Article Story

Me and LSD ความทรงจำก่อนสติหลุดลอยของ Syd Barrett แห่ง Pink Floyd

  • Writer: Geerapat Yodnil

ถ้าการมาถึงของ The Beatles ในปี 1960 เป็นดั่งการค้นพบทวีปใหม่บนพื้นโลก ในปี 1967 ที่ทุกคนได้รู้จักกับ Pink Floyd ครั้งแรก ก็คงให้ความรู้สึกเหมือนการท่องโลกอีกด้านที่เปรียบเสมือน upside down อันหลอกหลอนแบบ Stranger Things โดยที่คนฟังต่างเต็มใจจะเดินไปในทุกย่างก้าว

เราจะไม่พูดถึงมาสเตอร์พีซอัลบั้ม The Dark Side of the Moon ในปี 73 หรือเรื่องราวของอีโก้แมนอัจฉริยะอย่าง  Roger Water แต่เราจะพาไปสำรวจอีกเหตุการณ์ที่โด่งดังที่สุดในหน้าประวัติศาสตร์ดนตรีโลก นั่นคือชีวิตของ Syd Barret หนึ่งในผู้ก่อตั้งวงคนสำคัญว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างกับช่วงชีวิตของเขา หรือว่าสิ่งที่เขาสร้างมาทั้งหมดล่มสลายลงไปเพราะชีวิตสมรสของเขากับยา LSD 

* แด่ตัวตนที่ถูกกลืนกิน *

Before The Dark Side Coming True

%e0%b8%8b%e0%b8%b4%e0%b8%94-%e0%b8%81%e0%b8%b1%e0%b8%9a-%e0%b8%84%e0%b8%a3%e0%b8%ad%e0%b8%9a%e0%b8%84%e0%b8%a3%e0%b8%b1%e0%b8%a7-1950

ซิด บาร์เร็ตต์ เกิดเมื่อวันที่ 6 มกราคม ปี 1946 มีชื่อเต็มตามสูติบัตรว่า Roger Keith Barrett (ที่มาของชื่อเล่น Syd นั้นเกิดจากการที่เขาชอบเลียนท่าทางของนักแสดงตลก Sid Jame อยู่บ่อย ๆ ตอนมัธยมจนเพื่อนติดเรียกเขาด้วยชื่อต้นนั้น แต่เปลี่ยนวิธีสะกดให้ต่างกันแทน) เขาเติบโตท่ามกลางพี่น้องห้าคนโดยมีสถานะเป็นลูกคนที่สี่ ผู้ซึ่งถูกเลี้ยงดูด้วยการปลูกความรักในเสียงดนตรีและงานศิลปะจาก Arthur Max  (หรือดอกเตอร์เอ.เอ็ม. บาร์เร็ตต์) กับ Winifred Barrett ผู้เป็นพ่อและแม่ตั้งแต่ยังไม่รู้ความ และเมล็ดพันธ์ุนี้ก็ผลิใบออกดอกสวยงามในเวลาต่อมา

ซิดในวัยเจ็ดขวบเฉิดฉายความสามารถทางดนตรีเป็นครั้งแรก (ร่วมกับน้องสาวของตัวเอง) ในการแข่งเปียโนประเภทคู่ โดยที่หลังจบงานทั้งคู่สามารถคว้ารางวัลของผู้ชนะอันดับ 1 มาได้สำเร็จ ส่วนความสามารถทางศิลปะนั้นเกิดขึ้นตอนเรียนมัธยมในงานประกวดแต่งบทกวี ซึ่งความสุนทรีย์ของเขาทำให้สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศมาได้ 

%e0%b8%8b%e0%b8%b4%e0%b8%94-%e0%b8%81%e0%b8%b1%e0%b8%9a-%e0%b8%99%e0%b9%89%e0%b8%ad%e0%b8%87%e0%b8%aa%e0%b8%b2%e0%b8%a7-%e0%b8%9b%e0%b8%b5-1950

