Article Guru

จากอดีตถึงปัจจุบัน ‘เพลงเพื่อชีวิต’ กำลังบอกอะไรกับ การเมือง สังคม และชนชั้น ?

เพลงเพื่อชีวิต อยู่เคียงคู่กับเหล่านักฟังตั้งแต่รุ่นเก๋ามาจนถึงวัยรุ่นยุคใหม่ ไม่ว่าจะฟังเพลงลึกแค่ไหน ชอบเพลงอะไรเป็นพิเศษ คุณต้องเคยมีบางช่วงเวลาที่ ‘เพลงเพื่อชีวิต’ แวะผ่านเข้ามาในโสตประสาทการฟังอย่างแน่นอน เพลงเพื่อชีวิตอาจจำแนกความชัดเจนไม่ได้ด้วยรูปแบบของดนตรีจากการผสมผสานที่หลากหลายแนวดนตรีเข้ามา ไม่ว่าจะเป็น ละติน บัลลาด คันทรี่ ไปจนถึงสามช่า แต่ในมุมหนึ่งคงเปรียบได้กับเพลงใด ๆ ก็ตามที่บอกเล่าเรื่องราวความเป็นไปในสังคม ชีวิต ไปจนถึงสิ่งรอบตัวที่พบเจอจนสัมผัสเข้าไปในความรู้สึก จะถามหาทฤษฎีดนตรีที่เขียนไว้ว่าเพลงเพื่อชีวิตเป็นยังไงก็คงเป็นเรื่องยากเกินไปหน่อยที่จะหาเจอ เพราะสุดท้ายแล้วชีวิตแต่ละบุคคลล้วนแต่พบเจอสิ่งต่าง ๆ ไม่เหมือนกัน ได้รับทรัพยากรทางความคิดและแนวทางการสร้างสรรค์เพลงแตกต่างกัน แต่หากสิ่งนั้นถูกสร้างขึ้นมาเพื่อจรรโลงเราก็คงสามารถนิยามได้ว่านั่นคือเพลง ‘เพื่อชีวิต’

เส้นทางสายชีวิตที่ผ่านการกลั่นกรองจนมีท่วงทำนอง เพื่อร้อยเรื่องราวของสาส์นแห่งช่วงเวลาจนสร้างตำนานวงการดนตรีขึ้นมามากมาย เพลงเพื่อชีวิต ถูกเขียนขึ้นมาจนได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในยุค ‘คนเดือนตุลา’  (14 ตุลาคม พ.ศ. 2516) ไม่ว่าจะเป็น คาราวาน วงดนตรีเพื่อชีวิตยุคบุกเบิกของไทยที่นำโดยขุนพลเดือนตุลาอย่าง น้าหงา—สุรชัย จันทิมาธร, น้าหว่อง—มงคล อุทก ไปจนถึง คาราบาว วงดนตรีหัวควายเอกลักษณ์แห่งดนตรีสายเพื่อชีวิตด้วย 3 แกนหลักอย่าง พี่แอ๊ด—ยืนยง โอภากุล, พี่เล็ก—ปรีชา ชนะภัย, พี่รี่—เทียรี่ เมฆวัฒนา และนักดนตรีมากฝีมือภายในวงอีกหลายชีวิต รวมไปถึงสหายสายเขียว อาจารย์ไข่ มาลีฮวนน่า (คฑาวุธ ทองไทย) อีกหนึ่งรากฐานของวงการยุคเรียกร้องประชาธิปไตย

ยุคบุกเบิกโลกดนตรีที่พาวิถีกระแสสังคมเข้ามาไหลเวียนในท่วงทำนองจนปลุกปั้นศิลปินสายนี้ขึ้นมาอีกมากมายไม่ว่าจะเป็น พี่ปู—พงษ์สิทธิ์ คำภีร์, พี่หมู—พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ, โฮป กับอีกหลายศิลปินที่ไม่อาจกล่าวถึงได้ทั้งหมด จนได้ส่งไม้ต่อให้ศิลปินยุคปัจจุบันทั้ง YENA, TaitosmitH ไปจนถึงวงการฮิปฮอปที่มีศิลปินแนวทางขบถต่อสังคมรูปแบบที่ไม่ถูกต้องอย่าง F.HERO, Rap Against Dictatorship, Chitswift และแร็ปเปอร์ผู้มีจุดยืนอีกจำนวนมาก เป็นการส่งสาส์นต่อถึงยุคปัจจุบันที่ทุกอย่างหมุนไปอย่างรวดเร็ว จนบางครั้งเราอาจลืมความเป็นไปในสังคม

