Article Guru

Driving with the Beats ประวัติศาสตร์รวบรัดของเครื่องเสียงติดรถยนต์

  • Writer: Piyakul Phusri

ว่ากันว่า คนขับรถยนต์มีอยู่ 2 ประเภท คือ คนที่เปิดเพลงฟังไปด้วยขณะขับรถ และคนที่ไม่เปิดเพลงหรือวิทยุเลยขณะขับรถ

เชื่อว่าชาว Fungjaizine ที่มีเสียงเพลงในหัวใจตลอดเวลาน่าจะเป็นคนขับรถประเภทแรกมากกว่า เพราะการฟังเพลงขณะขับรถนอกจากจะเป็นความเพลิดเพลินอย่างหนึ่ง ก็ยังช่วยคลายเหงาคลายง่วงระหว่างขับรถได้อีกด้วย และการได้ฟังเพลงที่ถูกใจโดยมีวิวสองข้างทางที่ถูกตาหรือเข้ากับเพลง ก็เป็นความรื่นรมย์มากกว่าการฟังเพลงอยู่ในห้องสี่เหลี่ยม (ส่วนใครที่ชอบขับรถเงียบ ๆ เราก็เข้าใจและไม่ว่ากัน)

ปัจจุบัน เครื่องเสียงติดรถยนต์เป็น accessory มาตรฐานที่ติดมากับรถยนต์ทุกคัน บางรุ่นอาจจะเลือกใช้เครื่องเสียงดี ๆ ลำโพงแบรนด์ดัง ๆ มาติดเพื่อสร้างความเหนือกว่าคู่แข่ง และเพิ่มอรรถรสในการฟังให้เพิ่มขึ้น ขณะที่หลายคนอาจจะยังไม่พอใจเครื่องเสียงเดิม ๆ ที่ติดมากับรถและ modify ให้มีกำลังขับมากมายมหาศาล เอาไปใส่ตู้เบสให้เสียงเบสอวบอ้วนกระแทกกระทั้นจนทำให้กระเพาะขย้อนอาหารออกมา หรือเปลี่ยนรถให้เป็น ‘รถแบกเครื่องเสียง’ มากกว่ามี ‘เครื่องเสียงติดรถยนต์’ ก็เป็นเรื่องความชื่นชอบของแต่ละคนที่เราก็ไม่ว่ากัน (แต่อย่าเปิดเพลงเสียงดังเกินไปในที่ชุมชนหรือในสถานที่ที่ไม่ควรใช้เสียงอึกทึกอย่างอุทยานแห่งชาติเลยนะ แบบนั้นไม่น่ารักเลย)

แต่ก่อนที่เราจะมีระบบเครื่องเสียงยนต์แบบรอบทิศทางที่ทำงานผ่านการสั่งงานด้วยเสียง หรือตู้ลำโพงเสียงดังระดับกระจกร้าวอย่างทุกวันนี้ มันมีความเป็นมาและพัฒนาการอย่างไร เราจะขับย้อนเวลาพาคุณไปรู้เรื่องราวของเครื่องเสียงติดรถยนต์กันอย่างรวบรัด

———-

สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศแรก ๆ ที่มีการผลิตรถยนต์แบบ mass product และก็เป็นประเทศแรกที่คิดค้นนวัตกรรมเครื่องเสียงติดรถยนต์ขึ้นมา เนื่องจากพื้นที่อันกว้างใหญ่ของประเทศทำให้การเดินทางข้ามเมือง ข้ามรัฐ ต้องใช้เวลานาน การได้ฟังเสียงเพลง หรือเสียงพูดจากวิทยุเป็นสิ่งที่ทำให้บรรยากาศในการขับขี่ไม่เงียบเหงาจนเกินไป

