Article Story

Behind the Zine : ล้วงลึกเบื้องหลัง Fungjaizine เล่มเมษาน่าอยู่(บ้าน)

  • Writer: Montipa Virojpan
  • Photographer: Chavit Mayot
  • Art Director: Benyatip Sittivej

หลายคนคงเคยสงสัยว่ากองบรรณาธิการ Fungjaizine เขามีวิธีการวางแผนการทำงานยังไงกันบ้าง พอดี Canon เขาก็ออกพรินเตอร์ตัวใหม่น่าใช้มาก พ่วงมาด้วยกิจกรรม The Memory Catcher by Selphy CP1200 เราเลยอยากร่วมสนุกกับเขา โดยเอาบันทึกความทรงจำช่วงที่วางแผนงานกันสนุก ๆ มาเล่าแบบละเอียดยิบ ไขข้อข้องใจกันแบบไม่มีกั๊กไปเลย

หลังจากการปิดเล่ม Fungjaizine เดือนที่ผ่านมาลุล่วงไปได้อย่างสวยงาม กองบรรณาธิการของเราจะมีเวลาได้หายใจหายคอกันอีกประมาณสองสามวัน ก่อนที่จะต้องกลับมานั่งคิดกันหัวแตกว่าเล่มต่อไปจะนำเสนอเรื่องราวของใครหรืออะไรดี ตามปกติแล้วนิตยสารทั่วไปมักจะคิดคอนเซปต์ให้สอดคล้องกับช่วงเทศกาลหรือเหตุการณ์สำคัญในเดือนที่เล่มต่อไปกำลังจะออก (เช่น ออกเดือนมกราก็จะทำเรื่องปีใหม่)

img_9554

Fungjaizine ก็ไม่ได้ต่างกันเท่าใดนัก เพียงแต่การคิดธีมเล่มของเราค่อนข้างเอาแต่ใจ และสนุกกับการสวนกระแสเป็นนิจ เช่น อาจจะอิงมาจากตัวศิลปินที่เราเลือกเป็นหลัก แล้วคิดต่อว่าคนที่เราเลือกมาเหมาะจะตีความเป็นธีมอะไรดี (เล่มรัสมี เราเลือกให้เป็นเล่มที่มีความ femininity จากเนื้อหาในเพลงของพี่แป้ง บวกกับความเป็นท้องถิ่นอีสานโดยใช้ผ้ากับดอกไม้ช่วยสื่อความ) หรืออาจจะมีสิ่งที่เรานึกถึงในเดือนนั้น ๆ เป็นหลักแล้วค่อยจับศิลปินมาผนวกให้เข้ากับธีม (อย่างเดือนธันวาคมก็จะมีวันพ่อ คริสต์มาส ใช่ไหม แต่เราขี้ต้านไง นึกถึงวันรัฐธรรมนูญ เอาพี่ป๊อก พี่ตุล มาขึ้นปก พูดเรื่องเสรีภาพทางดนตรีซะเลย) หรือบางทีก็ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกันสักนิด แค่อยากทำแค่นั้นเอ๊ง (อยู่ดี ๆ ก็นึกถึงคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ที่เมื่อก่อนมักจะมีศิลปินจบการศึกษาจากคณะนี้เต็มไปหมด เลยเลือกเอา แสตมป์ อภิวัชร์ มาขึ้นเพราะน่าจะถ่ายทอดภาพและสไตล์ของ ‘มุขเด็กสถาปัตย์’ ได้ดี)

17635138_1382405565136063_8497123969964276060_o

แต่สำหรับเล่มเดือนเมษายน 2560 นี้ อากาศมันร้อนมากจนเรานึกเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ เราจึงยืนพื้นด้วยเทศกาลสงกรานต์เป็นหลัก แต่อย่างที่บอกว่าเราเป็นพวกขี้ต้าน ดังนั้นเราจะไม่ให้ศิลปินมาสาดน้ำบนปกแต่นอน ภาพตัดกลับมาคือเขาหรือเธอจะต้องตีพุงอยู่บ้านไม่ตามกระแส ประมาณว่า ‘Songkran is great when you don’t get wet’ ใครเล่นสงกรานต์ก็เล่นไป แดดร้อนเบอร์นี้กูขอนอนตากแอร์ดีกว่าโว้ย

