Article Interview

คุยกับคนทำเพลงประกอบหนังสุดเซอร์ ‘Motel Mist’

  • Writer: Montipa Virojpan

ทีมงานเบื้องหลังเพลงประกอบในเรื่อง Motel Mist ภาพยนตร์โดย ปราบดา หยุ่น ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็น ไผ่ – จิติวี บาลไธสง จากวง PLOT และ เต๊นท์ – ศิวนัส บุญศรีพรชัย จาก Summer Dress มาเห็นอีกด้านของพวกเขาในฐานะนักทำเพลงประกอบหนังกัน

14482011_316841878678675_7105714488199103705_o

นี่เป็นครั้งแรกที่ทั้งสองคนได้ทำเพลงประกอบภาพยนตร์หรือเปล่า

ไผ่: ครั้งแรกครับ ก่อนหน้านั้นทำเพลงโฆษณามาก่อน

เต๊นท์: ผมเคยทำเพลงประกอบให้เรื่อง ‘Snap’ กับ ‘The Master’ แล้วก็ ‘Single Lady เพราะเคยมีแฟน’ (หัวเราะ)

แต่เป็นการทำงานด้วยกันครั้งแรกของเต๊นท์กับไผ่

เต๊นท์: ถ้าในสายเพลงประกอบภาพยนตร์ก็ครั้งแรก แต่ในสายเพลงโฆษณาก็เคยทำด้วยกัน พวก DTAC, Central Embassy

พอร่วมงานกันแล้วรู้สึกยังไงบ้าง

ไผ่: ดีครับ ไม่ต้องปรับตัวเยอะ ความจริงแล้วที่เราเลือกทำงานกับเต๊นท์เพราะอยู่ย่านเดียวกัน เป็นคนสวนผัก ตลิ่งชันเหมือนกัน บ้านใกล้กัน เจอตามร้านข้าว ร้านก๋วยเตี๋ยวบ่อย ๆ เลยได้คุยกัน (หัวเราะ)

เต๊นท์: ชอบเจอเขาที่ร้านซีรอกซ์ที่คณะ (ดุริยางคศาสตร์ ศิลปากร) หลายครั้งมาก แบบ พี่คนนี้มาทำอะไรตรงนี้

motel-mist-3

ทำไมถึงเลือกมาทำเพลงประกอบภาพยนตร์

เต๊นท์: สาขาที่เรียนมาต้องทำเพลงประกอบโดยตรงอยู่แล้วเพราะโดนฝึกมาให้ทำงานพวกนี้ แต่ส่วนมากจะเป็นงาน commercial

ไผ่: ของผมคือพี่คุ่น (ปราบดา หยุ่น) เขาติดต่อมาเพราะเห็นผลงานจาก Plot แล้วสนใจวิธีการทำเพลงของเรา ก็เลยชวนมาทำ เลยเป็นหนังเรื่องแรกที่ได้ทำเพลงประกอบ

Motel Mist เป็นหนังเกี่ยวกับอะไร

ไผ่: พล็อตเรื่องมันไม่ได้เยอะมากนะ แค่เป็นแบบ มนุษย์ต่างดาวมาทำอะไรบางอย่างในโลกของเรา มันมีเรื่องที่ผูกกันอยู่นิดเดียว คือเรื่องนี้จะเป็นหนังที่ให้บรรยากาศมากกว่า บรีฟแรกที่เขาให้มาคือตัวเพลงจะต้องสร้างบรรยากาศในเรื่อง แต่เขาไม่ได้คาดหวังให้เป็นเพลงแบบ PLOT นะ คือโคตรโชคดีที่เขาโคตรใจดี ใจกว้างมาก คือเขานัดเราไปดูหนัง แล้วเราคิดยังไงก็ใส่มาเลย กี่เพลง กี่ซีน ให้โอกาสเราเพราะเขามองว่าดนตรีก็เป็นหนึ่งในตัวละครของหนังเรื่องนี้

