Article Interview

Govinda Bhasya เปิดโลกดนตรีภารตะ

  • Writer: Montipa Virojpan
  • Photographer: Neungburuj Butchaingam

อย่างที่รู้กันว่าวัฒนธรรมอินเดียไม่ใช่สิ่งไกลตัวเราเท่าไหร่นัก ศาสนาที่คนส่วนใหญ่ในบ้านเรานับถือก็มาจากอินเดีย คำบาลี-สันสกฤตที่เขาใช้กันเราก็ยืมมา อยากได้ผ้าต้องไปพาหุรัด หรือถ้าจำกันได้ ช่อง 5 ตอนเด็ก ๆ จะมีละครศึกมหาภารตะมาฉาย และจะมีภาพจำว่าหนังอินเดียต้องมีฉากร้องเพลงวิ่งซ่อนหากันหลังต้นไม้

แต่รู้หรือไม่ว่าเบื้องหลังสิ่งขำขันอันเป็นมายาคติของชาวไทยบางคน กลับสอดแทรกเรื่องราวของวิถีชีวิต ความเชื่อ หรือแม้แต่ความศักดิ์สิทธิ์เพราะใช้เป็นสิ่งบูชาเทพเจ้าในศาสนาฮินดู โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับดนตรีที่เสียงซีตาร์ก็ไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่เกินไปสำหรับนักฟังชาวไทย แต่ความน่าสนใจคือมีศิลปินไทยที่หยิบเอาเครื่องดนตรีหรือท่วงทำนองแบบอินเดียนี้มาปรับใช้กับดนตรีร่วมสมัย เป็นการเปิดโลกทัศน์ที่เราคุ้นชินให้กว้างขวาง แปลกใหม่ และน่าสนใจขึ้นอีกมากทีเดียว เราจะขอพาทุกคนมาทำความรู้จักกับศิลปินผู้นั้น Govinda Bhasya

img_3701

ตอนเรียนมหา’ลัยปีแรก นพ-นพรุจ สัจวรรณ ได้ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องปรัชญาศาสนาในอินเดีย จนได้มาพบว่าที่นั่นเขาใช้เพลงในการสวดบูชาพระเจ้า และตอนนั้นเองที่เขาได้มารู้จักกับซีตาร์เป็นครั้งแรก เขาประทับใจเสียงของเครื่องดนตรีชิ้นนี้และออกตามหาที่เรียนอยู่หลายเดือน จนได้ทราบว่าที่ศูนย์วัฒนธรรมอินเดีย (ICC) มีเปิดสอนอยู่ เขาจึงได้เรียนกับอาจารย์สุบราตา เด เป็นผู้ก่อตั้งกลุ่มดนตรีอินเดียคลาสสิก ‘สวาลันจีรี’ ที่นำดนตรีอินเดียไปเผยแพร่ในต่างประเทศ เป็นเวลาสองปี

“ดนตรีอินเดียเป็นมากกว่าดนตรี มันมีเรื่องของจิตใจ จิตวิญญาณ ศาสนา ความเชื่อ อย่างการบรรเลงซีตาร์หรือดนตรีอินเดียหลาย ๆ รูปแบบจะมีทำนองที่เรียกว่า ‘ราก้า’ ‘ราคะ’ หรือ ‘ร้าก’ (raga, raag) ตัวนี้แหละที่ทำให้ดนตรีอินเดียศักดิ์สิทธิ์ แต่ละราก้าจะถูกจัดอยู่ในแต่ละช่วงเวลาในหนึ่งวัน มีราก้าเช้า ราก้าเย็น ราก้าค่ำ เพราะมันมีที่มาว่า การทำอะไรถูกที่ถูกเวลามักจะเกิดสิ่งดี ๆ แล้วการกำเนิดของตัวราก้าเองส่วนใหญ่มาจากเทพเทวดาทั้งหลาย เลยทำให้ราก้าศักดิ์สิทธิ์ บางทีเวลาบรรเลงไปเนี่ย คนที่บรรเลงสามารถทำให้ผู้ฟังรู้สึกว่าได้กลิ่นไอฝน ได้กลิ่นดิน กลิ่นธรรมชาติ เหมือนเอาเท้าย่ำอยู่บนพื้นหญ้า หรือรู้สึกเย็น ร้อน อันนั้นคือการบรรเลงราก้าในระดับสูงสุดของคนที่บรรเลงดนตรีอินเดียแล้ว แต่น้อยคนที่จะไปถึงจุด ๆ นั้น อาจารย์ก็เคยบอกว่า บรรเลงเป็นพัน ๆ หมื่น ๆ ครั้งเนี่ย มีแค่ครั้งเดียวที่สามารถสัมผัสได้ถึงพระเป็นเจ้า มันไม่ใช่ดนตรีที่บรรเลงไปเรื่อย ๆ ทุกครั้งของการบรรเลงมันคือการทำสมาธิอย่างนึง”

