Article Import

7 ศิลปินแผ่นดินใหญ่ กับซาวด์ดนตรีที่ทำให้ลืมความจีนแบบเดิม ๆ

  • Writer: Montipa Virojpan

ใครว่าเพลงจีนจะต้องเป็น Mando-Cantopop หวานใส หรือป๊อปย้วย ลากเสียงสูงแหลมยาน โดดเด้งด้วยเสียงเครื่องสายและเครื่องเคาะที่มักใช้ในอุปรากรจีนเสมอไป

ด้วยความที่ขึ้นชื่อว่าเป็นแผ่นดินใหญ่จึงทำให้แต่ละมณฑลมีวัฒนธรรมที่ต่างกัน และขณะเดียวกันก็ทำให้พวกเขารับวัฒนธรรมจากต่างประเทศเข้ามาได้อย่างไร้ขีดจำกัดด้วย (เอ่อ… ก็ไม่เชิง แต่พวกเด็กรุ่นใหม่ ก็มีความพยายามเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตผ่าน VPN แหละนะ) ซึ่งนั่นก็ทำให้เราได้มารู้จักกับ 7 ศิลปินจีนที่น่าสนใจจากหลากหลายแนวเพลง

Lexie Liu

เห็นหน้าแว้บเดียวอาจจะคิดว่าเป็นแม่ริริ แต่ก่อนจะไปอัมเบรลล่า เอ้ เอ้ หรือช็อป Fenty Beauty ก็อยากให้แวะมาลองฟังเพลงของ Lexie Liu หมวยอินเตอร์คนล่าสุดแห่ง 88 Rising ที่บอกว่าของแรง แซงโค้ง ขนาดนี้เพราะเธอคือแร็ปเปอร์วัย 20 ปี จากเมืองฉางชา มลฑลหูหนาน ที่เคยเข้าร่วมประกวดรายการ K-pop Star 5 ที่เกาหลีใต้เมื่อปี 2015 ระหว่างนั้นเธอก็มาเป็นแร็ปเปอร์อิสระ ร่วมงานกับศิลปินทั่วโลก จนแล้วจนรอดในปี 2018 เธอก็เข้าประกวด The Rap of China อีกรายการ แม้เธอจะเป็นผู้ชนะอันดับ 4 ของทั้งสองโชว์ แต่ความสามารถและลุคโฉบเฉี่ยวของเธอก็ทำให้ค่ายเพลงต่างประเทศให้ความสนใจและออก EP 2029 ในปีที่แล้ว ล่าสุดเธอก็ทำให้เพลง Nada ซึ่งอยู่ใน EP 2030 ที่ปล่อยมาให้ได้ฟังเต็ม ๆ เมื่อคืนนี้ทำให้เธอเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก

ถือเป็นอีกศิลปินที่ขยันมาก ผลงานของเธอเป็นฮิปฮอป tropical pop และ r&b ร่วมสมัยที่เข้าถึงไม่ยาก แต่จะมีเอเลเมนต์อวกาศ post apocaplypse ร้องเป็นภาษาอังกฤษสลับกับภาษาจีน และสอดแทรกวัฒนธรรมของตัวเองเข้าไปในเพลงไม่น้อย ทั้งชื่อเพลงอย่าง Dripping Sause หรือ Mulan ถ้าฟังเนื้อเพลงด้วยก็จะพบว่าเป็น bad ass อยู่ประมาณนึง เท่านั้นยังไม่พอ น้องเล็กซี่ยังเคยไปแสดงที่ SXSW มาแล้วนะ Makes Mandopop great again จริง