ปี 1961 อาเธอร์ แม็กซ์ บาร์เร็ตต์ จากโลกนี้ไปอย่างไม่คืนกลับมา

สิ่งที่น่าเศร้าไม่แพ้เหตุการณ์ในข้างต้นคือดอกไม้ที่กำลังผลิใบอย่างสวยงามได้แปรเปลี่ยนเป็นสีดำสนิทไปแล้ว และสิ่งที่ยืนยันได้ว่าซิดได้รับแรงกระทบกระเทือนทางจิตใจอย่างหนักจากเหตุการณ์นี้ ก็คือไดอารี่ประจำวันที่แสดงถึงความว่างเปล่าของจิตใจในวันนั้นด้วยคำที่สั้น ๆ ว่า ‘คุณพ่อที่รักเสียชีวิตในวันนี้’ และสามวันหลังจากนั้นเขาก็เขียนจดหมายหาแฟนสาวของตัวเองเกี่ยวกับพ่อว่า ‘ฉันสามารถแต่งหนังสือที่เล่าเรื่องราวคุณธรรมของเขาได้เลยนะ และซักวันฉันคงจะทำ’ ลึก ๆ แล้วนี่อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ตัวของซิดสร้างผลงานเพลงอันแสนบิดเบี้ยว เมามายและตัดสินใจลองยาเสพติดในเวลาต่อมา

Roger and Roger

ถึงแม้อาเธอร์จะจากไปแล้วแต่ความรักในเสียงดนตรีที่เขามอบให้ลูกชายนั้นยังคงอยู่ ซิดวิวัฒนาการความสนใจในดนตรีจากเปียโน อูคูเลเล่ แบนโจ ไปสู่กีตาร์ โดยเริ่มฝึกฝนด้วยตัวเองและแลกเปลี่ยนความรู้ทางทฤษฎีคอร์ดมากมายกับเพื่อนสมัยประถมและมัธยมที่ Cambridge School of Art ผู้ซึ่งต่อมากลายเป็นมือกีตาร์สำเนียงเอกลักษณ์หนึ่งเดียวของโลก David Gilmour (โดยทั้งคู่ต่างหลงใหลในเสียงจากคอร์ดของเพลงแจ๊สกับบลูส์เอามาก ๆ) ซิดฟอร์มวงแรกในชีวิตที่ชื่อ Geoff Mott and the Mottoes แต่วงมีอายุอยู่ได้ไม่นานก็เป็นอันต้องยุบไป เขาจึงใช้เวลาหลังจากนั้นเริ่มเขียนเพลงด้วยตัวเองขึ้นมา ก่อนที่ต่อมาจะย้ายไปลอนดอนเพื่อเรียนสถาปัตยกรรมศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย Camberwell College of Arts ตอนอายุ 18 (1964) และชะตาก็ลิขิตให้เจอกับเพื่อนร่วมคณะที่ชื่อ Roger Water

%e0%b9%82%e0%b8%a3%e0%b9%80%e0%b8%88%e0%b8%ad%e0%b8%a3%e0%b9%8c-%e0%b8%81%e0%b8%b1%e0%b8%9a-%e0%b8%8b%e0%b8%b4%e0%b8%94-%e0%b8%9b%e0%b8%b5-1965

โรเจอร์ชักชวนให้ซิดเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ The Tea Set วงที่เขาตั้งขึ้นมากับ Nick Mason, Richard Wrigth และ Bob Klose เพื่อนร่วมคณะที่ลาออกไปก่อนหน้าซิดจะเข้ามา แล้วในหน้าร้อนปี 1965 เดอะ ที เซ็ต ก็ถูกตั้งชื่อใหม่โดยนำชื่อต้นของสองมือกีตาร์บูลส์ที่ซิดชื่นชอบ Pink Anderson และ Fyold Council มาชนกันจนกลายเป็นชื่อ Pink Floyd และช่วงเวลาแห่งจุดเริ่มต้นของพิงค์ฟลอยด์นี้เองก็เป็นตอนเดียวกันกับที่ซิดใช้ยาเสพติดอย่างหนักเป็นครั้งแรก

 

