K-House

Article Guru

K-House (ไม่ใช่ K-Pop ไม่ใช่ K-Hop) คลื่นลูกใหม่ที่สะเทือนดนตรีอิเล็กทรอนิกโลก

  • Writer: Montipa Virojpan

ช่วงปีสองปีที่ผ่านมา กลุ่ม 88 Rising ที่รวมศิลปินหน้าใหม่สายเลือดเอเชียนเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น พร้อมกับการเปิดตัว Yaeji สมาชิกใหม่ของกลุ่มอย่างเป็นทางการ โดยทุกคนรู้จักเธอในฐานะโปรดิวเซอร์เพลงเฮาส์ ดีเจ และแร็ปเปอร์เชื้อสายเกาหลีที่น่าสนใจที่สุดคนหนึ่งในคลับซีนของอเมริกา และในเวลาไล่เลี่ยกันก็มีโปรดิวเซอร์และดีเจเกาหลีใต้ที่ชื่อ Peggy Gou มาทำให้สายเทคโน/เฮาส์ตกหลุมรักด้วยเซ็ตสนุก กับลุคเท่ ของเธอ หรือถ้าใหม่ล่าสุดก็คือการแชร์เพลงของสาวหน้าเด๊ด Park Hye Jin ทั่วอินเทอร์เน็ตที่ทำให้เรากลับมานั่งสังเกตว่า ตอนนี้อาจจะกำลังเป็นขาขึ้นของ K-House ก็ได้นะ

อะไรที่ทำให้ K-house น่าสนใจ

นี่เป็นคำถามที่เราก็สงสัยอยู่เหมือนกัน แต่จากที่วิเคราะห์ดูแล้วเรามองว่าในช่วงเวลาสิบกว่าปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมเกาหลีมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ซีรีส์ อาหาร ไปจนถึงบอยแบนด์และเกิร์ลกรุ๊ปที่ขยันมาตีตลาดและโกยแฟนเพลงกลับไปได้จำนวนมหาศาล ทั้งยังเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของเกาหลีใต้เจริญเติบโตขึ้นแบบก้าวกระโดด ซึ่งไม่ใช่แค่ในภูมิภาคเอเชียอย่าง จีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น หรือไทย แต่ฝั่งยุโรปและอเมริกาก็คลั่งเกาหลีไม่แพ้กัน (อย่างที่รู้ว่าอเมริกามี Korean American อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก หรือล่าสุดคือการที่ BLACKPINK ได้เป็นหนึ่งในไลน์อัพของเทศกาลดนตรียักษ์ใหญ่อย่าง Coachella)

แต่เมื่อสังคมได้รับวัฒนธรรมกระแสหลักมาจนคุ้นเคยและรู้สึกอิ่มตัวกันสักพักนึงแล้ว ก็ย่อมทำให้เกิดวัฒนธรรมกระแสรองขึ้นมา คล้าย กับทุกที่ในโลกที่มีวงดนตรี ค่ายเพลงอิสระ หรือภาพยนตร์นอกกระแสที่อาจเกิดขึ้นมาเพื่อต่อต้านระบบทุนหรือค่ายยักษ์ใหญ่ที่ผูกขาดธุรกิจบันเทิง หรือเพียงต้องการสร้างทางเลือกใหม่ที่ไม่จำเจให้กับผู้เสพกลุ่มอื่น เท่านั้น ดังนั้นผลพลอยได้จึงมาตกอยู่ที่ผู้บริโภคที่มีอะไรแปลกใหม่และหลากหลายให้ได้ลิ้มลองกันอยู่ทุกขณะ

