Article Interview

สอบปากคำวงน่าสงสัย The Curious Case

  • Writer: Teeraphat Janejai
  • Photo: The Curious Case

เมื่อไม่กี่วันก่อนมี 4 หนุ่มที่ดูลึกลับน่าสงสัยบุกเข้ามาถึงออฟฟิศ Fungjaizine แต่มองดูดี ๆ อีกทีที่แท้ก็วง The Curious Case จากค่าย Noah Records ซึ่งมาพร้อมกับ Box อัลบั้มแรกที่รวมเรื่องราวจากชีวิตของคนช่างสงสัยมาฝากพวกเราด้วย ไหน ๆ ก็มาถึงนี่แล้วก็ขอสอบปากคำผู้ต้องสงสัยสักหน่อย

สมาชิก

Mc—Thitipong Suwanwirul (Vocal,Guitar)
Ham—Teerapat Naksawangporn (Guitar)
Nut—Panat Charoenmontree (Bass)
Benz—Varunyu Wichetchart (Drum)

the-curious-case-3

มารวมตัวกันได้อย่างไร

นัท: เรียนคณะเดียวกัน แล้วภายในมหาวิทยาลัยก็มักจะมีงานดนตรีให้เล่น งานประกวดบ้าง เราก็รวมตัวซ้อม ตั้งวงขึ้นมาแต่ก่อนใช้ชื่อวงว่า ร้านป้าหกโมง สมัยนั้นก็ยังคัฟเวอร์เพลงอยู่ เล่นพวก post punk แนว ๆ Arctic Monkeys หรืออย่าง Slur ก็เล่น

จุดเปลี่ยนที่ทำให้จากวงดนตรีในมหาวิทยาลัยกลายมาเป็นศิลปินที่มีผลงานเป็นของตัวเอง 

แมค: แรกเริ่มเรารวมตัวเล่นดนตรีด้วยกันก็เพราะความสนุก พอเริ่มทำคัฟเวอร์สักสองสามเพลงก็เริ่มเห็นว่าสไตล์ในการทำเพลงของพวกเราคล้าย ๆ กัน ทำให้เราเห็นว่าถ้าเราจะทำเพลงขึ้นมาสักเพลงก็ต้องเป็นแนวประมาณที่เราเล่นกันอยู่ ก็เลยลองทำเพลงกันเอง ซึ่งเพลงของเราที่ออกมาก็จะมีกลิ่นอายของวงที่เราเคยคัฟเวอร์ไปบ้าง

ยากไหมกับการเริ่มทำเพลงกันเองทั้ง ๆ ที่ไม่ได้เรียนมาทางด้านนี้

นัท: เริ่มมาจากที่แมคอยากจะเล่าเรื่องราวด้วยสไตล์ของวงตัวเองบ้าง ก็เป็นการลองผิดลองถูก ไม่มีใครมีความรู้พื้นฐานทางด้านนี้เลย เราก็เอาความชอบของแต่ละคนมาจูนเข้าหากัน ถ้าจะยากก็คงเป็นเรื่องจูนเข้าหากัน แต่ด้วยความที่เราเรียนดีไซน์มากันทั้งหมด เราก็จะเอาวิธีการคิดของคนทำงานดีไซน์มาใช้ อย่างการหา reference การตัดทอนเฉพาะส่วนที่ต่างคนต่างชอบของแต่ละเพลงมาผสมกันจนกลายเป็นเพลงของเราเอง คล้าย ๆ งานคอลลาจ

มีอะไรซ่อนอยู่เบื้องหลังชื่อวง The Curious Case บ้าง

แฮม: เพลงแรกกับชื่อวงมาพร้อมๆ กัน ตอนแรกเราก็เสนอชื่อวงเข้ามาโหวตกัน มีหลายชื่อมาก แต่ผมเผอิญนั่งรถไฟฟ้าแล้วเจอโปสเตอร์หนังเรื่อง ‘The Curious Case of Benjamin Button’ มันฟังดูลึกลับ อ่านยากด้วย (หัวเราะ) แล้วมันก็เข้ากับเพลงของเราดี

