Article Interview

ชัพวิชญ์ เต็มนิธิกุล กับความสำเร็จในวงการดนตรีประกอบภาพยนตร์ที่ไม่ได้มาเพราะโชคช่วย

  • Writer: Montipa Virojpan
  • Photographer: Chavit Mayot

หลังจากที่เราเคยนำเสนอเรื่องราวของนักทำดนตรีประกอบภาพยนตร์ไปแล้วหลายราย คราวนี้ก็ถึงเวลาของ ฟิว—ชัพวิชญ์ เต็มนิธิกุล นักทำเพลงประกอบมือรางวัล ที่เคยได้รับรางวัลดนตรีประกอบยอดเยี่ยมจากเรื่อง ‘อนธการ’ (The Blue Hour) รายการ Starpics Thai Films Awards ครั้งที่ 13 และชมรมวิจารณ์บันเทิง ครั้งที่ 24 รวมไปถึงถูกเสนอชื่อเข้าชิงในรายการเดียวกันครั้งที่ 25 จากเรื่อง ‘ปั๊มน้ำมัน’ ซึ่งก่อนหน้านี้ในครั้งที่ 23 ก็ได้เข้าชิงจากเรื่อง ‘W’ มาแล้ว

ด้วยความที่เขามีผลงานออกมาอย่างต่อเนื่องและได้รับรางวัลสามปีติดต่อกัน และสำหรับคนที่ไม่รู้ ฟิว ยังเป็นศิลปินเพลงอิเล็กทรอนิกที่ถูกพูดถึงในชื่อ Phil_WC ในวงการเพลงใต้ดินช่วงหนึ่ง เราเลยอยากชวนเขามาพูดคุยทำความรู้จักและเข้าใจถึงวิธีการทำงาน รวมทั้งแนวคิดในการสร้างสรรค์งานของเขาที่เราอาจไม่รู้มาก่อน

img_9578

ทำไมต้องเป็น Phil_WC

มันเป็นชื่อเก่าที่ใช้ตั้งแต่ .ปลาย ก็เลยติดมาใช้ ซึ่ง WC มาจาก Weekly Cartoon เวลาพูดนี่อายนะ (หัวเราะ) เพราะตอนนั้นเราวาดการ์ตูนเล่นให้เพื่อนในห้องอ่าน สมัยนั้นเลือกไว้ว่าจะเข้าเรียนต่อสองสาย มีนิเทศศิลป์ กับ composition แล้วก็สอบติดทั้งคู่ แต่สุดท้ายเอาดนตรี

ทำไมถึงเลือกดนตรี

เพราะเราคิดว่า ไปทางดนตรีการแข่งขันมันน้อยกว่า คนทำเป็นไม่ค่อยเยอะ มี demand ในตลาดมากกว่าถ้าเทียบกับจำนวนคนจบ จบมาก็น่าจะไปได้ไกลกว่า เพราะเราก็ไม่ได้เก่ง art ขนาดนั้น

ไม่ได้ฟังเพลงแบบเด็กวัยรุ่นส่วนใหญ่ฟังเลยหรอ โปเตโต้ บอดี้สแลม

ไม่ได้ฟัง ถ้าฟังแบบคนส่วนใหญ่ฟังคงเป็นช่วงประถมปลาย พวก Generation X แต่หลังจากนั้นก็ไม่ได้ฟังเพลงไทยแล้ว มาฟัง The Beatles หรือ progressive rock ฝั่งยุโรป

มาเจออะไรพวกนี้ได้ยังไง

พ่อฟัง The Beatles กับ Pink Floyd แล้วเราก็สนใจ ช่วงม.ปลายเป็นช่วงที่หางานใหม่ ๆ มาฟังผ่านเว็บ progarchive.com มันจะมีตัวอย่างเพลงให้แล้วก็คลิกไปเรื่อย ชอบเพลงไหนก็ไปหาฟังต่อ ก็เจอหลายวงมาก แล้วมันก็ขยายแนวไปเรื่อย ๆ  avant garde, free jazz, งานทดลองต่าง ๆ ต่อยอดไปไกลมาก มันเป็นอิสระจากทฤษฎีทั่ว ไปดี

เริ่มเขียนเพลงครั้งแรกตอนไหน

ช่วง .6 ลงโปรแกรม Guitar Pro ก็ลองเขียน tab note พยายามให้ออกมาเป็น progressive rock แต่ก็ออกมาเหี้ย

เล่นเครื่องดนตรีบ้างหรือเปล่า

เคยทำวง tribute เพลงของ Pink Floyd เล่นคีย์บอร์ดเป็นอยู่อย่างเดียว เพราะเคยเรียนเปียโนคลาสสิกตอนเด็ก