ฝั่งธุรกิจบันเทิงของเกาหลีใต้ในพักหลังมานี้ เราก็ได้ดูภาพยนตร์อิสระคุณภาพหลาย เรื่อง ตั้งแต่ ‘Come Rain, Come Shine’, ‘Mother’, ‘Burning’ หรือวงดี ทั้งหลายอย่าง Hyuk Oh, The Black Skirts, Invisible Fish, Standing Egg ทำแนวเพลงที่แตกต่างโดยสิ้นเชิงจาก K-pop หรือ K-hiphop กระแสหลักที่เรารู้จักกัน (ส่วนใหญ่แล้วก็เป็นเพลงที่ทำออกมาในพื้นฐานดนตรีอิเล็กทรอนิกทั้งสิ้น) แต่ก็ไม่ปฏิเสธว่าเพราะสายหลักนั่นแหละที่ทำให้เราได้รู้จักซีนเกาหลี และหันมาหาตัวเลือกอื่น  จากบ้านเดียวกับเขาที่เหมาะสมกับรสนิยมของเราได้มากขึ้น

อย่างที่บอกว่าเราเริ่มทำความรู้จักกับ underground dance music หรือคลับซีน เลยทำให้ได้ค้นพบว่าศิลปินแนวนี้ของเกาหลีเขาก็มีดีไม่น้อยเหมือนกัน และจากที่เอ่ยชื่อแต่ละคนขึ้นมาก็พบว่า สิ่งที่ทำให้ K-house น่าสนใจคือทุกคนใช้การผสมรวมอัตลักษณ์ท้องถิ่นเข้ากับดนตรีตะวันตกได้อย่างลงตัวและมีความเฉพาะตัวทั้งสิ้น ที่เห็นได้ชัดที่สุดคือการมีภาษาเกาหลีอยู่ในเพลง เลยเหมือนเป็นความคุ้นชินที่แปลกใหม่ ทำให้ไม่เคอะเขินจนเกินไปที่จะลิ้มลอง

สองแม่ K-house

ไหน ๆ เล่าความรุ่งเรืองของยุคเขาแล้วก็ต้องพาไปทำความรู้จักกับคนในซีนเขาหน่อย เริ่มตั้งแต่ Peggy Gou ศิลปินวัย 28 ปีที่น่าจะเป็นคนแรก ที่ทำให้เราได้รับรู้ถึงการมีอยู่ของดีเจและโปรดิวเซอร์จากเกาหลีใต้ ก่อนที่จะผันมาเป็นดีเจเต็มตัว เธอเรียนอยู่ที่ London College of Fashion และเริ่มทำเพลงบ้างแล้ว เป้าหมายของเธอตอนนั้นคือจะต้องเป็นผู้หญิงเกาหลีคนแรกและเป็นคนที่อายุน้อยที่สุดที่ได้ไปเล่นที่ Berghain ให้ได้ ซึ่ง Berghain คือไนต์คลับสำหรับเพลงเทคโนและเฮาส์ที่โด่งดังที่สุดแห่งหนึ่งของโลกซึ่งอยู่ที่เบอร์ลิน และเธอก็ทำได้อย่างที่ตั้งใจโดยไปเล่นที่ Panorama Bar ซึ่งอยู่ชั้นสองของคลับ

“ฉันแค่มีความเชื่อว่าอะไรก็เป็นไปได้หมด ขึ้นอยู่กับตัวคุณเองและวิธีที่คุณจะพาตัวเองไปสู่สิ่งนั้นยังไง ฉันรู้ว่าฉันทำอะไรได้ดี แต่ที่สำคัญที่สุดคือต้องรู้ว่าทำอะไรได้ไม่ดีและต้องพัฒนาจุดนั้นด้วย บอกเลยว่าหัวใจสำคัญที่ทำให้ฉันมาอยู่ในจุดนี้ได้คือการรู้จักตัวเองดีพอ”

