Article Guru

ศิลปินเพลงคัฟเวอร์ ตอนที่ 1: คัฟเวอร์เพลงสู่หนทางศิลปิน

  • Writer: Piyapong Muenprasertdee

หน้าปกฟังใจซีนเดือนนี้ (สิงหาคม 2558) ประกอบไปด้วยศิลปินสาวหลายท่านที่เริ่มต้นเส้นทางนักดนตรีมาจากการเล่นเพลงคัฟเวอร์ในแบบฉบับของตัวเอง อัพโหลดขึ้น YouTube จนเกิดการแชร์ต่อ ๆ กัน ทำให้มีแฟนเพลงมากขึ้น จนเริ่มเสนอเพลงที่ตัวเองแต่งเองบ้าง หรือได้รับการติดต่อให้เป็นศิลปินในค่ายเพลงบ้าง ซึ่งจากตัวอย่างเหล่านี้ ทำให้เราเข้าใจได้ว่าการคัฟเวอร์เพลง เป็นหนทางหนึ่งที่จะเพิ่มโอกาสในการกลายเป็นศิลปินได้ในที่สุด ในตอนนี้ เราจึงอยากนำเสนอเรื่องราวบางอย่างที่น่าสนใจเกี่ยวกับการคัฟเวอร์เพลงให้ได้อ่านกัน

ศิลปินหลายๆท่าน ทั้งไทยและต่างประเทศ เรียกได้ว่าแจ้งเกิดจากการเล่นเพลงคัฟเวอร์แล้วเผยแพร่ทาง YouTube เลยก็ว่าได้ ยกตัวอย่างกรณีที่ค่อนข้างเป็นที่รู้จัก ก็อย่างเช่น Room39 ที่คัฟเวอร์เพลง  “เข้ากันไม่ได้” ของวง Synkornize จนได้เข้าร่วมกับ LOVEis และมีผลงานของตัวเองอย่างเพลง “หน่วง” และ แป้งโกะ ที่ได้เป็นนางเอก MV เพลง “เบา เบา” ของ Singular และอัดเวอร์ชันคัฟเวอร์ของเพลงนี้ และอีกหลาย ๆ เพลงเผยแพร่ทางช่อง YouTube ของเธอเอง จนกลายเป็นเน็ตไอด้อล และได้รับการทาบทามไปอยู่ค่าย Believe Records สำหรับฟังใจซีนฉบับนี้เราได้สัมภาษณ์ นักร้องที่มีชื่อเสียงในการเล่นเพลงคัฟเวอร์อัพโหลดขึ้น YouTube เช่นกัน

การคัฟเวอร์เพลงที่มีชื่อเสียง ดูจะเป็นวิธีการที่ช่วยทำให้ดังได้ง่าย แต่ก็ต้องมีคุณสมบัติหลายๆอย่างประกอบกัน จึงจะเกิดความมีชื่อเสียงได้ เช่น หน้าตาดี เสียงร้องมีเอกลักษณ์ มีการเรียบเรียงเพลงใหม่ให้ดูน่าสนใจ คุณภาพการถ่ายทำวีดีโอดี หรือมีการประกวดแข่งขันที่ออกสื่อด้วย เพราะฉะนั้น เราขอนำเรื่องการคัฟเวอร์เพลงมาเขียนในเชิงวิเคราะห์กันในคอลัมน์เห็ดกูรูเดือนนี้กัน

เพลงคัฟเวอร์ มีมานานแล้ว

ถ้าจะถามผู้เขียนว่าเพลงคัฟเวอร์มีมานานแค่ไหนแล้ว ผู้เขียนก็คงตอบว่าน่าจะมีมาตั้งแต่ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ ที่มนุษยชาติเริ่มร้องรำทำเพลงนั่นแหละ คือถ้ามีคนหนึ่งเกิดแต่งเพลงและร้องออกมาแล้วมีคนอื่นชอบ เขาก็เอาไปร้องต่อๆกัน ถือว่าเป็นการคัฟเวอร์รูปแบบแรกก็ว่าได้