img_9583

เมื่อเคาะธีมมาลงที่คำว่า ‘อยู่บ้าน’ แล้ว น่าแปลกมากที่สิ่งแรกที่พวกเรานึกถึงกันคือหน้าร้อนญี่ปุ่น เพราะพวกมังงะ หรืออนิเมะของบ้านเขาเวลาเข้าหน้าร้อนจะมีภาพที่ชัดมาก ทั้งแสงแดดเปรี้ยง เสียงจักจั่นร้องระงม พัดลมเก่า ๆ ภาพเด็กชายสวมหมวกฟางเหงื่อแตกพลั่กพร้อมตาข่ายสำหรับจับแมลง แตงโม น้ำแข็งไส ล้วนแต่เป็น element ที่มีเสน่ห์ของหน้าร้อนญี่ปุ่นที่เป็นภาพจำของเรามาจนทุกวันนี้ แต่พอนึกถึงความเป็นจริงของหน้าร้อนบ้านเราแล้ว การจะถ่ายภาพด้วยแสงธรรมชาติยิ่งเป็นไปไม่ได้เพราะท้องฟ้ามักจะไม่ได้มีสีฟ้าสดใส ออกจะซีด ๆ ด้วยซ้ำ เฉดแสงที่สะท้อนภาพออกมายิ่งทำให้ดูหม่นหมอง บางวันก็เมฆเยอะอีก เป็นปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ทั้งสิ้น ยิ่งจะไปหาโลเคชันที่เป็นบ้านไม้แบบญี่ปุ่นยิ่งไม่ต้องพูดถึง เราเลยเอาความเป็นปิดเทอมหน้าร้อนของเด็กชายมาตีความในบริบทไทย ๆ นึกถึงตัวเองตอนอยู่บ้านช่วงวันหยุดจะมีสภาพยังไงบ้าง

img_0186

เสื้อห่านคู่ กางเกงเจเจ แป้งเย็นตรางู ถ้าช่วงนั้นเงินเดือนยังไม่ออกก็ซดมาม่าไม่ก็อาหารถุง ลูกกรงเหล็กดัด มุ้งลวด ที่พอดูไปดูมา element ไทย ๆ ของเรามันก็มีเสน่ห์ไม่แพ้ญี่ปุ่นเลย แต่ความที่เรามีทีมงานหลายคน การอธิบายเพื่อให้ภาพในหัวของทุกคนตรงกันหมดก็เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก เราจึงลองหาภาพ reference ของ object หรือสถานที่ต่าง ๆ มาปรินต์ทำเป็น mood board เพื่อให้ภาพที่ทุกคนจินตนาการดูจับต้องได้และเข้าใจตรงกันมากขึ้น และเพื่อความสะดวกรวดเร็วในการแชร์ภาพจากความคิดของทุกคน เราจึงเลือกใช้เจ้าพรินเตอร์ Selphy CP1200 สีจมปูวพาสเทลหวานแหววเข้ากับกองบรรณาธิการอย่างพวกเรา (หราาา) แถมมีขนาดกะทัดรัด และสามารถใช้คอมหรือมือถือเชื่อมต่อกับ wi-fi แล้วสั่งพิมพ์ได้ทันที

img_9584

ต่อไปก็เป็นอีกโจทย์ที่ยากที่สุดคือ จะเอาใครมาขึ้นปกหว่า แต่นั่งนึก ๆ ไปได้พักนึง สำเนียงกีตาร์สุดผ่อนคลายก็ลอยเข้ามาในหัว การร้องด้วยน้ำเสียงอ่อนโยน ลุคง่าย ๆ สบาย ๆ เหมือนอยู่บ้านนี้จะเป็นใครไปอื่นไม่ได้นอกจากดุ่ย!