จุดเริ่มต้นของเครื่องเสียงติดรถยนต์เกิดขึ้นในปี 1930 โดยสองพี่น้อง Paul และ Joseph Galvin แห่ง Galvin Manufacturing Corporation ได้เปิดตัวเครื่องเสียงติดรถยนต์รุ่นแรกของโลกคือ Motorola 5T71 เป็นวิทยุระบบ AM ทำงานด้วยแบตเตอรี่และหลอดสุญญากาศ ผู้ใช้จะต้องหาจูนหาคลื่นวิทยุด้วยตัวเอง สนนราคาเครื่องละ 130 ดอลลาร์ ซึ่งถือว่าแพงมาก เพราะในปีนั้นรถยนต์ Ford Model A Deluxe coupe มีราคาคันละ 540 ดอลลาร์ การซื้อวิทยุ AM ที่มีราคาถึง 1 ใน 4 ของราคารถจึงเป็นอะไรที่ค่อนข้างจะฟุ่มเฟือยเอามาก ๆ และสังคมก็ตั้งคำถามว่าการฟังวิทยุไปด้วยขณะฟังเพลงเป็นเรื่องที่เหมาะสมหรือเปล่า เหมือนกับที่คนยุคนี้ตั้งคำถามกับการใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับรถ แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม สองพี่น้อง Galvin ก็สามารถขาย Motorola 5T71 ได้เป็นล้านเครื่อง จนเปลี่ยนชื่อบริษัทจาก Galvin Manufacturing Corporation มาเป็น Motorola ตามชื่อสินค้าขายดีชิ้นนี้

ใช่แล้ว จุดเริ่มต้นของแบรนด์เครื่องมือสื่อสาร Motorola ที่เรารู้จักกันดีทุกวันนี้มาจากการผลิตวิทยุติดรถยนต์เมื่อ 80 ปีก่อน

f8zdvs3qu1bwjglnxfcq

วิทยุติดรถยนต์รุ่น Motorola 5T71

คลื่นวิทยุระบบ AM ที่กระจายเสียงด้วยระบบ mono มีความคมชัดไม่มากนัก แต่เนื่องจากเทคโนโลยีที่มีในยุคนั้น และ สถานีวิทยุระบบ AM ที่ครอบคลุมทั่วประเทศสหรัฐอเมริกา ทำให้เครื่องเสียงติดรถยนต์ยังเป็นแค่วิทยุ AM จนถึงปี 1952 Blaupunkt แห่งเยอรมนีถึงได้เปิดตัววิทยุติดรถยนต์ระบบ FM ในปีต่อมา Becker ก็ได้เปิดตัววิทยุติดรถยนต์ที่มีทั้งระบบ AM และ FM พร้อมระบบค้นหาคลื่น (seeker) ทำให้นักขับไม่ต้องวุ่นวายกับการหมุนหาคลื่นวิทยุเป๊ะ ๆ ด้วยตัวเอง

ในปี 1956 Chrysler ได้นำอีกระดับของสุนทรียะทางดนตรีเข้ามาไว้ในรถยนต์ด้วยการเปิดตัว Highway Hi-Fi เครื่องเล่นแผ่นเสียงไวนิลในรถยนต์ที่สามารถเล่นแผ่นเสียงขนาด 7 นิ้ว (ผลิตเป็นพิเศษให้เฉพาะศิลปินที่เซ็นสัญญากับค่าย Columbia Records เท่านั้น) แต่ละแผ่นสามารถเล่นเพลงได้นาน 45 นาที เพียงกดปุ่มที่อยู่ตรงคอนโซลกลางรถ เครื่องเล่นแผ่นเสียงขนาดกะทัดรัดก็จะเด้งออกมา ซึ่งระบบนี้มีเฉพาะในรถยนต์ Chrysler รุ่นท็อป ๆ เท่านั้น แต่ Highway Hi-Fi กลับเป็นนวัตกรรมที่ไม่ค่อยน่าประทับใจเท่าไหร่ เพราะเมื่อรถวิ่งไปบนถนนที่ขรุขระ เข็มของเครื่องเล่นแผ่นเสียงก็จะกระโดดกระเด้งไปตามความขรุขระของถนนด้วยเช่นกัน ทำให้เพลงกระโดดไปกระโดดมา ระบบนี้เลยมีอายุอยู่แค่สั้น ๆ และคนก็หันกลับไปฟังเพลงจากระบบ AM/FM ที่ไม่กระโดดเด้งเหมือนเดิม

