Article Interview

Groovy Recipe ถึงพริกถึงขิงกับดนตรีฟิวชั่นสไตล์ Sunny Trio & Natt Buntita

  • Writer: Malin Jairakthongtheaw
  • Photographer: Chavit Mayot

หลังจากที่สร้างความประทับใจให้เรามาแล้วในอัลบั้ม Two of a Kind ที่ได้เข้าชิงคมชัดลึกอวอร์ดครั้งที่ 13 ถึง 4 รางวัล ไม่ว่าจะเป็นสาขาบันทึกเสียงยอดเยี่ยม ศิลปินกลุ่มยอดเยี่ยม ศิลปินหน้าใหม่ยอดเยี่ยม และอัลบั้มยอดเยี่ยม ครั้งนี้พวกเขากลับมาเซอร์ไพส์เราอีกครั้งในอัลบั้ม Groovy Recipe ที่ยังคงรสชาติจัดจ้านเผ็ดร้อนจากการผสมผสานระหว่างดนตรีแจ๊สและลูกทุ่งเข้าด้วยกันเหมือนเดิม แต่เพิ่มความกลมกล่อมด้วยการเติมกลิ่นอายความทันสมัยของซาวด์อิเล็กทรอนิกและจังหวะกรู๊ฟเข้าไป นอกจากนี้อัลบั้มนี้ยังพิเศษมาก ๆ เพราะได้เชิญเพลงของครูไพบูลย์ บุตรขัน คีตกวีลูกทุ่งมา re-arrange ใหม่จำนวน 8 เพลงในโอกาสครบรอบ 100 ปี ซึ่งเปิดตัวด้วยเพลงรูปหล่อถมไป  ที่มีประโยคติดหู ‘พรึม ๆ โจ๊ะ พรึม ๆ’ และล่าสุดกับเพลง แมงมุมลายตัวนั้น ในเวอร์ชันโมเดิร์นแจ๊สอร่อยหูฟังเพลิน จนทำให้เราเผลอโยกตามแบบไม่รู้ตัว

Sunny Trio & Natt Buntita เป็นการรวมตัวกันของ ซันนี่ มือเปียโนและนักประพันธ์ฝีมือโดดเด่นอันดับต้น ๆ ของไทย กับนักร้องเสียงทรงพลังเจ้าของฉายาเจ้าแม่เพลงแจ๊สอย่าง หรือแนท The Voice 3 นอกจากนี้อัลบั้มนี้ยังได้ ฮง กับเต้ มือกลองและมือเบสที่มีฝีมือโดดเด่นน่าจับตามองในวงการแจ๊ส ที่มาพร้อมกับทีมเครื่องเป่าแนวหน้าของเมืองไทยจำนวน 15 ชีวิตมาร่วมบรรเลงสร้างสรรค์บทเพลงด้วย ซึ่งอัลบั้มนี้ยังคงคอนเซปต์ซีดี 2 แผ่น คือ left side และ right side โดยฝั่งซ้ายเป็นการคัฟเวอร์เพลงไทยโบราณ และฝั่งขวาจะเป็นเพลงที่แต่งขึ้นเอง โดยพวกเขาได้คัดแต่ส่วนผสมพิเศษเน้น ๆ มาปรุงใหม่ในสไตล์ตัวเองได้อย่างลงตัว รสชาติจะถึงพริกถึงขิงและถูกปากกันแค่ไหน อยากชวนให้ลองชิมดู

สมาชิก
แนท—บัณฑิตา ประชามอญ (ร้องนำ)
ซันนี่—รัตนะ วงศ์สรรเสริญ (เปียโน)
เต้—ศิริวัฒน์ เปลี่ยนสันเทียะ (เบส)
ฮง—ชนุตร์ เตชธนนันท์ (กลอง)

img_4187

จุดเริ่มต้นของ Sunny Trio & Natt Buntita

แนท: จุดเริ่มต้นจริง ๆ ของเรามาจากการได้ไปเล่นงานลอยกระทงที่วัดโพธิ์ ตอนนั้นพี่ซันก็ให้เลือกพวกเพลงไทยเดิม กาพย์ บทละครหุ่นกระบอก และกลอนของวิชาภาษาไทยที่เราร้องกันตอนเด็ก ๆ มาร้อง ซึ่งเพลงอะไรแบบนี้เราร้องได้อยู่แล้ว ส่วนพี่ซันก็เป็นคนเอาดนตรีแจ๊สใส่เข้าไป ซึ่งพอเล่นเสร็จก็รู้สึกดี ชอบมาก ตอนนั้นคิดว่าถ้ามีโอกาสก็ยังอยากเล่นอีก หลังจากนั้นก็ได้ทำบทเพลงพระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระเทพ ฯ ในโอกาสครบรอบ 60 ปี ประมาณ 5 – 6 เพลง คราวนี้ก็ยิ่งติดใจ เลยตัดสินใจทำอัลบั้มจริงจัง นั่นคืออัลบั้ม Two of a Kind เรื่อยมาจนถึงอัลบั้มที่ 2 Groovy Recipe

