Article Interview

การทดลอง, เกาหลี, เงิน และเรื่องราวการเดินทางของ ‘YERM’

  • Writer: Peerapong Kaewthae
  • Photographer: Pradthana Chaijaroensuksakul

เชื่อว่าตอนนี้น่าจะไม่มีใครไม่รู้จักเพลง ที่ผ่านมา เพลงอกหักที่มาพร้อมกับเสียงร้องนุ่ม ๆ ดนตรีหวาน ๆ และเนื้อเพลงที่ขอบคุณคนรักที่ทิ้งเขาไป กลายเป็นเพลงเศร้าแห่งชาติที่ทุกคนยังหยิบมาฟังในวันหม่น ๆ กับวงดนตรีชื่อเข้าปากอย่าง YERM (เยิ้ม) ที่แม้ชื่อจะแปลกประหลาด แต่ดนตรีของพวกเขากลับเชื่อมต่อกับใบหูของเราได้อย่างลงตัว ด้วยความที่ไม่ยึดติดกับแนวเพลงใด ๆ ทำให้พวกเขาคลี่คลายตัวเองจนกลายเป็นวงดนตรีที่มีซาวด์แปลกใหม่ให้เราค้นหาและลองฟังอยู่เสมอ หรือการแสดงสดที่มีสิ่งให้ตื่นเต้นได้ทุกโชว์ก็ทำให้พวกเขามานั่งอยู่ในใจเราได้ไม่ยากเย็น วันนี้ Fungjaizine เลยได้โอกาสชวนพวกเขามานั่งคุยกัน ถึงแม้สมาชิกอีกสองคนจะติดภารกิจ แต่นี่ก็เป็นอีกครั้งที่เรารู้สึกสนุกกับการได้พูดคุยกับวงหน้าใหม่ที่สดใหม่ทั้งแนวเพลงและแนวคิดเลยทีเดียว

สมาชิก
ตูน—ณัฐธีร์ อัครพลธนรักษ์ (ร้องนำ)
ไบรท์—วิชชัน วงศ์ปรีชาโชค (กีตาร์ , คอรัส)
ป็อป—ภูมิภูริณัฎฐ์ เดชาปัญญาสิทธิกุล (กีตาร์)
ปอนด์—วันวีรชน รอดเพ็ชร (เบส)
นัท—กิตติกานต์ ลี้ศิริพัฒนกุล (กลอง)

มารวมตัวกันได้ยังไง

ไบรท์: เริ่มมาจากเราเข้ามหาลัยมาปีเดียวกัน เฟรชชี่มันจะมีกฎให้อยู่หอในมหาลัยเดียวกัน ผมก็เล่นดนตรีมาตั้งแต่มัธยมแล้ววงก็แตกไป ขึ้นมหาลัยปีหนึ่งผมก็อยากเล่นดนตรีอีก แล้วมีเทศกาลดนตรีในมหาลัยอะไรงี้ ผมเลยไปไล่เคาะห้องพวกเฟรชชี่ทั้งที่ไม่รู้จักใครเลยว่าใครเล่นดนตรีเป็นบ้าง หามือกลอง มือเบส ก็ได้มาเป็น ตูน, นัท, ป็อป, ปอนด์

แล้วชื่อวง YERM ล่ะ

ไบรท์: ตอนแรกเราไม่ได้คิดอะไรเลยครับ เอาชื่อวงเยิ้มมั้ยล่ะ โอเค เราค่อยมานั่งคิดความหมายว่ามันมาจากอะไรได้บ้าง เยิ้มก็มาจากอาการที่เราเคลิบเคลิ้มไปกับเสียงดนตรี อาการที่เรามีความสุขกับอะไรจริง ๆ

ตูน: แค่รู้สึกว่าเราชอบคำที่เป็นคำเดียว แล้วอยากให้ชื่อวงมันเล่าอะไรเกี่ยวกับการแสดงของเราด้วย เราอยากจะแสดงให้เห็นว่าเราเยิ้มไปกับดนตรี เยิ้มไปกับเนื้อหาที่เราถ่ายทอดยังไง