Higher Brothers

Chinese bands

‘Made in China, Made in China’ เชื่อว่าทุกคนต้องเคยได้ยินเพลงนี้ เพราะมันไวรัลมาก ในช่วงปีสองปีที่ผ่านมา และเพลงนี้นี่แหละที่ทำให้เรารู้จัก Higher Brothers พวกเขาคือ 4 แร็ปเปอร์สายแทร็ปสุดกวนจากเฉิงตู มณฑลเสฉวน โดยที่มาของชื่อก็ตั้งตามตู้เย็นยี่ห้อ Haier (ไฮเออร์) ที่พวกเขาใช้กันที่หอพัก (โว้ยยยยย) ประกอบไปด้วย MaSiWei, DZKnow, Psy.P, Melo ที่แอคทีฟกันมาตั้งแต่ปี 2016 ซึ่งก่อนจะมาอยู่ 88 Rising ก็เคยอยู่ในกลุ่มแร็ปเปอร์ที่ชื่อ Cheng-Du City Rap House ถือเป็นกลุ่มที่เล่นกับ internet culture ได้ถูกต้อง ตั้งแต่มิวสิกวิดิโอที่มีการล้อ 404 Not Found หรือ This video is not available in your country. แม้แต่ไอเดียการแต่งเนื้อแร็ปอย่าง Made in China ก็เป็นอะไรที่ครีเอตมาก เพราะอะไร ก็ผลิตในจีน ตั้งแต่เครื่องกระเบื้องลายคราม กำแพงเมืองจีนที่สร้างมาพันปี ไปจนถึงแบรนด์ดีไซเนอร์แพง แม้แต่พวกอั๊วสี่คนเนี่ยก็เป็นผลผลิตจากจีนโว้ย! เหมือนจะบอกว่าแร็ปจีนจะผงาดไรงี้

ประมาณปลายปี 2017 พวกเขาก็เคยมาเปิดการแสดงที่กรุงเทพ ร่วมกับตัวจี๊ดของค่ายอย่าง Rich Brian และ Joji มาแล้ว (เอ้า ไหนใครได้ไปบ้าง) ซึ่งว่ากันตามตรงตอนนั้นพวกเขายังไม่ได้โด่งดังในประเทศเราเท่าปัจจุบัน แต่มีแฟนเฉพาะกลุ่มสามารถแร็ปตามได้ทุกไรห์ม และโชว์ก็ lit มาก เดือดปุด สุด hyped และเปิดโลกการฟังสุด โชว์นึงเลย และบางคนก็อาจจะคุ้นกับพวกเขาจากที่ไปร่วม featuring กับ Phum Viphurit ขวัญใจชาวไทยของเราในเพลง Lover Boy 88 นั่นเอง

Chui Wan

จีนมีวง krautrock ว่ะ! เคราต์ร็อก (ชื่อก็น่าจะมาจาก sour kraut หรือผักดองเยอรมันแหละจ้า) คือแนวดนตรีที่พัฒนาขึ้นมาในเยอรมนีช่วงปลายยุค 60s ที่ผสมเอาไซคีเดลิก world music ฟังก์ แจ๊ส อิเล็กทรอนิก มากลั่นกรองจนเฮี้ยนสไตล์ดนตรีทดลอง ซึ่งวง Chui Wan เนี่ยก็ทำให้เราหลอนหูเป็นครั้งแรกจากเพลง Beijing is Sinking ตอนเดบิวต์ใหม่ รายการ MTV Iggy ถึงกับยกให้วงนี้เป็นวงไซคีเดลิกชั้นยอดที่ทุกคนควรลองฟัง พวกเขาเล่าว่าเพลงของพวกเขาได้แรงบันดาลใจมาจากนักปรัชญาชาวจีนอย่าง จวงจื๊อ ที่กล่าวว่า谓风吹万窍,发出各种音响。’ ‘When the wind blows, every sound may be heard therein’ ‘ทุกเสียงเป็นที่ประจักษ์ ที่นั้น ตราบเมื่อลมพัดผ่านประโยคนี้ทำให้พวกเขาไม่มีข้อจำกัดทางดนตรี หยิบจับเอาเครื่องดนตรีท้องถิ่นจีน หรือทำนองแบบ Cantopop (ป๊อปท้องถิ่นที่คนจีนทั่วไปฟังกัน) มาผสมกับซาวด์ดนตรีสากล เพิ่มแซมป์ที่ไม่ตรงจังหวะ หรือเลือกจะไม่บรรเลงตามแบบแผนจนกลายเป็นโครงสร้างเพลงที่คาดเดาไม่ได้ ตอนนี้พวกเขาปล่อยอัลบั้มชุดที่ 3 ออกมา ‘The Landscape the Tropics Never Had’ และมีไลฟ์เพลงจากอัลบั้มล่าสุดให้ได้ดูกันแล้ว ใครที่ชอบไซคีเดลิกแต่ก็อยากลองอะไรแปลก ให้หนักหูเล่นก็มาเจิมเพลงของพวกเขาได้