แต่ละคนทำอะไรในงานนี้บ้าง

เต๊นท์: พี่ไผ่เป็นคนคิดไอเดียของเพลง จะพูดเป็นบรีฟคร่าว ๆ แล้วมานั่งทำด้วยกัน ผมก็อัดเครื่องดนตรีเข้าไป

ตีความหนังยังไงถึงได้ออกมาเป็นเพลงประกอบแบบนี้

ไผ่: เรามีความสนใจที่จะทดลองทำอะไรแบบนี้อยู่แล้ว ขอแค่มี media ที่เข้ากับงานที่เราจะทำ เหมือนเราไม่ได้ทำ mv หรือเพลงประกอบภาพ เรามีของเราเองแล้วใส่ไปให้พอดีกัน แล้วที่เราใส่ไปมันมีหลายแนวมาก คือเราไม่อยากให้มันฟิกซ์เป็นแนวใดแนวหนึ่ง อาจจะเป็นเพราะเราไม่เข้าใจแนวนั้นมากขนาดที่จะไปเคลมได้ (หัวเราะ) อย่างบางอันที่ดูเหมือนจะเป็น krautrock เรารู้สึกว่ามันให้อารมณ์ที่ดี แต่เราไม่กล้าเคลมว่ามันเป็น krautrock เต็มตัว แค่เราสนใจ element บางอย่างในนั้น แล้วก็เอามารวม ๆ กันใช้อีกทีนึง

Krautrock คืออะไร

เต๊นท์: ผมว่ามันคือความต้องการปลีกวิเวก เป็น futuristic ของเขา เหมือนเขาทดลองเอาเครื่องมือชิ้นนี้มาลองอีกแบบที่มากกว่าที่เราเข้าใจว่ามันสามารถทำได้ เขามีหลาย element มากเลยนะ ทั้งการอิมโพรไวส์แบบแจ๊ส…

ไผ่: แล้วไม่ได้มีแค่นอยซ์อย่างเดียว มันมีหลากหลายมาก ส่วนใหญ่เป็นการทดลอง สมมติอังกฤษ อเมริกามีแบบนึง ฝั่งเยอรมันที่เป็นลูกของคนแพ้สงครามก็เป็นอีกแบบนึง เขาจะคิดว่า เชี่ย กูต้องทำอะไรสักอย่างแล้วว่ะ เพื่อให้มีความเป็นคนอารยันของมัน นั่นคือต้นกำเนิดของ krautrock ตามที่เข้าใจนะ แต่ในรอบนี้ที่เราทำก็ไม่ได้เป็น krautrock แบบเดิม แต่ไปอยู่ใน element ดนตรีป๊อปมากกว่า

คิดว่าฟังยากไปไหมถ้ามาอยู่ในหนัง

ไผ่: ไม่ยากครับ เพราะของเราตรงไปตรงมาที่สุดแล้ว เราฟังออกว่าอะไรมาจากอะไร มันไม่ได้บิดเยอะ หรือเวลาที่ทำเสียงสังเคราะห์แล้วเราจะให้เห็นว่าจะสังเคราะห์อะไร อันนั้นคือหัวใจของมัน คือซื่อสัตย์กับ source ของเสียงของมัน