EP แรกของเรา การทดลอง ตอนนั้นมันมีคอนเซ็ปต์ยังไง

ตูน: มันคือการที่พวกเราห้าคนไม่มีความรู้ด้านดนตรีเลย มันมีแค่อารมณ์ที่เล่นคัฟเวอร์แล้วเบื่อ อยากทำอะไรเป็นของตัวเองบ้าง เลยเริ่มทำเพลง เริ่มเขียนเพลงกัน มันเป็นความที่ไม่รู้เลยว่าเราคือแนวอะไรอะ ไม่รู้ว่าคอนเซ็ปต์เราคืออะไร เลยเรียกว่าการทดลอง จะตั้งอยู่แค่ว่าเรามีเรื่องนี้อยากจะเล่า แล้วค่อยทดลองใส่นู่นใส่นี่กัน แต่ละคนก็ทดลองอะไรใหม่ ๆ ของตัวเองด้วย ก็เลยเป็น EP ที่มั่วซั่ว เละตุ้มเป๊ะเลย (หัวเราะ)

จาก EP แรกก็สามปีมาแล้ว วงเราเติบโตขึ้นบ้างไหม

ตูน: ยังทดลองกันอยู่เลยครับ (หัวเราะ) เหมือนยังไม่รู้ด้วยว่าจะไปสัมผัสจุด professional ยังไง (ไบรท์: จะไปสัมผัสจุดสำเร็จได้ยังไง) เราก็ยังเหมือนเด็กเฟรชชี่กลุ่มนั้นที่ยังมั่วซั่ว ไม่มีหลักการ แต่สิ่งที่ทุกคนตั้งใจเหมือนกันคือทุกคนจะรู้ว่าเพลงจะเล่าอะไร จะใส่อะไรประมาณไหน มันสนุกตรงที่พอไม่ยึดว่าเราจะเป็นแนวนี้ จะไปทางนี้ จะเหมือนอย่างงี้ มันเลยได้ความสนุก ได้ประสบการณ์มากขึ้น ยังงงกันอยู่เลยครับ เวลาเล่นสดมันเล่นไม่เหมือนกันซักรอบ (หัวเราะ) น่าจะชื่อวงการทดลองไปเลย

ทำเพลงมาสามปีแล้ว วงการเพลงในสายตาเรามันเปลี่ยนไปรึเปล่า

ตูน: จริง ๆ รู้สึกว่ามันกว้างขึ้นนะ เมื่อก่อนที่ส่งเพลงกับ ฟังใจ ช่วงแรก ๆ เนี่ย อินดี้มันคือวงที่เล็กมาก นอกกระแสคือกลุ่มคนที่น้อยมาก แคบมาก เดี๋ยวนี้สองโลกมันเริ่มเชื่อมกัน ทุกคนเริ่มไม่แบ่งละว่าอะไรคือนอกกระแส อะไรคือในกระแส ทุกคนเริ่มเปิดใจฟังมากขึ้น เราสังเกตว่าพฤติกรรมคนเริ่มเปลี่ยนไปด้วยอะไรก็ไม่รู้

แล้วซิงเกิ้ลล่าสุดอย่าง ที่ผ่านมา มันมีเบื้องหลังหรือแรงบันดาลใจจากไหนบ้าง

ตูน: จริง ๆ เป็นเพลงที่จะไม่ได้มาอยู่ในอัลบั้มของ YERM ด้วย มันก็จะมีอีโก้ของตัวเองพวกเราอย่างหนึ่งด้วยว่า มันแมสว่ะ มันใช่หรอวะ แต่ว่าไม่รู้ทำไมมึงอยากเอาเข้านะ

ไบรท์: มันเพราะไง มันฟังง่าย สำหรับผมไม่ค่อยซีเรียสเรื่องแมสกับอินดี้เท่าไหร่ ผมจะซีเรียสเรื่องเพลงเพราะ