ในปี 2016 เธอได้ปล่อย EP ออกมาถึง 4 ชุด เด็ดดวงทั้งแทร็คเฮาส์และเทคโน แล้วในชุดแรก Art of War เธอก็ใส่กลิ่นอายของดนตรีพื้นบ้านเกาหลีจากเครื่องดนตรีที่ชื่อกายากึมเข้าไปผสมกับแอโฟรบีตในเพลง Troop หรือใน EP Day  Without Yesterday/ Six O Six ก็มีเพลงที่โดดเด่นด้วยการใช้แค่การนับเลข 1 2 3 เป็นภาษาเกาหลีสองแบบ คือแบบยืมภาษาจีนมา (อิล อี ซัม ซา) และแบบเกาหลีแท้ (ฮานา ทูล เซด) มาร้องเป็นบีตร่วมกับเพลง และปีที่ผ่านมาเธอก็ปล่อย EP Once พร้อมกับเพลงเฮาส์เท่ปนเซ็กซี่และร้องเป็นภาษาเกาหลีชื่อ It Makes You Forget (Itgehane) ออกมา ทำให้ทั่วโลกเริ่มรู้จักเธอมากขึ้นด้วยเมโลดี้ที่ป๊อป เข้าถึงง่ายกว่าเดิม แม้แต่คลับในกรุงเทพ เราก็จะได้ยินเพลงนี้ของเธออยู่บ่อย

ตอนนี้ Boiler Room เองก็กำลังมีโครงการคล้าย ๆ TEDx ที่ให้คนจากสายอาชีพต่าง ๆ มาพูดเกี่ยวกับชีวิตของพวกเขา เล่าวิธีคิด หรือสร้างแรงบันดาลใจ แต่อันนี้กลายเป็นให้ดีเจ/โปรดิวเซอร์ที่มีผลงานโดดเด่นมาพูดโดยเฉพาะในงานที่ชื่อ BUDx โดยเป๊กกี้ก็ได้เป็น speaker ของงานที่กรุงโซล

นอกจากนี้เธอยังเป็นดีไซเนอร์ สไตลิส นางแบบ และนักเขียนให้กับนิตยสาร Harper’s Bazaar ของเกาหลี ยิ่งไปกว่านั้นชื่อของเธออยู่ใน Dazed 100 รวมบุคคลที่น่าจับตามองในปี 2018 ของ Dazed Magazine และได้เป็นคนเกาหลีคนแรกที่ได้ร่วมงานกับ BBC ทำ Essential Mix ออกมาด้วย เรียกว่าทั้งสวยทั้งเก่งจริง ๆ เอ้า ใครอยากไปฟังเซ็ตของ Peggy Gou และเจอเธอแบบตัวจริงเสียงจริง พุ่งไปที่งานครบรอบ 3 ปี Beam, 72 Courtyard ทองหล่อ ศุกร์นี้เลย 

มาที่ฝั่งอเมริกากันบ้าง เมื่อโลกได้รู้จัก Yaeji หรือชื่อจริง อีเยจิ/เคธี่ ลี แม้ภายนอกอาจจะดูเป็นสาวแว่นลุคติ๋ม แม้จะอายุเพียง 25 ปี แต่เธอเคยเปิดเพลงที่ Boiler Room มาแล้ว และนั่นคือรายการ live session ที่มีดีเจ โปรดิวเซอร์ หรือวงดนตรีจากทั่วโลกแวะเวียนมาแสดง ที่ผ่านมาก็มีแค่ Thom Yorke, Bonobo, Nicolas Jaar, Four Tet, Kaytrananda ที่เคยมาเล่นแค่นั้นเอง ส่วนผลงานที่ทำให้เธอเริ่มเป็นที่รู้จักเห็นจะเป็นงานคัฟเวอร์ Passionfruit ของ Drake ที่เธอทำขึ้นมาระหว่างช่วงที่จัดรายการวิทยุในวิทยาลัย ตอนนั้นเธอได้รู้จักกับเพลงของ Flight Facility และ Blue Hawaii จนตกหลุมรักเพลงอิเล็กทรอนิก กระทั่งเธอได้ออก EP2 มาในปี 2016 ก็มีเพลงฮิตอย่าง Raingurl ทำให้คนทั่วบ้านทั่วเมืองต้องร้องว่า ‘Make it rain girl, make it rain’ กันอย่างติดปาก