เรื่องราวที่อยู่ในบทเพลงเพื่อชีวิตมักแฝงความเป็นไปในกระแสสังคมยุคนั้น ๆ เป็นอีกส่วนหนึ่งของการจารึกประวัติศาสตร์หน้าต่าง ๆ ให้ปัญญาชนรุ่นหลังได้รู้จักคืนวันที่ผ่านมาบ้าง

พ.ศ. 2518

นกสีเหลือง คาราวาน

“กางปีก หลีกบิน จากเมือง เจ้านก สีเหลือง จากไป
เจ้าบิน ไปสู่ เสรี บัดนี้ เจ้าชี วาวาย”

บทเพลงเพื่อชีวิตยุคแรก ๆ ที่จารึกประวัติศาสตร์ของเหตุการณ์ ‘14 ตุลา’ พ.ศ. 2516 เอาไว้ นับเป็นแรงปะทะทางการเมืองที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งของประเทศไทย ด้วยปลายปากกาของ วินัย อุกฤษณ์ และถูกบันทึกเสียงอย่างเต็มรูปแบบด้วยวง คาราวาน เพลงแห่งการเรียกร้องเสรีภาพ ประชาธิปไตยของสังคมที่นับวันจะยิ่งถดถอยลงไป จนเกิดการลุกขึ้นสู้ของประชาชน นิสิต นักศึกษา ในยุคนั้น บ้างสู้จนตัวตาย บ้างสู้จนวินาทีสุดท้าย แต่อย่างไรก็ตามเมื่อการปะทะเกิดขึ้น ย่อมมีผู้กล้าที่ยอมสละชีวิต เพลงนี้มีบทพูดตอนกลางเพลงที่กล่าวถึงเหตุการณ์มหาวิปโยคในอดีตท่ามกลางความสูญเสียของสหายฝ่ายประชาชนเพื่อเป็นสิ่งเตือนใจสำหรับสหายที่ยังมีชีวิตอยู่และพร้อมที่จะสู้ต่อไป ภายหลังมีการนำเพลงนี้มาทำใหม่อีกครั้งจากการส่งสาส์นของวงรุ่นใหม่อย่าง Jinta (จินตะ)

พ.ศ. 2519

ถั่งโถมโหมแรงไฟ คาราวาน

“ปฏิวัติโค่นล้มสังคมแบบเก่า ปฏิวัติเพื่อเราประชาชาติไทย
มาร่วมกันดันกงล้อประวัติศาสตร์ สู่เอกราชจริงแท้และสดใส
จับอาวุธถั่งโถมโหมแรงไฟ เพื่อก้าวไกลแห่งสังคมอุดมการณ์…”

อีกบทเพลงในหน้าประวัติศาสตร์ที่พูดถึงการไม่ยอมรับในระบอบที่ไม่เป็นธรรมจากผู้ที่มีอำนาจ เพลงนี้ถูกปล่อยออกมาภายหลังจากเหตุการณ์ วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519  ที่สมาชิก คาราวาน ได้ใช้ชีวิตอยู่ในแนวป่าและเขียนเพลงนี้ขึ้นมาเพื่อบอกเล่าทฤษฎีของการปฏิวัติ ในเนื้อเพลงยังพูดถึงการโค่นจักรวรรดิฟาสซิสต์ (เสมือนเผด็จการในรูปแบบหนึ่ง) และยืนยันการดันกงล้อแห่งประวัติศาสตร์ให้เข้าสู่สังคมรูปแบบใหม่ด้วยการยืนหยัดอยู่บนคำว่า ‘อุดมการณ์’ ไม่ว่าฝ่ายใดจะเป็นผู้กระทำหรือผู้ถูกกระทำ เราขอให้เป็นเครื่องเตือนใจสำหรับทุกฝ่ายในการอยู่ร่วมกันและไม่ควรสร้างแรงปะทะเช่นในอดีตอีกต่อไป ความพิเศษของเพลงนี้คือการบันทึกเสียงกันในแนวป่าและด้วยจังหวะที่เร็วขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงท้ายของเพลง นักดนตรีทุกคนที่มีส่วนร่วมในการบันทึกเสียงต้องอาศัยจังหวะ สมาธิ และ สติ เพื่อส่งเพลงนี้ออกมาสู่สังคม หากฟังดี ๆ ในเพลงจะมีเสียงปืน 1 นัด จากสหายคนหนึ่งที่ออกไปล่าสัตว์เพื่อนมาทำอาหาร ราวกับว่ามีคนเขียนบทไว้ให้เสียงปืนนัดนั้นลั่นไกออกมาในท่อน ‘มือจะกำปืนกล้าประกาศชัย’