ตูน: ซีเรียสเรื่องเพลงดีมากกว่า เรื่องมันแมสมากคือเราไปทำคน ๆ หนึ่งเสียใจ รู้ว่าตัวเองเหี้ยมาก ๆ แต่ก็มีความเป็นตัวเราที่กูจะไม่ขอโทษอะ ขอบคุณแทนด้วยละกัน บางคนพยายามจะลืมทุกสิ่งทุกอย่างที่ผ่านมาทั้งความผิดหรืออะไร แค่จะบอกในเพลงนี้ว่าเราไม่ได้คิดจะลืมเลย ถึงเป็นความผิดเราแต่ก็เป็นสิ่งดี ๆ ที่ได้จดจำมัน เป็นบทเรียน นี่คือสิ่งที่เราอยากจะเล่าในเพลงนี้ มันมาอยู่ในพาร์ตของ YERM ได้เพราะสิ่งที่เล่าในเพลงมันยังไม่เหมือนเพลงอื่นอะ เลยคิดว่าน่าจะมาอยู่ในอัลบั้มเราได้

แล้ววงได้อิทธิพลมาจากศิลปินคนไหนบ้าง

ตูน: เยอะมาก มือกลองได้รับจากใครบ้าง

นัท: ผมฟังคนละแนวกับพวกนี้เลย ผมฟังพวก Avenged Sevenfold แล้วพอมารู้จักพวกนี้ค่อยมาฟัง Arctic Monkeys (ตูน: เข้าสู่โซน UK) ถ้าเรายังยึดกับแนวเพลงของเราอยู่ก็อาจจะไปด้วยกันไม่ค่อยได้ ก็เลยต้องเปิดใจฟังหลาย ๆ แนวมากขึ้น ก็รู้สึกว่ามีเพลงดี ๆ อีกเยอะ

ตูน: กูให้พวกมึงฟังเกาหลีไม่เห็นฟังตามกูเลย (หัวเราะ) อย่างป็อปกับไบรท์เขาจะฟังกว้างมาก สายลึกอะ แต่ผมเป็นคนแต่งเพลงผมจะฟังพวกเกาหลี K-Pop เพราะผมรู้สึกว่าเนื้อเพลงพวกเขาเจ๋งมาก มันเอาเรื่องนี้มาเล่าได้ยังไงวะ อย่าง Big Bang ยังเงี้ยเนื้อเพลงแม่งดีมาก ก็จะเก็บตรงนั้นมาเขียนเพลง (FJZ: นี่คือเรฟของวง YERM หรอเนี่ย) เวลาใครฟังเยิ้มเขาถึงบอกไม่ได้ไงว่ามันก็อปใครมา เพราะมันเยอะมากเลย (หัวเราะ) อ้าวมึงก็อป AM หรอ ผมรีบบอกเลยว่าไม่ใช่ มันมีมากกว่านั้น (หัวเราะ) บางทีมันก็มีเมโลดี้ของความเป็นเกาหลีอยู่อะ ลองเอาเนื้อเพลง ที่ผ่านมา ไปใส่กับดนตรีเกาหลีดิ มันคือเพลงเกาหลีเลยเว้ย (ร้องมั่ว ๆ เป็นทำนองเพลงละครเกาหลี)

ไบรท์: เมื่อก่อนก็เริ่มจากฟังเพลงแมส ๆ เนี่ยแหละครับ Potato หรือ Bodyslam อะไรเงี้ย แล้วก็มาพวกเมทัล Dream Theater พวก progressive แล้วก็มาฟังแนว UK เพราะไปเจอผู้หญิงคนหนึ่งเขามาแนะนำให้ฟัง ก็เลยชอบ เขาสวยด้วย (ตูน: ฟังเอาใจสาวอะ ตื่นเช้าไปบอกเขา เธอ ๆ เราฟังแล้วนะเท่มากเลย) แล้วผู้หญิงคนนี้เขาเป็นแฟชันนิสต้าอะ เราก็เลยรู้สึกว่าแม่งเท่ว่ะ ก็ชอบเลย แล้วผมก็ชอบทำตัวติส ๆ (หัวเราะ) เท่ชิบหาย