ทำ prog rock แล้วทำไมอยู่ กลายมาเป็น ambient แบบที่ได้ฟังกัน

มันคือยุคต่อมาหลังจากทำ prog rock แล้ว อัลบั้มที่เริ่มทำ ambient น่าจะช่วงรอยต่อ .6 ถึง ปีหนึ่ง เป็น ambient ที่ออกไปในเชิงทดลองมากกว่า จะใส่ noise เอฟเฟกต์ มีกดซินธ์บ้าง แล้วถึงแม้งานมันจะไม่ได้สมบูรณ์มากเราก็ลองเอาออกมาให้คนฟัง

พอเข้าไปเรียน composition ที่รังสิต หลักสูตรตอบโจทย์เราขนาดไหน

พอสมควรเลย ของเราจะมีเรียน private เชิงคอนเซปต์งาน ที่เขาเจาะลึกลงไปว่า คนยุคนี้เขาแต่งเพลงกันยังไง เรียนวิเคราะห์โน้ต serious music ยุคศตวรรษที่ 20-21 ใช้คอนเซปต์โน้ตแบบนี้ เขาก็จะเอาเซ็ตของโน้ตนี้ไปกระจายทั้งเพลง เราต้องมาดูว่า มันจะมี motive (ดนตรีที่มีจังหวะหรือทำนองสั้น จำได้ง่ายในทำนองเพลงหลัก) ที่กระจายไปยังไงบ้าง บางทีก็มาวิเคราะห์เนื้อเสียง เรียนในทางเทคนิกหมดเลย แต่ก็จะมีวิชาทั่วไป อย่างประวัติศาสตร์ดนตรี ทฤษฎีพื้นฐานด้วย

แล้วเขามีวิชา film scoring ด้วยหรือเปล่า

ตอนนั้นยังไม่มี เรามาฝึกเองช่วงปีสองมั้ง เพราะมันไม่ได้ต่างกันมากนัก แต่การ compose สำหรับหนังมันไม่ได้ยากแบบ serious music composition หนังเรื่องแรกที่ทำชื่อ ‘Flood Book’ ของพี่หมู—ชยนพ บุญประกอบ พอดี อาร์ม—ชลสิทธิ์ อุปนิกขิต เป็นคนตัดหนังเรื่องนั้น เขาเป็นเพื่อนเราบนเฟสบุ๊กแล้วเห็นเราแชร์งานก็เลยชวนมาทำ

img_9592

ตอนนั้นคิดหรือยังว่าจะมาเป็นคนทำเพลงประกอบหนัง

ยังไม่ได้คิดไกล เราแค่อยากแต่งเพลง ทำเพลงของตัวเอง อาจจะเป็น serious music ไปก็ได้ แต่พอมาจับหนังเราก็ชอบ รู้สึกว่ามันหาเงินง่ายกว่าการไปเขียน serious music พวก contemporary classical ที่เขาชอบเล่นที่มหิดลอะไรงี้ มัน niche มากแล้วหาเงินยาก ส่วนใหญ่ที่เขาแต่งกันเพราะได้ทุนมาแต่งหรือมีคนจ้างไปแต่ง ซึ่งมันต้องเก่งจริง ด้วยถึงจะอยู่รอด แต่การทำเพลงประกอบหนังเนี่ย มันยังไปทำงานสาย commercial ต่าง  ได้ด้วย

แล้วทำไมผันตัวมาเป็นคนทำเพลงประกอบเต็มตัว

มาชอบจริง ตอน ปี 2 ปี 3 ก่อนหน้านั้นดูแต่หนังในกระแส หนังเข้าโรงเมเจอร์ทั่วไป ที่มาตามดูหนังนอกกระแสบ้างเพราะเพื่อนไปทำหนังกันมากขึ้นเลยได้เห็นมุมมองอะไรใหม่ แล้วเราก็เริ่มมาจากการทำเพลงให้หนังทดลอง เพลงเราก็ทดลองด้วย เป็นหนังยาวเรื่องแรกที่มีเครดิตคือเรื่อง ‘Mother’ ของวรกร ฤทัยวานิชกุล เป็นหนังสไตล์ยุโรป เลยลองหางานทดลองอื่น ดู

เคยทำเพลงให้หนังกระแสหลักหรือเปล่า

เคยทำให้หนังโรแมนติกคอเมดี้ เรื่อง ‘Love Say Hay’ ของ จ๊อบ—ณภัทร ใจเที่ยงธรรม ก่อนหน้านี้เขาก็ทำหนังอีกสองเรื่อง ‘เลิฟ คัมมิ่ง ใช่รักหรือเปล่า’ กับ ‘เลิฟเลิฟยู อยากบอกให้รู้ว่ารัก’ ซึ่งก็ยังเป็นค่ายหนังเล็ก ๆ อยู่