Groovy Recipe

แนท: ชื่ออัลบั้มนี้มางงมาก จริง ๆ ตอนแรกเรายังไม่มีชื่ออัลบั้มกัน ยังคงเป็น Sunny Trio & Natt Buntita อยู่ และไม่รู้จะคิดชื่อยังไงด้วย เพราะปกติเวลาทำงาน เพลงมักจะมาก่อนคอนเซปต์เสมอ จนถึงวันที่เริ่มอัดเพลงก็ไปถ่ายรูปเล่นกันที่ห้องครัวบ้านพี่ซัน คือห้องครัวสวยมาก เราก็หยิบนู่นหยิบนี่มาเป็นพร็อพ ทีนี้ตากล้องซึ่งเป็นเพื่อนแนทก็พูดขึ้นมาว่ามันเหมือนสมุดทำอาหารเลย เหมือน recipe อะไรสักอย่าง แล้วพี่ซันก็พูดคำว่า Groovy Recipe ขึ้นมาจึงตกลงใช้ชื่อนี้กัน เพราะอัลบั้มชุดนี้เราทำทุกเพลงให้มีจังหวะมากขึ้น มีความเป็น groovy  แล้วยิ่งไปถ่ายปกกันที่ห้องครัวอีกมันก็เลยยิ่งลงตัว

ซันนี่: ส่วนคอนเซปต์ใหญ่ ๆ ในพาร์ตดนตรีคือ เราตั้งใจเขียนเพลง big band ที่มีเครื่องเป่าเยอะ ๆ เพราะอัลบั้มก่อนเราทำเป็นฟอร์แมต jazz trio คือมีเครื่องดนตรี 3 ชิ้นกับนักร้องอีก 1 คนไปแล้ว พอมาอัลบั้มนี้ก็อยากทำอะไรที่มันสนุก ใหม่ และใหญ่ขึ้น เลยดึงเอาฟอร์แมตเดิมมาใช้แต่เพิ่มความเป็น big band เข้าไป ตอนนั้นคิดว่าไหน ๆ ก็มีเพื่อน ๆ น้อง ๆ ที่เป็นนักดนตรีเยอะแล้วน่าจะชวนมาเล่นด้วยกันซะเลย ทีนี้พอเบิ้ลเครื่องมันก็ยิ่งเยอะไปกันใหญ่ ยิ่งต้องเขียนเพลงทั้งหมด 16 เพลงด้วยฟอร์แมตนี้ก็เจ็บตัวใช้ได้ เหนื่อยเหมือนกัน (หัวเราะ)

แนท: อัลบั้มนี้เราตั้งใจทำเพลงให้มันฮิปมากขึ้นและลดความเป็นแจ๊สลงเพื่อให้ย่อยง่ายขึ้น ด้วยการใส่ดนตรีอิเล็กทรอนิกและเสียงสังเคราะห์ต่าง ๆ เข้าไป ทำให้มันเป็นกรู๊ฟที่ชาวบ้านทั่วไปเข้าใจตรงกัน เพราะฉะนั้นทุกเพลงในอัลบั้มจะเต้นได้  คือปกติถ้าเราเล่นแจ๊สในจังหวะสวิง ละติน หรือแซมบ้า มันจะมีแค่คนเฉพาะกลุ่มเท่านั้นที่รู้ว่าต้องขยับไปกับจังหวะนี้ยังไง แต่พอเราย่อยให้มันง่ายและให้เป็นกรู๊ฟแบบนี้ก็อาจจะทำให้คนรู้สึกเข้าถึงง่ายขึ้น ส่วนรูปแบบของอัลบั้มนี้ยังเป็นคอนเซปต์ซีดี 2 แผ่นเหมือนอัลบั้มแรก คือมี left side และ right side โดยที่ฝั่งซ้ายจะเป็นการคัฟเวอร์เพลงไทยโบราณ ส่วนอีกฝั่งก็เป็นเพลงที่เราแต่งเอง
img_4156