ตอนเริ่มเรียนแรก ๆ ยากไหม

“ยาก แล้วก็เจ็บนิ้ว แต่รู้สึกเมื่อยมากกว่า เพราะมันมีท่านั่งเฉพาะ แต่ด้วยความชอบและรักมันจริง ๆ ก็ทำให้เราอดทนอยู่กับมันได้เป็นเวลานาน ๆ ทุกวันนี้ก็คิดว่ามันยากเพราะการบรรเลงของมัน บางคนบรรเลงเป็น 10 ปี 20 ปี ซ้อมหนักทุกวัน แต่ถ้าไม่มีอินเนอร์ ไม่เข้าใจ ก็จะเล่นไม่ได้ เขามีคำที่ว่า ‘เล่นไม่ได้ก็ต้องไปตายแล้วเกิดที่นู่นถึงจะเล่นได้’ คือมันไม่ใช่ดนตรีของเรา อินเนอร์ตั้งแต่เกิดก็ต่างกันแล้ว”

มีอยู่ช่วงนึงที่นพมีโอกาสไปปฏิบัติธรรมทางศาสนาฮินดู เขาได้เป็นคนนำร้องเพลงสรรเสริญพระเจ้า พระอาจารย์ท่านนึงจึงตั้งชื่อให้เขาว่า Govinda Bhasya ซึ่งโกวินด้าคือพระนามหนึ่งของพระกฤษณะ ส่วน บัสยะ หรือ ภษยะ คือภาษา การเอ่ย หรือการเปล่ง ทั้งสองคำนี้จึงมีความหมายว่า ‘ผู้เผยแพร่พระนามของพระเจ้า’ หลังจากนั้นเองนพจึงนำชื่อนี้มาใช้กับวงดนตรีของเขา ซึ่งอย่างที่เกริ่นมาในตอนต้น เพลงของนพไม่ใช่ clssical Indian ซะทีเดียว เพราะรูปแบบการบรรเลงค่อนข้างยาก ต้องใช้เวลาในการฝึกฝนจังหวะ ทำนอง และถ้าเป็นแบบดั้งเดิมเลยก็อาจจะฟังได้แค่บางคน เขาจึงเลือกที่จะหยิบมาแค่ส่วนที่เขาเล่นได้อย่างมั่นใจและยังคงแบบแผนไว้ แต่ด้วยความที่ชอบดนตรีสากลอื่น ๆ ด้วย เขาจึงนำซีตาร์มาผสมกับเครื่องดนตรีสากลอื่น ๆ มาเล่น กับ กีตาร์ เบส กลอง percussion ต่าง ๆ ในรูปแบบดนตรีแจ๊ส ฟังก์ ฟิวชัน ไซคีเดลิกร็อก ซึ่งถือเป็นการปรุงใหม่ให้ถูกหูคนไทย แต่ยังมีความหลากหลายไม่จำเจ

