Article Guru

Skip ! นอกจากเพลงที่ไม่ชอบแล้ว ทำไมเราถึงกดข้ามเพลงบางเพลงด้วยล่ะ ตอนที่ 2

  • Writer: Mokara Chitteangtham

ช่วงท้ายจากตอนที่แล้ว ผมได้พูดถึง mere exposure (กระบวนการสื่อสารให้เกิด brand awareness ในสินค้า) ที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการเลือกของเราแต่ละคน จริง ๆ แล้วmere exposure ถูกใช้ในการสื่อสารโดยเฉพาะวงการเพลงและโฆษณามานานแล้ว อย่างสมัยก่อนที่เวลาโฆษณาจะต้องพูดถึงสรรพคุณสินค้า แต่ย้ำชื่อสินค้าซ้ำ ๆ ไปด้วยจนกลายเป็นภาพหรือชื่อจำของประเภทสินค้า เช่น ถ้าคน gen x หรือ baby boomer จะเรียกผงซักฟอกว่า ‘แฟ้บ’ กันจนติดปาก เพราะเป็นแบรนด์แรก ๆ ที่เข้ามาทำตลาดและสร้าง brand awareness กับคนรุ่นนั้น

d59e2df27d2acd596d9f89d762ca0406-retro-advertising-vintage-advertisements

ส่วนในด้านธุรกิจเพลง หลายคนคงเคยเจอเพลงที่ฟังครั้งแรกรู้สึกเฉย ๆ แต่พอเปิดวิทยุ โทรทัศน์ หรือเผลอกดเข้าไปฟังเวลามีคนแชร์เพลงนี้จนเต็ม newsfeed ผ่านไปหลายวันเข้า พอได้ยินเพลงนี้ที่ไหนเรากลับร้องตามได้ขึ้นมาซะงั้น หรือถึงขั้นเผลอชอบไปเลยก็มี ซึ่งนี่ก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของ mere exposure effect อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้หลายคน โดยเฉพาะคนสมัยใหม่ มักจะปิดโอกาสต่อสิ่งใหม่ที่ไม่คุ้นชินและจมจ่อมอยู่แต่ในรสนิยมตัวเอง หรือความง่ายในการเลือกที่จะปฏิเสธ

ลองคิดตามนะครับ สมัยก่อนถ้ามีเพลงที่เราไม่ชอบอยู่หนึ่งเพลงในม้วนเทป เราต้องเสียเวลากรอเทปจนกว่าพ้นเพลงนั้นโดยต้องหยุดเช็กเป็นระยะ ๆ บางทีก็กรอจนเลยเพลงไปซะไกล ต้องเสียเวลากรอกลับอีก หรือถ้าฟังเพลงจากแผ่นเสียง การจะข้ามแทร็คทีก็ต้องค่อย ๆ ยกหัวเข็มขึ้น เล็งร่องเสียงบนแผ่นเพื่อกะระยะให้ดี แล้วค่อย ๆ วางลง เพราะถ้าวางผิดจุดแผ่นก็สะดุดเป็นรอยเสียหาย โชคไม่ดีหนักหน่อยก็หัวเข็มหัก เสียเงินเสียเวลาส่งซ่อมไปอีก พอมาเป็นสมัยนี้น่ะเหรอ คุณแค่แตะเบา ๆ ที่หน้าจอโทรศัพท์ หรือแค่กดหูฟังเบา ๆ ไม่กี่ทีก็เปลี่ยนเพลงได้แล้ว

อีกปัจจัยที่ปฏิเสธไม่ได้เลยคือ เดี๋ยวนี้ผู้คนไม่ค่อยแชร์ common space ระหว่างกันในครอบครัวอีกแล้ว การอดทนฟังข่าวแสนน่าเบื่อจากวิทยุที่คุณพ่อเปิดบนรถระหว่างไปส่งเราที่โรงเรียน หรือการต้องตื่นเช้าเป็นคนแรกก่อนพี่น้องคนอื่น ๆ เพื่อจะมาจองโทรทัศน์ดูการ์ตูนช่องที่อยากดู สิ่งเหล่านี้ถูกแทนที่ด้วยการที่ทุกคนก้มหน้าอยู่กับจอมือถือ หรือ smart device ต่าง ๆ เพื่อรับชมสิ่งที่น่าสนใจของแต่ละคนได้ในทันที

