำได้แค่ว่าตอนที่ต้องมานั่งนึก คัดเลือกเพลง 10 เพลงโปรดในชีวิต บรรยากาศในร้านมันประหลาดมาก เราสับสนนิดนึง ไม่รู้เพราะว่าไม่ได้เตรียมตัวคัดเลือกมาอย่างดี หรือเป็นเพราะตอนนั้นมันบ่ายสองและที่เคาน์เตอร์ขายกำลังเปิดโปรโมชันซื้อ 1 แถม 1 คนเลยมหาศาล (คือในหัวมีเรื่องวิ่งสลับไปมาระหว่าง การคิดถึงเพลงที่จะต้องตอบ กับ กูจะไปต่อคิวซื้อกับเค้าด้วยดีไหม)

แต่ก็นั่นแหละ ผลมันเลยกลายเป็นว่า เราบ่นตลอดการสัมภาษณ์ว่า 10 เพลงมันไม่พอ เราฟังเพลงมาหลายสิบปีแล้ว สิบเพลงไม่พอจริง ๆ พอเราเลือกเพลงไหนขึ้นมา มันก็จะมีประวัติศาสตร์ที่ relate ไปถึงเพลงอีกจำนวนนึง คิดไปคิดมา ถึงมีโควตาให้เรา 20 เพลง ก็ยังไม่พออยู่ดีว่ะ เวลาถูกถามคำถามแบบนี้ ไม่ว่าจะหนังหรือเพลง พอตอบไปเสร็จทีไรแล้วมานึกขึ้นได้ว่ายังมีหนังและเพลงอีกจำนวนมากที่เราหลงลืมไป ก็เจ็บปวดทุกครั้ง รู้สึกผิดทุกครั้ง (นี่มึงจริงจังมากใช่มั้ยเนี่ย)

แต่เพราะเพลงพวกนั้นมันมีผลกับชีวิตเราจริง ๆ ไง เพลงที่ทำให้เรารู้ว่าเราเป็นคนแบบไหน เพลงที่ทำให้เราเข้าใจตัวเอง

การได้เห็นน้องอิ๊ก คนที่มาสัมภาษณ์เรานั่งจดลายแทงเพลงต่าง ๆ ที่เราพูดถึงอย่างตั้งใจ และการที่น้องอิ๊กชวนเรามาเขียนต่อและให้พูดถึงเพลงต่าง ๆ ที่ยังไม่ได้ถูกพูดถึงในวันนั้น จึงทำให้เราพอจะอนุมานได้ว่า อย่างน้อยสิ่งที่เราจะเขียนต่อไปน่าจะพอมีประโยชน์บ้าง (คืออย่างน้อย อิ๊กจะไม่ต้องเมื่อยมือจดเอง เพราะเราจะทำลายแทงให้แล้ว 555)

ถ้าไม่นับช่วงเวลาค้นหาตัวเองผ่านเพลงยุคที่เราโตมาในช่วง 80s แน่นอนว่าเราทันยุคที่มีค่ายเพลงที่ดีที่สุดอย่าง ไนท์สปอต ค่ายเพลงป๊อบไร้ทิศทาง (คำชม) อย่าง นิธิทัศน์ เราผ่านช่วงเวลาเพลงเพื่อชีวิตเบ่งบาน ช่วงเวลาวง metal, hair band (ที่มี Sweet Child O’ Mine เป็นเพลงชาติ) ไปจนถึง progressive rock เราฟังไปเรื่อยทุกแนว จนยังไงซะก็กลับมาจบที่เพลงป๊อป

ในช่วงเวลานั้น เราค้นพบวงสำคัญมากมายที่จะอยู่กับชีวิตเราไปตลอดยันตาย (เราหมายถึงอย่างนั้นจริง ๆ ) เริ่มต้นด้วย Prefab Sprout (วงที่เรารู้สึกผิดที่สุดที่ไม่ได้พูดถึงในวันนั้นและคงจะอ้างอิงถึงอีกในหลาย ๆ จุดต่อจากนี้) Paddy McAloon ผลิตเพลงป๊อปแบบที่ไม่มีใครในโลกผลิตซ้ำออกมาได้ เสียงร้องนุ่มแบบสต๊าฟความรู้สึกของยุค 80s เอาไว้ การเรียบเรียงและเมโลดี้ที่เฉพาะตัวทำให้เราตกอยู่ในฝันตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้ฟังอัลบั้ม From Langley Park to Memphis แทร็ก Cars and Girls, The King of Rock ‘n’ Roll และเพลงโปรดของเรา I Remember That จะให้เราเปิดวนไปทั้งอาทิตย์ก็ไม่เบื่อ ทำให้เราเริ่มไล่ล่าชุดก่อน ๆ ของพวกเขา และติดตามมาจนถึงทุกวันนี้ นี่คือวงที่เราไม่รู้จะไป relate กับอะไรอย่างอื่นในโลก วงที่ไม่เคยทำให้เราผิดหวัง (เอาเหอะ… เราจะทำเป็นลืมชุด The Gunman and Other Stories)