One Of These Days

การมาถึงของกระแสนิยมในความเมามายของดนตรีไซเคเดลิก ณ ช่วงปลายยุค 60s นั้น ได้ดึงดูดเครื่องเคียงแสนอันตรายที่เรียกว่ายาเสพติดซึ่งประกอบไปด้วยยาอย่าง psilocybin mushroom (ภาษาไทยเรียกเห็ดขี้ควาย) peyote (คือพืชประเภทหนึ่งของตะบองเพชร) และ LSD (ยาหลอนประสาทรูปแบบกระดาษแปะลิ้นยอดนิยมสูงสุด) เข้ามาสู่วัฒนธรรมนี้ด้วย และยาอย่างสุดท้ายคือสิ่งที่ซิดใช้ขับเคลื่อนตัวเองและพิงค์ฟลอยด์ในตอนนั้น

2 ปี หลังจากกลายเป็นพิงค์ฟลอยด์ (1967) พวกเขาก็พัฒนาทักษะการแสดงสดขึ้นเรื่อย ๆ พร้อมกันกับสร้างหนทางใหม่ให้วงดนตรีอย่างที่วงในยุคนั้นไม่มีใครคาดคิด โดยให้ค่ากับโปรดักชันระหว่างโชว์อย่างมาก บางงานมีการนำโปรเจกเตอร์มายิงเข้ากับกำแพงเป็นแสงสีงาม ๆ ประกอบกับเพลงไซคีเดลิกชวนฝันของวง บางงานก็จัดไฟโดยให้ความรู้สึกเหมือนอยู่ในแดนลี้ลับสนธยา วงกลายเป็นที่กล่าวขานสนัดหูและทำให้ในปีเดียวกันนั้น EMI Records ก็จับพวกเขาเซ็นสัญญาเข้าค่าย  

ตรงนี้เองที่ความอัจฉริยะบวกมุมมองในโลกใหม่จาก LSD ส่งให้ความคิดสร้างสรรค์ของซิดเขียนเพลงที่ชื่อ Arnold Layne ขึ้นมา (โดยได้แรงบันดาลใจมาจากโจรวิ่งราวกางเกงในคนนึงที่เคมบริดจ์บ้านเกิดของเขา) เพลงนี้คือส่วนสำคัญที่ทำให้โลกรู้จักพิงค์ฟลอยด์เป็นครั้งแรก และตามด้วย See Emily Play เพลงที่ดันกราฟของวงให้วิ่งสูงขึ้นรวมถึงตอกย้ำในความเก่งของซิดอีกครั้งนึง

arnold-lane-1967

see-emily-play-1967

Chapter 24

เมื่อเวลาของการปล่อยซิงเกิ้ลถึงจุดอิ่มตัวที่คนฟังคุ้นชินแล้ว ก็ถึงเวลาทำอัลบั้มซะที และอัลบั้มแรกของพิงค์ฟลอยด์ก็เกิดขึ้นตรงนี้ในปีเดียวกัน … พวกเขาให้ชื่อมันว่า The Piper Of The Gates Of Dawn และเลือกบันทึกเสียงที่ Abbey Road Studios สิ่งสวยงามก็คือนอกจากมันจะกลายเป็นหนึ่งในผลงานอัลบั้มไซคีเดลิกที่ถูกชื่นชมมากที่สุดของวง (และโลก) แล้ว อัลบั้มก่อนหน้าที่มาบันทึกเสียงเสร็จไปก่อนพวกเขาก็คือ Sgt. Pepper’s Lonely Heart Club Band อัลบั้มช็อกโลกของ The Beatles

%e0%b8%ad%e0%b8%b1%e0%b8%a5%e0%b8%9a%e0%b8%b1%e0%b9%89%e0%b8%a1-piper-of-the-gate-of-dawn-1967

เกือบทุกเพลงในอัลบั้ม The Piper เป็นฝีมือการแต่งคำร้องของซิด โดยใช้เวลาแต่ง 10 เพลงเพียงแค่ 6 เดือนเท่านั้น ในพาร์ตดนตรีเองเขาก็เป็นคนปูแนวทางว่าควรจะเป็นอย่างไร สามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่าเขาคือคนวางอิฐรากฐานชั้นแรกให้กับตัววง