ความพิเศษของอัลบั้มนี้

แนท: จริง ๆ มันพิเศษตั้งแต่ไอเดียแล้วค่ะ เพราะพี่ซันเองก็ไม่เคยเขียน big band มาก่อน นอกจากนี้อัลบั้มนี้ยังเป็นการรวมเครื่องเป่าทั้งหมด 15 ตัว ซึ่งเครื่องเป่าทุกคนเป็นอาจารย์กันหมดเลย คือมันยากมากที่จะรวมคนจำนวน 15 คนให้มาซ้อมหรือเข้าห้องอัดด้วยกัน บางคนในชีวิตประจำวันเราเจอกันปีนึงนับครั้งได้เลย (หัวเราะ) และครั้งนี้เรามีโอกาสนำเสนอบทเพลงของครูไพบูลย์ บุตรขัน นักประพันธ์เพลงลูกทุ่งชื่อดังมา arrage ใหม่ ในโอกาสครบรอบ 100 ปีด้วย

Left side กับเพลงของครูไพบูลย์ บุตรขัน

ซันนี่: หลักจากที่ทำอัลบั้มแรกเสร็จเราก็ติดใจอยากเล่นอีก จึงปรึกษากับพี่ที่รู้จักว่าควรทำเพลงของใครดี และพอดีพี่เขารู้จักเจ้าของลิขสิทธิ์เพลงของครูไพบูลย์ บุตรขัน เลยแนะนำให้ลองคุยเพราะตอนนั้นเขาเองก็กำลังหาคนทำพอดี เราจึงมีโอกาสทำตรงนี้ เพราะฉะนั้นในอัลบั้มนี้ left side ทั้ง 8 เพลงจะเป็นเพลงของครูไพบูลย์ทั้งหมดเลย

แนท: ตอนแรกที่พี่ซันชวนแล้วพูดถึงครูไพบูลย์ บุตรขัน เราไม่รู้จักว่าเขาเป็นใคร แต่พอไปดูเพลงปรากฏว่านักร้องที่ครูไพบูลย์ เขียนเพลงให้ร้องคือคุณบุปผา สายชล ซึ่งเป็นนักร้องคู่บุญในยุคสมัยนั้นเลย และเราเคยหัดร้องเพลงเขาตอนเด็ก ๆ แต่ลืมไปแล้วว่าเคยร้อง และร้องได้ พอรู้แบบนี้ก็ยิ่งชอบมาก

ซันนี่: จริง ๆ ผมเกิดไม่ทันเหมือนกัน รู้จักแค่ไม่กี่เพลงเอง อย่างเพลงรูปหล่อถมไป นี่ไม่รู้จักเลย แต่พอไปฟังก็รู้สึก โห มันเท่จังเลยอะ ขนาดฟังแค่ต้นฉบับก็เท่แล้ว พอทำแล้วมันก็เกิดข้อพิสูจน์อย่างนึงเหมือนกันนะ ว่าเพลงไทยที่ดีเอามาทำยังไงก็ยังเป็นบทเพลงที่มีคุณค่าและสวยงามเหมือนเดิม ถ้าเพลงของครูไพบูลย์ไม่ดีจริง ๆ เราทำฮิปขนาดไหนก็คงย่อยไม่ได้และคงไม่อินกันอยู่ดี

แนท: ใครที่ฟังเพลงของเราแล้วอยากให้ลองกลับไปเปิดฟังต้นฉบับด้วย เราว่าเราทำเพลงได้วัยรุ่นและฮิปขึ้นมากแล้วนะแต่พอไปฟังต้นฉบับรู้สึกว่าในสมัยนั้นทำไมเขาถึงทำดนตรีออกมาได้แนวขนาดนี้ บางทียังงงว่าคิดได้ไง คำที่เขียนจะไม่ใช่กลอนอย่างที่เพลงลูกทุ่งเดี๋ยวนี้ชอบใช้กัน เนื้อหาจะไม่น้ำเน่า และส่วนใหญ่จะเขียนถึงชีวิต การเมือง เสียดสีสังคม คือเพลงมันจะกวนมาก ๆ และไม่ได้กวนแค่เนื้อนะ ดนตรีก็ทำให้เราตกใจเหมือนกัน ฟังแล้วรู้สึกทึ่งว่าสมัยนั้นเขาเล่นกันขนาดนี้เลยเหรอ ซึ่งเราคิดว่าถ้าเอาเพลงของครูไพบูลย์มาทำให้เป็นแจ๊สหนักกว่านี้มันคงจะสูญเสียความสวยงามของเพลงไปแน่นอน จึงพยายามรักษาความฮิปในแบบที่ต้นฉบับมีเอาไว้ คือเป็นอาหารรสชาติเดิมแต่เปลี่ยนจานใส่เท่านั้นเอง