ad

โฆษณาระบบ Highway Hi-Fi ของ Chrysler

หลังจากความล้มเหลวของ Highway Hi-Fi ก็ยังไม่มีใครหาญกล้าจะเอาเครื่องเล่นอะไรใด ๆ ไปติดบนรถอีกพักใหญ่ จนเข้าสู่ยุค 60s เมื่อมีการพัฒนาเครื่องเล่นเทประบบ 4-track และ 8-track ที่มีราคาย่อมเยาและมีขนาดเล็ก สามารถติดตั้งในรถยนต์ครั้งแรก นี่จึงเป็นครั้งแรกที่นักขับสามารถฟังเพลงทั้งอัลบั้มได้โดยไม่สะดุด ในปี 1964 Philips ก็ได้เปิดตัวเครื่องเล่นเทปคาสเซ็ตเป็นครั้งแรก ซึ่งใช้เวลาเพียงไม่นาน ด้วยคุณภาพเสียงที่ดีกว่าเทป 4-track และ 8-track เครื่องเล่นเทปคาสเซ็ตจึงเป็นสิ่งที่รถยนต์ในยุค 70s จะต้องมี และเทปคาสเซ็ตก็เป็นผลผลิตจากความตั้งใจของนักพัฒนาในการคิดค้น format เครื่องเล่นเพลงที่มีขนาดเหมาะสมกับการฟังในรถยนต์ในยุคนั้นมากที่สุด นอกจากนี้ เทปคาสเซ็ตยังทำให้สิ่งที่เรียกว่า mixtape หรือ เทปที่เราอัดเพลงที่อยากจะฟังไว้ฟังเองเกิดขึ้นได้จริงอีกด้วย

eighttrack

เครื่องเล่นเทปแบบ 8-track ที่ติดตั้งในรถยนต์

ในช่วงทศวรรษที่ 70 เมื่อเทปคาสเซ็ตกลายเป็น format มาตรฐานของการฟังเพลงในรถ ทำให้เกิดบริษัทผู้ผลิต accessory เกี่ยวกับเครื่องเสียงขึ้นหลายราย สามารถเรียกได้ว่าธุรกิจประดับยนต์ก็เกิดขึ้นตอนยุค 70s นี่เอง เจ้าของรถสามารถปรับแต่งระบบเครื่องเสียงในรถยนต์ได้ตามความต้องการ เพราะก่อนหน้านี้ ถึงจะมีเครื่องรับวิทยุหรือเครื่องเล่นแผ่นเสียงในรถ แต่ลำโพงที่ติดมากับระบบจะมีอยู่ลูกเดียว ตั้งอยู่ตรงกลางคอนโซล เมื่อธุรกิจประดับยนต์เกิดขึ้นในอเมริกา ก็ทำให้ทั้งเจ้าของรถและผู้ผลิตอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับระบบเสียงในรถยนต์ซีเรียสกับเรื่องการฟังเพลงในรถมากขึ้น เกิดการออกแบบลำโพงลูกเล็กลูกใหญ่ที่ให้เสียงกลาง-เสียงสูง วางลำโพงไว้ข้างหน้า-ข้างหลัง เพื่อสร้างบรรยากาศเสียงที่ดีที่สุด…ยุค 70s คือการเปิดศักราชสู่การฟังเพลงในระบบ stereo

