Article Guru

Elevator Music เคยสงสัยไหม ทำไมต้องเปิดเพลงในลิฟต์

  • Writer: Montipa Virojpan

*หมายเหตุ บทความนี้ได้แรงบันดาลใจจากการฟังเพลง Sunny Day ของวง Temp. ซึ่งมีท่อนนึงที่ทำให้นึกถึง elevator music ได้อย่างน่าประหลาด

เวลาดูหนังฝรั่งหลาย ๆ เรื่องที่มีฉากขึ้นลิฟต์ จะมีเพลงเปิดคลอเบา ๆ แบบเดียวกันแทบจะทุกเรื่อง เคยสงสัยมั้ยว่าไอ้เพลงประเภทนี้มันมีชื่อเรียกว่าอะไร บทความนี้มีคำตอบมาให้แล้ว

ข้อสันนิษฐานแรกเราจะขอเรียกมันว่าเป็น ‘elevator music’ หรือ ‘เพลงในลิฟต์’ มันตรง ๆ นี่แหละ ถามว่า elevator music นี่มันมีลักษณะแตกต่างกับ bossanova หรือ jazz ที่อื่นยังไง… มันไม่ต่างเลยค่ะ เท่าที่คิดเองเออเองมันคงมีที่มาจากการเปิดเพลงพวกนี้ในลิฟต์จนถูก stereotype ไปแล้ว ข้อพิสูจน์อย่างนึงคือประสบการณ์จริงที่เคยสัมผัสตอนขึ้นลิฟต์ที่โรงแรมแห่งหนึ่งในเมือง Memphis รัฐ Tenessee เขาก็เปิดเพลงแบบนี้เหมือนกัน (ในบ้านเราไม่ค่อยมีเท่าไหร่ อาจจะต้องเป็นโรงแรมที่มีอายุหน่อย หรือต้อง 5 ดาวบวกล่ะมั้ง)

ว่าแต่… มันมีคนเรียกเพลงในลิฟต์ว่า ‘เพลงในลิฟต์’ จริง ๆ เหรอ

ด้วยความสงสัยใคร่รู้ เราเลยเข้าไปใน YouTube เพื่อเสาะหาเบาะแสเบื้องต้น ปรากฎว่า หลังจากพิมพ์คำค้นหา elevator music เข้าไป… เชี่ย! มีมาเป็น 4-5 เพลย์ลิสต์กันเลย ซึ่งส่วนใหญ่มันก็เป็นเพลง jazz, bossanova, easy listening กุ๊งกิ๊งอะไรแบบนั้นทั้งสิ้น แสดงว่าเรามาถูกทางแล้วฮะ

แล้วแบบที่ไม่คิดเองเออเองล่ะ

พอลองเจาะลึกจริงจังขึ้นมาหน่อย เราก็พบว่า เพลงเทือก ๆ นี้จริง ๆ มันเรียกว่า ‘Muzak’ และมีชื่อเล่นว่าเป็น elevator music จริง ๆ ครับผมมมม

Muzak คืออะไร

นางคือชื่อสามัญที่ใช้เรียกเพลงที่เปิดเป็นแบคกราวด์ผ่านลำโพงเสียงตามสายในสถานที่ต่าง ๆ เช่น ห้างสรรพสินค้า สายการบิน ลิฟต์ หรือแม้แต่เสียงรอสายในระบบ call center ซึ่งที่มาจริง ๆ ของมันมาจากชื่อบริษัทที่ให้บริการที่ใช้ชื่อเดียวกัน แต่จุดประสงค์แรกสุดของมันกลับมาจากการใช้งานภายในกองทัพ (เช่นกันกับสิ่งประดิษฐ์หลาย ๆ อย่างในสมัยก่อนที่เกิดขึ้นมาเพื่อใช้ในการสงคราม) โดย พลตรี George Owen Squier ผู้รับหน้าที่ควบคุมดูแลหอส่งสัญญาณของกองทัพช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ต้องการจะหาวิธีส่งเพลงหรือสัญญาณโดยไม่ใช้คลื่นวิทยุที่อาจจะมีคลื่นแทรกรบกวน สามารถส่งเสียงตามสายได้สำเร็จเมื่อต้นยุค 20s ซึ่งในช่วงแรกมีการให้บริการเปิดเพลงตามสายไปยังครัวเรือนโดยคิดค่าบริการไปพร้อมกับบิลค่าไฟของแต่ละบ้าน สะดวกดี จ่ายทีก็สองอย่าง แต่ตอนหลังระบบคลื่นวิทยุก็พัฒนาขึ้นได้ด้วยแหล่งสนับสนุนทุนจากบรรดาผู้ประกอบการที่มาลงโฆษณา จนชาวบ้านก็เปลี่ยนกลับไปฟังวิทยุตามเดิมเพราะไม่ต้องเสียค่าบริการนั่นเอง (แป่ว)

