Article Guru

Daphne Oram อดีตพนักงาน BBC สู่ตัวแม่แห่งดนตรีอิเล็กทรอนิกยุควินเทจ

  • Writer: Montipa Virojpan

It’s a sort of modern magic. We think there’s something in it. Some musicians believe it may become an art form in its own right. — Daphne Oram

อันที่จริงแล้วดนตรีอิเล็กทรอนิกไม่ได้เพิ่งมามีบทบาทเอาตอนปลายยุค 60s หรือดังเปรี้ยงในยุค 80s อย่างที่รู้กันโดยทั่วไป เพราะก่อนหน้านี้ในจักรวาล retro futuristic ที่เทคโนโลยียังไม่ได้ก้าวไกลนักทำให้เป็นจุดเริ่มต้นของหลายสิ่งอย่าง เมื่อผู้คนมีความสนใจใคร่รู้ที่จะออกสำรวจดวงดาวและอวกาศอันไกลโพ้น หรือฝันที่จะมีหุ่นยนต์เป็นเพื่อนในทุกขณะชีวิต  ทำให้คนมีความสนใจที่จะพัฒนาเทคโนโลยีต่าง มากขึ้น รวมถึงนักดนตรีหัวก้าวหน้าบางกลุ่มเองที่ก็จินตนาการถึงดนตรีการบรรเลงดนตรีที่ไม่ต้องใช้มนุษย์หรือเครื่องดนตรี ว่าจะสามารถทำให้เกิดเสียงที่ไพเราะได้ด้วยวิธีไหนบ้าง

เวลานั้นก็มีผู้หญิงตัวเล็ก ที่ชื่อ Daphne Oram กลายมาเป็นผู้บุกเบิกดนตรีอิเล็กทรอนิกทั้งหมดทั้งมวลที่เกิดขึ้นในโลกใบนี้

วันส่งท้ายปี 1925 ตอนนั้นคงยังไม่มีใครรู้ว่าวงการดนตรีกำลังจะได้รับของขวัญชิ้นล้ำค่าที่เปลี่ยนประวัติศาสตร์ไปตลอดกาลจากเด็กหญิง แดฟนี โอแรม ผู้ที่เพิ่งจะลืมตาดูโลก และต้องขอบคุณที่ครอบครัวของเธอส่งให้เรียนในโรงเรียนหญิงล้วนที่มีการสอนเปียโน ออร์แกน และการประพันธ์เพลง จึงทำให้เธอมีความสนใจในศาสตร์ทางนี้ โดยเมื่อจบการศึกษาชั้นมัธยมปลาย แดฟนีได้รับข้อเสนอให้เข้าศึกษาต่อที่ Royal College of Music แต่เธอกลับปฏิเสธและเลือกรับงานในตำแหน่ง Junior Studio Engineer และเป็น music balancer ในสตูดิโอของ BBC เมื่อปี 1942 ซึ่งในการทำงานนี้เองที่ทำให้เธอศึกษาเรียนรู้และพัฒนาความสามารถทางการสร้างเสียงต่าง อยู่เสมอ

