Quick Read ตาดูหูฟัง

6 MV แบบไทยๆ ไม่ต้องพึ่งของสูง

  • Writer: Sarun Pinyarat

คงจะผ่านตามาบ้างกับดราม่าเดือนที่แล้วกับ MV “เที่ยวไทยมีเฮ” โดย เก่ง ธชย feat. ฟิล์ม บงกช ที่มี “ผู้ใหญ่” ในประเทศเราออกมาท้วงติงถึงความไม่เหมาะสมที่เอา “ความเป็นไทย” อย่างการแสดงโขนอันเป็นของสูงมาใช้อย่างผิดกาละเทศะ

บทความนี้คงจะไม่ไปแตะประเด็นดังกล่าว เพราะเรื่องทีน่าสนใจกว่าคือมุมมองของ “ความเป็นไทย” เวลานักออกแบบ หรือครีเอทีฟสาขาต่างๆ ได้รับโจทย์ให้ผลิตงานทีต้องสื่อถึงความเป็นไทยเมื่อไหร่ เป็นไม่พ้นการได้เห็นการที่เอาองค์จากวัฒนธรรมอดีตอย่าง ยักษ์, ลายกนก, วัด, ผ้าไหม ฯลฯ มาอยู่ในงานเรื่อยไป ประเด็นคือวัตถุทางวัฒนธรรมดังกล่าวแทบจะไม่ได้มีส่วนร่วมหรือบทบาทในชีวิตประจำวันของพวกเราแม้แต่น้อย แต่วัฒนธรรมร่วมสมัยแบบไทยๆ* (Thai Contemporary Culture) อย่างหมูปิ้งข้างทาง, มอเตอร์ไซค์รับจ้าง หรือการเล่นหวยเสี่ยงดวงมากกว่าที่พวกเราสามารถรู้สึกเชื่อมโยงและนำเสนอถึง “ความเป็นไทย” ได้ชัดเจนกว่าเป็นไหนๆ

Fungjaizine ฉบับ Local Issue นี้จึงจะพาไปสำรวจ 6 MV ที่สามารถดึงตัวตนความเป็น “ไทยๆ” ออกมาได้อย่างชัดเจนโดยไม่ต้องมีหัวโขนโผล่มาแม้แต่ซีนเดียว ;-P

เอาแต่ใจ (Yellow Fang)

เด็กมัธยมในชุดนักเรียนท่อนบน ชุดนอนท่อนล่าง, ร้านคาราโอเกะไฟหลากสี, เจ๊เจ้าของนุ่งผ้าถุงนั่งแทะเม็ดแตงโม, คนเมาสลบไม่ยอมกลับบ้าน ฯลฯ องค์ประกอบเหล่านี้สิ ที่ไทยและสร้างความคุ้นเคยให้กับผู้ชมกว่าเป็นไหนๆ แล้วการที่เอาอะไรแบบไทยบ้านๆ (คาราโอเกะ) มาจับคู่ขัดแย้งกับอะไรที่มันเก๋ๆ (เพลงและสมาชิกวง Yellow Fang) เพื่อสร้างความรู้สึกจิกกัดกวนตีนแบบนี้แหล่ะ ที่คนไทย “เก็ท” ได้อย่างรวดเร็ว

704 ดาจิม

อะไรจะไทยไปมากกว่าความเชื่อเรื่องผีที่แทรกซึมอยู่ในทุกอนูของชีวิตแบบไทยตั้งแต่เกิดจนตาย จนกลายเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจสื่อบันเทิงไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ รายการโทรทัศน์ หรือกระทั่งมีคลื่นวิทยุที่สามารถเล่าเรื่องผีได้ 24 ชั่วโมง (แล้วขายดี มีคนตามฟังเยอะเสียด้วย) ความเห็นส่วนตัวผมคือยิ่งเราเสพอะไรแบบนี้กันบ่อยๆ ยิ่งทำให้เรามีพลังในการจินตนาการแก่กล้าขึ้น ที่ไทยอาจจะไม่ได้มีผีดุ หรือมีผีตามโรงแรมต่างถิ่นเยอะกว่าประเทศอื่นหรอก แต่พลังมโนเรื่องผีของคนไทยเนี่ย รับรองว่าไม่แพ้ชาติใดในโลก

https://www.youtube.com/watch?v=OWnItROlXM0

อุคริ จุ๊บุ๊ หุหุ Noob! (SLUR)

หากจะนับกิจกรรมที่นักเรียนมัธยมทั่วไทยมีประสบการณ์ร่วมกัน หนึ่งในนั้นต้องมีการออกไปทัศนศึกษาดูซากปรักหักพังของวัดและพระราชวังโบราณต่างๆ ในจังหวัดอยุธยาอย่างแน่นอน และในช่วงเวลานี้แหล่ะ ที่เราได้โอกาสไปทักทายกับเพื่อนผู้หญิงต่างห้องที่แอบมองมานาน, แอบอู้การบรรยายไปดูดบุหรี่, การได้เล่นไพ่กับเพื่อนร่วมห้อง หรือกระทั่งการได้ดูภาพยนตร์ Hollywood พากย์เขมรบนรถทัวร์ครั้งแรกของชีวิต (แหม่ เป็นวัยรุ่นไทยมันเหนื่อยจริงๆ)

