Article Interview

Chanudom และ ก้อย รัชวิน มีเรื่องอยากเล่าถึงคอนเสิร์ตใหญ่ครั้งแรกกับ Rasmee ใน คนบาปเมืองชุดดำ

  • Writer: Peerapong Kaewthae
  • Photographer: Chavit Mayot


เพราะความแตกต่างทางดนตนตรีและภาษาดึงดูดให้พวกเขามาเจอกัน ต่างคนต่างมีเรื่องที่อยากเล่าเหมือนกัน สองศิลปินจึงจัดคอนเสิร์ตใหญ่ครั้งแรกในชื่อ คนบาปเมืองชุดดำ ซึ่งจะเป็นการแสดงคอนเสิร์ตที่ผสมผสานกลิ่นอายของละครเวที ผ่านลวดลายที่จัดจ้านและดนตรีที่มีเอกลักษณ์ของ Chanudom และหมอลำอีสานโซล Rasmee ที่กำลังถูกจับตามองอย่างมากในตอนนี้ และวันนี้เอง Fungjaizine เลยชวนวง Chanudom มาพูดคุยเกี่ยวกับคอนเสิร์ตครั้งนี้ และยังได้ ก้อย รัชวิน นางเอกสาวมากความสามารถที่มารับหน้าที่ผู้กำกับคอนเสิร์ตในครั้งนี้ ซึ่งเธอ phone in เข้ามาร่วมตอบคำถามอย่างเป็นกันเอง ใครยังไม่ได้ซื้อตั๋วก็ลองอ่านดูว่าคอนเสิร์ตครั้งนี้ไม่ควรพลาดยังไงบ้าง

ทำไม Chanudom กับ Rasmee ถึงได้มาทำงานด้วยกันในคอนเสิร์ตครั้งนี้

พัด: เริ่มมาจากการที่เราชอบวง Rasmee มากอยู่แล้ว แล้วก็ได้เจอกันครั้งแรกในงาน เห็ดสด ของ ฟังใจ เนี่ยแหละค่ะ พี่แป้งก็ได้ดูโชว์เรา เราก็ได้ดูโชว์พี่แป้งแบบเต็ม ๆ ต่างคนต่างก็ประทับใจ จากนั้นเราก็ได้เจอกันหลังเวทีพี่แป้งก็มาทักเลยว่า “ลูกสาววววว” (หัวเราะ) เราก็บอกว่า พี่แป้ง เรามาทำอะไรด้วยกันดีกว่า เรารู้สึกว่าเราสองคนมันมีอะไรคล้าย ๆ กันตรงที่มีเรื่องที่จะเล่าเหมือนกัน แค่พี่แป้งจะไม่ได้เต้นบ้าบออะไรเหมือนพัด ไม่ได้แอ็คชั่นเท่าเรา เพราะเราก็ยิ่งใหญ่ตะลึงตาของเราไป โชว์ของพี่แป้งก็มีจิตวิญญาณ มีความเป็นของจริง ซึ่งความแตกต่างแบบนี้แหละค่ะ ที่ทำให้เราอยากอยู่ด้วยกัน มันน่าจะเสริมกันได้ดี พอมาจัดร่วมกันแล้วเลยคิดว่าอยากทำอะไรที่ไม่เคยทำหรือที่เคยไปเล่นที่อื่น เลยคิดว่าคอนเสิร์ตนี้แหละน่าจะตอบโจทย์ที่สุด

ช่วยอธิบายให้ฟังหน่อยว่า theatrical concert หมายความว่ายังไง

พัด: อย่างวง Chanudom เวลาแสดงก็จะเป็น theatrical อยู่แล้ว จะมีส่วนผสมของการเล่าเรื่องแบบละครเวที แต่พอมาทำอะไรแบบนี้ ถึงพี่แป้งจะไม่ค่อยถนัด แต่พี่แป้งก็มีเรื่องราวในเนื้อเพลงมากมาย ลองสังเกตดูได้ เราคุยกันแล้วเราก็คิดว่าไม่อยากทำให้เป็นคอนเสิร์ตธรรมดา ไม่อยากให้วงแต่ละวงเล่นเสร็จแล้วก็ลงจากเวที เราก็เลยแบบ พี่แป้ง เราเอาเพลย์ลิสต์มารวมกันดีกว่า มาร้อยเรียงให้เป็นเรื่องราวเดียวกัน