เพลง Whiskey in the Jar เป็นเพลงพื้นเมืองของประเทศไอร์แลนด์ ที่คาดการณ์ไว้ว่าน่าจะมีการแต่งและร้องต่อๆกันมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 และได้รับการคัฟเวอร์และรีอาเรนจ์โดยศิลปินหลายต่อหลายท่านด้วยกัน ดังอธิบายไว้ในนี้ https://en.wikipedia.org/wiki/Whiskey_in_the_Jar โดยเวอร์ชั่นที่เห็นอยู่นี้แสดงโดยวง Metallica

เพลงที่ร้องต่อ ๆ กันมาแต่โบราณ มักจะหาไม่พบว่าใครเป็นผู้แต่ง แต่ในยุคสมัยใหม่ การคัฟเวอร์ (cover) หรือรีอาเรนจ์ (rearrange) ซึ่งหมายถึงการเรียบเรียงเพลงใหม่ให้มีสไตล์ต่างไปจากเดิม มักจะมีการบอกหรือระบุที่มาของเพลง ซึ่งถือเป็นมารยาทที่ดีอีกด้วย เพื่อไม่ให้คนเข้าใจผิดว่าเพลงที่ศิลปินหนึ่งร้อง แท้จริงแล้วเป็นผลงานการสร้างสรรค์ของอีกคนหนึ่ง

5-1

แต่แล้วก็มีหลาย ๆ ครั้ง ที่เพลงเวอร์ชั่นคัฟเวอร์กลายเป็นมีชื่อเสียงมากกว่าเพลงเวอร์ชั่นออริจินัลอีกต่างหาก จนคนเข้าใจผิดว่าศิลปินเจ้าของเพลงเป็นคนไปคัฟเวอร์เพลงของคนที่เป็นศิลปินคัฟเวอร์ซะอีก ยกตัวอย่างเช่น เพลง “ไม่รู้จักฉัน ไม่รู้จักเธอ” ของวงอพาร์ตเม้นต์คุณป้า เป็นที่รู้จักในวงกว้างกว่าในเวอร์ชั่นของ ป๊อป แคลอรี บลาห์ บลาห์ และ ดา เอนโดรฟิน จากการถูกนำไปเป็นเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง “สายลับจับบ้านเล็ก

1. ทำไมการคัฟเวอร์เพลงช่วยทำให้เราดังขึ้นมาได้?

ปรากฏการณ์ Mere-exposure Effect

ในทางจิตวิทยา จะมีปรากฏการณ์ที่เรียกว่า Mere-exposure Effect ที่หมายความว่า คนเรามีแนวโน้มที่จะรู้สึกดีหรือชอบในสิ่งที่พบเห็นบ่อย ๆ ได้ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ คนเรามีแนวโน้มที่จะชอบสิ่งใหม่หากมีความคล้ายคลึงกับสิ่งที่ตัวเองชอบอยู่แล้วนั่นเอง เพราะฉะนั้น การคัฟเวอร์เพลงที่มีชื่อเสียงอยู่แล้ว ทำให้ผู้คนส่วนใหญ่ชอบได้ง่ายขึ้น เนื่องจากพวกเขาชอบเพลงเพลงนั้นอยู่แล้ว

(ข้อมูลบางส่วนค้นคว้ามาจาก http://www.musicthinktank.com/blog/how-cover-songs-can-take-your-music-career-to-the-next-level.html)

คน Google หาเยอะ

สำหรับคำอธิบายในเชิงเทคโนโลยีและโซเชียลมีเดียก็คือ เพลงที่มีชื่อเสียง เป็นเพลงที่คน search หาเยอะอยู่แล้ว ทำให้มาเจอกับเพลงเวอร์ชั่นอื่น ๆ ในชื่อเดียวกันได้ง่าย พอเพลงถูกค้นหามาก ๆ เข้า คนที่ทำเพลงคัฟเวอร์เพลงนั้น ๆ ก็ถูกเห็นมากเช่นกัน ซึ่งถ้าทำออกมาได้คุณภาพที่ดี ก็จะทำให้คนแชร์ต่อได้ง่ายยิ่งขึ้น

