Article Guru

Viva Cuba! บางเรื่อง และบางแนวดนตรี จากเกาะแห่งเสียงเพลงชื่อ คิวบา

  • Writer: Piyakul Phusri

ถ้าพูดถึง ‘คิวบา’ หลายคนอาจจะนึกถึงซิการ์ คอมมิวนิสต์ หรือ ฟิเดล คาสโตร

แต่สำหรับนักฟังเพลง เมื่อพูดถึงคิวบา แน่นอนว่าจะต้องเกี่ยวข้องกับแนวดนตรีเต้นรำสารพัดที่มาพร้อมกับเพอร์คัสชั่น เครื่องเป่า และลีลาการส่ายสะโพกโยกย้ายอย่างร้อนแรงบนชายหาด

แม้ว่าอุตสาหกรรมเพลงของคิวบาจะไม่ได้ใหญ่โตเหมือนสหรัฐอเมริกาหรืออังกฤษ และถ้าจะให้นึกถึงศิลปินนักดนตรีชาวคิวบาก็คงไม่ง่ายที่จะนึกออกว่ามีใครบ้าง แต่แนวดนตรีที่เกิดหรือพัฒนาขึ้นในคิวบามีอิทธิพลมากกว่าแค่ในแถบแคริบเบียน เพราะมันแผ่ขยายไปทั่วโลก และเข้าไปผสมกลมกลืนกับแนวดนตรีท้องถิ่นต่าง ๆ ก่อกำเนิดแนวดนตรีลูกหลานอีกมากมายมหาศาล

ถ้าจะเขียนถึงดนตรีคิวบาให้ครอบคลุม คิดว่าเนื้อที่ 20 หน้ากระดาษ A4 ก็คงจะไม่พอ วันนี้เราก็เลยขอเล่าย่อ ๆ ให้คุณได้อ่านกัน

———-

ดนตรีคิวบา เป็นเหมือนสิ่งบันทึกประวัติศาสตร์และความหลากหลายของผู้คนบนเกาะคิวบาได้เป็นอย่างดี เนื่องจากเกาะคิวบาเคยเป็นอาณานิคมของสเปนนานหลายร้อยปี ทาสชาวแอฟริกานับล้านคนถูกซื้อขาย และขนย้ายสู่เกาะคิวบาเพื่อทำงานในเหมืองทอง ไร่อ้อย และไร่ยาสูบ ปัจจุบันดินแดนที่เคยเป็นถิ่นฐานดั้งเดิมของทาสแอฟริกันเหล่านั้นคือไนจีเรีย คองโก และแองโกล่า

ทาสชาวแอฟริกาไม่ได้แค่พาร่างกายมาคิวบา แต่ยังนำพาวัฒนธรรม ความคิด ศาสนา และดนตรีของพวกเขามาด้วย จนเกิดการผสมผสาน เปลี่ยนแปลง และปรับใช้องค์ประกอบทางดนตรีจากแหล่งดั้งเดิมรวมเข้ากับผู้คนและวัฒนธรรมในพื้นที่ใหม่ หากจะพูดอย่างหยาบ ๆ ดนตรีคิวบาที่เราฟังในปัจจุบัน คือการนำจุดเด่นของ 3 วัฒนธรรมทางดนตรีมารวมกัน ได้แก่