ใช้เวลาทำเพลงนึงเท่าไหร่

บางทีเดือนเดียว บางทีก็สองเดือน คือมันรีบมาก วิธีการทำงานของเรามีอยู่สองสามแบบ หนังที่ได้ทำเพลงก่อน ทำกับพี่นุชชี่—อนุชา บุญยวรรธนะ คุยบท อ่านบท แล้วเขียนธีมขึ้นมาก่อน วิธีนี้จะทำให้เพลงประกอบหนัง unique ที่สุด พึ่ง temp track น้อยที่สุด แบบที่สองคือการได้ดูคัตหนังแล้ว แล้วค่อยทำเพลง อันนี้ก็หลีกเลี่ยงธีมได้ประมาณนึง เป็นงานที่ไม่เร่งเท่าไหร่ ใช้เวลาสั้นลง บางทีเราได้ดู draft cut ก่อนแล้วค่อยมาวางโครงเพลงคร่าว  temp track ลงไปแล้วเราคิดสไตล์จากตรงนั้น อีกวิธีคือใช้กับหนังที่เร่ง เขาจะวางเพลงมาให้เลย แล้วเราแต่งตาม reference เป็นวิธีที่นิยมในหนังไทย ส่วนใหญ่หนังไม่อินดี้จะเน้นงานเร็ว

แต่วิธีที่เราชอบคือการเข้ามาติดต่อก่อนช่วงเขียนบท pre production เพื่อแต่งธีมได้ก่อนจากการอ่านบท เป็นวิธีที่ Hans Zimmer ชอบทำ หนัง ‘Arrival’ ก็ทำจากวิธีนี้ คุยคอนเซปต์กันให้เรียบร้อยแล้วปล่อยให้ composer คิด ทำให้เพลงมีคุณค่าในตัวเองด้วย แต่ค่าแรงต่างประเทศมันอยู่ในระดับที่เยอะเลยมีเวลาให้ทำงานได้นาน ข้อดีของการที่เวลาเยอะคือเราจะได้ใช้เวลาพิถีพิถันกับมัน แต่ก็ไม่ค่อยนิยมในไทยเพราะยิ่งใช้เวลานานมันมีค่าใช้จ่าย

มีใครเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างงานหรือเปล่า

สกอร์แรกที่ชอบคือ Michael Nyman เพลงประกอบเรื่อง ‘The Piano’ เพราะพ่อเปิด ช่วงแรก มันเป็นแรงบันดาลใจให้เราเพราะมันเพราะมาก แล้วก็ชอบ Hans Zimmer นะ แต่หลัง เฉย แล้ว แล้วก็มี John Williams เพราะชอบ ‘Star Wars’ มาก  หลังจากนั้นก็ฟังหมด หาฟังเรื่อย เราว่าการฟังเพลงเยอะ  หรือการเป็นนักฟังมันมีประโยชน์ ยิ่งคนเป็นนักทำเพลงประกอบหนัง ต้องเป็นทั้งนักดูและนักฟัง มันจะทำให้ดึงไอเดียออกมาเยอะกว่าจากการผสมไอเดียของคนนู้นคนนี้เข้าด้วยกัน สมัยนี้จะทำอะไรที่เป็นออริจินัลมันยากมาก โดยเฉพาะเพลงประกอบหนัง เราต้องทำเพื่อหนัง ไม่ใช่ทำเพื่อตัวเอง แล้วเพราะอย่างนี้มันเลยทำให้เราชื่นชมเพลงจากเรื่อง ‘Arrival’ เพราะมันออริจินัลมาก เสียง หว่อบต๊อบ ของมันอะ ในยุคนี้เป็นอะไรที่ยากมากที่จะทำไอเดียให้ออกมาออริจินัล ลิสต์เข้าชิงของ Golden Globe ปีนี้ชอบหมด ทั้ง ‘Moonlight’, ‘Lion’ เป็นงานที่มีความเป็นออริจินัลเหมือนกัน อย่าง ‘Moonlight’ เขาใช้เทคนิกการเล่นไวโอลินในแบบที่คนเขาไม่ค่อยเล่นกัน เราฟังแล้วมันต่างจากเรื่องอื่น

งานของฟิวมีความเฉพาะตัวยังไง

งานทดลองที่ทำให้พี่นุชชี่ เรื่อง ‘อนธการ’ (The Blue Hour) ที่มีความออริจินัลสูงเพราะมันพัฒนามาจากเพลงในอัลบั้มเรา แล้วเอาธีมมาใช้ แล้วเข้ากับหนังมาก โดยบังเอิญ เรื่อง ‘Mother’ ก็มาจากงานส่วนตัว