5-2

Search engine และโซเชียลมีเดียต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Google, YouTube หรือ Facebook นั้น สามารถช่วยผ่อนแรงเรา ทำให้เราไม่ต้องออกไปหาคนให้เข้ามารู้จักเรามากขึ้น แต่ทำให้เขาค้นหาเราเจอได้ง่ายขึ้น เพราะฉะนั้น หากสามารถที่จะเลือกคัฟเวอร์เพลงที่กำลังดังได้รวดเร็วเท่าไร ก็ยิ่งทำให้คนอื่นค้นหาเราเจอได้รวดเร็วและมากยิ่งขึ้น เป็นการเกาะกระแสความดังของเพลงได้นั่นเอง

2. มีอะไรที่จะช่วยทำให้เราดังกว่าศิลปินคัฟเวอร์คนอื่นๆ?

เอกลักษณ์เฉพาะตัว

สิ่งสำคัญที่ศิลปินดัง ๆ ทุกคนมี ก็คือเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ไม่ซ้ำกับใครมาก่อน และแม้มีคนอื่นเอาไปลอกเลียนแบบตามก็ไม่ดีเท่า

การเป็นศิลปินคัฟเวอร์ก็เช่นกัน หากเล่นเหมือนตัวจริงได้เป๊ะ ๆ คนทั่วไปก็คงไปหาฟังจากตัวจริงมากกว่าจะฟังจากศิลปินคัฟเวอร์ (ยกเว้นบางคนที่ลอกแบบเหมือนอย่างกับแกะจนน่าประทับใจ อย่างเช่น ไมเคิ่น ตั๋ง)

เอกลัษณ์สามารถสร้างได้จากหลากหลายมุมมองด้วยกัน เช่น การออกแบบเสียงร้องที่แตกต่าง การเรียบเรียงเพลงในแนวทางที่ต่างไปจากเพลงออริจินัล การเลือกร้องเพลงของศิลปินที่เป็นเพศตรงข้ามกับตัวเอง การนำเสนอภาพวีดีโอที่แปลกตาน่าสนใจ หรือนำเสนอเพลงด้วยเครื่องดนตรีที่คนไม่นึกว่าจะใช้ได้ ซึ่งอันนี้ก็แล้วแต่คุณแล้วว่าจะนำเสนออย่างไร

คุณภาพเสียงและวีดีโอ

แน่นอนว่าการฟังเพลงที่มีสุนทรียภาพนั้น ก็ควรต้องมีคุณภาพดีพอสมควร และถ้ามีภาพประกอบที่ดี ก็จะช่วยทำให้ประสบการณ์การรับฟังนั้นดีขึ้น เพราะฉะนั้น หากพอมีต้นทุนอยู่บ้าง ก็ควรลงทุนกับการอัดเสียงที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการซื้ออุปกรณ์มาอัดด้วยตัวเอง หรือไปอัดในห้องอัดที่ดีหน่อย ส่วนภาพวีดีโอนั้น จริง ๆ แล้วกล้องมือถือสมัยนี้ก็คุณภาพดีมาก ๆ ขึ้นอยู่กับความสามารถในการผูกเรื่องราว ฝีมือการถ่ายและตัดต่อ หรือหน้าตาที่พ่อแม่ให้มาแต่กำเนิด ซึ่งก็เป็นสิ่งที่เจริญหูเจริญตาผู้คนทั่วไป (อันนี้ก็แล้วแต่บุญแต่กรรมที่ทำมาแต่ชาติปางก่อนนะครับ 555)