แล้วในคอนเสิร์ตครั้งนี้มีอะไรเตรียมมาเซอร์ไพรส์คนดูบ้าง

พัด: เราเตรียมไว้ยิ่งใหญ่เหมือนกัน อย่าง Rasmee เขาก็จะมีเครื่องดนตรีพื้นบ้านของเขาอย่าง พิณ ซึ่งไม่เคยเล่นที่ไหนมาก่อน ก็จะมีเล่นในคอนเสิร์ตนี้ ของ Chanudom ก็จะมีบางเพลงที่เรียบเรียงขึ้นใหม่และเพลงใหม่ เลยตามเลย ก็จะเล่นที่นี่ด้วย เครื่องสายก็จะมีด้วย ด้วยความที่เราเล่นใน Studio28 ซึ่งเป็นสตูดิโออัดเสียง เสียงในคอนเสิร์ตน่าจะเพราะดี เราเลยสามารถใช้เครื่องดนตรีบางชนิดจากวงออเคสตร้าได้ และน่าจะออกมาโอเค อีกอย่างหนึ่งที่แอบบอกได้เลยคือ พี่แป้งเอาเพลงเราไปยำ เราก็เอาเพลงพี่แป้งมายำ ก็น่าจะได้เห็นว่าพัดจะร้องเพลงอีสานยังไง พี่แป้งจะร้องเพลงร็อกยังไง

คอนเสิร์ตครั้งนี้จะมีเพลงที่แต่งขึ้นมาใหม่เพื่อร้องด้วยกันไหม

พัด: ก็มีส่วนหนึ่ง แต่ส่วนที่พิเศษกว่านั้นต้องไปดูจริง ๆ คือเราจะอิมโพรไวส์กันสด ๆ ด้วย เป็นพาร์ตที่ใช้ฟีลลิ่งตอนนั้น ให้มันมีความไลฟ์แบบคอนเสิร์ตด้วย

พัด กับ ก้อย รัชวิน ร่วมงานกันมาหลายครั้งแล้ว ทั้งละครเวที Hedwig and the Angry Inch ทั้ง MV เลือดชั่ว แถมมาเป็นผู้กำกับเวทีในครั้งนี้ด้วย

พัด: เป็นอีกงานหนึ่งที่เขาได้ทำอะไรครั้งแรกกับเรา กำกับ mv ของ Chanudom ก็เป็นครั้งแรกของเขา นี่ก็เป็นครั้งแรกที่เขากำกับเวทีการแสดง เขาต้องไปควบคุมเรื่องแสง เรื่องเวที เรื่องเพลย์ลิสต์ต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น แต่พี่ก้อยเนี่ยสามารถเข้ามาทำงานแล้วผลักดันให้โปรดักชันเดินหน้าได้เร็วมาก เหมือนเขารู้ทฤษฎีพวกนี้มาส่วนหนึ่งอยู่แล้ว ทำให้เราทำงานได้ง่ายขึ้น

ก้อย: เราก็รู้สึกสนุกไปกับเขาไม่ว่าเขาจะมีโปรเจกต์อะไร ด้วยความที่เราสนิทกันอยู่แล้ว เราก็จะเข้าใจวิธีการทำงานของเขา เขาชอบแบบไหน Chanudom ที่ก้อยเห็น กับ Chanudom ที่คนอื่นเห็นอาจจะเหมือนหรือแตกต่างกัน แต่เราคิดว่าเราเห็นเขาในหลาย ๆ มิติมาแล้ว เลยรู้สึกว่าเราสามารถดึงความสามารถที่เขามีอยู่ออกมาได้ และทุกงานที่ทำจะอยู่บนพื้นฐานของความสนุก ทำงานด้วยกันมาทั้งสามงานไม่เคยรู้สึกเครียดหรือกดดันอะไรเลย ถ้าเราใส่อะไรลงไปสิ่งที่คนดูจะได้เห็นก็เป็นสิ่งที่เราพยายามสื่อสารกับเขา ถ้าเราสนุก คนดูก็จะสนุก ถ้าเราใส่ความเครียดลงไปคนดูก็จะเครียดกับเรา

