Article Story

รอบนี้ไม่ได้มาเล่น ๆ Serious Music อัลบั้มชุดที่สองของ Summer Dress

  • Writer: Montipa Virojpan
  • Photo: Summer Dress

การเดินทางผ่านประสบการณ์ทางดนตรีกว่า 5 ปีจากอัลบั้มแรก Activity กับแนวดนตรีอินดี้ป๊อปร็อกสนุกสนาน สู่บทเพลงลุ่มลึก พิถีพิถัน ซับซ้อน ในงานชุดที่สอง Serious Music ที่ทำให้รู้สึกได้ถึงการเติบโตของ Summer Dress ทั้งโทนเสียง กลิ่นอายดนตรี วิธีคิด หรือการเรียบเรียงแต่ละเพลงที่แสดงให้เห็นว่าการกลับมาคราวนี้ไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ แต่เป็นอะไรที่จริงจังมาก ๆ

Why (so) Serious?

17098374_1429501070403269_8088808655266114895_n

เพราะพวกเขาเชื่อว่าการใส่ความจริงจังใจลงไปในงานที่รักจะยิ่งสร้างผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจขึ้นมาได้ นอกเหนือจากเพลงที่พิธีพิถันแล้ว งานนี้ยังได้ดีไซเนอร์ไฟแรงอย่าง ณัฐภัทร เหลืองรุ่งทิพย์ มาช่วยออกแบบอาร์ตเวิร์กในอัลบั้มนี้ด้วย และจากที่บรรดาพี่ ๆ น้อง ๆ ศิลปินที่เป็นเพื่อนกันกับเราบนเฟซบุ๊กต่างพร้อมใจกันลงรูปแผ่นอัลบั้ม Serious Music ที่เขาเพิ่งได้รับของกันจากที่ไป pre-order มาในงาน Cat Expo ก็เห็นทีว่าเราต้องมาลองฟังเองบ้างแล้วว่าจะดีงามอย่างที่เขาว่ากันจริงหรือเปล่า

1917

1

เพลงแรกของอัลบั้มที่แนะนำเราให้รู้จักกับแง่มุมใหม่ในตัวตนและผลงานของพวกเขา 1917 คือปีที่กลุ่มศิลปะในประเทศเนเธอร์แลนด์ที่ชื่อ De Stijl (The Style) ถือกำเนิดขึ้น พวกเขาคือผู้ริเริ่มการใช้รูปเรขาคณิตและแม่สีในการสร้างงาน modernism ที่เป็นแนวคิดศิลปะใหม่ของยุคนั้น พวกเขาจึงนำเอาแนวคิดนี้มาเปรียบเทียบกับเพลงในชุด Serious Music ที่เป็นการสร้างเสียงใหม่ ๆ ในโทนสว่าง ละมุนละไมในแบบที่เราไม่คุ้นเคย กีตาร์เท่ ๆ แกมน่ารักกับลูกเล่นดนตรีซับซอน ผลัดกันส่งเสียงเข้ามาในเพลงเหมือนเป็นการหยอกล้อกันมากกว่าที่จะบรรเลงไปตามแบบแผน และทิ้งท้ายไปด้วยท่อนย้ำจังหวะหนัก เป็นการป่าวประกาศถึงยุคสมัยใหม่ของ Summer Dress อย่างเป็นทางการ

Synthesizer

2

ต่อกันกับเพลงที่มีทำนองหม่นเท่ ล่องลอย และนำเสนอความหมายของซินธิไซเซอร์ออกมาได้ในมุมมองที่ต่างกันได้อย่างน่าสนใจ ด้านหนึ่งคือเพลงนี้เป็นการโชว์เสียงสังเคราะห์แบบหลากหลายและหนักหน่วง ผสมผสานกับจังหวะเท่ให้เราโยกได้ไม่ยาก และเด็ดสุดกับโซโล่กลองที่ส่งเข้ากับท่อนพุ่ง ๆ ในตอนท้ายของเพลง กับอีกด้านคือการแปลคำว่าซินธิไซเซอร์ ตรง ๆ ก็จะหมายถึงนักสังเคราะห์ ซึ่งเนื้อหาในเพลงนี้เราขอตีความไปถึงอาชีพหนึ่งคือนักทำเพลงประกอบ ที่จะต้องทำเพลงตาม reference ที่ลูกค้ากำหนด โดยจะต้อง ‘สังเคราะห์’ คือทำให้คล้ายต้นฉบับที่สุด แต่ก็ต้องทำให้ไม่เหมือน จนบางก็รู้สึกว่าการได้เงินจากการสังเคราะห์เสียงนี้ทำให้ไม่หลงเหลือความเป็นตัวเอง ถ้าฟังดูจะรู้สึกว่าดนตรีมีความสับสนวุ่นวายอยู่ประมาณนึงเหมือนกัน