พ.ศ. 2519

แด่หนุ่มสาวผู้ร้าวราน จรัล มโนเพ็ชร

เพลงเพื่อชีวิตที่ถูกเขียนขึ้นโดยกวีแห่งล้านนาราชาโฟล์กซองคำเมืองเชียงใหม่ จรัล มโนเพ็ชร ศิลปินที่สร้างบทเพลงตำนานไว้มากมายให้วงการดนตรี ในกระแสสังคมยุคนั้นที่มีวงดนตรีอย่าง คาราวาน เป็นกระบอกเสียงแห่งการร่ำร้องเสรีภาพ ในอีกภาคหนึ่งก็มีเพลงนี้ถูกเขียนขึ้นมาเพื่อเตือนใจหนุ่มสาวที่ทะเลสังคมกำลังกลืนกินอิสรภาพของพวกเขาเข้าไปทีละนิด จากอำนาจหรือจุดประสงค์บางอย่างที่ยากจะต้านทาน เป็นการเล่าห้วงเวลาที่มืดมิดสิ้นไร้หนทางของสภาวะเหตุการณ์บ้านเมืองส่งผลโดยตรงต่อประชาชน

ในเวลาที่ดวงใจหดหู่ จะได้ใครมาดูมาบอกทาง
คนจนคนรวยย่อมจะมีช่องห่าง ที่เคลือบครางแคลงใจและด่างดำ” 

เนื้อเพลงที่อัดแน่นไปด้วยอารมณ์ความเศร้า พร้อมกับเสียงของ จรัล มโนเพ็ชร ยิ่งสะท้อนให้เห็นความยากลำบากในการมีชีวิตอยู่แต่สุดท้ายแล้วอุปสรรคคือความท้าทายของผู้มีปัญญา มาเพื่อให้ก้าวข้ามผ่าน และจงอย่าถูกสิ่งใดกลืนกินความเป็นตัวเองลงไป เพลงนี้ถูกเอามาร้องโดยหนึ่งตำนานนักร้องหญิงโฟล์กซองเชียงใหม่ สุนทรีย์ เวชานนท์ และ ภายหลัง อาจารย์ไข่ มาลีฮวนน่า หยิบมาร้องในโปรเจกต์ ยรรโฟล์ค #1

พ.ศ. 2526

เดือนเพ็ญ อัศนี พลจันทร (นายผี, สหายไฟ) 

เพลงเพื่อชีวิตอมตะที่เขียนขึ้นมาโดย อัศนี พลจันทร หนึ่งสหายแห่งยุคมหาวิปโยคที่ต้องพลัดพรากจากบ้านไปไกล จนความห่างไกลอ้อมกอดของบ้านเกิดออกไปเรื่อย ๆ ได้สรรสร้างบทเพลงแห่งความคิดถึงนี้ขึ้นมาจนเข้าไปจับในหัวใจของคนได้ทุกยุคสมัยมาจนถึงปัจจุบัน ในตอนแรกเพลงนี้มีชื่อของตัวเองว่า ‘คิดถึงบ้าน’ และได้ น้าหมู—พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ นำเพลงนี้ออกมาจากป่า ถูกบันทึกเสียงครั้งแรกกับวง คาราวาน ในปี พ.ศ. 2526 ซึ่งเป็นการเรียบเรียงตามต้นฉบับอย่างตรงไปตรงมา จนในปีต่อมาวง คาราบาว ได้นำเพลงนี้ขึ้นมาเรียงเรียงใหม่ มีการสลับท่อนร้องเล็กน้อยเพื่อให้เกิดความลื่นไหลในดนตรี และปี พ.ศ. 2527 นี้เอง ชื่อ ‘เดือนเพ็ญ’ จึงถือกำเนิดขึ้นและเป็นเพลงเพื่อชีวิตแห่งทศวรรษเลยทีเดียว ภายหลังมีการนำเพลงนี้กลับมาเรียบเรียงและเล่นสดอีกหลายครั้ง เช่น เสก โลโซ, อัสนี วสันต์ โชติกุล, โจ้ Pause และศิลปินอีกมากมาย