ในปี 2018 เราก็ได้ฟังเพลงใหม่ของเธอที่โด่งดังไม่แพ้กันอย่าง One More มีโปรดิวเซอร์มากมายถึงกับหยิบไปรีมิกซ์มาแล้ว ความโดดเด่นของเธอเห็นจะเป็นลุคที่คนคาดไม่ถึงแล้วหนึ่ง สองก็คือเสียงร้องเล็กใสที่ฟังดูแล้วเหมือนเสียงตัวการ์ตูน ถูกหยิบมาใส่ในบีตดนตรีเฮาส์เท่ และสาม เป็นการแร็ปผสมร้องภาษาเกาหลีและอังกฤษ ใช้คำง่าย ติดหู และร้องตามได้ในทั้งสองภาษาแม้เราจะฟังคำว่าคือเกอานียา คือเกอานียาไม่ออกก็ตาม ซึ่งเนื้อหาในเพลงของเธอมักจะพูดถึงเรื่องคุณค่าความงาม อัตลักษณ์บุคคล หรือความอ่อนล้าเหนื่อยหน่ายในสังคมเมือง ซึ่งหลายคนน่าจะรู้สึกเชื่อมโยงกับตัวเองได้ดี อ้อ เธอคนนี้ก็ติดอันดับ Dazed 100 ด้วยเช่นเดียวกัน

ความดังไม่ได้มาเพราะโชคช่วย แต่เพราะความ exotic ในสายตาตะวันตก?

แน่นอนว่าดนตรีอิเล็กทรอนิกเป็นผลผลิตจากโลกตะวันตกที่มีมาเป็นเวลานาน และก็ต้องยอมรับว่าฝั่งเอเชียมักจะเป็นฝ่ายที่รับวัฒนธรรมเหล่านี้ตกทอดมาอีกที ต่อมา จากที่มีแต่ดีเจฝั่งยุโรปและอเมริกากุมตลาดอยู่เป็นจำนวนมาก ก็เริ่มมีดีเจจากตะวันออกย่างกรายเข้าไปในโลกของพวกเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนที่เราเอ่ยชื่อมาในตอนต้น พวกเธอถูกจับตามองเป็นสองเท่าเพราะในมุมมองของคนทั่วไปมักจะคิดว่าผู้หญิงไม่ค่อยมาเป็นดีเจกันหรอก

เยจิและเป๊กกี้ คือสองคนที่สามารถหยิบยกมาพูดถึงได้โดยเห็นภาพชัดเจนกว่าเพื่อน การที่เธอมีเชื้อชาติเกาหลีแต่ต้องย้ายที่พำนักไปอยู่ในพื้นที่ที่มีโอกาสเปิดกว้างกว่าอาจจะเป็นแต้มต่อในการนำเสนออะไรที่ไม่ซ้ำเดิม (เยจิเกิดและโตที่อเมริกาก่อนจะกลับไปใช้ชีวิตที่เกาหลีใต้อยู่ช่วงนึง ส่วนเป๊กกี้ย้ายจากเกาหลีใต้ไปลอนดอน ก่อนจะไปเบอร์ลิน เช่นกันกับ Jumi Lee ที่ก้าวกระโดดไปซีนต่างประเทศก่อนคนอื่น ตอนนี้เธอเบสอยู่ที่เมืองลิม่า ประเทศเปรู) พวกเธอแสดงมรดกทางวัฒนธรรมของเกาหลีให้เข้าไปอยู่ในบริบทร่วมสมัยนอกเหนือไปจากแค่ภาษา อย่างใน mv เพลง Drink I’m Sippin On เยจิก็ได้แรงบันดาลใจมาจากรูปเก่า ๆ ของแม่ของเธอจากยุค 80s แม้แต่เสื้อผ้าที่เธอใส่ก็สะท้อนแฟชันของผู้หญิงเกาหลีในเมืองที่แทบทุกคนจะแต่งแบบเดียวกันหมด บวกกับบรรยากาศของไชน่าทาวน์ในนิวยอร์กยามค่ำคืนยิ่งขับเน้นความเป็นเอเชียนในบริบทร่วมสมัยออกมา