“ใน EP ก็ตั้งใจให้รู้สึกว่าเราเอาดนตรีอินเดียมาผสมกับดนตรีอิเล็กทรอนิก คือให้มีความเป็น chill out ฟังง่ายขึ้น แต่ก็อยากขายความเป็นอินเดียแท้ ๆ ด้วย ก็เลยใส่ดนตรีที่เป็นคลาสสิกเข้าไป”

img_3673

อยากลองผสมอินเดียกับอย่างอื่นบ้างไหมนอกจากฟังก์ อิเล็กทรอนิก

อยากผสมกับดนตรีที่เป็นแบบแผนอย่างอื่นบ้าง อย่างเช่นการเล่นเครื่องดนตรีอินเดียในลักษณะการบรรเลงแบบเพลงไทย เช่น เพลงเดี่ยว เพลงกราวใน นี่เป็นสิ่งที่คิดไว้แต่ไม่ได้ทำเร็ว ๆ นี้หรอก เพราะจะต้องไปต่อเพลง ไปเรียน หาข้อมูลเยอะมากมาย แต่ก่อนมีคนทำเหมือนเขาเป็นตำรวจ ไปเดี่ยวเพลงไทยแต่ใช้คลาริเน็ตเล่น หรือเปียโนบ้าง เราก็ได้ไอเดียมาจากตรงนั้นก็อยากลองทำดูบ้าง เพราะไหน ๆ เราก็อยู่ในประเทศไทยก็ลองเอาเพลงไทยมาทำบ้างสักเพลง

จะมีอัลบั้มเต็มให้ฟังไหม

กำลังทำครับ ทีละนิดทีละหน่อย ทำเรื่อย ๆ แล้วก็รอให้มันตกผลึก รอช่วงเวลาที่มันคงที่ เพราะตอนนี้ก็มีเรียนต่อด้วย ก็กะว่าถ้าเรียนต่อเสร็จปุ๊บ ได้งานประจำอะไรทำค่อยตัดสินใจอัดเพลงรวดเดียว ช่วงนี้ก็หาไอเดีย คิดได้แล้วก็ใส่เข้าไป ๆ ในเพลงก่อน ได้เท่าไหนก็เอาไว้แค่นั้น นึกอะไรก็เขียนไว้ก่อน แล้วค่อยมาขัดเกลาให้มันกลมอีกทีนึง ปีหน้าก็น่าจะได้ฟังอัลบั้มเต็ม

เวลาเล่นสดมีใครมาช่วยเล่น

ช่วงแรก ๆ เนี่ย ทำวงแล้วไม่ได้คิดว่าต้องเล่นสดยังไง ก็เลยว่าต้องไปเล่นสดในแบบที่ไม่ได้เล่นเพลงในอัลบั้มตัวเอง ช่วงแรกมีแค่มือทับบล้าคนญี่ปุ่น ส่วนตัวเองก็เล่นซีตาร์ แล้วหาคนอื่นมาแจมบ้างเวลาไปเล่นตามงาน มีพี่ย้งมาช่วยแจมเล่นไวโอลินบ้าง เล่นกีตาร์บ้าง หลาย ๆ คนก็มาช่วยเล่น หลัง ๆ เลยเห็นท่าว่าจะเล่นเพลงตัวเองโดยที่เล่นคนเดียว เอาเพลงคลาสสิกไปเล่นเนี่ย คนน่าจะเริ่มเบื่อแล้ว ก็เลยตัดสินใจทำวงขึ้นมาเลย ก็เอาสมาชิกเข้ามา แรกเริ่มเดิมทีสมาชิกก็เป็นการหยิบยืมน้อง ๆ ในวงการดนตรีที่รู้จักกัน อย่างล่าสุดงาน Psych Out ที่เล่น มือเบสก็เป็นเด็กศิลปากรชื่อ ไหม แล้วก็มีแอค มีแบงค์ Kinetics มาตีกลอง หลังจากนั้นก็คิดว่าจะไปให้น้องมาเล่นบ่อยก็ไม่ได้เพราะน้องก็มีงาน มีวงของตัวเอง ก็เลยตัดสินใจว่าอยากได้สมาชิกถาวร ก็เลยไปหารุ่นน้องที่มหา’ลัยที่เล่นเพลงสำเนียงฟังก์ได้ เล่นเพลงแจ๊สได้ เอามาทำ เวลาทำเพลงเราจะได้ไม่ต้องจูนมาก บางคนถนัดเล่นร็อกแต่ให้ไปเล่นแจ๊ส ฟังก์ ก็ไม่ถนัด ต้องมาดัน ๆ กัน เสียเวลา ก็เลยเอาคนที่มันถนัดอยู่แล้วเข้ามาเล่น เวลาไปเล่นที่งาน Noise Market ครั้งล่าสุด แล้วก็ที่ Stone Free 4