img_4139

เปิดตัวด้วยเพลงรูปหล่อถมไป

แนท: เพลงรูปหล่อถมไป เป็นเพลงที่มีกรู๊ฟที่ทุกคนเข้าใจตรงกัน เป็นจังหวะที่พอได้ยินก็จะรู้จังหวะและ movement ของมันทันที ขนาดตอนที่เล่นเองร้องเองเรายังฟีลดี อย่างท่อน’พรึม ๆ โจ๊ะ พรึม ๆ’ ก็ติดหู และตอนนั้นบวกกับที่ทุกคนในวงเป็นผู้ชายทั้งหมด เลยก็ได้เป็นมุกกิมมิกขำ ๆ ว่ารูปหล่อถมไปด้วย (หัวเราะ)

ความยากที่เจอ

แนท: อันดับหนึ่งเลยคือเรื่องคำและภาษา เพราะเพลงของครูไพบูลย์ บุตรขัน จะมีการใช้คำและภาษาที่ออกเสียงค่อนข้างยาก ภาษาจะสละสลวย พอมารวมกับแจ๊สมันเลยยากขึ้นไปอีก ด้วยความที่ภาษาไทยมีเสียงเยอะมากเราเลยต้องออกเสียงค่อนข้างเยอะในคำ ๆ หนึ่งเพื่อที่จะให้ทันกับจังหวะและลงตัวกับโน้ต และส่วนตัวรู้สึกว่าสิ่งสำคัญหลัก ๆ ก่อนที่จะไปถึงอารมณ์เพลงได้นั้นเราต้องออกเสียงให้ถูกต้องด้วย และโชคดีที่เราเป็นเด็กที่โตมากับชมรมภาษาไทยเลยไม่ค่อยมีปัญหาในเรื่องนี้

ซันนี่: ผมไม่ใช่คอลูกทุ่งและไม่ค่อยได้ฟังลูกทุ่งเท่าไหร่ ไม่เหมือนแนทที่โตมากับเพลงแนวนี้ ก็เลยต้องค่อย ๆ ขุด ค่อย ๆ ฟัง มันเลยยากตรงที่เราต้องเอาเพลงที่ไม่รู้จักมาทำให้อยู่ในคอนเซปต์เดียวกัน และต้องคิดว่าจะทำยังไงให้แจ๊สเข้าไปอยู่ในนั้นอย่างพอดี เพราะบางเพลงมันมีโครงสร้างที่ประหลาดมาก อย่างเพลงแหล่ยิ่งประหลาดใหญ่ เพราะบาร์มันนับไม่ได้ ความจริงทำให้เป็นแจ๊สว่ายากแล้วแต่ที่ทำยังไงให้มันพอดีและลงตัวยากกว่า จะทำยังทั้งสองมาเจอกันตรงกลางโดยที่ไม่เสียทั้งเขาและเรา พูดง่าย ๆ คือทำยังไงให้ไม่โดนด่าอะ (หัวเราะ) แล้วไม่ใช่ว่าคนรุ่นพ่อรุ่นแม่มาฟังแล้วบอกว่าทำเพลงอะไรของมันวะ เพลงเขาเสียหมด

แนท: อย่างเรื่องของสำเนียงในภาษาไทย พี่ซันต้องมาทำการบ้านกับโน้ตหนักมากเพื่อที่จะให้มันลงล็อกพอดีกับคำบางคำ เพราะพยัญชนะในภาษาไทยเรามีทั้งเสียงกลางสูงต่ำ ไหนจะมีหอหีบ นอกจากนี้เสียงผันวรรณยุกต์ของเราก็เยอะมาก และมันส่งผลต่อการทำดนตรีเหมือนกัน ซึ่งพี่ซันก็ใจกว้างมากที่จะมานั่งผันเสียงทุกคำ ต้องทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งเพื่อไม่ให้ของเดิมเสียหายมากที่สุด