ตูน: คนติส ๆ เขาต้องให้คนอื่นเรียกป่าววะ ไม่ใช่เรียกตัวเอง (หัวเราะ) เดินออกจากบ้านบอกวันนี้ผมติส

ไบรท์: เราฟังเพลงแบบนี้ก็เลยลองเอาไปใส่ในเพลงของเรา Tame Impala ยังเงี้ย ผมฟังไปเรื่อยอะครับ มันแล้วแต่อารมณ์มากกว่าว่าเราอยากฟังอะไร ไม่มีวงโปรดแน่นอน

แล้วถ้าต้องนิยามแนวเพลงของ YERM ล่ะ คิดว่ามันคือแนวอะไร

ตูน: แล้วแต่เพลงนะ มันยังเบสบนเพลงร็อกแหละ แต่บางเพลงก็มีไซคีเดลิกแล้วแต่ว่าเราจะเล่าอะไรในเพลงนั้น ไม่อยากระบุว่าฉันจะเป็นป็อปร็อก

ไบรท์: บางทีมันน่าเบื่อนะ ถ้าเราจะฟังเพลงแนวเดิม ๆ ทุกวัน

ตูน: ฉันจะเป็นเคป็อปร็อกซักวันหนึ่ง เพราะสิ่งที่ YERM ยึดอย่างเดียวคือแมสเสจ มันคือพื้นฐานของคนที่เรียนนิเทศอะ อะไรก็แล้วแต่แมสเสจต้องมาก่อน แล้วดนตรีคือส่วนประกอบที่ทำให้แมสเสจออกชัดมากขึ้น

YERM ก็อาจจะทำเพลงแบบเกาหลีก็ได้

ตูน: ผมเคยพูดแล้ว (หัวเราะ) ผมพูดหลายครั้งแล้วเนี่ย ลองเปิดโชว์ด้วยพาร์ตเกาหลีซักครั้งมั้ย ถ้าทำอย่างนั้นคนดูก็ได้อะไรในอีกมิติหนึ่ง ผมรับมาเยอะมากก็อยากแสดงออก อยากจะเต้น (FJZ: Pick Me ของ Produce48 ไง) แม่งคือเมโลดี้เลย ต่อให้เราฟังโดยไม่รู้เนื้อเพลง แค่คำว่า ‘เน๊กอยา’ แค่เมโลดี้เพลงแม่งก็ได้แล้ว เมโลดี้นี่คือเสน่ห์ของเกาหลีเลย

ในฐานะศิลปินรุ่นใหม่ ยังคิดว่าการขายซีดียังจำเป็นอยู่มั้ยหรือคิดว่าโชว์สำคัญกว่า

ไบรท์: เคยมีคนบอกผมเหมือนกันว่าแนวคิดแบบซีดีเป็นของคนยุคเก่าแล้ว ผมก็ยังชอบอยู่นะ

ตูน: ผมยังให้ความสำคัญนะ ถ้าปราศจากซีดีแล้วมันจะไม่เหลืออะไรที่เป็นของที่ระลึกนะ ถ้าพูดในแง่ของการฟังในอินเทอร์เน็ต ในสตรีมมิ่ง มันมีหมดแล้ว แต่ผมเชื่อว่าซีดีมันจะไม่ตาย ตราบใดที่คนยังฟังเพลงอยู่ เพราะมันต้องมีอะไรบางอย่างให้เขาได้เก็บสะสม เขาจะเก็บแค่เสื้อกับกระเป๋ามันก็ไม่ใช่ของจากศิลปินจริง ๆ

