Article Story

Audio Architecture นิทรรศการที่ต่อยอดเสียงดนตรีให้เข้าถึงทุกประสาทสัมผัส

  • Writer: Peerapong Kaewthae

เพลงเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเรา เพราะถูกประกอบขึ้นด้วยเสียง การสั่นสะเทือน จังหวะ และโครงสร้างอันซับซ้อนราวกับสถาปัตยกรรมอันโดดเด่น มันเลยทำให้เรามักจะเพิกเฉยหรือมองข้ามความงดงามเหล่านี้ไปในบางครั้ง Keigo Oyamada หรือที่เรารู้จักเขาในชื่อ Cornelius เป็นเหมือนพ่อมดแห่งวงการเพลงญี่ปุ่นได้สรรสร้างเพลงขึ้นมาใหม่ ใช้คำและดนตรีที่ท้าทายโสตประสาทยากเกินจะสัมผัสด้วยใบหู ต้องเข้าถึงด้วยความรู้สึก เขายังเชี่ยวชาญในการใช้ภาพสื่อสารผ่านเพลงของเขาอีกด้วยจาก mv หลาย ๆ ตัวของเขาเอง Sean Ono Lennon ลูกชายของ John Lennon และ Yoko Ono ถึงกับออกปากยกยอปอปั้นเขาว่า ‘…paints a kind of audio architecture’ หรือประพันธ์เพลงได้ราวกับสร้างสถาปัตยกรรมเสียง

ครั้งนี้เขาไม่ได้ถ่ายทอดเพลงใหม่ด้วยตัวเอง แต่ชวนศิลปินอีก 8 คนจากศาสตร์หลากหลายแขนงมาถ่ายทอดเพลงของเขาในรูปแบบของสื่อต่าง ๆ ทั้งวีดีโอกราฟฟิก อนิเมชัน ภาพประกอบ ภาพยนตร์ หรือการเขียนโปรแกรมซึ่งล้อเล่นไปกับเพลงของ Oyamada ด้วย นี่คือนิทรรศการที่ชื่อว่า ‘Audio Architecture’ จัดที่ 21_21 Design Sight (อ่านว่า ทูวัน ทูวัน) ที่เป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะหรืองานดีไซน์แห่งแรกของโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น อยู่ในย่านรปปงหงิซึ่งจัดแสดงงานล้ำ ๆ ตลอดเวลา นอกจากเราจะตกหลุมรักเพลงเท่ ๆ ในโปรเจกต์นี้แล้ว การได้เห็นว่าเพลงสามารถนำไปต่อยอดได้อีกมากมายมันช่วยเปิดกระโหลกให้เราได้อย่างเบิกบาน

โดยห้องแรกที่เราเข้าไปเป็นจอขนาดใหญ่สามด้านที่ฉายวีดีโอเพลง Audio Architecture เวอร์ชันสตูดิโอที่ Oyamada และแบ็กอัพวาดลวดลายการอัดเพลงนี้อย่างเหนือชั้น เครื่องดนตรีทุกชิ้น เสียงทุกเสียงถูกออกแบบมาไว้อย่างประณีตแถมยังฉีกทุกกฎจังหวะในการทำเพลงทั่ว ๆ ไป พร้อมทั้งมีวีดีโอเนื้อเพลงอยู่ข้างหลังซึ่งตัวอักษรก็ดีดดิ้นตามเสียงที่ถูกเปล่งออกมา เช่นคำว่า ‘mellow’ text ก็อ่อนยวบ หรือคำว่า ‘loud’ ที่ตัวอักษรก็กระชากลากถูตัวเองไปมาอย่างบ้าคลั่ง แถมยังเปิดโปรแกรมทำเพลงเพื่อให้เราได้ดูส่วนประกอบของเสียงทั้งหมดในเพลงนี้อีกด้วย แค่มองความเป็นระเบียบของแถบเสียงเหล่านี้วิ่งผ่านไปก็สบายใจอย่างบอกไม่ถูกแล้ว