กระแสตอบรับ

แนท: ดีเกินคาดเลยค่ะ จริง ๆ เราคิดไม่ถึงว่าจะมีคนชอบมากขนาดนี้ เนื่องจากเรารู้ว่าคนฟังดนตรีแจ๊สค่อนข้างน้อยและมีแค่เฉพาะกลุ่มจริง ๆ ที่เขาจะชอบเพลงของเรา ซึ่งอันนี้ก็ทำใจไว้แล้ว แต่ปรากฏว่าตอนปล่อยเพลงแรกออกไปยอดแชร์กับยอดวิวทะลุพรวดพราดโดยที่เราไม่ต้องโปรโมตอะไรเยอะเลย ก็ตกใจเหมือนกัน และเท่าที่เห็นจากคนที่แชร์ส่วนใหญ่ถ้าไม่ใช่พวกเดียวกันที่อวยกันเอง(หัวราะ) ก็จะเป็นน้อง ๆ วัยรุ่นที่บอกประมาณว่าโคตรเท่ โคตรจ๊าบอะไรอย่างนี้ เราว่าส่วนนึงอาจจะเพราะมี mv ด้วยแหละ และแนทคิดว่าท่อน ‘พรึม ๆ โจ๊ะพรึม ๆ’ ในเพลงรูปหล่อถมไป ก็เป็นประโยคที่ติดหูมาก ซึ่งมันน่าจะดังมากในยุคสมัยนั้นอยู่แล้ว และดนตรีแบบนี้มันน่าจะซึมอยู่ในรากฐานของสังคมเราเพราะแม้กระทั่งเด็กรุ่นใหม่ที่ไม่เคยฟังเพลงนี้มาก่อนแต่กลับรู้สึกคุ้นเคยกับเพลงนี้ ส่วนฟีดแบคจากคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ก็ดีเหมือนกัน เขาก็รู้สึกดีใจเพราะมันเป็นเพลงที่ไม่ได้ฟังนานมากและแทบจะไม่มีใครร้องแล้ว พอเราเอามาทำใหม่คุณพ่อคุณแม่และผู้ใหญ่หลาย ๆ ท่านก็มาขอบคุณที่ทำให้เขาได้ยินเสียงเพลงเหล่านี้อีกครั้ง

img_4173

Right side กับเพลงแต่งใหม่

ซันนี่:  Right side มีทั้งหมด 8 เพลง แต่ 4 เพลงในอัลบั้มนี้เราไม่ได้แต่งเอง ซึ่งก็มีเพลงแมงมุมลายตัวนั้น ที่เพิ่งปล่อยไป กับ One Note Samba, Moanin’ และ Skylark เป็นแจ๊สสแตนดาร์ดที่นักดนตรีแจ๊สคุ้นเคยและเล่นกันบ่อย ๆ โดยที่ไม่ต้องซ้อมด้วยกัน ส่วนอีก 4 เพลงที่เหลือเป็นเพลงแต่งเอง ซึ่งเราทำให้มีกรู๊ฟมากขึ้นและมีกลิ่นของความเป็น soul, neo-soul และ R&B เข้ามาผสม ที่สำคัญเพลงจะไม่ได้ยาวเหมือนดนตรีแจ๊สทั่วไป

แนท: อัลบั้มนี้แนทมีโอกาสได้แต่งเอง 2 เพลง คือพี่ซันจะเรียบเรียงทำนองมาให้ ส่วนเนื้อหาก็แล้วแต่คนเขียนเลยว่าฟังดนตรีแล้วรู้สึกยังไง ดังนั้นจึงค่อนข้างอิสระต่อคนเขียนเนื้อ ซึ่งอันนี้เป็นข้อดีมากเพราะเวลาที่พี่ซันเขียนเมโลดี้เขาจะไม่ได้คิดภาพเอาไว้ว่าเพลงมันจะต้องออกมาเป็นแบบไหน

คำว่าแจ๊สในมุมมองของเรา

ซันนี่: แจ๊สในมุมมองของผมคืออิสระ เป็นดนตรีที่เล่นกี่ครั้งก็ไม่ต้องเหมือนกัน เพราะฉะนั้นมันทำให้สนุกทุกครั้งที่เล่น ยิ่งพอเราเป็นคนที่ชอบอะไรสดใหม่เสมอเวลาเล่นดนตรี แจ๊สจึงค่อนข้างตอบโจทย์ ความสนุกของมันคือการอิมโพรไวส์ เอาจริง ๆ เราไม่ได้เสพแจ๊สเพื่อความไพเราะอย่างเดียวแล้ว มันสนุกเหมือนฟังคนคุยกัน ยิ่งถ้าเราฟังออกว่าเขาพูดอะไร หรือตามทันว่าเขากำลังเล่นอะไรก็จะยิ่งสนุก