“เดือนเพ็ญ สวยเย็นเห็นอร่าม นภาแจ่มนวลดูงาม
เย็นชื่นหนอยามเมื่อลมพัดมา แสงจันทร์นวลชวนใจข้า
คิดถึงถิ่นที่จากมา คิดถึงท้องนาบ้านเรือนที่เคยเนา”

พ.ศ. 2527

นางงามตู้กระจก คาราบาว

“ทอดถอนใจให้คำนึง หวังวันหนึ่งให้ผ่านไป
ร่างของเธอปรนเปรอชาย ด้วยดวงใจแหลกเหลวระบม”

เพลงดังจากวง คาราบาว ในอัลบัม เมด อิน ไทยแลนด์ ที่ถูกขับร้องโดย เทียรี่ เมฆวัฒนา หนึ่งในสามแกนหลักของวงที่มีน้ำเสียงนุ่มลึกเอกลักษณ์เฉพาะตัว แม้ว่าเพลงนี้จะมีเมโลดี้สวย ๆ เสียงกีตาร์หวาน ๆ แต่เนื้อหานั้นแฝงไปด้วยความเจ็บปวดในเรื่องราวของอาชีพที่ไม่มีทางเลือก ถูกสังคมดูถูก แม้ว่าจะเป็นอาชีพที่หลายคนมองว่าสบายแต่ไม่มีใครสัมผัสได้เลยว่าในใจพวกเขาจะมีแผลแห่งความเจ็บปวดขนาดไหน ในยุคเปลี่ยนผ่านจากกระแสสังคมที่รุนแรง การเมืองที่ดุเดือดเพิ่งผ่านพ้นไป เพลงนี้คือบทใหม่ในแนวทางเพื่อชีวิตที่ถูกตีแผ่ด้วยการหยิบจุดมืดบอดในสังคมมาเล่าให้ผู้คนได้ยินน้ำเสียงของความเจ็บปวด ยังมีอีกหลายบทเพลงในยุคนี้ที่เสียดสีสังคมได้อย่างเจ็บแสบและหันมามองมุมเล็ก ๆ ในชีวิตของความเป็นมนุษย์บ้าง เรามองว่าเพลงนี้ค่อนข้างชัดเจนในการส่งต่อยุคสมัยของดนตรีแนวนี้

พ.ศ. 2530

เรียนและงาน พงษ์สิทธิ์ คำภีร์

ศิลปินเพื่อชีวิตรุ่นน้องที่รับไม้ต่อมาจากวง คาราบาว เขียนเพลงด้วยการตีแผ่ชีวิตความเป็นไปในสังคม หยิบจับเรื่องราวความเศร้า ความไม่เท่าเทียมกัน มาเล่าด้วยน้ำเสียงสุดดุดัน ชายที่ชื่อ พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ คือต้นฉบับของนักดนตรีสายเพื่อชีวิตในปัจจุบันที่ได้รับการยอมรับอย่างเต็มภาคภูมิ เรียนและงาน เล่าถึงชีวิตที่ต้องพรัดพรากจากบ้านเกิดเพื่อมาไขว่คว้าโอกาส ณ ใจกลางมหานครที่ผู้คนต่างนิยามคำว่า ‘ศิวิไลซ์’ กำกับเอาไว้ แต่ความเป็นจริงกลับสวนทางกับภาพฝันในวัฏจักรการแก่งแย่งแข่งขัน บทชีวิตในรั้วการศึกษาที่ไม่สามารถเลือกทางเดินได้ ถูกชี้นิ้วสั่งจากบุคคลที่มีอำนาจเหนือกว่า บากบั่นเพื่อเอาใบปริญญาหวังเป็นใบเบิกทางในการเลี้ยงปากท้อง ข้ามผ่านไปจนวันวัยที่ต้องเข้าสู่ระบบการทำงาน ก็ยังเกิดการแบ่งแยกชนชั้น คนขยันไม่ได้ดี คนได้ดีกลับเป็นคนเอารัดเอาเปรียบ สุดท้ายแล้วความเจริญก้าวหน้าที่แท้จริงจะเกิดขึ้นได้อย่างไร..คงเป็นคำถามที่ไม่มีคำตอบหากระบบที่ผุพังจากข้างในยังคงถูกดำเนินไปด้วยกลุ่มคนที่หวังแต่ผลประโยชน์  