บุคลิก รูปร่างหน้าตา และมนุษยสัมพันธ์

บุคลิกและรูปร่างหน้ามักมีส่วนช่วยในการเป็นศิลปินดังอยู่แล้วไม่มากก็น้อย แต่อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญมาก ๆ โดยเฉพาะในสังคมแบบโซเชียลมีเดียในปัจจุบันก็คือ มนุษยสัมพันธ์และการปฏิสัมพันธ์กับแฟนเพลงหรือคนที่เข้ามาฟังเพลงคัฟเวอร์ของเรา บางครั้งคนที่เข้ามาฟังเพลงคัฟเวอร์ของเราก็จะโพสต์คอมเม้นต์วิจารณ์หรือชื่นชม เพราะฉะนั้นก็ควรที่จะมีการตอบกลับไปบ้าง และวิธีการตอบของเราก็จะเป็นสิ่งหนึ่งที่จะทำให้เขารู้สึกประทับใจและอยากเข้ามารับฟังผลงานของเราอีก

3. ทำอย่างไรที่จะผันตัวเองจากศิลปินคัฟเวอร์ ไปเป็นศิลปินออริจินัล?

นำเสนอ Original Content บ้าง ไม่ใช่คัฟเวอร์อย่างเดียว

แทนที่จะนำเสนอแต่เพลงคัฟเวอร์ของคนอื่น ควรนำเสนอ Original Content หมายถึงเนื้อหาที่ทำขึ้นมาใหม่ไม่ซ้ำใครบ้าง เช่น วีดีโอการพูดคุยตอบคำถามแฟนเพลง เล่นหรือแสดงอะไรให้คนดู หรือการนำเสนอเพลงที่เราแต่งขึ้นมาเอง เนื่องจากเราได้สร้างฐานคนฟังคนดูไว้บ้างแล้ว เราก็สามารถที่จะนำเสนอผลงานเพลงของตัวเองได้โดยที่มีกลุ่มคนที่พร้อมจะรับฟังรับชมอยู่บ้าง ซึ่งคงจะเป็นจำนวนที่มากกว่าการนำเสนอเพลงของตัวเองเพียงอย่างเดียวมาตั้งแต่แรก

เผยแพร่สู่ช่องทางใหม่ ๆ

นอกจากการเผยแพร่ผ่านสื่อที่เราควบคุมอยู่แล้ว เช่น Facebook page, YouTube channel หรือ SoundCloud account ของเรา เราควรที่จะหาโอกาสไปยังสื่ออื่น ๆ เช่น การร่วมงานกับศิลปินคัฟเวอร์คนอื่น ๆ เพื่อแลกเปลี่ยนและเพิ่มจำนวนแฟนเพลงของกันและกัน การติดต่อขอทำงานร่วมกับค่ายเพลง หรือการขายเพลงเวอร์ชั่นที่คัฟเวอร์ในที่ต่าง ๆ (ซึ่งวิธีการขายเพลงคัฟเวอร์ที่ถูกต้องนั้น ผู้เขียนจะนำมาเขียนถึงในตอนต่อไป)

ในตอนนี้ เราได้อธิบายวิทยาศาสตร์เบื้องหลังของการใช้เพลงคัฟเวอร์ให้เป็นประโยชน์ในการสร้างชื่อเสียงของตัวเอง เพื่อจะได้กลายเป็นศิลปินออริจินัลได้ต่อไป ในตอนหน้า เราจะมาเขียนถึงว่าทำไมจริงๆแล้ว การคัฟเวอร์เพลงเผยแพร่ทาง YouTube จึงผิดกฎหมาย และวิธีการทำให้ถูกกฎหมายทำได้อย่างไร อีกทั้งการหารายได้จากการทำเพลงคัฟเวอร์ทำได้อย่างไรอีกด้วย

 

Facebook Comments

Next:


Piyapong Meunprasertdee

นักวิชาการอุตสาหกรรมดนตรี รักแมว รักโลก เคยทำงานเป็นนักวิชาการที่ปรึกษาด้านความยั่งยืนและการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโลก (Sustainability & Climate Change) เคยมีวงอินดี้แต่ไม่ประสบความสำเร็จ และจากการที่ไปทำงานในบริษัทเกี่ยวกับดนตรีอินดี้ที่อเมริกา ก็เลยมีความคิดอยากมีส่วนช่วยพัฒนาวงการดนตรีไทยให้มีความแข็งแรงและยั่งยืนยิ่งขึ้น