พัดหลงใหลอะไรในความสามารถของก้อยถึงอยากร่วมงานด้วยกันบ่อย ๆ

พัด: เราสองคนมีอย่างหนึ่งที่เหมือนกันคือ ต่างคนต่างเห็น passion ของกันและกันแล้วเป็นแรงบันดาลใจให้กันได้ อย่างพัดเห็นพี่ก้อยมาทำงานนี้ เราได้เห็นอีกมุมหนึ่งจากการที่เขามาเป็นผู้กำกับ อย่างเราวางมาดของ Chanudom ไว้แบบนึง เราก็ไม่รู้หรอกว่าคนอื่นจะตีความยังไง แต่พี่ก้อยเข้ามาเสนอไอเดียในมุมที่ inspire เรา เราก็เพิ่งรู้ว่าเรามีมุมนี้ด้วยหรอ ก็เข้ามาก็ตบให้ Chanudom กับ Rasmee มีสีสันอีกแบบหนึ่งได้ เราก็คิดว่าเนี่ยแหละคือสิ่งที่เรียนรู้กันได้ตลอด

การเป็นผู้กำกับเวทีครั้งแรก มีความท้าทายสำหรับก้อยยังไงบ้าง

ก้อย: จริง ๆ ตอนที่เราเรียนนิเทศจุฬา ฯ เราก็เรียนสาขาการแสดงมา ตอนเรียนจบก็ต้องทำละครเวทีกำกับส่งอาจารย์ มันก็ห่างมานานพอสมควร แล้วเราก็มาทำงานอยู่เบื้องหน้าอยู่นาน ครั้งนี้เลยเป็นการกลับมาทำเบื้องหลังโดยเอาประสบการณ์ทั้งหมดที่ผ่านมากับของที่เราเคยเรียนกลับมาใช้อีกครั้งหนึ่ง ก้อยเป็นคนที่มี passion กับละครเวทีอยู่ตลอดเวลา เลยตัดสินใจไปนิวยอร์กหนึ่งเดือนเพื่อตะเวนดูละครเวทีทุกเรื่องที่อยากดู ก็มีความคิดมาตลอดว่าถ้าได้มีโอกาสทำละครเวทีก็อยากทำ เคยคิดกับพัดไว้แล้วว่าอยากกำกับซักเรื่องแล้วให้น้องเล่น จนกระทั่งมีโปรเจกต์นี้เข้ามาเราเลยรู้สึกดี เหมือนเป็นงานทดลองของเรา แต่ที่มันยากเพราะนี่คือคอนเสิร์ตที่วางองค์ประกอบให้เป็นละครเวที เราจึงต้องฟังเพลงของ Chanudom และ Rasmee ทุกเพลงเพื่อร้อยเรียงให้มันเป็น storyline ถ้าเป็นละครเวทีจะมีพล็อต ไดอะล็อก (บทพูด) ตัวละคร แต่เราเปรียบพัดกับพี่แป้งเป็นตัวละคร บทพูดคือเนื้อเพลง conflict เกิดขึ้นจากเพลงที่เขาเขียนขึ้นมา และเราต้องใส่เซ็ตติ้งต่าง ๆ เข้าไปให้เป็นละครเวที