Leah Dou

คนที่ติดตามภาพยนตร์ฮ่องกงที่กำกับโดย Wong Kar Wai จะต้องรู้จัก Faye Wong อย่างแน่นอน และบางคนก็น่าจะรู้ว่านอกจากหวังเฟยจะเป็นนักแสดงแล้วยังเป็นนักร้องด้วย แต่ที่เราพูดถึงหวังเฟยก็เพราะว่า Leah Dou คือลูกสาวคนโตของเธอนั่นเอง! โต้วจินถง คือศิลปินจากปักกิ่ง วัย 22 ปี เดิมที่เคยมีผลงานวงดนตรีร่วมกับเพื่อน แต่ต่อมาก็ผันตัวมาเป็นศิลปินเดี่ยว ซึ่งแนวเพลงของโต้วจิ้งถงถือว่าฉีกและแหวกไปไกลจากแม่ของเธอมาก จะว่าเป็นแอมเบียนต์ ป๊อป ไซคีเดลิก ก็ได้ทั้งสิ้น เพราะเธอทำเพลงวาไรตี้มากแต่มีซาวด์ดีไซน์สุดเท่จากเครื่องดนตรีออร์แกนิกและอิเล็กทรอนิกผสมผสานกันอย่างลงตัว แล้วสอดประสานด้วยเสียงหวาน ของเธอเพื่อให้ฟังดูเป็นมิตรมากขึ้น

ในปี 2015 เธอได้ไปแสดงที่โตเกียว และจากนั้นก็ไปปรากฏตัวในเทศกาลดนตรี Clockenflap ที่ฮ่องกงในปีเดียวกัน พร้อมเดบิวต์ซิงเกิ้ล River Run ออกมาในสไตล์ทริปฮอป ร้องผสมภาษาจีนและอังกฤษสำเนียงเป๊ะ ความน่าสนใจในแนวเพลงแปลกใหม่และมีความเฉพาะตัวส่งให้เธอได้รางวัล QQ New Female Artist of the Year และ Most Searched Artist of the Year เมื่อปี 2016 เอาจริงว่าชื่อของแม่เธออาจจะมีส่วน แต่ผลงานที่เราฟังอยู่ด้านล่างนี้ก็ได้พิสูจน์แล้วว่าเธอเป็นคนที่มีความสามารถและน่าติดตามมาก คนนึง

Wang Wen

ความหลากหลายในวัฒนธรรมของประเทศนี้สร้างความประหลาดใจให้เราได้เสมอ ใครจะไปคิดว่าที่เมืองต้าเหลียนจะมีวงโพสต์ร็อก อัลเทอร์เนทิฟ แอมเบียนต์ดาร์กหม่นที่ฝีไม้ลายมือจัดจ้าน สามารถนำเสนอความแปลกใหม่ได้ตลอด 19 ปีที่ทำเพลง ทั้งเป็นที่ได้รับการยอมรับจากยอดฝีมือทางดนตรีทั่วโลก ซึ่งพวกเขาเองก็เคยร่วมแสดงกับวงโพสต์ร็อกตัวท็อปทั้ง Mogwai และ Mono ด้วย เชื่อว่าเพลง Lonely God ต้องเป็นหนึ่งในเพลงท็อปแรงค์ขอสายลอยแน่ ตอนนี้พวกเขาก็มีอัลบั้ม Invisible City ที่ได้นำหลาย เพลงมาเล่นโชว์ที่ Maho Rasop Music Festival และหลายคนคงประทับใจกับโชว์ที่ทรงพลังและรวดร้าวสมคำร่ำลือกันมาแล้ว

การเขียนเพลงคงไม่ใช่แค่การถ่ายทอดเรื่องราวของเราด้านเดียว แต่สามารถนำเสนอไปถึงเมืองของเราได้ในเชิงลึกและมีความซับซ้อนมากขึ้น ไม่ใช่แค่ในเรื่องว่า ตอนนี้เศรษฐกิจของเมืองกำลังเป็นขาขึ้นหรือขาลงแต่เมืองมีความน่าสนใจมากกว่านั้นตรงที่สามารถให้ความรู้สึกบางอย่างกับเราได้เหมือนกัน แล้วนำเสนอความสัมพันธ์ของเมืองกับผู้คนที่อาศัยอยู่ที่นั่นได้