แมค: จากการที่เราเรียนทางด้านดีไซน์กันมา ทำให้เราเป็นคนช่างสงสัย ชอบตั้งคำถาม อย่างเพลง ความสัมพันธ์ เพลงแรกที่ผมแต่งมันก็เริ่มจากการที่ผมอยากจดบันทึกความรู้สึกของตัวเองออกมาแล้วแต่งเป็นเนื้อเพลง แล้วก็ลองเล่นกับกีตาร์มั่ว ๆ แล้วก็อัดเสียงส่งไปให้คนอื่นในวงฟัง คนอื่นบอกว่าน่าสนใจก็เลยลองมาแจมกันในห้องซ้อมดู ส่วนที่ซาวด์เพลงดูลึกลับ หลอน ๆ มันก็ออกมาโดยที่เราไม่ได้ตั้งใจ

นัท: ถ้าเป็นวงอื่นที่เป็นมืออาชีพเขาก็คงมีขั้นตอนในการเรียบเรียงไปทีละเครื่องดนตรี แต่วงเราไม่ได้เริ่มจากใครก่อน ต่างคนต่างทำต่างคิดมา แล้วพอมารวมกันมันก็กลายเป็นอะไรที่แปลกใหม่ดี อาจจะฟังแล้วไม่มืออาชีพ แต่พวกเรามองว่ามันเป็นการทดลองมากกว่า

แมค: พอทำแบบนี้เราก็จะได้อะไรใหม่ ๆ อยู่ตลอด จนเราต้องอัดเสียงไว้เพราะไม่อย่างนั้นซ้อมครั้งหน้าก็จะมีอะไรใหม่ ๆ ออกมาอีก ไม่เคยเหมือนเดิมสักที (หัวเราะ)

ช่วยเล่าถึงเพลงแต่ละเพลงในอัลบั้มนี้หน่อย

แมค: เพลง ความสัมพันธ์ เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับครอบครัว คุณแม่ของผมเสียชีวิตไปเมื่อประมาณ 6 – 7 ปีที่แล้ว หลังจากนั้นผมก็ได้มองชีวิตของพ่อตัวเองในช่วงเวลาที่เขาอยู่คนเดียว ผมก็คิดไปเองว่าแต่ก่อนเขาก็คงเคยพูดกับแม่ว่าเราจะอยู่ด้วยกันไปตลอดชีวิต แต่สุดท้ายแล้วมันก็เป็นไปไม่ได้

ส่วนเพลง เปลี่ยน กับ สภาวะ ก็เป็นเรื่องของความรัก เวลาเราจะจบความรักกับคน ๆ หนึ่ง เราก็จะนึกถึงเรื่องเก่า ๆ ที่เคยผ่านกันมา แต่สุดท้ายแล้วมันก็ต้องกลับไปเริ่มต้นใหม่ จริง ๆ ก็เหมือนเรื่องอื่น ๆ ในชีวิต ถ้าเราตกงานเราก็ต้องหางานใหม่แค่นั้นเอง

ก้าว แต่งตอนที่กำลังจะเรียนจบ เป็นช่วงเวลาที่มีเรื่องราวกดดันอยู่รอบตัว เราต้องทำในสิ่งที่เราอยากทำ หรือ ทำในสิ่งที่จำเป็นต้องทำ แต่ชีวิตมันมีตัวเลือกนะ เราต้องก้าวต่อไป ก็เขียนขึ้นมาให้กำลังใจตัวเองด้วย

the-curious-case-2

เห็นว่าไปแสดงสดกันมาแล้ว กระแสตอบรับเป็นอย่างไรบ้าง?