มีวงไทยที่ใช้เครื่องดนตรีอินเดียอีกไหม

มี แต่อันนี้เขาเป็นผู้ใหญ่ อายุเยอะละ ชื่อพี่นุภาพ สวันตรัจฉ์ เขาเป็นนักดนตรีรุ่นเก่า ๆ ใช้ชื่อว่า Nu Pachino เขาก็เป็นคนที่ชอบเครื่องดนตรีอินเดียเหมือนกัน เขาก็เอาซีตาร์มาบรรเลงในเพลงของเขาในรูปแบบที่เขาเล่นได้ เขามีอัลบั้มด้วย แล้วก็มี Paranasri Orchestra หรือ Chladni Chandi เพลงนึงที่ใช้ซีตาร์ แล้วเหมือนจะเคยได้ยิน The Photo Sticker Machine เอาซาวด์มาใช้ พี่เมธี Moderndog ก็เหมือนเคยเล่น

แสดงว่าดนตรีอินเดียค่อนข้างแพร่หลายในกลุ่มนักดนตรีแล้ว

ครับ ค่อนข้างแพร่หลายในกลุ่มคนที่ฟังดนตรีที่ไม่ใช่แนวตลาดเท่าไหร่ ก็ฟังเพลงลึก ๆ หรือฟังกว้าง ๆ หลากหลายก็มีส่วนเอาดนตรีพวกนี้มาใช้ บางวงอาจจะไม่ได้เอาเครื่องดนตรีอินเดียมาใช้ แต่เอาทำนองที่ให้ความรู้สึกว่าเป็นอินเดีย อย่าง ริค วชิรปิลันธิ์ ก็เอามาใช้หลาย ๆ วงก็มีเยอะ

Chikari Backyard
Chikari Backyard

ก่อนหน้านี้เคยจัดงาน world music เล็ก ๆ

นพ: ที่บ้านทอมมี่ Srirajah Rockers คือทุกครั้งที่อาจารย์ซีตาร์เรามาก็อยากมีงานให้เขาได้แสดง ด้วยความที่ว่างบเรามีจำกัด เราก็ต้องหาที่ที่มันประหยัดงบที่สุด ก็จัดให้มีเล่นแบบไม่เก็บค่าบัตร เราอยากเปิดกว้างให้คนที่ไม่เคยฟังหรืออยากเข้ามาดูแล้วเอาพี่อ้น Honon Handpan มาเล่นเปิดให้ คือนอกจากจะได้ดูดนตรีอินเดียแล้วยังจะได้ดูดนตรีอย่างอื่นด้วย คือไม่อยากให้เป็นธีมอินเดียมากเกินไปเพราะดนตรีอินเดียคลาสสิกมันจะฟังได้แค่ช่วงระดับนึง ถ้าไม่ใช่คนที่ชอบจริง ๆ ฟังได้แปปเดียวก็เบื่อ อย่างผมกับพี่ย้ง Chladni Chandi สามารถนั่งฟังได้เรื่อย ๆ

ย้ง Chladni Chandi: เขามีวิธีฟังด้วยนะ อย่างเพลงคลาสสิกอินเดียนอกจากราก้าก็มาตาละ มันคือการฟิกซ์จังหวะเลยว่า ชุดนึงเนี่ย 16 8 9 ถ้าเรานับตามได้มันก็จะเพิ่มอรรถรสในการฟังเวลาเขาเล่น ถ้าเรานับลงตามที่เขาเน้นพอดีมันจะสนุก