แล้วมีงานที่คิดขึ้นใหม่จากตัวหนังไหม

ส่วนใหญ่จะเป็นอย่างนั้นแหละ ความยากคือการคิดทำนอง คิดธีมไม่ให้ซ้ำกับคนอื่น คิดไปเรื่อย เราเช็กตลอด บางทีก็ให้เพื่อนช่วยฟัง มันไม่ได้ทำเพลงประกอบแต่เป็นนักฟังที่ฟังเยอะกว่าเรามาก บางทีคิดออกมาลองฟังดูแล้วมันซ้ำ ด้วยความที่เราฟังเยอะแล้วมันบังเอิญไปเหมือนอันนู้นอันนี้ เพราะมันออกมาจากความทรงจำ เราก็ต้องแก้ หลังจากนั้นเราค่อยเอามา manipulate ให้เข้ากับภาพได้แล้วเพราะมันมีธีม แต่การคิด motive ก็ใช้เวลาหลายวัน

มันจะมีลูกค้าสองประเภท คือปล่อยให้เราคิด และตามเรฟ ถ้าตามเรฟก็จะฟังออก แต่ก็เป็นเรื่องของเขา เอาจริง วงการฮอลลิวู้ดก็เป็นอย่างนี้ เขาก็ทำกัน มีการดีเบตกัน จะเหมือนแก้ตัวก็ได้แต่มันเป็นอะไรที่เลี่ยงไม่ได้ในบางที ในเมื่ออารมณ์มันมาแบบนี้แล้ว ถ้าหลุดไปจากนี้มันก็ไม่ใช่ ก็ต้องตามเรฟไป ถึงแม้จะฟังออกว่าได้อันนี้มา แต่ขอให้แค่เพลงที่ออกมามันไม่เหมือนก็พอแล้ว

img_9597

งานที่ทำให้เป็นที่รู้จัก

ก่อนหน้านี้ก็ได้ทำหนังของ อาร์ม ชลสิทธิ์ เรื่อง ‘W’ ได้ไปฉายที่ปูซาน แล้วก็ได้ร่วมงานกับพี่เต๋อ—นวพล ธำรงค์รัตนฤทธิ์ ทำ ‘Marry is Happy, Marry is Happy’ แต่ทำไม่กี่คิว น่าจะ ‘อนธการ’ เนี่ยแหละที่ได้รางวัล แต่ก่อนหน้านี้ที่คนเริ่มรู้จักมาจากการทำอัลบั้มและออกไปเล่นสดในงาน ambient experimental ซึ่งก็มีคนตามบ้างแหละ ถ้านี่คือกลุ่มอินดี้แล้ว เราคือหลุดกระเด็นออกไปอีกเพราะเราทำเฉพาะทางเหี้ย มีแค่คนไม่กี่คนที่ฟังอะไรพวกนี้ได้ แค่งาน noise มันก็เฉพาะทางชิบหายแล้ว

พอเพลงได้รางวัลแล้วก็ทำให้งานเข้ามาเยอะขึ้นด้วย

ใช่ ก็เหมือนเขาบอกต่อ กัน เพื่อนในวงการหนังแอดเฟซบุ๊กกันมามากขึ้นด้วย มันก็ดีที่เวลาเราอัพข่าว อัพอะไรเขาก็ได้เห็นเราใน feed ตอนนี้การทำงานกับพี่นุชชี่เป็นอะไรที่ชอบที่สุดแล้ว พี่กอล์ฟ—ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์  ผู้กำกับ ‘ปั๊มน้ำมัน’ ก็ชอบ พี่จ๊อบก็ให้อิสระให้เราในการทำสกอร์มาก เขาไม่วางเรฟเลย ให้เราคิดหมดเลย แก้ไม่เยอะ อันไหนเราโอเค เขาก็โอเค

สิ่งที่ต้องรู้ก่อนมาทำเพลงประกอบภาพยนตร์

ต้องทำเพลงเป็น เดี๋ยวนี้การทำเพลงประกอบมันไม่จำเป็นต้องมาจากสายคลาสสิกอย่างเดียว ไม่จำเป็นต้องจ้างคนจบมาโดยตรง แต่คนที่จ้างก็ต้องจ้างให้ถูกสไตล์ด้วย ไม่ใช่จ้างคนทำเพลงป๊อปไปทำ orchestra มันก็จะออกมาไม่ดี คล้าย กับคนทำ ‘Motel Mist’ ต้องให้เขาทำสิ่งที่เขาถนัด ถึงจะเวิร์กที่สุด ส่วนเราก็ถนัดออเคสตร้ากับอิเล็กทรอนิก