ถึงแม้ว่าธุรกิจของ จอร์จ สไควเออร์ จะถูกขัดลาภ แต่เขาก็ยังมุ่งมั่นในจุดยืนเดิมต่อไป เขาตัดสินใจก่อตั้งบริษัท และตั้งชื่อให้ออกเสียงคล้ายคลึงกับแบรนด์กล้องชื่อดังอย่าง ‘Kodak’ เป็น Muzak (มาจาก music ง่าย ๆ งี้เลยหรอพี่? โอเค ๆ) และเปลี่ยนตลาดไปหาผู้ค้ารายใหญ่ที่พร้อมเหมาจ่ายอย่างร้านค้า ร้านอาหาร หรือออฟฟิศ แทน ตรงนี้จึงสามารถกล่าวได้ว่า จุดแข็งของ Muzak คือ one-stop service แบบ เวลาเปิดเพลงในร้านรวงต่าง ๆ จากวิทยุหรือแผ่นเสียงก็ต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้กับเจ้าของเพลงแต่ละเพลงใช่มะ ซึ่งมันยุ่งยากวุ่นวายมากในสมัยนั้น แต่ถ้าใช้ Muzak ที่ถือครองลิขสิทธิ์ศิลปินทั่วไปอย่างกว้างขวาง แถมยังจ้างนักดนตรีมาอัดเพลงของตัวเองแบบ exclusive สุด ๆ เท่ากับว่า แค่จ่ายให้ Muzak เจ้าเดียวก็คุ้มและสะดวกกว่าเห็น ๆ นี่จึงเป็นไม้ตายที่เอามาสู้รบกับอุตสาหกรรมวิทยุในขณะนั้น

แล้วทำไม Muzak ถึงถูกเรียกเป็น elevator music และทำไม elevator music ส่วนใหญ่ต้องเป็นเฉพาะเพลงแนวนี้ ตอบให้ง่ายที่สุดก็คือ ช่วงนี้เป็นช่วงที่กระแสทุนนิยมในเมืองหลวงทำให้นายทุนพากันสร้างตึกระฟ้าจนผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด ซึ่งการขึ้นตึกมันก็ต้องใช้ลิฟต์ใช่มะ แต่ลิฟต์สมัยนั้นมันไม่ได้ hi-speed แบบทุกวันนี้ จะขึ้นไปชั้นบน ๆ ทีนึงก็ต๊ะต่อนยอน แล้วนึกภาพคนยืนเบียดกันในกล่องแคบ ๆ ช้า ๆ สูง ๆ จะถึงตอนไหนก็ไม่รู้ จะค้างมั้ย จะร่วงลงไปหรือเปล่า มันก็จะเกิดความเจื่อน ความกังวล กันเป็นธรรมดา พี่แกเลยเอาเพลง Muzak มาเปิดในลิฟต์ ซึ่งยุคนั้นเป็นยุคที่เพลงแจ๊ส หรือเปียโนบรรเลงกำลังเฟื่องฟู ก็เปิดฟังแก้เมื่อยกันไปนะคะ