นักดนตรีรุ่นนี้นอกจากพยายามทำเพลงให้ดีแล้ว ทำยังไงถึงจะเป็นที่รู้จักหรือมีชื่อเสียงได้เร็วที่สุด

ตูน: ผมพูดตรง ๆ ว่าเป็นเรื่องของการตลาด ไม่ว่าจะคาแร็กเตอร์วง หรือบางคนเพลงอาจจะไม่ได้ว้าวมาก แต่คาแร็กเตอร์เขาวางมาแบบจำง่ายก็ดังได้ แต่ที่สังเกตนะ เพลงก็เป็นแค่องค์ประกอบหนึ่งเท่านั้น มันก็เป็นสิ่งที่เราพยายามจะหนีมาก ๆ เราเรียนโฆษณามา เราก็ไม่เอาสิ่งที่เราเรียนมาใช้กับตรงนี้เลย มันทำให้เรากดดันตัวเอง อย่างทุกวันนี้มันก็โอเค ไปเรื่อย ๆ คนก็เข้ามารู้จักเราเองโดยที่เราไม่ต้องทำอะไรเยอะ มันก็เป็นความภูมิใจอย่างหนึ่ง

แล้วตอนนี้วงยังต้องเล่นงานฟรีโดยไม่มีค่าจ้างอยู่ไหม

ตูน: มันจะไม่เชิงงานฟรีนะ เป็นงานที่หารค่าบัตร

ไบรท์: ตอนนี้เรายังไม่ได้ตั้งเรตของวงด้วยว่าจ้างเราต้องสองหมื่นสามหมื่น เราก็ยังไปเล่นอยู่ ก็คิดไว้บ้างแล้วครับ คงต้องจริงจังกับระบบการตลาดบ้าง

ตูน: เป็นช่วงทดลองครับ ทดลองเจ็บตัว (หัวเราะ) มันสนุกดีครับ มันก็ไม่เครียดดีอะ เวลาเล่นงานฟรีสิ่งที่ได้ก็คือคนที่เขามาดู เขาก็จะดูด้วยความเปิดใจเพราะมันฟรี ได้เพื่อน ได้อะไรใหม่ อย่างงานที่ Noise Market ก็ทำให้เราได้เจอกับพี่ปั๊ม อพาร์ตเมนต์คุณป้า แล้วเขาก็ดึงเรามาร่วมงานกับ Sanamluang Music เลยคิดว่างานฟรีก็น่าจะมีดีอยู่เหมือนกัน

ตอนแรกวงก็มาจากการประกวด แล้วการฟอร์มวงเพื่อไปประกวดกับการฟอร์มวงเพื่อทำดนตรีจริงจัง มันแตกต่างกันยังไงบ้าง

ตูน: คงเป็นเรื่อง process นะครับ การทำประกวดคือทำให้เป๊ะ ให้กริ๊บ เน้นความถูกต้อง แต่พอเป็นการทำเพลงจริง ๆ มันไม่มี reference ไม่มีอะไรเลย ไม่ใช่แค่ความมุมานะ ต้องมีความครีเอทีฟอะไรมากมาย

ไบรท์: มันไม่มีตำราตายตัว มันต่างกับตอนที่เล่นคัฟเวอร์เรารู้ว่าเพลงนี้มีคาแร็กเตอร์ยังไง แนวร็อกแอนด์โรลเราจะต้องเต้นยังไง แต่พอมาทำเพลงตัวเองเราก็รู้สึกว่าต้องคิดให้เยอะกว่านี้

ตูน: แล้วยากอีกอย่างหนึ่งคือทำยังไงถึงจะพยายามหลบ ๆ reference ของเรา บ้างครั้งไม่ได้ตั้งใจนะ พอออกมาแล้วแบบมันเหมือนไปป่าววะ

ไบรท์: แต่จริง ๆ มันคือการทำงานศิลปะป่าววะ เรียนรู้แล้วดัดแปลง ไม่ได้ว่าก็อปนะ (หัวเราะ)