แมค: ก็เพิ่งไปเล่นที่งาน Cat Expo เราเล่นวงแรก เล่นเวที Babb Bed Bed เราก็คิดว่าคงไม่ค่อยมีคนเท่าไหร่ แต่พอเราเริ่มเล่นเพลงแรก อีกไม่กี่นาทีต่อมาคนก็มายืนดูกันเต็มเลย เราก็ดีใจที่มีคนสนใจทั้ง ๆ ที่เวทีอื่นข้าง ๆ ก็เป็นวงใหญ่ ๆ ทั้งนั้น

นัท: งาน Cat Expo ไม่ใช่งานแรกที่เราออกไปเล่นข้างนอก แต่เป็นงานแรกที่เราได้เห็นกระแสตอบรับจริง ๆ ในงานนี้เราก็ออกบูธเอาของไปขายด้วย ก็จะมีทั้งคนที่เดินเข้ามาทั้ง ๆ ที่ไม่รู้จักวงเราเลย อาจจะเห็นเสื้อวงสวยดีมั้ง (หัวเราะ) เราก็จะให้เขาลองฟังเพลงของเราด้วย เราก็รู้สึกดีที่เห็นเขาตั้งใจฟัง บางคนยังไม่ทันฟังเพลงก็ซื้อแผ่นเลย ก็ทำให้เห็นว่ายังมีคนกลุ่มที่อยากลองฟังเพลงอะไรใหม่ ๆ อยู่ ยิ่งเราได้มองเห็นเขาโยกตามไปด้วยตอนเราเล่น ก็ถือว่าเราสื่อสารไปถึงเขาได้จริง ๆ

จากที่เล่นดนตรีในมหาวิทยาลัยจนได้มาเป็นศิลปินที่เล่นในคอนเสิร์ต ภาพความคิดในการเล่นดนตรีเปลี่ยนไปไหม

แฮม: ก็ไม่ได้เปลี่ยนไป ตอนนี้แค่อาจจะต้องแบ่งสัดส่วนชีวิต ทั้งการทำงานในสายวิชาของเราเพื่อหาเงินเลี้ยงชีพ กับอีกทางซึ่งเป็นทางที่เราชอบแต่อาจจะยังหาเงินไม่ได้ มันก็ต้องควบคู่กันไป ซึ่งก็ไม่แตกต่างจากตอนเรียนเท่าไหร่

นัท: แล้วพอเราสังกัดค่ายเพลง มันก็จะมีระบบที่ทำให้การทำงานของเราเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น จากที่ต้องทดลองนั่นนี่เอง ก็ใช้เวลาปรับตัวสักพักหนึ่ง อาจจะเป็นส่วนที่เปลี่ยนไปมากที่สุด

เบนซ์: ยิ่งเราต้องทำงานส่วนตัวของเราไปด้วย ก็เลยต้องวางแผนการทำงาน แบ่งเวลาให้สำหรับการซ้อม ต่างคนก็ต่างต้องจัดการงานของตัวเอง แล้วเอาเวลาอีกส่วนให้กับวง ทำให้เราต้องตื่นตัวมากขึ้น

ฝากอะไรถึงวงดนตรีต่างๆ ในมหาวิทยาลัยหน่อย

นัท: แบ่งเวลาให้ดี ชีวิตคนเราก็ยังต้องมีส่วนอื่น ๆ ประกอบกันไปด้วย แต่พอถึงเวลาที่ต้องทำตามฝันก็ต้องเต็มที่กับมัน อย่าเพิ่งคาดหวังว่าเราจะเป็นแบบนั้นแบบนี้ ตอนพวกเราทำเพลงกันก็ยึดความสนุกไว้ก่อน เพราะถ้าทำแล้วไม่สนุก คนฟังก็ไม่สนุก สุดท้ายก็จะไม่มีใครได้อะไรจากการทำตามฝันของเรา

แมค: การทำเพลงหรือผลงานสักอย่างออกมา มันเหมือนเราได้มอบสิ่งที่มีคุณค่าให้กับโลกใบนี้แล้ว ผลงานของเราอาจจะทำให้ใครสักคนเกิดแรงบันดาลใจ หรือมีพลังสู้กับชีวิตต่อไป แค่คนสองคนก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว

รับฟังเพลงของ The Curious Case บนเว็บไซต์ฟังใจได้ ที่นี่

Facebook Comments

Next:


Teeraphat Janejai

ธีรภัทร์ เจนใจ กองบรรณาธิการ Fungjaizine ที่มักสนุกกับการเปิดเพลงในรถมากกว่าการไปคอนเสิร์ต และชอบนั่งสวนพอๆ กับนั่งบาร์