จะจัดงานแบบนี้อีกไหม

เดี๋ยวจะมีที่ Brownstone 21 ธันวา ฯ Govinda Bhasya จะไปเล่นงานส่งท้ายปี เดี๋ยวปีหน้าจะไปทำอัลบั้ม เริ่มหาที่เล่น โปรโมตมากขึ้นหน่อยเพราะช่วงนี้ยุ่ง ๆ เรื่องเรียน เรื่องอะไร

เป็นครูสอนซีตาร์ด้วย คนส่วนใหญ่ที่มาเรียนด้วยเป็นใคร

มีคนที่สนใจจริง ๆ แล้วเหมือนกับว่าอยากหาที่เรียนมานานแล้วแต่ไม่รู้จะไปเรียนที่ไหน พอที่นี่มีเขาก็มาเรียน แล้วก็ คนที่เป็นกลุ่มคนที่เคยเห็นหน้าค่าตาหรือรู้จักกันในวงการ บางทีก็เป็นน้อง ๆ ที่ติดตามฟังเพลงนอกกระแสในยุคปัจจุบันอยู่แล้วก็ชอบวงไซคีเดลิกอย่าง Chladni Chandi เขาก็มาเรียน คนที่ชอบตามหา หรือคนที่ไม่เคยรู้จักวงดนตรีนอกกระแสอะไรพวกนี้ แต่เคยได้ยินซีตาร์แล้วรู้สึกอยากเรียน ก็เข้ามาเรียน แก่สุดที่เจอนี่เขาเป็นช่างกรมศิลปากร อยู่ในสำนักช่างสิบหมู่ อันนี้เขาก็จะเป็นคนที่ฟังเพลง ฟังดนตรีอยู่แล้ว เขาก็ชอบดนตรีอินเดียด้วย ก็อยากรู้ อยากสัมผัสมัน เด็กสุดก็น่าจะเป็นเด็กมหา’ลัยที่เขามาเรียน ต่ำกว่ามหา’ลัยยังไม่มี

นอกจากที่ Sky Music Academy กับที่ ICC จะมี community ศิลปะอินเดียที่ไหนอีกไหม

มันเคยมีโรงเรียนแถว ๆ ทองหล่อ ไม่แน่ใจว่าชื่อโรงเรียนอะไร เขาก็มีสอนเต้น สอนร้องดนตรีอินเดีย แล้วก็จะเป็นวงในมาก ๆ คือต้องเป็นคนที่รู้จักกันจริง ๆ แล้วไปเรียนตามบ้าน เรียนตามวัด ส่วนใหญ่เขาไปเรียนทับบล้า ฮาร์โมเนียม ซีตาร์ไม่ค่อยมี ก็จะเป็นคนที่สนใจหรือศึกษาค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับอินเดียไปตามบ้านแล้วขอเขาเรียนมากกว่า

img_3700

ฝากผลงาน

อยากให้ติดตาม ใน YouTube มีอยู่ระดับนึง ทั้งเพลงใหม่ เพลงเก่า แล้วก็เดี๋ยวปีหน้า ไม่นานเกินรอ ไม่น่าเกินสงกรานต์ช่วงกลาง ๆ ปีก็น่าจะได้มีอัลบั้มเต็มของ Govinda Bhasya แล้ว ก่อนหน้าก็จะพยายามตระเวนโปรโมต ก็คอยติดตามทาง Fanpage ได้

รับฟังเพลงของ Govinda Bhasya บนฟังใจได้ ที่นี่

Facebook Comments

Next:


Montipa Virojpan

อิ๊ก เนิร์ดดนตรีที่เพิ่งกล้าเรียกตัวเองว่าเป็นนักเขียนตอนอายุ 25 ชอบเดินเร็ว นอกจากขนมปังกับกาแฟดำแล้วก็สามารถกินไอศกรีมกับคราฟต์เบียร์แทนมื้อเช้าได้