ทำไมถึงเลือกมาอยู่ค่าย Bird Sound

ตูน: เป็นความบังเอิญฮะ ที่พี่ปาร์ค West of East ทักมา จุดประสงค์แรกเขาแค่อยากเป็นทำอัลบั้มรวมศิลปินที่มันโคตรไม่มีชื่อ ไม่มีใครรู้จัก ไม่มีอะไรเลย พอร่วมงานกันปุ๊บ กลายเป็นว่าเคมีทุกอย่างมันลงตัวกันมากเลย กลายเป็นพี่น้อง ทุกคนกลายเป็นครอบครัว เราก็บรรจุตัวเองอยู่ในครอบครัว Bird Sound เลย

ข้อดีของการอยู่ค่ายล่ะ

ตูน: จริง ๆ Bird Sound ไม่ใช่ค่ายนะ เหมือนเป็นกลุ่มคนทำเพลง ซึ่งจริง ๆ ทุกวงในนี้ยังเป็นศิลปินอินดี้ แค่เราใช้ความเป็นครอบครัวโดยไม่มีผลประโยชน์ใด ๆ ซึ่งกันและกัน อยู่ด้วยกันเพื่อช่วยพัฒนาเพลงของแต่ละวงให้ดียิ่งขึ้น ตอนที่ YERM ทำกันเองเราก็มีกันแค่ห้าคน พอเข้าไปอยู่ก็มีพี่เบิร์ด Desktop Error มีพี่ปาร์คเนี่ย ก็ทำให้เราเป็นศิลปินมากขึ้น พี่ ๆ ได้เราเข้าไปเขาก็ได้ความสด ได้มุมมองอะไรบางอย่างไปจากเรา ก็เป็นการเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน ผมว่าเป็นเสน่ห์ของการให้ศิลปินหลายคนมาอยู่ด้วยกัน มี passion เดียวกัน แน่นอนค่ายใหญ่ก็มีช่องทางการเปิดที่สะดวกสบายมีงบประมาณ พวกผมอาจจะลำบากกันหน่อยเรื่องงบห้องอัด หรือการทำวิชวลอะไรเงี้ย แต่มันดิ้นรนกันได้เพราะครอบครัวมันช่วยกัน เหมือนเป็นครอบครัวจน ๆ ที่พยายามผลักดันให้เรามีอนาคตอะ นี่มันรายการเจาะใจอะ (หัวเราะ) ผมยังหานางเอกให้ mv ของ West of East อยู่เลย เป็นธุรกิจครอบครัว (หัวเราะ)

ในค่ายก็มีวงดนตรีที่อายุใกล้เคียงกัน ได้แลกเปลี่ยนแนวดนตรีหรือแนวคิดกันบ้างไหม

ตูน: ก็มี Abandoned House อายุเท่ากันเลย

นัท: ตอนยังไม่รู้จักเขาก็เก๊ก ๆ ขรึม ๆ โคตรเท่เลย แต่พอรู้จักกันแล้ว …อะไรของพวกมึงเนี่ย (หัวเราะ) ก็คุยกันง่ายขึ้น สนิทกับวงนี้มากกว่า

ตูน: แล้วมันแปลกมาก เราห้าคนเป็นเด็กเมืองกรุงมาก ไปเจอ Abandoned House บาสกับไมค์ที่โตมาในอีกรูปแบบหนึ่ง พอมันมาอยู่ด้วยกันแล้วสนิทกันได้ แลกเปลี่ยนอะไรซึ่งกันและกัน เขาสองคนมีทัศนคติที่ดีมาก ๆ เห็นได้ผ่านเพลงของเขาเลย มันต่างกับเพลงของเรามากเลย เขาเจ็บมาเยอะ (หัวเราะ) เรามันแค่วัยรุ่นมีความรักกิ๊กกั๊กกุ๊งกิ๊ง