คิดจะเป็นโปรดิวเซอร์หรือดีเจกับเขาไหม

อยากเป็นโปรดิวเซอร์เพลงอิเล็กทรอนิก เพลงแดนซ์ เราชอบฟังอยู่แล้ว ปีนี้จะมีโปรเจกต์เพลงแดนซ์เข้ามาเยอะ ล่าสุดที่ทำไปคือ remix ให้รายการ The Face เอาไว้เปิดเป็นแบคกราวด์ของ final walk แล้วก่อนหน้านี้ก็มีคนจ้างให้ทำเพลงแดนซ์อินดี้ เขาอยากมีเพลงแดนซ์ของเขา แค่มีเนื้อร้อง อัดมาแล้ว แล้วให้เราทำดนตรีให้ ในอนาคตก็อาจจะมีอีกที่ติดต่อมา

เคยทำเพลงอิเล็กทรอนิกประกอบหนังไหม

ยังไม่เคย ส่วนใหญ่ที่ทำจะเป็นเครื่องอะคูสติกผสมกับซาวด์อิเล็กทรอนิก แต่ในอนาคตจะมีหนังอินดี้แนว psychological thriller ที่เราว่าอยากจะทำเป็นอิเล็กทรอนิกทั้งเรื่อง ตอนนี้รอเขา post production อยู่ แล้วเดี๋ยวจะมีหนังยาวที่เราทำเพลง ได้ฉายปีนี้ 2 เรื่อง แล้วจะออก original score ของตัวเองลง digital store ทั้งหลาย

ตอนหลังไปเรียนต่อ film scoring โดยตรงเลยด้วย

ที่ UCLA Extension เป็น diploma เฉพาะทาง ยังไงคนที่มาสอนเขาก็เป็นคนที่อยู่ในวงการที่ต้องรู้จริงอยู่แล้ว ได้เรียนกับ orchestrator ที่เคยเรียบเรียงให้ Michael Giacchino มาสอน ที่ไทยมันไม่มีสอนลึกขนาดนี้เพราะน้อยคนที่จะได้ไปทำในวงการฮอลลิวู้ดจริง เรียนปีครึ่ง นี่จบก็เพิ่งกลับมา

ถ้าอยากเรียน film scoring ต้องไปที่ไหนบ้าง

USC, UCLA, NYU, Berkley, Columbia ถ้าใครสนใจก็ 5 ที่นี้ที่เป็นที่นิยมไปเรียนกัน

ตอนอยู่นู่นได้ทำหนังหรือเปล่า

ทำ แต่ส่วนใหญ่เป็นหนังสั้น ได้ฉาย LA Film Festival ฉาย Alt Fest เทศกาลในแถบนั้น แล้วก็เคยทำงานกับ Josh Kim ผู้กำกับ ‘พี่ชาย My Hero’ ที่ทำ additional score ให้ รู้จักเขาตอนเทศกาลเบอร์ลิน ก็สนุกดีที่ได้ร่วมงานกับต่างชาติด้วย

วิธีการทำงานต่างกับคนไทยไหม

ไม่ค่อยต่างกัน นิสัย วัฒนธรรมไม่เป็นปัญหา เพราะวิธีการก็จะเป็นแบบที่เรียน มาเหมือนกัน reference ยังจะคล้าย กัน บางทีมันเป็นเรื่องง่ายด้วย

แต่ในแง่จำนวนคนที่ทำเนี่ย เมืองนอกเขามีทีมงานใหญ่ เพราะเงินเขาเยอะ อย่าง Hans Zimmer เขาเหมือนเป็นคนกำกับดนตรีมากกว่า อาจจะคิดแค่ธีมคร่าว แล้วโยนไปให้ผู้ช่วยที่เขาไว้ใจได้ทำต่อ แต่ John Williams เขาจะจบงานที่เขา เขียนสกอร์เอง กำหนดเครื่องดนตรีเรียบร้อยแล้ว แล้วส่งให้คนไปปรินต์โน้ตให้ ประเทศไทยเราไม่แน่ใจ แต่ก็มีบ้าง แต่ด้วย budget ทำให้ไทยทำเป็นทีมใหญ่ ไม่ได้ เงินมันน้อย บางทีมันทำได้แค่คนเดียว เวลาบีบอีกก็ต้องรีบทำ ตรงนี้เลยทำให้ต่างประเทศทำงานได้ดีกว่าคนไทยในเวลาที่บีบ เพราะมีเงินเลยมีหลายมือ ส่งต่อให้ผู้ช่วยทำได้ ทำให้เกิดความแตกต่างทางคุณภาพด้วยเหมือนกัน