รู้สึกกดดันบ้างไหม

ก้อย: กดดันเรื่องระยะเวลามากกว่าค่ะ ด้วยความที่ทุกอย่างมันเกิดขึ้นเร็วมากภายในหนึ่งเดือน ตัวพี่แป้งเองก็อยู่เชียงใหม่ จะลงมาก็ต่อเมื่อมีงานเท่านั้น พี่แป้งบอกว่าจริง ๆ ฉันน่ะยุ่งมากเลยนะ แต่ฉันอยากมาสนุกกับพวกเธอ เวลาซ้อมเลยค่อนข้างน้อยมาก แต่ที่เหลือคือความสนุกล้วน ๆ เลยค่ะ

แล้วพัดมีส่วนร่วมในการออกแบบคอนเสิร์ตครั้งนี้ในด้านไหนบ้าง

พัด: เราพยายามหาธีมหรือกิมมิกในการดึงจุดเด่นของทั้งสองวงออกมา ด้วยความที่เราเรียนละครมา เราก็ชอบสร้างเป็นเรื่องราว (หัวเราะ) ก็คิดเรื่องมาก่อน ต่างคนต่างมายังไง ทำไมต้องมาเจอกัน แล้วเราก็โยนไอเดียแบบนี้ให้พี่ก้อย เขาก็สามารถต่อยอดได้ว่าอะไรจะอยู่บนเวที ฉากจะเป็นแบบไหน แสงจะเป็นยังไงถึงสื่อสารได้ดีที่สุด หรือบอกพี่ก้อยกับคนในวงว่าเราอยากทำอะไรที่ไม่ได้ทำตอนเล่นข้างนอก เขาก็หาจังหวะให้ได้ว่าเราจะทำสิ่งที่เราอยากทำได้ตรงไหน มากน้อยแค่ไหน quality มันจะเป็นยังไง

ทำไมต้องจัดคนบาปเมืองชุดดำที่ Studio28 เท่านั้น

พัด: เพราะว่าในโชว์นี้เรากำกับเวทีมาเพื่อเล่นที่นี่ คิดเพลย์ลิสต์เพื่อเล่นที่นี่ ด้วยความที่มันเป็นสตูดิโอที่มีคุณภาพเสียงดีอยู่แล้ว บางทีเราไม่จำเป็นต้องใช้ไมโครโฟน คือเสียงมันสามารถก้องในตัวห้องมันเลย ถ้าเป็นที่อื่นบางอย่างอาจถูกลดทอนลง บางครั้งเราคิดว่าความนิ่ง ความเงียบมันสื่ออารมณ์ได้เยอะมาก สตูดิโอนี้มันทำอะไรแบบนี้ได้ กับทีม YimSmer เป็นทีมสเตจกับทีมไลท์ติ้ง ทุกอย่างน่าจะออกมาครบทั้งแสงสีเสียง

ก้อย: สำหรับ YimSmer เนี่ย เราเห็นความเป็นไลท์ติ้งดีไซเนอร์รุ่นใหม่ที่มีผลงานในหลาย ๆ โชว์อย่าง Wonderfruit น้อง ๆ เขาจบสถาปัตย์ จุฬา ฯ และเคยทำละครเวทีมาก่อน เขาจะเข้าใจว่าแสงของละครเวทีจะเป็นยังไง มันอาจไม่ได้เป็นแพตเทิร์นหรือลูกเล่นแบบคอนเสิร์ต ต้องการใช้แสงในการเล่าเรื่อง เป็นสัญลักษณ์หรือสื่ออารมณ์ในซีนนั้น ทั้งนักดนตรี ทั้งตัวก้อย และทีม YimSmer ก็ต้องไปทำการบ้านมาว่าตรงไหนจะต้องใช้แสงยังไง และเราประทับใจในการทำงานของเขาเพราะเขาเป็นมืออาชีพมาก ทุกครั้งที่มาเขาก็เอาไอเดียมาเสนอตลอด