จุดหมายต่อไปของวง YERM

ตูน: พรุ่งนี้จะกินอะไรกันดี (หัวเราะ) จุดหมายของเราคืออะไรผมไม่มีนะ สิ่งที่อยากจะเก็บไว้คือวันที่เป็นเฟรชชี่เคยเล่นแล้วสนุกกันแค่ไหน วันนี้ต่อให้เป็นศิลปินก็อยากให้สนุกกันแบบนั้น สมัยนั้นก่อนเล่นเราจะมีบูมกันทุกโชว์ เอิ้ว เยิ้ม! เอิ้ว เยิ้ม! วันนี้ก็อยากให้เป็นแบบนั้นอยู่

ไบรท์: แค่อยากทำเพลงเจ๋ง ๆ ออกมาได้เรื่อย ๆ ไม่รู้หรอกว่าเราจะไปหยุดที่ตรงไหน แนวคิดที่เราอยากทำอะไรเจ๋ง ๆ มันก็พาเรามาได้ถึงตรงนี้แล้วอะ

ตูน: ผมจะมองต่างกับเขานะ เรื่องเพลงช่างแม่งเลย (หัวเราะ) ไม่เชิงช่างแม่ง แต่ผมให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ในวง ผลงานดี ๆ จะออกมาได้เมื่อสมาชิกห้าคน… (ไบรท์: เอากัน… ไม่ใช่เอากันแบบนั้น) เกือบดีละ ๆ (หัวเราะ)

นัท: เป้าหมายของผมคงอยากมีคอนเสิร์ตดี ๆ ทุกคนรู้จักเรา รู้จักแนวเพลงของเรา รู้จักตัวตนของเราที่สื่อออกไปให้เขาเห็น อาจจะไม่ใช่ทั้งหมดก็ได้ อย่างน้อยก็มีส่วนหนึ่งที่รับฟังเรานะ

จะมีอัลบั้มเต็มหรือยัง

ไบรท์: ทำอยู่ครับ ทำแบบสุดชีวิตเลย แต่ช่วงนี้ไม่ค่อยมีเวลาว่างแล้วด้วย ทุกคนเรียบจบก็เริ่มทำงานทำการกัน แล้วมันมีเรื่องปัจจัย (ตูน: เงิน! มึงพูดไปเลยว่าคือเงิน ปัจจงปัจจัยอะไร) จะพูดว่า budget ไงจะได้ดูเท่ ๆ เร่งทำอยู่ครับเพราะเข้าทีเสียเพลงละเป็นหมื่น

ตูน: เราไม่อยากทำสมัย EP การทดลอง ที่อัดกันเองหมด นี่อัลบั้มหนึ่งในชีวิตอะ อยากอัดให้มันดีที่สุดอะ (ไบรท์: การทดลอง คือเรามั่วกันเอง EQ ดึงขึ้นดึงลงกันเองตามชอบ) มันคืองานที่ต่อยอดจาก การทดลอง นะ เรารู้แล้วว่าเราได้อะไรแล้วควรทำอะไรต่อไป ที่นานนี่ไม่ได้บ่มเพาะอะไรตอนนี้คือเก็บตัง (หัวเราะ) ผมมีไซด์โปรเจกต์ก็ต้องเอาเงินจากไซด์โปรเจกต์มาโปะ YERM เพราะมันคืองานที่อยากทำให้สำเร็จจริง ๆ

