Article Guru

สังเกตไหม ทำไมเราถึงรู้สึกกลัวเมื่อได้ยินเสียงหลอน ๆ ในหนังสยองขวัญ

  • Writer: Peerapong Kaewthae

การต้องนั่งอยู่ในโรงหนังที่มืดสนิท มีเพียงแสงของหนังผีบนจอสลัว ๆ ทั้งที่กลัวชิบหายเลยคงไม่ใช่สภาวะที่พึงประสงค์นัก แต่ต้องตามใจแฟนที่อยากดูหนังสยองขวัญ ยิ่งช่วงที่ตัวเอกก็กำลังเดินอยู่บนทางเดินในบ้านที่มีเพียงแสงจันทร์จากข้างนอกหน้าต่าง แล้วมีเสียงของตกกระทบ ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลยแต่คุณกลับสะดุ้งและรู้สึกกลัวสุดขีด สบถไปต่าง ๆ นานา ว่ามึงจะเดินไปหาเสียงนั่นทำไมวะ แค่นี้ก็เดาได้อยู่แล้วว่ามันไม่ปลอดภัย

ความจริงแล้วตัวเอกในหนังก็คงไม่คิดว่าจะต้องโดนผีกระชากหัวหรอก ไม่มีแม้ตัวอักษรบอกบนจอว่าผีกำลังจะโผล่มาแต่หลายคนคิดว่าตัวเองรู้ทันผีแล้ว แต่จริง ๆ แล้วสิ่งที่ทำให้คุณรู้สึกกลัว หรือรู้ได้ทันทีว่าฉากนี้ไม่ปลอดภัยแน่นอน คือเสียงที่คุณไม่ได้ยินต่างหาก

อ้าว งง มันมีเสียงที่เราจะไม่ได้ยินด้วยหรอ? นอกจากภาพหรือจังหวะตุ้งแช่ของผีทำให้เราอกสั่นขวัญแขวนแล้ว สิ่งที่เป็นตัวชูโรงในหนังสยองขวัญเลยคือเสียงที่สร้างขึ้นอย่างรอบคอบด้วยองค์ประกอบที่ซ่อนอยู่ในจิตใต้สำนึกของคน มันทำงานในเชิงจิตวิทยากับร่างกายของเราอย่างร้ายกาจ เพราะเสียงเหล่านี้มีความถี่ที่ต่ำมากในระดับที่เราไม่ได้ยิน แต่มันจะ ‘สั่น’ จนเรารู้สึกถึงได้ เหมือนที่เรารู้ว่ามีแผ่นดินไหวหรือหิมะถล่ม คนเรารับเสียงที่ความถี่ต่ำสุดได้แค่ 20 Hz พอเป็นเสียง 19 Hz เราจะรู้สึกได้ถึงความไม่ชอบมาพากลทันที เพราะความกลัวที่ไม่รู้ที่มาทำให้สมองเราจินตนาการความกลัวไปได้ไกลกว่าความจริงเสียอีก

อยากรู้ว่ามันเขย่าขวัญเราได้ยังไง ต้องลองฟังเสียงความถี่ 19 Hz ในคลิปนี้ดู แล้วสังเกตว่าท้องคุณรู้สึกยังไงเวลาฟังเสียงในคลิปนี้ (วีดีโอไม่มีภาพน่ากลัวอะไรจ้า)

แม้จะไม่ได้ยินเสียงอะไร แต่เรากลับรู้สึกไม่สบายใจยังไงไม่รู้ หลายคนเลยเรียกว่า ‘เสียงความถี่ของผี’ เลยทีเดียว ถ้าใจกล้าพอจะลองฟังเสียง 8 Hz ดูก็ได้ แล้วดูว่าร่างกายจะตอบสนองเสียงนี้ยังไง (กดเลยไม่มีภาพน่ากลัวเหมือนกัน)

ความกลัวในหนังสยองขวัญเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ เสียงคำรามต่ำ ๆ หรือเสียงแหลมสูงอย่างเสียงขู่ของสัตว์ เสียงผู้หญิงกรี๊ด หรือเสียงแหลมที่คาดเดาไม่ได้ตามธรรมชาติจะปลุกสัญชาตญาณความกลัวของคนได้ดีมาก การบิดดัดเสียงที่ทุกคนคุ้นเคยให้ต่างออกไปแม้เล็กน้อยก็สร้างความกลัวให้เราได้มากแล้ว ในอุตสาหกรรมหนังก็ใช้ประโยชน์จากเทคนิคเหล่านี้ในการฝังความกลัวลงไปในหัวเรา เช่น ซ้ำโน้ตซักตัวบ่อย ๆ ก็ทำให้คนดูจำได้แล้วว่าเสียงนี้มาคือฆาตกรหรือผีอยู่ใกล้ ๆ บาปกรรมก็ตกมาอยู่กับคนชอบดูหนังไป เพราะเราอาจได้ยินเสียงแบบนี้ในชีวิตประจำวันแล้วกลัวโดยไม่รู้สาเหตุ

ในวงการภาพยนต์ยังค้นพบอีกว่าเสียงของหม้อแปลงไฟฟ้า เสียงแอร์ หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าบางชนิดก็ให้เสียงความถี่ต่ำแบบนี้ก็สั่นประสาทคนได้เหมือนกัน ผู้กำกับหนังสยองขวัญบางคนก็นำเสียงเหล่านี้แหละไปทำให้มันลึกขึ้นแล้วใส่ไว้ในหนัง มันก็หลอนหูเราและจำฝังหูไปตลอดกาล เราเลยเริ่มไม่ไว้ใจทุกสิ่งในบ้านไปเอง เลยเป็นที่มาว่าทำไมบางครั้งเราถึงกลัวเวลาอยู่ในบ้านของตัวเองคนเดียว ไม่ก็รู้สึกว่าของใช้ในบ้านหลายชิ้นหลอกหลอนเราบ้าง

เห็นใครไม่กล้าดูหนังสยองขวัญก็อย่าไปล้อเลียนเขา เพราะขอบเขตของความกลัวในตัวแต่ละคนมันซับซ้อนและมองไม่เห็นแบบนี้แล

Facebook Comments

Next:


Peerapong Kaewthae

แม็ค เป็นคนชอบฟังเพลงเพราะเป็นกิจกรรมที่ทำคนเดียวได้ และก็ชอบแนะนำวงดนตรีหรือเพลงใหม่ ๆ ให้คนอื่นรู้จักผ่านตัวอักษรตลอดเวลา