ห้องถัดมาเหมือนเป็นไฮไลต์ของงานที่มีจอขนาดยาวมากฉายวีดีโอวนลูปของศิลปินทั้ง 8 ไปเรื่อย ๆ ซึ่งทุกวีดีโอที่เปิดจะ sync กับเพลงที่เปิดไปทั่วงานได้อย่างลงตัว นั่งดูไปได้เรื่อย ๆ ไม่มีสะดุดเลย แถมยังมีพื้นที่ด้านหน้าจอให้เราขึ้นไปนั่งดูอย่างเป็นกันเอง แถมคนดูยังกลายเป็นส่วนหนึ่งของงานได้อีกด้วยเพราะโปรเจกเตอร์จะสะท้อนลงบนพื้นที่เรานั่งและพาดบนตัวเราไปมา (ไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมวีดีโอที่หยิบยกมาถึงสั้นนักเพราะในงานเขาอนุญาตให้ถ่ายได้แค่ 15 วินาที)

ซึ่งวีดีโอที่จัดแสดงจากศิลปินทั้งเก้าคนนั้น ต่างบอกเล่าเรื่อง มุมมอง เติมเต็ม เปิดเผย ขัดแย้งกันอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะฟอร์มในการเล่าที่มีความหลากหลายมากทั้งรูปทรงกราฟฟิกต่าง ๆ เส้นแสงที่วิ่งผ่านไปมาบนจอแต่บอกเล่าความรู้สึกของคำพูดออกมาได้จนน่าขนลุก หนังสั้นที่ถ่ายไปรอบ ๆ เมืองโตเกียว อนิเมชันที่ใช้นิ้วล้อเล่นกับสิ่งของต่าง ๆ ทั้งเต้าหู้ ซูชิ มีด พัดลมจนสร้างอารมณ์คลอไปกับเพลง เหนือชั้นกว่าด้วยการสร้างภาพลวงตาด้วยกระดาษสามแผ่นเสียดสีไปมาจนเกิดเป็นแสงลวงตาวิ่งพล่านไปมาน่าผ่อนคลาย ไปจนถึงแอพลิเคชั่นที่ทำให้ทุกคนเข้าถึงความเป็นนามธรรมของเพลงได้ง่ายแถมยังน่ารักน่าหยิก การถ่ายทอดความรู้สึกของเพลงออกมาในรูปแบบต่าง ๆ ทำให้เราเห็นมิติที่ต่างออกไปของเพลงอย่างชัดเจน

แต่จะพูดถึงทั้งแปดงานโดยที่ไม่มีตัวอย่างให้ดูก็กลัวจะนึกภาพไม่ออก งั้นขอยกงานที่เราชอบที่สุดในนิทรรศการทั้ง 3 งานที่คิดว่าล้ำทั้งแนวคิดและไอเดียตั้งต้นของงานมาแนะนำดีกว่า

งานชิ้นแรกชื่อว่า ‘Cocktail Party in the Audio Architecture’ ซึ่งศิลปิน Keita Onishi หยิบทฤษฎีน่าสนใจอย่าง cocktail party effect มาเล่นกับงานชิ้นนี้ มันเป็นปรากฎการณ์ในเวลาที่เรารื่นเริงอยู่กับงานเลี้ยงสังสรรค์หรือปาร์ตี้ค็อกเทลอันวุ่นวาย เราจะจับใจความเรื่องราวของคู่สนทนาได้เพียงเสียงเดียวหรือตั้งใจฟังเรื่องราวน่าสนใจของโต๊ะข้าง ๆ ได้เพียงเรื่องเดียวเท่านั้น เสียงที่เหลือจะกลายเป็นเสียงแบ็คกราวด์ที่ยุ่งเหยิงไร้ความหมายไปทั้งหมด เขาจึงสร้างวีดีโอที่มีรูปทรงเรขาคณิตที่หลากหลายในซีนเดียว ทำให้ผู้ชมสามารถจับจองรูปทรงเหล่านั้นได้เพียงชุดเดียว และยากเกินกว่าจะเก็บรายละเอียดทั้งหมดได้ ทำให้เราอาจพลาดความงดงามอะไรไปในช่วงเวลานั้น แต่นั่นก็เป็นความงดงามของประสาทสัมผัสเหมือนกันไม่ใช่หรือ