ใครอ่านอยู่ก็อย่าลืมรออุดหนุนนะ

ตูน: มันเล็ก ๆ น้อย ๆ อะ อย่างตอนทำเสื้อเราทำแค่ 50 ตัวแต่คนก็ซื้อหมด เขาอาจจะเคยฟังแค่เพลงสองเพลงแต่เราก็มีกำลังใจ ส่วนใหญ่แฟนเพลงก็จะเป็นผู้ชาย ไปเล่นที่ไหนมีแต่ผู้ชายขอกอด (หัวเราะ) (บีบเสียงต่ำ) พี่ ผมชอบเพลงพี่มาก แล้วตอนไปเล่นที่ Junk House Music Bar ผมยืนอยู่แล้วมีผู้ชายกลุ่มใหญ่มาสะกิดผม ผมก็นึกว่ากูไปบังเขาหรือเปล่าวะที่ไหนได้เขามาขอถ่ายรูป แล้วทุกคนตัวใหญ่กว่าผมหมดเลย ผมเหมือนเป็น BNK48 อะ (หัวเราะ) ดีใจมากนะ แต่ไม่เคยมีผู้หญิงมาขอถ่ายรูปด้วยเลย แล้วมีแฟนคลับซื้อบัวลอยให้ ก่อนไปทัวร์คือเราบ้ากินบัวลอยมาก ไม่ได้บ้าสิ ผมบ้าอยู่คนเดียวชอบกินบัวลอย ก็ถ่ายรูปลงเพจอะไรเงี้ย ไปถึงร้านที่ขอนแก่นเขาทักมาบอกในเพจว่าเขาซื้อบัวลอยมาให้ห้าถุงพี่ไปหยิบได้เลย ประทับใจมาก แต่สุดท้ายก็ไม่ได้กิน ดันลืม! (หัวเราะ) เล่นเสร็จแล้วกลับโรงแรมนอนเลย

แล้วอัลบั้มจะเสร็จในปีนี้ใช่ไหม

ตูน: ว่าจะเสร็จมิถุนาด้วยนะ (หัวเราะ)

ไบรท์: แต่นี่มิถุนาแล้ว (หัวเราะ) ยังเหลืออีกครึ่งอัลบั้มอะ

ตูน: ก็ดีนะจะได้ใช้เวลาเติบโตกับมันเยอะ ๆ ด้วย แต่ละเดือนพวกเราจะไปเจออะไรมา ไปดูคอนเสิร์ตก็ได้มา มันก็เป็นจุดดีในจุดด้อยที่ทำให้ YERM เป็นเยิ้มได้ ความจนนี่มันน่ากลัว (หัวเราะ) แต่มองว่ามันเป็นเรื่องดีได้

เร็ว ๆ นี้จะไปเล่นที่ไหน

ตูน: มี What The Fest! ที่พารากอน เล่นเวทีเล็ก ก็น่าจะเปิดหูเปิดตาให้กับวงเราด้วย กับงานวันเกิดของ Bird Sound ครบรอบ 2 ปี 20 มิถุนายน ที่ The Gru มี Brown Flying, ภูมิจิต, Dead Flowers กับ FREEMAN ด้วย

ฝากอะไรที่อ่านมาถึงตรงนี้หน่อย

ตูน: จริง ๆ ถ้าอ่านมาถึงตรงนี้ก็แสดงว่าเป็นคนที่ให้ความสนใจกับสิ่งที่วงดนตรีวงหนึ่งกำลังจะทำ คุณใส่ใจกับสิ่งที่พวกผมกำลังทำ คุณอาจไม่รู้จักผม ผมก็ไม่รู้จักคุณ แต่คุณอ่านมาถึงตรงนี้ก็ขอบคุณมากที่มีคนแบบนี้อยู่ แล้วคนแบบนี้แหละที่จะทำให้มันเกิดผลงาน เกิดศิลปินมากขึ้น ขอบคุณที่อ่านครับ

YERM

ติดตามความเคลื่อนไหวของพวกเขาได้บนเพจ YERM BAND หรือติดตามข่าวสารเกี่ยวกับงานแสดงของพวกเขาได้อีกช่องทางบน BIRD SOUND

Facebook Comments

Next:


Peerapong Kaewthae

แม็ค เป็นคนชอบฟังเพลงเพราะเป็นกิจกรรมที่ทำคนเดียวได้ และก็ชอบแนะนำวงดนตรีหรือเพลงใหม่ ๆ ให้คนอื่นรู้จักผ่านตัวอักษรตลอดเวลา