img_4131

แนท: แจ๊สทำให้เรากลายเป็นผู้ฟังที่ดีและต้องเป็นผู้ฟังที่ดีด้วย อย่างเวลาที่เราเล่นเพลงป๊อปมันจะมีประโยคหรือบริบทของแต่ละคนโดยเฉพาะ แค่รอจังหวะที่เราต้องเล่น แต่สำหรับแจ๊สมันเหมือนคนมานั่งคุยกันด้วยเรื่องใหม่ ๆ ทุกวัน และเราต้องฟังเขาไม่งั้นจะไม่รู้ว่าควรโต้ตอบยังไง บางคนอาจจะมองว่าแจ๊สฟังยาก เข้าใจยาก แนทว่ามันไม่น่าจะเป็นดนตรีแจ๊สที่เข้าใจยาก เอาจริง ๆ ดนตรีที่เราไม่ชอบหรือไม่ถนัดก็คงจะเข้าใจยากเหมือนกันหมด อย่างถ้าให้แนทไปฟังแนว heavy metal ก็รู้สึกเพลงแนวนี้เข้าใจยากเหมือนกัน เพลงบางประเภทที่เราบอกว่าไม่เข้าใจหรือเข้าไม่ถึงมันไม่ได้หมายความว่าดนตรีชนิดนั้นเป็นพิษสำหรับเรา แต่เราแค่ยังไม่รู้จักมันมากพอ เหมือนการทำความรู้จักกับคน แค่เห็นหน้าแล้วไม่ถูกโฉลกก็ไม่คุยละ ทั้งที่จริง ๆ แล้วเขายังไม่ได้ทำอะไรเลย เพราะงั้นเราควรเรียนรู้และทำความรู้จักกันก่อน

แนทยอมรับว่าตอนเรียนดนตรีแจ๊สแรก ๆ เรามักจะมองในมุมของตัวเองและแคร์เฉพาะตัวเอง คนฟังไม่อยากฟังก็ไม่ต้องฟังเพราะเขาไม่เข้าใจอยู่แล้ว พอได้ไป The Voice หรือทำงานในสายอาชีพอื่น ๆ ที่ไม่ใช่แจ๊ส มันทำให้เราเข้าใจคนมากขึ้น ก็เลยทำให้เวลาทำเพลงเราจะคาดวังจากคนฟังน้อยลง พอคาดหวังน้อยลงมันเลยทำให้เกิดความเป็นธรรมชาติและความสบายในการผลิตงานมากขึ้น เราเข้าใจเขานะถ้าหากเขาจะไม่เข้าใจเพลงของเรา และเริ่มเข้าใจว่าควรทำยังไงให้เขาเข้าใจ

ชีวิตหลังการประกวด The Voice ของ แนท บัณฑิตา

แนท: ยังสอนหนังสือและร้องเพลงกลางคืนเหมือนเดิม แต่งานบางอย่างมันถูกเพิ่มมูลค่าด้วยนามสกุลของ The Voice คือเหมือนเราเอาชื่อของรายการติดตัวไปด้วย พอคนเขาเห็นเราในทีวีมันก็จะมีความเป็น somebody ขึ้นมาในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เพราะฉะนั้นเวลาร้องเพลงคนฟังจะคาดหวังจากเรามากขึ้นจากปกติ ได้เป็น decoration ของงานบ้าง หรือให้ร้องยาวนานเท่าไหร่ก็ได้ แต่ทุกวันนี้ก็ยังทำทุกอย่างเหมือนเดิมค่ะ

untitled-1-1

คิดว่าอะไรที่ทำให้ต่างชาติรู้สึกเซอร์ไพส์เมื่อแจ๊สผสมกับลูกทุ่งหรือหมอลำ ทั้ง ๆ คนไทยควรตื่นเต้นกับอะไรแบบนี้มากกว่า

แนท:  แจ๊สมันคือวัฒนธรรมของเขา ดังนั้นคงรู้สึกเฉย ๆ เพราะคุ้นเคยกับดนตรีประเภทนี้อยู่แล้ว เหมือนที่เรารู้สึกเฉยและคุ้นเคยกับดนตรีลูกทุ่งบ้านเรา ทีนี้เราเองยังตื่นตาตื่นใจกับวัฒนธรรมดนตรีของเขา ในขณะเดียวกันการที่เขาได้ฟังสำเนียงที่มันประหลาด ทั้งเสียง ภาษา มีวิธีเล่นและร้องที่แตกต่างจากเขา เขาก็ต้องสนใจมากแน่นอน นอกจากนี้สิ่งที่ยิ่งทำให้เขารู้สึกเข้าใกล้วัฒนธรรมของเรามากขึ้นไปอีกคือการเอาดนตรีของเขามาผสมกับของเรา พอมาเจอกันคนละครึ่งทางแบบนี้เขาก็เลยรู้สึกว่า you’re so nice อะ และมันก็ย่อยง่ายสำหรับเขาด้วย