เพลงที่มากขึ้นมาพร้อมกับการแสดงสดที่มากมาย ในตอนนั้นเพลง See Emily Play เข้าติดชาร์ตอันดับต้น ๆ ของคลื่นวิทยุหลายแห่ง จนส่งผลให้ตัววงได้รับเชิญไปร่วมรายการทีวีโชว์จัดอันดับชาร์ตเพลงที่โด่งดังที่สุดในอังกฤษตอนนั้นอย่าง Top Of The Pops (1964 – 2006) และแม้อาจจะดูไม่เกี่ยวกันซักเท่าไหร่แต่ปริมาณการใช้ยาของซิดก็เพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน โดยที่ไม่มีใครรู้อีกแล้วว่าเขาใช้มันไปเพื่อความคิดสร้างสรรค์รึเปล่า ?

Interstellar Overdrive

ชายหนุ่มผู้นอบน้อมสุภาพอ่อนโยนและแจ่มใสได้ลาจากตัวของซิดและทุกคนที่เขารู้จักไปแล้ว ตอนนี้ซิดกลายเป็นคนอารมณ์แปรปรวน เกรี้ยวกราด อีโก้จัดและบางทีก็เป็นคนที่ไม่สามารถใช้คำไหนมาอธิบายได้เลย

ช่วงหลังจากออกรายการ Top of the Pop มา พิงค์ฟลอยด์ก็ออกทัวร์อย่างหนักยิ่งกว่าวงไหน ๆ ในยุคเดียวกัน สิ่งเลวร้ายที่เกิดขึ้นคือ หลาย ๆ โชว์ของพิงค์ฟลอยด์ซิดเอาแต่ยืนนิ่งเฉย ๆ ไม่ร้อง ไม่เล่นกีตาร์ ไม่พูดอะไรสักคำ แค่ยืนนิ่งจ้องอะไรซักอย่างด้วยสาที่ว่างเปล่าอยู่อย่างนั้น หรือบางครั้งถูกเชิญไปออกทีวีโชว์ พิธีกรในรายการยิงคำถามสนุกสนานชวนยิ้มใส่เขา เขาก็จะตอบมันกลับไปด้วยคำสั้น ๆ ที่แฝงด้วยท่าทีนิ่งเฉย แต่กว่าเขาจะตอบแต่ละคำถามนั้นก็ใช้เวลานานอยู่หลายนาที และบางทีเขาก็แค่นั่งจ้องกล้องที่ถ่ายโดยไม่พูดอะไรเลย

 

%e0%b8%8b%e0%b8%b4%e0%b8%94-%e0%b8%9a%e0%b8%b2%e0%b8%a3%e0%b9%8c%e0%b9%80%e0%b8%a3%e0%b9%87%e0%b8%95-1969

ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นต่อจากนี้คนที่เคยผ่านการทำวงดนตรีก็คงจะเดาได้อย่างง่าย ๆ

ปี 1968 ช่วงเดือนก่อนที่จะมาถึงของอัลบั้มที่ 2 ขอวง A Saucerful Of Secrets ซิดต้องออกจากวงไปด้วยสภาพอย่างที่ได้เล่ามาในข้างต้น โดยที่ทิ้งบทเพลง Jugband Blues เป็นสิ่งสุดท้ายให้กับพิงค์ฟลอยด์

%e0%b8%ad%e0%b8%b1%e0%b8%a5%e0%b8%9a%e0%b8%b1%e0%b9%89%e0%b8%a1-a-saucerful-of-secrets-%e0%b8%9b%e0%b8%b5-1968