maxresdefault

ความท้าทายในการทำเพลงประกอบ Motel Mist

ไผ่: ความดีของฝั่งที่ทำหนัง เพราะว่าพอเขาให้อิสระเราเต็มที่ เราก็อยากทำให้มันดีที่สุด แต่ความกดดันก็อยู่ที่เราคนเดียว มันไม่ใช่เรื่องที่เราดีลกับคนแล้วเพราะจะไม่มีข้ออ้างว่าลูกค้าไม่เข้าใจ มันเป็นเรื่องเราดีลกับเพลงอย่างเดียว ความท้าทายของมันเทียบเท่ากับที่เราทำเพลงอัลบั้มตัวเองเลย พี่คุ่นเขาคิดเหมือนพระเครื่องอะ แบบ อันนี้เอาแล้ว ชอบแล้ว ไม่ต้องเล่า process เยอะ ใช้ระบบแบบเราบอกว่าดีก็คือดีอะ เมลแรก ๆ ที่ผมส่งดราฟต์เพลงไปก็อธิบายไปว่าซีนนั้นเราเห็นเป็นอะไร ควรจะมีดนตรีอยู่แบบไหน เพราะหนังมันใช้สเปซในการเล่าเรื่องด้วย พวกภาพกว้าง เราเห็นว่าภาพช้ามันให้ความรู้สึกแบบไหน สะท้อนอะไรกับตัวเพลง เหมือนพยายามจะ convince เพลงโฆษณาให้ลูกค้า แล้วพี่เขาตอบกลับมาแค่ ขอบคุณครับ ชอบแล้วครับ แค่นี้ แล้วก็ใช้เลย ไม่ได้แก้อะไร แล้วอีกความท้าทายคือได้ร่วมงานกับเต๊นท์ด้วย (หัวเราะ) เพราะไม่เคยทำแบบนี้ นี่เป็นครั้งแรก เต๊นท์เขาเป็นเซเล็บวงดังด้วย เรามันแค่ลุงแก่ ๆ (หัวเราะ)

เต๊นท์: ผมกำลังจะตอบว่าความท้าทายในการทำงานของผมคือได้ทำงานกับพี่นั่นแหละ (หัวเราะ) ก็ท้าทายกับคนที่ทำงานด้วยกัน คือเราไม่เคยอยู่ในระดับแบบพี่คุ่น พี่ไผ่ เรารู้สึกกดดันตัวเองด้วย แล้วก็ต้องดีลกับเพลงในแบบที่เราทำเพลงประเภทนี้มาน้อยมาก ไม่เคยทำมาก่อนด้วยซ้ำ การได้รับโจทย์มาแล้วก็ต้องทำการบ้านเยอะหน่อย

ใช้เวลาทำนานไหม

เต๊นท์: สองเดือนครับ

ไผ่: เร็วมาก เพราะมันจะมีงานประกวดหนัง เราก็ต้องคัดอีดิตแรก ๆ ไปก่อน เพราะต้องเร่งให้ทัน

พอส่งไปแล้วจะเอามาแก้อีกไหม

เต๊นท์: จริง ๆ เราพยายามจะเอากลับมาแก้นะ

ไผ่: เรามีขอแก้เหมือนกันเพราะรู้สึกว่าอันนั้นมันได้อีก แต่ก็ไม่แล้ว พี่เขาบอก ชอบครับ โอเคแล้ว (หัวเราะ)

คนชอบเข้าใจว่า score กับ original sound track ว่าเป็นสิ่งเดียวกัน

เต๊นท์: Original soundtrack เหมือนเป็นเพลงที่อาจจะมีร้อง เป็นธีมหลัก ๆ ของหนังเรื่องนั้น แล้ว ost. อาจจะถูกกระจายต่อมาเป็น score

ไผ่: แล้วเพลงที่ขึ้นตอนเปิด Game of Throne อะ แต๊ แต่ แตแต๊แต อันนั้นเป็น theme song?

เต๊นท์: ใช่มันก็เป็น opening music ธีมหลัก ๆ ของมัน จริง ๆ มันก็พูดยาก แล้วแต่คนเข้าใจด้วยแหละ ถ้าที่ผมเรียนมาคงจะฟันธงว่า original sound track มันอาจจะเป็นเพลงแบบเดียวกันกับเพลงธีมของ Game of Throne ก็ได้ อย่าง Hans Zimmer เพลงดัง ๆ ที่มันก็ไม่ได้มีเนื้อร้องก็อาจจะเป็น soundtrack ของเขา ส่วน scoring มันเป็นกิริยามากกว่า หมายถึงการประพันธ์เพลงเพื่อประกอบภาพ ส่วน original soundtrack น่าจะเป็นเพลงทั้งหมดของหนัง โดยอาจจะมี theme song หรือเพลงของตัวละครนั้น ๆ ด้วย คือทั้งหมดแทบจะเป็นสิ่งเดียวกันแค่เรียกกันคนละอย่าง

motel_mist_press_kit_6-027

อะไรคือเสน่ห์หรือความสำคัญของเพลงประกอบ

เต๊นท์: ผมชอบเพลงบรรเลงอยู่แล้ว เพราะเป็นคนฟังเนื้อหาแล้วเข้าใจยาก รู้สึกว่าตอบโจทย์จินตนาการเราได้มากกว่าเพลงที่มีเนื้อร้อง ถ้ามีเนื้อร้องมันก็ฟิกซ์มาแล้วว่าคุณต้องเขาใจแบบนี้ตามแบบที่เขาเขียนขึ้นมา แต่บรรเลงมันไม่ใช่ สิ่งที่เราได้ยินเป็นหลักจะมีความลื่นไหลกว่าเพลงที่มันมีร้อง

ไผ่: จำตอนที่สตาร์วอร์จอดำแล้วมันมี ผ่าง!!! (ตัวหนังสือเครดิตขึ้นมาพร้อมเพลง) ไหม แบบ เอาแล้วโว้ย ๆ นั่นคือความอิมแพคที่เราได้จากตรงนั้น เหมือนฉากที่วิ่งเข้าไปแล้วประตูเปิดในจูราสสิกเวิร์ลแล้วมีเพลงขึ้น โอ้โห ร้องไห้เลย นั่นคือความสำคัญของเพลงบรรเลง ไม่ว่าจะสั้นหรือยาว หรือต่อให้ประกอบเล็กมาก ๆ เช่นการกดปุ่มเปิด Mac มันโคตรเจ๋งเลย ไม่ต้องมีเนื้อร้องอะไรเลย ความที่มัน ตึงงง ขึ้นมาแบบนั้นทำให้เรารู้สึกจดจำมันได้ เราจำเพลงบรรเลงหรือรู้สึกกับเพลงพวกนั้นได้พอ ๆ กับการที่เรารู้สึกกับหนังที่เป็นภาพ ฟังก์ชันของมันมีเพื่อการนี้

แวดวงคนทำเพลงประกอบภาพยนตร์ในไทยเป็นยังไงบ้าง

ไผ่: ค่อนข้างลำบากเหมือนกันนะ เพราะเดี๋ยวนี้เราซื้อ library ได้เลย ถ้าคุณอยากทำอันนึงก็ไปซื้อมาได้ มันก็อาจจะซ้ำกัน แต่เขาก็จะเอามา edit ให้ไม่ละเมิดกฎหมาย เขาจะมีเงื่อนไขบอกว่าทำอะไรกับเพลงนั้นได้บ้าง แล้วอีกอย่างคนก็ให้ความสำคัญน้อยด้วย คนที่ฝึกมาเพื่อทางนี้โดยตรงที่อยากทำก็เยอะมาก แต่ก็ต้องไปทำอย่างอื่น ในตลาดประเทศเราก็ยังไม่มีที่ให้คนเหล่านี้ได้ทำมาหากิน แต่มันก็อาจจะไม่ตันหรอก

คนแห่กันซื้อเพลงที่มีอยู่แล้วไม่น่าเบื่อหรอ

เต๊นท์: บางทีเขาก็ไม่อยากใช้หรอก แต่ด้วยราคาที่เขาจะต้องจ่าย ถ้าใช้ของพวกนี้ก็จะคุ้มค่ากว่าสำหรับเขา ต่อให้เราคิดว่าเราทำเจ๋งแค่ไหน มันก็แค่เป็น service ให้กับภาพ สุดท้ายดนตรีประกอบมันก็ถูกเสิร์ฟท้าย ๆ สุดอยู่ดี คนไม่ได้มาตั้งใจฟังอะไรมากมาย

ไผ่: แต่มันก็ไม่ได้ดราม่าขนาดนั้น เพราะมันก็มีอีกหลายช่องทางที่จะได้ทำ

ตลาดทำเพลงประกอบผูกขาดไหม เพราะสตูดิโอดัง ๆ ที่คนนึกออกก็มีแต่หัวลำโพงริดดิม

ไผ่: เราไม่เชื่อเรื่องการผูกขาดอะไรแบบนี้ ถ้าคุณดีพอ มันก็มา มันอาจจะไม่ได้ผูกขาดแต่โอกาสที่จะมาถึงเราก็น้อยกว่าที่ควรจะเป็น บางทีมันก็เศร้าตรงที่เงินมันน้อยเพราะคิดว่าเราเป็นหน้าใหม่ แต่ถ้ามีโอกาสแล้วคุณก็ต้องใส่เต็มที่ ทำฟรีก็บ่อย ของเพื่อนกัน แต่นี่ดีไม่ค่อยมีเพื่อน (หัวเราะ)

มี community แจกจ่ายงาน composer บ้างไหม

เต๊นท์: ตอนนี้ยังไม่เห็นนะ ที่เห็น ๆ ก็มีรุ่น ๆ พวกเรา ที่ยังไม่มีกำลังที่จะก่อตั้งกรุ๊ปได้ ต่างคนต่างต้องดิ้นรนกันไปก่อน

จะมีวิธีกระจายรายได้ไปสู่ composer รายเล็กบ้างไหม หรือต้องทำ commercial อย่างเดียวถึงจะอยู่รอด

ไผ่: ถ้าพูดตรง ๆ ก็คือจำเป็นครับ เพราะพวกนี้เป็นรายได้หลัก ๆ ของคนประกอบอาชีพนี้เลย แต่ขณะเดียวกันเราก็ไม่จำเป็นต้องทำ commercial แล้วทำออกมาไม่ดี มันอยู่ที่วิธีการทำงานของเรา การดีลกับเขา คนฟังทั่วไปก็ฟังออกว่านี่อาจจะเป็นเพลงป๊อปแต่โคตรดีเลย จะทำเป็นอาร์ตก็ได้แต่ก็ต้องรู้เทคนิกให้ขายได้เหมือนกัน การทำ commercial ให้มีคุณภาพอันนี้สำคัญ หลัก ๆ มันไม่เกี่ยวกับเรื่องงานขายหรืองานอิสระ ปัญหาคือในสื่อตอนนี้คุณภาพงานไม่ถึงมากกว่า เรามีหนังตลกผลิตซ้ำแย่ ๆ ออกมาเยอะมาก ไม่ต้องพูดถึงเรื่องเพลงประกอบเลยว่ามันจะแย่กว่ายังไง

motel-mist-pic-7

แล้วเรื่องการเอาเพลงดัง ๆ มาบิดเมโลดี้ล่ะ

ไผ่: ปัญหาหลัก ๆ มันคือครีเอทีฟอาจจะขายไปแล้วลูกค้าเอาเพลงนี้เลย

เต๊นท์: เราก็ต้องทำตามครีเอทีฟที่เขาขายลูกค้าไปให้ได้ ทำให้คล้ายคลึงโดยที่ไม่ผิดกฎหมาย

ไผ่: อันที่เราเคยทำกับเต๊นท์ก็พรีเซนต์ไปดีว่า เราคิดว่าอันนี้ควรจะรู้สึกอย่างนี้ สิ่งนี้ดีกับคุณ ทำให้ภาพลักษณ์คุณดี แต่เขาถูกใจสิ่งที่ครีเอทีฟขายเขา

เต๊นท์: เอาจริงการบิดเมโลดี้เป็นวัฒนธรรมการทำงานของเพลงประกอบที่มีเป็นเรื่องปกติ สตาร์วอร์ก็มี reference หนังฮอลลิวู้ดหลาย ๆ เรื่องก็มี เขาจะเรียกว่า temp track คือเพลงที่วางมาก่อนกับหนังแล้ว ซึ่งเกิดจากคนที่ตัดต่อหนังวางเพลงไปในซีนนั้นแล้วผู้กำกับเสือกชอบ ทำไงอะ music composer ก็ต้องใช้วิธีการบิดเพื่อให้ตอบโจทย์ผู้กำกับมากที่สุด

ไผ่: ส่วนความท้าทายของการทำตรงนี้คือการสู้กับ temp track เนี่ยแหละ ถ้าเรามองว่าอันนี้เป็นงานเรา เราไม่ได้มานั่งแกะเพลง ถ้าเราได้ทำ original soundtrack ก็อยากทำอะไรที่มันเป็น original ของเราด้วย

แล้วในแง่การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาล่ะ ควรแก้กฎหมายเพื่อลดช่องโหว่ตรงนี้ไหม

ไผ่: เรามองว่าเรื่องทรัพย์สินทางปัญญานี่หนักกว่าการทำให้กัญชาถูกกฎหมายอีกนะ มันเป็นปัญหาที่ใหญ่มาก แต่ก็ไม่ได้ขนาดนั้น เพราะอย่าลืมว่าการผลิตเพลงมันไม่เหมือนแต่ก่อนแล้ว ทุกอย่างมิกซ์ขึ้นหมด เราหยิบยืมซึ่งกันและกัน เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องน่าน้อยใจ อยู่ที่คนทำเพลง หรือคนที่จะประกอบร่างมันจะทำออกมาเป็นแบบไหนในยุคที่ไม่มีสิ่งประดิษฐ์อะไรใหม่แล้ว สิ่งที่ใช้ฟังเพลงล่าสุดคือ iPod ที่เจ๋งสุด แต่ iPod เองก็ไม่ใช่สิ่งใหม่ มันแค่มีวิธีการเรียบเรียงหรือรวบรวมยังไงให้น่าสนใจ ปัญหาในเมืองไทยเอง เราว่าคนที่เรียบเรียงหรือรวบรวมพวกนั้นแค่ไม่สามารถเข้าถึง source ที่เจ๋งพอ ทุกครั้งที่เราเห็นว่า Radiohead กระโดดไปนู่นแล้ว เพราะเขามีโปรเจกต์เล็ก ๆ ที่เขาทำกับคนอินเดีย หรือดนตรีฝั่งแอฟริกันก็โคตรล้ำ เพลงโหดกว่าพวกโพสต์ร็อกกลับส่วนเยอะแยะมากมาย ดังนั้นคนที่เอามาประกอบกันต้องเข้าถึง source ให้เยอะมากกว่านี้

แสดงว่านี่คือยุคของการ integrate วัตถุดิบ แล้วมาดูว่าใครทำได้เจ๋งกว่า

เต๊นท์: มันไม่ใช่ดีกว่าหรือไม่ดีกว่าหรอก แต่เหมือนต้องมีกึ๋นที่จะทำออกมาแล้วลงตัว

ไผ่: ขอตอบในส่วนการบิดเพลงนะ ไอ้ที่เราเห็น ๆ กันมันก็บิดตรงไป๊ ปัญหามันคืออย่างนั้น แล้วอย่างเพลง VCR ของ The XX ก็ฟังแล้วนึกถึง Chris Isaak – Wicked Game หรือเพลงยุคนั้นในระดับ element ไม่ได้เหมือนซะทีเดียว คือตัวเขาเองก็ไปยืมดนตรีแบบยุคนู้นมาเต็ม ๆ แต่เขาก็มีกึ๋น มีวิธีทำของมัน ถ้าสมมติคุณจะทำเพลงที่เป็น The XX คุณก็ต้องมีวิธีการพูดของคุณ เอา context อะไรมาประกอบขึ้นมาใหม่มากกว่า

ใครเป็นคนทำเพลงประกอบหนังที่เก่งสำหรับเต๊นท์กับไผ่

เต๊นท์: คนไทยที่เก่งมาก ๆ คือ บิว ปิยทัศน์ เหมสถาปัตย์ เขาเรียนอยู่อเมริกา รู้สึกว่าเขาเก่งดี ทำให้หนังหลายเรื่อง ๆ เลยแล้วก็โปรดิวซ์ให้ Telex Telexs เราทึ่งเขาที่ทำงานมาเนี้ยบแล้วปริมาณงานที่เขาทำก็น่าจะวัดฝีมือเขาได้ แต่ถ้าเป็นคนที่เราชอบงานเขาเลยนะ ก็น่าจะเป็น ภาคภูมิ เจริญวิริยะ (Lab 5 Soundworks) อันนี้เป็นเพื่อนผมด้วยล่ะ ชอบวิธีการทำเพลงของเขา ชอบสิ่งที่เขาทำ ส่วนฝรั่งผมชอบ Disasterpeace เขาเป็นคนทำเพลงเกมอยู่อเมริกา ชอบการใช้เสียงอิเล็กทรอนิกของเขา

ไผ่: ในไทยนอกจากเต๊นท์ผมก็ไม่รู้จักใครแล้ว (หัวเราะ) มันก็มีพวกหนังสมัยก่อนฝั่งยุโรป 60s 70s ผมว่าเพลงประกอบดี ส่วนคนที่ชอบคือ Popol Vuh ที่ทำให้ ‘Nosferatu’ ปี 1979 ทำเพลง krautrock เหมือนกัน เขาต้องได้ค่าจ้างเท่าไหร่วะถึงตั้งใจทำขนาดนั้น (หัวเราะ) เด็ดเลย แล้วก็ Michael Nyman คนทำเพลง ‘Gattaca’ เพลงชื่อ The Departure ผมใช้เพลงนี้ทำทุกอย่าง เปิดจีบหญิง ฟังก่อนนอน อ่านหนังสือ มันคือซาวด์แทร็กที่โคตรทรงพลังสำหรับผม

คนทำเพลงประกอบหนังนอกกระแสในไทยคนไหนได้รางวัลใหญ่ ๆ บ้าง

เต๊นท์: ก็มี ฟิว ชัพวิชญ์ เต็มนิธิกุล (Phil_wc) เหมือนจะได้ Starpics Thai Films Awards กับรางวัลภาพยนตร์ไทย ชมรมวิจารณ์บันเทิง จากเรื่อง ‘อนธกาล’

pasted-image-0

หนังนอกกระแสจะหากินได้กับเทศกาลต่างประเทศอย่างเดียวหรือเปล่า

ไผ่: ผมว่าไม่ใช่อย่างนั้น แค่ทำหนังให้มันดี อย่างเคส เต๋อ นวพล เขาก็ทำให้ดูแล้วไง เขาดีตรงที่เป็นหนังนอกกระแสที่ทำถึง แล้วพอมาทำหนังเข้าค่ายใหญ่อย่างฟรีแลนซ์ก็ไม่มีปัญหา อย่างในต่างประเทศเป็นเรื่องปกติมากถ้าอยู่นอกกระแสแต่มีคนดู อยู่ที่งานของเขามากกว่า

คนทำเพลงประกอบภาพยนตร์สำคัญยังไงกับวงการภาพยนตร์ไทย

ไผ่: คนทำเพลงประกอบสำคัญ แต่ถูกไม่ให้ความสำคัญ น้อยมากที่คนจะพูดถึงเพลงประกอบหนังในเมืองไทย โดยมากจะพูดแค่เพลงของชื่อหนัง เรื่องนั้นเรื่องนี้ หรือไม่ก็หนังอินดี้จะชอบเลือกใช้เพลงที่เป็น legend มาเพื่อบอกว่าเพลงนี้ประกอบเรื่องนี้ แต่ยังไม่มีเพลงที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่ ที่ดังแล้วนึก melody ได้เร็ว ๆ ก็นึกออกแค่ นางนาก (1999) ตอนนั้นดังมากขนาดมีเวอร์ชัน Red Beat 

เต๊นท์: มันสำคัญแต่ไม่ถูกให้ความสำคัญ แล้วมันจะเป็นอารมณ์ทอด ๆ ไป จากคนทำเพลงเองที่เคยให้ความสำคัญกับงานตัวเอง จนพอเป็นแบบนี้ก็คิดแค่ว่าเราแค่ทำเพลงประกอบไป งานก็ไม่ได้กลายเป็น legend แบบเมื่อก่อน

จะได้ฟังเพลงของ PLOT กับ Summer Dress เมื่อไหร่

ไผ่: ผมได้ดูเขาเล่นสดเพลงใหม่อัดมา โคตรเจ๋งเลย แบบ เชี่ย ออกปีนี้ปะวะ ถ้าออกปีนี้กูจะออกปีหน้าเลย (หัวเราะ) ของ PLOT น่าจะปีหน้านะ ตอนนี้กำลังทำปกซีดีกันอยู่ 11-12 เพลง

เต๊นท์: ของผมนี่ยังไม่มีแพลนเลย แต่เพลงอัดกันไป progress 60-70% แล้ว ขึ้นอยู่กับว่าจะเอามาปล่อยหรือจะทำอะไรหรือเปล่า เพราะตอนนี้เรามีแต่ตัวเพลง มีเดียอย่างอื่นอย่าง artwork หรือ mv เรายังไม่มี source เลย ก็ต้องใช้เวลากับตรงนี้มากพอสมควร อาจจะได้ฟังสักเพลงภายในปีนี้

motel_mist_press_kit_6-030

ฝากถึงคนที่อยากทำเพลงประกอบหนัง

ไผ่: อาจจะจำเป็นต้องดูหนังด้วย ในฐานะที่เราเป็นคนทำเพลง ต้องเห็นว่าเพลงมันควรอยู่ตรงไหนของหนัง คุณภาพของเสียงก็สำคัญ อันนี้ด้านเทคนิกนะ เสียงที่อยู่ในหนังมันค่อนข้างมีปัญหา ตอนนี้เราดูหนังผ่านลำโพงมือถือ แต่ถ้าไปอยู่ใน platform อื่นหรือมีเดียที่ต้องการมิติมากขึ้น มันก็จะมีปัญหา เท่าที่เจอนะ ต้องคำนึงเรื่องนี้

เต๊นท์: อยากให้ทำเพลงมาก ๆ ไว้ก่อน ดูซาวด์ และให้ความสำคัญกับ quality ของเสียงมาก ๆ คือถ้าเรา craft เสียงได้มากขึ้น ๆ ก็จะเกิดลายเซ็นของคนคนนั้น แล้วเดี๋ยวงานก็จะมาเอง แล้วพอจะทำให้เหมาะกับหนังเรื่องอะไรก็จะได้เรียนรู้ได้ แต่ควรที่จะดูหนังด้วย เหมือนการฟังเพลง อ่านหนังสือ ดูหนัง การไปพิพิธภัณฑ์ คือการเอา data เข้าตัวเองเป็นสิ่งที่ทุกคนควรทำอยู่แล้ว อย่างพี่ไผ่ทำงานเกี่ยวกับออกแบบ เขายังต้องดูหนัง ฟังเพลง อ่านหนังสือ อย่างนี้เลย มันคือจักรวาลเดียวกัน จะเอาไปทำอะไรก็ได้หมด

รอชมภาพยนตร์เรื่อง Motel Mist ได้ วันที่ 17 พฤศจิกายน ตามโรงภาพยนตร์ที่เข้าฉาย และรับฟังเพลงของ Summer Dress, Rhodesmaninov และ PLOT ได้ที่นี่

Facebook Comments

Next:


Montipa Virojpan

อิ๊ก เนิร์ดดนตรีที่เพิ่งกล้าเรียกตัวเองว่าเป็นนักเขียนตอนอายุ 25 ชอบเดินเร็ว นอกจากขนมปังกับกาแฟดำแล้วก็สามารถกินไอศกรีมกับคราฟต์เบียร์แทนมื้อเช้าได้