วัฒนธรรมแอฟริกา : การนำเพอร์คัสชันหลากหลายชนิดมาใช้ในเพลง

วัฒนธรรมสเปน : การให้เสียงกีตาร์เป็นเสียงเด่นในเพลง

วัฒนธรรมยุโรปตะวันตก : การนำเครื่องเป่ามาใช้ประกอบเพลง และวิธีแต่งเพลงแบบตะวันตก

เพราะเป็นดนตรีที่มีพื้นฐานมาจากดนตรีแอฟริกา ทำให้บ่อยครั้งเรามักจะเรียกแนวดนตรีจากคิวบาอย่างรวม ๆ ว่าเป็นแนว ‘Afro-Cuban’ แต่หากถ้าจะลงลึกไปกว่านั้น ดนตรีคิวบาแนวต่าง ๆ ยังมีส่วนผสมของวัฒนธรรมอื่น ๆ อีกหลากหลาย ทั้งการเต้นรำแบบฝรั่งเศส การผสมผสานท่วงทำนองแบบคิวบา กับ New Orleans Jazz ไปจนถึงการเอาเครื่องดนตรีจีนอย่างฉิ่งและฉาบมาใช้ เพราะในคิวบาเองก็มีผู้อพยพชาวจีนเข้าไปทำมาหากินเหมือนกัน ซึ่งจะขอหยิบยกเอาแนวดนตรีคิวบาบางแนวที่น่าสนใจมาบอกเล่าให้รู้จักกัน

Rumba

หลายคนคงได้เรียนการเต้นในจังหวะรุมบ้าในคาบเรียนลีลาศ แน่นอนว่ามันไม่ง่ายเลย กว่าจะเต้นให้พอไปได้ก็เหยียบเท้าคู่เต้นไปหลายที รากเหง้าของดนตรีแนวรุมบ้าเป็นเพลงที่ใช้ประกอบพิธีทางศาสนาหรือลัทธิความเชื่อของชาวคิวบาเชื้อสายแอฟริกัน แต่ถูกเปลี่ยนให้เป็นดนตรีเพื่อความบันเทิงอย่างเต็มตัวในภายหลัง การเต้นแบบรุมบ้าแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ guaguancó (การเต้นเกี้ยวพาราสีกันเป็นคู่) yambú (การเต้นคู่แบบช้า) และ columbia (การเต้นเดี่ยวของผู้ชายเพื่อโชว์ความสามารถของร่างกาย) องค์ประกอบหลักของดนตรีแนวรุมบ้าคือเสียงร้องและเพอร์คัสชัน สำหรับภาคเพอร์คัสชัน พระเอกหลัก ๆ ก็คือ tumbadores หรือ กลองคองก้าที่จูนเสียงให้สูง และ palitos ซึ่งเป็นเครื่องเคาะที่ทำจากไม้ จังหวะของดนตรีแนวรุมบ้าถูกควบคุมด้วย clave หรือ ‘key’ ส่วนมากจะเป็นแท่งไม้กลม ๆ สองแท่ง เคาะเพื่อคุมจังหวะของเพลง โดยทั่วไปเพลงรุมบ้ามักร้องในภาษาสเปน และมีทั้งนักร้องหลักและคอรัส ซึ่งหากสังเกตดูก็จะเห็นว่าเป็นแนวที่ได้รับอิทธิพลจากดนตรีแอฟริกันมาอย่างชัดเจนมาก

Danzón

อิทธิพลของดนตรียุโรปที่ชัดเจนที่สุดในคิวบาอยู่ในแนวดนตรีที่เรียกว่า Danzón มันคือการเต้นรำของชนชั้นสูงที่ได้รับการพัฒนาขึ้นในช่วงปี 1870 ก่อนจะสมบูรณ์แบบในปี 1979 โดยวง orquesta tipica ซึ่งเป็นวงมาร์ชชิ่งแบบไม่เป็นทางการของกองทัพ Danzón ได้รับความนิยมในคิวบาก่อนจะแพร่กระจายไปทั่วละตินอเมริกา โดยเฉพาะในเม็กซิโก Danzón มีรากฐานมาจากการเต้นรำในฮอลล์เต้นรำ เช่น การเต้นรำแบบผู้นำในชนบทอังกฤษ การเต้นรำ contredanse แบบฝรั่งเศส และการเต้นรำ contradanza แบบสเปน มีกลิ่นอายของดนตรีแอฟริกันคละคลุ้ง