เพื่อนเอ๋ย (พรู)

ภาพรวมของ MV เหมือนจะเป็นการย้อนรำลึกถึงไลฟ์สไตล์ชาวกรุงฯ ในยุค ’70s ที่ดูจะเข้าสิ่งที่เนื้อเพลงพยายามนำเสนอถึงการเป็นเพื่อนกันมาแสนยาวนาน แต่สอดแทรกภาพบันทึกของเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองอย่าง 14 ตุลาฯ เข้ามากลางวิดีโอ ก็ชวนให้คิดได้ว่า “เพื่อน” ที่วงพรูเขียนถึงว่า
“แม้จะต้องผิดหวังซ้ำอีกเท่าไหร่
แม้ว่าจะเหน็ดเหนื่อยสักเพียงใด
สักแค่ไหน ขอเพียงเธอนั้นมั่นใจ
และเข้าใจในทางที่เดินอยู่ ก็พอ”
อาจจะไม่ได้หมายถึงคน แต่อาจเขียนเป็นกำลังใจให้กับประชาธิปไตยไทย ที่ล้มลุกคลุกคลานมาร่วม 80 ปีที่ผ่านมาก็เป็นได้

ราตรีสวัสดิ์ (Fuckling Hero)

วัฒนธรรมการเกณฑ์ทหาร โดยเฉพาะการที่ต้องมาวัดดวงจับใบดำ ใบแดง รวมไปถึงการได้รับยกเว้นไม่ต้องเข้าเกณฑ์ฯ ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดก็ตาม เป็นสิ่งที่ใกล้ตัวชายไทยทุกหมู่เหล่า และกลายเป็นธรรมเนียมข่าวรายปีที่ต้องนำเสนอดาราคนดังที่เข้ารับเกณฑ์ฯ (ทั้งดราม่า ทั้งยกย่อง ว่ากันไป) ซึ่ง “ราตรีสวัสดิ์” สามารถจับวัฒนธรรมดังกล่าวมาเล่าต่อได้อย่างเฉียบคมด้วยการเปรียบเทียบระหว่างสองเส้นทางชีวิต ที่แสนแตกต่างจากการจับสลากเพียงหนึ่งครั้ง

Night Shift / Hugo

ส่งท้ายกับ MV ที่เปลี่ยนทรรศนคติให้มองสิ่งที่ “บ้าน” หรือ “เฉิ่ม” อย่างไฟนีออนหลากสี, รถเข็นขายอาหาร, ตู้ปลาร้านซีฟู้ด, มุมมืดตามตรอกซอกซอยในกรุงเทพ ให้เป็นสิ่งที่แสนเท่และน่าค้นหา

“Night Shift” น่าจะเป็นตัวแทนของ MV ที่สรุปบทความสั้นๆ นี้ได้เป็นอย่างดี ว่าจริงๆ แล้วการพยายามมองหา “ความเป็นไทย” เราไม่จำเป็นต้องนึกถึงสิ่งที่อยู่สูงส่งขึ้นหิ้งในประวัติศาสตร์ชาติเราเสมอไป (เพราะนอกจากจะโดนใช้จนช้ำ แล้วเผลอๆ ยังต้องเสี่ยงโดนท้วงติงอีก) แต่วัฒนธรรมบ้านๆ วัตถุ, สถานที่ หรือกิจกรรมต่างๆ ที่ใกล้ตัวเราและจับต้องได้ง่ายๆ นี่แหล่ะ ที่สามารถจับใจผู้ชมทั่วไป ทำให้สวยงาม และมีศักยภาพเพียงพอที่จะสร้างอัตลักษณ์ให้กับงานสร้างสรรค์ของบ้านเรามีจุดยืนบนตลาดโลกได้อย่างชัดเจน

*หมายเหตุ บทความนี้อ้างอิงแนวคิดของความเป็น “ไทย” และ “ไทยๆ” มาจากหนังสือ “อัตลักษณ์ไทย: จากไทยสู่ไทยๆ” โดย ประชา สุวีรานนท์ และ เกษียร เตชะพีระ (ฟ้าเดียวกัน, 2554) อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม
thai_thai-e1440048511169

Facebook Comments

Next:


Sarun Pinyarat

ท้อป ศรัณย์ ภิญญรัตน์ เคย: เรียนออกแบบที่ไทยและฟินแลนด์ / ทำงานที่ Startup ใน Sillicon Valley ชอบ: ฟังเพลง / ดูหนัง / อ่าน / การเล่าเรื่อง / บูมบูม เป็น: ผู้ก่อตั้งฟังใจ / นักออกแบบ / คนคิด / คนเจรจา / คนลงมือทำ / นักเขียนจำเป็น