ทุกอาชีพมีความเสี่ยงแหละอยู่ที่ว่าจะเอาตัวรอดยังไง

Score กับ soundtrack ต่างกันยังไง

จริง มันก็ไม่ต่างนะ soundtrack มันคือเรียกเพลงรวม ส่วน score มันคือส่วนนึงใน soundtrack มันอยู่ที่คนเอามาใช้ อย่าง ‘The Great Gatsby’ มันจะออกมาสองอัลบั้ม อย่างเพลงที่มีเนื้อร้องเลยเขาจะเรียกว่า original songs ส่วนอีกอันจะเป็น original score ที่เป็นบรรเลง บางเรื่องก็รวมทั้งสองอย่างอยู่ในอัลบั้ม original soundtrack ขณะที่ภาษาไทยมันจะเรียกเป็น ดนตรีประกอบภาพยนตร์ กับเพลงประกอบภาพยนตร์

เคยได้ยินคนบอกว่า คนทำเพลงประกอบภาพยนตร์เป็นอาชีพที่ถูกลืม

ไม่จริง ยังไงหนังทุกเรื่องมันก็มีอยู่แล้ว อย่าง Hans Zimmer ใครก็รู้จักว่าคนนี้ทำเพลงประกอบหนัง สิ่งที่ทำให้เขาดังเพราะทำเพลงได้ unique มาก แต่ละเรื่องจะมีไอเดียที่สดใหม่ หรือ John Williams เองก็ตาม แต่ถ้าเป็นเด็กจบใหม่ยังไม่มีชื่อเสียงมากก็อาจจะไม่เป็นที่พูดถึง ซึ่งมันก็ปกติอยู่แล้วหรือเปล่า เราว่าอาชีพที่ถูกลืมจริง คือ sound designer นะ แทบจะไม่มีใครจำชื่อได้ คนพวกนี้เขาต้องทำเสียง ออกแบบเสียง คลีนเสียง อัด dialogue อย่างหนังที่เราดู กันอยู่ โดยเฉพาะหนังใหญ่ เขาทำเสียงใหม่หมด เสียงคนเดินในห้าง เอามือจับของ เสียงแบคกราวด์ แทบจะดูดเสียงออกหมดทุกอย่างยกเว้นบทพูดที่เขาจะเก็บไว้ เนี่ย ถูกลืมของจริง

ก่อนที่จะมีชื่อให้คนเรียกไปทำงานได้ต้องใช้ความพยายามขนาดไหน

เรารู้สึกว่าเราโชคดีที่เราเริ่มจากการปล่อยงานของเราให้คนรู้จักเอง แต่ไม่ใช่การเสนอตัวเข้าหาคนนั้นคนนี้ ใช้ผลงานพิสูจน์ฝีมือ ซึ่งมันก็พอให้ทำให้ทำมาหาเลี้ยงชีพได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจหนังด้วย ซึ่งช่วงนี้จะว่าขาลงก็ได้ คนไม่ค่อยดูหนัง แม้แต่ต่างประเทศก็มีปัญหาเรื่องนี้เพราะคนไม่ค่อยไปดูหนังโรงแล้ว ไม่ใช่เรื่องว่าหนังดีไม่ดีอย่างเดียว หนังเถื่อน ดิจิทัลทีวีก็มีส่วน เหมือนเป็นการเปลี่ยนผ่านของยุคเลยทำให้พฤติกรรมเปลี่ยน  ซึ่งการที่ตลาดหนังมันเริ่มซบเซา ค่าตัวก็ถูกลงเพราะโปรดักชันมันแคบลง ถูกลงเรื่อย คนไม่อยากเอาเงินไปลงทุนหนังแล้วเพราะคนดูน้อย ขณะที่ซีรีส์ทีวีตอนนี้กำลังมา เป็นตลาดที่น่าสนใจ ยากแค่ตอนขายสปอนเซอร์ เราไม่ต้องนึกเรื่องการทำกำไรจากคนดูมาก แค่ขายสปอนเซอร์ได้เพื่อได้ทุนมาทำซีรีส์ มันก็มี budget รายรับค่อนข้างแน่นอน ถ้าขายเจ้านี้จะได้เท่าไหร่ ถ้าทำหนังมันเหมือนลงทุนแล้วรอคนมาดู แล้วดูว่าจะได้กำไรหรือขาดทุน ซึ่งอุตสาหกรรมช่วงนี้มันตกต่ำทุกที่จริง มันทำให้คนจ้างโปรดักชันราคาถูกลง เราอยากให้วันนึงตลาดหนังมันฟูขึ้น เหมือนที่เกาหลีตอนนี้มันค่อย ขึ้นเรื่อย หนังดี มันออกมาเยอะ หนังตลาดหนังไทยฝรั่งจะพูดถึงแค่ พี่เจ้ย—อภิชาติพงษ์ วีระเศรษฐกุล เพราะเป็นคนที่ดังสุดแค่นั้นในสาย festival หรือสายอินดี้อีกนิดหน่อยแค่นั้น