ซันนี่: ในมุมของคนเล่นผมว่ามันเหมือนเขาเองก็เล่นแจ๊สจนทะลุปรุโปร่งมากแล้ว และกำลังพยายามทำแจ๊สในสไตล์ใหม่ ๆ ตลอดเวลา เราจะเห็นได้จากการที่เริ่มมีคนเอาแจ๊สกับดนตรีแนวอื่นมา crossover กัน ผมว่าถ้าเราเล่นเพลงแจ๊สมันอาจจะเป็นอะไรที่ธรรมดามากสำหรับเขาเพราะคนบ้านเขาก็เล่นได้เยอะแยะ แถมเก่งกว่าเราอีก จริง ๆ เด็กบ้านเราเก่งนะ เทียบกับฝรั่งได้เลยนะ แต่ฝรั่งคงไม่ฟังเนื่องจากมันมีเยอะมาก เพราะฉะนั้นก็กลับมาในจุดที่เราทำอัลบั้มนี้ ตอนแรกเราคิดแค่ว่าอยากทำอัลบั้มเพราะเราเป็นนักดนตรีแจ๊ส ฉะนั้นต้องหาอะไรทำเพื่อที่จะได้มีผลงานออกมา แค่นั้น จนกระทั่งได้ไปเล่นที่วัด มีโอกาสทำเพลงสมเด็จพระเทพฯ ตลอดจนเพลงไทยอื่น ๆ มันเลยทำให้กลับมาคิดว่าเราควรทำอะไรที่มัน unique และอิมแพคคนมากขึ้น

img_4167

วงการแจ๊สของไทยในสายตาเรา

ซันนี่: ผมเรียกได้ว่าเป็นรุ่นรอยระหว่างคนรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ จึงเห็นการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างเยอะทั้งในทิศทางที่ดีและไม่ดี ทิศทางที่ดีคือ มีเด็กรุ่นใหม่ที่สนใจด้านนี้มากขึ้น มีมหาวิทยาลัยแจ๊สดี ๆ มีเด็กเก่ง ๆ และมี source ให้เราเลือกเยอะขึ้น เราสามารถเข้าถึงทุกอย่างได้ง่ายมาก อย่างผมเองเมื่อก่อนจะฟังอะไรสักอย่างต้องเก็บตังค์ซื้อ ต้องพยายามหาข้อมูลทำ research ของตัวเองเพราะตอนนั้นยังไม่มีอินเทอร์เน็ต อย่างซีดีซื้อมาเราก็จะถนอมมันมากเพราะได้มายาก เลยรู้สึกว่ามีคุณค่า ตอนนี้ทุกอย่างเปลี่ยน สะดวกสบายมากขึ้น คนไม่ค่อยซื้อซีดีแล้ว ส่วนหนังสือก็เป็นออนไลน์หมด เพราะฉะนั้นคุณค่าทางจิตใจอาจจะน้อยลง

แนท: วัฒนธรรมบ้านเรายังมีปัญหาเรื่องการให้คุณค่ากับงานศิลปะและดนตรี ดนตรีศิลปะมีไว้สำหรับคนมีเงินเท่านั้น เป็นเพียง entertainment มันไม่ได้ถูกจัดไว้ให้เป็นสิ่งที่มีค่าหรือสวยงาม มีแต่คนเล่นและคนทำเท่านั้นที่รู้สึกว่าสิ่งนี้มันสวยงาม และทุกวันนี้งานมันมีการกระจายตัวของดนตรีแจ๊สมากขึ้นแต่ว่าคุณภาพก็ลดลง คือคนจ้างงานเยอะขึ้น แต่เขาก็ไม่ได้คาดหวังว่าจะได้ฟังดนตรีที่ดีมีคุณภาพหรือเป็นแจ๊สจริง ๆ

ซันนี่: จริง ๆ ไทยมีสถาบันแจ๊สที่ใหญ่โตมากนะ น่าจะดีสุดในอาเซียนเลย มีอาจารย์ที่มีคุณภาพ เด็กเราสู้ฝรั่งได้ แต่แจ๊สบ้านเรายังรวมกันไม่ได้ค่อยได้ เช่น เราตั้งใจจะจัด jazz festival มานานมากละ แต่จัดแล้วก็ล่ม ไม่มีอะไรที่มันต่อเนื่องสักงาน มันอาจจะด้วยเหตุผลจากคอรัปชั่นหรือคนจัดเป็นคนละกลุ่มกัน อย่างเมืองนอกเขามี North Sea Jazz  อินโดมี Java Jazz เกาหลีก็มี Seoul Jazz มี ที่มันแข็งแรงมาก จัดต่อเนื่องมาไม่รู้กี่ปี ของเราที่แข็งแรงก็จะมีแค่ตามที่มหาวิทยาลัยจัดกัน อย่างมหิดล ศิลปากร แต่มันค่อนข้างจำกัดเฉพาะกลุ่ม