Long Gone

แม้จะออกจากพิงค์ฟลอยด์ไปแล้ว แต่ซิดก็ยังคงวนเวียนอยู่กับเสียงดนตรีไม่ไปไหน (และแน่นอนว่ายังคงเล่น LSD อยู่เรื่อย ๆ) ซิดใช้เวลาเกือบปีทำอัลบั้มเดี่ยวของตัวเองที่ชื่อ The Madcap Laughs จนสำเร็จและออกเผยแพร่สู่คนฟังตอนปี 1970 ภายใต้ค่ายใหม่ที่ชื่อ Harvest (ค่ายลูกของ Emi Records) ซึ่งอัลบั้มนี้จะลุล่วงไปด้วยดีไม่ได้เลยหากขาดการช่วยเหลือของเพื่อนรักอย่างกิล มอร์ (ซึ่งตอนนั้นเป็นมือกีตาร์ของพิงค์ฟลอยด์แล้ว) และโรเจอร์ วอเทอร์

%e0%b8%ad%e0%b8%b1%e0%b8%a5%e0%b8%9a%e0%b8%b1%e0%b9%89%e0%b8%a1-the-madcap-laughs-%e0%b8%9b%e0%b8%b5-1970

คนฟังให้ผลตอบรับกับอัลบั้มนี้อยู่ในระดับเป็นที่น่าพอใจสำหรับค่าย (หากใครที่ชื่นชอบดนตรีอะคูสติกหลอน ๆ หม่น ๆ ชวนเข้าไปในฝันประหลาด ๆ เราขอเชิญชวนให้ลองหาอัลบั้มไซคีเดลิกโฟล์กชุดนี้มาฟังโดยด่วน) ซิดจึงได้ไฟเขียวให้ทำอัลบั้มถัดมาต่อไปทันทีและเขาก็ทำมันออกมาอย่างรวดเร็วโดยให้ชื่อว่า Barrett และปล่อยอัลบั้มนี้ในปีเดียวกันกับชุดแรก (กิลมอร์ยังคงตามมาดูแลเพลงและตัวของซิด)

%e0%b8%ad%e0%b8%b1%e0%b8%a5%e0%b8%9a%e0%b8%b1%e0%b9%89%e0%b8%a1-barrett-%e0%b8%9b%e0%b8%b5-1970

หลังจากนั้นในปี 1972 ซิดก็ฟอร์มวงที่ชื่อ Star ขึ้นมาแต่ด้วยสภาพอารมณ์ที่ชึ้น ๆ ลง ๆ และแย่ลงไปเรื่อย ๆ ทำให้วงต้องยุบไปหลังจากเกิดได้ไม่นานและซิดก็ลาขาดจากเสียงเพลงไปในตรงนี้ (และไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่าเขาเลิกเล่นยารึยัง)

ปี 1975 ภายใน Abbey Road Studios ระหว่างการมาสเตอร์ริ่งขั้นสุดท้ายของเพลง Shine On Your Crazy Daimond เพลงซึ่งกิลมอร์และโรเจอร์แต่งขึ้นมาจากเรื่องราวของซิด (และเราเชื่อว่าเขาแต่งให้ซิด) ในอัลบั้ม Wish You Were Here ของพิงค์ฟลอยด์ สิ่งที่ไม่น่าเชื่อก็เกิดขึ้น

%e0%b8%ad%e0%b8%b1%e0%b8%a5%e0%b8%9a%e0%b8%b1%e0%b9%89%e0%b8%a1-wish-you-were-here-1975

จู่ ๆ ซิดก็ปรากฏตัวอยู่ในห้องอัดตั้งแต่ตอนไหนก็ไม่รู้ด้วยรูปร่างซึ่งไม่น่าเชื่อว่าคือเขาจริง ๆ เบ้าตาของเขาทั้งลึกและคล้ำ บนหัวก็เหลือเส้นผมแทบนับเส้นได้ ซ้ำยังมีน้ำหนักที่มากอย่างที่ไม่เคยมาก่อน โรเจอร์และริชาร์ด ไรท์ที่นั่งอยู่ในสตูดิโอขณะนั้นจำเขาไม่ได้ในทีแรก แต่ก็ค่อย ๆ นึกออกในที่สุดพร้อมกับน้ำตาที่ค่อย ๆ ไหลออกมา