แสดงว่าการที่จะเป็นที่รู้จักได้คือต้องไปเทศกาลเท่านั้น

ใช่ โดยเฉพาะเทศกาลใหญ่ คือตอนนี้มันมีปัญหา censorship ในประเทศไทยทำให้เราไม่สามารถทำหนังที่อยากทำหรือหนังประเด็นแรงที่อยากให้ catch คนดูได้ อย่างที่พี่เจ้ยเขาบอกไม่อยากทำหนังในไทยแล้วเพราะเรื่องเซนเซอร์เนี่ยแหละ ขณะที่เกาหลีมันทำประเด็นแรงมาก อย่างคิมคีดุ๊กเขาทำเรื่องเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้แล้วคนดูสนใจ มันจะทำให้ป๊อป แต่เขาก็ไม่ได้ฟรีขนาดนั้นเพราะถ้าทำหนังโจมตีรัฐบาลก็อาจจะโดนเหมือนกัน

img_9580

จริงไหมที่หนังส่วนใหญ่จะขายได้ต้องเป็นหนังผี หนังรัก หนังตลก

จริง คนไทยก็ติดกับหนังสยองขวัญนะ แล้วมันจะมียุคนึงที่รุ่งเรือง ทำได้ดีจนดังแล้วฝรั่งรู้จักหลายเรื่อง อย่าง ’13 เกมสยอง’ ‘ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ’ เพื่อนเม็กซิกันเราก็รู้จัก เราเพิ่งรู้ว่ามันดังไปหลายประเทศมาก แต่ช่วงหลังมันซบเซา เราไม่ใช่คนทำหนังก็วิเคราะห์ไม่ได้ แต่เท่าที่เห็นคือหนังที่วางพล็อตดี ไม่ค่อยมี ไม่รู้ว่าเพราะเรื่องค่านิยมสมัยนั้นกับสมัยนี้ด้วยหรือเปล่า เรื่องโปรดักชันก็คิดนานไม่ได้ ถ้าใช้เวลามากก็จะใช้เงินมากขึ้น พอโปรดักชันถูกก็ไม่มีเงินหมุน เราก็ต้องทำให้เร็วเพื่อให้เงินไม่เกินงบที่ได้มา

สุดท้ายตลาดหนังอินดี้ก็มุ่งที่จะไปเฟสติวัลอยู่ดี แล้วในไทยจะเหลืออะไรให้ดู

จริง ไปเฟสติวัลก็ไม่ได้กำไรมากนะ แต่ได้ชื่อ ได้เครดิต ต้องทำดีในระดับนึงเฟสติวัลถึงจะคัดไปฉาย

จะมีโอกาสไปทำเพลงให้ซีรีส์ไหม

มี เรามองว่าเราทำเพลงประกอบได้ทุกอย่างเพื่อที่จะอยู่รอด วงการบันเทิงที่ไม่ใช่สายตลาดมันก็ไม่ได้อยู่ง่าย การทำงานเบื้องหลังนอกกระแสก็ยาก ทุกอาชีพมีความเสี่ยงแหละอยู่ที่ว่าจะเอาตัวรอดยังไง เหมือนที่อาจารย์เฉลิมชัยพูดประมาณว่า ถ้ามึงไม่เก่งมึงก็อยู่ไม่ได้ ทำอาชีพอะไรก็ตามถ้าห่วยแตกก็ไปไม่รอด

ตลาดคนทำเพลงประกอบในไทยมีเยอะไหม

ไม่ค่อยเยอะนะ ออกจะผูกขาดด้วย จริง มันไม่ใช่แค่ไทย ที่ไหนก็ตาม composer กับผู้กำกับมักจะไปด้วยกัน อย่าง John Williams กับ Steven Speilberg มันก็เหมือน monopoly กันเอง มันคือ relationship Michael Giacchino ทำกับ J.J. Abhrams ยิ่งทำก็ยิ่งรู้ใจ คุยง่าย ถ้าผู้กำกับทำหนังดัง หรือเป็นเพื่อนกับคนเก่ง ก็จะมีโอกาสได้งานมากกว่า ในไทยก็เป็นอย่างนั้นแหละ แต่สิ่งที่ไม่ชอบในไทยบางเรื่องคือเวลาให้เครดิตเขาให้เป็นชื่อบริษัททั้งที่ควรจะให้ composer เราก็ไม่รู้ว่าทำไม เพราะต่างประเทศมันไม่มี เขาจะเอาชื่อ composer ขึ้นก่อน แล้วชื่อบริษัทค่อยเอาไปใส่ในเครดิตยาว ข้างหลัง มันเหมือนทำให้คนรู้จักคนแต่ง รู้ว่าลายเซ็นของเขาเป็นยังไง ถ้ามันเป็นชื่อบริษัท ทีนี้ใครที่อยู่ภายใต้บริษัทนั้นจะเป็นคนแต่งก็ได้ไง อาจจะไม่ใช่ฝีมือของคนคนนั้นจริง