สำหรับเราจะค่อนข้างชินกับการที่ดุ่ยเป็นฟรอนต์แมนของวงร็อกทดลองนาม Two Million Thanks ที่จะมีความเกรียนมากกว่า แต่เชื่อว่าหลาย ๆ คนคงมีภาพจำของดุ่ยในฐานะนักดนตรีโฟล์ก-อะคูสติกภายใต้ชื่อ Youth Brush ซึ่งเราก็คิดว่า ทั้งตัวเพลง และคาแรกเตอร์ที่ถ่ายทอดออกมาผ่านโปรเจกต์นี้ดูจะเหมาะกับธีมของเราเป็นพิเศษ แล้วก็เป็นฤกษ์งามยามดีที่ Youth Brush เพิ่งออกเพลงใหม่พอดี เมื่อทุกอย่างประจวบเหมาะไปหมดขนาดนี้เราเลยชักชวนดุ่ยมาสัมภาษณ์ขึ้นปกได้สำเร็จ (โดยที่คุณดุ่ยยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองจะต้องเจอกับอะไร)

img_9616

สิ่งที่ยากรองลงมาจากการฟันคอนเซปต์ ธีม และศิลปินขึ้นปก ก็น่าจะเป็นการหาพร็อพและโลเคชันสำหรับถ่ายเนี่ยแหละ ด้วยความที่เราต้องการความเป็นบ้านแบบไทย ๆ ซัก 20-30 ปีที่แล้ว แต่ไม่ถึงขนาดเป็นบ้านไม้หรือบ้านทรงไทย ถ้าเป็นตึกแถวฟีลลิ่งชาวไทยเชื้อสายจีนก็จะเยี่ยมเลย จากการที่ทีมงานลองไปเซอร์เวย์มาหลาย ๆ ที่ หวยก็มาลงที่สตูดิโอแห่งหนึ่งที่มีการเซ็ตอัพเป็นห้องต่าง ๆ ในบ้านเรียบร้อยแล้ว แต่ดูไปดูมาแล้วมันคราฟต์ ละเมียด ประดิษฐ์ไปหน่อย ไม่ดิบแบบบ้านสมัยก่อนเท่าไหร่ ก็เลยเปลี่ยนใจไปเลือกตึกแถวแห่งหนึ่งย่านฝั่งธน ที่พอลองไปบล็อกช็อตมาแล้ว ทุกอย่างมันใช่ ทั้งสี แสง มุมต่าง ๆ ของบ้าน มันลงตัวไปหมด เราเลยฟันว่าจะไปถ่ายกันที่นี่ ส่วนพร็อพที่เราจะใช้ก็ไม่มีอะไรมาก บรรดาสิ่งของที่นึกไว้ตอนต้นก็ถูกสรรหามาได้อย่างง่ายดายเพราะเป็นสิ่งที่เราพบเห็น ใช้ และกินในชีวิตประจำวันกันอยู่แล้ว ซึ่งพอเราได้โลเคชันที่แน่นอน เราก็เอาช็อตที่ถ่ายสถานที่จริงมาจัดวาง layout ร่วมกับ reference อื่น ๆ ผ่านพรินเตอร์เครื่องนี้ ให้มีความใกล้เคียงกับภาพที่จะถูกใช้จริงในคอลัมน์ Head Talk ที่สุด และเมื่อพิมพ์ออกมาภาพก็มีความคมชัด สีไม่เพี้ยนไปจากโลเคชันจริงอย่างที่เราต้องการ

img_9611

ในวันถ่ายทำ ทีมงานภาคสนามก็เดินทางไปยังโลเคชัน ใช้เวลาจัดเตรียมสถานที่สำหรับถ่ายในระหว่างที่ดุ่ยกำลังให้สัมภาษณ์ และเมื่อทุกฝ่ายพร้อมก็ได้เวลาลั่นชัตเตอร์ ซึ่งบรรยากาศการถ่ายทำทั้งภาพนิ่งและวิดิโอเป็นไปอย่างสนุกสนาน แต่ขณะเดียวกันเราก็คำนึงถึงความสวยงามและอารมณ์ของภาพที่จะออกมาด้วย แล้วความที่ดุ่ยเองก็มีทักษะการเป็นนักแสดงที่ดีอยู่แล้ว (หมายถึงแสดงดี เล่นได้ เข้าใจมู้ดที่เราอยากจะนำเสนอ) เขาจึงบิลด์อารมณ์ของภาพรวมทั้งหมดให้ออกมาได้อย่างสมบูรณ์ยิ่งกว่าที่เราคาดหวังไว้ในตอนต้นเสียอีก การดำเนินงานในวันนั้นจึงเป็นไปอย่างราบรื่น ถ้าไม่นับว่าสถานที่ถ่ายทำค่อนข้างอบอ้าวเพราะไม่มีเครื่องปรับอากาศก็ตาม แต่ข้อดีก็คือมันเป็นการทำให้เรายิ่งอินกับธีมเล่มนี้เข้าไปอีก