Soundscape

3

เริ่มต้นด้วยเสียงบรรยากาศสดชื่นของธรรมชาติชุ่มฉ่ำและนกน้อยนานาพันธุ์ ท่วงทำนองเพลิดเพลินราวกับกำลังชื่นชมความงามเขียวฉะอุ่ม เป็นเพลงที่ทำให้เห็นภาพและได้ยินเสียงชัดเจนไปพร้อม ๆ กัน เสียงร้องประสานชายหญิงยิ่งสร้างความผ่อนคลาย ประกอบกับคีย์บอร์ดที่บรรเลงคลอไปด้วยกัน ความเงียบสงบเกิดขึ้นได้เพียงชั่วขณะก็ต้องถูกลีดกีตาร์ร็อกแผดเผาคุ้มคลั่งเหมือนไฟโถมป่า การย้ำจังหวะเช่นนั้นอยู่หลายครั้งของกลองและซินธ์ทำให้หัวของเราปั่นป่วนไปพักหนึ่ง ก่อนจะดึงกลับมาที่ท่อนหนักหน่วงช่วยตบสติของเราให้เข้าที่เข้าทาง แล้วจึงทิ้งท้ายการรับรู้ทางโสตประสาทจากดนตรีหลากอารมณ์ในเพลงนี้ด้วยท่อน ‘Can you hear the sound?’ เหมือนกำลังตั้งคำถามว่า เสียงทั้งหลายที่เราได้ยินนั้นทำให้เราเกิดความรู้สึกอะไรขึ้นบ้าง

The Beatles Fever

4

เสียงกีตาร์ที่บรรเลงรูปแบบดนตรีวินเทจ ริฟฟ์บางท่อนทำให้นึกถึงวงร็อกยุค 70s กับจังหวะกลองย้ำ ๆ ยิ่งการร้องประสานในท่อนฮุก หรือซินธ์ที่จำลองการเล่นแบบออร์แกนให้ความรู้สึกโดยรวมเป็นนีโอไซคีเดเลียในแบบของ Summer Dress ซึ่งเป็นอะไรที่แปลกใจอยู่เหมือนกันที่ได้ยินเพลงแนวนี้จากพวกเขา เนื้อหาของเพลงนี้มีความจิกกัดเหล่า music snob อยู่เบา ๆ ประมาณว่าไปได้ฟังเพลงเพลงนึงที่ร้านเปิดแล้วเกิดชอบขึ้นมา ก็อยากรู้ว่าเป็นเพลงอะไร ไอ้เพื่อนที่มาด้วยได้ยินดังนั้นก็ดึงหน้าใส่แล้วถามว่า ‘มึงไม่รู้จัก The Beatles ได้ไงวะ ไปอยู่ที่ไหนมา วงเขาเป็นไอคอนของวงดนตรีหลายวงเลยนะเว่ย!’ เอ๋า ก็ถ้ากูเพิ่งเคยฟังแล้วก็ผิดหรอ ความยียวนในวิธีการร้องกับเมโลดี้ของเพลงก็ถ่ายทอดความรู้สึกแบบ ‘อะไรของมึงงงง’ ในมุมกลับกันของทั้งสองคนได้แบบเข้าท่าเหลือเกิน