cassettes_1_0

Philips Compact Cassette รุ่นแรก ๆ

นักขับอยู่กับการฟังเพลงผ่านวิทยุและเทปคาสเซ็ตจนถึงยุค 80s โลกก็ได้รู้จักกับสิ่งที่เรียกว่า compact disc หรือ CD ซึ่งเป็นประดิษฐกรรมที่ Philips และ Sony ร่วมกันคิดและผลิตเป็นตัวต้นแบบตั้งแต่ปลายยุค 70s แต่กระแสสังคมยุคนั้นที่ไม่วางใจสิ่งประดิษฐ์ที่เป็นระบบดิจิทัลเท่าไหร่นัก กว่าแผ่นซีดีและเครื่องเล่นซีดีจะวางขายในตลาดได้จริง ๆ ก็ปาไปปี 1982 และมิตรรักนักขับขี่ก็ได้รู้จักกับเครื่องเล่นซีดีในรถยนต์เป็นครั้งแรกในปี 1984 โดย Pioneer ได้เปิดตัวเครื่องเล่นซีดีในรถรุ่น CDX-1 เป็นครั้งแรก ความเหนือกว่าของซีดีที่มากกว่าเทปคาสเซ็ตนอกเหนือจากคุณภาพเสียงก็คือความสามารถในการกดข้ามเพลงได้อย่างสะดวกรวดเร็วด้วยการกดปุ่มแค่ครั้งเดียว ทำให้คนขับรถไม่ต้องเสียสมาธิกับการเปลี่ยนเพลงหรือกดปุ่มกรอเดินหน้า-ถอยหลังมากเกินไป ช่วงปลายยุค 80s จนถึงกลางยุค 90s เครื่องเล่นซีดีแบบเปลี่ยนแผ่นได้หลายแผ่น (multi-disc) ก็ได้รับความนิยม และตั้งแต่กลางยุค 90s เป็นต้นมา เครื่องเล่นซีดีก็กลายเป็นอุปกรณ์มาตรฐานในรถยนต์จนถึงปัจจุบัน

449-0900x0450

Pioneer CDX-1

เมื่อเข้าสู่ยุคมิลเลนเนียม การฟังเพลงผ่านไฟล์ MP3 ได้กลายเป็นเรื่องสามัญสำหรับผู้คนทั่วไป แต่ในช่วงต้นยุคปี 2000 การเชื่อมต่อเครื่องเล่น MP3 เข้ากับเครื่องเสียงรถยนต์ยังทำได้ไม่ง่ายนัก เพราะไม่ใช่รถทุกคันที่จะมีสายเสียบ AUX แต่ผู้ผลิตรถยนต์และเครื่องเสียงรถยนต์ก็เปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อรองรับเทคโนโลยีการใหม่ ๆ ทำให้ทุกวันนี้การฟังเพลงผ่านระบบ streaming และส่งข้อมูลผ่านสาย USB หรือ ระบบ bluetooth เข้าสู่เครื่องเสียงรถยนต์เป็นเรื่องปกติธรรมดาที่รถยนต์แทบทุกคันสามารถทำได้

เรามีรถยนต์ที่เร็วขึ้น ปลอดภัยมากขึ้น ควบคู่กับการมีเครื่องเสียงติดรถยนต์ที่เสียงดังมากขึ้น เสียงเคลียร์มากขึ้นและมีไดนามิกมากขึ้น ไม่มีใครรู้ว่าอนาคตของการฟังเพลงบนรถจะเป็นไปอย่างไร แต่เชื่อว่า เมื่อมีเทคโนโลยีฟังเพลงและการส่งผ่านข้อมูลแบบใหม่ ๆ เกิดขึ้น วงการอุตสาหกรรมยานยนต์ก็พร้อมที่หาวิธีทำให้มันมาอยู่ในรถยนต์โดยทำให้คนขับสามารถเพลิดเพลินกับเพลงได้อย่างสะดวก และ ปลอดภัยที่สุดจนได้อยู่ดี

นอกเหนือจากตัวเทคโนโลยีที่นับวันจะสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการได้ฟังเพลงที่ถูกใจ ในบรรยากาศที่ต้องการ และเราเชื่อว่าการได้ฟังเพลงที่ถูกใจขณะรถยนต์พุ่งทะยานไปข้างหน้า ก็จะยังคงเป็นประสบการณ์การฟังเพลงที่น่าประทับใจอยู่เสมอ

แล้วคุณล่ะ อยากให้ประสบการณ์การฟังเพลงในรถของคุณเป็นอย่างไร?

 

Source:
The History of the Car Stereo
A Brief History of the Car Radio
The Evolution of Playing Music in Your Car
Facebook Comments

Next:


Piyakul Phusri

Piyakul Phusri นักฟังเพลงจับฉ่ายที่มีความเชื่อว่านอกจากการกินอิ่ม-นอนอุ่น การบริโภคงานศิลปะที่ถูกใจก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยของการมีชีวิตที่ดี