พ.ศ. 2541

สิ้นเสียงปืน สายัณห์ น้ำทิพย์  

“เสียงปืนที่ดังลั่น ตัวแม่นั้นต้องสิ้นใจ
ลูกน้อยที่กอดไว้ กระดอนไปเพราะแรงปืน
ฝืนใจเข้ากอดแม่ หวังแก้ให้แม่ฟื้น
แม่จ๋า เพราะเสียงปืน จึงไม่คืนชีวิตมา”

สิ้นเสียงปืน บทกลอนจาก สืบ นาคะเสถียร นักอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติตำนานผืนป่าไทย เขียนบทกลอนนี้ไว้ในปี พ.ศ. 2518 ในการประกวดระดับอุดมศึกษาของเขา อุดมการณ์ที่แรงกล้าเพื่อผืนป่าและสิ่งมีชีวิตน้อยใหญ่จากธรรมชาติมอบให้ แต่แล้วเส้นทางแห่งการอนุรักษ์ก็มอบอุปสรรคชิ้นใหญ่มาให้เขา ด้วยระบบต่าง ๆ ที่ไม่เอื้ออำนวย ความกดดันที่ถาโถม ผลประโยชน์ที่ซ่อนเร้น เสียงปืนนัดนั้นจึงดันสนั่นทั่วผืนป่าเป็นวินาทีเดียวกับที่เขาได้จากไป การสละชีวิตของเขาสร้างแรงกระเพื่อมให้กับผู้คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องมากมายให้หันมาสนใจการป้องกันการบุกรุกและอนุรักษ์ผืนป่าห้วยขาแข้งอย่างจริงจัง จนมีคำกล่าวที่ว่า “หากไม่มีเสียงปืนในวันนั้น ก็คงไม่มีการประชุมเพื่อป้องกันการบุกรุกอย่างจริงจังเสียที” สายัณห์ น้ำทิพย์ นำกลอนบทนี้มาใส่ท่วงทำนองและบันทึกเสียงออกมาในโปรเจกต์ ‘ป่าตะโกน’ รวมศิลปินรักษ์ผืนป่าตะวันตก เพื่อรำลึกและแสดงเจตนารมณ์ที่แกร่งกล้าของชายที่ชื่อว่า สืบ นาคะเสถียร

พ.ศ. 2557

ตำรวจ และ แกงไตปลา  YENA 

“พวงหรีดมากมาย ประดับประดาถึงความอาลัย
จะตายที่ใด ด้วยเกียรติยศแบบใด ใช่หรือสำคัญ
เพราะฉันยังคงร้องไห้ต่อไป…”

เพื่อชีวิตยุคใหม่ที่มีเอกลักษณ์ในการทำเพลงและใช้ภาษาที่สวยงาม YENA มักจะหยิบจุดด่างดำในสังคมมาเขียนเป็นเพลงและเล่าให้นักฟังได้เข้าใจในปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ตำรวจ เพลงความหมายสุดเศร้าที่พาเราไปเห็นอีกแง่มุมหนึ่งของชีวิต การจากไปของนายตำรวจคนหนึ่งที่ถูกแต่งแต้มด้วยเกียรติยศมากมาย โลงศพชั้นหรูที่ห่อหุ้มกายเขาไว้และผู้คนที่เดินทางมาเพื่อแสดงความเสียใจ แต่สุดท้ายแล้ว เขาได้ทิ้งลมหายใจสุดท้ายและจากไปอย่างไม่มีวันกลับอยู่ดี เกียรติยศมากมายที่ได้รับมอบมีอะไรที่สำคัญกว่าชีวิตหนึ่งที่ยังต้องดูแลคนข้างหลังอีกมากมาย เมื่อวันเวลาผ่านไปก็หาได้มีใครมาสนใจในสิ่งเหล่านี้ ทิ้งไว้เพียงคราบน้ำตาของคนข้างหลังเท่านั้น 