ทำไมวันนั้นเราไม่พูดถึง Swing Out Sister นะ SOS เป็นอีกวงที่ทำให้ประวัติการฟังเพลงในวัยหนุ่มของเราไม่ด่างพร้อย วงที่เริ่มต้นจากป๊อปแดนซ์ก่อนจะคลี่คลายตัวเองเป็นป๊อปแจ๊สในเวลาต่อมา อัลบั้ม Kaleidoscope World เป็นอัลบั้มที่ต่อให้ใช้กล้องจุลทรรศน์สำรวจก็หาจุดตำหนิไม่เจอ และแนะนำให้เราแตกยอดไปสำรวจงานที่มีอิทธิพลต่อทั้งคู่อย่าง Burt Bacharach และ John Barry แทร็ก Forever Blue คือความงดงามของความรู้สึกรันทดร้าวในชีวิต Corinne Drewery ยังคงเก๋และสง่างามจวบจนทุกวันนี้ ในบรรดาแถวของวงแนวนี้ (หมายถึงวงแบบดูโอ้ นักร้องเป็นผู้หญิงและมีผู้ชายเป็นคนทำดนตรี ไม่รู้ว่าทำไม วงเหล่านี้มักจะมีกลุ่มคนฟังอยู่ที่ญี่ปุ่นเป็นพิเศษ?) ยังมีวงที่สูญหายและถูกมองข้ามมากเกินไปอย่าง Workshy วงที่ความหอมหวานของชื่อเสียงมาไม่ถึงอย่างเต็มที่เสียที แต่ต่างก็มีอิทธิพลกับวงรุ่นถัด ๆ มาอย่าง Swan Dive ที่เริ่มต้นได้ดีกับอัลบั้ม Circle แต่นับวันจะเลี่ยนเกินชิมทั้งอัลบั้ม ยังดีที่มีป๊อปแจ๊สรุ่นใหม่ที่เจือ R&B เข้าไป อย่าง Benny Sings และ Giovanca ทำให้เราต่อลมหายใจตัวเองได้

Pizzicato Five เคยแนะนำเราให้รู้จักแนวเพลงที่เรียกว่า Shibuya-kei และเปิดโลกเพลงเต้นรำที่แสนจะเก๋ไก๋ให้โลกสะบัดไหล่กันอยู่ช่วงเวลาหนึ่ง ดนตรีที่มาพร้อมแฟชั่นและทำให้รันเวย์เต็มไปด้วยเพลงแนวนี้อยู่พักใหญ่ ในวันที่การไปญี่ปุ่นยังต้องลุ้นขอวีซ่า การได้ฟังศิลปินแจแปนอย่าง Towa Tei, Fantastic Plastic Machine ยกทัพกันมากรอกหูด้วยเพลงเก๋ ๆ เป็นช่วงเวลาที่ทุกอย่างดูแสนไกลและราคาแพง

ตอนที่เราเริ่มทำเพลง น่าจะเป็นช่วงที่เราได้ค้นพบตัวเองชัดที่สุดว่าเราชอบอะไร เมโลดี้แบบไหนที่เราพ่นออกมาอย่างเป็นธรรมชาติ สิ่งที่สะสมอยู่ในตัวมาตั้งแต่เด็กถูกนำออกมาใช้และดีใจเหมือนได้เจอมิตรร่วมทางผ่านทางเสียงเพลง ครั้งแรกที่ได้ดูเอ็มวี Babies และ Do You Remember The First Time ของ Pulp แล้วใจเต้นแรง การได้ฟัง I Wanna Be Adoredและ She Bangs The Drums ของ The Stone Roses เขย่าให้เราเข้าใจความหมายใหม่ของเพลงร็อก และแนะนำเราไปสู่โลกของเพลงแบ๊กกี้ จนได้พบกับวงต้องคำสาปอย่าง The Chalatans เพลงร็อกแบบที่อนุญาตให้เราเต้นรำไปด้วยได้ เสียงออร์แกนใน Weirdo เขย่าเราให้เหมือนเมายาและขยับเท้าได้ทั้งคืน ก่อนจะพาเราไปพบวงที่เป็นญาติ ๆ กันอย่าง Ride และ The Verve

Saint Etienne คือวงซินธ์ป๊อปที่ยังคงอยู่ยงคงกระพันมาจนทุกวันนี้ แม้จะนาน ๆๆๆๆๆๆ ทีถึงจะออกอัลบั้มสักครั้ง แต่ก็มีมาตรฐานสูงลิบ ไม่เคยการ์ดตก Bob Stanley กับ Peter Wiggs ผลิตดนตรีแบบที่เราคุ้นชินในลิฟต์โรงแรมคลุกเคล้ากับดนตรีเต้นรำและป๊อปออกมาให้กลายเป็นตัวแทนของอังกฤษได้ เสียงร้องเปราะบางของ Sarah Cracknell โอดครวญถึงชีวิตที่ไม่ค่อยได้ต้องแสงแดดในลอนดอนตลอดยี่สิบกว่าปีที่ผ่านมา นี่คืออีกวงที่ไม่รู้ว่าจะไป relate เปรียบเทียบใคร มีแต่คนมากมายที่อยากจะ relate ตัวเองกับตำนานของวงนี้ เจอที่ไหน ซื้อได้ทุกชุด แต่อัลบั้ม Good Humorคือตัวแทนของช่วงเวลาที่ดีที่สุดสำหรับเรา

และที่เราจะขาดไปไม่ได้เลย คือ Sarah Records ค่ายเพลงที่นิยามคำว่าเพลงอินดี้ป๊อปให้สุกสกาวในตลอดทศวรรษ 90s ซึ่งเราจะกล่าวกันในตอนต่อไป

ใช่… ยังไม่จบ มีอีกหลายตอน โปรดติดตาม

 

 

อ่านต่อที่นี่

ตอนที่ 2 Pop for Pop Sake
ตอนที่ 3 I am the Resurrection
ตอนที่ 4 แด่สโมซ่าส์

Facebook Comments

Next:


Montipa Virojpan

อิ๊ก เนิร์ดดนตรีที่เพิ่งกล้าเรียกตัวเองว่าเป็นนักเขียนตอนอายุ 25 ชอบเดินเร็ว นอกจากขนมปังกับกาแฟดำแล้วก็สามารถกินไอศกรีมกับคราฟต์เบียร์แทนมื้อเช้าได้