โอ้! ลิฟต์มาละ ยืนรอตั้งนาน ขึ้นลิฟต์แปป…

ต่อมาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 Muzak กลายเป็นสิ่งที่ทำให้พนักงานในบริษัทที่ใช้บริการสามารถทำผลงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความสุขกว่าบริษัทอื่นที่ไม่ใช้ เพราะดูเหมือนว่า Muzak จะใช้เทคนิคที่เรียกว่า ‘Stimulus Progression’ ที่เป็นการกำหนดเวลา 15 นาทีในการส่งเสียงตามสายให้เล่นเพลงช่วงหนึ่งในจังหวะที่เร็วขึ้น มีเสียงของเครื่องเป่าทองเหลืองที่ดังขึ้น และเร้าอารมณ์มากขึ้น จึงทำให้พนักงานเพลิดเพลินไปกับเสียงเพลงจนสามารถทำงานได้เสร็จไวขึ้นด้วย

แต่แล้วในปี 50s คนส่วนใหญ่กลับมีความเชื่อว่าวิธีนี้เป็นกระบวนการล้างสมองของนายจ้าง ให้พนักงานต้องทำงานโดยไม่เป็นธรรม ทำให้ Muzak ต้องขึ้นโรงขึ้นศาลไปไฝว้เลยทีเดียว แต่ถึงกระนั้นแล้ว ข่าวฉาวนี้ก็ไม่ได้ทำให้ความนิยมในการใช้ Muzak ลดลงไปแม้แต่น้อย เพราะในปี 60s มีการรายงานว่าในภารกิจสำรวจอวกาศแต่ละครั้งจะมีการใช้ Muzak ให้นักบินอวกาศได้ผ่อนคลายระหว่างการทำภารกิจ (การเคลื่อนที่ในอวกาศเป็นระยะทางไกล ทำให้รู้สึกเหมือนขึ้นลิฟต์ยุคโบราณนั่นเองล่ะจ้า) แต่ขณะเดียวกันความที่เป็นยุค Baby Boomer ที่เป็นความเฟื่องฟูของวัฒนธรรมคนรุ่นใหม่ (Youth Culture) จึงทำให้แบคกราวด์มิวสิกเหล่านั้นเป็นสิ่งที่น่าเบื่อ เพราะแนวเพลงก็เริ่มมีความหลากหลายและเปิดกว้างขึ้น Muzak จึงต้อง transform ตัวเองให้กลายเป็นเหมือนค่ายเพลงที่ทำแนวเพลงทั่วไปเช่นเดียวกับค่ายเพลงอื่น ๆ ซึ่งตอนหลังก็สู้ไม่ไหวถูกฟ้องล้มละลายไปในปี 2009 นี้เองนาจา

ในแง่สังคมยุคปัจจุบัน คำว่า elevator music กลายเป็น term ของดนตรีบรรเลงที่เรียบทื่อ น่าเบื่อหน่าย แต่ในทางกลับกันนางก็มีอิทธิพลมาก ๆ ในสื่ออเมริกัน ทั้งภาพยนตร์ การ์ตูน พวกฉากที่ต้องการยั่วล้อพฤติกรรมการใช้ลิฟต์ของคน หรือทำให้ดูขบขันผิดธรรมชาติอย่างที่เกริ่นไว้ในตอนต้นนั่นเอง

จะว่าไป ถ้าได้ขึ้นลิฟต์ที่ไหนที่มีเพลงพวกนี้เปิดคลอ มันก็ทำให้อารมณ์ดีอย่างที่เขาว่าไว้จริง ๆ นะ

 

ที่มาของข้อมูล

http://mentalfloss.com/article/28274/muzak-history-background-story-background-music
http://daily.redbullmusicacademy.com/2012/09/history-of-muzak

 

Facebook Comments

Next:


Montipa Virojpan

อิ๊ก เนิร์ดดนตรีที่เพิ่งกล้าเรียกตัวเองว่าเป็นนักเขียนตอนอายุ 25 ชอบเดินเร็ว นอกจากขนมปังกับกาแฟดำแล้วก็สามารถกินไอศกรีมกับคราฟต์เบียร์แทนมื้อเช้าได้