จากการเป็นคนที่ไม่มีใครรู้จัก ไม่มีใครฟัง ตอนนี้เธอกลายเป็นหนึ่งในคนที่มีอิทธิพลต่อวงการเพลงและแฟชัน รวมถึงสร้างความตระหนักเรื่องความเท่าเทียมและ beauty standard ให้มีมากขึ้น “อันที่จริงมันก็อาจจะมีส่วน เมื่อก่อน มีหลายอย่างที่ทำให้ฉันคิดเกี่ยวกับการเป็นเอเชียนอเมริกัน แต่ฉันเลือกที่จะไม่พูดออกมาเพราะไม่ว่าฉันไปที่ไหน ฉันก็จะเป็นชนกลุ่มน้อยอยู่ดี ไม่มีใครฟังฉัน และฉันก็กลัวจะพูดอะไรผิดไปแล้วจะทำให้ฉันโดนมองไม่ดี แต่ตอนนี้ฉันไม่รู้สึกแบบนั้นแล้ว ตราบใดที่ถ้าเรารู้ว่าเราโดนตัดสินให้เป็นคนชายขอบ เราก็ต้องช่วยเหลือสนับสนุนกัน ไม่ว่าจะเอเชียน จะผิวสี จะเป็นคนข้ามเพศ หรือมีรสนิยมทางเพศอะไรก็ตาม

สำหรับเป๊กกี้ การได้แสดงออกทางอัตลักษณ์วัฒนธรรมก็ทำให้รู้สึกอุ่นใจและภาคภูมิใจที่ได้มีโอกาสมาอยู่ในพื้นที่ที่ไม่ค่อยมีใครได้เข้ามา อย่างเช่นที่เธอบอกเหตุผลของการใส่ภาษาแม่เข้าไปในเพลงของเธอกับนิตยสาร i-D ว่า

ฉันแค่อยากลองใส่ภาษาอื่นลงในเพลงพวกนี้ แล้วก็คิดว่า ทำไมไม่ใช้ภาษาเกาหลีล่ะแรก ฉันก็เขินนะคะ แต่สุดท้ายก็ดีใจแหละที่เลือกทางนี้ ฉันภูมิใจที่ฉันเป็นคนเกาหลี และส่วนนึงมันก็ทำให้มีคนเอเชียนมาดูโชว์ของฉันเยอะเป็นพิเศษ แล้วฉันก็มักจะรู้สึกว่า โอ๊ย นี่คนบ้านเดียวกับฉันทั้งนั้นเลย

แต่สุดท้ายแล้วศิลปินหลาย คนเลยมักให้สัมภาษณ์ว่าพวกเธออยากได้รับการตัดสินจากคนที่ฟังเพลงว่าเป็นศิลปินคนหนึ่งมากกว่าจะมากำหนดว่าตัวเองเป็นเพศอะไรหรือเชื้อชาติอะไร

ฉันรู้สึกว่าคนมาให้ความสนใจฉันเพราะฉันเป็นเอเชียน มันเป็นแค่ส่วนนึงของฉันเท่านั้นเอง ไม่ใช่ฉันทั้งหมด แบบนี้มันไม่เท่าเที่ยมเท่าไหร่เลยเยจิบอกกับ Fader 

อยากฟัง K-house อีก ไปหาจากที่ไหนดี

คนนี้มาแรง สัญชาตญาณบอก เพิ่งรู้จักเมื่อไม่นานมานี้จากรุ่นน้องที่แท็กเรียก (เหมือนจุดธูป) มาให้ฟัง นี่คือน้องนาง Park Hye Jin วัย 24 ปีที่สะกดจิตเราด้วยเสียงโมโนโทนทุ้มต่ำ หน้าเด๊ด และโนแคร์โนสนสมชื่อเพลง I Don’t Care ฟังไปครั้งแรกก็โดนหลอนด้วยท่อนเนซัมโซกเกซอไปแล้วเป็นที่เรียบร้อย ปัจจุบันเธอเป็นดีเจอยู่ที่ไนต์คลับชื่อ Pistil ในโซล เกาหลีใต้ รวมถึงจัดรายการอยู่ที่คลื่นวิทยุอินดี้ SCR 