%e0%b8%8b%e0%b8%b4%e0%b8%94-%e0%b8%9a%e0%b8%b2%e0%b8%a3%e0%b9%8c%e0%b9%80%e0%b8%a3%e0%b9%87%e0%b8%95-1975

พวกเขาแทบไม่ได้คุยอะไรกันมากนักซึ่งเชื่อว่าน่าจะเกิดจากอาการประหลาดใจของการพบกันที่ไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดขึ้นจริง แต่ทว่าก่อนซิดจะจากไปนั้น โรเจอร์ได้เปิดเพลงแท็รคสุดท้ายที่กำลังมาสเตอร์อยู่ให้ฟังและถามเขาว่ารู้สึกอย่างไร ซิดตอบด้วยใบหน้าที่เรียบเฉยว่าไม่ชอบแล้วก็เดินจากไปเงียบ ๆ และนั่นคือครั้งสุดท้ายที่วงได้เห็นเขา

Goodbye Crazy Diamond

7 กรกฎาคม 2006 ‘โรเจอร์ คีธ บาร์เร็ตต์’ ในวัย 60 ปี เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งตับอ่อน (pancreatic cancer) ในโรงพยายาบาลที่เคมบริดจ์บ้านเกิดของเขาเอง

ว่ากันว่าซิดใช้เวลาช่วงสุดท้ายของชีวิตคนเดียวในอพาร์ทเมนท์ที่เชลซี บางครั้งก็จะนั่งดูทีวีไปเรื่อย ๆ จนหมดวัน แต่บางครั้งก็จะออกไปเดินเล่นตามท้องถนนในเมือง โดยใช้เงินจากลิขสิทธ์เพลงที่เขาได้สร้างเอาไว้   

แม้ในสายตาหลาย ๆ คนจะมองและเชื่อว่าเรื่องราวของซิดนั้นจบลงเพราะความคึกคะนองในการเล่นยาอย่างบ้าคลั่งและปล่อยให้มันกลืนกินตัวเองอย่างน่าเศร้า แต่คนที่รู้จักซิดจริง ๆ ไม่ได้คิดอย่างนั้นเลยแม้ซักนิดเดียว กิลมอร์ เคยให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องนี้เอาไว้ว่า

“ผมไม่รู้ว่าซิดคิดอะไรหรืออย่างไรแน่นอน แต่ผมคิดว่ารากของปัญหาเกิดมาจากครอบครัวของเขา ตอนที่่พ่อของเขาจากไปนั้นสร้างความเจ็บปวดให้เขาอย่างมาก การที่แม่ของเขาตามใจยิ่งทำให้เรื่องมันแย่เข้าไปอีก บอกได้เลยว่ามันไม่ใช่เพราะยาเพราะเราใช้มันมาก่อนพิงค์ฟลอยด์เสียอีก  บางทีเขาอาจจะจมหายไปในตัวเองแล้วคิดว่าตัวเขาเป็นปกติเหมือนคนทั่วไป”

แต่ไม่ว่าใครจะคิดอย่างไรก็ไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่าชายคนนี้คืออัจฉริยะทางเสียงเพลงอย่างแท้จริง

อ้างอิง

http://www.sydbarrett.com/life/
https://www.biography.com/people/syd-barrett-20930217
http://www.feelnumb.com/2009/10/10/syd-barrett-visited-pink-floyd-at-abbey-road/
http://www.medicaldaily.com/psychedelic-drug-use-united-states-common-now-1960s-generation-245218
หนังสือ – บางทีนี่อาจจะเป็นวงดนตรีที่ดีที่สุดในโลด พิงค์ ฟลอยด์ : ประวัติ / เนื้อเพลง / เบื้องหลัง 2546

Facebook Comments

Next:


Geerapat Yodnil

จี Loser boy ผู้หลงไหลในหนังของ Woody Allen มี Mac DeMarco เป็นศาสดา และยังคงเชื่ออยู่เล็ก ๆ ว่าตัวเองจะสามารถเป็น William Miller ได้ในซักวัน