อะไรคือสิ่งที่ทำให้เรายังทำงานสายนี้ต่อ

ทำด้วยความรักนะ ถ้าไม่รักอาจจะไปทำอย่างอื่นที่รวยกว่าแล้ว เราหวังว่าตลาดหนังไทยมันจะดีขึ้น ไม่ใช่แค่ composer แต่ทั้งโปรดักชัน การทำ commercial อยู่ง่าย แต่ถ้าทำหนังอย่างเดียวก็อยู่ยาก เราเห็นคนไปเรียกร้องสิทธิการฉายหนังมากขึ้น เกาหลีเมื่อก่อนเขาก็แย่เหมือนกัน แต่เขามีสหภาพไปเรียกร้อง มันทำให้ตลาดคนดูหนังดีขึ้น มันเป็นอาชีพที่เราอยากทำมานานแล้ว ทำแล้วก็ชอบ

การทำเพลงประกอบช่วยเติมเต็มเราได้ยังไง

เราชอบดูหนัง ชอบฟังเพลง อยากทำเพลงแล้วให้คนอื่นฟังงานเรา เราอยากมี original มาปล่อยให้ทุกคนฟัง อยากทำให้ทุกงานออกมาดี ประเทศไทยมีหลายเรื่องที่ทำสกอร์ในโรงแล้วดีมาก แต่ไม่ค่อยยอมปล่อย original score มาให้ฟัง มีน้อยเรื่องมาก ทั้งที่มีคนอยากฟัง เอาขายแค่ online store มันก็จะช่วยกระตุ้นให้คนในโปรดักชันหันมาให้ความสำคัญในส่วนนี้มากขึ้นด้วย

ชอบงานของ composer ไทยคนไหน

ชอบของ พี่ป้อ—ชาติชาย พงษ์ประภาพันธ์ ทำ ‘จันดารา’ เวอร์ชันของหม่อมน้อย (หม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล) ‘อุโมงค์ผาเมือง’ ก็ดี เขาก็ชอบปล่อยออกมานะ หลัง ไม่ค่อยปล่อย พี่ ต๋อย—เทิดศักดิ์ จันทร์ปาน งานที่เขาชอบก็จะปล่อยมาให้ฟังบน YouTube ล่าสุดเขาทำ ‘ขุนพันธ์’ สกอร์แม่งมันมาก

img_9602

โปรเจกต์ที่กำลังทำอยู่

ตอนนี้มีหนัง feature ที่ทำอยู่สองเรื่องแต่ยังบอกรายละเอียดไม่ได้ ทำกับพี่นุชชี่ จะออก original score แน่นอน แล้วก็อีกคนเป็นคนที่เราเพิ่งเคยทำงานด้วย เป็นหนัง LGBT ทั้งสองเรื่อง ก่อนหน้านี้มีออก ‘อนธการ’, ‘ปั๊มน้ำมั้น’, ‘Free Falling’ เร็ว นี้จะลง original score หนังสั้นอีกเรื่องที่ได้ไปฉายเบอร์ลินปีที่แล้ว เรื่อง ‘นิมิตลวง’ (Prelude to the General) โดยพี่นุช—พิมพ์ผกา โตวิระ ที่เคยทำเรื่อง ‘The Island Funeral’ แล้วก็เร็ว นี้จะลงอัลบั้มส่วนตัว มีเพลงร้องเพลงแรกที่เราทำกับเพื่อน เป็นดนตรีแอมเบียนต์ที่ชอบที่สุดที่เคยทำมา น่าจะลงที่ฟังใจด้วย

ติดตามความเคลื่อนไหวและผลงานต่าง ๆ ของ ชัพวิชญ์ เต็มนิธิกุล ได้ที่ Facebook Phil Chapavich Composer

Facebook Comments

Next:


Montipa Virojpan

อิ๊ก เนิร์ดดนตรีที่เพิ่งกล้าเรียกตัวเองว่าเป็นนักเขียนตอนอายุ 25 ชอบเดินเร็ว นอกจากขนมปังกับกาแฟดำแล้วก็สามารถกินไอศกรีมกับคราฟต์เบียร์แทนมื้อเช้าได้