Sunny Talk

5

เพลงหม่นดาร์กที่สุดของอัลบั้มกับเมโลดี้ลึกลับพิศวงนี้ ได้ พัด เจ้าของเสียงสุดหม่นจาก Zweedz N’ Roll มาช่วยร้อง กีตาร์หนักหน่วงโผล่ขึ้นมาเป็นระยะ ๆ แบบไม่ทันให้ตั้งตัว ท่อนเงียบที่เป็นการเกากีตาร์และรัวกลองเบา ๆ ตามมาด้วยเสียงคีย์บอร์ดที่กดในจังหวะทื่อ ๆ ประหนึ่งเป็นเพลงธีมในคณะละครสัตว์ที่แอบมีความหลอน ผสานกับกีตาร์กึ่งแจ๊สได้แบบเข้ากันอย่างน่าประหลาด เบื้องหลังของเพลงนี้คือ จ้า ฟรอนต์แมนวง Hariguem Zaboy เขียนแทนความรู้สึกของเพื่อนที่สติหลุด ๆ จากการใช้ยาเกินขนาด เนื้อหาในเพลงจึงมีความ aggressive และไม่สามารถทำความเข้าใจหรือควบคุมไม่ได้อยู่สูง คล้ายกับเสียงที่เพลงนำเสนอออกมานั่นเอง

Fancy I

6

เดิมทีเพลงนี้จะเป็นเพลงที่อยู่ด้วยกันกับเพลงต่อไป แต่เกิดการแบ่งครึ่งเพราะความยาวและบีททำนองเพลงที่ค่อนข้างแตกต่างกันในสองช่วงจนดูไม่เหมือนเพลงเดียวกัน ซึ่งเพลงนี้จะมีความเนิบ เก๋ กว่ามาก สำหรับเสียงร้องในเพลงนี้ถ้าใครรู้สึกว่าทำไมเสียงเต๊นท์เปลี่ยนไป ความจริงแล้วนี่คือแน็ต มือกีตาร์ที่มารับหน้าที่เป็นผู้ถ่ายทอดความหมายของเพลงไปพร้อมกับดนตรีจังหวะเท่ กลิ่นนีโอโซลโยกย้วย เซ็กซี่เล็ก ๆ นอกจากนี้ก็ยังได้ ทัต บุนนาก แห่ง The Basement Tape มาช่วยเขียนเนื้อร้องด้วย

Fancy II

7

แค่ขึ้นมาก็ตื่นเต้นแล้ว กับเสียงลูปของคีย์บอร์ดเร็ว ๆ คล้ายกับดนตรีอิเล็กทรอนิกยุค new wave แสนเก๋ ซาวด์เคว้งคว้างมีความ futuristic นี้ทำให้เราอยากเต้นไปสะบัดหัวไปตามเพลง พอเลยช่วงกลางของเพลงก็จะเริ่มมีซาวด์เอฟเฟกต์พุ่งเข้ามาเรื่อย ๆ เหมือนกำลังนั่งยานท่องอวกาศแบบในหนัง sci-fi ยังไงยังงั้น

1-10

8

เซอร์ไพรส์อีกแล้ว มีบอสซาโนว่าในอัลบั้มนี้ด้วย หลากรสครบถ้วนกระบวนความจริง ๆ ที่ชอบมากไปกว่านั้นคือดนตรีมีความเป็น Muzak จำได้ไหมที่เราเคยเขียนเรื่อง elevator music ไง ทั้งเสียงกรุ๊งกริ๊ง เครื่องเป่า ท่อนกลางนี่ก็น่ารักซะทำให้นึกถึงเพลงธีมของ Sesame Street เลย แล้วยังมีท่อนที่คอร์ดมีความเป็นเพลงอาหรับ เอาจริงว่าเหวอเลยที่ทำเพลงฉลาด ๆ แบบนี้ออกมาได้แบบไร้ที่ติ (จริง ๆ ก็เหวอตั้งแต่เพลงแรก กำลังตื่นเต้นอยู่จนมาระลึกได้ว่าฟังมาจะครบทั้งอัลบั้มแล้ว) ไม่ธรรมดาเลย แต่เรายังไม่ค่อยแน่ใจกับเนื้อหาที่ร้องว่า ‘ถ้าคุณคิดว่าอยากจะเป็นผู้นำ คุณอาจต้องดำน้ำ นับให้ได้ 1-10’ ใครคิดว่าแปลว่าอะไรกันบ้าง