คนบาปเมืองชุดดำ จะช่วยยกระดับคอนเสิร์ตในประเทศไทยได้ไหม

ก้อย: เราไม่กล้าพูดว่ามันเป็นการยกระดับ สำหรับก้อยมันเป็นงานทดลองมาก ๆ และเราไม่ใช่คนที่คร่ำหวอดหรือมืออาชีพในด้านนี้โดยเฉพาะ แต่เราทำกันด้วยความรักและความสนุกจริง ๆ เราแค่อยากจะเอาสิ่งที่เราชอบความหลงใหลในละครเวทีมาเพิ่มเติมคอนเสิร์ต เรายังไม่เคยเห็นใครทำในเมืองไทย มันน่าตื่นเต้นสำหรับเรา เราก็ทำให้ดีที่สุดในรูปแบบที่เราตั้งใจไว้ มันเป็นประสบการณ์ใหม่ ๆ ของเรา และคนดูก็จะได้ประสบการณ์ใหม่ในการดูคอนเสิร์ตเหมือนกัน

พัดกับก้อยมองว่าวงการเพลงไทยตอนนี้เป็นยังไงบ้าง

พัด: พัดเริ่มรู้สึกตื่นเต้นกับวงการเพลงไทยตอนนี้ โดยเฉพาะวงการนอกกระแส อย่างบางวงเองไม่มีค่ายก็ถูกต้อนรับอย่างดี อบอุ่นมาก และมีคนฟังเยอะมาก รวมถึงในแง่ของธุรกิจเองก็เห็นบางวงขายดิบขายดี ทั้งเสื้อวงหรือแผ่นเพลงก็ขายเองได้ วงการเพลงไทยเหมือนกลับมาหาอะไรใหม่ ๆ อีกครั้งหนึ่ง คนค่อนข้างที่จะเปิด ดิ้นรนหาอะไรสนุก ๆ แปลก ๆ ใหม่ ๆ ขึ้น ทั้งสไตล์เพลงและสไตล์โชว์ อย่าง CrossPlay ของ ฟังใจ ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ ที่จะจัดขึ้น แต่ทุกคนก็ยอมรับและก็มาดูกัน ไม่ค่อยปิดกั้น สำหรับเราตื่นเต้นนะ

ก้อย: ก้อยว่ามันเป็นยุคที่ทุกอย่างมันเร็วมากโซเชียลมีเดียมันมีผลมากกับทุก ๆ วงการ ไม่ว่าจะในวงการดนตรีก็ตาม การทำงานด้วยความเป็นอิสระ มันทำให้ทุกคนตื่นตัวมากขึ้นและทำให้วงการเพลงมันคึกคักมากขึ้น เราจะเห็นว่าศิลปินใหม่ ๆ เกิดขึ้นในโซเชียลได้โดยพวกเขาไม่ต้องเป็นดารา เด็กรุ่นใหม่สามารถฝึกฝนและพัฒนาตัวเองและทำเพลงผ่าน youtube และทำให้เป็นที่รู้จักได้ คนฟังก็มีทางเลือกมากขึ้นว่าจะฟังอะไร แนวดนตรีก็แตกแขนงไปได้หลากหลายขึ้น มันทำให้เกิดแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ ๆ หรือคนในวงการดนตรีเองก็อยากจะสร้างสรรค์อะไรใหม่ ๆ ให้มันน่าตื่นตาตื่นใจขึ้น วงการดนตรีก็พัฒนาขึ้น