เพลงส่วนใหญ่ใน EP IF U WANT IT ของเธอได้อิทธิพลมาจาก minimal darkwave ผสมกับซาวด์ซินธิไซเซอร์ฟุ้งฝัน มีการใช้เลเยอร์ซ้ำซ้อนกันสร้างความหลอนจิตและบีตหนาหนักแน่น แต่ปรานีคนฟังด้วยเสียงคีย์บอร์ดนุ่มนวลไพเราะ ซึ่งเราพบว่าในเพลง ABC มีโครงสร้างความเป็นลูปที่ทำให้คนจำได้แบบเดียวกันกับเพลงดัง ของทั้งเยจิ และเป๊กกี้

Jumi Lee หรือ อีจูมิ ส่วนใหญ่จะเป็นเทคโนที่พุ่งพล่านชวนคึก กับเฮาส์ที่มีกรูฟล่องไหล และแอซิดที่อัดแน่นด้วยเมโลดี้สะกดจิต ถือเป็นดีเจเกาหลีที่โด่งดังมากในซีนอเมริกาใต้คนนึงทีเดียว ก่อนหน้านี้เธอออก EP Bass Machine ของตัวเองในปี 2007 และเล่นเปิดให้กับ Richie Hawtin มาแล้ว

C’est Qui สองสาว ฮานาวอน และ Closet Yi ซึ่งเคยมาเล่นที่ Beam เมื่อปีก่อน จัดเพลงดีปเฮาส์และดิสโก้แบบเน้น ให้เราได้เต้นกันตลอดคืน แล้วพวกเธอเป็นหนึ่งในคนที่รันคลับซีนในโซลด้วย

CIFIKA หรือ โชยูซอน อีกหนึ่งศิลปินจาก 88 Rising กับดนตรีเฮาส์ที่โดดเด่นและลุคโฉบเฉี่ยว ใช้เวลาเพียงสองปีกับ EP INTELLIGENTSIA ทำให้ซีนดนตรีใต้ดินและสื่อดนตรี/แฟชันชั้นนำทั้ง Vice, Hypebeast และ Dazed จับตามอง อนึ่งเธอเคยร่วมงานกับ Hyuk Oh แต่ทำเพลงในแนวที่แตกต่างออกไป

Kirara ศิลปินอิเล็กทรอนิกที่ทำเพลงเฮาส์ และได้อิทธิพลจาก breakbeat ยุค 90s เข้ามาในเพลงที่ใส่ลูกเล่นการ mute track หรือใช้ไลน์กีตาร์ลูปเข้ามาผสมกับบีต 4/4 แบบเพลงเฮาส์ บางเพลงก็เป็น อิเล็กโทรพังก์ หรือใช้ชิปจูนแบบเพลง 8bit ก็มี ในอัลบั้ม Moves ที่ออกมาเมื่อปี 2016 ของเธอนี่กดฟังแล้วถึงกับหยุดไม่ได้เลยทีเดียว

MUSHXXX หรือ อีมินจู เองก็มาแรงไม่แพ้กัน เธอเป็นอีกคนที่ใส่ Korean heritage เข้าไปในเพลงดีปเฮาส์ได้อย่างกลมกลืน อีกหนึ่งของดีส่งทรงจาก Pistil ซึ่งเพลงของเธอถูกเลือกให้ไปอยู่ใน ACIDE collective ของ Maison Kitsuné และได้เปิดเพลงในแฟชันโชว์หลาย ๆ รายการ

อนาคตที่สวยงามของซีน K-house ?