หลังจากที่แดฟนีพบว่ามีคนทำสตูดิโอดนตรีอิเล็กทรอนิกในปารีส และไม่นานนักก็มีสตูดิโอแบบเดียวกันเกิดขึ้นมากมายทั่วยุโรป ทั้งในเมืองโคโลน และมิลาน ทำไมในอังกฤษจะมีบ้างไม่ได้ ในระหว่างที่หลายฝ่ายยังไม่เห็นด้วยกับเธอนัก เธอก็ได้เขียนเพลงประกอบละครวิทยุของ BBC ถึงสามเรื่อง (incidental music ที่เป็นพวกเสียงสร้างบรรยากาศหรืออารมณ์ ไม่ใช่ soundtrack) ก็ได้รับเสียงตอบรับที่ดี โดยวิธีการทำคือใช้เทคนิกการตัดแปะเทปต่าง มาเรียงต่อกันแบบที่สตูดิโอในฝรั่งเศสกับเยอรมนีเขาทำกันนั่นแหละ ซึ่งเธอก็ใช้เครื่องไม้เครื่องมือที่หาได้อย่างพวกมิกเซอร์หรือเครื่องบันทึกเสียงในห้องอัดของ BBC และจะต้องทำในเวลากลางคืนเท่านั้นเพราะเป็นช่วงที่สถานีไม่ได้ออกอากาศ และนอกจากนี้เธอก็ได้รับโอกาสให้ทำเพลงประกอบละครและภาพยนตร์ไซไฟอีกหลายเรื่อง แม้กระทั่งภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับผู้ป่วยในโรงพยาบาลจิตเวชก็ยังต้องยืมมือเธอมาทำเสียงประกอบให้ ซึ่งเพลงของเธอจะใช้การสร้างบีตที่จินตนาการมาจากคาแร็กเตอร์ที่ต้องการจะนำเสนอ ทำให้เกิดความสมจริงและเกิดอารมณ์ร่วมมากขึ้น แน่นอนว่านอกจากจะมีความล้ำแล้วก็มีความหลอน อย่างที่เราจะได้ฟังกันในคลิปต่อไปนี้

จากความสำเร็จที่พิสูจน์ฝีมือของเธอมาอย่างต่อเนื่อง ในที่สุดแดฟนีก็ได้รับความไว้วางใจให้ก่อตั้งสตูดิโอ BBC Radiophonic Workshop ได้สำเร็จในปี 1958 แม้จะออกมาในรูปแบบของสตูดิโอทำเพลงประกอบละคร ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่สิ่งที่เธอตั้งใจให้เป็นอย่างในประเทศอื่นเขา แต่จะทำไงได้เมื่อในอดีตผู้คนส่วนใหญ่ไม่คิดว่าผลงานของเธอเป็นบทเพลงมิหนำซ้ำยังมีพนักงานที่คิดว่าเสียงจากเครื่องมืออิเล็กทรอนิกพวกนี้จะส่งผลเสียต่อการได้ยินของผู้ร่วมงาน แดฟนีจึงไม่ทนกับเรื่องงี่เง่าพวกนี้และลาออกจาก BBC ในปีต่อมา

ในช่วงเวลาที่ดนตรีอิเล็กทรอนิกยังมีข้อจำกัดในเชิงเทคนิคและเครื่องไม้เครื่องมือต่าง ก็มีราคาสูง แดฟนีได้สร้างสตูดิโอดนตรีอิเล็กทรอนิกขึ้นมาด้วยตัวเองที่เมืองเคนท์ และเธอก็ได้สร้างเพลงอิเล็กทรอนิกภายใต้ชื่อของตัวเองอย่างเป็นทางการในปี 1960 กับเพลง Four Aspects ที่ได้ทำร่วมกับนักแต่งเพลงอีกคนชื่อ Thea Musgrave ระหว่างนั้นเธอก็รับงานเพลงประกอบหนัง จิงเกิ้ลโฆษณาต่าง ไปพร้อม กัน จนได้รับหน้าที่ทำเพลงประกอบหนังสยองขวัญชื่อ ‘The Innocents’ ในปี 1961 และทำ Electronic Sound Patterns อัลบั้มเสียงสังเคราะห์ชุดแรกออกมาได้สำเร็จในปี 1962 ตามด้วยผลงานสำคัญ อย่าง Pulse Persephone และ Episode Metallic ในปี 1965