ช่วงนี้มีวงดนตรีหลายวงบ่นว่าไม่มีงานแสดง คิดว่าเกิดอะไรขึ้น

พัด: จริง ๆ การจะบ่นว่าไม่มีงานเล่นเนี่ย ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่เราพูดได้ แต่อย่างคอนเสิร์ตนี้เราก็จัดกันเอง เราต้องแสดงตนก่อนว่าเราทำเพลงเพื่ออะไร เราอยากเล่นเพื่ออะไร ถ้าจะรอคนมาจ้างไปเรื่อย ๆ เราไม่ใช่ศิลปินที่ใครก็อยากฟัง เราต้องยอมรับตัวเองอย่างนึงว่าเราทำเพลงมาก็มีกลุ่มที่อยากฟังและกลุ่มที่ไม่อยากฟัง ถ้าคิดอยากจะเล่นเราต้องทำเองก่อน ไม่ใช่ว่าเราอยากได้คนฟังนะ แต่เราอยากเล่นเอง อยากสนุกเอง อยากแจมดนตรีกับเพื่อน อย่าง Chanudom แรก ๆ ก็พยายามไปตามร้านแล้วขอขายบัตรเพื่อเอาเงินเหมือนกัน หลังจากนั้นเขาจะสนใจหรือไม่สนใจ ก็ต้องเข้าใจทั้งสองฝั่งว่าจำเป็นต้องอยู่รอด เราทำอะไรได้มากที่สุดก็ทำตรงนั้น เราเลยคิดว่าตัวศิลปินเองตะหากที่จำเป็นต้องลุกกันเองก่อน

นักดนตรีก็อาจจะต้องทำงานมากขึ้น ว่าจะเอาตัวเองไปอยู่ที่ไหน เพื่อหากลุ่มคนฟังของตัวเองให้เจอ

พัด: มันไม่ใช่เรื่องลำบากนะคะ พัดรู้สึกว่ามันทำให้นักดนตรียุคใหม่เก่งขึ้น มันไม่ใช่แค่คุณทำเพลงเอง ปล่อยเพลงเอง แต่ต้องต่อยอดตัวเอง หากิมมิกวงตัวเองให้เจอและขายตัวเองให้เป็น คุณก็จะแข็งแรงด้วยตัวเอง

ก้อย: ไม่ว่าคุณจะอยู่ในวงการไหน หรือทำอาชีพอะไร ต้องดูว่าเป้าหมายกับสิ่งที่จะทำคืออะไร ถ้าเราทำด้วยความรัก อยากให้คนได้ยินเสียงดนตรีของเรา เราจะรู้ว่าจะนำดนตรีไปสู่เป้าหมายที่เราต้องการยังไง แต่ไม่ใช่คิดถึงปลายทางของมัน ชื่อเสียง เงินทอง ความสำเร็จ คนรุ่นใหม่เขาลืมนึกถึงว่าระหว่างทางที่จะไปถึงจุดนั้นน่ะ จะต้องเดินไปยังไง (พัด: อันนี้ Chanudom ก็เคยเป็นค่ะ (หัวเราะ)) มันทำให้วิธีการเดินทางของแต่ละคนแตกต่างกัน ถ้าคุณรู้ว่าคุณต้องการอะไร มันจะมีแรงขับจากภายในตัวเราเองที่จะเดินทางไปสู่จุดนั้นได้ เป็นกำลังใจให้ทุกคนละกันค่ะ ไม่ว่าจะเป็นศิลปินอินดี้หรืออยู่ค่ายก็ตาม ทุกคนล้วนแต่เจอปัญหาแบบนี้กันทั้งสิ้น กลับมาทบทวนจุดยืน ความตั้งใจของเรา สิ่งที่เราต้องการจะทำจริง ๆ ถ้าเราหาเจอน่าจะทำให้ทุกคนมีกำลังใจในการทำเพลงต่อไป

ยังมีบทบาทอะไรที่ก้อยอยากลองทำอีกหลังจากเป็นนักแสดง เล่นละครเวที หรือผู้กำกับ mv มาแล้ว

ก้อย: อยากกำกับละครเวทีหรือกำกับหนัง ถ้าอยากทำงานเบื้องหลังก็ต้องมาเรียนรู้งานเบื้องหลัง ไม่ใช่ว่าทำงานเบื้องหน้ามาแล้วจะทำงานเบื้องหลังได้ทันที มันมีอะไรมากกว่าที่เห็น ก็เลยเริ่มหาประสบการณ์และทำงานทดลองไปเรื่อย ๆ เราเองก็ยังอยากพัฒนาตัวเองให้มากขึ้น คนที่อยู่เบื้องหลังเป็นกลไกที่สำคัญมากที่จะส่งต่องานให้คนเบื้องหน้า