จากภาพโดยรวมแล้ว underground dance music scene ในโซลก็ดูเหมือนจะมาแรง ส่วนหนึ่งก็ต้องขอบคุณการมาถึงในเวลาอันไล่เลี่ยกันของ เป๊กกี้ เยจิ และฮเยจิน ที่ทำให้คำว่า K-house ถูกใช้กันทั่วไปในอินเทอร์เน็ตและคนฟังก็มีความเข้าใจตรงกันตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมาจนถึงตอนนี้ และสำหรับที่โซล การที่มีศิลปินหญิงหรือกลุ่ม LGBTQ เพิ่มมากขึ้น มีคลับและบาร์ทางเลือกเปิดตัวมากมายในย่านฮงแด อัปกูจอง อีแทวอน แสดงให้เห็นถึงโอกาสที่เปิดกว้างของซีนที่ให้คนใหม่ ๆ ได้เข้ามาทำความรู้จักกับแนวดนตรีใหม่ ๆ ได้อย่างเสรี

อันที่จริงก็มีแรงกดดันภายในอยู่ไม่น้อย Closet Yi จาก C’est Qui เล่าให้ Vice ฟังว่า แม้วัฒนธรรมของเกาหลีจะเน้นความเป็นกลุ่มก้อนและทำให้พวกซีนดนตรีอิสระช่วยเหลือเกื้อกูลกัน แต่ก็มีความย้อนแย้งของการเป็นซีนเล็ก ๆ ที่ทำให้คนสายเดียวกันต้องมาแข่งขันกันเอง อีกทั้งดีเจกับผู้จัดงานก็ยังประสบปัญหากับการที่ว่า จะทำอย่างไรให้คนเกาหลีเก็ตกับคลับซีนหรือวัฒนธรรมดีเจ เพราะอันที่จริงบ้านเขาก็คล้าย เราตรงที่โดยธรรมชาติแล้วก็ไม่ค่อยมีใครไปคลับกันเป็นปกติเท่าไหร่ ซึ่งก็มีดีเจหลาย ๆ คนที่พยายามนำเสนอคอนเทนต์ของพวกเขาเอง ทั้งการทำเพลง การออกไปเล่นบ่อย ๆ หรือแม้แต่การเขียนบทความขึ้นมาสร้างความเข้าใจในคลับซีน

แต่อย่างน้อยที่สุด การที่มีดีเจหน้าใหม่ เกิดขึ้นมากมาย และมีคนพร้อมจะไปรับประสบการณ์ สนับสนุนซีนมากขึ้นเรื่อย ๆ น่าจะเป็นนิมิตหมายอันดีที่ทุกคนจะร่วมสร้างความเข้าใจไปพร้อม กัน แม้หนทางจะดูแสนไกลและต้องใช้เวลา แต่ทุกอย่างย่อมมีหวังเสมอ

 

ข้อมูลเพิ่มเติม
https://i-d.vice.com/en_au/article/zmkdpe/korean-techno-queen-peggy-gou-is-launching-a-fashion-line
https://www.residentadvisor.net/dj/parkhyejin/biography
https://www.technostation.tv/getting-to-know-peggy-gou/
http://www.dazeddigital.com/projects/article/39713/1/peggy-gou-dj-musician-dazed-100-biography-2018-profile
https://www.koreanindie.com/2016/02/23/kirara-%ED%82%A4%EB%9D%BC%EB%9D%BC-moves/
http://www.dazeddigital.com/projects/article/39730/1/yaeji-dj-musician-biography-dazed-100-2018-profile
https://www.vice.com/en_asia/article/ne4k4g/the-rising-female-musicians-of-seouls-underground-scene
https://www.thefader.com/2018/06/05/yaeji-cover-story
https://www.thefader.com/2018/03/15/budx-seoul-peggy-gou-interview-boiler-room-budweiser
Facebook Comments

Next:


Montipa Virojpan

อิ๊ก เนิร์ดดนตรีที่เพิ่งกล้าเรียกตัวเองว่าเป็นนักเขียนตอนอายุ 25 ชอบเดินเร็ว นอกจากขนมปังกับกาแฟดำแล้วก็สามารถกินไอศกรีมกับคราฟต์เบียร์แทนมื้อเช้าได้