ลูกหลานของ Danzón ยังมีอีกมากมาย เช่น Charanga ที่แทนที่เครื่องดนตรีจำพวกเครื่องเป่าทองเหลืองแบบวงมาร์ชชิ่งด้วย ไวโอลิน ฟลุ๊ต ดับเบิลเบส และ เปียโน ไปจนถึงแนว Chachachá หรือ ‘ชะชะช่า’ ที่แพร่หลายไปทั่วยุโรป และ อเมริกาในช่วงปี 1950 และยังคงมีอิทธิพลกับดนตรีร่วมสมัยของไทยมาจนถึงปัจจุบัน

Son

นี่คือแนวดนตรีที่เรียกว่าเป็นแนวดนตรีแห่งชาติของคิวบาก็ว่าได้ และเป็นเสมือนสัญลักษณ์ทางดนตรีของเกาะคิวบา แต่เดิม Son (ซน) เป็นเพลงที่ร้องและเล่นกันตามชนบทโดยลูกหลายชาวสเปนที่เป็นเกษตรกร แต่ถ้าจะสาวกันไปให้ลึกกว่านั้นซนมีพื้นฐานมาจากเพลงที่ใช้ประกอบการทำพิธีทางศาสนาของชาว Yoruban ในประเทศไนจีเรียที่ถูกพาตัวมาเป็นทาสในคิวบาตั้งแต่หลายร้อยปีก่อนนู่นเลย ซนเป็นเพลงร้องที่เนื้อร้องท่อนแรกจะตามมาด้วยท่อน montuno ที่นักร้องหลักจะร้องแบบอิมโพรไวส์ โดยมีนักร้องคอรัสร้องตอบโต้กลับ และมี clave หรือ เครื่องเคาะเป็นเครื่องดนตรีหลักที่ใช้กำหนดจังหวะ

Son กำเนิดขึ้นในช่วงปี 1880 ทางฝั่งตะวันออกของเกาะ ก่อนจะเข้าสู่กรุงฮาวาน่าและเผยแพร่ไปทั่วคิวบาผ่านทางวิทยุในช่วงปี 1920 เมื่อซนเข้าสู่เมืองหลวงของประเทศ มันถูกพัฒนาให้ทันสมัยยิ่งขึ้น โดยเป็นส่วนผสมของทั้งดนตรีแอฟริกัน สเปน และฝรั่งเศส หลังปี 1920 ทรัมเป็ตเป็นเครื่องดนตรีที่ถูกเพิ่มเข้ามาในซน และทำให้มันเริ่มเป็นดนตรีที่มีกลิ่นแบบสวิง หนึ่งในวงดนตรีซนที่มีชื่อเสียงที่สุดคือ Septeto Nacional ถือกำเนิดขึ้นในปี 1927 ต่อมาในปี 1928 วง El Manicero ก็เป็นวงดนตรีคิวบาวงแรกที่ได้แสดงในยุโรป หลังจากปี 1940 ดนตรี Cuban Son ก็เป็นหนึ่งในแนวดนตรีเมนสตรีทั้งในแถบอเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ และแคริบเบียน

Changui

Changui คือ Son ในรูปแบบที่เร็วกว่าซนที่มาจากทางตะวันออกของเกาะ ต้นกำเนิดของ Changui ยังไม่แน่ชัด แต่มันมีลักษณะเด่นอยู่ที่การเน้น downbeat ควบคู่กับการเล่นอย่างเร็ว และเน้นเสียงเพอร์คัสชัน วงดนตรีที่ทำให้ Changui พัฒนาจากแนวดนตรีพื้นบ้านสู่การเป็นหนึ่งในแขนงดนตรีร่วมสมัยจากคิวบาในทุกวันนี้คือวง Los Van Van โดยได้เพิ่มทรอมโบน ซินธิไซเซอร์ และเพอร์คัสชัน เข้าไปในเพลง ทำให้เพลงฟังดูร่วมสมัยยิ่งขึ้น และถูกเรียกเป็นอีกหนึ่งแนวย่อยว่า Songo