มีงานสำรวจพบว่า ผู้คนในครอบครัวเดียวกันทุกวันนี้ส่งข้อความถึงกันมากกว่า 5,000 ครั้ง และส่งอีเมลกว่า 200 ฉบับต่อปีทั้งที่อาศัยอยู่ในครัวเรือนเดียวกัน หรือแม้แต่ระหว่างใช้เวลาทำกิจกรรมร่วมกันก็มีพฤติกรรมหลีกเลี่ยงการสนทนาซึ่งหน้า ปฏิเสธกติการ่วมกัน และมีแนวโน้มเพิกเฉยต่อการเรียกร้องจากสมาชิกในครอบครัวหากเกิดกรณีที่ต้องการพูดคุยเกี่ยวกับปัญหา หรือการปรับความเข้าใจกัน ลองนึกภาพดูว่า ถ้าพ่อกับลูกชายวัย 8 ขวบ นั่งดูทีวีด้วยกันแล้วจู่ ๆ ลูกก็หยิบแท็บเล็ตส่งข้อความหาพ่อผ่านโปรแกรมแช็ตแทนการพูดกับพ่อ “พ่อฮะ รู้ไหมว่า เมื่อก่อนการ์ตูน Donald Duck ฉบับคลาสสิกถูกห้ามฉายในหลายประเทศ เพราะมันไม่ใส่กางเกง” แล้วคุณพ่อก็หยิบมือถือพิมพ์ตอบมาว่า “ตอนเด็ก ๆ พ่อเคยถามหมอว่าทำไมมันไม่ใส่กางเกงแล้วไม่เป็นโรคไส้เลื่อนเหมือนพ่อ ฮ่าๆๆๆ” แล้วต่างคนก็ยิ้มให้หน้าจอแทนที่จะยิ้มให้กันทั้งที่นั่งข้าง ๆ กัน ฟังดูเหมือนตลกร้ายแต่ก็ขำไม่ออก

หลายงานวิจัยยังพุ่งประเด็นของ mere exposure ว่ามีความเกี่ยวพันกับไลฟ์สไตล์และชั่วโมงใช้งานโซเชียลมีเดีย เมื่อคุณยิ่งมีชั่วโมงใช้งานอยู่ในโลกเสมือนมากกว่าสังคมภายนอกจริง ๆ เท่าไหร่ คุณยิ่งถูกกักขังโดยกรงที่เกิดขึ้นจาก มโนคติ และรสนิยมส่วนตัว แปรผันตรงต่อการเพิกเฉยที่สูงขึ้นเป็นพิเศษต่อสิ่งใหม่ที่ไม่คุ้น

เมื่อกติกาการอยู่ร่วมกันถูกใช้งานน้อยลง ทุกคนจมจ่อมอยู่กับรสนิยม และความเป็นส่วนตัวมากขึ้น ความอดทนของคนก็ยิ่งจำกัดตามไป การเปิดรับสิ่งต่าง ๆ ที่ผิดจากความเคยชินก็ยิ่งลดน้อยลงตามไปด้วย เราจะรู้สึกว่าเราสามารถควบคุมช่องทางต่าง ๆ ในชีวิตได้อย่างราบรื่นสมบูรณ์แบบ

ขณะที่ทางฝั่งของผู้รับสื่อ ฯ ก็พยายามจะคัดกรองสิ่งที่เข้ามาด้วย filter ที่ถูกจริตตัวเอง แต่ในมุมของผู้ผลิตเพลงหรือศิลปิน ตลอดจนสื่อกลางก็ยังต้องหาทางเพื่อรับมือจากพฤติกรรมการเพิกเฉยของผู้บริโภคที่พร้อมจะสลัดทุกอย่างที่ไม่สอดคล้องกับจริตในชุดความคุ้นชินของตนเอง

เมื่อไม่มีดีเจคอยพูดแนะนำสาธยายก่อนเข้าเพลงอีกแล้ว digital music service provider จึงต้องหาวิธีรับมือกับผู้ฟัง ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาระบบอัลกอริธึมในการสุ่มเลือกเพลง (shuffle) หรือแทรกเพลงหรือเพลย์ลิสต์แนะนำเข้ามา รวมถึงการเพิ่มฟังก์ชันให้สามารถฟังแบบออฟไลน์ บ้างก็พัฒนาคุณภาพเสียงระบบ lossless ให้ใกล้เคียงคุณภาพจากการฟังซีดี มี user interface ที่เป็นประโยชน์ ใช้งานได้ง่าย จนถึงการสร้างฐานข้อมูลรวบรวมเพลงหรือวงดนตรีเฉพาะทางที่หาฟังจากผู้ให้บริการรายอื่นได้ยาก