img_4119

แนท: มันเป็น serious music เดินเข้าไปทีเหมือนหลุดไปอยู่อีกเมืองนึงเลย  คือมันเป็นที่สำหรับนักเรียนนักศึกษาและ jazz lovers จริง ๆ มันเลยทำให้คนที่ปกติไม่ฟังแจ๊สอยู่แล้วเข้าถึงยากขึ้นไปอีก และถึงแม้เราจะมี 2 สถาบันหลักที่ยังสามารถจัด jazz festival ได้อย่างต่อเนื่องมาเรื่อย ๆ แต่ปัญหาคือยังเป็นการแยกองค์กรอยู่ เรายังไม่มีงานใหญ่ที่จะจัดรวมกันอย่างที่เมืองนอกเขามีกันได้ แนทรู้สึกว่าจริง ๆ เรื่องดนตรีศิลปะมันเป็นเรื่องใหญ่ เรียกว่าเป็นวาระระดับชาติเลยก็ได้

แนวทางแก้ปัญหานี้

แนท: รัฐบาลต้องสนับสนุนอะ ดนตรีและศิลปะมันเป็นสิ่งที่เยียวยามนุษย์ ถ้ารัฐบาลให้ความสำคัญกับดนตรีศิลปะมากขึ้นกว่านี้ วัฒนธรรมสังคมบ้านเราก็จะเปลี่ยนไป สิ่งนี้มันขัดเกลาจิตใจได้นะ คนไม่เข้าใจและมองว่ามันไร้สาระคือคนที่ยังไม่เคยทดลองทำมากกว่า

อนาคตมีแพลนทำอะไรกันบ้าง

แนต: พอมีโอกาสได้ทำอัลบั้มแล้วเห็น feedback ของต่างชาติที่ค่อนข้างเปิดกับเพลงของเรา แนทเลยอยากพาดนตรีไทยที่มีความผสมผสานแบบนี้ไปให้ได้ไกลที่สุดเท่าที่จะทำได้ รู้สึกเสียดายถ้าเราจะแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกันเองในบ้านตัวเอง

ซันนี่: อยากให้คนฟังเยอะ ๆ เพราะเป็นสิ่งที่เราตั้งใจทำกัน ถึงแม้ว่ามันจะฟังยาก แต่จริง ๆ อันนี้ก็ฟังง่ายขึ้นนะ (หัวเราะ) เพราะเราก็พยายามจะสื่อสารกับคนให้มากขึ้นด้วยการเอาความเป็นไทยใส่เข้าไป เป็นกรู๊ฟวี่ที่ไม่แจ๊สมาก อยากให้ลองฟังกันดู และคิดว่าอาจจะมีคอนเสิร์ตเล็ก ๆ ในระหว่างที่เราปล่อยเพลงออกไป ซึ่งตอนนี้กำลังคุยกันอยู่ว่าจะไปจัดทีไหนและเป็นรูปแบบยังไง

img_4181

ฝากผลงาน

ซันนี่: อัลบั้มนี้เรียกได้ว่าหนักสุดในชีวิตอันนึงเหมือนกัน และเป็นการทำงานที่แปลกขึ้นเพราะว่าวงใหญ่ขึ้นด้วย ก็อยากให้คนฟังเยอะ ๆ ชอบบ้างไม่ชอบบ้างก็ไม่เป็นไรฮะ ลองฟังกันดู ฟังได้ทุกเจเนอร์เรชั่น ใครที่ชอบก็สนับสนุนได้

แนต: เราอยากทำแจ๊สให้มันย่อยง่ายขึ้นเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ หรือถ้าไม่ได้ชอบฟังเพลงแจ๊สมากขึ้น อย่างน้อยเราก็มีส่วนในการชุบชีวิตเพลงไทยที่มีคุณค่าขึ้นมาอีกรอบ ก็อยากจะให้ทุกคนช่วยกันสนับสนุนค่ะ

 

ติดตามผลงานของ Sunny Trio & Natt Buntitaได้ที่ facebook fanpage และรับฟังเพลงของพวกเขาบนฟังใจได้ ที่นี่

Facebook Comments

Next:


Malin

'อั๊วเป็งคงจีงที่มาหากิงอยู่ในเมืองไทย' อยู่เชียงใหม่ ทำเซรามิก ชอบเหล้าบ๊วย และพูดไทยชัด