แล้วนี่เสื้อเกราะสร้างมาเพื่อกันกระสุน
แต่ไม่อาจซับน้ำตาเพียงเศษฝุ่นดินปืน
แล้วผ้าเช็ดหน้าสร้างมาเพื่อซับน้ำตา
แต่กี่ผืนล่ะจะซับเวลาทั้งหมดของสงคราม”

หลังจากฟังเพลง ตำรวจ จบพาลให้เรานึกถึง แกงไตปลา อีกหนึ่งเพลงที่พวกเขาเขียนขึ้นมาเพื่อตั้งคำถามกับสังคมว่าการ เข้าปะทะในสนามสงครามนั้นคือทางออกจริง ๆ รึเปล่า? ทหารชั้นผู้น้อยที่ถูกชี้นิ้วสั่งให้ออกไปรบราฆ่าฟันเช่นเดียวกันกับผู้น้อยฝ่ายตรงข้าม ความสูญเสียไม่ได้เกิดขึ้นกับผู้สั่งการแต่อย่างใด ทุกการเหนี่ยวไกปืนออกไปคือการหวังจะปลิดชีพของใครสักคน ไม่เขาก็เราที่ต้องตาย หากเขาตาย คนข้างหลัง ครอบครัว ของเขาจะได้ผลกระทบนี้ไปตลอดกาล เช่นเดียวกันกับเราถ้าหากต้องเป็นผู้ถูกปลิดชีวิตเหลือทิ้งไว้เพียงชื่อที่ถูกประดับยศในร่างไร้วิญญาณ เมื่อไหร่กันที่สงครามจะจบลง? เราจะยื่นสันติภาพให้แก่กันได้วันไหน? ต้องใช้อีกกี่การสูญเสียสิ่งเหล่านี้ถึงจะเกิดขึ้น? 

พ.ศ. 2561

ประเทศกูมี Rap Against Dictatorship

ถึงวันหนึ่งที่เพลงเพื่อชีวิตนั้นไม่ได้มีภาพลักษณ์ที่เป็นวงดนตรีสุดเซอร์ สะพายกีตาร์ ที่มาพร้อมกางเกงยีนส์อีกต่อไป ประเทศกูมี เพลงที่โด่งดังอยู่ในช่วงเวลาหนึ่งกับบรรยากาศการเมืองนั้นเร่าร้อน การรวมตัวกันของแร็ปเปอร์หลากชีวิตที่ใช้ AKAในเพลงนี้จิกกัดอดีตที่บอบช้ำมาจนถึงความล้มเหลวในยุคปัจจุบัน แสดงให้เห็นถึงคนรุ่นใหม่ที่ไม่ยอมให้อำนาจมากดความคิดและความถูกต้องที่ควรจะเป็นเอาไว้ ไม่ใช่ยุคที่ผู้ใหญ่จะมาชี้นิ้วสั่งเพียงเพราะคำพูดที่ว่า ‘อาบน้ำร้อนมาก่อน’

เพลงนี้หยิบเรื่องราวที่เป็นประเด็นร้อนมาเล่า เสียดสี และแทงใจของผู้ที่สร้างความอยุติธรรมขึ้นมาในสังคม แต่แล้วก็ไม่วายจะโดนกระแสโจมตีจากอีกขั้วอำนาจ แต่นั่นอาจเป็นความคิดที่ผิด ปัจจุบันโลกออนไลน์เข้าสู่มือของทุกคนได้อย่างง่ายดาย ยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ เพลงนี้ดังเป็นพลุแตกจนปัจจุบันแตะ 78 ล้านวิว ไปเรียบร้อย เรารอดูการเปลี่ยนผ่านของช่วงเวลาว่าวัยรุ่นยุคใหม่จะช่วยกันสร้างสิ่งดี ๆ ต่อสังคมได้มากน้อยเพียงใด ขอให้ไม่ผุพังอย่างที่ผ่านมาก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่น่าสนใจ เพียงเวลาเท่านั้น..