จะได้ฟังพี่ก้อยร้องเพลงอีกไหม

ก้อย: ก็อยากนะ คือเราเป็นคนที่มีความฝันหลายอย่างมากในสิ่งที่ตัวเองอยากทำ แต่เรารู้สึกตัวเองเหมือนเป็ด คืออยากทำแล้วก็ทำได้ไปหมด แต่ว่าเราไม่รู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ทำได้ดีที่สุด ร้องเพลงเราก็ชอบ มาทำงานเบื้องหลังเราก็ชอบ แต่สิ่งที่เราทำได้ดีที่สุดน่าจะเป็นการแสดง การร้องเพลงมันเหมือนเป็นแค่ความชอบ แต่เราไม่คิดว่าจะยึดเป็นอาชีพเพราะมีคนทำได้ดีกว่าเรามากเหลือเกิน แต่ถ้าเราร้องเพลงแล้วทำให้คนมีความสุข เราก็อยากทำ ถ้าเราเขียนเพลงได้เราก็อยากลองแต่ง เหมือนเราทำงานทดลองเราว่ามันสนุกดี พอเป็นนักแสดงมาซักพักหนึ่งเราจะรู้สึกว่ามันวนลูปละ เราเลยต้องหาอะไรมาจุดไฟเราแบบเนี้ย หาอะไรที่เรารู้สึกท้าทายให้เรารู้สึกมีไฟในการทำงานอีกครั้ง อย่างการมากำกับคอนเสิร์ตครั้งนี้ก็เป็นหนึ่งในนั้น

ก้อยจะมีผลงานอะไรหลังจากคอนเสิร์ตนี้อีกไหม

ก้อย: ล่าสุดก็มีละคร ‘คุณแม่วัยใส’ บทมันน่าสนใจดี เราก็รับคาแรกเตอร์ที่ไม่เคยเป็นมาก่อนคือช่างสัก เราเลยรับเล่นทันที ถ้าสนใจก็ฝากติดตามด้วยนะคะ ทาง Line TV

ล่าสุด Chanudom เพิ่งปล่อยซิงเกิ้ลใหม่ เลยตามเลย อยากให้เล่าเกี่ยวกับเพลงนี้ให้ฟังหน่อย

ต๊อบ: จริง ๆ เราเคยคิดกันไว้นานแล้วว่าอยากมีเพลงนิ่ง ๆ ง่าย ๆ ฟังสบาย ๆ เพราะเราฉูดฉาดรุนแรงโวยวายมาตลอด

พัด: อยากเป็นคนบ้างอะค่ะ (หัวเราะ)

แพท: เป็นคนบ้ามานานแล้ว เป็นคนดีบ้าง (หัวเราะ)

พัด: ทำไมพูดเป็นรุกมาก (หัวเราะ) เราแค่รู้สึกว่าพอมันเป็นเรื่องกรู๊ฟดนตรีที่เรามอง ๆ กันว่าเราอยากทำแบบไหน จริง ๆ ความนิ่งมันเลยเป็นความเข้าใจโลกมาก ๆ อะไรบางอย่างที่มันวุ่นวาย เฉย ๆ บางก็ได้ปล่อยให้มันเป็นตามเวรตามกรรม อย่าไปร้อนระอุกับมันตลอด เลยกลายเป็นเพลงนี้

เห็นบอกว่าร่วมงานกับ เจ มณฑล ด้วย รู้สึกยังไงบ้าง

พัด: พี่เจเป็นโปรดิวเซอร์ให้เรามาตั้งแต่เพลงแรกจนถึงทุกวันนี้ ถ้าถามเราสามคนอาจจะต่างสไตล์กันเลย

ต๊อบ: พี่เจช่วยเสริมซาวด์ที่เราเรียบเรียงของแต่ละเครื่องดนตรีให้มีมิติมากขึ้น อย่างกลองเราดีไซน์มาประมาณนึง พี่เจก็ช่วยเติมให้ฟังดูดีขึ้น และคำแนะนำเรื่องช่องว่างของเพลง การหยุดการเข้ามา เขาจะแนะนำได้ดีเพราะเขาฟังเพลงเยอะมาก