งานชิ้นที่สองชื่อ ‘Layer Acts’ ที่ได้ EUPHRATES และ Shue Abe มาสร้างสรรค์ด้วยวิธีที่ง่ายมากแต่สวยงามเกินคาด โดยการใช้แผ่นฟิล์มสองแผ่นตัดเป็นเรขาคณิตหรือรูปทรงต่าง ๆ ว่างซ้อนกันบนกระดาษขาว เมื่อขยับไปมาก็เกิดเป็นเส้นแสงวิ่งไปมาเป็นรูปทรงที่น่าพิศวง แถมเมื่อเคลื่อนไปมาตามจังหวะเพลงก็ทำให้เข้ากันได้อย่างประหลาดมากด้วย เป็นเทคนิคที่เรียบง่ายมาก สร้างอิมแพกต์กับเพลงได้อย่างเหลือเชื่อ ภายในงานยังมีบูธที่เป็นอุปกรณ์จริง ๆ ให้เราลองเล่น แถมยังท้าทายให้เราสร้างจังหวะหรือรูปทรง ๆ ไปกับเพลงได้อีกด้วย

และงานสุดท้ายที่เราชอบมากเลย ชื่อว่า ‘JIDO-RHYTHM’ ที่ศิลปินอย่าง Koichiro Tsujikawa (GLASSLOFT) ร่วมกับ Bascule และบริษัท Kitasenju Design สร้างแอปพลิเคชันขึ้นมาเพื่อสร้างประสบการณ์การฟังเพลงที่ไม่เหมือนใครให้กับทุกคน โดยมีคอนเซปต์ว่า ‘ให้เราดูตัวเราเองกำลังฟังเพลง’ เราจะได้มีปฏิสัมพันธ์กับคนที่กำลังฟังเพลงซึ่งคือตัวเรานั่นเอง งงมะ ด้วยภาษากายของเรามันจึงเป็นวีดีโอหนึ่งเดียวในโลกที่ถ่ายทอดประสบการณ์ฟังเพลงแบบปัจเจกไม่มีใครเหมือนออกมาได้ โดยใช้ระบบ AR สร้างเอฟเฟกน่ารัก ๆ ขึ้นมาวุ่นวายกับใบหน้าของเราได้อย่างสนุกสนาน สื่อสารกับเราผ่านอนิเมชั่นแสนทะเล้นไปตามจังหวะเพลง ใครอยากลองเล่นก็สามารถโหลดแอพ JI-DO RHYTHM มาเล่นได้บนมือถือด้วยนะ แต่บอกไว้ก่อนว่าใช้ได้แค่บน iPhone X เท่านั้น ฮือ ซึ่งในงานก็มีมือถือให้เราลองเล่นอีกนั่นแล

เพราะเพลงไม่ใช่สิ่งที่ฟังเพื่อความบันเทิงเท่านั้น แต่มันคือศิลปะ มันคือการเล่าเรื่อง เพลงสามารถพาเราไปได้ไกลเกินกว่าที่เราจะจินตนาการถึง การได้เสพอะไรแบบนี้อาจช่วยต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ของเรา ผลักเราออกจากกรอบเดิม ๆ แนวคิดเดิม ๆ ที่เรามีต่อดนตรีไปเลยก็ได้ ไม่เพียงให้แรงบันดาลใจกับคนที่ชอบดนตรีเพียงอย่างเดียว แต่คนที่ทำงานในสาขาอื่น ๆ ก็สามารถนับไอเดียพวกนี้ไปต่อยอดต่อได้ด้วย จริง ๆ ยังมีวีดีโออีก 5 ชิ้นที่อยากพูดถึง ในห้องใหญ่บางรอบก็จะมีการเปิดวีดีโอทั้ง 8 ตัวพร้อมกันเพื่อให้ทุกคนสัมผัสประสบการณ์อันแสนประหลาดทั้งหมดพร้อมกัน แต่เพราะไม่มีตัวอย่างให้ดูจึงอาจจะเข้าไม่ถึง อยากแนะนำให้ไปดูด้วยตัวเอง งานยมีถึงวันที่ 14 ตุลาคม ถ้าใครชอบฟังเพลงและได้ไปเที่ยวช่วงนี้พอดีหรืออยู่ญี่ปุ่นอยู่แล้วแนะนำให้ท้าทายตัวเองดูซักครั้ง ว่าเสียงเพลงจะพาเราไปได้ไกลแค่ไหน

Facebook Comments

Next:


Peerapong Kaewthae

แม็ค เป็นคนชอบฟังเพลงเพราะเป็นกิจกรรมที่ทำคนเดียวได้ และก็ชอบแนะนำวงดนตรีหรือเพลงใหม่ ๆ ให้คนอื่นรู้จักผ่านตัวอักษรตลอดเวลา