hedtalk-03-1

หลังจากที่เราได้ภาพและบทสัมภาษณ์ทั้งหมดมาเป็นที่เรียบร้อย ทีมงานก็จัดแจงแบ่งงานตามความรับผิดชอบของตัวเอง ทั้งทำบทสัมภาษณ์ ทำภาพประกอบ ภาพปก วิดิโอทีเซอร์ เพื่อให้เสร็จสิ้นในปลายเดือนมีนาคม

แต่แล้วจู่ ๆ จากการที่ทีมงานได้ดูฟุตเทจที่ถ่ายมาได้ อารมณ์ภาพกลับให้ความรู้สึกประมาณหนังอินดี้ส่งเข้าชิงรางวัลหนังต่างประเทศตามเทศกาลต่าง ๆ แต่ด้วยบริบทที่มันเอเชียมาก ๆ เลยทำให้เรานึกไปถึงงานของผู้กำกับฮ่องกงอย่าง หว่องการ์ไว เรียกว่าถ้าคนขึ้นปกไม่ใช่คุณดุ่ยผลลัพธ์ก็อาจจะไม่ได้ออกมาเป็นแบบนี้ นี่จึงเป็นอีกกิมมิกเล็ก ๆ ที่เรานึกขึ้นได้แล้วคันไม้คันมืออยากเอามาเล่นสนุก โดยตั้งใจให้ทีเซอร์ออกมาเป็นเหมือนเทรลเลอร์หนังอินดี้ชิงรางวัล ส่วนปก Fungjaizine ที่จะใช้โปรโมตก็ทำให้กลายเป็นโปสเตอร์หนังไปเลย ซึ่งถ้าสังเกตดี ๆ ทั้งใบปิดและวิดิโอของได้ผสมความกวนตีนของพวกเราเข้าไปแบบไม่ยั้ง และออกมาเป็นอย่างที่ทุกคนเห็นนี้เอง

img_9538

สุดท้ายนี้ก็ต้องขอบคุณดุ่ย Youth Brush และทีมงานทุกคนที่สร้างสรรค์ผลงานออกมาจากความเกรียนและเนิร์ดเป็นการส่วนตัว พวกเราสนุกมากในการทำ Fungjaizine ฉบับเมษาอยู่บ้านนี้ และการที่ได้พรินเตอร์ Selphy CP1200 นี้มาช่วยวางแผนการทำงาน และพิมพ์ภาพถ่ายออกมาได้อย่างสวยงามคมชัด เพื่อนำมาเลือกจัด layout ของบทความได้ตามต้องการ (นี่แอบพรินต์รูปเล่น ๆ มาแปะไว้ที่ผนังฝั่งโต๊ะทำงานตัวเองด้วย แหะ ๆ) ดังนั้นก็อยากจะขอให้ทุกท่านสนุกไปกับการอ่านเล่มนี้ด้วยเช่นกัน (และต้องขอบคุณที่อ่านมาจนถึงบรรทัดสุดท้าย นายแน่มาก เรารู้ว่ามันยาวมาก ขอกราบจากใจ)

#SelphyCP1200 #TheMemoryCatcher #Memoryneverfade #สีสดทนนาน100ปี

 

Facebook Comments

Next:


Montipa Virojpan

อิ๊ก เนิร์ดดนตรีที่เพิ่งกล้าเรียกตัวเองว่าเป็นนักเขียนตอนอายุ 25 ชอบเดินเร็ว นอกจากขนมปังกับกาแฟดำแล้วก็สามารถกินไอศกรีมกับคราฟต์เบียร์แทนมื้อเช้าได้