แพท: ปกติเราจะไม่ทำเพลงที่กรู๊ฟขนาดนี้ เราว่าพี่เจค่อนข้างช่วยเราเยอะ ส่วนตัวพี่เจก็เป็นดีเจเขาจะรู้บีท ได้เปิดหูด้วยว่ามันมีเพลงยังงี้อยู่ด้วยนะ ก็ทำให้เราได้ความรู้ไปด้วย

พัด: ของพัดจะเป็นเรื่องความสร้างสรรค์ เวลาเข้าไปทำงานด้วยเราจะได้กลิ่นอะไรใหม่ ๆ ตลอด เขาตื่นตัวตลอด เขาพยายามหาอะไรใหม่ ๆ เวลาเขาหา reference ให้เราฟัง แต่ละเพลงที่เขาให้เราฟังคือคนละสไตล์หมดเลย แต่สามารถจับมาอยู่ในเพลงเดียวที่เรากำลังต้องการได้ เขาเปิดโลกทัศน์เรามาก ทำให้เรารู้สึกว่าเราอาจจะวางขีดจำกัดของเราไว้แคบเกินไปด้วยซ้ำ

จะได้เห็นพัดกลับไปเล่นละครเวทีไหม

พัด: ได้เห็นแน่นอนค่ะ ช่วงต้นปีจะมีละครเวทีเรื่อง La Cage aux Folles ซึ่งได้เล่นเป็น drag queen เป็นผู้หญิงข้ามเพศ เป็นคาแรกเตอร์ที่เล่นไม่ค่อยได้เลย (หัวเราะ)

ชวนคนไปคนบาปเมืองชุดดำหน่อยครับ

พัด: คอนเสิร์ตนี้เราทุ่มเททั้งแรงกายแรงใจ น่าจะเป็น Chanudom ในรูปแบบที่เต็มที่สุด มีหลายสิ่งที่เราอยากทำและไม่มีโอกาสได้ทำที่ไหนแต่จะเกิดขึ้นในคอนเสิร์ตนี้ รวมถึงพี่แป้ง Rasmee ด้วย มันสนุกและท้าทาย ใครที่รู้จักเราก็ขอบคุณที่ซัพพอร์ตเรา ใครที่ยังไม่รู้จักเรา อยากให้ลองเปิดโลกทัศน์ใหม่ ๆ เปิดโอกาสให้เราได้ลอง entertain คุณ ว่าคุณจะได้อะไรมากกว่าแค่ความสนุกรึเปล่า เพราะเราตั้งใจทำมัน คอนเสิร์ตจะมีวันที่ 4-5 สิงหาคม ต้องรีบจองนะคะเพราะบัตร VIP เราขายหมดแล้ว เย้! ตอนนี้มีบัตรยืนราคา 1,000 บาท เราเชื่อมั่นในบัตรราคานี้ คุณจะอิ่มเอมคุ้มเกินค่าตั๋วแน่นอน ถ้าซื้อ 4 ใบจะเหลือใบละ 800 บาท แต่ต้องรู้จักกันเนอะ ถ้าไม่รู้จักก็ไปเดินหาเอาเอง (หัวเราะ) ติดต่อซื้อบัตรได้ที่เว็บไซต์ https://chanudomxrasmee.com หรือ เบอร์ 092-289-4966 เรามีนัดกันที่ Studio28 นะคะ เจอกันค่าาาาาา

Facebook Comments

Next:


Peerapong Kaewthae

แม็ค เป็นคนชอบฟังเพลงเพราะเป็นกิจกรรมที่ทำคนเดียวได้ และก็ชอบแนะนำวงดนตรีหรือเพลงใหม่ ๆ ให้คนอื่นรู้จักผ่านตัวอักษรตลอดเวลา