พ.ศ. 2561

หลงทาง CHITSWIFT feat. ลุงเจต

“เพราะชีวิต แม่งต้องดิ้นเพื่อให้หลุดรอด
ต้องเหยียบหัวคนอื่นจนไปถึงสุดยอด
หน้าที่การงาน ให้กันแบบตกทอด
สังคมเคยน่าอยู่ ตอนนี้แม่งหมดมอด”

CHITSWIFT แร็ปเปอร์ที่มีจุดยืนการทำเพลงเล่าและตั้งคำถามถึงสังคมที่บิดเบี้ยว ปี พ.ศ. 2561 เขาปล่อย หลงทาง ออกมาเล่าถึงชีวิตที่ต้องเจอกับสภาวะความไม่เท่าเทียม ความล้มเหลวของบ้านเมืองที่มีแต่ผู้คนคอยหวังผลประโยชน์ ความต้องการของตนเองอยู่เหนือความเป็นไปของสังคมที่ดี มีสักกี่คนที่ลุกขึ้นมาแก้ไขอย่างจริงจัง นอกจากจะทำดีเพื่อเอาหน้าเท่านั้น พร้อมกับวิถีชีวิตของคนธรรมดาที่ถูกกักขังด้วยการต้องหาเงินเลี้ยงชีพแต่สุดท้ายภาษีที่เสียไปก็ไม่ได้มีอะไรที่ดีกลับมา ผู้คนมากมายที่หาเป้าหมายชีวิตไม่เจอเพราะต้องเข้าไปอยู่ในระบบที่ตัวเองไม่สามารถปฏิเสธได้ จนวันหนึ่งที่การเดินหลงทางกลายเป็นเรื่องปกติ สุดท้ายก็แค่ถอนหายใจและบอกกับตัวเองว่า ‘ช่างแม่ง..’ เราจะให้เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นอีกนานแค่ไหน ต้องถามไปถึงระบบภาพใหญ่ที่คอยจำกัดทุกสิ่งอย่างจนหลายปากท้องต้อง ‘หลงทาง’

พ.ศ. 2562

Amazing Thailand TaitosmitH

สุดยอดวงเพื่อชีวิตยุคใหม่ที่แทบจะมาแรงที่สุดในตอนนี้ วงที่ระเบิดอารมณ์ความบอบช้ำ ความไม่เข้าใจ จนถึงอาการบาดเจ็บจากความเหลื่อมล้ำที่สะสมมาลงไปในเพลง Amazing Thailand เล่าถึงความพ่ายแพ้ของสังคมที่ชอบหมกปัญหาไว้ใต้พรมจากอดีตสู่ปัจจุบันก็ยังมีเพลงเพื่อชีวิตรูปแบบนี้ออกมาให้เราได้ฟังกันเรื่อย ๆ นั่นคืออีกนัยยะหนึ่งที่บอกเราได้ว่าปัญหาเหล่านี้ไม่เคยถูกแก้ไขอย่างจริงจังเสียที มันไม่เคยหมดไป จนวันหนึ่งความอัดอั้นนั้นถูกระเบิดออกมา ‘โลกมันไม่ได้พังเพราะคนไม่ดีหรอก มันพังเพราะคนที่ไม่ทำอะไรเลยต่างหาก’ นี่คือที่มาของเพลงนี้ การบอกเล่าอย่างมีชั้นเชิง จิกกัดได้เจ็บแสบ เชื่อว่าบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเหล่านี้ได้ฟังเมื่อไหร่ ต้องปวดแสบปวดร้อนกันบ้าง

“บ้านที่เคยสวย กลับพังทลายเพราะใจคน
คนดีกลับจนลง ส่วนคนเลวกลับยิ่งใหญ่
ประชาชนดั่งโดนข่มขืน คงต้องกล้ำกลืนกันต่อไป
นี่สินะเมืองไทย ไทยแลนด์ดินแดนมหัศจรรย์”

พ.ศ. 2563

ยุติ-ธรรม — TaitosmitH

“โถ่เอ๊ย..เมื่อโลกใบนี้ไม่สมประกอบ
เพราะว่ามีบางคนชอบเอาปรงเอาเปรียบคนจน
โถ่เอ๊ย..คงจะทำได้เพียงแค่บ่น
เมื่อความเป็นจริง ความเป็นธรรม ความเหลื่อมล้ำ
ความเป็นคน มันอยู่ที่คนข้างบนจะใช้”