Carsick Cars

วงอินดี้ร็อกจีนสามชิ้นจากปักกิ่งที่ถอดกลิ่นอายความเป็นวงดนตรี No Wave ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรมช่วง 70s 80s ในนิวยอร์กมาได้แบบถึงเครื่อง ซึ่งนักดนตรีนอกกระแสในปักกิ่งก็ตั้งกลุ่มขึ้นมาในชื่อ No Beijing เมื่อปี 2005 โดย Carsick Cars ก็เป็นหนึ่งในวงดนตรีจากกลุ่มนี้ที่ประสบความสำเร็จ และยังเคยเล่นเปิดให้ Sonic Youth ตอนไปทัวร์ยุโรปในปี 2007 และได้ไปเล่นที่ SXSW ในปี 2012 การไปปรากฏตัวต่อสายตาชาวโลกของทั้งสามคนทำให้มีคนเริ่มหันมาสนใจซีนดนตรีทางเลือกของปักกิ่งอยู่ไม่น้อย ซาวด์กีตาร์ฟัซทู่ ปั่น ดนตรีสนุก บ้างมีทำนอง บ้างเล่นอย่างเกรี้ยวกราด มีเสียงแทมบูรินเคาะจังหวะ เบสวิ่ง แต่ทุกอย่างถูกสวมไว้ด้วยการร้องเป็นภาษาจีนเท่านั้น บ้างก็เป็นการตะโกนดิบ แบบพังก์ บ้างก็เป็นการร้องใส่เมโลดี้เข้าไป อะไรแบบที่จับทางไม่ถูก คาดเดาไม่ได้นี่แหละที่จะทำให้วงดนตรีวงนี้ตอบโจทย์สายเดือด สาย art rock อย่างแน่นอน

SMZB

เฉ่งมิ้งชีบิง (生命之) หรือ SMZB คือวง celtic punk จากเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย พวกเขาฟอร์มวงกันขึ้นมาในปี 1996 โดยแทบจะเป็นวงพังก์แรก ในจีน เดิมทีพวกเขาได้แรงบันดาลใจจาก The Ramones, The Clash และ Sex Pistols เลยตั้งวงนี้ขึ้นมา ซึ่งเพลงของ SMZB จะมีส่วนผสมของพังก์ดิบ แต่ได้ยินเสียงปี่สก๊อตหรือไลน์กีตาร์โซโล่ที่คล้ายคลึงกับเสียงปี่เป็นระยะ (เหตุผลที่เรียกว่าเป็น celtic นั่นแล) โดยส่วนมากจะเป็นเพลงที่พูดถึงชีวิต เมือง และสังคม ตามขนบทั่วไปที่พังก์จะวิจารณ์การเมือง แต่นี่เองก็เป็นการทำให้เราได้รับรู้แง่มุมความไม่ชอบธรรมต่าง ที่อาจไม่เคยรับรู้มาก่อนจากรัฐบาลจีน ซึ่งแลกมาด้วยการที่พวกเขาถูกห้ามให้เล่นเพลงบางเพลง ไปจนถึงถูกแบนจากเทศกาลดนตรีหลาย ที่ในจีน Wu Wei ฟรอนต์แมนของวงก็เคยให้สัมภาษณ์ว่าเขาต้องใช้โทรศัพท์สองเครื่อง เพราะอีกเครื่องหนึ่งเขาถูกดักฟังจากคนของรัฐมาตั้งแต่ปี 2008 รวมไปถึงการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตของเขาด้วย อนึ่ง เขาคือคนที่ร่วมลงนามสนธิสัญญา Charter 08 ที่ทำให้ หลิวเสี่ยวโป นักเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชนที่ถูกจำคุกอยู่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ (ล่าสุดเสียชีวิตแล้ว)

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของวงดนตรีจากประเทศจีนที่เราหยิบยกมาแนะนำ เชื่อว่าในแต่ละแนวดนตรีก็น่าจะมีตัวพีคม้ามืด คลื่นใต้น้ำ หรือน้องใหม่มาแรงที่รอให้เราไปค้นพบอยู่ เริ่มสนุกกับการขุดวงดนตรีจีนมาไล่ฟังซะแล้วสิ

อ้างอิง
https://www.gq.com/story/the-american-dream-of-the-higher-brothers
https://noisey.vice.com/en_us/article/rjxn34/noisey-beats-1-apple-episode-30
https://www.scmp.com/culture/music/article/2109085/beijing-indie-rock-band-carsick-cars-reform-shanghai-music-festival
https://www.theguardian.com/music/musicblog/2014/oct/17/wu-wei-china-punk-wuhan
Facebook Comments

Next:


Montipa Virojpan

อิ๊ก เนิร์ดดนตรีที่เพิ่งกล้าเรียกตัวเองว่าเป็นนักเขียนตอนอายุ 25 ชอบเดินเร็ว นอกจากขนมปังกับกาแฟดำแล้วก็สามารถกินไอศกรีมกับคราฟต์เบียร์แทนมื้อเช้าได้