Salsa

ผู้เชี่ยวชาญด้านดนตรีหลายคนฟันธงว่าซัลซ่า มีพื้นฐานมาจากแนวดนตรีซนของคิวบา ทั้งการใช้เพอร์คัสชั่นสารพัดชนิดประกอบเพลง และการแฝงสำเนียงทำนองแบบแอฟริกันในเพลง แต่บางกระแสก็บอกว่ามันเกิดขึ้นในนิวยอร์กในช่วงปี 1960 แต่ที่แน่ ๆ ซัลซ่าไม่ได้อยู่ดี ๆ ก็ผุดขึ้นมาจากผืนดินแน่นอน เพราะระหว่างปี 1930-1960 นักดนตรีจากละตินอเมริกาทั้งจากคิวบา เปอร์โตริโก้ เม็กซิโก และประเทศอื่น ๆ ในอเมริกาใต้ ได้มีโอกาสไปเปิดการแสดงในนิวยอร์ก เมื่อดนตรีพื้นถิ่นจากหลากหลายภูมิภาคในแถบนั้นถูกเล่นและฟังโดยนักดนตรีมืออาชีพ จนเกิดเป็นแนวดนตรีหลากหลายอย่าง Mambo Conga และแนวดนตรีเต้นรำที่มีความเร็ว และใช้พลังในการเต้นสูงอย่างซัลซ่า ซึ่งยังมีซัลซ่าแนวย่อยทั้ง salsa Merengues, Chirisalsas, Balada salsas และอื่น ๆ อีกมากมาย

เรียกได้ว่า ดนตรีจากคิวบาแต่ละแนวถึงจะมีองค์ประกอบหลัก ๆ ที่คล้ายกัน เช่น การให้ความสำคัญกับการใช้เพอร์คัสชัน การเน้นเสียงเครื่องเป่าทองเหลือง หรือการเล่นคร่อมจังหวะ แต่ก็มีรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ต่างกัน และจำแนกแยกย่อยแนวดนตรีไปได้อีกมหาศาล

และถ้าจะพูดว่า คิวบาคือเกาะที่ดนตรีแอฟริกันมาพบกับดนตรียุโรป ก่อนจะผสมผสานกันออกมาเป็นแนวดนตรีใหม่ และถูกส่งออกไปให้คนทั่วโลกได้ยักย้ายส่ายสะโพกก็คงจะไม่ใช่ข้อความที่เกินเลยแต่อย่างใด

FACT: หลังจากการปฏิวัติคิวบาโดย ฟิเดล คาสโตร ในปี 1959 สถานีวิทยุ และค่ายเพลงเอกชนถูกยึดมาเป็นของรัฐ นักดนตรีคิวบาจำนวนมากเดินทางออกจากประเทศ ส่วนที่เหลืออยู่ก็ต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบากเพราะคิวบาถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากสหรัฐ ฯ ดนตรีคิวบาหลังยุคปฏิวัติคิวบาเปลี่ยนรูปแบบไปเป็นมาเป็นดนตรีเพื่อมวลชนตามแนวทางสังคมนิยมมากขึ้น เยาวชนคิวบาได้รับการฝึกฝนให้เล่นดนตรีแบบอนุรักษ์นิยม ส่วนนักดนตรีอาชีพก็เป็นเหมือนลูกจ้างที่ได้รับเงินเดือนจากรัฐบาล

หลังจากยุคปี 1990 การผ่อนคลายความตึงเครียดทางการเมืองทำให้นักดนตรีคิวบาสามารถทำงานทั้งในและต่างประเทศได้อย่างอิสระ และนักดนตรีที่ประสบความสำเร็จถือว่าเป็นหนึ่งในอาชีพที่รายได้ดีที่สุดของคิวบาเลยทีเดียว 

ที่มา
The Music of Cuba
Cuban Music History
What Is Salsa Music and What Is Its Origin?
Cuba: Son and Afro-Cuban Music
Facebook Comments

Next:


Piyakul Phusri

Piyakul Phusri นักฟังเพลงจับฉ่ายที่มีความเชื่อว่านอกจากการกินอิ่ม-นอนอุ่น การบริโภคงานศิลปะที่ถูกใจก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยของการมีชีวิตที่ดี