เพลงใหม่แกะกล่องเวอร์ชันล่าสุดจาก TaitosmitH คนดีคนเดิม ที่ใช้เป็นเพลงประกอบภาพยนตร์ ‘คืนยุติ-ธรรม’ แม้ว่าตอนนี้ยังไม่ปล่อย master ออกมาให้เราได้ฟังกัน แต่จากที่ฟังในคลิปการแสดงสดวันเปิดตัวภาพยนตร์ เพลงนี้ยังคงนำประเด็นระหว่างชนชั้นที่เกิดขึ้นในสังคมไทยมาอย่างยาวนานมาเล่าอีกครั้ง ราวกับเป็นการส่งเสียงไปสู่คนที่วางแนวทางระบบนี้ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรขึ้นมาบ้าง เพลงนี้ยังมีกลิ่นที่ให้ความรู้สึกเหมือนย้อนกลับไปฟังเพื่อชีวิตยุครุ่งเรืองอย่าง คาราบาว อีกด้วย เรารอคอยการเปลี่ยนแปลงที่หวังว่าจะเกิดเขึ้นอยู่เสมอ อย่างน้อยให้การเหลื่อมล้ำทางชนชั้นลดช่องว่างลงมาบ้าง ให้เกิดการลืมตาอ้าปากของคนข้างล่างที่ควรจะมีรูปแบบชีวิตที่ดีขึ้น อย่าให้ถึงขั้นต้องกดดันกันจนมีชีวิตที่จนตรอก ส่วนคนมีเงินก็สุขสบายแต่เพียงฝ่ายเดียว หวังว่าจะได้ฟังเพลงนี้แบบเต็ม ๆ ในเร็ววัน

บทสุดท้าย…

ความเปลี่ยนแปลงในประเด็นของ ‘เพลงเพื่อชีวิต’ ที่เห็นได้ชัดจากยุคสู่ยุค จากการเมือง มาสู่ความยากลำบากของการดำรงชีวิต จนถึงเวลาหนึ่งก็วนกลับไปสู่เพลงที่เสียดสีการเมือง สังคมที่เหี่ยวเฉา อีกครั้ง สุดท้ายแล้วจากอดีตสู่ปัจจุบันประวัติศาสตร์ที่ถูกจารึกไว้ด้วยบทเพลงเพื่อชีวิต ก็ยังคงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ในเมื่อกลุ่มคนที่พยายามจะเปลี่ยนแปลงยังมีการส่งไม้ผลัดต่อให้คนรุ่นใหม่ได้เรียกร้องเสรีภาพและความยุติธรรมกันไปตามยุคสมัย ฝ่ายที่ทำให้ระบบส่วนรวมผุพังก็ส่งไม้ต่อจากรุ่นสู่รุ่นได้เช่นกัน ปัญหาที่ถูกมองข้ามยังคงดำเนินไปอย่างไม่มีเส้นชัยและจุดจบ ต้องอาศัยแต่เพียงเวลาและพลังการศึกษาที่หลอมรวมให้ประกายไฟแห่งความหวังเกิดขึ้นกับคนรุ่นใหม่อย่างมากพอที่จะเปลี่ยนแปลงได้ในสักวัน หวังว่าทุกอย่างจะดีขึ้นและปัญญาชนทุกคนจะลุกขึ้นมาช่วยเก็บกวาดซากปรักหักพังที่ซุกซ่อนอยู่ใต้พรมอันสวยหรูนี้ออกไปเสียที..

ขอให้ปลอดภัยเสมอ เพื่อวันข้างหน้าที่เบิกบานสำหรับทุกคน

อ่านต่อ

11 เพลงเพื่อชีวิตสมัยใหม่ หลากหลายแนวดนตรีล้วนสะท้อนชีวิตได้
เพลงเพื่อชีวิตจากป่าเขา สะท้อนเรื่องราวชีวิตคนยุคปฏิวัติ
Facebook Comments

Next:


บ็อบ รักเพลงโฟล์ก พอ ๆ กับชอบกินกาแฟดำไม่ใส่น้ำตาล วงนั่งเล่น กับ Boy Imagine คืออาจารย์ ดูอาร์เซน่อลเตะเวลาฟอร์มดี ชอบอ่านหนังสือแปลจากญี่ปุ่นกับจีน ตอนเช้ากินกาแฟ กลางวันกินกะเพรา ตอนเย็น อะ! กินเหล้ากัน