ดีออก

9

กรีดร้องงงงงง ตื่นเต้นกับเพลงนี้ตั้งแต่ตอนที่ได้ดูพวกเขาเล่นสดกันแล้ว ทำนองชิลฮอป โซลฟูล อาร์แอนด์บีอะไรแบบนี้กำลังมาสิน่า ความลงตัวไปซะหมดของทั้งกีตาร์ย้วย ๆ เบสหนึบหนับ กลองย่อง ๆ คีย์บอร์ดฟุ้งฝัน มีเสียงทรัมเป็ตท้ายเพลงด้วยอ้ะ ง่าย ๆ คือทั้งหมดนี้ก็ทำให้เราหลงรักเพลง ดีออก ไปเต็ม ๆ ถือเป็นการปิดท้ายอัลบั้ม Serious Music ได้อย่างสวยงาม แล้วยังได้เสียงหวาน ๆ ของ ออม Telex Telexs มาร้องด้วย ไม่ค่อยได้ยินเธอใช้เสียงแบบนี้เท่าไหร่ซึ่งเราว่าเข้ากับเพลงสไตล์นี้มาก ‘แต่เดี๋ยวก่อนนะ’ เนื้อเพลงและชื่อเพลงมันมีอะไรแปลก ๆ อยู่ ก็อย่างว่าแหละ วงสุดกวนอย่าง Summer Dress ไม่เคยทำให้เราผิดหวัง คือแม้จะทำเพลงออกมาแสนเพราะ แต่ก็ไม่พลาดที่จะต้องเหน็บแนม แซว ๆ แซะ ๆ กันหน่อย ดี ๆ แบบนี้เราชอบมาก

บรรยากาศองค์รวมของเพลงในอัลบั้มนี้มีความล่องลอยและคาดเดาไม่ได้ แม้จะโดดเด่นด้วยเสียงซินธิไซเซอร์ แต่เครื่องดนตรีชิ้นอื่น ๆ ก็มีบทบาทในเพลงไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ทั้งกลองที่มีทั้งสไตล์ฮิปฮอป หรือแบบร็อกหนักแน่น กีตาร์ reverse เสียงเอฟเฟกต์แปลกหู โน้ต off tune ไม่เข้าร่องเข้ารอยแต่สร้างเสน่ห์และความแปลกใหม่ให้กับเพลง สัดส่วนของจังหวะในแต่ละเพลงที่จับทางไม่ถูก มาทั้งบอสซาโนวา แมธร็อก ร็อกแอนด์โรล ไซคีเดเลีย สดใสแบบสุด ๆ ไปจนถึงมืดมนกันแบบสุด ๆ เหมือนกัน เอาง่าย ๆ ว่าตลอด 48 นาทีของอัลบั้มชุดนี้สร้างเซอร์ไพรส์ให้เราได้ตลอดจริง ๆ

อัลบั้ม Serious Music มีขายแล้ววันนี้ที่ happening shop, 8 Musique, HOF Records, Ageha Cafe หรือสั่งโดยตรงได้ทางแฟนเพจของวงได้เลยจ้า และในวันที่ 22 มีนาคมนี้ พวกเขาก็จะมีคอนเสิร์ตเปิดอัลบั้ม ใครอยากฟังทั้ง 9 เพลงแบบสด ๆ เน้น ๆ ห้ามพลาดเด็ดขาด

รับฟังอัลบั้ม Serious Music ของ Summer Dress บนเว็บไซต์ฟังใจได้ ที่นี่

Facebook Comments

Next:


Montipa Virojpan

อิ๊ก เนิร์ดดนตรีที่เพิ่งกล้าเรียกตัวเองว่าเป็นนักเขียนตอนอายุ 25 ชอบเดินเร็ว นอกจากขนมปังกับกาแฟดำแล้วก็สามารถกินไอศกรีมกับคราฟต์เบียร์แทนมื้อเช้าได้