ยิ่งไปกว่านั้นเธอก็คิดค้นเครื่องที่เรียกว่า ‘Oramics’ ที่เป็นตัวสร้างระบบซินธิไซเซอร์แบบอะนาล็อกและดิจิทัลตั้งแต่ปี 1955 สมัยที่เธอยังทำงานอยู่ BBC จนสำเร็จพร้อมใช่ในปี 1966 โดยเป็นการเขียนข้อมูลลงบนแผ่นฟิล์มขนาด 35 มม. มาวางเรียงต่อกันให้กลายมาเป็นกราฟฟิกอินเทอร์เฟซที่จะถูกอ่านโดยเซลโฟโตอิเล็กทริก (อยากรู้เป็นไงอ่านต่อที่นี่) ทำให้สามารถแปลงข้อมูลมาเป็นเสียงได้ แต่พอมันเป็นฟิล์มแบน เสียงที่ออกมาก็เลยเป็นโมโนโฟนิกทื่อ เธอเลยต้องทำให้มันกลายเป็นโพลีโฟนิกที่มีมิติมากขึ้นด้วยการสร้างเท็กซ์เจอร์ลงบนฟิล์ม เรียกว่าเป็นซินธิไซเซอร์ตัวแรก ของโลก ก่อนจะหันหลังให้กับงานเชิงพาณิชย์และเขียนหนังสือเรื่อง ‘An Individual Note of Music, Sound and Electronics’ (1972) ตอนนั้นเองที่เธอได้กลายมาเป็นนักทฤษฎีดนตรีอิเล็กทรอนิกอย่างเต็มตัว

แดฟนี โอแรม ในวัย 56 ปี ไม่หยุดเรียนรู้กระบวนการทางเทคโนโลยี เมื่อสมัยนั้นมีสิ่งประดิษฐ์ที่เรียกว่า ‘คอมพิวเตอร์’ ถือกำเนิดขึ้น โดยเครื่องแรกที่เธอได้ใช้มันมาร่วมสร้างสรรค์ผลงานมีชื่อว่า ‘Apple II’ (ใช่ค่ะ แอปเปิ้ลเดียวกันเนี่ยแหละค่ะ) เธอได้ไหว้วานให้ Steve Brett (ที่ไม่ใช่ Steve Jobs) มาร่วมพัฒนาอุปกรณ์อย่างง่ายที่ใกล้เคียงกับ Oramics ที่ต่อมาเธอก็เริ่มศึกษาวิธีการใช้เครื่องนั้นต่อและโปรแกรมมันด้วยตัวเอง ก่อนที่หกปีต่อมาจะย้ายมาสอนวิชาดนตรีอิเล็กทรอนิกที่วิทยาลัย Canterbury’s Christ Church จนถึงปี 1989 เพราะหลังจากนั้นในช่วงกลางยุค 90s เธอต้องประสบกับภาวะอ่อนเพลียจากการที่เส้นเลือดในสมองอุดตันจนต้องพักรักษาตัวเป็นเวลานาน และเสียชีวิตในปี 2003 หลังจากวันเกิดปีที่ 78 ผ่านไปไม่ถึงสัปดาห์

แม้ผลงานส่วนใหญ่ของ แดฟนี โอแรม จะไม่ถูกเผยแพร่ในวงกว้าง แต่เธอนี่แหละคือนักประพันธ์ดนตรีอิเล็กทรอนิกผู้อุทิศเวลาส่วนใหญ่ในชีวิตให้กับการศึกษาเรื่องนี้โดยตรงเป็นคนแรกของอังกฤษ และจากคำร่ำลือหรือสิ่งที่เธอทิ้งไว้ให้กับลูกศิษย์ลูกหา รวมถึงบุคคลต่าง ต่างพร้อมใจกันยอมรับว่าเธอเป็นผู้มีบทบาทสำคัญทางดนตรีในเวลาต่อมาอีกด้วย

อ้างอิง
British Music Collection – Daphne Oram
All Music – Daphne Oram
The Woman Who Could ‘Draw’ Music

Facebook Comments

Next:


Montipa Virojpan

อิ๊ก เนิร์ดดนตรีที่เพิ่งกล้าเรียกตัวเองว่าเป็นนักเขียนตอนอายุ 25 ชอบเดินเร็ว นอกจากขนมปังกับกาแฟดำแล้วก็สามารถกินไอศกรีมกับคราฟต์เบียร์แทนมื้อเช้าได้