ก่อนหน้านี้หลายปี ผู้บุกเบิกวงการขายเพลงผ่านทาง online store อย่าง iTunes ก็เคยประสบกับปัญหานี้จนต้องปรับกลยุทธ์เพื่อกระตุ้นผู้ฟังด้วยการปรับย่านความถี่ของเพลงให้แตกต่างไปจากในอัลบั้มหรือ studio version ทั้งที่ความจริงแล้วศิลปินที่ซีเรียสกับคุณภาพเสียงมาก ๆ สามารถมาสเตอร์เพลงเป็น MfiT Format ซึ่งความละเอียดสูงสุดอยู่ที่ 24 bit/192 kHz แต่ก็แทบไม่ช่วยอะไร เพราะคุณภาพเสียงที่ดีก็ไม่สามารถดึงดูดความสนใจคนฟังจากเสียงรบกวนภายนอกขณะทำกิจวัตรประจำวัน ยิ่งเมื่อฟังเพลงระหว่างยืนอยู่ข้างถนนท่ามกลางเสียงการจราจรวุ่นวายหรือเสียงโฆษณาต่าง ๆ บนขบวนรถไฟฟ้า ผู้ใช้งานส่วนใหญ่เมื่อฟังเพลงผ่าน iPod โดยใช้หูฟังประเภท ear-bud (จำพวกที่มาพร้อมกับ iPod, iPhone หรือหูฟังที่เสียบเข้ากับหูหลวม ๆ จนทำให้เสียงภายนอกลอดเข้าไปได้ง่าย) มักกดข้ามเพลงที่ผ่านการ mastering, balancing แบบปกติ เพราะผู้ฟังจะรู้สึกว่าเพลงเหล่านั้นเบา ไร้มิติจนน่ารำคาญ  ทำให้ mastering studio ระดับโลกหลาย ๆ แห่ง รวมทั้ง Abbey Road Studio ต้องปรับตัวโดยการสร้างออปชัน iTunes Download Mastering Format ขึ้นมา และศิลปินป๊อปส่วนมากก็ต้องปรับกลยุทธ์เช่นกัน โดยไฟล์ที่ mastering ใน iTunes ของเพลงทั่วไปจะถูกปรับความดังให้มากกว่าปกติ ปรับย่านความถี่และ balancing ของเพลงบางส่วนให้มีภาพรวมของย่านเสียงแหลมที่เด่นและคมมากพอที่จะได้ยินชัดในสภาพแวดล้อมที่จอแจ แต่นั่นก็เป็นดาบสองคม เพราะเพลงเหล่านั้นจะถูกปรับเปลี่ยนย่านความถี่ของเสียงจนขาดความกลมกล่อมในแบบที่ตัวเพลงถูกออกแบบมาอย่างที่ควรจะเป็น

ถึงแม้ส่วนหนึ่ง เทคโนโลยีปัจจุบันมีความสะดวกมากขึ้นจนทำให้ผู้ฟังสามารถเขี่ยข้ามผลงานของคุณได้เพียงแค่ขยับนิ้ว แต่ในแง่ดีมันทำให้ศิลปินหน้าใหม่ตัวเล็ก ๆ ที่ไม่มีฐานพื้นที่สื่ออยู่ในมือ สามารถถ่ายทอดผลงานของพวกเขาออกไปสู่ผู้ฟังได้ แลกกับการที่คุณจะต้องเป็นตัวจริง และจริงจังต่อคุณภาพของชิ้นงานมาก ๆ รวมถึงต้องคิดวางแผนออกแบบไปถึง post production เช่นการ mastering ด้วยตนเอง

ทุกวันนี้เวลาที่ผมออกจากบ้านพร้อมหูฟัง หรือเวลา sync เพลงจากโทรศัพท์เพื่อเปิดฟังในรถ จะลองเปิดเพลงจากเพลย์ลิสต์แนะนำต่าง ๆ จากแอพลิเคชันหรือ users ด้วยกันเอง รวมถึงพยายามไม่กดข้ามเพลงเลย เพราะถึงแม้อินโทรอาจจะไม่โดนใจในทันที แต่ฟังไปซักนาทีอาจจะติดใจนะฮ้าฟฟฟฟฟ
แถมท้ายตัวอย่างแทร็คที่อินโทรนานแต่ถ้ากดข้าม บอกได้เลยว่าพลาด:

Brad MehldauParanoid Android (Radiohead cover)

Bonobo – First Fires

อ้างอิง:
https://www.theguardian.com/music
http://socialpsychonline.com/2016/03/the-mere-exposure-effect/
https://www.justmastering.com/article-masteredforitunes.php
https://hackernoon.com/how-much-time-do-people-spend-on-their-mobile-phones-in-2017-e5f90a0b10a6
http://www.dailymail.co.uk/sciencetech/article-3550241
https://www.entrepreneur.com/article/243480
https://discussions.apple.com/thread/4643337?start=0&tstart=0
http://www.dailymail.co.uk/news/article-2363193
Facebook Comments

Next: