Article Interview

คุยกับ Pause ถึงผลงานล่าสุด ‘คนที่แสนธรรมดา’ เพลงรักของคนแอบรัก

  • Writer: Peerapong Kaewthae
  • Photographer: Kamonphan Amornmaekin

เพลงนี้ไม่มีอะไรให้คุณจำ…

แต่ถ้าคุณฟังเพลงนี้ติดกัน 3 ครั้ง

คุณจะจำคน ๆ หนึ่งที่กำลังแอบรักไปตลอดชีวิต

จากคำเปรยที่แสนโรแมนติกเชิญชวนให้เราลองฟังเพลง คนที่แสนธรรมดา ซิงเกิ้ลแทนใจคนแอบรักใหม่ล่าสุดจาก Pause  ถึงแม้ฉันเป็นคนธรรมดาแต่ถ้าได้เธอมาเติมความรักให้กันคงดีไม่น้อย ซึ่งได้ นะ Polycat มาช่วยเติมความหวานด้วยซาวด์ยุค 80s ลงไป แต่ยังคงไว้ซึ่งความเป็นเพลงรักเรียบง่ายแต่ลงตัวเหมือนเดิม สร้างสีสันและอารมณ์เพลงใหม่ ๆ ที่ไม่คิดว่าจะได้เห็นจากวงนี้ เราเลยอยากพูดคุยกับ Pause ถึงแนวเพลงที่เปลี่ยนไปและความเป็นไปของวงในยุคที่อะไรก็ไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว

สมาชิก
เอ – พลกฤษณ์ วิริยานุภาพ (กีต้าร์)
นอ – นรเทพ มาแสง (เบส)
บอส – นิรุจ เดชบุญ (กลอง)
เฟ้นท์ – ประภาพ ตันเจริญ (ร้องนำ)

%e0%b8%a7%e0%b8%87-pause-%e0%b8%aa%e0%b8%a1%e0%b8%b2%e0%b8%8a%e0%b8%b4%e0%b8%81%e0%b9%83%e0%b8%ab%e0%b8%a1%e0%b9%882

คนที่แสนธรรมดา มีคอนเซ็ปต์ยังไง

บอส: เท่าที่คุยกับ ฟองเบียร์ เขานึกถึงโมเมนต์ช่วงที่กำลังแอบรักอยู่ เป็นช่วงที่เขารู้สึกว่าโรแมนติกที่สุด กำลังมีความสุขมาก ๆ มันได้จินตนาการไปเรื่อย มันได้ลุ้นว่าเราจะจีบเขาได้มั้ย เบียร์เขาเอาโมเมนต์ตรงมาแต่งเพลงนี้

เฟ้นท์: ผมชอบ ‘ความหวานเธอเป็นคนเติมได้มั้ย’ ถ้าผู้หญิงคนนี้เขามาเติมเต็มให้เราได้มันจะมีความสุขมาก ๆ เลย

บอส: ในเนื้อเพลงมันมีการพรีเซนต์ตัวเองว่า ‘ผมเป็นคนที่แสนธรรมดา’ นะ แต่ผมมีสิ่งที่อยากให้คุณนั่นคือใจผมเนี่ยแหละ ที่ให้คุณได้เต็มร้อย (ยิ้ม)

แนวเพลงค่อนข้างแตกต่างจากเพลงก่อน ๆ ของ Pause ต้องทำงานเบื้องหลังหนักขึ้นรึเปล่า

นอ: ตอนแรกที่ทำเพลงนี้เราคุยกันว่าอยากได้เพลงสนุก เพราะรู้กันว่า Pause เพลงช้าเยอะ เล่นน้อยชิ้น สบาย ๆ จนเวลาเราไปเล่นงานเนี่ยต้องขยับบีตเพลงช้าให้ขึ้นมาเร็วเพื่อให้บรรยากาศมันสนุก เราเลยคุยกันคร่าว ๆ ว่าอยากได้เพลงเร็ว  อยากให้มันใหญ่ขึ้น ทรงเครื่องขึ้น เพิ่มเครื่องเป่าเข้ามา เพิ่มซินธ์ พี่เอก็มีกีตาร์ซินธ์เข้ามา มีเครื่องเคาะจังหวะ มีคอรัส จริง ๆ ไม่ได้จะเปลี่ยนอะไรนะ แค่อยากลองทำ แต่ซิงเกิ้ลหน้าจะยังไงคงอยู่ที่ว่าเราสนใจอะไรต่อไป แต่ก็ไม่ได้ฉีกจากแนวที่ Pause เป็นเท่าไหร่หรอก มันแค่เติมเข้าไปมากกว่า

ทำไมถึงเลือก นะ Polycat มาช่วยเติมความหวานให้

นอ: ผมเคยสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยพายัพเมื่อประมาณ 4-5 ปีที่แล้ว ก็ได้เจอนักดนตรีเชียงใหม่ที่มีฝีมือเยอะแยะมากมาย หลายวงมาอยู่กรุงเทพ ฯ อย่างน้อง 60 Miles เป็นลูกศิษย์ที่เจอกันบ่อย ๆ ในมหาวิทยาลัยแล้ว เพียว Polycat เขาเป็นลูกศิษย์ผมที่อยู่ในคลาส เคยมาเรียนที่บ้านด้วย ช่วงที่เขาทำวง Polycat เนี่ยเขาก็มาปรึกษา พากันมาทั้งวงเลย ก็เลยคุ้นเคยกัน พอเขามาทำงานที่กรุงเทพ ฯ ก็ยกมือไหว้ทักทายกัน พอตอนทำเพลงนี้เนี่ยก็คุยกับฟองเบียร์ว่าควรมีแขกรับเชิญนะ ทำให้เพลงมันมีสีสัน แต่คนที่มาก็ต้องชัดเจนในเรื่องของแนวเพลงและเป็นคนรุ่นใหม่ เลยคิดถึงคนใกล้ตัวที่ยังไม่เคยทำงานด้วยกัน Polycat ก็สนิทชิดเชื้อกันดีแต่ไม่เคยได้จอยกัน ก็ตรงตามโจทย์พอดีเลยเป็น นะ Polycat ครับ

%e0%b8%99%e0%b8%a3%e0%b9%80%e0%b8%97%e0%b8%9e-%e0%b8%99%e0%b8%ad-pause

ทำไมต้องให้ หรั่ง ร็อกเคสต้า มาคุมร้องเฟ้นท์

นอ: พี่หรั่งเขาสอนที่เดียวกับพี่เอ เฟ้นท์เองก็ต้องการคนที่จะมา coaching ให้ พี่เอเลยแนะนำให้ไปเรียนกับพี่หรั่ง พี่เขาก็เป็นตัวจริงที่สุดแล้ว แกไม่ใช่นักร้องที่เก่งเรื่องทฤษฎีอย่างเดียว เป็นโปรดิวเซอร์ เขียนเนื้อเองด้วย ซึ่งปัจจุบันหานักร้องที่จะทำแบบนี้ได้ยาก การที่เฟ้นท์ได้ไปอยู่ใกล้ชิดคนแบบนี้น่าจะได้อินเนอร์หรือแรงบันดาลใจอะไรจากแกนอกเหนือจากการเรียนการสอนด้วย

เฟ้นท์ได้เรียนรู้อะไรจากพี่หรั่งบ้าง

เฟ้นท์: เขามักจะบอกว่าตนเป็นที่พึ่งแห่งตน แต่สิ่งที่ผมได้รับจากพี่หรั่งคือความหวานในแบบของเขา พี่หรั่งเขาเป่าทรัมเป็ตอยู่แล้วก็จะมีลูกหวาน ๆ อะไรบางอย่างอยู่ ผมเลยหัดเป่าทรัมเป็ตตามเขาด้วย

%e0%b9%80%e0%b8%9f%e0%b9%89%e0%b8%99%e0%b8%97%e0%b9%8c-pause

สังเกตว่าเพลงส่วนใหญ่ของ Pause เหมือนเป็นผู้ชายที่ขอความรักมาตลอด จะมีวันที่เขาสมหวังไหม

เฟ้นท์: อย่างเพลง รักจริงจัง นี่สมหวังนะครับ เพราะว่ามีผู้หญิง ‘Yes, I do’ แต่ คนที่แสนธรรมดา เนี่ย แค่เราแอบรักก็เป็นโมเมนต์ที่ดีที่สุดของคนที่มีความรักนะครับ แต่หลังจากได้บอกรักออกไปแล้วเขาจะแฮปปี้ขนาดนั้นรึเปล่าก็ไม่รู้นะ

เอ: นี้! (หัวเราะ)

บอส: ถุย! (หัวเราะ)

เฟ้นท์: แต่ ณ ตอนนั้นอะไรก็ยอม (หัวเราะ)

Pause อยากลองทำแนวเพลงใหม่ ๆ กับใครอีกไหม

นอ: ก็ฟุ้งไปเรื่อยอะฮะ หลาย ๆ ท่านก็เป็นศิลปินชั้นเยี่ยมทั้งนั้นที่เราอยากร่วมงานด้วย ไม่ใช่แค่เราเลือกเขาอะ แต่เราจะได้เจอกันมั้ย มันจะเหมาะสมมั้ย เขาจะอยากเล่นกับเรามั้ย

การที่มีเฟ้นท์เข้ามา ทำให้การทำงานของ Pause เปลี่ยนไปมากน้อยแค่ไหน

นอ: ต่อให้ไม่มีเฟ้นท์เข้ามามันก็เปลี่ยนครับ ด้วยระยะเวลา ด้วยยุคสมัย เมื่อก่อนมันทำงานเป็นอัลบั้มทุกวันนี้เป็นซิงเกิ้ลแค่นี้มันก็เปลี่ยนไปละ มันมีพื้นที่ให้เราได้ทดลองงานศิลปะเยอะแยะมากมายในหนึ่งเพลง สมัยก่อนในหนึ่งอัลบั้มมันมีสิบเพลง มันก็มีเพลงที่เราไม่ได้คาดหวังมาก เวลาคนฟังจากเทปเขามีเวลาเหลือเยอะกว่าจะไปถึงเพลงที่สี่เขาก็ต้องผ่านหนึ่งสองสาม ฟังบ่อย ๆ เข้าเขาก็ได้เรียนรู้ เดี๋ยวนี้ยิงเพลงออกไปภายในสามสิบวิถ้าไม่ถูกใจเขาเขาลบทิ้งทันที ผมเกิดมาจากยุคก่อนถึงผมชอบแบบที่แล้วมากกว่า แต่วันนี้วงก็ต้องทำงานไปตามยุคสมัย ต้องเปลี่ยน ผมรู้สึกว่าตอนนี้ Pause มีเพื่อนเยอะ เพื่อนที่พร้อมจะมาช่วยไม่ใช่วงที่มีแค่สี่คนเป็นนักศึกษาตามล่าฝันแล้ว แต่เป็นวงของผู้ใหญ่สามคนกับน้องคนหนึ่ง มีค่ายมาดูแล มีนักแต่งเพลงมือหนึ่งของยุคมาช่วยกัน การทำงานมันก็จะเปลี่ยนไป เพียงแต่เรายังเป็นวง Pause ที่เริ่มต้นมาด้วยกันเหมือนเดิม

ความสำเร็จจากอดีตเป็นอุปสรรคหรือความท้าทายในการทำเพลงในยุคนี้

เอ: ก็เป็นทั้งสองอย่างนะครับ ส่วนหนึ่งก็เป็นใบเบิกทางทำให้เรายังเป็นชื่อที่คุ้นหูทุกคนอยู่ ในมุมกลับกันก็เป็นที่คาดหวังว่าเราห่วยไม่ได้ ไม่ถึงขั้นเป็นอุปสรรคแต่เราต้องทำให้ได้ตามความคาดหวังของคนฟัง

บอส: ทำอะไรก็อย่าทำให้เด็กรุ่นหลังมันว่าเราได้ (หัวเราะ)

นอ: บางทีมันก็สองมุมน่ะครับ ชื่อเสียงของเราก็ทำให้เรามีโอกาสในวันนี้ ถ้าเราทำไม่ดีก็อาจไม่มีโอกาสอีกแล้วก็ได้ วันนี้เราก็ต้องทำให้สุดความสามารถ

วงกดดันบ้างไหมที่หลายคนยกให้เป็นตำนานไปแล้ว

เอ: ยังอยู่นะครับ ยังไม่ตาย (หัวเราะ)

นอ: ไม่หรอก เหมือนอย่างที่บอกว่าเราอยากทำให้ดีที่สุด แฟนเพลงเปลี่ยนหน้าทุกปี เด็กมอหกวันนี้ปีหน้าเขาก็เป็นเด็กมหาลัย เด็กมหาลัยปีต่อไปก็เป็นคนทำงานละ เราอยู่ตรงนี้มานานถึงขั้นเห็นแฟนเพลงที่โตมาด้วยกันจูงลูกจูงหลานมาแล้วอะ เพราะฉะนั้นเราทำงานเพลงและตลาดกลุ่มใหญ่คือกลุ่มวัยรุ่นก็ต้องพัฒนาตัวเองไปด้วยเหมือนกัน เพลง ที่ว่าง มันอยู่มาถึงทุกวันนี้ได้เพราะว่าเขาชอบและส่งผ่านกันรุ่นต่อรุ่น หลายเพลงถูกลืมไปก็มี เด็กวันนี้ที่ได้ฟังในยุคที่มีเฟ้นท์แล้วเนี่ย เขาชอบเขาก็จะส่งต่อให้รุ่นต่อไปด้วย ก็ทำให้ดีที่สุดในมุมของเราดีกว่า

%e0%b9%80%e0%b8%ad-pause

มีความคิดอยากเอาเพลงสมัยโจ้มาทำใหม่ไหม

บอส: ในใจผมอยากทำนะ อยากเอาเพลง Pause สมัยก่อนที่คนรู้จักมา re-arrange ใหม่ให้เป็น Pause ในยุคปัจจุบัน ด้วยเสียงของเฟ้นท์ หรือทำเป็นคลิปคัฟเวอร์หรือเวอร์ชันใหม่ลง YouTube สนุก ๆ แต่อาจเป็นเรื่องลิขสิทธิ์อะไรยังงี้ คือคิดไว้แต่ยังไม่ได้ไปคุยกับเขา

นอ: ทำไปแล้วนะครับ แต่ไม่ได้อัดเท่านั้นเอง ที่บอกว่าขยับบีตให้มันเร็วขึ้น ถ้าใครอยากฟังให้ไปดูเล่นสดนะครับ (ยิ้ม)

อยากจะกลับไปทำเพลงร็อกอีกไหม อย่างเพลง ยื้อ

เอ: เฟ้นท์ไม่ไหวว่ะ นักร้องคนนี้ไม่ถึงหรอก (หัวเราะ) ล้อเล่นนะครับ แต่จริง ๆ ต้องดูองค์ประกอบ คือตอนนั้นทั้งแนวคิดด้วยและอะไรหลาย ๆ อย่างทำให้เราไปในแนวทางนั้น

นอ: สังเกตตัวเองนะ เมื่อก่อนผมเคยถอดเสื้อเล่นคอนเสิร์ต โดดลงเวที โยนเบสเลยนะ เดี๋ยวนี้ถ้าเป็นเพลงร็อกนี่ผมทำตัวไม่ถูกละ คงยืนเล่นเบสโยกไปโยกมายิ้มทักทายเฉย ๆ ให้ทำแบบเดิมคงเขินแล้วอะ การแสดงบทเวทีมันไม่ได้ง่ายขนาดนั้นนะ เพื่อน ๆ ที่เล่นร็อกกันอยู่ตอนนี้มันเป็นอินเนอร์เขาน่ะ

เพราะวงโตขึ้นหรือเปล่า

นอ: อาจจะเป็นร็อกได้แต่การแสดงเราก็คงยืนนิ่ง ๆ จะกระโดดโลดเต้นคงไม่ไหวแล้ว แต่ก็ต้องดูกันต่อไป ไม่แน่ (ยิ้ม)

บอส: ถ้ามือกีตาร์หรือนักร้องเขาเอาด้วยเราก็ต้องเอาด้วยอะ (หัวเราะ)

เอ: นักร้องเขาอาจจะเผาตัวเองบนเวทีเลยก็ได้ (หัวเราะ)

เฟ้นท์: เผาตัวเลยหรอพี่ (หัวเราะ)

วง Pause มองว่าวงการเพลงในยุคนี้เป็นยังไงบ้าง

บอส: มันก็เปลี่ยนไปตามยุคนะครับ พูดกันตรง ๆ สมัยก่อนยังขายเทปซีดีอะไรได้ มันยังเป็นธุรกิจหลักในการหล่อเลี้ยงบริษัท แต่ตอนนี้มันผิดกัน อย่างสองบริษัทใหญ่ ไลน์ในการทำธุรกิจเขาก็เปลี่ยนไปละ อย่างของเราก็เป็นค่ายเพลงที่ยังอยู่ได้แต่ก็ต้องปรับตัวไปตามยุคสมัย เดี๋ยวนี้ไม่มีใครเขาออกซีดีเป็นอัลบั้มกันละ มันไม่คุ้มทุนกันอะ ก็ต้องออกเป็นซิงเกิ้ลไปดีกว่า เพลงที่จะเอามาออกก็ต้องคัด ต้องเป็นเพลงที่ออกมาแล้วเป็นกระแสตอบรับดีแล้วไม่ขาดทุน สมัยก่อนอัลบั้มหนึ่งเป็นสิบเพลงเราสามารถมีเพลงที่เราอยากทำโดยรู้ทั้งรู้ว่ามันไม่ขายหรอก แต่นำเสนอความเป็นตัวตนของเรา ตอนนี้เราก็ออกเป็นซิงเกิ้ลไป อนาคตก็อาจจะรวบรวมทุกซิงเกิ้ลเป็นหนึ่งอัลบั้มได้

เอ: อีกด้านหนึ่งก็จะมีพวกจัดเฟสติวัลเล็ก ๆ แล้วมีวงที่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้จักแต่ก็มีแฟนเพลงของเขาอย่าง Brown Flying หรือ Buddhist Holiday คนฟังก็เลือกฟังทีละเพลงอาจจะไม่รู้จักชื่อวงด้วยซ้ำแต่รู้จักชื่อเพลง

บอส: สมัยนี้เขาก็หาเพลงฟังง่ายละ ไม่ต้องเก็บตังเพื่อไปซื้อซีดีที่เขาชอบมาฟังละ คนเขาก็ไปฟังใน Joox งี้ แต่คนเหมือนจะชอบออกไปดูการแสดงสดของศิลปิน ผิดกับสมัยก่อนที่ต่อให้มีฟรีคอนเสิร์ตก็ไม่ค่อยมีคนมาดูซักเท่าไหร่ แต่ยุคนี้เป็นยุคที่มีคนดูนะ มันถึงเกิด music festival เต็มไปหมด

นอ: ผมคิดว่ามีทั้งข้อดีข้อเสีย มันก็เป็นหน้าที่ที่เราต้องปรับตัว เหมือนที่เพื่อนสองคนบอก แง่ไม่ดีมันก็มีที่เราขาดพื้นที่บางอย่างไป แต่มันดีที่กลายเป็นกลุ่มคนฟังเพลงเล็ก ๆ ที่แข็งแรง นอกเหนือจากเราได้มีโอกาสทำซิงเกิ้ลแล้วเนี่ย การที่เราจะทำอัลบั้มเดี่ยวมันง่ายกว่าเมื่อก่อนเยอะ ในแง่ของการทำเป็นอาชีพเนี่ยมันต้องการความสม่ำเสมอ สุดท้ายมันก็กลับไปพึ่งเรื่องเดิมคือความเป็นนักดนตรี ความขยันฝึกซ้อม ยังไงมันก็กลับไปที่การแสดงสด การเล่นดนตรีก็สำคัญมาก ๆ ต้องรักษามาตรฐานของเราให้อยู่บนเวทีได้

%e0%b8%9a%e0%b8%ad%e0%b8%aa-pause

เหมือนสมัยนี้แนวคิดของศิลปินเปลี่ยนไป เพลงไม่ใช่สินค้าของศิลปินอีกแล้วแต่คือภาพลักษณ์ของตัวศิลปินมากกว่า เพลงเป็นแค่ช่องการสื่อสารให้คนมาดูศิลปินแสดงสด คิดยังไงกับแนวคิดนี้

บอส: มันเป็นเรื่องที่ถูกต้องนะ เพราะมันเป็นสิ่งเดียวที่ก็อปปี้ไม่ได้

นอ: มันไม่ใช่เรื่องใหม่นะ ก่อนจะมีการระบบบันทึกเสียงสมัยก่อนนักดนตรีคลาสสิกเขาก็หากินจากการเล่นดนตรีสดอยู่แล้ว พอมีระบบบันทึกเสียงขึ้นมาก็อาจจะมีคนโวยตั้งแต่สมัยนู้นก็ได้ว่า ‘ใครจะมาดูสด คนฟังดนตรีที่บ้านได้’ ตอนนี้มันก็เปลี่ยนอีกครั้งหนึ่ง เพลงไม่ได้มีไว้ซื้อขายกันแล้ว เขาทำมาหากินจากการเล่นสด มีพี่ ๆ นักดนตรีเคยบอกผมว่า ถ้าเราเป็นนักดนตรี ตราบใดที่ยังมีคนฟังเพลงของเรา เราก็ยังมีงานทำแหละ อยู่ที่ว่ามันจะกลับมาในรูปแบบไหนเท่านั้นเอง จริง ๆ ผมอยากฝากถึงนักดนตรีรุ่นน้อง คืออย่าไปโทษอะไร มันคือการปรับตัว เราต้องเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ให้ได้ ทุกอย่างมันก็เป็นแบบนี้แหละ เราไม่สามารถเปลี่ยนสังคมหรือเปลี่ยนยุคสมัย เราต้องอยู่กับมันแล้วมองในด้านดี จะมาบอกว่า ‘ใช่สิ ฉันก็เป็นแบบนี้แหละ’ มันไม่แก้อะไร ต้องเชื่อในแง่ที่ดี มองหาว่ายุคสมัยนี้มีอะไรได้และพยายามไปอยู่ตรงนั้น ยิ่งคุณมีความความคิดติดลบยิ่งอยู่ไม่ได้

เฟ้นท์มีอะไรจะเสริมในฐานะคนยุคนี้ไหม

เฟ้นท์: ด้วยความที่อยู่กับพี่ ๆ เราก็พยายามจะซื้อซีดี

ทุกคน: (หัวเราะ)

บอส: พยายามเลยหรอวะ

เอ: โตมากับยุคแวมไพร์ใช่มั้ย (หัวเราะ)

เฟ้นท์: ใช่ สามแผ่นร้อย ซื้อมาเยอะมาก

นอ: ไปแม่สายนี่มีคนเอาแผ่นก็อป Pause มาขายกูด้วย (หัวเราะ)

กำลังจะมีอัลบั้มเต็มไหม

นอ: อยากนะ อาจจะต้องดูกระแสตอบรับก่อนน่ะครับ ต้องถามก่อนว่าใครจะซื้อ (หัวเราะ) เอาจริง ๆ อยากทำแผ่นเสียงไปเลยมากกว่า

บอส: ไม่แน่นะยุคนี้มันมีนักลงทุนบางคนซื้อซีดีไปเก็บและรอเวลาค่อยออกมาขาย ตอนนี้ซีดี Pause มือสองเขาขายกันเป็นหมื่นเลยนะ

นอ: ทำไมตอนออกแรก ๆ ไม่ซื้อกันก็ไม่รู้ (หัวเราะ)

 

เร็ว ๆ นี้กำลังจะไปเล่นที่ไหน

เอ: International Balloon Fiesta วันเสาร์ที่ 17 ครับ

บอส: เรามีทัวร์ทุกเดือนครับ ตามร้านตามอะไร

นอ: อยากให้ติดตามข่าวว่าเราอาจมีคอนเสิร์ตใหญ่นะครับ อาจจะภายในปีนี้

ชวนคนมาฟังเพลง คนที่แสนธรรมดา

นอ: ยินดีมากนะครับ มันเป็นเรื่องมหัศจรรย์สำหรับผมมาก โอกาสเป็นเรื่องที่เราไขว่คว้าไม่ได้แต่มันจะมาหาเราเอง การที่เราสามคนยังได้มาร่วมงานกันก็เป็นของขวัญที่ล้ำค่าและเป็นโอกาสพิเศษมีน้องอีกคนที่มาเติมเต็มให้เรายังได้ทำงานตรงนี้อยู่ นี่เป็นอีกงานที่เราพยายามทำดนตรีให้ดีที่สุดให้เหมาะกับยุคสมัย บวกกับสิ่งที่เราเคยทำในอดีตกลายเป็นมวลเพลงก้อนใหญ่ในชื่อของ Pause ถึงผมจะเอา โจ้ กลับมาไม่ได้ แต่มี เฟ้นท์ มารับหน้าที่ได้ไม่เคยขาดตกบกพร่อง อยากจะฝากวง Pause ไว้ด้วยสำหรับหลาย ๆ คนที่เห็นหน้าเห็นตากันแล้วกับอีกหลายคนที่ยังไม่เจอกัน ก็มาเจอกันทักกันได้นะครับ ตารางงานติดตามได้ในแฟนเพจ Pause อยากเจอทุกคนนะครับ

สุดท้ายนี้ อยากพูดอะไรถึง โจ้ ไหมในวันที่ Pause กำลังเติบโตขึ้นไปอีก

เอ: อ้าว เฟ้นท์ พูดดิที่บอกว่าผมจะมาแทนพี่อะไรอะ

ทุกคน: (หัวเราะ)

เฟ้นท์: อะไร ไม่มี (หัวเราะ)

บอส: ไม่ มันบอกว่า ฝากถึงพี่โจ้นะครับ ผมจะทำให้ทุกคนลืมพี่ให้ได้ (หัวเราะ)

เฟ้นท์: ไม่ใช่ผมเลย (หัวเราะ)

เอ: ทุกคนก็ไม่ได้ลืมเขาอยู่แล้ว เวลาอยู่บนเวทีทุกคนก็ระลึกถึงเขาตลอดเวลา เฟ้นท์เขาก็พูดว่าเขาเชื่อว่า ทุกครั้งที่เขาร้องเพลง โจ้ก็จะมาช่วยร้องอยู่แล้ว

เฟ้นท์ ยังจำโชว์แรกที่ขึ้นร้องเพลงในฐานะ Pause ได้ไหม

เฟ้นท์: ก็ดีใจครับ ไม่คิดว่าจะได้มายืนกับพวกพี่ ๆ ทุกคนด้วยครับ ตั้งแต่โชว์แรกยันตอนเนี้ย ทุกครั้งที่ผมจะขึ้นเวทีผมจะคิดถึงพี่โจ้ตลอด ‘วันนี้ช่วยผมร้องด้วยนะครับ ทุกคนกำลังรอฟังอยู่ครับพี่’

เอ: ซักพักโจ้สิง อึ๊ช! (ทำท่าโดนสิง)

ทุกคน: (หัวเราะ)

บอส: เฟ้นท์จะบอกว่าวันแรกที่ได้ร้องกับ Pause ผมได้ค่าตัวแค่ 500 บาทเองครับ ผมจำไม่ลืม (หัวเราะ)

เฟ้นท์: ถ้ามีปัญหาเดี๋ยวลดให้อีก (หัวเราะ)

เอ: ไปเล่นโฟล์กปากซอยยังได้เยอะกว่าอีก (หัวเราะ)

บอส: อ๋อ มึงหมิ่นเงินน้อยหรอ (หัวเราะ)

เฟ้นท์: ไม่มี พี่ (หัวเราะ)

เอ: ซ้อนมอไซค์ไปเล่นกับเพื่อนยังได้เยอะกว่านี้อีก (หัวเราะ)

บอส: ต่างจังหวัดยังได้ 550 เลย (หัวเราะ)

%e0%b8%a7%e0%b8%87-pause-%e0%b8%aa%e0%b8%a1%e0%b8%b2%e0%b8%8a%e0%b8%b4%e0%b8%81%e0%b9%83%e0%b8%ab%e0%b8%a1%e0%b9%88

 

ติดตามผลงานของ Pause ได้ที่ https://www.facebook.com/pausepage/ และรับฟังเพลงของพวกเขาบนฟังใจได้ ที่นี่

Facebook Comments

Next:


Peerapong Kaewthae

แม็ค เป็นคนชอบฟังเพลงเพราะเป็นกิจกรรมที่ทำคนเดียวได้ และก็ชอบแนะนำวงดนตรีหรือเพลงใหม่ ๆ ให้คนอื่นรู้จักผ่านตัวอักษรตลอดเวลา